- ผู้ค้าหนังแผ่นกัดฟันสู้ศึกรอบด้าน แม้ที่ผ่านมาจะประสบปัญหาแผ่นผีแย่งชิงส่วนแบ่ง กดตลาดโผล่พ้นดินแค่ 30% ตั้งความหวัง 10 ปีจะดีขึ้น
-แต่ศึกบนดินก็ระอุ ซีวีดี กอดลิขสิทธิ์เดิมแน่น ไม่ให้หลุดมือซ้ำ พร้อมขยายจุดขาย 7,700 จุด เจาะถึงชุมชน หวังยึดตำแหน่งผู้นำถาวร
- แคททาลิสท์ เดินเกมบี้ คว้าสิทธิ์ ยูนิเวอร์แซล ดรีมเวิร์ค ผนึกอีวีเอส เจาะตลาดไต่ชิงผู้นำ ด้านโรสวิดีโอ ยึดตลาดเด็ก ก่อนเข็นบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์
-สร้างภาพองค์กรอินเตอร์ หวังกวาดสิทธิ์หนังฮอลลีวู้ด วางเป้าเจ้าตลาดเช่นกัน
ธุรกิจโฮมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในบ้านเรา ถ้าจะนับเอาวันที่ก่อตั้งบริษัทผู้จัดจำหน่ายวิดีโอภาพยนตร์ลิขสิทธิ์บริษัทแรกในประเทศไทย เมื่อ 21 ปีที่ผ่านมา เป็นจุดกำเนิดของธุรกิจนี้ ก็ถือว่าวันนั้นเป็นจุดกำเนิดของปฐมบทสงครามการตลาดที่ยืดเยื้อหนักอกคนที่อยู่ในสมรภูมิ เนิ่นนาน และสาหัส ไม่ต่างไปจากมหาสงครามไตรภาค สตาร์วอร์ส ที่ผ่าน 3 ตอนสงคารมเพิ่งจะเริ่มต้น เช่นเดียวกัน
หากแต่สงครามการตลาดโฮมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ไม่ได้เป็นการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการในธุรกิจด้วยกันเอง เหมือนเช่นสงครามในตลาดอื่น ๆ ที่มีอาจมีสินค้าต่างยี่ห้อ ต่างรูปลักษณ์ หรือต่างคุณสมบัติ ให้ชิงดีชิงเด่นกัน แต่สงครามตลาดนี้ คู่แข่งมีสินค้าชนิดเดียวกัน เนื้อหาเดียวกัน แต่เร็วกว่า และถูกกว่า เรียกขานกันว่า "แผ่นผี"
สงครามแผ่นผีครองเมือง
ว่ากันว่าขนาดของตลาดโฮมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ในเมืองไทยปีนี้ มีมูลค่าที่ผู้ประกอบการทำการค้าสินค้าถูกต้องตามลิขสิทธ์คาดการณ์ไว้กว่า 8,000 ล้านบาท แม้มูลค่าจะดูสูง แต่นี่เป็นเพียง 30% ของมูลค่าตลาดโฮมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ทั้งหมด อีกราว 70% เป็นยอดขายของสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์
ซีวีดี เป็นบริษัทแรกที่ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อดูแลการจำหน่ายวิดีโอลิขสิทธ์ภาพยนตรในเครือข่ายเมเจอร์ ของฮอลลีวู้ด เมื่อปี 2527 ในเวลานั้นลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดในรูปวิดีโอ ยังไม่มีบริษัทใดในประเทศไทยดูแล ปล่อยให้วิดีโอผีแพร่หลายไปกระทบรายได้ของภาพยนตร์ที่ฉายในโรง เจ้าของหนังจึงมีความร่วมมือกันก่อตั้งบริษัทซีวีดีขึ้น หวังที่จะเป็นด่านแรกในการหยุดธุรกิจวิดีโอผี แต่กลับกลายเป็นว่า 21 ปีที่ผ่านมานั้น ซีวีดี และบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ในรูปโฮมเอ็นเทอร์เทนเม้นท์ ที่เกิดขึ้นตามมา จะช่วยกันดึงส่วนแบ่งตลาดมาได้เพียง 30% เท่านั้น เป็นสงครามที่ดูท่าว่าจะต้องยืดเยื้ออีกยาวไกล
ไบรอัน เอสตัส ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ซีวีดี อินเตอร์เนชั่นแนล ชี้สถานการณ์ตลาดหนังแผ่นที่กลบทับตลาดวิดีโอเทปให้กลายเป็นตำนาน ว่า ปัจจุบัน ตลาดวีซีดี แบ่งครึ่งระหว่างแผ่นถูกลิขสิทธิ์ กับแผ่นผี แต่ที่น่าหนักใจคือแนวโน้มการพัฒนาคุณภาพโฮมเอ็นเทอร์เทนเม้นท์ที่จะเปลี่ยนเข้าสู่การบริโภคแผ่นดีวีดี วันนี้คนไทยซื้อแผ่นดีวีดีผี 80% เหลือ 20% เป็นเศษตลาดให้กับแผ่นถูกกฎหมาย
"2 ปีที่แล้วหลังการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ รัฐบาลดูจะเอาจริงเอาจังกับการจัดการกับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ช่วงนั้นยอดขายภาพยนตร์ของซีวีดีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไป ทุกอย่างก็กลับเป็นเหมือนเดิม มันแสดงให้เห็นว่า ถ้ารัฐจะหยุดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์นี้ก็ย่อมทำได้ เพียงแต่ผู้บริหารประเทศยังคิดกันว่า ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนของรัฐบาล"
แม้จะแสดงท่าทีตัดพ้อการทำงานของภาครัฐต่อการแก้ปัญหาในระดับปากท้องของธุรกิจ แต่ไบรอัน เอสตัน เชื่อว่า กรณีนี้จะเป็นปัญหาระดับชาติที่รัฐบาลไทยจะถูกกดดันจากนานาประเทศ เหมือนดังเช่นเคยเกิดขึ้นที่ฮ่องกง และทำให้ฮ่องกงเป็นตลาดที่ปลอดจากการละเมิดลิขสิทธิ์ในปัจจุบัน ภายใน 10 ปี ตลาดประเทศไทยจะดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ซีวีดีเองก็พยายามแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในส่วนที่สามารถดำเนินการเองได้โดยตลอด เช่นการเร่งการวางตลาดหนังให้เร็วขึ้น จากเดิมเคยวางตลาดหลังหนังออกจากโรงภาพยนตร์ 6 เดือน ปัจจุบันลดลงเหลือ 3 เดือน ภาพยนตร์เรื่อง คนเล็กหมัดเทวดา (Kung Fu Hustle) วางตลาดหลังออกจากโรงเพียง 45 วัน แม้จะไม่ใช่เวลาที่จะสามารถแข่งกับแผ่นผีที่วางตลาดมาพร้อม ๆ กับที่หนังยังอยู่ในโรง แต่ไบรอันก็เชื่อว่า เป็นช่วงเวลาที่ไม่นานเกินไปนัก หากผู้บริโภคที่ใส่ใจในคุณภาพสักนิดจะอดทนรอ
กลยุทธด้านราคาเป็นอีกแนวทางที่ซีวีดีเลือกใช้ หลังจากที่ซีวีดีสามารถนำภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ดมาปั๊มแผ่นในเมืองไทยได้ ปัญหาต้นทุนสินค้าที่เคยนำเข้าแผ่นดีวีดีมาจากต่างประเทศ เสียภาษี 2 เหรียญสหรัฐ ต่อแผ่น จึงหมดไป ในวันนี้ ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ระดับบล็อคบาสเตอร์ เช่น แฟนตาสติค โฟร์ สี่พลังคนกายสิทธิ์(Fantastic 4) รวมทั้งหนังเรื่องอื่น ๆ จาก 20th Century Fox สามารถจำหน่ายแผ่นดีวีดีได้เพียง 399 บาท ก็น่าจะเป็นราคาที่ดึงดูดให้ผู้บริโภคหันมาหยิบแผ่นลิขสิทธิ์ได้มากขึ้น
อีวีเอส ไม่ถอดใจ สู้แผ่นผี
ด้านผู้ค้าสื่อบันเทิงวีซีดี และดีวีดี รายใหญ่อีกราย อีวีเอส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ก็ดูจะมีความพยายามในการต่อสู้กับปัญหาแผ่นผีมาโดยตลอด โดยมีการทุ่มงบประมาณ 15 ล้านบาท พัฒนาโปรแกรมวิดีโอ ก็อปปี้ โพร์เทคชั่น เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์จากการก็อปปี้แผ่นทางคอมพิวเตอร์ และการปั๊มแผ่นจากโรงงานซีดีเถื่อน มาตั้งแต่ปี 2545 และจะมีการลงทุนต่อไปอีกปีละ 10 ล้านบาท พัฒนาโปรแกรมเข้าสู่แผ่นดีวีดีอีกด้วย
อีวีเอสประสบความสำเร็จอย่างงดงามกับการปกป้องการละเมิดลิขสิทธิ์แผ่นวีซีดีที่ผลิตออกจากโรงงานผลิตของอีวีเอส แต่เสกสรร สุนันท์กิ่งเพชร ประธานกรรมการ กลับพบความจริงที่ว่า ผีไม่เคยหยุดอยู่กับที่ เมื่อผู้ประกอบการแผ่นวีซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่สามารถก็อปปี้แผ่นที่ผลิตในเมืองไทยได้ จึงหันไปนำเข้าแผ่นเรื่องเดียวกันจากมาเลเซีย หรือประเทศใกล้เคียง มาเป็นต้นแบบทำการก็อปปี้แทน คอยหลอกหลอนต่อไป
แต่เสกสรร ก็ยังมองเห็นแนวโน้มของการแก้ปัญหาที่พอจะฝากความหวังไว้ได้ เมื่อสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ที่มีเสี่ยเจียง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ เป็นประธานสมาพันธ์ฯ มีนโยบายในการปราบปรามแผ่นซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ โดยร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจที่จะทำหน้าที่ออกติดตามจับกุมผู้กระทำผิด ขึ้นในสมาพันธ์ฯ เป็นการลดขั้นตอนการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้
"ที่ผ่านมาเมื่อสมาพันธ์ฯได้รับแจ้งเบาะแสการกระทำผิดละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องเสียเวลาวิ่งไปแจ้งตำรวจเพื่อนำกำลังไปจับ กว่าจะไปถึงคนร้ายก็หนีหมดแล้ว ต่อไปนี้เมื่อเรามีการตั้งหน่วยงานปราบปรามขึ้นที่นี่ เมื่อมีการรับแจ้งเบาะแส ก็สามารถยกทีมออกไปจับได้ทันที"
เสกสรร ค่อนข้างมั่นใจกับบทบาทหน้าที่ของสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติที่จะเกิดขึ้นว่าจะสามารถกวาดล้างแหล่งผลิตซีดีเถื่อนได้ขนานใหญ่ แต่ในฐานะคนที่ทำอาชีพนี้มานมนานกว่า 20 ปีเช่นกัน เห็นปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ที่อยู่คู่กับธุรกิจมาโดยตลอด ชี้ชัดปัญหาที่ยืดเยื้อแก้ไม่ตกเช่นนี้ เกิดจากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองรู้เห็นเป็นใจกับธุรกิจใต้ดินมาโดยตลอด
แม้จะดูเป็นปัญหาที่ยังไม่พบทางออก แต่ในแง่ของการทำธุรกิจ ผู้ประกอบการทั้งหมดมองเห็นตรงกันว่า จะยังคงเดินหน้าต่อไป สงครามการตลาดบนดินก็ยังดำเนินต่อไป
ซีวีดี เกาะลิขสิทธิ์ดีสนีย์ ยึดตำแหน่งผู้นำ
ภายหลังจากปล่อยลิขสิทธิ์การจัดจำหน่ายภาพยนตร์ใน 3 ขาใหญ่ฮอลลีวู้ด ประกอบด้วย ยูนิเวอร์แซล พาราเมาท์ และวอร์เนอร์ หลุดออกไป วันนี้ซีวีดียังเกาะลิขสิทธิ์ของ ฟ็อกซ์ บัวนาวิสต้า วอล์ท ดีสนีย์ โซนี่พิคเจอร์ และเอ็มจีเอ็ม ไว้อย่างเหนียวแน่น ครบถ้วนทั้งหนังแอ็คชั่น รักโรแมนติค หนังครอบครัว การ์ตูน อนิเมชั่น จนถึงหนังย้อนยุค
ไบรอัน เอสตัส กล่าวว่า ภายใต้การแข่งขันในธุรกิจที่มีผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น ทำให้การแย่งชิงลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ต่างประเทศต้องใช้เงินมหาศาล หนังฮอลลีวู้ดหนึ่งเรื่องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 250,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งการที่ซีวีดีสามารถต่อสัญญากับค่ายหนังเมเจอร์หลัก ๆ ดังกล่าว ทำให้มีภาพยนตร์คุณภาพออกวางตลาดตลอดปี โดยไม่ต้องวิ่งเข้าไปแย่งชิงลิขสิทธิ์หนังเหมือนบริษัทอื่น ๆ ซึ่งภาพยนตร์ชั้นนำที่มีแผนจะวางตลาดในปีหน้า และจะได้รับความนิยม อาทิ Chicken Little และ The Chronicles of Narnia เป็นต้น
สำหรับเทรนด์ของหนังฝั่งตะวันออก ไบรอัน มองว่า ไม่ต่างไปจากการเลือกหนังจากฝั่งฮอลลีวู้ด ไม่ว่าหนังเกาหลี หรือหนังญี่ปุ่น ก็จำเป็นต้องเลือกหาหนังที่มีคุณภาพ แต่การที่มีผู้ประกอบการหลายรายเข้าไปแย่งชิงลิขสิทธิ์หนังเกาหลี และหนังญี่ปุ่น อยู่แล้ว ซีวีดี ยังไม่คิดที่เข้าไปร่วมด้วย เพราะปัจจุบันยังถือลิขสิทธิ์หนังฮ่องกงจากค่ายทีวีบีไอ นอกจากนี้ ในส่วนของภาพยนตร์ไทยยังได้มีการเซ็นสัญญาจัดจำหน่ายภาพยนตร์ในรูปแบบวีซีดี และดีวีดีให้กับจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ โดยเรื่องที่จะวางจำหน่าย อาทิ เพื่อนสนิท
ซีวีดีตั้งเป้าหมายส่งหนังแผ่นเรื่องใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดเดือนละ 22 เรื่อง ผ่านเครือข่ายจุดขายที่มีอยู่ราว 5,500 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นร้านโชว์ไทม์ ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกของซีวีดี 50 แห่ง และจุดขายภายในร้านแมงป่อง วิดีโออีซี่ Discount Store และ Convenient Store ถือว่าครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัด โดยภายในปี 2007 ซีวีดีมีแผนจะขยายช่องทางขายเหล่านี้เจาะลึกลงไปในระดับชุมชน เพิ่มขึ้นเป็น 7,700 จุด เนื่องจากมั่นใจว่า ด้วยเครื่องเล่นวีซีดี และดีวีดี ที่ราคาลดลง จะทำให้ธุรกิจโฮมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ขยายเข้าสู่ชุมชนมากขึ้น
ไบรอัน ประมาณตำแหน่งของซีวีดี ในธุรกิจโฮมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ที่รวมทั้งแผ่นวีซีดี ดีวีดี ว่าแม้จะถูกดึงเอาผู้ผลิตหลัก ๆ ของเมเจอร์ไป 3 รายเมื่อหลายปีก่อน แต่ก็เป็นค่ายที่ไม่คุ้มถ้าจะลงทุนถือลิขสิทธิ์ต่อไป เพราะมีหนังที่คาดว่าจะทำเงินอยู่ไม่มาก ต่างจากค่ายเมเจอร์ที่อยู่ในมือซีวีดี โดยในปีที่ผ่านมาสามารถวางตลาดหนังที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องตลอดปี อาทิ The Incredibles, Kung Fu Hustle, Star War Episode III, Mr.&Mrs.Smith และ Fantastic 4
มูลค่าตลาดที่ประมาณการอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท แบ่งเป็นภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ด ประมาณ 70% ส่วนอีก 30% ที่เหลือ เป็นภาพยนตร์นอกกลุ่มฮอลลีวู้ด ผู้ผลิตอิสระ รวมถึงภาพยนตร์จากประเทศอื่น ๆ โดยเค้กก้อนใหญ่ 70% มีผู้จัดจำหน่ายในประเทศไทยอยู่ 3 ราย คือ ซีวีดี , แคททาลิสท์ และแปซิฟิก ซีวีดีมีส่วนแบ่งอยู่ในส่วนนี้ 50% ซึ่งก็เพียงพอที่จะเรียกตัวเองว่า เจ้าตลาด
แคททาลิสท์ ดาวรุ่งจ้องล้มบัลลังก์
จริง ๆ แล้วหาจะถามหาคู่แข่งในธุรกิจโฮมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ที่จะล้มบัลลังก์แชมป์ของซีวีดี ชื่อ แคททาลิสท์ อัลลายแอนช์(ประเทศไทย) บริษัทในเครือยูไนเต็ด โฮม เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ นี่แหละคือมือวางอันดับ 1
เป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อ เพราะ 2 ค่ายใหญ่ทั้งซีวีดี และแคททาลิสท์ ต่างมีผู้ร่วมก่อตั้งคนเดียวกัน เลอศักดิ์ ถาวรวณิชย์ ที่แยกตัวออกจากซีวีดี ราวปี 2540 มาร่วมงานกับ เอส.ที. วิดีโอ และร่วมกับผู้บริหารเอส.ที.วิดีโอ ตั้ง ยูไนเต็ด โฮม เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ในปี 2542 เป็นต้นกำเนิดของการเปิดแคททาลิสท์ อัลลายแอนซ์ ที่ดึงเอาพันธมิตรทั้งจากไต้หวัน และสิงคโปร์ มาร่วมลงทุน
เป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อ เพราะแคททาลิสท์ วางตำแหน่งตัวเองอยู่ตลาดบน จ้องแต่จะหาซื้อลิขสิทธิ์หนังจากฮอลลีวู้ด ที่เคยเป็นฐานรายได้หลักของซีวีดีมาครอบครอง ไม่ใส่ใจกับหนังอิสระ หรือหนังเกรดล่าง มากเท่าไรนัก และที่ผ่านมาแคททาลิสท์ก็ประสบความสำเร็จในการวางตำแหน่งของตนเป็นอย่างดี
แคททาลิสท์ ประสบความสำเร็จในการดึงสิทธิ์ในการทำตลาดโฮม วิดีโอ โดยคว้าพาราเมาท์ พิคเจอร์ส มาอยู่ในพอร์ทเป็นลำดับแรก ก่อนที่จะไปชิงค่ายหนังที่ทำรายได้อันดับ 1 ของฮอลลีวู้ด วอร์เนอร์ บราเธอร์ส เมื่อต้นปี 2544 มาจากซีวีดี แม้ในเวลาต่อมาจะเสียพาราเมาท์ไปให้กับ แปซิฟิก มาร์เก็ตติ้ง แต่แปซิฟิก เอง ดูจะเสียหายหนักกว่า ที่ต้องส่งลิขสิทธิ์หนังของยูนิเวอร์แซล กลับมาให้แคททาลิสท์
ถ้าดูพอร์ทของซีวีดี ฟ็อกซ์ บัวนาวิสต้า วอล์ท ดีสนีย์ โซนี่พิคเจอร์ และเอ็มจีเอ็ม ตัวเอกที่นำหนังติดบ๊อกออฟฟิศสม่ำเสมอ ชูให้ซีวีดียังยืนยันความเป็นอันดับ 1 ในตลาดอยู่ได้ เห็นจะมีเพียงแค่หนังจากวอล์ท ดีสนีย์ ที่วางตลาดเรื่องไหน ต้องขึ้นอันดับ 1 ทุกที ฟ็อกซ์ และบัวนาวิสต้า อาจมีหนังถูกตลาดออกมาบ้างประปราย
แต่กับแคททาลิสท์ อัลลายแอนซ์ นิติ ถาวรวณิชย์ กรรมการผู้จัดการ เปิดรายชื่อค่ายหนังในมือ แม้ไม่มากเท่าซีวีดี แต่ชื่ออย่าง วอร์เนอร์ ยูนิเวอร์แซล ดรีมเวิร์ค และชอร์ บราเดอร์ส ไม่ธรรมดาเลยสำหรับค่ายหนังรุ่นลูก
ทัพของหนังที่จะถูกนำออกสู่ตลาดในปี 2549 มีชื่อหนังบิ๊กเนมที่เรียกเสียงฮือฮาอย่าง King Kong , Harry Potter and The Goblet of Fire, Superman Returns, Corpse Bride, Doom , Red Eye ชวนให้ซีวีดีต้องหาวิธีดูแลรักษาลิขสิทธิ์ของวอล์ท ดีสนีย์ไว้ให้ดี เพราะถ้าเกิดเหตุมีอันต้องหลุดมือเหมือนเมื่อครั้งเสียวอร์เนอร์ บราเธอร์ส ออกไป เจ้าตลาดโฮมวิดีโอ มีหวังได้เปลี่ยนมือ
นิติ ถาวรวณิชย์ วางแนวทางการเติบโตของแคททาลิสท์ โดยการหาพันธมิตรมาช่วยในการเดินหน้าทางธุรกิจ ลิขสิทธิ์หนังที่ได้รับมาใหม่ 2 ราย ยูนิเวอร์แซล และดรีมเวิร์ค นิติ ส่งต่อให้อีวีเอส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ของเสกสรร สุนันท์กิ่งเพชร เป็นผู้ทำการตลาดขายปลีกวีซีดี คงเหลือไว้แต่การทำตลาดดีวีดี และลิขสิทธิ์ทั้งหมดของวอร์เนอร์ส ที่แคททาลิสท์ จะรับผิดชอบเอง หวังนำศักยภาพของร้านค้าที่อีวีเอสมีกว่า 1,000 จุดทั่วประเทศมาช่วยผลักดันยอดขาย ตั้งเป้าออกหนังใหม่สู่ตลาด 20-24 เรื่องต่อเดือน โดยคาดว่ายอดขายในปี 2549 จะเติบโตกว่าปี 2548 ที่ทำได้ 330 ล้านบาท ถึงกว่า 50%
แต่ถึงการแข่งขันในธุรกิจนี้จะส่อเค้าดุเดือด เข้มข้นขึ้น นิติ ก็ยังออกปากว่า ไม่ได้ถือว่าบริษัทอื่นเป็นคู่แข่ง เนื่องจากทุกบริษัทจะถือลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ที่ไม่ทับซ้อนกัน การที่ผู้บริโภคซื้อภาพยนตร์เรื่องหนึ่งจากค่ายหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ไปซื้อหนังเรื่องอื่นจากค่ายอื่น หากเป็นหนังที่ถูกตลาด ก็เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จได้
"คู่แข่งของเราโดยตรงเป็นแผ่นผีมากกว่า การดำเนินการทางการตลาดของเราค่อนข้างลำบาก ดีวีดีผีราคาแผ่นละ 100 บาท ขณะที่ดีวีดีลิขสิทธิ์ราคาราว 500 บาท การทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ใด ๆ ออกไป กลายเป็นการเพิ่มยอดขายให้กับแผ่นผี ที่ผ่านมาเราจึงเน้นทำแคมเปญกับร้านค้า ทำโปรโมชั่นลดราคา หรือแจกของพรีเมียม ส่วนปัญหาเรื่องราคา เรากำลังเจรจากับเจ้าของลิขสิทธิ์ ขอเพื่อลิขสิทธิ์การผลิตแผ่นดีวีดีในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยทำให้ราคาดีวีดีถูกลง"
โรสวิดีโอ เข้าตลาดหลักทรัพย์ปูทางสู่ผู้นำ
ถ้าจะพูดถึงรูปแบบโฮม เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ ที่นำเสนอความบันเทิงในรูปแบบวิดีโอให้ทุกคนในบ้านอย่างแท้จริง ชื่อของ โรส วิดีโอ ดูจะชัดเจนกว่ารายอื่น ๆ พอร์ทความบันเทิงในมือมีความหลากหลายตอบสนองคนทุกกลุ่ม ตั้งแต่ ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดที่อยู่นอกกลุ่มเมเจอร์ ภาพยนตร์จากฝากตะวันตกทั้งฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี ภาพยนตร์ไทย การ์ตูนอนิเมชั่น คาราโอเกะ ลิเก วีซีดีออกกำลังกาย จนถึงวีซีดีตลก
อรพรรณ มนต์พิชิต กรรมการผู้จัดการ ดับบลิว พี เอ็ม ฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทในเครือโรสวิดีโอ ซึ่งมีหน้าที่หาภาพยนตร์จากแหล่งต่าง ๆ มาป้อนให้โรสวิดีโอ กล่าวว่า คอนเซปต์ของธุรกิจ คือ แฟมิลี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์
แหล่งที่มาของภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด อรพรรณ เสาะหาจากค่ายหนังอิสระ ที่ก็มีหนังคุณภาพ หนังตลาดปะปนอยู่ ในปีนี้ดับบลิวพีเอ็ม ได้ลิขสิทธิ์ Austin Power 3 , Sahara , Alexander และ Oliver Twist
อรพรรณ ก็มองเช่นกันว่า ปีหน้าจะเป็นปีที่บริษัทมีสินค้าดี ๆ ออกนำเสนอไม่แพ้คู่แข่ง เริ่มจากการเซ็นสัญญากับเครือข่ายหนังอิสระรายใหญ่ที่สุดในฮอลลีวู้ด ส่งให้ในปีหน้า ดับบลิวพีเอ็ม จะมีลิขสิทธิ์หนังชั้นดีส่งมอบให้กับโรสวิดีโอตลอดปี อาทิ Keeping Mum ผลงานของมิสเตอร์บีน ตลกเงียบจากอังกฤษที่คนไทยรู้จักดี, The Drewin Awards หนังกุ๊กกิ๊ก ของวิโนน่า ไรเดอร์ , Lonesome Jim โดย ลิฟ ไทเลอร์, Bable หนังเรื่องใหม่ของแบรดด์ พิทท์
หนังเกาหลีที่กำลังอยู่ในความสนใจของคนไทยขณะนี้ ตกอยู่ในมือดับบลิวพีเอ็มอีกลอตใหญ่ Daisy หนังเรื่องล่าสุดของดาราดัง จอน จี ฮุน , Typhoon หนังฟอร์มใหญ่แห่งปีของเกาหลี และ Duelist หนังกำลังภายในของฮา จี วอน รวมทั้งหนังจีนฟอร์มโต The Banquet
แต่ตลาดที่ดูโรสวิดีโอจะชำนาญ และวางตัวเองเป็นผู้นำตลาด เห็นจะเป็นในส่วนการ์ตูน และอนิเมชั่น ญี่ปุ่น ด้วยลิขสิทธิ์ที่ดับบลิวพีเอ็มถืออยู่ นารูโตะ นินจาจอมคาถา โซนิค เอ็กซ์ อาบะเรนเจอร์ ซึบาสะ และโดเรมอน โดยในปีนี้การ์ตูนอนิเมชั่น สามารถทำยอดขายให้กับโรสวิดีโอ ได้มากถึง 250 ล้านบาท ในปีหน้าก็จะยังคงเป็นจุดขายสำคัญ
รวมทั้งสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย ทั้งภาพยนตร์ คาราโอเกะ ตลก และลิเก ก็จะมีสนับสนุนอยู่ตลอด โดยในปีหน้าโรสวิดีโอจะเพิ่มปริมาณหนังที่จะวางตลาดเป็นเดือนละ 50 เรื่อง จากที่เคยวางเฉลี่ย 30 เรื่องในปีนี้
ทั้งนี้ช่องทางการจำหน่ายของโรสวิดีโอ จะประกอบด้วยร้านค้าปลีก ภายใต้ชื่อ เชอรี่ ซึ่งมีอยู่ราว 100 แห่งทั่วประเทศ ตั้งเป้าจะขยายเพิ่มอีกราว 30-40 แห่งในปีหน้า นอกจากนี้สินค้าจากโรสวิดีโอก็ยังมีวางขายอยู่ในร้าน 7-11 กว่า 3,000 สาขาทั่วประเทศอีกด้วย
และด้วยการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงขึ้น โรสวิดีโอ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่วาดหวังจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำในตลาดโฮมเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จึงเตรียมขยับขยายครั้งใหญ่ โดยจะมีการรวมบริษัทในเครือแต่งตัวแพ็คเป็นทีมเดินเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในตลาดใหญ่ คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงไตรมาส 2 ของปีหน้า
อรพรรณ เล่าว่า การนำโรสวิดีโอเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ มีวัตถุประสงค์หลักมุ่งหวังได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษี ที่จะทำให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าในราคาที่ต่ำลง สามารถแข่งขันในตลาด รวมถึงสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ได้ นอกจากนี้การนำบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ออกไปเจรจาค้าขายธุรกิจกับนานาประเทศ สามารถสร้างความเชื่อถือได้ดีกว่า อาจเป็นผลให้วันหนึ่ง ดับบิลพีเอ็มสามารถเจรจาธุรกิจกับผู้ผลิตหนังในกลุ่มเมเจอร์ ได้ เพราะเงินที่ได้จากการระดมทุนที่เยอะขึ้น ภาพพจน์ของบริษัทที่ดีขึ้น ก็ย่อมทำให้สามารถถือลิขสิทธิ์หนังได้มากขึ้น
"ค่ายหนังยักษ์ใหญ่ของฮอลลีวู้ดเราก็มอง ๆ อยู่เหมือนกัน ตอนนี้ตกลงกันเรื่องราคา ไม่แน่ว่าเมื่อบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แล้ว ก็อาจเป็นไปได้ที่จะได้ลิขสิทธิ์มา"
|