การอพยพแรงงานที่พบเห็นโดยทั่วไปมักจะมาจากภาคอีสานเป็นส่วนมาก หากแต่ถ้าเป็นในระดับนักลงทุนแล้ว
คงเรียกได้ว่านักลงทุนอีกสาน ไม่ใช่กลุ่มนักลงทุนที่ทิ้งถิ่น เพราะหากมีความเป็นไปได้แล้ว
นักลงทุนอีกสานก็จะเลือกลงทุนธุรกิจต่างๆ ในถิ่นฐานของตนเองเป็นหลัก
เช่นเดียวกับกลุ่ม "คุณะปุระ" ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่เก่าแก่กลุ่มหนึ่งของจังหวัดอุดรธานี
มีธุรกิจต่างๆ มาหลายชั่วอายุคน
"คุณะปุระ ถือเป็นตระกูลเก่าแก่ในจังหวัดอุดรคนในพื้นที่จะรู้จักดี
สมัยคุณปู่ผมเริ่มมีธุรกิจโรงสีก่อนเป็นอย่างแรก ก่อนจะหันมาทำธุรกิจโรงแรมภายหลังที่อุดรเจริญขึ้น
โดยเฉพาะในช่วง 20 กว่าปีก่อนที่ฝรั่งเข้ามา"
พิฑูรย์ คุณะปุระ ผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมบ้านเชียง เล่าถึงความเป็นมาของตระกูล
และกล่าวว่า
ภายหลังจากที่คุณะปุระดำเนินธุรกิจโรงแรมในนาม "เจริญโฮเต็ล"
ในตัวเมืองอุดรธานี ก็เริ่มมีโรงแรมเพิ่มขึ้นในอุดรธานี รวมทั้งธุรกิจต่างๆ
เริ่มขยายตัว พลเมืองมีมากขึ้น ประกอบกับในปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้าน คือ
ลาว เป็นอิสระ ทำให้ศักยภาพของจังหวัดอุดรธานีมีมากขึ้น
ดังนั้นกลุ่มคุณะปุระซึ่งมีเจริญโฮเต็ลเป็นธุรกิจแล้ว ยังมีห้องอาหารที่เคยมีชื่อเสียงในจังหวัดอุดร
คือห้องอาหารกระยาทิพย์ และห้องอาหารธนูทอง เป็นธุรกิจบริการอีกอย่าง รวมทั้งโรงแรมม่านรูดเริ่มมองหาลู่ทางขยายธุรกิจเพิ่มขึ้น
"ในยุคจีไอ เจริญโฮเต็ล มีส่วนแบ่งในตลาดมาก ทำให้กลายเป็นโรงแรมที่มีชื่อเสียงเก่าแก่ในอุดร
ต่อมาในช่วง 4-5 ปีก่อนหน้านี้ถึงจะมีโรงแรมในระดับเดียวกันคือ เจริญศรีแกรนด์โฮเต็ล
ที่เกิดจากกลุ่มนักลงทุนในอุดรเช่นกัน เข้ามาลงทุนในธุรกิจโรงแรมและค้าปลีก"
ในยุคสมัยเจริญโฮเต็ลซึ่งมีอาของพิฑูรย์เป็นเจ้าของ พิฑูรย์มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการ
ซึ่งพิฑูรย์ได้เริ่มงานกับครอบครัวตั้งแต่เรียนจบบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
รุ่นที่ 1 ทำให้เขาอยู่กับอาชีพงานโรงแรมหรืองานบริการมาตลอด
จนประมาณปลายปี 2537 กลุ่มคุณะปุระ โดยรุ่นหลานของพิฑูรย์ ได้มาดึงไปทำธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์
โดยก่อสร้างใจกลางเมืองอุดรธานี บริเวณที่เป็นห้องอาหารธนูทอง และโรงแรมม่านรูดเก่า
ซึ่งสุดท้ายต้องเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นโรงแรม จากสภาพตลาดที่เหมาะสมกว่า
โดยพิฑูรย์ มองว่า อพาร์ตเมนต์จะสู้โรงแรมไม่ได้ในเรื่องของรายได้ที่แตกต่างกัน
โรงแรมสามารถได้รายได้จาก 2 ทางใหญ่คือ ห้องพักกับการจัดเลี้ยงรวมทั้งธุรกิจบันเทิงต่างๆ
ซึ่งดีกว่าอพาร์ตเมนต์ที่จะได้เพียงเดือนละ 3,000-4,000 บาทต่อห้อง
เป็นความคิดของกลุ่มคุณะปุระที่ตัดสินใจทำโรงแรมเพราะอย่างน้อยกลุ่มคุณะปุระก็เคยเปิดห้องอาหารมาก่อนที่จะทำโรงแรมขนาดเล็ก
เรียกได้ว่าคุ้นเคยกับงานบริการมาก่อน จึงมีความคิดที่อยากทำโรงแรมที่มีมาตรฐานขึ้นมา
เพราะในอุดรธานียังไม่มีโรงแรมที่ได้มาตรฐานมากนัก แม้จะเห็นว่าธุรกิจส่อแววโตยาก
แต่เมื่อตัดสินใจกันแล้วจึงยอมเสี่ยง
"ตอนนั้นในกลุ่มคุณะปุระ โดยมีรุ่นหลานเป็นคนตัดสินใจ ซึ่งผมไม่ได้มีส่วนในการคิดที่จะทำอพาร์ตเมนต์
ในนามบริษัทอุดรจตุรภัทร จำกัด แต่เพราะเป็นช่วงที่อสังหาริมทรัพย์ถดถอยพอดี
ทำให้เกิดวิกฤติทางการเงินกับกลุ่มคุณะปุระ ทั้งการลงทุนก็ถือได้ว่าประมาณการผิดไป
จากเริ่มต้นที่ตั้งไว้ 250 ล้านบาท ก็บานปลายไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบและผู้ถือหุ้น"
เมื่อเกิดวิกฤติการเงินเพื่อความอยู่รอด กลุ่มคุณะปุระ จึงต้องหาผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามาช่วย
จากเดิมที่เสนอให้กับนักลงทุนจากกรุงเทพฯ แต่ในที่สุดก็ได้กลุ่มตระกูล "ชัยรัฐ"
ซึ่งเป็นกลุ่มทุนท้องถิ่น โดยมีปรีชา ชัยรัฐ เข้ามารับซื้อหุ้นทั้งหมดของกลุ่มคุณะปุระ
ทั้งยังเป็นเพื่อนกับพิฑูรย์มาก่อน และมีธุรกิจเดิมคือ เป็นเจ้าของโรงงานน้ำตาล
เริ่มอุดม ในนามบริษัทเริ่มอุดม สนามแข่งม้า และธุรกิจโรงพยาบาล
จากผู้ถือหุ้น และเป็นหนึ่งในตระกูล ที่ตระกูลที่ครั้งหนึ่งได้ชื่อว่า เป็นเจ้าของโรงแรมบ้านเชียงทำให้ปัจจุบันพิฑูรย์มีสถานะเป็นเพียงผู้รับจ้างในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมบ้านเชียง
ที่เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็นบริษัท โรงแรมบ้านเชียง จำกัด และมีปรีชา ชัยรัฐ
เป็นกรรมการผู้จัดการของผู้ถือหุ้นชุดใหม่
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นจากตระกูลคุณะปุระเป็นตระกูลชัยรัฐ ก็มีการตกลงกันว่าจะดำเนินการก่อสร้างโรงแรมบ้านเชียงต่อไป
แต่ก็ล่าช้ากว่ากำหนด ทำให้จะแล้วเสร็จสมบูรณ์และเปิดเป็นทางการได้จริงในเดือนกรกฎาคม
2540 นี้ ปัจจุบันเหลือเพียงส่วนของร้านอาหารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเพียงอย่างเดียว
เพื่อลดภาระจากงบการลงทุนที่บานปลาย โรงแรมบ้านเชียง จึงได้เริ่มเปิดบริการอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่เดือนเมษายน
2539 ภายหลังการตกแต่งห้องพักเสร็จ
"เราอยากให้มีเงินหมุนเวียนเข้ามา จากเดิมที่คุณปรีชาอยากรอให้ทุกอย่างเสร็จพร้อมกันก่อนจึงเปิดบริการ"
หลังจากเปิดทำการได้ 1 ปีกว่า พิฑูรย์ กล่าวว่า ถือได้ว่าตัวเลขเฉลี่ยการเข้าพักของโรงแรมบ้านเชียงดีขึ้นตามลำดับ
จากผู้เข้าพักที่มีเพียง 10% ของ 149 ห้อง จนถึงวันนี้มีอัตราเฉลี่ยการเข้าพักเพิ่มเป็น
30% หรือประมาณ 40 กว่าห้องต่อวันนั่นเอง
"ลูกค้าที่ได้ ส่วนมากได้จากการประชาสัมพันธ์ปากต่อปากของแขกที่เข้าพัก
ลูกค้าวอล์คอิน เดิมเราตั้งกลุ่มเป้าหมายไว้ว่าเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ
แต่จากสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดอุดรซึ่งกระจัดกระจาย ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้น้อย
จะมีก็แต่นักท่องเที่ยวที่สนใจจริงๆ จึงเดินทางมา เราจึงเปลี่ยนมาเน้นกลุ่มสัมมนาเป็นหลัก
นักท่องเที่ยวเป็นเป้าหมายรองซึ่งก็ได้ผลดี"
มาตรฐานและกาบริการของโรงแรม ซึ่งพิฑูรย์คิดคอนเซ็ปต์กันตั้งแต่กลุ่มคุณะปุระเป็นผู้ถือหุ้นคือ
นอกจากห้องพักที่ได้มาตรฐาน 149 ห้อง ที่ถือเป็นโรงแรมขนาดเล็ก แต่เน้นเรื่องความปลอดภัยทางทรัพย์สินของผู้มาพัก
โดยมีตู้นิรภัยระบบดิจิตอลในทุกห้อง สิ่งอำนวยความสะดวกที่พร้อมสำหรับโรงแรมมาตรฐานกล้องวงจรปิดภายในโรงแรม
ห้องจัดสัมมนา ฟังก์ชั่นรูม 4 ห้อง บรรจุได้ตั้งแต่ 50-100 คน สระว่ายน้ำ
ศูนย์สุขภาพ คาราโอเกะ 23 ห้อง
"ที่ถือเป็นจุดเด่นของโรงแรมได้คือล็อบบี้ บาร์ ที่เน้นความเป็นกันเองกับแขก
ด้วยการได้ร้องเพลงกับเปียโนสดๆ และห้องอาหารที่ไม่ใช่มีเฉพาะอาหารไทยสากลแต่เพียงอย่างเดียวและจะมีห้องอาหารอีสาน
สำหรับจัดอาหารไทยพื้นบ้านสำหรับแขกที่นิยมรับประทานไว้ด้วย"
สำหรับธุรกิจในตระกูลคุณะปุระที่เหลืออยู่คือ โรงแรมเจริญโฮเต็ล เพียงแห่งเดียว
เพราะนอกจากร้านธนูทองและโรงแรมม่านรูดที่รื้อเพื่อก่อสร้างโรงแรมบ้านเชียงนั้น
ห้องอาหารกระยาทิพย์เองก็รื้อไปแล้ว
ส่วนตัวพิฑูรย์ ซึ่งกล่าวว่า นอกจากการรับจ้างเป็นผู้จัดการแล้ว อีก 6 ปี
ที่เหลือก่อนเกษียณก็ยังไม่คิดขยายธุรกิจโรงแรมต่อไปอีก เพราะตลอดอายุการทำงานพิฑูรย์เรียกได้ว่าอยู่กับงานบริการมาตลอด
ทำให้รู้สึกจำเจและเหนื่อยเกินไปสำหรับอาชีพนี้ ซึ่งจะเหมาะกับคนหนุ่มสาวมากกว่า
พิฑูรย์จึงตั้งใจจะเทรนคนท้องถิ่นสักคนขึ้นมารับช่วง เพราะเชื่อว่าคนท้องถิ่นจะทำได้ดีกว่า
อย่างน้อยก็จะมีความรักในถิ่นเกิด และสำนึกอยู่เสมอว่าที่นี่คือบ้าน
และโดยส่วนตัวหากเลิกจากธุรกิจโรงแรม พิฑูรย์ตั้งใจว่าอยากจะมีร้านอาหาร
ขายเครื่องดื่มของตัวเองสักแห่ง เพราะอย่างน้อยก็มีประสบการด้านนี้มาก่อน
และเชื่อว่าคงจะไปได้ดี