Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2540
"L0FT" IN BANGKOK             
 


   
search resources

บีไอเอชซี เทรดดิ้ง, บจก. (LOFT)
วีรชัย ศิริอัฐ
Commercial and business




"LOFT" ตัวอักษรสีดำ 4 ตัวบนพื้นสีเหลืองสดพร้อมกับสโลแกน "BEYOND ORDINARY STORE" ที่ปรากฏอยู่บนท้าย รถ ตุ๊กตุ๊กที่แล่นอยู่บนท้องถนนในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ณ วันนั้นหลายคนอาจจะสงสัยและไม่รู้จักว่า ป้ายนั้นคือสัญลักษณ์ของอะไร แต่ที่แน่นอนคือ ความสะดุดตา สะดุดใจ…มาถึงวันนี้ ปริศนาของคำว่า LOFT ก็ได้ถูกไขออกแล้วจากงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บนพื้นที่ 1,200 ตารางเมตร บริเวณชั้น 3 สยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์

"LOFT" ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกที่ญี่ปุ่น เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นร้านค้าปลีกแนวใหม่ที่อยู่ในเครือของห้างสรรพสินค้าชื่อดังของญี่ปุ่น "SEIBU" หรือ "เซบุ"

"LOFT" ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของคนญี่ปุ่นที่มีพฤติกรรมการจับจ่ายเปลี่ยนไป จากอดีตที่ลูกค้าส่วนใหญ่ติดอยู่กับยี่ห้อของสินค้า และถูกชักจูงจากพนักงานขายได้ง่าย แต่ในปัจจุบันคนเหล่านั้นมีความพิถีพิถันในการเลือกซื้อสินค้าให้เข้ากับความต้องการที่แท้จริงของตนเองมากขึ้น "LOFT" จึงเป็นแหล่งรวมสินค้าที่มีความหลากหลายและแปลกใหม่

นั่นคือ จุดกำเนิดของ LOFT ที่ญี่ปุ่น ส่วน LOFT ที่กรุงเทพมหานครของไทยนั้นได้มีจุดเริ่มต้นเมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว จากการที่ชฎาทิพย์จูตระกูล ผู้บริหารสาวคนเก่งของ BIHC หรือบริษัท บางกอก อินเตอร์ คอนติเนลตัลโฮเต็ลได้ไปเยือนญี่ปุ่นและได้เก็บเอาความประทับใจที่ได้จาก LOFT กลับมา และเมื่อประมาณ 3 ปีที่ผ่านมาในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังบูมสุดขีดเธอก็มองเห็นช่องว่างทางการตลาดที่ LOFT น่าจะเข้ามาปิดช่องว่างนั้นได้ เธอก็ได้เริ่มติดต่อกับห้างเซบุ เพื่อขอซื้อ FRAN CHISE LOFT มาเปิดสาขาที่กรุงเทพฯ และเมื่อต้นปี 2538 เองฝันของเธอก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ประจวบกับ LOFT ญี่ปุ่นได้แยกตัวออกจากบริษัทแม่มาตั้งเป็นบริษัทของตัวเอง เพื่อง่ายต่อการบริหาร ชฎาทิพย์ก็ได้ก่อตั้งบริษัท บีไอเอชที เทรดดิ้ง หรือ B-TRADE ขึ้นเพื่อรองรับธุรกิจ LOFT

ช่วงเวลานั้นเองที่ วีรชัย ศิริอัฐ ได้เข้ามาช่วยสานฝันให้เป็นจริง โดยเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ B-TRADE และเป็นผู้ดูแลธุรกิจทั้งหมดของ B-TRADE ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 สายคือ สายธุรกิจค้าปลีก ซึ่งดำเนินการร้าน LOFT เป็นโครงการแรก และสายธุรกิจเทรดดิ้ง ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับนำเข้าและส่งออก โดยปัจจุบันมีสินค้านำเข้าตัวแรกคือนาฬิกายี่ห้อ FOSSIL

"ผมเข้ามาที่นี่เพื่อทำฝันให้เป็นจริง ตั้งแต่ทำร้านให้สวย หาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของคนไทย โฆษณาให้คนรู้จัก รวมทั้งหาคนดี ๆ มาร่วมงาน ซึ่งหลักการก็เหมือนกับการจัดตั้งบริษัททั่ว ๆ ไป อาจแตกต่างกันที่ประเภทของสินค้าในบริษัทหรือร้านนั้น ๆ" วีรชัยกล่าว และหลังจากที่บริษัทเป็นรูปเป็นร่างแล้ว งานส่วนใหญ่ที่เขามุ่งเน้นก็จะเป็นเรื่องของการตลาด ซึ่งถือเป็นงานที่ผู้บริหารหนุ่มคนนี้ถนัดอยู่แล้วจากประสบการณ์ทำงานทางด้านการตลาดมากกว่า 10 ปี

"การตลาดของ LOFT ไม่ได้เริ่มจากการที่ได้ LOFT มาแล้วจึงมีการวางแผนทางการตลาด แต่มันเริ่มตั้งแต่คำถามที่ว่าทำไมต้องไปเอา LOFT มา ทำไมไม่เอาร้านอื่นมา คือเริ่มตั้งแต่คนที่คิดจะเอาร้านนี้มาเปิดในเมืองไทยซึ่งก็ต้องเล็งเห็นความต้องการร้านค้าประเภทนี้ในตลาดไทยจึงนำมาเปิด ซึ่งเป็นความโชคดีที่ศักยภาพของสินค้าตัวนี้ดีอยู่แล้ว ประกอบกับความต้องการสินค้าประเภทนี้ในไทยยังมีอยู่ จึงกลายเป็นความพอดีที่ลงตัว" วีรชัยชี้แจง

LOFT ที่กรุงเทพฯ ถือเป็นสาขาที่ 2 ของ LOFT ที่อยู่นอกประเทศญี่ปุ่น สาขาแรกคือที่ฮ่องกง ซึ่งได้เปิดดำเนินการมาหลายปีแล้ว LOFT จะมีความเป็นเอกลักษณ์เหมือนกันทุกสาขาในเรื่องของการตกแต่งร้านและมีแนวคิดเดียวกันว่า "BEYOND ORDINARY STORE" คือ สินค้าทุกตัวที่ปรากฏใน LOFT จะต้องเป็นสินค้าที่มีความแปลกใหม่ หลากหลายสไตล์ แต่มีจำนวนจำกัด "หมดแล้วหมดเลย" LOFT ที่กรุงเทพฯ ก็เช่นเดียวกัน ในส่วนของร้านก็มีการตกแต่งที่คงความเป็น LOFT ดั้งเดิมไว้ แตกต่างก็เพียงเล็กน้อยในบางส่วนที่ปรับเพื่อให้สอดคล้องกับคนไทย

"ลูกค้าที่เข้ามาเยือน LOFT จะรู้สึกตื่นตาตื่นใจ เสมอกับสินค้าและรูปแบบการจัดหน้าร้านที่จะมีการเปลี่ยนแปลงทุกเดือน พร้อมทั้งมีการเปลี่ยนสินค้าใหม่ทุก ๆ 2 เดือน ซึ่งล้วนแต่เป็นสินค้าใหม่ที่ไม่ซ้ำแบบมาจากทั่วโลก" วีรชัยกล่าว และเขาให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนหน้าร้านทุก ๆ เดือนด้วยว่า

"บางทีสินค้าบางตัวเรายังไม่เปลี่ยน แต่ดิสเพลย์เราเปลี่ยน คนที่เข้ามาก็รู้สึกว่ามีอะไรใหม่ ๆ ให้น่ามาเดินตลอดเวลา CONCEPT ของเราไม่ได้เน้นให้เข้ามาเดินซื้อของเพียงอย่างเดียว แต่มาเดินเพื่อการพักผ่อนไปในตัวด้วย"

สินค้าหลากหลายที่อยู่ใน LOFT นั้นประกอบด้วย 6 กลุ่มสินค้า คือ กลุ่ม BRAIN WORKING ซึ่งเป็นศูนย์รวมเครื่องเขียนและอุปกรณ์บนโต๊ะทำงาน กลุ่ม LOFT INTERIOR เหมาะสำหรับผู้รักการตกแต่งบ้าน กลุ่ม COMMUNICATION เป็นมุมที่รวบรมความแปลกใหม่ในการตกแต่งของขวัญและการ์ดกลุ่ม FASHION PARTS เพียบไปด้วยเครื่องประดับหลากสไตล์สำหรับผู้ที่รักความสวยความงาม กลุ่ม GIFT & GAME โลกแห่งของขวัญเกมแปลกใหม่และสินค้าเพื่อความบันเทิงหลากหลาย และกลุ่มสุดท้ายคือ NEATNESS เป็นมุมเพื่อสุขภาพ

จากความหลากหลายของประเภทและความแปลกใหม่ของสินค้าเหล่านี้ที่ LOFT สรรหามาจากทั่วทุกมุมของโลก เพื่อนัก ช้อปชาวกรุงเรียกได้ว่า ครอบคลุมชีวิตประจำวันของคุณตั้งแต่หัวจรดเท้า นับตั้งแต่ตื่นจากที่นอนจวบจนกลับไปซุกตัวเพื่อพักผ่อนยามค่ำคืนอีกครั้ง

กลุ่มเป้าหมายของ LOFT เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น จนถึงคนทำงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ อายุประมาณ 18-35 ปี โดยพฤติกรรมของคนเหล่านี้จะเป็นคนที่รักการสร้างสรรค์ในการเลือกซื้อสินค้า ต้องการสิ่งใหม่ ๆ ให้กับตนเอง และมีความเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร

สินค้าที่ปรากฏอยู่ใน LOFT ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่นำเข้าประมาณ 70- 80% โดย 55% นำเข้ามาจากญี่ปุ่น อีก 30% นำเข้ามาจากยุโรป และอเมริกา ส่วนสินค้าที่ผลิตในประเทศเองมีประมาณ 15%

"สินค้าที่ผลิตในไทยก็มีบ้างแต่ไม่มาก ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าที่แปลก ๆ เช่นการ์ดต่าง ๆ งานเรซิน งานกรอบรูป สำหรับสินค้าที่นำเข้ามาส่วนใหญ่เราจะส่งทีมงานของเราไปลุยในต่างประเทศเอง ไม่ต้องรอให้มีคนมาเสนอขาย และสินค้าที่เราสั่งเข้ามาในแต่ละแบบจะมีจำนวนไม่มาก แต่เราเน้นให้มีความหลากหลายในสไตล์มากกว่า" วีรชัยเล่าถึงกระบวนการทำงาน

สำหรับงบประมาณที่ B-TRADE ได้วางไว้สำหรับ LOFT ในปีแรกนี้รวมทั้งสิ้น 140 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าตกแต่งร้าน 20 ล้านบาท ค่าสต็อกสินค้า 90 ล้านบาท ค่าเช่าพื้นที่ 10 ล้านบาท และค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ 20 ล้านบาท

และจากเวลาเพียงไม่ถึง 2 เดือนที่ LOFT ออกสู่สายตาชาวกรุง ผลตอบรับที่สะท้อนกลับมานั้นสามารถเรียกกำลังใจให้กับคนทำงานใน B-TRADE ได้ทุกคนท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ถือเป็นแรงผลักดันให้ไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ไม่ยากนัก ซึ่งผู้บริหารของ B-TRADE ได้เผยถึงเป้ายอดขายที่ตั้งไว้สำหรับปีแรกนี้ที่ 200 ล้านบาท

"ถามว่า เมื่อ 3-4 ปีที่แล้วที่เขาคุยธุรกิจนี้กัน พวกเขาจะรู้ไหมว่าเศรษฐกิจ ณ วันนี้ จะเป็นแบบนี้.. ไม่มีใครตอบได้ แต่เนื่องจากเรามีบริษัทแม่ที่มีเครดิตที่ดีอย่าง BIHC ประกอบกับญี่ปุ่น เขามั่นใจในทีมงานของเรา เขาก็ยอมขาย FRANCHISE ให้เรา ในที่สุด ซึ่งตอนนี้เราก็ได้พิสูจน์ให้เขาเห็นแล้วว่า เขาคิดไม่ผิดที่ขาย FRANCHISE ให้เรา โดยพิสูจน์จากยอดขาย การเข้าร้านของคนและการรับรู้ของชาวกรุงเทพฯ" วีรชัยกล่าวอย่างภูมิใจ

และในเดือนนี้ สินค้าที่จะมาเป็นพระเอกให้แก่ร้าน LOFT ก็เป็นสิ่งที่คนไทยรอคอยคือ จูราสสิกพาร์ค ภาค 2 เพื่อต้อนรับหนัง THE LOST WORLD ที่กำลังฮิตอยู่ในอเมริกา และจะเข้ามาฉายในเมืองไทย ส่วนจะเป็นสินค้าในรูปแบบไหนก็ต้องไปแวะชมกันเอง

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us