Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์26 ธันวาคม 543
“อนันต์”เฟื่องยุค “ทักษิณ”เปิดความสัมพันธ์ไทยรักไทย             
 

 
Charts & Figures

เปิดสายสัมพันธ์ "อนันต์ อัศวโภคิน"


   
www resources

โฮมเพจ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ - แลนด์แอนด์เฮ้าส์

   
search resources

แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์, บมจ.
อนันต์ อัศวโภคิน
Real Estate
Political and Government
ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์เพื่อรายย่อย




*ตำนานความสัมพันธ์”อนันต์ อัศวโภคิน” กับแกนนำเครือข่าย ทักษิณ ชินวัตร
*เบื้องหลัง แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ปรับตัวเร็ว รับผลพวงโครงการมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ โกยกำไรนับพันล้าน
*กลยุทธ์บริหารความสัมพันธ์กับการเมือง ไทยรักไทย ขณะที่สังคมจับตา อนันต์ จะเข้าสู่วงการเมืองไหม?

“อนันต์ อัศวโภคิน” ซีอีโอ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

ชื่อนี้กำลังฮอตอีกครั้ง เมื่อถูกจัดอันดับเป็นเศรษฐีหุ้นเมืองไทยอันดับที่ 3 จากการจัดอันดับของ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับวารสารการเงินธนาคาร รองจากตระกูลชินวัตร และดามาพงษ์ รวมถึงอนันต์ นั่งเป็นบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ และบอร์ดคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าที่มีอำนาจชี้เป็นชี้ตาย การนำบริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจ ของเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้าตลาดหลักทรัพย์

นอกจากนี้ เมื่อ 2-3 เดือนก่อน อนันต์ ยังได้รับการกล่าวขานถึงในฐานะที่มีสิทธิ์เข้าร่วมเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ 2/2 แต่แล้วเรื่องก็เงียบหายไป เพราะหลังจากประกาศรายชื่อรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่ ไม่ปรากฏชื่อของอนันต์ อยู่ในทำเนียบคณะรัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี หรือแม้แต่ที่ปรึกษารัฐมนตรี

อนันต์ ยืนยันกับสื่อมวลชนหลายสำนักเมื่อครั้งเปิดแถลงถึงความคืบหน้าการจัดตั้งแบงก์ แลนด์ว่า “ไม่มีทางที่ผมจะเข้าไปเล่นการเมือง หรือเป็นรัฐมนตรี เพราะไม่ชอบการเมือง ” อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า เพื่อนสนิทคนหนึ่งของอนันต์ คือบุญคลี ปลั่งศิริ ซีอีโอ ชินคอร์ป ผู้ใกล้ชิดและเป็นที่ปรึกษานายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องการให้อนันต์เข้ามาช่วยชาติ ด้วยการรับตำแหน่งรัฐมนตรี ในรัฐบาลทักษิณ รวมถึง เพื่อนสนิทอีกคนหนึ่ง คือ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ อดีตซีอีโอ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ต้องการให้เพื่อลงมาเล่นการเมืองด้วย

ยันไม่สนการเมือง

แต่ ณ วันนี้ ยังไม่มีใครกล้าฟันธงว่า จริง ๆ แล้ว อนันต์ สนใจเล่นการเมืองหรือไม่!! เพราะหากพิจารณาจากคำยืนยันของอนันต์นั้น แน่นอน !! อนันต์ไม่ต้องการเล่นการเมือง

หากย้อนไปเมื่อ 17 ปีก่อน หรือในราวปี 2531 อนันต์ เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุน และให้เงินอุดหนุนพลตรีจำลอง ศรีเมือง ในการก่อตั้งพรรคพลังธรรม เพื่อรองรับการเลือกตั้งทั่วไประดับประเทศ และในครั้งนั้น พรรคพลังธรรมพลิกประวัติศาสตร์การเมืองในกรุงเทพมหานคร ครั้งยิ่งใหญ่ เพราะสามารถพาสส.หน้าใหม่เข้าสู่สภาจำนวนมาก

และหากจำกันได้ ก่อนหน้านี้ในงานวันครบรอบมงฟอร์ต อนันต์ถูกจัดให้นั่งติดกับนายกฯทักษิณ ส่วนอีกข้างหนึ่งเป็นเก้าอี้ของเจ้าพ่อน้ำเมา เจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งภาพที่ปรากฏออกมาสู่สาธารณชน สะท้อนให้เห็นว่า นักธุรกิจ 2 คนนี้ สนิทสนมและให้การสนับสนุนพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล และการนั่งติดกันขนาดนี้ น่าจะมีนัยสำคัญที่น่าติดตามตอนต่อไป !!

อาศัยการเมืองหนุนธุรกิจ

มีความเป็นไปได้ว่า นักธุรกิจทั้ง 2 คนนี้ อาจจะต้องการสายสัมพันธ์ทางการเมืองมาเกื้อหนุนธุรกิจหรืออาจจะอยากเล่นการเมืองด้วย ถึงได้ยอมออกนอกหน้ามาร่วมงาน และนั่งร่วมโต๊ะเดียวกับนายกฯทักษิณ

“หลังจากที่ภาพปรากฏออกไป ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า อนันต์อาจจะลงเล่นการเมืองเสียที หลังจากที่อยากจะเข้ามาคลุกคลีด้วยนานมาแล้ว เห็นได้จากการสนับสนุนพรรคพลังธรรม แต่สถานการณ์ยังไม่เอื้ออำนวย เพราะในระยะหลังธุรกิจหลังคือบ้านจัดสรร ประสบปัญหาอย่างหนัก จึงต้องถอยจากทางการเมืองมาแก้วิกฤตของตัวเองก่อน ทั้งนี้ อนันต์รีบออกมายืนยันว่า ในวันงานไม่รู้มาก่อนว่าต้องนั่งตรงไหน และเมื่อไปถึงงานถึงรู้ว่า ทางเจ้าของงานจัดที่นั่งไว้ติดกับนายกฯทักษิณ ไม่มีนัยอะไรทั้งสิ้น”

ย้อนรอยเส้นทาง CEO แลนด์ หากมองย้อนไปในอดีตถึงการเติบโตของแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ในมืออนันต์ อัศวโภคิน หรือเฮียตึ๋ง พี่เบิ้มวงการบ้านจัดสรร

อนันต์ เรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ รุ่น 11 รุ่นเดียวกับบุญคลี ปลั่งศิริ ซีอีโอ ชินคอร์ป ด้วยเกรดเฉลี่ยเพียง 2 กว่า ๆ เท่านั้น ขณะที่บุญคลีได้เกียรตินิยม และเป็นนักเรียนทุนของการสื่อสานรด้วย หลังจากนั้น ไปเรียนต่อปริญญาโททางด้านวิศวกรรมระบบที่มหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา และกลับมาเรียน MBA ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากนั้นเริ่มเข้ามาทำอสังหาริมทรัพย์ให้กับครอบครับ โดยเพียงใจ หาญพาณิชย์ มารดา หมายมั่นปั้นมือที่จะให้อนันต์เป็นหัวเรือใหญ่ สร้างแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ให้ผงาดในวงการบ้านจัดสรร ด้วยการมอบหมายให้อนันต์ดูแลทุกเรื่องด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการฝึกการเรียนรู้ไปด้วยตัวเอง นั่นหมายความว่าอนันต์เริ่มธุรกิจบ้านจัดสรรด้วยตัวเอง

แต่โชคดีที่อสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจของครองครัว ทำให้อนันต์ได้เห็นอะไรมาบ้าง แม้ว่าจะไม่ได้ช่วยงานอะไรเลยก็ตาม รวมถึงทำให้สามารถลองผิดลองถูกได้โดยไม่ต้องกลัวว่าใครจะตำหนิ นั่นคือ เป้าหลอมที่ทำให้อนันต์แข็งแกร่ง และสร้างแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ให้ยิ่งใหญ่เป็นเบอร์ 1 ในวงการอสังหาริมทรัพย์ เรียนรู้ด้วยตัวเอง

ชีวิตการทำงานของอนันต์ เริ่มต้นงานด้วยทุกหน้าที่ ตั้งแต่ การหาทำเล วิเคราะห์ตลาด จัดซื้อจัดจ้าง ถมดิน ซื้อวัสดุอุปกรณ์ตกแต่ง การขายและการตลาด จนกระทั่งหาสถาบันการเงินปล่อยกู้ ซึ่งการทำงานทุกอย่างในวันนั้น แม้ว่าจะเหน็ดเหนื่อย ใช้ทั้งสมอง และแรงกาย แต่จากความสำเร็จในวันนี้ คือ”ความภาคภูมิใจของอนันต์”

แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า การเรียนรู้ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครั้งแรกของอนันต์ นอกจากจะเริ่มต้นที่ธุรกิจของครอบครัวแล้ว อนันต์ยังได้ไปเรียนรู้กับมนตรี นันทนาท ที่จบวิศวะฯจุฬารุ่นเดียวกัน โดยมนตรีเป็นกรรมการที่บริษัท ช.อมรพันธ์ ของไชยวัฒน์ เหลืออมรเลิศ เจ้าของสวนสยาม ทะเลกรุงเทพฯ ซึ่งในสมัยนั้น ถือว่า ไชยวัฒน์เป็นเจ้าพ่อในวงการบ้านจัดสรรตัวจริง

ส่วนโครงการแรกที่ทำงานให้กับเพียงใจ คือหมู่บ้านศรีรับสุข วิภาวดี เริ่มทำงานในราวปี 2517และมีออฟฟิตอยู่ที่ชั้น 2 ของโรงแรมแมนดาริน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจของครอบครอบอัศวโภคิน

จากนั้น อนันต์ได้เทคโอเวอร์โครงการหมู่บ้านชัยพฤกษ์ ถนนรามคำแหง จากธนาคาร กสิกรไทย โดยปริดียาธร เทวกุล หรือหม่อมอุ๋ย กรรมการธนาคาร เป็นคนสำคัญในการเทคโอเวอร์โครงการดังกล่าว นั่นเป็นก้าวแรกที่อนันต์มีความสัมพันธ์กับหม่อมอุ๋ย และแนบแน่นมากขึ้นเรื่อย ๆ

ระยะหลัง ไอทีเข้ามามีบทบาทในธุรกิจมากขึ้น อนันต์ เริ่มมองไปข้างหน้าว่า การเติบโตของแลนด์ฯควรจะเติบโตไปอย่างมีประสิทธิในทุกด้าน ไม่ควรที่จะมีจุดอ่อนไม่ว่าด้านใดด้านหนึ่ง จึงได้ตัดสินใจนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในการทำงาน โดยก่อนหน้านี้ สร้างความแข็งแกร่งทุกอย่างไว้ค่อนข้างพร้อมแล้ว ทั้งบุคคลากร แผนงาน การตลาด ส่วนระบบการทำงานขาดเพียงคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย

บุญคลีช่วยวางระบบคอมพิวเตอร์

จังหวะนี้เอง อนันต์ได้ดึงเพื่อนรัก คือบุญคลี ปลั่งศิริ ซึ่งขณะนั้นทำงานอยู่ที่การสื่อสาร มาช่วยวางระบบคอมพิวเตอร์ ในราวปี 2525-2526 โดยมาทำงาน Part time มาทำงานเฉพาะวันเสาร์ ตรงนี้ ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของเพื่อนร่วมรุ่นมีความสนิมเพิ่มพูนตามไปด้วย

การวางระบบของบุญคลี เริ่มต้นในปี 2546-2547 แล้วเสร็จในปี 2528 และนำใช้ในโครงการชัยพฤกษ์ รามคำแหง ซึ่งต้องยอมรับว่าในตอนนั้น หมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านแรกที่ทันสมัยมากที่สุดในเมืองไทย โดยโครงการนี้ซื้อมาจากธนาคาร กสิกรไทย ซึ่งในตอนนั้น ธนาคารจะเป็นเจ้าของโครงการบ้านจัดสรร (อ่านล้อมกรอบแปลงร่างสู่เจ้าหนี้)

บ้านอิงดอยบันไดเชื่อมไทยพาณิชย์

สำหรับโครงการที่สร้างชื่อเสียงให้แลดน์ แอนด์ เฮ้าส์มากที่สุด น่าจะเป็นโครงการอิงดอยหรือบ้านนันทวัน เชียงใหม่ โดยซื้อมาจากตระกูล นิมมานเหมินทร์ ซึ่งในขณะนั้นตระกูลนิมมานเหมินทร์ และตระกูลชุติมา เป็นแลนด์ลอร์ดรายใหญ่ ในช่วงอนันต์เริ่มพาแลนด์ฯให้โด่งดัง และร่ำรวยติดอันดับ ขณะที่ตระกูลนิมมานเหมินทร์ ทำธุรกิจการเงินเป็นเจ้าของบริษัท ไทยเงินทุน ส่วนทักษิณ ทำธุรกิจโรงหนัง ยังไม่ร่ำรวยเท่าทุกวันนี้

ในช่วงนั้น ความสัมพันธ์ของอนันต์ บุญคลี ตระกูลนิมมานเหมินทร์ และหม่อมอุ๋ยถูกพัฒนาขึ้นไปตามลำดับ โดยธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ และหม่อมอุ๋ย เคยเป็นบอร์ด แลดน์ แอนด์ เฮ้าส์ ส่วนบุญคลีเป็นที่ปรึกษาอนันต์ และตอนหลังบุญคลีลาออกจากการสื่อสารมาช่วยงานชินคอร์ป ซึ่งปัจจุบันเป็นซีอีโอชินคอร์ป ที่นายกฯทักษิณให้ความไว้วางใจมากที่สุด ให้ดูแลอาณาจักรชินคอร์ปทั้งหมด เพราะในอดีตบุญคลีคือผู้อนุมัติคลื่นต่าง ๆ ให้กับชินคอร์ป

ความสัมพันธ์จากกลุ่มบุคคลดังกล่าว มีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นและยาวนาน ทำให้ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทุกวันนี้การดำเนินงานของแลนด์ฯช่างราบรื่นไปหมดทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ จนทำให้อสังหาริมทรัพย์พัง บ้านขายไม่ได้ ธนาคารไม่ปล่อยกู้ อนันต์ก็ได้พระเอกขี่ม้าขาวมาช่วย โดยดร.โอฬาร ไชยประวัติ ซีอีโอ ธนาคารไทยพาณิชย์นำทีมเจ้าหน้าที่ของธนาคาร ไทยพาณิชย์มาวิเคราะห์และให้สินเชื่อโครงการบ้านของแลนด์ฯถึงที่ ซึ่งสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ในวงการอสังหาริมทรัพย์พอสมควร ช่วงนั้น ทำให้แลนด์ฯพ้นจากวิกฤต เพราะสามารถขายบ้านได้ ไม่ต้องแบกสต็อก และรับเงินสดเข้ามาใช้หมุนเวียนได้

เครือแลนด์ฯรับเละ 1,000 ล.

รวมถึงมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ออกมาช่วยแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังมาตรการดังกล่าว น่าจะเป็นอนันต์ ซึ่งผลักดันมาตรการดังกล่าวผ่านบุญคลีไปถึงนายกฯทักษิณ โดยทั้งแลนด์ฯ คิวเฮ้าส์ และเอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ได้ประโยชน์สูงสุดจากมาตรการนี้ ได้รับการลดหย่อนภาษี ประมาณ 1,000 ล้านบาท

“มาตรการดังกล่าวให้ประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ ผู้ซื้อ สถาบันการเงิน และภาวะเศรษฐกิจโดยรวม แต่ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ได้ประโยชน์น้อยมาก เพราะในช่วงที่มาตรการมีผลบังคับใช้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงฟื้นฟูกิจการ ส่วนแลนด์ฯนั้น ฟื้นฟูกิจการเสร็จก่อนรายอื่น ทำให้ได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วย” แหล่งข่าวระบุ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า วันนี้จะไม่มีใครกล้าฟันธงว่า อนันต์ ต้องการเล่นการเมืองหรือไม่ ? ใช้คอนเน็กชั่นทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ในธุรกิจหรือเปล่า ? แต่ที่แน่ ๆ หาอนันต์ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาล ไม่ว่าเรื่องใด มักจะไม่ค่อยได้รับคำปฎิเสธ!!

หนังเรื่องนี้ ยังไม่จบลงง่าย ๆ คงต้องจับตาดูต่อไปว่า ในอนาคตอนันต์ จะลงมาเล่นการเมือง ตามความตั้งใจเดิมหรือเปล่า เพราะหากดูจากแผนการทำงานแล้ว วันนี้ อนันต์ลงทุนธุรกิจครบวงจรแล้ว ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่ ผลิตวัสดุก่อสร้างอิฐมวลเบา ขายวัสดุก่อสร้างผ่านร้านโฮมโปร ทำรับเหมาผ่านบริษัท คริสเตียนี แอนด์ นีลเส็น ทำบ้านจัดสรรผ่านแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และคิวเฮ้าส์ สุดท้ายลงทุนทำธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย

“อนันต์ อัศวโภคิน” บนเส้นทางทางการเมือง

ย้อนไปในราวปี 2531 ซึ่งเป็นปีที่ก่อตั้งพรรคพลังธรรม โดยแกนนำการจัดตั้งพรรคในครั้งนั้น ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ความสามารถ และต้องการเข้ามาแก้ปัญหาและช่วยชาติอย่างจริงจัง จนทำให้พรรคนี้เป็นพรรคที่ได้รับการขานถึงว่า เป็นพรรคน้ำดี

แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า อนันต์ อัศวโภคิน บิ๊กบอส แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลัก และให้เงินอุดหนุนการจัดตั้งพรรค และยืนหยัดอยู่เคียงคู่กับพลตรี จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคคนแรก ทำให้อนันต์ และพลตรีจำลอง มีความสนิมสนม และสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นยิ่งขึ้น

ในปี 2540 เป็นช่วงลอยตัวค่าบาท ทำให้ภาวะเศรษฐกิจล่มสลาย รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งก็หนีไม่พ้นภาวะวิกฤต ผู้ประกอบการหลายรายทยอยกันตายและบางส่วนรอการเยียวยา ทำให้อนันต์ ต้องตัดสินใจยุติบทบาททางการเมืองชั่วคราว เพื่อมากู้วิกฤตที่เกิดขึ้นกับแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ก่อน และเป็นช่วงที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคพลังธรรม

ในช่วงนั้นเอง อนันต์ เกิดความศรัทธาในวัดธรรมกายมาก เพราะเห็นพนักงานแลนด์ ฯ และอีกหลายคนที่เข้าไปศึกษาในวัดธรรมกาย จากอดีตที่เป็นคนไม่สนใจการงาน ดื่มเหล้า เล่นการพนัน กลับตัวเป็นคนดีหมด จุดนั้นเอง ทำให้อนันต์ ลองเข้าไปคลุกคลีกับวัดธรรมกายอย่างใกล้ชิด และยังคงให้ความศรัทธาอย่างมากมาถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ วัดธรรมกายเองก็ให้ความสำคัญกับอนันต์อย่างออกนอกหน้า เห็นได้จาก งานสำคัญที่วัดธรรมกายจัดขึ้น จะต้องปรากฏกายของอนันต์ ร่วมในงานพิธีเสมอ และทางวัดจะจัดที่นั่งระดับ VIP หรือแถวหน้าไว้ให้เสมอ

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลที่อนันต์ ให้ความสำคัญกับวัดธรรมกาย เพราะลูกศิษย์วัดธรรมกาย ส่วนใหญ่จะเป็นคนมีระดับ มีตำแหน่ง มีเงิน มีทอง ร่ำรวย ซึ่งการเข้าไปใกล้ชิดกับวัดธรรมกาย นอกจากอนันต์ จะได้ศึกษาธรรมะแล้ว อีกส่วนหนึ่ง อนันต์ยังได้เพื่อน ที่มีโอกาสแปรมาเป็นลูกค้าในโครงการบ้านของแลนด์ฯ หรืออาจจะได้งานต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องมาจากวัดธรรมกาย vufh;p

กรณีมีให้เห็นแล้วว่า บริษัท คริสเตียนี แอนด์ นีลเส็น บริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่เป็นบริษัทที่ถือหุ้นใหญ่โดยอนันต์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัติรย์ และธนาคาร ไทยพาณิชย์ ได้รับงานก่อสร้างธรรมกายเจดีย์ที่มีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท อีกทั้งวัดธรรมกายเป็นวัดที่มีเงินจำนวนมาก

แหล่งข่าว กล่าวว่า จากความสัมพันธ์ระหว่างอนันต์ และพลตรี จำลอง อย่างลึกซึ้ง ประกอบกับอนันต์ นั่งเป็นบอร์ดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าอนันต์ มีส่วนสำคัญในการต่อต้านการนำบริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจ หรือเบียร์ช้างของเจ้าพ่อน้ำเมา เจริญ สิริวัฒนภักดี เพราะผู้นำการต่อต้านรวมทั้งปลุกระดมพระมาเป็นพัน ๆ รูป จากวัดธรรมกาย และวัดอื่น ๆ น่าจะมาจากฝีมือคนชื่ออนันต์

นอกจากนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในงานครบรอบมงฟอร์ด โดยอนันต์ และเจริญ ที่ถูกจัดให้นั่ง ขนาบข้างนายกฯทักษิณ เป็นความต้องการที่จะให้อนันต์ และเจริญ รอมชอมกัน เรื่องการนำเบียร์ช้างเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่รู้สึกว่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะทุกวันนี้ เบียร์ช้างก็ยังไม่ได้เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ หลังจากที่จ่อคิวมานาน

ปัจจุบัน อนันต์ให้ความสำคัญกับพรรคไทยรักไทยเป็นอย่างมาก เพราะสไตล์การทำงานของอนันต์ เป็นวิธีการที่ชาญฉลาด แฉบฉล จนคนอื่นตามไม่ทัน โดยอาศัยความสัมพันธ์กับบุญคลี ปลั่งศิริ ซีอีโอ ชินคอร์ป เป็นบันไดไปสู่นายกฯพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร

ที่สำคัญอนันต์ ยังรู้จักสร้างกรอบป้องกันตัวเอง ด้วยการเป็นพันธมิตรกับพรรครัฐบาล เพื่อป้องกันใครมารุกรานธุรกิจหลัก และแผนการดำเนินงานของกลุ่ม รวมถึงไม่สร้างศัตรูโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะไม่ต้องการขัดใจ หรือขัดแข้งขัดขากับนายกฯ ทักษิณ เพราะรู้ดีว่า หากไปขัดแย้งกับกลุ่มนายกฯ ทักษิณ มีสิทธิเจ็บตัว และมีสิทธิล้มได้ เพราะมีตัวอย่างให้เห็นหลายรายที่มีปัญหากับกลุ่มนายกฯทักษิณ มักจะประสบปัญหาการทำงานทั้งนั้น

ที่สำคัญอนันต์ ยังใช้กลไลของรัฐบาล เป็นเครื่องมือกำหนดทิศทางการทำงานของแลนด์ฯ ด้วย และมักจะเห็นว่าแลนด์ฯเป็นบริษัทพัฒนาที่ดินแห่งแรกที่มักจะได้ประโยชน์จากมาตรการของภาครัฐเสมอ เช่น เครือแลนด์ฯได้ประโยชน์สูงสุดจากมาตรการการลดหย่อนภาษี และค่าธรรมเนียมการโอนมากถึงเกือบ 1,000 ล้านบาท ในขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

สิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า อนันต์ ไม่ต้องการเล่นการเมือง แต่หากรู้จักวิธีการบริหารจัดการนักการเมือง และใช้กลไกของภาครัฐมาช่วยสนับสนุนธุรกิจหลัก คือธุรกิจบ้านจัดสรร ที่สำคัญหากโดดลงมาเล่นการเมือง หากเกิดอะไรขึ้นจะมากระทบกระเทือนธุรกิจหลักด้วย ซึ่งตรงนี้ อนันต์ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น นั่นเป็นเหตุผลที่อนันต์ ไม่สนใจเล่นการเมือง

*************

“อนันต์”พลิกตำนานธุรกิจจัดสรร แปลงร่างจากลูกหนี้เป็นเจ้าหนี้

ภาพการลงทุนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะที่ผ่านมาเจ้าของโครงการจัดสรรหรือผู้ลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่ใช่ดีเวลลอปเปอร์อย่างที่เห็นเหมือนในทุกวันนี้ แต่เจ้าของโครงการจัดสรรหรือผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คือ ธนาคารพาณิชย์

ด้วยเหตุผลที่ว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จำเป็นต้องใช้เม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก และเป็นธุรกิจที่สามารถทำกำไรได้ดี เมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ ซึ่งธนาคารพาณิชย์เป็นเพียงธุรกิจเดียวที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ เพราะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างครบวงจร นับตั้งแต่ขั้นตอนการปล่อยกู้ให้กับเจ้าของโครงการ ซึ่งธนาคารพาณิชย์มีเม็ดเงินลงทุนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาใคร จนถึงขั้นตอนการปล่อยกู้รายย่อยให้กับลูกค้าในโครงการ ที่ธนาคารพาณิชย์เจ้าของโครงการก็สามารถให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่ลูกค้าของโครงการได้เอง

ดังนั้นภาพที่เห็นในอดีตเจ้าของโครงการจัดสรรหรือผู้ลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็คือกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยจะเห็นได้ว่าในอดีตที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งต่างก็มีโครงการจัดสรรเป็นของตัวเอง เริ่มตั้งแต่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในสมัย ชวน รัตนรักษ์ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ก็มีการลงทุนในโครงการเสนานิเวศน์ ในขณะที่ธนาคารกรุงเทพให้การสนับสนุนและร่วมลงทุนในโครงการช.อมรพันธ์ของ ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ และโครงการหมู่บ้านเคหะนคร ส่วนธนาคารกสิกรไทยก็มีโครงการชัยพฤกษ์ ย่านรามคำแหง ซึ่งต่อมาได้ขายต่อให้กับ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ในสมัย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล มีรายชื่อในคณะผู้บริหารและคณะกรรมการธนาคาร

ธนาคารนครหลวงไทยในสมัย มงคล กาญจนพาสน์ เป็นกรรมการผู้จัดการก็มีโครงการเมืองทองนิเวศน์ ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ก็ให้การสนับสนุนโครงการธรากรและโครงการสัมมากร ซึ่งมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ด้วย แม้กระทั่งธนาคารศรีนครที่ปิดกิจการไปแล้วก็ยังลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายใต้ชื่อโครงการศรีนครพัฒนา

จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ก็คือนายแบงก์ หรือเจ้าของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นการที่ธนาคารพาณิชย์ขยายการลงทุนเข้ามาในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต แต่การที่ดีเวลลอปเปอร์ผันตัวมาเป็นนายแบงก์อย่างกรณีที่ อนันต์ อัศวโภคิน ทำอยู่ในขณะนี้ จึงเท่ากับว่าเป็นการพลิกภาพการลงทุนระหว่างธุรกิจธนาคารพาณิชย์และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างสิ้นเชิง และ อนันต์ คือรายแรกของนักลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ผันตัวเข้าไปลงทุนในธุรกิจการเงิน

การเข้าซื้อกิจการ บุคคลัภย์ ของธนาคารไทยพาณิชย์ จึงเท่ากับว่าเป็นการสานฝันของ อนันต์ ให้จุดประกายขึ้น และภายหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ซึ่งมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นผู้ว่าการ ธปท. ประกาศยุบบริษัทเงินทุนและให้แปลงสภาพเป็นธนาคารพาณิชย์ ทำให้ อนันต์ มีความหวังที่จะเป็นนายแบงก์มากขึ้น เพราะก่อนหน้าที่จะเข้าซื้อ บุคคลัภย์ อนันต์ มี บง.เครดิตฟองซิเอร์ อยู่ในพอร์ตการลงทุนอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือ บง.เครดิตฟองซิเอร์ มีหนี้เสียถึง 70% สิ่งที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือการแก้ปัญหาหนี้เสียของบง.เครดิตฟองซิเอร์

ดังนั้น การรวมกิจการระหว่าง บง.เครดิตฟองซิเอร์ และ บุคคลัภย์ เพื่อเปิดให้บริการธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์เพื่อรายย่อย จึงเป็นทางออกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาหนี้เสียของ บง.เครดิตฟองซิเอร์ และเป็นที่น่าสังเกตว่า ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์เพื่อรายย่อย เป็นรายแรกที่ ธปท. ยอมอนุมัติให้ผ่านขั้นตอนการจัดตั้งเป็นธนาคารเพื่อรายย่อยเป็นแห่งแรก เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.48 ในขณะที่กิจการไทยเคหะของกลุ่มไทยประกันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ธปท. และที่น่าจับตามากที่สุดคือ เหตุใด ธปท. จึงยอมให้บริษัทเงินทุนที่มีหนี้เสียสูงถึง 70% ยกระดับเป็นธนาคาร

นอกจากนี้ในช่วงแรกที่ อนันต์ จะนำบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ยังมีรายชื่อของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล และ ธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อยู่ในบัญชีรายชื่อคณะกรรมการบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ด้วย

อนันต์ มีการวางแผนการดำเนินงานอย่างรอบคอบในทุกธุรกิจที่เข้าไปลงทุน ดังนั้น ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย จึงมี รัตน์ พานิชพันธ์ ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหาร เพราะ อนันต์ เล็งเห็นว่า รัตน์ เป็นมือการเงินที่มีประสบการณ์ทางด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่สมัยที่ รัตน์ เคยเป็นลูกหม้อของธนาคารไทยพาณิชย์ ก่อนที่จะเข้าดำรงตำแหน่ง CEO ของบริษัทเงินทุน ธนสยาม ซึ่งเป็นบริษัทเงินทุนขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากบริษัทเงินทุนเอกธนกิจ โดยหลังจากบริษัทเงินทุนถูกสั่งปิดกิจการลง รัตน์ จึงถูกทาบทามจาก อนันต์ ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการและถือครองหุ้นบางส่วนในบริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน) หลังจากนั้น รัตน์ ก็ได้รับการแต่งตั้งจากธนาคารกรุงไทยให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการธนาคาร ก่อนที่จะลาออกจากตำแหน่งเพื่อมานั่งเก้าอี้ ประธานกรรมการบริหารธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย

ความฝันของ อนันต์ ยังไม่หยุดอยู่แค่การเปิดให้บริการ ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย เท่านั้น แต่ อนันต์ ตั้งเป้าสานฝันผลักดันให้ธุรกิจธนาคารของตนยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบในปลายปี 2551 โดยมีขอบเขตให้บริการครบวงจรเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นๆ แต่ต้องผ่านกระบวนการยื่นขอรับอนุญาตแต่งตั้งจาก ธปท.เสียก่อน ซึ่งต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 1,500 ล้านบาท เป็น 5,000 ล้านบาท เพื่อให้ตรงตามเกณฑ์ของ ธปท. โดยในเบื้องต้น อนันต์ เตรียมเพิ่มทุนเป็น 2,600 ล้านบาทในช่วงปลายปี 2549

แม้ อนันต์ จะมีภาพชัดเจนว่าเป็นผู้ประกอบการเบอร์ 1 ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ว่ากันว่า อนันต์ มีความใฝ่ฝันที่จะมีแบงก์เป็นของตัวเองมานานแล้ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบาดแผลในช่วงวิกฤติที่ แลนด์ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากแบงก์อย่างพอเพียง แต่เหตุผลที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด คือ อนันต์ ต้องการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธนาคารพาณิชย์ควบคู่กันไป เพื่อรองรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักให้มีความครบวงจรมากขึ้น และเป็นการเสริมศักยภาพความแข็งแกร่งให้กับ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ให้รักษาความเป็นที่1ในตลาดโดยทิ้งห่างคู่แข่งอย่างไม่เห็นฝุ่น

เพราะวันนี้คู่แข่งที่น่ากลังของ อนันต์ คือ เจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าพ่อน้ำเมาซึ่งเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างเต็มตัวหลังจากการร่วมทุนกับกลุ่มทุนรายใหญ่อย่างแคปปิตอลแลนด์ จากสิงคโปร์ ซึ่งแม้จะพอร์ตการลงทุนไม่ใหญ่เท่าพันธมิตรของ แลนด์ฯ อย่าง GIC ที่เป็นกองทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลสิงคโปร์ที่มีทรัพย์อยู่ในพอร์ตการลงทุนนับล้านล้านบาท แต่สิ่งที่ เจริญ มีเหนือกว่า อนันต์ ก็คืออาณาจักรที่ดินที่ถือครองอยู่เป็นจำนวนมาก และมีฐานการเงินที่แข็งแกร่ง พอที่จะโค่น แลนด์ฯ ให้ลงจากตำแหน่งเจ้าตลาดอสังหาฯ ได้อย่างง่ายดาย

และหากถูกโค่นตำแหน่งลง อนันต์ ก็จะเสียโอกาสในการทำธุรกิจโดยเดินตามแนวทางการเมือง เพราะไม่ใช่หัวเรือใหญ่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีกต่อไปแล้ว อำนาจในการชี้นำตลาด และโอกาสในการหาผลประโยชน์ให้กับธุรกิจของตนโดยผ่านมาตรการสนับสนุนของภาครัฐก็ย่อมสูญเสียไปด้วย เพราะหากยังจำกันได้ก่อนที่รัฐจะประกาศมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ในช่วงปี 45-46 เบื้องหลังของผู้ที่ผลักดันมาตรการนี้ให้เกิดขึ้นคือ อนันต์ อัศวโภคิน ซึ่งจากมาตรการดังกล่าวทำให้กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของ อนันต์ ไม่ว่าจะเป็น แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์,ควอลิตี้ เฮ้าส์ และ เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ สามารถลดรายจ่ายด้านภาษีลงได้กว่า 1,000 ล้านบาท

*************

LH BANK ค้ำบัลลังก์อสังหาฯ อันดับหนึ่ง ผูกขาดปล่อยกู้ลูกบ้านแลนด์แอนด์เฮ้าส์

LH BANK เขย่าสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ วงการแบงก์กระเทือน แลนด์แอนด์เฮ้าส์บริการเองครบวงจร ติดปีกธุรกิจ แค่บริการลูกบ้านก็อยู่ได้สบาย จับตาบทบาท "อนันต์ อัศวโภคิน" ที่ภาคการเมืองเรียกใช้มากขึ้น สายสัมพันธ์แน่นจากวิศวะจุฬากับบุญคลี ปลั่งศิริ จากชินคอร์ป

คาดการณ์ว่าสิ้นปี 2548 ยอดขายบ้านของบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน) หรือ LH น่าจะทำได้ถึง 2.25 หมื่นล้านบาท โดยส่วนแบ่งตลาดของ LH เพิ่มขึ้นเป็น 12.75% ในไตรมาส 3 ปี 2548 จาก 11.8% ในไตรมาส 2 ปี 2548

บ้านในหลายโครงการของกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ทางโครงการได้เลือกสถาบันการเงินให้กับลูกบ้านด้วยอัตราดอกเบี้ยที่น่าจูงใจกว่าสถาบันการเงินอื่น แม้ก่อนหน้านี้จะดำเนินการในนามบริษัทเงินทุนบุคคลัภย์ จำกัด(มหาชน) แต่หลังจากวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมาลูกบ้านของแลนด์แอนด์เฮ้าส์จะเปลี่ยนจากบุคคลัภย์ไปเป็นธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เพื่อรายย่อย จำกัด(มหาชน)

ธนาคารแห่งนี้เกิดจากการควบรวมระหว่างบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด กับบริษัทเงินทุนบุคคลัภย์ จำกัด(มหาชน) โดยได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังเมื่อ 30 ธันวาคม 2547 สามารถให้บริการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อแฟคตอริ่ง สินเชื่อธุรกิจ SME สินเชื่อบุคคลได้ และด้านเงินฝากสามารถรับฝากในบัญชีออมทรัพย์ กระแสรายวัน เงินฝากปลอดภาษี การโอนเงินระหว่างบัญชีธนาคาร การรับชำระค่าสินค้าและบริการ บัตร ATM และบัตรเครดิต

ลูกบ้าน=ลูกค้าใหญ่

ในปีหน้า LH BANK ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อให้ได้ถึง 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 3 พันล้านบาทภายใต้ทุนจดทะเบียน 1.5 พันล้านบาท ดังนั้นเป้าหมาของสินเชื่อในปี 2549 ย่อมทำให้ธนาคารต้องเตรียมเพิ่มทุนอีกราว 1 พันล้านบาท เป้าหมายของการปล่อยสินเชื่อของ LH BANK ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกับโครงการของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ควอลิตี้เฮ้าส์ และเอเชี่ยน พร๊อพเพอร์ตี้ ถือเป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงที่สุด

แน่นอนว่าจากนี้ไปธนาคารพาณิชย์ที่เคยมุ่งปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ให้กับกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เช่น ค่ายไทยพาณิชย์ คงต้องเจอกับคู่แข่งสำคัญอย่าง LH BANK ที่เป็นบริการเสริมสำหรับลูกบ้านแลนด์แอนด์เฮ้าส์ชนิดครบวงจร และยังพร้อมที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการอื่น ๆ ทุกแห่ง

ถึงวันนี้อาณาจักรของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ใหญ่ขึ้นทุกขณะ มีธุรกิจที่สามารถให้บริการได้ครบวงจร ไม่เพียงแค่ LH BANK ที่จะปล่อยสินเชื่อรับกับโครงการของตนเองเท่านั้น ยังสามารถปล่อยสินเชื่อบุคคลได้อีก แค่เปิดสาขาตามโครงการของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ได้ก็น่าจะได้ลูกค้าไปไม่น้อย

เข้าตาการเมือง

อนันต์ อัศวโภคิน ประธานกรรมการธนาคาร LH BANK เจ้าพ่อวงการอสังหาริมทรัพย์อันดับหนึ่งของไทย บทบาทของเขาไม่เพียงแค่การเป็นนายแบงก์และผู้นำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ด้วยความเป็นศิษย์เก่าคณะวิศวะกรรมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่รุ่นพี่รุ่นน้องล้วนแล้วแต่มีตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่โตแทบทั้งสิ้น เห็นได้จากเมื่อปี 2547 ที่เกิดเหตุสึนามิ ครั้งนั้นมีอนันต์ อัศวโภคิน กลุ่มผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงบุญคลี ปลั่งศิริ จากค่ายชินคอร์ป เข้ามาร่วมด้วย

ล่าสุดอนันต์ได้รับการคัดเลือกเข้าเป็น 1 ใน 7 ของคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า ทำหน้าที่กำกับดูแลอัตราค่าบริการของผู้ประกอบกิจการไฟฟ้า กำหนดมาตรการส่งเสริมการแข่งขันและป้องกันการใช้อำนาจผูกขาดในทางมิชอบ กำหนดวิธีการและกำกับการแข่งขันการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ กำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบกิจการไฟฟ้า กำหนดและกำกับดูแลมาตรฐานทางวิชาการและความปลอดภัยของการประกอบกิจการไฟฟ้า รวมทั้งช่วยปฏิบัติงานบางอย่างให้แก่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ

จากนี้ไปบทบาทของอนันต์ อัศวโภคิน นับว่าน่าจับตาไม่น้อย จากการได้รับความไว้วางใจจากภาคการเมืองมากขึ้น ไม่นับความผูกพันธ์ที่มีกับพลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ที่ดึงเอาทักษิณ ชินวัตร เข้ามาเดินในเส้นทางการเมือง

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างผู้ถือหุ้นของกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ปรากฏว่ามีนักลงทุนจากสิงคโปร์เข้ามาถือหุ้นใหญ่เช่นเดียวกับกลุ่มชิน คอร์ป โดย Government of Singapore Investment Corporation หรือ GIC ถือหุ้น 18.78% ในแลนด์แอนด์เฮ้าส์ และบริษัทในตระกูลของแลนด์อย่าง 14.27% ในควอลิตี้เฮ้าส์ ขณะที่ SINGTEL STRATEGIC INVESTMENTS PTE LTD ที่ TEMASEK ของรัฐบาลสิงคโปร์เช่นกัน ถือหุ้น 63% เข้าถือหุ้นใน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) 19.26% และ 1.08% ในชินคอร์ป และซีเอส ล็อกซอินโฟอีก 13.45% และ GIC ยังถือหุ้นใน ADVANC อีก 0.76%

ครบวงจร

การเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ถูกระบุว่าเป็นผลมาจากมันสมองของอนันต์ อัศวโภคิน ที่อ่านเกมธุรกิจ ภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคได้ขาด และสามารถปรับรูปแบบของโครงการที่อยู่อาศัยได้สอดคล้องกับสภาพการณ์ ในบางครั้งยังสามารถชี้นำทิศทางของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้ จนรักษาความเป็นเบอร์หนึ่งของวงการนี้มาได้ตลอด ยากที่ใครจะก้าวขึ้นมาเทียบเคียงได้

ประสบการณ์ทางด้านการเงิน แม้อนันต์จะใช้ฐานจากตลาดหุ้นเป็นหลักในการสร้างอาณาจักรจนมาถึงวันนี้ แต่เมื่อครั้งที่เศรษฐกิจรุ่งโรจน์แลนด์แอนด์เฮ้าส์ได้เข้าไปลงทุนในภาคการเงินหลายแห่ง เช่น บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นิธิภัทร จำกัด(มหาชน) โดยเป็นทั้งผู้สนับสนุนโครงการและปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้า นั่นคือความพยายามสร้างอาณาจักรอย่างครบวงจรของกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ในยุคที่ไม่มีการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์รายใหม่

แม้จะไม่สมหวังหลังจากเกิดวิกฤตการเงินในปี 2540 หลังจากนั้นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หลายแห่งถูกสั่งปิดกิจการ แลนด์แอนด์เฮ้าส์แนบแน่นกับกลุ่มไทยพาณิชย์มาตลอด โดยเฉพาะการโดดลงไปช่วยบริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น(ไทย) จำกัด (มหาชน)

อีกทั้งด้วยความที่เคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทหลักทรัพย์ เอกธำรง ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นบริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ และบริษัทหลักทรัพย์แอสเซท พลัส ภายใต้การบริหารงานของก้องเกียรติ โอภาสวงการ จึงไม่ต้องกังวลในเรื่องการระดมทุนเพื่อเปิดโครงการใหม่

ถือเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กลุ่มแรกที่มีธนาคารเป็นของตนเองคอยสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัท อาจจะแตกต่างจากกรณีของธุรกิจธนาคารที่เริ่มต้นจากภาคการเงินก่อนขยายไปสู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่นับจากนี้ไปหากประเมินจากสายสัมพันธ์ทางธุรกิจของเจ้าพ่อวงการอสังหาริมทรัพย์คนนี้ การปูทางเพื่อให้ธนาคาร LH BANK เติบโตไปในทุกทิศทางจึงดูไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us