เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2535 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้การประปาส่วนภูมิภาค
(กปภ.) รับผิดชอบในการจำหน่ายน้ำดิบเพียงหน่วยงานเดียวในพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของไทยเพื่อให้การบริหารงานสะดวกรวดเร็ว
มีความคล่องตัวสูงยิ่งขึ้นพร้อมที่จะรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่นับวันจะสูงขึ้นเรื่อย
ๆ ดังนั้น บมจ. จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำตะวันออก หรือ EAST WATER จึงได้ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนกันยายนปีเดียวกัน
เพื่อรับผิดชอบในการพัฒนาแหล่งน้ำและจัดระบบท่อส่งน้ำดิบสายหลักในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก
ซึ่งขณะนั้นมี กปภ. ถือหุ้น 100% ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท โดยรับโอนสิทธิการใช้ระบบท่อส่งน้ำที่มีอยู่แล้วมาดำเนินการรวมทั้งพัฒนาแหล่งน้ำและระบบท่อส่งน้ำใหม่ตามความจำเป็น
ปัจจุบัน EAST WATER มี ดร.วันชัย กู้ประเสริฐ ลูกหม้อจาก กปภ. เข้ามาดูแลในฐานะกรรมการผู้อำนวยการใหญ่โดยมีพื้นที่รับผิดชอบในระยะแรกครอบคลุม
7 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด
แต่โครงการเบื้องต้นบริษัทจะบริหารในพื้นที่ 5 จังหวัดยกเว้นจันทบุรี และตราดเพราะ
2 จังหวัดนี้อุตสาหกรรมและการลงทุนยังเข้าไปไม่มากเท่าไหร่
และช่วงปลายปี 2536 EAST WATER ได้ลงนามในสัญญาการบริหาร และดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลัก
จากกระทรวงการคลัง โดยมีระยะเวลาของสัญญา 30 ปี โดยโครงข่ายท่อส่งน้ำดิบที่บริษัทเข้าไปบริหารมี
2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ดอกกราย-มาบตาพุด-สัตหีบ ซึ่งพื้นที่นี้กรมชลประทานเป็นผู้วางท่อ
และพื้นที่หนองค้อ-แหลมฉบัง-พัทยา ซึ่งมีกรมโยธาธิการเป็นผู้วางท่อ
"เมื่อเราตั้งบริษัทขึ้นมาแล้วหน่วยงานที่วางท่อส่งน้ำเขาก็ต้องส่งมอบทรัพย์สินเหล่านั้นคืนให้กระทรวงการคลัง
ซึ่งเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของรัฐบาล เมื่อเขาคืนแล้ว EAST WATER ก็ได้เข้าไปบริหารท่อส่งน้ำแทนในลักษณะสัญญาเช่า"
ดร.วันชัย กล่าวถึงวิธีการทำงานของ EAST WATER
หลังจาก EAST WATER เข้ามาบริหารท่อส่งน้ำเป็นเวลา 4 ปี แล้วนับว่า ประสบความสำเร็จพอสมควรเพราะดูจากจำนวนลูกค้าได้เพิ่มขึ้นทุก
ๆ ปี ทั้งที่เป็นภาครัฐและเอกชน โดยพื้นที่หนองค้อ ปี 2539 มีลูกค้า 11 ราย
มีปริมาณการใช้น้ำรวมทั้งสิ้น 18.17 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้นจากปี 2538 ถึง
28.5 % โดยมีสัดส่วนการใช้น้ำประเภทอุปโภค-บริโภค 64.06% นิคมอุตสาหกรรม
33.25% และโรงงานทั่วไป 2.69 % ปริมาณการใช้น้ำที่เพิ่มเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของโรงงานในนิคมฯ
แหลมฉบังและการใช้น้ำของการประปาชลบุรี
ด้านพื้นที่ดอกกรายสิ้นปี 2539 มีลูกค้า 10 รายปริมาณการใช้น้ำทั้งสิน 45.57
ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้นจากปี 2538 ถึง 44.11% โดยมีสัดส่วนการใช้น้ำประเภทนิคมฯ
75.27 % โรงงานทั่วไป 23.26% อุปโภค-บริโภค 1.40% และอื่น ๆ อีก 0.07% สาเหตุการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้นมาจากการขยายตัวของโรงงานในนิคมฯ
มาบตาพุด ซึ่งมีการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้นถึง 58.14% จากปี 2538 และการใช้น้ำของการประปาบ้านฉาง
ส่วนระดับราคาจำหน่ายน้ำดิบนั้น ดร.วันชัย เล่าว่า ราคาจำหน่ายของ EAST
WATER จะถูกกว่าราคาจำหน่ายในที่อื่น ๆ อย่างมาก โดยจะจำหน่ายในระดับราคาตั้งแต่
30-80 สตางค์ต่อลิตรเท่านั้น
เมื่อราคาจำหน่ายน้ำดิบมีระดับเพียงเล็กน้อยเช่นนี้ คำถามที่ตามมาก็คือ
EAST WATER มีกำไรได้อย่างไร เพราะตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมามีผลการดำเนินงานดีมาโดยตลอด
โดยในปี 2537-2539 มีรายได้จากการขายน้ำ 95.37 ล้านบาท, 201.84 ล้านบาทและ
335.42 ล้านบาทตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ 43.24 ล้านบาท 95.32 ล้านบาทและ 171.84
ล้านบาทตามลำดับ ส่วนต้นทุนขายมีจำนวน 26.85 ล้านบาท, 56.72 ล้านบาท และ
85.54 ล้านบาท ตามลำดับ
"บางคนสงสัยว่าเราขึ้นค่าน้ำหรือไม่ คำตอบคือตั้งแต่ตั้งบริษัทมายังไม่เคยขึ้นค่าน้ำเลย
แต่กำไรที่เราได้เกิดจากการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ดี การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
เช่นการลดปริมาณน้ำสูญเสียเพราะจากเดิมที่เริ่มเข้าไปบริหารตัวเลขการสูญเสียน้ำอยู่ที่ระดับ
16% แต่ขณะนี้เหลือประมาณ 4% ซึ่งการที่เราลดการสูญเสียของน้ำได้ถึง 12 %
สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ปีละหลาย 10 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีประสิทธิภาพในการสูบน้ำคือจัดตารางการสูบน้ำในช่วงที่เขาคิดค่าไฟฟ้าต่ำ
ๆ และบริษัทเรามีบุคลากรน้อยแค่ 43 คน จึงทำให้ EAST WATER มีผลกำไรอย่างที่เห็น"
ดร.วันชัยเล่า
คำถามต่อมาคือน้ำในพื้นที่หนองค้อและดอกกรายเพียงพอต่อความต้องการใช้หรือไม่
คำตอบที่ ดร.วันชัย กล่าวออกมานั้นคือ ไม่เพียงพอเพราะการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรมกว้างขวางมาก
อีกทั้งไม่เพียงแต่แถบระยอง และชลบุรีเท่านั้นที่ต้องการน้ำแต่แถบบางปะกง
ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ยังมีความต้องการน้ำอย่างมากเช่นกัน อย่างไรก็ตามการลงทุนต่าง
ๆ จำเป็นต้องใช้เงินอย่างมาก ทุนจดทะเบียนเพียง 10 ล้านบาทคงจะทำอะไรได้ไม่เต็มที่
ดังนั้น EAST WATER จึงได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1,000 ล้านบาท และเพื่อให้ความคล่องตัวในการทำงานมีมากขึ้นจึงได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นของกปภ.ลงเหลือ
44% และให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเข้ามาถือ 5% ส่วนอีก 51% ของหุ้นสามัญทั้งหมด
หรือ 51 ล้านหุ้นบริษัทมีแผนจะเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไป
"ถ้าเป็นไปตามแผนเราจะสามารถกระจายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปได้ในเดือนกรกฎาคมนี้
และการเพิ่มทุนครั้งนี้หวังว่าจะได้เงินไม่ต่ำกว่า 1,700 ล้านบาท" ดร.วันชัย
กล่าว
การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ EAST WATER ให้บงล.ทิสโก้ (TISCO)
และ บงล.ธนสยาม (DS) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายในประเทศ
ขณะที่ ABN AMRO ROTHSCHILD ทำหน้าที่เป็นผู้จัดจำหน่ายในต่างประเทศ โดยจะจำหน่ายในตลาดสิงคโปร์
ฮ่องกงและลอนดอนในสัดส่วนประมาณ 15-20% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
อย่างไรก็ตามจำนวนเงินที่EAST WATER ต้องการใช้ในการลงทุนมีทั้งหมดประมาณ
5,000 ล้านบาท ดังนั้นส่วนที่เหลืออีกประมาณ 3,300 ล้านบาทจะมาจากการกู้จากสถาบันการเงินทั้งในและต่างประเทศประมาณ
2,000 ล้านบาท ที่เหลือจะมาจากรายได้ของบริษัทเอง
เงินจำนวน 5,000 ล้านบาทนี้ EAST WATER จะนำไปดำเนินโครงการวางท่อน้ำดิบสายใหม่
3 โครงการ คือ โครงการวางท่อในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา รวมทั้งเขตติดต่อ ชลบุรี-บางปะกง-บางพลี
เพื่อให้สอดคล้องกับการก่อสร้างเขื่อนทดน้ำบางปะกงและอ่างเก็บน้ำคลองสียัดของกรมชลประทาน
โดยสามารจ่ายน้ำได้ในอัตรา 65 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี คาดว่าจะเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำได้ถึงปี
2550 ส่วนการก่อสร้างมี 2 ระยะ โดยระยะแรกจะแล้วเสร็จในปี 2541 ใช้เงินลงทุนประมาณ
1.555 ล้านบาท
โครงการวางท่อน้ำส่งน้ำดิบหนองปลาไหล-มาบตาพุดเป็นโครงการวางท่อคู่ขนานกับท่อส่งน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน
โดยจะวางท่อจากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างเก็บน้ำดอกกราย เมื่อสร้างเสร็จสามารถจ่ายน้ำได้ปีละ
150 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าจะมีน้ำให้บริการได้ถึงปี 2550 ซึ่งโครงการวางท่อนี้มี
2 ระยะโดยระยะแรกจะแล้วเสร็จปี 2541 ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 1,220 ล้านบาท
และโครงการวางท่อส่งน้ำดิบปราจีนบุรี-สระแก้ว เป็นโครงการวางท่อในเขตพื้นที่ปราจีนบุรี-กบินทร์บุรี-สระแก้ว-วัฒนานคร-อรัญประเทศ
ให้สอดคล้องกับโครงการของกรมชลประทานและการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่
โดยแผนการวางท่อมี 2 ระยะ โดยระยะแรกจะสามารถสร้างเสร็จและให้บริการได้ในปี
2544 และมีปริมาณน้ำให้บริการถึงปี 2555 จ่ายน้ำได้ปีละ 60 ล้าน ลบ.ม. ใช้เงินลงทุนประมาณ
1,408 ล้านบาท
นอกจากนี้ ดร.วันชัย ได้กล่าวเสริมว่าเพื่อให้ปริมาณน้ำมับริการได้ตลอดไปทาง
EAST WATER มีแผนร่วมกับกรมชลประทานเพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นอีกในอนาคต
คาดว่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ หรืออ่างเก็บน้ำประแส ซึ่งถ้าได้ 2 แห่งนี้ภายใน
10-15 ปี ทางภาคตะวันออกก็จะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำอีกต่อไป
"เราต้องการพัฒนาหรือจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อมาใช้ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
เพราะปัจจุบันไทยเราสามารถนำน้ำมาใช้ได้เพียง 30% อีก 70% ไม่สามารถนำมาใช้ได้เพราะการจัดการด้านนี้ไม่มีประสิทธิภาพ"
ดร.วันชัย กล่าวตบท้าย