Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2540
BOOZ ALLEN & HAMILTON อีกแล้ว ทีมที่ปรึกษาปรับโครงสร้างของบรรษัทฯ             
 


   
www resources

โฮมเพจ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

   
search resources

Booz, Allen & Hamilton Inc.
บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย - IFCT
อัศวิน คงสิริ
Banking and Finance




เมื่อเอ่ยถึงทีมที่ปรึกษา BOOZ ALLEN & HAMILTON ภาพของ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย บงล.ภัทรธนกิจ จำกัด (มหาชน) บมจ.การบินไทย ล้วนผ่านเข้ามาในความคิด ปัจจุบันองค์กรขนาดใหญ่มีความจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้สูงขึ้น โดยการพยายามลดต้นทุนและพัฒนาบุคลากรเพื่อให้ทำงานอย่างคุ้มค่าที่สุด โดยมีเทคโนโลยีอันทันสมัยเข้ามาช่วย คนหนึ่งคนสามารถทำงานได้มากขึ้น องค์กรขนาดใหญ่ไม่จำเป็นต้องขยายกำลังคนให้มากมาย แต่ใช้วิธีเพิ่มเทคโนโลยีเข้าไปแทนที่ ซึ่งจะประหยัดต้นทุนในระยะยาวลงได้จำนวนมาก

สำหรับ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ IFCT นั้นก็ไม่น้อยหน้าใคร โดยในปีนี้ บรรษัทฯ ได้ร่วมกับทีมที่ปรึกษา BOOZ ALLEN & HAMILTON ศึกษาโครงสร้างและระบบงานขององค์กร เพื่อปรับกระบวนการทำงานใหม่ (Redesign)

อัศวิน คงสิริ กรรมการและผู้จัดการทั่วไปของบรรษัทฯ เปิดเผยว่า "ขณะนี้อยู่ในช่วงของการออกแบบขั้นละเอียด ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะต้องลงทุนเท่าไหร่ คาดว่าจะต้องลงทุนอย่างมาก แต่บรรษัทฯ จะพยายามใช้ระบบสารสนเทศที่มีอยู่แล้ว จะไม่เขียนโปรแกรมเองเพราะจะเสียเวลา"

เป้าหมายสำคัญในการทุ่มทุนจ้างทีมที่ปรึกษา BOOZ ALEN นี้ก็คือ ต้องการให้องค์กรที่ต้นทุนในการนำเงินจากแหล่งเงินมาให้กู้ให้ต่ำที่สุด โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน การลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เนื่องจากบรรษัทฯ มีการปล่อยสินเชื่ออุตสาหกรรมมีขนาดเล็กและกลางจำนวนมาก หากมีต้นทุนการเงินที่ต่ำก็จะสามารถสนับสนุนนักลงทุนด้านอุตสาหกรรมด้วยการปล่อยสินเชื่อระยะยาวได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำด้วย

ทั้งนี้ แผนการปรับกระบวนการทำงานใหม่นั้น เป็นแผน 5 ปี โดยจะเริ่มระยะทดลองในปี 2540 และดำเนินการตามแผนจริงตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นไป ดังนั้น ผลที่ออกมาจะเร็วหรือช้าจึงสำคัญที่ระยะทดลองว่ากินเวลามากน้อยเพียงใด

อย่างไรก็ตาม อัศวินย้ำว่า "แผนการปรับโครงสร้างครั้งนี้ จะไม่มีการปลดพนักงานออกอย่างแน่นอน" เพียงแต่มีนัยสำคัญที่ว่า ต่อไปบรรษัทฯ จะใช้คนอย่างเต็มประสิทธิภาพ และการเพิ่มกำลังคนในอนาคตจะเป็นไปอย่างรอบคอบมากขึ้น

ปัจจุบัน ธนาคารขนาดใหญ่บางแห่ง ได้ใช้วิธีวัดประสิทธิภาพพนักงาน โดยเทียบผลการทำงานต่อค่าตอบแทนมากขึ้น ทำให้พนักงานระดับอาวุโส ซึ่งค่าจ้างเงินเดือนสูงขึ้นตามอายุงาน แต่ทำงานในตำแหน่งที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์มาก ๆ หรือตำแหน่งที่ต้องตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ เริ่มเกิดความไม่มั่นคงในอาชีพมากขึ้น

"EARLY RETIRE" หรือการปลดเกษียณก่อนอายุ 60 ปีได้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับความพยายามลดต้นทุนการดำเนินงานให้มากที่สุดขององค์กรขนาดใหญ่นั่นเอง

แม้ในวันนี้ บรรษัทฯ ยังไม่มีมาตรการลดต้นทุนแบบเข้มดังกล่าว แต่ในวันข้างหน้าจะมีหรือไม่ยังเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา

ในส่วนของการลดต้นทุนในกระบวนการทำงานนั้น อัศวิน กล่าวว่า "ต่อไปขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อ เราจะต้องทำให้มีต้นทุนต่ำที่สุด เนื่องจาก บรรษัทฯ มีการให้สินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมและกลางมาก"

สิ่งสำคัญที่จะทำให้บรรษัทฯ สามารถหาแหล่งเงินที่ต้นทุนต่ำได้ ก็คือ การพยายามรักษาระดับเครดิตเรตติ้งให้ดีที่สุด ให้ได้ในระดับเดียวกับประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ S&P ให้เรตติ้ง A ส่วน MOODY ให้ A2

อัศวิน เชื่อว่า ภายใน 5 ปี บรรษัทฯ จะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งตลาดการปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มลูกค้าตามที่ พ.ร.บ. บรรษัทฯ อนุญาตได้เป็น 10% จากปัจจุบันที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ 6%

แผนการดำเนินงานปี 2540 อัศวินตั้งเป้าว่าจะให้สินเชื่อและร่วมทุนทั้งสิ้น 57,300 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าปี 2539 ประมาณ 19% โดยคาดว่าอัตราการเพิ่มของสินเชื่อจะขยายตัวประมาณ 28% อัตราการเพิ่มของสินทรัพย์ประมาณ 25% และจะรักษาระดับการเพิ่มของกำไรสุทธิไว้ให้ได้ประมาณ 20%

ทั้งนี้ บรรษัทฯ มีแผนระดมเงินในปี 2540 ประมาณ 33,000 ล้านบาท โดยเป็นสัดส่วนเงินบาท 55% และเงินต่างประเทศ 45% ซึ่งการระดมเงินต่างประเทศนี้จะยังเน้นการออกตราสารอัตราดอกเบี้ยลอยตัวภายใต้โปรแกรม Global Medium Term Note และจะพยายามเลือกออกตราสารในสกุลเงินและตลาดที่บรรษัทฯ ได้เปรียบที่สุด หลังจากนั้น ก็อาจจะนำมาทำ Currency Swap เป็นเงินเหรียญสหรัฐหรือเงินบาทต่อไป

ในส่วนของเงินกู้ลักษณะผ่อนปรนจะพยายามหาแหล่งเงินให้เพิ่มเติม เพื่อนำเงินที่มีเงื่อนไขผ่อนปรนมาให้แก่โครงการที่สมควรได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษ เช่น โครงการส่งเสริมการส่งออก โครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ศิริชัย สาครรัตนกุล รองผู้จัดการทั่วไปของบรรษัทฯ กล่าวเสริมว่า การที่บรรษัทฯ ยังจำเป็นต้องกู้เงินต่างประเทศในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงอยู่นี้ เนื่องจากเงินออมในประเทศไทยมีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะสำหรับเงินกู้ระยะยาว ซึ่งต่อไป บรรษัทฯ จะพยายามกู้ในระยะยาวให้มากขึ้น เช่น 15 ปี 20 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการปล่อยสินเชื่อระยะยาวของบรรษัทฯ ด้วย ทั้งนี้ ตลาด YANKEE BOND จะสามารถให้กู้ระยะยาวได้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม บรรษัทฯ จะพยายามกู้ในประเทศให้มากเช่นกัน

อัศวิน กล่าวย้ำว่า "ไม่มีทางที่ไทยจะลดดุลบัญชีเดินสะพัดให้เป็นศูนย์ได้ภายใน 10 ปีนี้ เพราะเรายังต้องพึ่งเงินออมจากต่างประเทศอีกนาน"

ความเพียรพยายามในการกู้เงินให้ได้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด เพื่อนำมาปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดนั้น เป็นสิ่งที่สถาบันการเงินทุกแห่งทำกันมาโดยตลอด รวมถึงการเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน อย่างไรก็ดี หลังจากนี้อีก 5 ปี บรรษัทฯ และทีม BOOZ ALLEN คงจะพิสูจน์ให้เห็นว่าการจัดโครงสร้างและระบบการทำงานในองค์กรใหม่นั้น จะมีผลต่อการแข่งขันและความอยู่รอดขององค์กรมากน้อยเพียงใด

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us