ท่ามกลางตึกระฟ้าที่เบียดตัวแข่งกันผุดขึ้นทุกอณูของกรุงเทพฯ ตามแรงผลักดันแห่งการพัฒนาประเทศ
โรงพยาบาลเป็นธุรกิจหนึ่งที่แทรกตัวขึ้นมารับประโยชน์จากผลพวงของความเจริญอย่างเงียบเชียบ
บำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่ก่อตั้งขึ้นมากว่าทศวรรษ ได้ปรับตัวขนาดใหญ่เพื่อตอบรับกับภาวการณ์แห่งโรคภัยไข้เจ็บทวีความซับซ้อนมากขึ้นทุกขณะ
โดยเฉพาะมะเร็ง และโรคหัวใจที่คร่าชีวิตผู้คนไม่น้อยในแต่ละปี ด้วยการชูจุดเด่นด้านบุคลากรทางการแพทย์
ซึ่งส่วนหนึ่งดึงตัวกลับจากต่างประเทศ นำทีมโดย น.พ. สิน อนุราษฎร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคทางเดินอาหารจากสหรัฐอเมริกาที่เข้ามารั้งตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์
มีรายงานกล่าวว่าคนเอเชีย รวมถึงคนไทยมีการใช้จ่ายเงินเพื่อการรักษาพยาบาลสูงขึ้นทุกปีเฉลี่ยประมาณ
20% ซึ่งเป็นผลให้ธุรกิจโรงพยาบาลที่มิได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล หรือที่เรียกกันว่า
โรงพยาบาลเอกชนเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในกรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลใหม่ๆ ผุดขึ้นเป็นว่าเล่นในช่วง
2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนที่ตั้งมาก่อนแล้วต่างพากันใช้กลยุทธ์ใหม่ๆ
ที่จะเป็นจุดแข็งเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่คนไข้ โดยเฉพาะบุคลากรด้านแพทย์และวิทยาการทางการแพทย์ที่ล้ำหน้า
ปัจจุบันค่ารักษาพยาบาลทั้งในโรงพยาบาลรัฐ และเอกชนมีแนวโน้มถีบตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้เพราะการรักษาและบำบัดโรคภัยไข้เจ็บมีความซับซ้อนมากขึ้นตามพัฒนาการของโรคที่บั่นทอนชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่มีอายุขัยมากขึ้นตามความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
โดยเฉพาะโรคมะเร็ง และโรคหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุการตายของคนไทยจำนวนมากในแต่ละปี
เพราะกระบวนการรักษาและบำบัดมีต้นทุนสูงมาก
บำรุงราษฎร์ เป็นโรงพยาบาลเอกชนหนึ่งที่ได้ปรับกลยุทธ์ใหม่ โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับขึ้นเป็นโรงพยาบาลเอกชนระดับโลกทั้งในแง่ของวิทยาการทางการแพทย์และการบริการ
ด้วยสโลแกนที่ว่า 'World Class Medicine…World Class Service' ในวันเปิดตัวอาคารโรงพยาบาลหลังใหม่เมื่อกลางเดือนมกราคม
ที่ผ่านมา โดยอาคารหลังนี้มีขนาด 554 เตียง รับผู้ป่วยนอกได้วันละ 3,000
คน ใช้เงินในการก่อสร้างและตกแต่ง รวมถึงจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ประมาณ
2,800 ล้านบาท หรือ 110 ล้านเหรียญสหรัฐ
ระดมพลแพทย์จากนอก สร้างชื่อด้านมะเร็งและหัวใจ
ปัจจุบัน โรงพยาบาลสามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภท คือ Primary Care จะเป็นโรงพยาบาล
หรือศูนย์การแพทย์ที่รักษาโรคทั่วไปเป็นส่วนใหญ่ ด้าน Secondary Care ดูแลรักษาโรคทั่วไป
พร้อมทั้งโรคเฉพาะทางบางอย่างเท่านั้น เช่น โรคปอด และโรคสมอง ส่วน Treasury
Care จะเป็นโรงพยาบาล หรือศูนย์การแพทย์ที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกสาขา คือ
รักษาตั้งแต่โรคทั่วไปจนกระทั่งถึงโรคที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญมากๆ ซึ่งบำรุงราษฎร์ได้วางสถานะของตนเองเป็น
Treasury Care
"โรงพยาบาลของรัฐบาลใหญ่ๆ โรงเรียนแพทย์ทุกแห่ง จะเป็น Treasury Care
ส่วนเอกชนจะมีประมาณ 3-4 แห่ง อาทิ บำรุงราษฎร์ พญาไท ธนบุรี รามคำแหง ซึ่งพยายามตั้งตัวขึ้นมาเป็น
Treasury Care และการแข่งขันที่เริ่มมีมากขึ้นก็ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะทำให้ทุกแห่งตื่นตัวมากขึ้น
มีการปรับปรุงทั้งสถานที่ และการแพทย์ แต่สิ่งที่เราจะต้องสร้างขึ้นคือ Treasury
Care ที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" น.พ. สิน อนุราษฎร์ ผู้อำนวยการด้านการแพทย์
ที่ถูกดึงตัวกลับจากอเมริกาหลังจากเดินทางไปใช้ชีวิตและกรำงานในวงการแทพย์อเมริกามากว่า
2 ทศวรรษ กล่าวถึงความมุ่งหวังที่ตั้งใจไว้
ธุรกิจโรงพยาบาล ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนไข้มีความไว้วางใจที่จะเข้ามารับการรักษา
มิได้อยู่ที่ตัวตึกหรือเครื่องมือแพทย์ โดยหากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จะมีส่วนต่อความสำเร็จเพียง
20-25% ตรงกันข้าม บุคลากรทางการแพทย์ทั้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
(Paramedical) ไม่ว่าจะเป็น Technician หรือ supporting service จะมีส่วนต่อความสำเร็จถึง
75-80%
น.พ. สิน ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทางเดินอาหาร ในฐานะที่คลุกคลีอยู่ในวงการแพทย์อเมริกามานานถึง
27 ปี ได้เล่าว่า สถาบันทางการเแพทย์ในอเมริกาจะให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องบุคลากรมากกว่าตัวตึกมาก
ดังนั้นสิ่งที่สถาบันทางการแพทย์อเมริกาต่างๆ พยายามทำก็คือเลือกสรรคนที่ดีที่สุดเพื่อมาเป็นผู้นำในโปรแกรมต่างๆ
ของโรงพยาบาลหรือสถาบันนั้นๆ เพราะความสำเร็จจะขึ้นอยู่กับคน ส่วนเครื่องมือก็เป็นเพียงสิ่งอำนวยความสะดวกที่ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้นเท่านั้นเอง
จากปรัชญาดังกล่าว ได้มีอิทธิพลอย่างมากต่อ น.พ. สิน หลังจากที่เข้ามารับงานบริหารทางด้านบุคลากรแทพย์ให้กับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์จากการทาบทามของลินดา
สีสหะปัญญา ผู้อำนวยการใหญ่ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องหลังจากที่ได้บอกปัดไปเมื่อ
14 ปีที่แล้ว ประจวบเหมาะกับความตั้งใจที่จะกลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายในเมืองไทย
จึงตกลงใจรับงานนี้ โดยพกพาเอาประสบการณ์การบริหารที่สั่งสมมาจากต่างประเทศเข้ามาประยุกต์ใช้ที่โรงพยาบาลแห่งนี้
"ก่อนที่ผมจะกลับมาเมืองไทย ผมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในโรงเรียนแพทย์ที่อเมริกาหลายแห่ง
หลายคนแปลกใจมากที่ผมกลับมาเพราะหน้าที่การงานของเราดีอยู่แล้ว แต่ความจริงก็คือว่าเมื่อเราอยู่ไปถึงช่วงหนึ่งก็เริ่มเบื่ออยากกลับมาอยู่เมืองไทย
ซึ่งตอนนั้นผมมีทางเลือกอยู่ 2-3 อย่างคือ กลับมาเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนแพทย์
หรือมาเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชน เพราะว่ารายได้ เนื่องจากผมยังต้องส่งเสียลูกอีก
2 คนที่กำลังเรียนมหาวิทยาลัยอยู่ที่โน่น หากผมจะเลือกเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยผมก็ไม่ชินกับการที่จะต้องทำงานสอน
ทำงานวิจัยแล้ววิ่งออกไปหารายได้พิเศษข้างนอก ไม่ได้ทำงานเต็มที่ตามที่ถนัดก็เลยตัดสินใจมาอยู่เอกชน
ที่เลือกบำรุงราษฎร์ก็เพราะคุณลินดา เขาต้องการ ผ.อ. ฝ่ายแพทย์ ก่อนหน้านี้เคยมีตำแหน่งนี้แล้วก็ยุบไป
อาจารย์ธนิต เธียรธนูมาเป็นประธานกรรมการแพทย์ ซึ่งก็ทำหน้าที่เป็น ผ.อ.
ฝ่ายแพทย์ด้วย" น.พ. สิน เล่าถึงความเป็นมาของตำแหน่งหน้าที่การงานใหม่ที่ได้รับมอบหมาย
ในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา ด้วยฝีมือของ ผ.อ. คนใหม่นี้ บำรุงราษฎร์ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์มากมายหลายอย่าง
และประการหนึ่งที่ถือเป็นผลงานอันโดดเด่นของ น.พ. สินก็คือการดึงตัวแพทย์ไทยฝีมือฉกาจในต่างประเทศ
โดยเฉพาะที่อเมริกา กลับมาร่วมงานที่บำรุงราษฎร์ได้เป็นจำนวนไม่น้อยทั้งนี้ก็เพื่อสนองตอบต่าเป้าหมายในอันที่จะก้าวขึ้นไปเป็นโรงพยาบาลระดับภูมิภาคในอาเซียนแข่งกับสิงคโปร์
"World Class Medicine เราจะต้องทำให้ได้จริงๆ เพราะตอนที่ผมเคยอยู่มหาวิทยาลัยไอโอวา
จะมีเมโย คลินิก ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ และมีชื่อเสียงมากเป็นที่รู้จักกันมาก
แม้ว่าคุณสมบัติของ staff จะไม่แตกต่างจากที่อื่นสักเท่าไหร่ แต่เมโยก็เป็น
1 of the best Treasury Care ในสหรัฐและเมโยก้เป็นของเอกชนมิใช่ของรัฐซึ่งทางบำรุงราษฎร์ต้องการที่จะให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ
คุณลินดาก็บอกว่าลองทำให้เหมือนกับที่เมโยคลีนิคเขาสร้างชื่อขึ้นมาสิ ซึ่งผมก็ตกลงถ้าต้องการอย่างนั้น
เราก็ set area ต่างๆ และการคัดเลือกคนเราก็คัดเลือกทั้งแพทย์ในเมืองไทย
และในสหรัฐ คือดูที่ความต้องการก่อน"
ในช่วงต้น บำรุงราษฎร์ได้ให้ความสำคัญกับ area ทางด้านโรคมะเร็ง และโรคหัวใจเป็นอันดับแรก
ด้วยการจัดตั้งศูนย์มะเร็งฮอไรซัน และศูนย์หัวใจเพื่อใช้เป็นจุดขายของโรงพยาบาล
โดยได้ดึงแพทย์ไทยในอเมริกาที่มากประสบการณ์เข้ามาร่วมทีม ซึ่งในศูนย์มะเร็ง
นั้นมี น.พ. ธีระ อ่ำสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญสาขามะเร็งวิทยาฝ่ายเวชกรรม จาก
MD Anderson Cancer Center University of Texas, พ.ญ. สุนันทา พลอยส่องแสง
เชี่ยวชาญด้านรังสีรักษาจาก Christ Hospital Cancer Center เมืองซินเนติ
มลรัฐไอโอวา และ น.พ. มานพ ฮันตระกูล อดีตผู้อำนวยการแผนกพยาธิศัลยกรรมของ
University of Kansas Medical Center มาเป็นตัวหลักของศูนย์นี้ โดยทั้งสามคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการแพทย์อเมริกาไม่ต่ำกว่า
20 ปี
"ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา การรักษามะเร็งในอเมริกาก้าวไปเร็วมาก เริ่มจากหลายๆ
อย่างไม่ว่าจะเป็นเคมีบำบัด การฉายแสง ไปจนถึงการเปลี่ยนไขกระดูกซึ่งการเปลี่ยนไขกระดูกเป็นวิธีการรักษาอย่างหนึ่งของมะเร็งบางชนิดที่กระจายไปทั่วร่างกายแล้ว
การรักษาอย่างอื่นอาจจะไม่ได้ผลดีเท่ากับการฉายแสง superdose แต่ขณะเดียวกันมันจะไปทำลายเซลล์ไขกระดูก
หลังจากฉายแสงหมดแล้วเราจะเปลี่ยนไขกระดูกใหม่เพื่อให้ไขกระดูกทำงานได้ ดังนั้นหมอที่อยู่ในช่วง
15 ปีนี้จะรู้ถึงวิวัฒนาการและเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นแต่ผมไม่ได้หมายความว่าหมอไทยไม่เก่ง
เพราะการที่ไปดูงานกับการลงมือทำประสบการณ์มันต่างกัน" นั่นคือที่มาของการดึงตัวบุคคลทั้งสามเข้ามาร่วมงานในบำรุงราษฎร์
สำหรับศูนย์หัวใจ การได้ตัว น.พ. ชำนาญ คงถาวร มารั้งตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายศัลยศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญผ่าตัดเปิดหัวใจแก่ผู้ป่วยกว่า 5,000 รายจากสถาบัน lowa
Heart Center นับเป็นก้าวสำคัญยิ่งสำหรับบำรุงราษฎร์เมื่อเทียบกับโรงพยาบาลเอกชนระดับเดียวกัน
เพราะปัจจุบันหมอผ่าตัดหัวใจส่วนใหญ่จะสังกัดอยู่ในโรงพยาบาลรัฐบาล และสามารถเข้ามาทำงานได้เฉพาะกลางคืน
และวันหยุดเท่านั้น
"เราเป็นเอกชนแห่งแรกที่มีหมอผ่าตัดหัวใจอยู่ประจำ โชคดีที่ได้หมอชำนาญกลับมา
หมอชำนาญอยู่ไอโอวามา 20 กว่าปีทำการผ่าตัดหัวใจมา 5-6,000 ราย คือจะหาแพทย์ที่มีประสบการณ์มากขนาดนี้ได้น้อยมาก
หมอผ่าตัดหัวใจมีความสำคัญมากเพราะเมื่อหมอหัวใจทำบอลลูนจะต้องมีหมอผ่าตัดหัวใจสแตนด์บาย
เพราะการทำบอลลูนคือการขยายหลอดเลือด ในบางครั้งเส้นเลือดอาจทะลุ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีหมอผ่าตัดหัวใจเข้าไปแก้ไขทันทีไม่งั้นคนไข้เสียชีวิต
ฉะนั้นถ้ามีกิจกรรมกลางวันเราจะมีหมอหัวใจสแตนด์บายอยู่เพราะการผ่าตัดหัวใจต้องใช้เวลา
2-3 ช.ม." น.พ. สิน อดีตนายกสมาคมวิชาชีพไทยในสหรัฐ ให้เหตุผลถึงผลประโยชน์ที่บำรุงราษฎร์จะได้รับหลังจากมีหมอผ่าตัดหัวใจประจำของตนเอง
ขณะเดียวกัน บำรุงราษฎร์ยังได้ น.พ. วิสุทธิ์ วิเวกาภิรัตน์ ที่มีความเชี่ยวชาญในการทำบอลลูน
เข้ามานั่งในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายอายุรศาสตร์โรคหัวใจด้วย ซึ่งทั้ง น.พ.
ชำนาญ และ น.พ. วิสุทธิ์ จะเข้ารับตำแหน่งในปลายปี 2540 นี้
นอกเหนือจากมะเร็ง และหัวใจแล้ว ทางบำรุงราษฎร์ ยังได้มองหาแพทย์ฝีมือดีที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลคนไข้หนักจากอเมริกา
โดยได้ น.พ. ยงยุทธ พลอยส่องแสง ศาสตราจารย์ที่มีความชำนาญด้าน Critical
Care และโรคปอด ที่จะเข้ามาทำหน้าที่นี้ราวกลางปี 2540 เข้ามาเสริมทีม
น.พ. สินให้เหตุผลว่าที่ต้องดึงแพทย์จากอเมริกาเป็นเพราะว่า วงการแพทย์อเมริกามี
exposure ด้านการดูแลรักษาคนไข้หนักมากกว่าในเมืองไทย กล่าวคือเมื่อคนไข้ที่ต้องเข้ารักษาในห้องไอซียูเป็นคนไข้หนัก
ระบบการทำงานของร่างการจะทรุดลง เรียกว่า Multi-organ failure ดังนั้นจึงต้องการแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนมาดูแลด้านนี้โดยเฉพาะเพื่อแก้ไขในหลายๆ
ระบบไปพร้อมๆ กัน
ในการคัดเลือกแพทย์เข้ามานั้น ทางบำรุงราษฎร์จะใช้วิธีพิจารณาความเชี่ยวชาญเป็นหลัก
หากสาขาวิชาใดที่ต่างประเทศมีความก้าวหน้ามากกว่าก็จะไปดึงตัวมา แต่ถ้าสาขาใดเมืองไทยสามารถตามทันต่างประเทศแล้วก็จะเลือกแพทย์ในไทยทั้งนี้เพราะทุ่นเวลาในการสร้างชื่อเสียงได้
"ในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผมกลับมามีหมอประจำเพิ่มขึ้นประมาณ 20 คน รวมเป็นประมาณ
50-60 คน โดยครึ่งหนึ่งที่เพิ่มขึ้นเป็นเป็นแพทย์ไทยมาจากต่างประเทศอีกครึ่งหนึ่งเป็นแพทย์ในไทย
เราพยายามสรรหาคนดีที่สุดที่เราจะหาได้ ที่เราสามารถดึงตัวเข้ามาได้ก็เพราะเราได้คุยกันว่าหลังจากที่ตึกนี้เปิดแล้ว
เราจะจัดหาสำนักงานให้หมอที่มีความสามารถมากและสนใจงานวิจัยได้ทำงานที่ต้องการ
โดยจะต้องมีสำนักงานให้เขาสามารถดูแลผู้ป่วยและเขียนรายงานได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาการทางการแพทย์ให้ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ
ไม่ได้เป็นการทดลองคนไข้ แต่เป็นการวิเคราะห์วินิจฉัยไข้และการรักษาโรคร่วมกันกับโปรเฟสเซอร์ในไทย
เพราะว่าในเขตร้อนมีโรคที่จำเพาะเจาะจงที่ฝรั่งไม่เข้าใจเยอะนี่คือสิ่งที่เราสามารถทำได้คือพัฒนาความรู้ให้ก้าวหน้ามากขึ้น
ซึ่งโครงการนี้เรากำลังจะเริ่มทำ ซึ่งเราจะต้องเน้นให้โปรเฟสเซอร์ในเมืองไทยและอเมริกาเข้ามาร่วมมือกันให้ได้"
อดีตผู้อำนวยการแผนกโรคทางเดินอาหาร จากมหาวิทยาลัยไอโอวากล่าวถึงแผนงานที่ได้ทำผ่านมาและกำลังลงมือทำอย่างขะมักเขม้น
การดึงตัวแพทย์จากต่างประเทศเข้ามาร่วมงานในฐานะแพทย์ประจำ จะมีส่วนช่วยสร้างชื่อของโรงพยาบาลให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น
เพราะคนไข้สามารถมาได้ทุกเวลา ยิ่งหากแพทย์นั้นมีความเชี่ยวชาญความมั่นใจของคนไข้ย่อมเกิดขึ้นได้แน่นอน
"ถ้าเราได้ไปที่เมโย คลินิก ในรัฐมินเนโซต้า ซึ่งเป็นเมืองเล็กนิดเดียว
ไม่ค่อยน่าอยู่ แต่ถ้าเขาชวนใครไปอยู่ใครก็อยากจะไป เพราะมีความภูมิใจว่าได้อยู่ในที่ที่ดีในที่ที่คนเก่งๆ
ในสาขาต่างๆ อยู่ก็เกิดความภาคภูมิใจ นั่นคือสิ่งที่เราพยายามจะสร้างขึ้นที่นี่
เราคิดว่าประมาณอีก 1-2 ปีจะไปถึงจุดนั้นได้ ตอนนี้เราพร้อมเกือบทุก area
แต่มีอีก 3-4 area ที่ยังหาคนที่ตรงความต้องการไม่ได้ ผมคิดว่าจนกว่าเราจะมีคนครบทุก
area เราจึงจะก้าวขึ้นเป็นศูนย์ที่เราภูมิใจได้" นี่คือเป้าหมายสูงสุดที่
น.พ. สินจะต้องก้าวเดินไปให้ถึง
ถึงจุดนี้หลายคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่าสิ่งจูงใจที่บำรุงราษฎร์เสนอแก่แพทย์เหล่านั้นมากมายสักปานใดจึงตกลงกันได้
ซึ่ง น.พ. สินได้เปิดเผยว่า ทางโรงพยาบาลจะมีการรับประกันรายได้ในช่วง 3-6
เดือนแรกที่กลับมาจนกว่ารายได้จะเทียบเท่ากับรายได้เฉลี่ยของแทพย์ในสาขาเดียวกันในเมืองไทย
ซึ่งทางโรงพยาบาลจะใช้ฐานรายได้ของแพทย์ในไทยเป็นตัวตั้ง และในเมืองไทยหมอตา
และหมอกระดูกมีรายได้เฉลี่ยสูงที่สุด
"แม้เปรียบเทียบรายได้ของแพทย์ในอเมริกาจะสูงกว่าที่นี่หลายเท่าแต่แพทย์ที่มีอายุประมาณ
50 ปีอยากจะกลับเมืองไทยแล้ว เพียงขอให้มีรายได้พอส่งลูกได้เท่านั้นก็พอ
พูดถึงรายได้อย่างหมอชำนาญมาที่นี่รายได้ของแกเหลือแค่ 25% ของรายได้ที่เคยได้ในอเมริกา
แต่เป็นจุดที่อยากกลับเมืองไทยแล้วรายได้แค่นี้ก็ไม่เป็นไร คือแทนที่จะกลับมาแล้วเกษียณอายุเลย
หรือถ้าเป็นไปได้ก็อาจจะมีงานสอนเสริมเข้ามาอีก"
Who's care? กับคำว่า "แพง" นี่คือชีวิตและความตาย !
ความไร้ประสิทธิภาพของระบบราชการได้ส่งผลให้การรักษาและดูแลคนไข้ของโรงพยาบาลรัฐทำได้ไม่ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพเพียงพอ
เนื่องจากมีงบประมาณจำกัด เครื่องไม้เครื่องมือแพทย์ไม่ทันสมัยพอที่จะรักษาโรคที่ยากซับซ้อนได้ทีเท่าที่ควร
แม้ว่ารัฐบาลจะยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องมือแพทย์ก็ตาม ขณะเดียวกันความไม่เพียงพอของบุคลากรทางการแพทย์
ตลอดจนถึงการบริการที่เรียกได้ว่า "เสียไม่ได้" ทำให้ผู้ที่พอจะมีเงินหันไปหาโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น
แม้ว่าจะมีสนนราคาค่ารักษาพยาบาลแพงแต่ก็แลกกับการรักษาอย่างเต็มที่ และนี่ก็คือเบื้องหลังความเฟื่องฟูของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในทุกวันนี้
มีผู้ประมาณการว่า เตียงโรงพยาบาลประมาณ 30% ของทั้งประเทศเป็นของโรงพยาบาลเอกชน
ขณะเดียวกันโรงพยาบาลยังเป็นธุรกิจที่สร้างกระแสเงินสดหรือเป็น cash cow
ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
"การเติบโตของอุตสาหกรรม หมายถึงมีโรงพยาบาลใหม่เกิดขึ้นเยอะเท่านั้นแต่คนไข้มีอัตราการเติบโตไม่ถึง
การพัฒนาเป็นสิ่งที่ต้องทำ คือต้องทำให้ดีที่สุด ไม่ทำไม่ได้ เพราะโรงพยาบาลไม่เหมือนธุรกิจอื่นคือธุรกิจอย่างอื่นรอได้
แต่การรักษาพยาบาลคนไข้รอไม่ได้ ดังนั้นความเชื่อถือจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น
มากกว่า shopping mall เพราะเมื่อเปิดคนจะไม่วิ่งเข้าไปทดลอง ดังนั้นการที่จะสร้างความเชื่อถือได้ต้องใช้เวลานานมาก
เพราะฉะนั้นโรงพยาบาลเกิดใหม่ในช่วงหลังนี้มีไม่กี่แห่งที่ถีบตัวเองขึ้นมาได้
ทั้งนี้เพราะธุรกิจนี้เกือบ 100% ขึ้นอยู่ที่ความเชื่อถือ ซึ่งจะต้องมาจากแพทย์คือเมื่อคนไข้มาหาต้องรักษาหาย"
อันที่จริง โรงพยาบาลเปรียบเสมือนตัวกลางที่จะคอยอำนวยความสะดวกให้กับคน
ซึ่งถือเป็นลูกค้า 2 กลุ่ม คือแพทย์กับคนไข้ เพราะทั้งสองกลุ่มนี้มิได้เป็นลูกจ้างของโรงพยาบาล
ซึ่งบำรุงราษฎร์ ได้พยายามสรรสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ แก่แพทย์ และคนไข้
อย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สนับสนุน
ห้องที่ใช้สำหรับการรักษาพยาบาลไว้สำหรับแพทย์ ขณะที่คนไข้ก็จะได้รับการดูแลเอาใจใส่ในเรื่องของการบริการ
สถานที่ โดยเฉพาะห้องพักคนไข้ ทางโรงพยาบาลก็ได้จัดเตรียมห้องพักฟื้นพิเศษระดับ
VIP เพิ่มขึ้นจากเดิม 6 ห้องเป็น 15 ห้อง และเพิ่มห้อง Royal Suite ขึ้นมาอีก
3 ห้องสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการความเป็นส่วนตัว ซึ่ง น.พ. สิน เล่าว่า ความต้องการห้องประเภทนี้มีมากกว่าที่คาดไว้
เพราะตั้งแต่เปิดใช้มีผู้ป่วยเข้าพักอยู่ไม่ขาดสายทีเดียว
ด้านรายได้ โรงพยาบาลจะมีรายรับมาจากการหักเปอร์เซ็นต์ค่าพบแพทย์ โดยหักจากผู้ป่วยนอก
(OPD) 15% เป็นค่าใช้จ่ายด้านสิ่งอำนวยความสะดวกแก่แพทย์ แต่สำหรับผู้ป่วยใน
(IPD) ทางโรงพยาบาลจะไม่หักเปอร์เซ็นต์ค่าแพทย์ไว้ แต่จะมีรายได้ในส่วนของ
ค่าพยาบาล ค่าเครื่องมือแพทย์ ค่าพื้นที่ ที่ได้จากการเรียกเก็บจากคนไข้
นอกจากนี้ รายได้แหล่งใหญ่ของโรงพยาบาลยังมาจากการขายยา ซึ่งราคาค่ายากจะถูกบวกค่าใช้จ่ายต่างๆ
ที่เกิดขึ้นจากการตรวจรักษาเข้าไปด้วย และนี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมยาในโรงพยาบาลจึงแพงกว่าร้านขายยาทั่วไป
"คนไข้มักจะลืมไปว่าในห้องตรวจมีค่าใช้จ่าย ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้แพทย์ไม่ได้เป็นคนออก
จึงต้องมีส่วนอื่นเข้ามาช่วย ซึ่งบางแห่งก็คิดค่าใช้จ่ายตรงนี้ประมาณ 50-80
บาท" น.พ. สิน ไขข้อข้องใจ
สำหรับอัตราค่ารักษาพยาบาล ในส่วนของค่าพบแพทย์ (doctor fee) ทางบำรุงราษฎร์จะกำหนดพิสัย
(range) เป็น guideline ไว้ให้แพทย์ในการเรียกเก็บโดยจะพิจารณาเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลที่เป็น
Treasury Care เหมือนกัน แต่จะไม่มีการกำหนดไว้ตายตัวเพราะอัตราค่าพบแพทย์ที่เป็นระดับอาจารย์แพทย์จะสูงกว่าระดับปกติ
ซึ่งนี่ก็เป็นคำตอบว่าทำไมบางครั้งบิลล์ที่คนไข้ได้รับถึงกับต้องผงะ
อย่างไรก็ตาม น.พ. สินได้เปรียบเทียบว่าค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยในไทยกับอเมริกาด้วยเครื่องมือเหมือนกันจะถูกกว่าในอเมริกาประมาณ
30% แต่หากเปรียบเทียบอัตราค่ารักษาของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย
และสิงคโปร์โดยเฉลี่ยจะพบว่าไทยจะอยู่ตรงกลางระหว่างสิงคโปร์กับมาเลเซีย
เช่น การเปลี่ยนไต ค่ารักษาจะตกประมาณ 397,000 บาท ขณะที่สิงคโปร์ประมาณ
975,000 บาท และมาเลเซีย 392,000 บาท, การผ่าตัดทำคลอด ไทยประมาณ 49,000
บาท สิงคโปร์ 60,000 บาท มาเลเซีย 42,000 บาท, ผ่าตัดไส้ติ่ง ไทย 49,000
บาท สิงคโปร์ 50,000 บาท มาเลเซีย 39,000 บาท ยกเว้นการตัดต่อเส้นเลือดหัวใจ
(By-Pass) การตรวจคลื่นหัวใจ การสแกนสมอง และการตรวจร่างกายผู้บริหาร อัตราค่ารักษาของไทยจะถูกที่สุด
ตกประมาณ 397,000 บาท 300 บาท 3,900 บาท และ 1,000 บาท ตามลำดับ
ปัจจุบัน โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้ย้ายการปฏิบัติการมายังตึกใหม่ แต่ยังเปิดใช้ได้เพียง
250 เตียงเท่านั้น และอัตราของคนไข้ในที่เข้าพักเฉลี่ยประมาณ 200 คน ส่วนคนไข้นอกนับตั้งแต่เปิดตึกใหม่มีอัตราเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง
10% ทั้งนี้เป็นเพราะปัญหาความไม่สะดวกเรียบร้อยอันเกิดจากการก่อสร้างภายในโรงพยาบาล
แต่อย่างไรก็ตาม ทางโรงพยาบาลได้ประมาณการไว้ว่า อาคารใหม่นี้จะสามารถถึงจุดคุ้มทุนหรือ
breakeven ได้ในปลายปี 2541 หรืออย่างช้าที่สุดก็ภายในปี 2542 ซึ่ง breakeven
ในที่นี้ หมายถึงโรงพยาบาลมีรายได้พอสำหรับจ่ายภาระดอกเบี้ยไม่ขาดทุนมากนัก
อาคารใหม่นี้เป็นของบริษัท BMC ซึ่งถือหุ้นโดย BH หรือบำรุงราษฎร์ 95%
และบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) 5% ตลอดจนถึงการปฏิบัติการทั้งหมดก็อยู่ภายใต้การบริหารของ
BMC โดยก่อนหน้านี้ BH ได้ทำการขายเครื่องมือและอุปกรณ์ที่อยู่ในตึกเก่าให้แก่
BMC ทั้งหมด และ BH ก็จะทำหน้าที่เป็น Holding Company ที่ให้ BMC เช่าพื้นที่ปลูกสร้างตึกรวมทั้งอาคารที่จอดรถ
อาคารหลังใหม่ใช้งบประมาณในการลงทุนเกินกว่าประมาณการไว้ประมาณ 100-200
ล้านบาท เนื่องจากมีการบรรจุศูนย์มะเร็งเข้ามาซึ่งเดิมกำหนดที่จะเปิดในปี
2541 เนื่องจากมีคู่แข่งรายหนึ่งกำลังจะเปิดดำเนินการก่อน ซึ่งเงินที่ใช้ลงทุนในศูนย์มะเร็งนี่เองที่ทำงบประมาณโดยรวมสูงกว่าประมาณการไว้
ส่วนศูนย์โรคหัวใจนั้นใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 360 ล้านบาท โดยอาคารหลังนี้ได้บริษัทฟิลลิป
ฮอซต์แมนส์เป็นผู้ก่อสร้างและมีบริษัท Leo International Design Group เป็นผู้ออกแบบตกแต่งอาคารทั้งหมดซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ
300 ล้านบาทเศษ "ที่จริงแล้วตามแผนงานเดิมเราวางแผนที่จะเปิดกลางตุลาคม
2539 แต่เมื่อถึงตุลาคมอาคารยังไม่เรียบร้อยเต็มที่และติดขัดเรื่องของฤกษ์ยาม
ซึ่งคุณลินดาเชื่อถือในเรื่องนี้ ก็เลยเลื่อนมาเป็นวันที่ 25 ธันวาคม 2539
ที่เราย้ายเข้ามาตึกใหม่และเริ่มเปิดใช้จริง 25 ธันวาคม ส่วนพิธีเปิดเป็นทางการ
15 มกราคม" ผ.อ. ฝ่ายการแพทย์กล่าวถึงสาเหตุที่ต้องเลื่อนเปิดทำการอาคารหลังใหม่ไปหลายครั้งหลายหน
สำหรับอาคารเก่านั้น ทางบำรุงราษฎร์มีแผนการที่จะรื้อและก่อสร้างอาคารใหม่
22 ชั้น โดยชั้นล่างจะใช้เป็นที่จอดรถอีก 1,000 คัน ส่วน 12 ชั้นข้างบนจะใช้เป็น
Nursing Home ให้ผู้สูงอายุที่ทางครอบครัวไม่สะดวกในการดูแลมาเช่าอยู่ ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยโครงการนี้ก็ใช้คอนเซ็ปต์จากต่างประเทศเข้ามาประยุกต์
มาถึงตรงนี้ พุทธปรัชญาที่ว่า "อโรคยา ปรามาราภา" ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ
คงจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเราๆ ทุกคนเพราะไม่ต้องเสียทั้งเงิน และชีวิต