|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เอแบคถือกฤกษ์ส่งท้ายปี '48 ประกาศเดินหน้าเจาะตลาดอีเลิร์นนิ่ง หลังรัฐออกกฎหมายรับรอง ตั้งเป้าโกยยอดแสนคนใน 5 ปี ผ่ายุทธการปั้นดีมานต์ สอนอินเตอร์เน็ต-เปิดเรียนฟรี เจาะตลาดผู้ใฝ่รู้แต่ไม่มีเวลา ชี้ปัจจัยความสำเร็จต้องพร้อมทั้งเงิน คนและผู้นำต้องไว ก้าวทันเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลง
หลังจากรัฐบาลได้ออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาการขอเปิดและดำเนินการหลักสูตรระดับปริญญาในระบบการศึกษาทางไกล และให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 ตุลาคม 2548 ส่งผลให้สถาบันการศึกษาทุกแห่งสามารถเปิดสอนผ่านระบบอีเลิร์นนิ่งได้เต็มรูปแบบ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ( ก.พ.) รับรองคุณวุฒิของผู้สำเร็จการศึกษา
ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการและประธานผู้บริหารวิทยาลัยการศึกษาทางไกลอินเทอร์เน็ต มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า ได้รอประกาศดังกล่าวมากว่า 3 ปีแล้ว จากนี้ไปก็เดินหน้าเปิดหลักสูตรอีเลิร์นนิ่งได้เต็มที่ โดยตั้งเป้า 5 ปีนี้ จะมีหลักสูตรระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอกไม่ต่ำกว่า 30 หลักสูตร หลักสูตรระยะสั้นไม่ต่ำกว่า 40 หลักสูตร โดยมียอดนักศึกษาตั้งเป้าไว้สูงสุด 100,000 คน (ดูตารางประกอบ) โดยเปรียบเทียบอัตราการเติบโตนักศึกษาอีเลิร์นนิ่งของ University of Phoenix ในอเมริกาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 30% และ Capella University ที่พบว่ามีนักศึกษาปริญญาเอกถึง 50% ของจำนวนทั้งหมด
ผ่าแผนทะลุแสนคนใน 5 ปี
สำหรับตลาดในประเทศไทย เอแบคมองกลุ่มเป้าหมายไว้ 5 กลุ่มหลักๆ คือ 1. คนทำงานที่จบการศึกษาระดับ ปวช. ปวส. แล้วอยากต่อยอดให้จบระดับปริญญาตรี แต่ไม่มีโอกาส เพราะต้องทำงาน 2. กลุ่มแม่บ้าน 3. ผู้สูงอายุที่เกษียณจากการทำงานแล้ว 4. ผู้ที่เรียนอยู่ในระบบปกติ ที่ต้องการเปลี่ยนมาเรียนแบบอีเลิร์นนิ่งบ้าง และ 5.นักศึกษาชาวต่างชาติ ซึ่งขณะนี้เอแบคมีนักศึกษาต่างชาติจาก 60 ประเทศ รวม 2,300 คน เป็นนักศึกษาจีนมากที่สุด ซึ่งถ้ามีหลักสูตรอีเลิร์นนิ่ง เขาจะสนใจมากขึ้น เพราะสามารถเรียนในประเทศตนก็ได้ และใช้เวลาเพียงบางส่วนมาศึกษาในไทย ไม่ต้องอยู่ตลอดหลักสูตร อย่างไรก็ดี ทั้ง 5 กลุ่มข้างต้น ยังไม่ได้ระบุสัดส่วนว่ากลุ่มใดจะเป็นตลาดหลัก
ทั้งนี้ ศ.ดร.ศรีศักดิ์ ยอมรับว่าการเจาะกลุ่มเป้าหมายข้างต้น ต้องสร้างตลาดขึ้นมา จึงได้เปิดอบรมเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ต เจาะตั้งแต่กลุ่มพนักงานในโรงงาน เด็ก ผู้สูงอายุ ซึ่งจัดอบรมไปแล้วกว่า 10 รุ่น รวมทั้งหมดประมาณ 10,000 คน ผลตอบรับที่ผ่านมา มีการบอกต่อกัน ทำให้มีผู้มาอบรมมากขึ้น ซึ่งถ้าเขาใช้งานอินเทอร์เน็ตเป็น โอกาสที่จะเลือกเรียนผ่านอีเลิร์นนิ่ง ก็น่าจะสูงขึ้น
นอกจากนี้ เอแบคยังมีแผนจะเปิดสถานีโทรทัศน์อัสสัมชัญในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อทำรายการด้านการศึกษาโดยเฉพาะ ผู้สนใจจะเรียนรายวิชาได้ฟรีทางสถานีนี้ แต่จะไม่ได้รับปริญญา ถ้าต้องการใบปริญญาด้วยก็ต้องมาชำระค่าลงทะเบียน และค่าใช้จ่ายเพื่อการจัดสอบ ขณะที่แผนการประชาสัมพันธ์จะเน้นเจาะกลุ่มผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนในเครืออัสสัมชัญ 300 กว่าแห่งด้วย
ศ.ดร.ศรีศักดิ์ มองว่าระบบอีเลิร์นนิ่งมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการเรียนระบบปกติประมาณ 10% นั้นเป็นจุดแข็ง และสามารถคืนทุนจากการก่อสร้างอาคาร "ศรีศักดิ์ จามรมาน สถานเทคโนโลยีสารสนเทศ" ที่ใช้งบประมาณไปกว่า 600 ล้านบาทเพื่อเปิดสอนอีเลิร์นนิ่งได้ภายใน 3-4 ปี และคาดว่าสามารถบริหารค่าใช่จ่ายในการเรียนลดลงได้อีกในอนาคต
ประเดิมปี' 49 3 หลักสูตร
หลักสูตรที่เตรียมเปิดสอนในปีการศึกษาหน้าประมาณเดือนพฤษภาคม 2549 มีด้วยกัน 2 หลักสูตรประกอบด้วยการจัดการ (Ms. in Management) และสารสนเทศและการสื่อสาร (Ms. in Information and Communication Technology) ซึ่งเปิดทดลองระบบอีเลิร์นนิ่งมาระยะหนึ่งแล้ว จากนั้นเดือนกันยายนเปิดเพิ่มอีกหลักสูตรด้านวิธีวิทยาอีเลิร์นนิ่ง (Ms. in eLearning Methodology) ระดับปริญญาโทแห่งแรกของโลก
และเพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่อง ล่าสุดได้ร่วมกับบริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) พัฒนาระบบอีเลิร์นนิ่ง ชื่อ "AU PLUS" รวมถึงระบบการจัดการศึกษา หรือ LMS และระบบการจัดการเนื้อหา หรือ CMS ซึ่งเอแบคจะใช้AU PLUS พัฒนาทั้งระดับรายวิชา หลักสูตรระยะสั้น และหลักสูตรปริญญา เบื้องต้นจะใช้กับหลักสูตรการจัดการ และวิธีวิทยาอีเลิร์นนิ่ง
ขณะเดียวกันยังมีการพัฒนาระบบของเอแบคเอง ซึ่งได้นำซอฟท์แวร์ Moodle ที่เป็นโปรแกรมโอเพ่นซอร์สมา โดยใช้กับหลักสูตรสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งการพัฒนา 2 ระบบพร้อมกัน จะทำให้ดึงจุดแข็งของแต่ละระบบมาเสริมซึ่งกันและกันเพื่อพัฒนาตลอดเวลา
ขณะเดียวกัน มีโครงการที่จะพัฒนาหลักสูตรใหม่ต่อเนื่อง โดยดูความต้องการของตลาดและความพร้อมของอาจารย์ควบคู่กัน ซึ่งทุกหลักสูตรของเอแบคสามารถพัฒนาเป็นหลักสูตรออนไลน์ได้ โดยเฉพาะหลักสูตรปริญญาเอก จะง่ายกว่าหลักสูตรอื่นๆ เพราะเน้นทำวิจัยเป็นหลัก ไม่ต้องมีคอร์สแวร์ นอกจากนี้ ยังมีแผนร่วมกับมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ อเมริกาและมาเลเซีย เพื่อขยายหลักสูตรให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับความต้องการของมหาวิทยาลัยต่างชาติในการขยายตลาดและการรับรองจาก ก.พ. ด้วย
เผย 3 ปัจจัยแจ้งเกิดอีเลิร์นนิ่ง
เพราะระบบอีเลิร์นนิ่งยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย ศ.ดร.ศรีศักดิ์ ได้ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยความสำเร็จ คือ 1.บุคลากรที่ต้องสามารถบริหารจัดการคอร์สแวร์ให้เสร็จตรงเวลา และควบคุมระบบเพื่อรักษามาตรฐานของการศึกษาที่เข้มงวด 2.งบประมาณ เพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งการผลิต และการให้บริการ รวมถึงจัดหาบุคลากรผู้ให้บริการตลอดเวลา และ 3. คุณภาพของหลักสูตร ที่ต้องอาศัยระยะเวลาพิสูจน์จากผู้ที่จบออกไป
"สำหรับเอแบคเราให้ความเอาใจใส่ที่เรียกได้ว่ามากกว่าเรียนในห้องเรียนด้วยซ้ำ เพราะระบบอีเลิร์นนิ่ง ถ้าไม่เรียนระบบจะเตือนและแจ้งไปยังอาจารย์ ให้ติดต่อนักศึกษา ระบบยังกำหนดให้นักศึกษาติดต่อเพื่อนสัปดาห์ละครั้ง อาจารย์ต้องตอบคำถามภายใน 24 ชั่วโมง ถ้าตอบไม่ได้ต้องแจ้งกลับและไปหาคำตอบมาให้ได้ภายใน 72 ชั่วโมง แต่การเรียนแบบปกติ บางครั้งไปไม่เจออาจารย์ ทิ้งโน้ตไว้ บางทีอาจารย์ก็ไม่ตอบ"
ศ.ดร.ศรีศักดิ์ กล่าวอีกว่า อีเลิร์นนิ่งเป็นเรื่องของการตลาด ที่ต้องหากลุ่มเป้าหมายและความต้องการให้เจอ ดังนั้นผู้นำเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ต้องสังเกตตลาดตลอดเวลา และปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทั้งความต้องการและเทคโนโลยี เพราะบางมหาวิทยาลัยในต่างประเทศแม้มีเงินลงทุนสูง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จก็มี
ยังไม่น่ากระทบหลักสูตรทางไกล
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าจับตามองต่อไปสำหรับการบังคับใช้ประกาศกระทรวงฯ ครั้งนี้ คือ จากนี้ไปสถาบันการศึกษาต่างๆ สามารถจัดการศึกษาทางไกลได้แล้ว แล้วมหาวิทยาลัยที่เคยจัดการศึกษาทางไกลอย่าง ม.สุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) โดยเฉพาะจะเป็นอย่างไร
ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ประธานดำเนินการวิทยาลัยการศึกษาทางไกลอินเทอร์เน็ต ม.อัสสัมชัญ และในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวให้ความเห็นถึงผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับ มสธ. ว่า ระยะแรกจะยังไม่มีผลกระทบ เพราะใช้วิธีแตกต่างกัน โดยอีเลิร์นนิ่งเน้นใช้สื่ออินเทอร์เน็ต ขณะที่มสธ. ใช้สื่อหลากหลายรูปแบบทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์สำหรับคนบางกลุ่มที่ไม่ถนัดการใช้เทคโนโลยีจะยังคงเลือกศึกษาผ่านสื่อนี้อยู่
แต่เนื่องจากแนวโน้มในอนาคตเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่เข้าถึงง่ายขึ้น ก็เป็นไปได้ที่คนรุ่นต่อไปจะหันมาสนใจการเรียนผ่านสื่ออินเทอร์เน็ตมากกว่า นอกจากนี้ปัจจัยที่จะทำให้ มสธ.มีนักศึกษาลดลง น่าจะมาจากการขยายตัวของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งจากส่วนกลางที่รุกไปยังภูมิภาค และการเปิดมหาวิทยาลัยราชภัฎทั่วประเทศ ซึ่งคนในภูมิภาคเข้าถึงการศึกษาได้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี สำหรับการปรับตัวของ มสธ. นั้น ศ.ดร.อุทุมพร ให้ความเห็นว่า จุดแข็งของ มสธ. คือ ประสบการณ์การจัดการศึกษาทางไกลมากว่า 20 ปี ทำให้มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและระบบต่างๆ รองรับ แต่อุปสรรคสำคัญอาจเป็นด้านทัศนคติของคนทำงาน ที่ยังยึดติดกับวิธีเดิมๆ แต่ถ้าได้พัฒนาระบบการบริหารจัดการภายใน ปรับเนื้อหาหลักสูตรให้ทันสมัย และปรับคุณภาพของสื่อการเรียน ให้มีรูปแบบการนำเสนอที่น่าสนใจมากขึ้น ชนิดที่ได้ทั้งสาระและความบันเทิง น่าจะพัฒนาได้เร็วกว่าสถาบันการศึกษาอื่นๆ
**************
'ปริญญาออนไลน์ 49' พรึบ! เกิน 10 หลักสูตร
ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีในสถาบันการศึกษามีให้เห็นอยู่เป็นระยะ โดยมีเป้าหมายหลักทั้งเพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้เรียน และเพิ่มทักษะด้านไอทีให้กับว่าที่ knowledge worker ในอนาคต
แต่สำหรับการเปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาอีเลิร์นนิ่ง ขณะนี้ยังมีอยู่ไม่มาก นอกจากเอแบค ล่าสุดต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมามหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดหลักสูตร "บัญชีบัณฑิต (eLearning)" เจาะกลุ่มผู้ต้องการปริญญาใบที่ 2 โดยอาศัยเครือข่ายหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมาและอุดรธานีสนับสนุนสถานที่และการประชาสัมพันธ์
พบว่ามีนักศึกษารุ่นแรกเพียง 50 คนและสูงถึง 80% เป็นชาวกรุงเทพฯ ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 200 คนจากฐานนักศึกษาในจังหวัดนั้นๆ
ทั้งนี้ ผศ.แน่งน้อย ใจอ่อนน้อม คณบดี คณะบัญชี ม.หอการค้าไทย ยอมรับว่า หลักสูตรนี้มีข้อจำกัดที่รับเฉพาะผู้เรียนผู้ที่มีพื้นฐานบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ หรือสาขาใกล้เคียงเท่านั้น ขณะที่ความต้องการในสาขาอื่นๆ เช่น นิติศาสตร์ เข้ามามาก ดังนั้นภาคการศึกษาต่อไปจึงเตรียมผลิตวิชาเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อนเข้าเรียนในหลักสูตรบัญชีนี้ได้ และจะจัดกิจกรรมแนะนำหลักสูตรและสาธิตการเรียน เชื่อว่าจะดึงดูดจำนวนผู้สนใจได้มากขึ้น นอกจากนี้ทาง ม.หอการค้าไทยยังมีแผนจะพัฒนาหลักสูตรใหม่ๆ เช่น วิศวกรรม สาขาโลจิสติกส์ ระดับปริญญาตรี มาเปิดสอนแบบอีเลิร์นนิ่งด้วย
ด้าน มหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย หรือ TCU ภายใต้การดูแลของสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (UniNet) ซึ่งเป็นหน่วยงานของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ผศ.สุพรรณี สมบุญธรรม ผู้อำนวยการโครงการ TCU กล่าวถึงความคืบหน้าล่าสุดว่า TCU ได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพิ่มอีก 1 แห่ง คือ ม.มหิดล เพื่อพัฒนาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์ ระดับปริญญาโท TCU จึงมีหลักสูตรอีเลิร์นนิ่ง ที่จะเปิดสอนในเดือนมิถุนายน 2549 ทั้งหมด 7 หลักสูตร (ดูตารางประกอบ) ตั้งเป้าจำนวนนักศึกษาทั้งหมด 500 คน
ผศ.สุพรรณี กล่าวว่า การมี TCU เป็นหน่วยงานกลางทำให้สถาบันการศึกษาต่างๆ สามารถมาใช้ทรัพยากรของ TCU ได้ ซึ่งจะช่วยลดงบประมาณในการจัดทำหลักสูตรออนไลน์เอง โดยทรัพยากรเหล่านั้น อาทิ โครงข่าย UniNet ที่เชื่อมเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าด้วยกัน ห้องเรียนเครือข่ายอีก 38 แห่งที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทีมงานด้านการผลิตสื่อออนไลน์ และช่วยฝึกอบรมวิธีการผลิตสื่อ รวมถึงทีมผู้ให้บริการ เซิร์ฟเวอร์ในการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งทั้งหมดมีค่าใช้จ่ายประมาณ 20 ล้านบาทต่อปี และเร็วๆ นี้จะลงทุนระบบสำรองข้อมูลเพิ่มด้วย ซึ่งถ้าลงทุนเองจะใช้งบไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังได้รับความน่าเชื่อถือมากขึ้น เพราะถือว่าใช้มาตรฐานเดียวกัน และทางสกอ. ยังสนับสนุนทุนเพื่อผลิตหลักสูตรออนไลน์มาไว้ใน TCU ด้วย เพราะถือว่าหลักสูตรเหล่านี้จะเป็นทรัพยากรกลางที่สถาบันต่างๆ เข้ามาใช้ร่วมกันได้ ผศ.สุพรรณี ให้ความเห็นว่า อนาคตถ้าหลักสูตรออนไลน์มีจำนวนมากขึ้น น่าจะเป็นโอกาสทางการศึกษา เพราะจำนวนผู้ที่เรียนถึงระดับปริญญาตรีของประเทศมีเพียง 40% ยังเหลืออีก 60% ที่ต้องทำงาน โดยไม่มีโอกาสได้ศึกษาต่อ รวมถึงได้พัฒนาความรู้ต่างๆ ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง เพราะ TCU ยังมีหลักสูตรระยะสั้น ที่จะเปิดให้เรียนฟรีด้วย
|
|
|
|
|