คนวันสี่สิบปีของสุภาษิตฝรั่งถือว่าเป็นช่วงเริ่มต้น สำหรับภูษณแล้วในวัยสี่สิบกว่าของเขากลับเดินทางมาเกือบครึ่งค่อนทางแล้ว
ภูษณ เป็นผู้หนึ่งที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จในชีวิตมาด้วยลำแข้ง ที่ไต่เต้าจากเซลล์แมนจนกลายมาเป็นเบอร์สองของยูคอม
รองจากบุญชัย เบญจรงคกุล ล่าสุดเขาก้าวขึ้นเป็นถึงรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
และกรรมการบริหารพรรคความหวังใหม่
เส้นทางชีวิตของภูษณย่อมไม่ธรรมดา !
ภูษณเป็นชาวกรุงเทพฯ บ้านเดิมอยู่แถวช่องนนทรี พ่อเป็นคนกรุงเทพฯ แต่แม่เป็นชาวพิษณุโลก
เขาเล่าว่ามีพี่น้องทั้งหมด 2 คน แต่คนใกล้ชิดเล่าว่าเขายังมีน้องสาวอีก
1 คน แต่ภูษณไม่เคยเอ่ยถึง ปัจจุบันพี่ชายประกอบธุรกิจส่วนตัวมีโรงงานอุตสาหกรรม
ภูษณ จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเจ้าตัวระบุว่าเป็นคนหนึ่งที่อยู่ร่วมสมัย
14 ตุลาคม 2516 อันเป็นเหตุให้รู้จักกับพินิจ จารุสมบัติ แอคติวิสต์เก่าในยุคนั้น
ปัจจุบันกลายมาเป็นหัวหน้าพรรคเสรีธรรมและเคยนั่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
แต่ยังไม่ทันจะเข้าร่วมอุดมการณ์จริงจัง ก็ถูกส่งไปศึกษาต่อด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
ที่มหาวิทยาลัยลอนดอนอังกฤษ ซึ่งพี่ชายเขาได้บินไปศึกษาอยู่ที่นั่นก่อนหน้าแล้ว
ภูษณ ใช้ชีวิตเรียนและทำงานหารายได้พิเศษ 6-7 ปีในอังกฤษ จนคว้าปริญญาโท
ซึ่งเขาเคยเล่าให้คนใกล้ชิดฟังว่าจาน 2 พันใบในร้านอาหารผ่านฝีมือการล้างของเขามาแล้ว
ทุกวันนี้เขามีบ้านพักในลอนดอน ที่ต้องเดินทางไปพักผ่อนอย่างน้อยปีละครั้งสองครั้ง
มีบริษัทซื้อขายแลกเปลี่ยนรถยนต์ในชื่อของบริษัท "เอ็มจี" เพราะความที่ตัวเขาเป็นคนพิสมัยความเร็วแรงของรถ
ภูษณจึงเป็นหนึ่งในนักสะสมรถตัวยงเขามีรถโบราณหายากและรถสปอร์ตหรูราคาแพงระยับสะสมอยู่มากกว่า
50 คัน
นอกจากนี้ภูษณยังเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น โรงเรียนนานาชาติ "ฮาร์โรว์
อินเตอร์เนชั่นแนล สคูล" สถานศึกษาชั้นนำของอังกฤษที่ขยายกิจการมายังเอเชีย
โดยมีศิษย์เก่าอย่าง "หม่อมเต่า" ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล ถือหุ้นร่วมอยู่ด้วย
และจะเปิดดำเนินการในไม่ช้านี้
หลังจากคว้าปริญญาโท วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน ภูษณบินกลับมาเริ่มชีวิตการทำงานครั้งแรกกับธนาคารกรุงไทยในตำแหน่งวิศวกรคอมพิวเตอร์
ก่อนจะมาร่วมงานที่บริษัทล็อกซเลย์ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ขายระบบตู้โทรศัพท์สาขาอัตโนมัติ
หรือพีเอบีเอ็กซ์
ภูษณใช้ชีวิตเซลส์แมนในล็อกซเล่ย์ได้ไม่นาน เขายื่นใบลาออกอีกครั้งเพื่อไปร่วมงานใหม่ในบริษัทข้ามชาติที่ชื่อ
"จีทีอี" บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมจากสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาตั้งสำนักงานในไทย
ซึ่งภูษณก็สามารถไต่เต้าจนเป็นผู้จัดการฝ่ายขายในวัยเพียง 26 ปีเท่านั้น
ต่อมาไม่นานจีทีอีปิดกิจการในไทย และยื่นข้อเสนอให้เขาย้ายไปทำงานที่สิงคโปร์
เป็นผลให้ภูษณยื่นใบลาออกและกลายเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญให้กับชีวิตของเขา
ด้วยเงื่อนไขการหางานในครั้งนั้นของภูษณ ที่ต้องพ่วงเอาลูกน้องเดิมเข้าทำงานด้วยอีก
9 ชีวิต การหางานใหม่ในครั้งนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ภูษณจึงต้องยอมทิ้งเงินเดือนสี่หมื่นที่เคยได้รับจากจีทีอีมากินเงินเดือนเพียงหมื่นกว่าบาทในยูคอมเนื่องจากยูคอมเป็นแห่งเดียวที่ยอมรับเงื่อนไขของเขาได้
ยูคอมในเวลานั้นยังเป็นเพียงแค่บริษัทเล็กๆ ตั้งอยู่ริมถนนราชเทวี เป็นดีลเลอร์ขายอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ค้าขายกับหน่วยงานราชการมานาน
มียอดขายปีละ 50 กว่าล้านบาทซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่บุญชัย เบญจรงคกุล
ทายาทคนโตของตระกูล เพิ่งบินกลับจากสหรัฐอเมริกาเพื่อมาสานต่อกิจการจากผู้เป็นพ่อที่เสียชีวิตลงได้ไม่นาน
และในเวลานั้นบุญชัยกำลังต้องการทีมงานมาช่วยขยายกิจการ
ภูษณ เริ่มงานในยูคอมด้วยตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายตู้โทรศัพท์สาขา ก่อนขยับไปขายอุปกรณ์โทรคมนาคมอื่นให้กับหน่วยงานราชการ
ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ภูษณมีโอกาสเรียนรู้การติดต่อกับหน่วยงานราชการหลายแห่ง
"งานหลักคือการไปขายสินค้าระบบโทรคมนาคมให้หน่วยงานรัฐ เราขายหมด
กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตร องค์การโทรศัพท์ฯ การสื่อสารฯ และไปติดตั้งแม้กระทั่งกลางทะเล
อย่างยูเนี่ยนออยล์" ภูษณ เล่าถึงชีวิตการทำงานที่ยูคอม
ภูษณใช้เวลา 17 ปี ไต่เต้าจากผู้จัดการฝ่ายขายพีเอบีเอ็กซ์มาเป็นรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่เป็นเบอร์
2 ที่ยืนเคียงคู่กับบุญชัย ภารกิจของเขา มีตั้งแต่กำหนดนโยบายบริหารงาน วางโครงสร้างองค์กร
แซงหน้าผู้บริหารเก่าแก่สมัยรุ่นพ่อแม่แบบไม่เห็นฝุ่น
ทั้งๆ ที่จริงแล้วชีวิตการทำงานของภูษณไม่ได้หวือหวาอะไร เพียงแต่เขาเป็นคนที่มองโอกาสที่เข้ามาได้ก่อนคนอื่นเท่านั้น
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ภูษณก้าวขึ้นเป็นเบอร์สองของยูคอมมาจากผลงานของเขาและทีมลูกน้องเก่า
ได้ช่วยกันผลักดันให้ยูคอมคว้าโทรศัพท์มือถือระบบแอมป์ 800 และดิจิตอล 1800
จากการสื่อสารฯ
การคว้าสัมปทานในครั้งนั้น ส่งผลให้ยูคอมกลายเป็นพยัคฆ์ติดปีกก้าวข้ามจากบริษัทค้าอุปกรณ์โทรคมนาคมธรรมดาๆ
กลายมาเป็นเจ้าของสัมปทานโทรศัพท์มือถือรายที่ 2 ของตลาดภายในชั่วข้ามปี
ที่ปั่นเม็ดเงินจำนวนมหาศาล จากค่าแอร์ไทม์และจากการค้าแบบครบวงจร รวมถึงส่วนล้ำของมูลค้าหุ้นที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่มีมูลค่านับหมื่นล้านบาท
ผลงานในครั้งนี้ทำให้ภูษณกลายเป็นดาวจรัสแสงในยูคอมไปโดยปริยาย !
การคว้าสัมปทานในครั้งนั้น แน่นอนว่ามาจากสายสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างยูคอมและการสื่อสารฯ
เช่นเดียวกับสายสัมพันธ์ที่ชินวัตรมีกับองค์การโทรศัพท์ฯ
ว่ากันว่า สัญญาสัมปทานที่ได้คลื่นความถี่ 1800 เมกกะเฮิรตซ์ไปทั้งย่านความถี่เกิดขึ้นบนกระดาษเพียงแค่แผ่นเดียวเท่านั้น
!
แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ผลงานในครั้งนั้นมาจากสายตายาวไกลที่มองเห็น "โอกาส"
ทำเงินจากธุรกิจสัมปทานโทรศัพท์มือถือแบบผูกขาดก่อนคนอื่น เช่นเดียวกับที่ดร.
ทักษิณ ชินวัตร เคยมองเห็นโอกาสเหล่านี้มาแล้วจากสัมปทานโทรศัพท์เซลลูลาร์
900 มาแล้ว
ในขณะที่บุญชัยรับผิดชอบงานบริษัทยูคอมที่ยังคงเน้นไปที่ธุรกิจการประมูลราชการอันเป็นธุรกิจดั้งเดิม
แต่ภูษณรับผิดชอบบริษัทแทค ซึ่งทำธุรกิจสัมปทานโทรศัพท์มือถือเป็นธุรกิจธงนำของกลุ่มยูคอมที่ทำรายได้สูงสุด
แม้แต่ในวันที่ภูษณถอดหมวกประธานกรรมการบริหารยูคอม เพื่อกระโดดเข้าสู่เส้นทางการเมือง
แต่ภูษณยังไม่ยอมถอดหมวดกรรมการผู้จัดการของแทค ซึ่งเขาให้เหตุผลว่าเป็นข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ในสิงคโปร์ที่แทคไปจดทะเบียนอยู่ที่นั่น
ที่จริงแล้วธุรกิจให้บริการโทรศัพท์มือถือจะไม่ต้องอาศัย "ฝีไม้ลายมือ"
อะไรมากมาย เพราะเป็นสัมปทานผูกขาดมีเอกชนเพียง 2 รายในตลาด และระบบต่างๆ
ก็ซื้อหาได้จากผู้ผลิตต่างชาติ เพียงแต่ควบคุมการวางเครือข่ายให้เป็นไปตามที่กำหนดเท่านั้น
แต่ต้องไม่ลืมว่าธุรกิจโทรคมนาคม ต้องวิ่งไล่ตามเทคโนโลยีให้ทัน และต้องคอยมองอนาคตอยู่ตลอดเวลาเพราะหากหยุดลงเมื่อใด
ก็หมายถึงโอกาสที่หลุดลอยไป ที่สำคัญต้องบริหาร "คอนเนกชั่น" กับหน่วยงานรัฐให้อยู่หมัด
ภูษณไม่ได้เกิดจากตระกูลร่ำรวยที่จะใช้เป็น "สปริงบอร์ด" ดีดขึ้นสู่ความสำเร็จ
สิ่งที่ภูษณจะทำได้ก็คือการสร้าง "มูลค่าเพิ่ม" ให้กับตัวเอง เขาขวนขวายหาความรู้ตลอดเวลา
ทั้งจากตำรับตำราทางด้านโทรคมนาคม ด้านบริหารและการเงิน เพราะนั่นหมายถึงการเข้าถึงข้อมูลและสร้าง
"วิสัยทัศน์" ในการมองธุรกิจในวันข้างหน้า
"คุณภูษณอ่านหนังสือหมดทุกอย่าง หนังสือด้านโทรคมนาคมเล่มหนาๆ สั่งมาจากต่างประเทศ
สิบกว่าเล่มอ่านรวดเดียวจบ หนังสือรีเอ็นจิเนียริ่งก็อ่านหมด" แหล่งข่าวในยูคอมเล่า
ความรู้ในตำราอย่างเดียวคงไม่พอ ภูษณต่อยอดให้กับตัวเองด้วยการคว้าใบปริญญาเอก
ทางด้านบริหารการเงินจากมหาวิทยาลัยซัมเมอร์เซ็ทประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นการเรียนผ่านทางไปรษณีย์
ทำให้ภูษณมีคำว่าดอกเตอร์นำหน้าชื่อไปโดยปริยาย
แต่ในบางครั้งการเรียนของภูษณก็ไม่ได้หวังเพื่อต่อยอดความรู้ แต่เพื่อสร้าง
"คอนเนกชั่น" แม้จะมีปริญญามาประดับข้างฝาแล้วหลายใบ แต่ภูษณยังคงเลือกเรียนปริญญาโทที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพียงเพราะในคณะนั้นรุ่นนั้นมีบุคคลสำคัญๆ
รายชื่อนักเรียนของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร วปอ. รุ่น 39 ก็มีชื่อของภูษณ
ปรีย์มาโนช พร้อมกับเพื่อนร่วมรุ่นอย่างวิษณุ เครืองาม, พล.ต.ท. เฉลิมเดช
ชมพูนุช, ธรรมนูญ จุลมณีโชติ รองผู้ว่าการสื่อสารฯ, พัชรินทร์ บูรณสมภพ
แม้เขาจะเรียกตัวเองเสมอว่า เป็นแค่ "ลูกจ้างมืออาชีพ" แต่ก็เป็นลูกจ้างที่ทุ่มเทให้กับบริษัทแบบสุดตัว
ในขณะที่ทุกคนนอนหลับใหล แต่ชีวิตของภูษณกลับเริ่มขึ้นตั้งแต่ตี 4 ภูษณจะนั่งรถมาทำงาน
และเริ่มอ่านหนังสือไปจนถึง 6 โมงเช้า ผู้บริหารของที่นี่จึงต้องตื่นเช้าเป็นพิเศษ
เพราะกำหนดประชุมจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ 6 โมงเช้า หรือบางครั้งหากเร่งด่วนก็อาจนัดประชุมกันตั้งแต่ตี
5 หลังจากนั้นจะประชุมไปจนถึงเที่ยง หลังจากนั้นช่วงบ่ายหากไม่ไปติดต่องานข้างนอก
ภูษณจะต้องวางแผน หรือ ร่วมประชุมกับลูกน้องไปจนถึงช่วงค่ำ
"ผมนอนตั้งแต่ 2 ทุ่ม สังคมกลางคืนผมจึงขาดหายไป งานแต่งงาน งานศพ
จะไม่ไปเลย ปีหนึ่งจะไปไม่ถึง 10 ครั้ง เฉพาะที่ถูกบังคับให้ไปจริงๆ เท่านั้น"
ภูษณ เล่า
ภูษณมักจะเข้าประชุม และร่วมตัดสินใจในทุกๆ เรื่อง ทั้งเรื่องเล็ก และเรื่องใหญ่
แม้ว่าในช่วงหลังยูคอมจะขยายอาณาจักรออกไปมากมาย และมีการแต่งตั้งผู้บริหารมารับผิดชอบในแต่ละธุรกิจแล้วก็ตาม
จึงไม่แปลกที่จะเห็นผู้บริหารเข้าคิวรอพบภูษณอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งในวันที่ภูษณต้องไปนั่งเป็นรองเลขาธิการนายกฯ
ก็ยังพบเห็นผู้บริหารของยูคอมยั้งต้องหิ้วแฟ้มมารอเข้าพบเช่นเดิม
จากการมุ่งมั่นในเรื่องงานทำให้สถานภาพทางครอบครัวของภูษณได้กลายเป็นพ่อหม้ายทั้งที่ใช้ชีวิตคู่ได้ไม่นาน
หากมองในแง่เจ้าของบริษัทกับลูกจ้างมืออาชีพแล้ว บุญชัยกับภูษณดูจะเป็นนายจ้างกับลูกจ้างที่ลงตัวที่สุด
แม้ว่าอุปนิสัยใจคอ สไตล์การบริหารงานจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงก็ตาม
ในขณะที่บุคลิกภายนอกของบุญชัย สุขุม นอบน้อม มีนิสัยประนีประนอม รักงานศิลปะ
แต่ภูษณเป็นคนกล้าคิดกล้าทำ กล้าพูด ติดจะก้าวร้าวและความที่เป็นคนขวานผ่าซากของเขาต้องไปกระทบกระทั่งกับคนรอบข้าง
หรือทำให้เป็นชนวนเปิดศึกท้าชนกับคู่แข่งมือถืออีกค่ายอยู่เนืองๆ
แต่เมื่อผสมผสานบุคลิกของทั้งสองคน จึงกลายเป็นความลงตัว เปรียบแล้วก็เหมือนกับไฟและน้ำที่พร้อมจะลุกลามและไหลลื่นได้ตลอดเวลา
"เมื่อคุณภูษณมีสไตล์ทำงานที่รวดเร็วและรุนแรง ผมก็จะเยือกเย็นสุขุม
และใจเย็น ทำให้ทำงานร่วมกันได้" บุญชัย เบญจรงคกุล กล่าวถึงแนวทางทำงานร่วมกัน
แม้จะไม่มีวาทศิลป์ในการพูด แต่ในการเจรจาต่อรองกับหน่วยงานรัฐ ในเรื่องการต่อรองในการขอสัมปทาน
หรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขมักเป็นหน้าที่ของภูษณ
ไม่เท่านั้น รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อย่างภูษณยังลงมาทำหน้าที่เป็น "โฆษก"
ประจำบริษัททำหน้าที่ให้ข่าวและดูด้านประชาสัมพันธ์ด้วยตัวเอง เพราะภูษณรู้ดีว่าข่าวสารที่ออกไปมีผลต่อราคาหุ้นในตลาดเพียงใด
ในวันนี้ภูษณ ได้แปรสภาพจากนักธุรกิจกลายมาเป็นนักธุรกิจการเมืองที่มีตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
และกรรมการบริหารพรรคความหวังใหม่ต่อท้าย นับเป็นอีกจุดพลิกผันหนึ่งในชีวิต
แม้ว่าเส้นทางนี้จะเป็นแค่การเดินทางแบบชั่วคราว
ภูษณยืนยันว่า เมื่อหมดภารกิจนี้แล้ว เขาก็อาจจะกลับไปเป็นนักธุรกิจดังเดิม
หรือไม่ก็เป็นอาจารย์สอนหนังสือ
"ไม่มีอะไร ชีวิตผมเรียบง่าย ผมไม่มีภาระ ไม่มีลูก" คำกล่าวสั้นๆ
ที่ภูษณยืนยันถึงอนาคตของเขา