Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2540
"ชีวิตนี้เพื่อการศึกษาของ "กุนซือยอดขยันแห่งรั้วเสมา"             
โดย สนิทวงศ์ เจริญรัตตะวงศ์
 


   
search resources

รุ่ง แก้วแดง
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ




อดีตจากเด็กน้อยที่ไม่ชอบเรียนหนังสือเพราะไม่สนุก แต่ปัจจุบัน ดร. รุ่ง แก้วแดง กลายเป็นนักบริหารการศึกษาแถวหน้าของเมืองไทยด้วยผลงานที่ริเริ่มมากมาย มาโด่งดังกับแนวคิดรีเอ็นจิเนี่ยริ่งระบบราชการไทยและโครงการศึกษาผ่านดาวเทียมไทยคม วันนี้เขากลับสังกัดเดิม สกศ. ด้วยหวังจะพลิกฟื้นบทบาทจากหน่วยงานที่โลกลืมมาเป็นหน่วยประสานงานการศึกษา "ตัวจริง" เสียที...

เช้าวันหนึ่งที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) "ผู้จัดการรายเดือน" ได้มีโอกาสเข้าสัมภาษณ์ ดร. รุ่ง แก้วแดง เลขาธิการ สกศ. ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าเวลาของท่านเต็มไปด้วยภารกิจรัดตัวตั้งแต่เช้าจรดเย็น นอกเหนือจากการออกกำลังกายที่เป็นกิจกรรมแทรกเข้ามาในกิจวัตรประจำวัน

ชีวิตของ ดร. รุ่ง เริ่มต้นที่จังหวัดยะลา เหมือนกับเด็กผู้ชายทั่ว ๆ ไป ที่ชอบวิ่งเล่นซุกซนกับเพื่อนไปวัน ๆ จนกระทั่งถึงเกณฑ์ต้องเข้าเรียนหนังสือ วีรกรรมเล็ก ๆ ของเด็กชายรุ่งจึงเกิดขึ้น

"ปีแรกผมไปเรียน แต่เรียนได้เพียง 3 วัน ทนอากาศร้อนไม่ไหว เพราะหลังคาโรงเรียนเป็นสังกะสี และก็รู้สึกว่าโรงเรียนไม่น่าอยู่ เล่นกับเพื่อนที่บ้านสนุกกว่า" ดร. รุ่ง เปิดใจถึงชีวิตในวัยเด็ก

ย่างเข้าปีที่สองชีวิตการเรียนกลับเข้าสู่รอยเดิมอีกแต่คราวนี้ไปไม่ถึง 3 วัน ก็เหมือนเดิมกลับมาอยู่บ้านอีก ซึ่งทางบ้านก็ตามใจ เพราะถือว่าเป็นน้องนุชสุดท้องที่ทั้งบ้านตามใจ ซึ่ง ณ ขณะนั้น ดร. รุ่งไม่รู้เหมือนกันว่าการทำเช่นนั่นเป็นโชคดีหรือโชคร้าย

จนกระทั่งย่างเข้า 8 ขวบเศษ ชีวิตเริ่มจุดหักเหเมื่อมารดาเสียชีวิตและพี่ชายคนโตซึ่งเป็นคนแรกของยะลาที่เรียนจบธรรมศาสตร์กลับมาบ้าน และบัดนั้นเป็นต้นมาเด็กชายรุ่งจึงต้องเริ่มเรียนหนังสืออย่างจริงจัง เพราะพี่ชายได้นำตัวมาเรียนที่ตัวจังหวัด จนกระทั่งสำเร็จศึกษาศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตปทุมวัน ในปีการศึกษา 2508

หลังจบปริญญาตรีก็ประเดิมงานแรกเป็นข้าราชการครูสังกัดกรมอาชีวะ สอนระดับอาชีวะศึกษาที่โรงเรียนการช่างสตูลได้ 1 ปี แล้วลาออกมาเรียนต่อที่คณะรัฐประศาสนศาสตร์ เมื่อครั้งที่ยังสังกัดอยู่กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากตอนนั้นกระทรวงศึกษาฯ ยังไม่มีนโยบายให้ข้าราชการเรียนปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์ เพราะถือว่าเป็นวิชาทางรัฐศาสตร์ แต่แท้ที่จริงแล้วสาขาวิชานี้เป็นวิชาทางด้านบริหาร ซึ่งข้าราชการทุกกระทรวงสามารถเรียนรู้ได้

หลังจากลาออกได้เพียงปีเศษ ท่านสามารถสอบเข้าทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติได้ในปี พ.ศ. 2511 พร้อมทั้งสำเร็จการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิตในปีเดียวกัน

"ผมเริ่มต้นที่ตำแหน่งวิทยากรตรีแล้วก็ทำงานที่นี่เรื่อยมาจนถึงซี 6 รักษาการในตำแหน่งหัวหน้ากองวิจัย ซึ่งค่อนข้างเร็วเพราะผมเข้าทำงานเมื่อปี 2511 พอปี 2517 ก็เป็นหัวหน้ากองแล้ว" ดร. รุ่งเล่าย้อนหลังภาระหน้าที่การงานในช่วงเริ่มต้น

จากที่นี่ ดร. รุ่งได้เก็บเกี่ยวสั่งสมประสบการณ์ต่าง ๆ มากมายโดยเฉพาะงานหลัก 5 เรื่อง เริ่มจากการวิจัย พัฒนานโยบาย การจัดทำแผน นำแผนไปสู่การปฏิบัติ และการประเมินผล ซึ่งถือเป็นเครื่องกล่อมเกลาให้เป็น ดร. รุ่ง แก้วแดงในทุกวันนี้

"ถ้าเราผ่านการทำวิจัยมาก่อน เวลาไปทำงานอย่างอื่นมั่นใจได้เลยว่า 90% จะประสบความสำเร็จ เพราะเราได้ทำการศึกษาค่อนข้างละเอียดในทุกเรื่อง ซึ่งรูปแบบที่เราใช้กันมากคือ การวิจัยเอกสาร ถือว่าเป็นการวิจัยที่ง่ายที่สุด"

จากนั้นไม่นานชีวิตของการเป็นนักเรียนก็เข้ามาเยือนอีกครั้งเมื่อตัดสินใจลาศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และหลังจากนั้น 3 ปีเขาก็หอบหิ้วปริญญาดุษฎีบัณฑิต ด้านบริหารการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนิวยอร์กกลับสู่ฟ้าเมืองไทยเมื่อกลางปี 2520 และเข้าทำงานในกระทรวงศึกษาธิการอีกครั้ง

มาครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อน ๆ เพราะเขาได้รับมอบหมายงานช้างให้ดูแล ซึ่งก็คือการเปลี่ยนแปลงการประถมศึกษา ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยได้เข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนออกมาเป็นกฎหมาย ซึ่งผลงานครั้งนั้นเป็นที่มาของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ หรือ สปช. และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครู หรือ กค. ที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2523 ซึ่งหลังจากนั้น ดร. รุ่ง ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เข้าไปดูแลงานใน สปช.

"ตอนนั้น ดร. สิปนนท์ เกตุทัต เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ ในสมัยรัฐบาลท่านนายกฯ เปรม 2 โดยท่านได้โอนผมไปเป็นรองเลขาฯ สปช. ตำแหน่งระดับ 9 ผมทำงานอยู่ในตำแหน่งนี้ 7 ปี จนถึงปี 2530"

เมื่อครั้งที่อยู่ สปช. เขาได้ทำการปรับกระบวนการทำงานโดยนำงานหลัก 5 ประการของ สกศ. มาใช้ เพราะโรงเรียนประถมศึกษาอันเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานมีจำนวน 33,000 โรง มีนักเรียนในการดูแล 6.5 ล้านคน และแม้ว่าจะพ้นจากตำแหน่งในหน่วยงานนี้แล้วแต่ยังมีการดำเนินตามแนวทางที่เขาได้วางไว้อย่างต่อเนื่องนับถึงปีนี้ก็เป็น 10 ปีแล้ว และโครงการต่าง ๆ ที่ได้ริเริ่มขึ้นยังมีการสานต่ออย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ "แม้ว่าหลายเรื่องเริ่มจะล้าสมัย แต่ไม่มีใครที่ลุกขึ้นมาจับอย่างเป็นระบบและสามารถเปลี่ยนแปลงได้" ดร. รุ่ง เล่าอย่างภาคภูมิใจ

โครงการอนุบาลชนบท เพื่อเตรียมความพร้อมใน 2 ปีแรกก่อนเข้าเรียนในระดับประถมถือเป็นผลงานที่ปรากฏผลเป็นประโยฃน์ต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง เพราะในปัจจุบันเด็กไทยอายุระหว่าง 3-5 ปี 68% มีโอกาสเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียนในระดับหนึ่งจากอดีตที่มีเพียง 4% เท่านั้น

นอกจากนี้โครงการอาหารกลางวัน และโครงการปรับปรุงอาคารเรียนและอาคารประกอบ ยังเป็นผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เขาไม่น้อย เพราะความคิดนี้ส่วนหนึ่งหลั่นออกมาจากชีวิตจริงในฐานะที่เป็นเด็กต่างจังหวัดมาก่อน

สมัยก่อนเด็กบ้านนอกตอนเที่ยงต้องกลับมากินข้าวบ้าน ถ้าพ่อแม่ออกไปทำงานโอกาสที่เด็กจะไม่ได้กินอาหารกลางวันมีสูง เมื่อเป็นอย่างนี้เด็กจะเอาสมองที่ไหนมาเรียนและสุขภาพก็ไม่ค่อยดีมีโรคภัยไข้เจ็บบ่อย ที่สำคัญเด็กในยุคนั้น 40% เป็นโรคขาดสารอาหาร สมัยผมเองเรียนจนถึงมัธยมแล้วบางวันก็ไม่มีอาหารกลางวันกินต้องไปเก็บผลไม้ข้างโรงเรียน แต่ก็ยังโชคดีที่ยังรอดมาได้" ดร. รุ่ง เล่าถึงจุดที่มาของไอเดีย พร้อมทั้งกล่าวต่อไปว่า

เมื่อก่อนอาคารเรียนของโรงเรียนประถมในชนบทโกโรโกโสมาก ถ้าเคยเห็นโรงเรียนวัดสมัยก่อนที่เขาจะสร้างเป็นหลังใหญ่ ๆ คล้ายกับศาลาวัด ฝ้าก็ไม่มี มีแต่ระแนงตอก ยกพื้นบ้างไม่ยกพื้นบ้าง หลังคาเป็นสังกะสี ร้อนก็ร้อน ถ้าฝนตกก็เลิกพูดกันเพราะเสียงเม็ดฝนกระทบหลังคาดังจนสอนไม่ได้"

สำหรับโครงการอาหารกลางวันจะเป็นการนำเกษตรเข้ามาใช้ในการเรียนการสอนทั้งทางด้านพืช และสัตว์แล้วก็เปลี่ยนเป็นอาหาร ด้วยความคิดที่ว่าอย่างน้อยในชีวิตของคนเรามื้อหนึ่งควรจะได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่

ส่วนโครงการปรับปรุงอาคารเรียน มีจัดการรื้อระบบของการสร้างอาคารเรียนใหม่หมดและลงมืออกแบบเองเสร็จสรรพ อย่างน้อยมาตรฐานขั้นต่ำต้องเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กไม่ใช้ไม้หรืออาคารไม้เพราะโอกาสโกงเป็นไปได้ง่าย หลังคาจะต้องเป็นกระเบื้องไม่ใช่สังกะสีแบบเดิม ต้องมีฝาอย่างดี มีอุปกรณ์ในห้องเรียนพร้อมหมด และที่สำคัญต้องทาสี ซึ่งอาคารแบบใหม่นี้รวมเรียกว่าอาคารซีรี่ส์ 105 ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 3-4 หมื่นหลังทั่วประเทศ และสามารถกันเงินที่จะรั่วไหลจากการคอร์รัปชั่นไว้ได้ปีละ 600-800 ล้านบาท ซึ่งเงินส่วนนี้ได้จัดสรรไปใช้สร้างโรงฝึกงาน สนามกีฬาบ้าง และพัฒนาการศึกษา ซื้อสื่อการเรียนการสอน เครื่องดนตรี อุปกรณ์กีฬา

ต่อจากนั้นระหว่างปี 2530-2530 ได้เลื่อนขั้นเป็นระดับ 10 ในตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการศึกษาเอกชน

ที่นี่ ดร. รุ่งได้ฝากฝีไม้ลายมือแก้ปัญหาโรงเรียนเอกชนล้ม ซึ่งมีตัวเลขสูงถึงปีละ 100-200 โรง เพราะถูกจำกัดเพดานค่าเล่าเรียนและไม่มีเงินอุดหนุนจากรัฐบาล โดยเขาได้เข้ามาปรับปรุงเรื่องเงินอุดหนุนที่ไม่มีการปรับมาเป็นเวลาถึง 7 ปี และขยายเพดานค่าเล่าเรียนให้สูงขึ้นและให้สามารถปรับได้ทุกปี

นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้แก่ผู้บริหารและครูในโรงเรียนเอกชน ตลอดจนถึงการปรับระบบสวัสดิการครู โดยเฉพาะเรื่องการเบิกจ่ายค่าเล่าเรียนบุตรหรือค่ารักษาพยาบาลให้เร็วขึ้นเหลือเพียง 3 ชั่วโมง รวมถึงการให้กำลังใจแก่ผู้บริหารโรงเรียน เพราะเดิมโรงเรียนเอกชนมักถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายที่จ้องหาผลประโยชน์จากการศึกษา โดยพยายามทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายว่าจริง ๆ แล้วโรงเรียนเอกชนเหล่านี้เข้ามาด้วยความตั้งใจที่ดี

จากนั้นไม่นานก็ขึ้นเป็นรองผลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยดูแลด้านกฎหมายและบุคลากร 2 ปี ก่อนจะย้ายไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ โดยผลักดันพระราชบัญญัติคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 จนผ่านสภาและเกิด "กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม" ที่ตั้งเป็นหน่วยงานอิสระโดยได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล และเป็นที่มาของผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม

"ตอนนั้นถือว่างานด้านวัฒนธธรมเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและความเป็นไทย ดังนั้นคนไทยควรมีวัฒนธรรมที่ดี ที่เป็นของตนเองและเข้มแข็ง เราจึงไปทำงานกันที่นั่นอย่างเช่น ปีรณรงค์วัฒนธรรมไทย ได้งบประมาณด้านวัฒนธรรมมากมาย เพิ่มขึ้นปีละเกือบ 100% ทุกปี และก็มีการตั้งเครือข่ายด้านวัฒนธรรม"

ต่อจากนั้น 2 ปีได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ได้ทำการขยายโอกาสทางการศึกษาด้วยการเปิดศูนย์การเรียนทุกหนทุกแห่งชนิดขอเพียงให้มีผู้เรียน อาทิ เปิดในโรงงานอุตสาหกรรม เรือนจำ กองทหารเกณฑ์ กลุ่มเกษตรกร และอาสาสมัครสาธารณสุข ทำให้จากเดิมที่มีผู้เรียนนอกโรงเรียนทุกระบบเพียง 9.8 แสนคน ขยายได้ถึง 4 ล้านคน ซึ่งรวมถึงกลุ่มกำนัน ใหญ่บ้านและกรรมการหมู่บ้านที่มีทั้งหมด 8 แสนคน ได้มีโอกาสเรียนมากขึ้น

ในตำแหน่งนี้เขาได้นำระบบการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมมาใช้ ซึ่งได้รับการกล่าวขานถึงอย่างกว้างขวาง เพราะไม่เฉพาะแต่ผู้เรียนนอกระบบโรงเรียนเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่ในระบบโรงเรียนก็ใช้ได้ด้วย ถือเป็นโครงการหนึ่งที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างมากแม้ช่วงหนึ่ง จะมีปัญหากับบริษัทชินวัตรแซทเทิลไลท์อยู่บ้างก็ตาม นอกเหนือจากนั้นยังมี กศน. สปช. กรมสามัญศึกษา คณะกรรมการการศึกษาเอกชน ร.ร. เทศบาล และกรุงเทพมหานครเข้าร่วมในโครงการ เบ็ดเสร็จแล้วมีประมาณ 1.5 หมื่นจุด และมีผู้เรียนเป็นตัวเลขหลักล้านทีเดียว

เช่นเดียวกับศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาแห่งชาติ เขาได้เข้ามาพัฒนาจนได้รับงบประมาณสร้างแห่งที่ 2 ที่รังสิต มูลค่าโครงการ 700 ล้านบาท เป็นอาคาร 8 ชั้น บนเนื้อที่ 40 ไร่เศษ ตั้งอยู่หลังวิทยาลัยการปกครองติดกับบึงเก็บน้ำของโครงการพระราชดำริ จากที่มีเพียงท้องฟ้าจำลองเพียงแห่งเดียว

พร้อมกันนั้นก็ขยายไปยังต่างจังหวัด เริ่มที่หว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ เนื้อที่ทั้งหมดเกือบ 800 ไร่ เป็นงานเดิมที่ทำค้างไว้แล้วนำมาทำต่อจนกระทั่งสำเร็จ และที่สร้างเสร็จแล้วอีก 2 แห่งคือนครศรีธรรมราช และตรัง ส่วนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างใกล้เสร็จแล้วมีที่กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ อุบลราชธานี เชียงราย และยะลา ทั้งนี้ในแผนงานจะสร้างให้ครบทุกเขตการศึกษาและในอนาคตจะลงไปจนครบทุกจังหวัด

เวลาผ่านไป 2 ปี ชีวิตการทำงานก็หวนกลับมายังที่เดิม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ แต่ในตำแหน่งเลขาธิการ โดยการแนะนำจาก ดร. สิปนนท์ เกตุทัต เพราะเล็งเห็นว่าหน่วยงานนี้ควรจะต้องเป็นหน่วยนโยบายและประสานงานอย่างแท้จริง เนื่องจากประเทศไทยมีหน่วยงานที่จัดการเรื่องการศึกษาถึง 9 กระทรวง สกศ. จึงเป็นหน่วยที่สำคัญ แต่ที่ผ่านมาบทบาทตรงนี้ไม่ปรากฏชัดเจนนัก ซึ่ง ดร. รุ่ง ได้สรุปความผิดพลาดที่เกิดขึ้นว่าไปเน้นเรื่องการทำวิจัยมากเกินไป และยังเป็นงานวิจัยที่ไม่ได้นำมาใช้ในการกำหนดนโยบาย ด้วยเหตุนี้การกลับมาครั้งนี้จึงต้องมีการปรับทิศทางทำงานใหม่ โดยงดการวิจัยประเภทที่ใช้เวลานานเป็นปี หันมาทำแต่งานวิจัยที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นนโยบายซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน ถ้าเป็นโปรเจกต์ยาวจะจ้างที่อื่นทำ

"เราเริ่มต้นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่นี่คือ เอาระบบปฏิรูประบบราชการ หรือรีเอ็นจิเนียริ่งระบบราชการเข้ามาใช้ ตอนนี้เราพูดได้ว่าเราทำงานตามบทบาทหน้าที่ของสำนักงาน จากเดิมช่วงหนึ่งเราเอาคนเป็นตัวตั้ง ทำเสร็จแล้วก็เก็บเข้าหิ้ง ใครจะอ่านหรือไม่ไม่รู้ แต่ได้ประโยชน์ที่ตัวเองคือเอาไปปรับเลื่อนซี"

นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงงานสวัสดิการให้เร็วขึ้น ตามด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงาน "ผมมาก็ตกใจเพราะอย่างเครื่องแฟกซ์ทั้งสำนักงานมีอยู่ 2 เครื่อง ใครจะแฟกซ์ทีต้องยืนเข้าแถวยาว ตอนนี้เราให้มีทุกจุด อย่างโทรศัพท์ที่อื่นเขามีระบบชุมสายกันหมดแล้วแต่ที่นี่ไม่มีเราก็มาปรับให้สะดวกขึ้น" รวมถึงการปรับสิ่งแวดล้อม และบรรยากาศในการทำงาน เพื่อลดปัญหาความรู้สึก "เซ็ง" ที่เกิดขึ้นกับคนทำงาน โดยมีการปรับอาคารเดิมที่ค่อนข้างทรุดโทรมให้มีความสวยงามขึ้นด้วยการนำต้นไม้มาปลูก นำเครื่องปรับอากาศมาติดตั้ง รวมทั้งเสริมด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันจึงมีใช้เฉลี่ย 2 คนต่อหนึ่งเครื่อง มีการนำระบบอินเตอร์เน็ตและอินทราเน็ตมาใช้

"เหมือนกับว่าเราเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ ตอนนี้เรามีรถอยู่ 5 รุ่น ซึ่งช่วงหนึ่งการตลาดมีปัญหา ฉะนั้นสิ่งที่เราทำตอนนี้คือปรับคุณภาพรถให้เยี่ยมและดีที่สุด เพราะในวิสัยทัศน์เราต้องการเป็นหน่วยงานที่ดีที่สุด" ดร. รุ่งอุปมาอุปไมยงานที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้

งานที่ทำมากในช่วงนี้คือการนำแผนไปสู่การปฏิบัติและการประเมินผลถือว่าเป็นงานหลัก และอีกงานที่ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ คือ งานประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ผลงานที่ทำออกมาได้รับการเผยแพร่อย่างทั่วถึง "เราเน้นด้านการตลาดเต็มรูปแบบเพราะถ้าตัวสินค้าดีแต่การตลาดไม่ดีก็เหนื่อยเปล่า" โดย ดร. รุ่งได้ยกตัวอย่างให้ฟังว่า งานพิมพ์ที่ออกมาในระยะหลังมีคุณภาพดีขึ้นจากเดิมที่พิมพ์แบบนักวิชาการ เน้นเล่มใหญ่ ตารางสถิติมาก ๆ เปลี่ยนมาเป็นแนวใหม่ที่มีสีสันสวยงามขึ้นและงานพิมพ์ที่ชัดเจนขึ้น

ด้วยความเป็นคนมีความสามารถทำให้ก้าวย่างในชีวิตราชการของ ดร. รุ่ง ก้าวไปอย่างรวดเร็ว ในวัย 52 ปี เขาขึ้นไปถึงระดับเลขาธิการ สกศ. และไฟในการทำงานยังลุกโชนอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย

"ช่วงหลังข้าราชการลาออกไปเยอะ และแม้เราจะมองว่าระบบราชการล้มเหลว มีปัญหาร้อยแปด แต่ประเทศก็ยังต้องการระบบราชการที่เข้มแข็งอยู่ อย่างน้อยในการวางระเบียบหรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ"

นอกจากงานในความรับผิดชอบแล้ว ดร. รุ่งยังได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่ผ่านมาเกือบ 3 ทศวรรษตลอดจนทัศนคติความคิดเห็นส่วนตัวในแวดวงราชการออกมาในรูปของงานเขียนอีกด้วย "ผมเขียนหนังสือมาสองเล่ม คือ รีเอ็นจิเนียริ่งระบบราชการไทย ในแง่การยอมรับไปได้ดีมาก เป็นหนังสือขายดีเล่มหนึ่งของเมืองไทย แต่พอคนอ่านจบก็บอกว่ามันยากที่จะเริ่มต้นทำ๐

แต่ในทัศนะของ ดร. รุ่ง "การรีเอ็นจิเนียริ่งทำได้ไม่ยาก ประสบความสำเร็จได้" เพราะสิ่งที่ท่านได้ทำมาตลอดไม่ว่าไปอยู่หน่วยงานใดถือเป็นการเริ่มต้นปฏิรูปหรือรีเอ็นจิเนียริ่งแล้ว และบางอย่างก็ประสบความสำเร็จงดงามไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้กับข้าราชการ

นอกจากนี้ ดร. รุ่งยังเห็นว่ากระบวนการรีเอ็นจิเนียริ่งระหว่างการทำงานของภาครัฐกับเอกชนมีผลงานที่สามารถนำมาประเมินได้เหมือนกัน ไม่แตกต่างกันอย่างที่เคยกล่าวกันไว้

"ผมเคยส่งคนไปดูงานที่สิงคโปร์ เขากลับมาแล้วบอกว่าที่สิงคโปร์ทำได้ เพราะเขาเป็นประเทศที่เล็ก ผมจึงเริ่มใหม่ให้ไปดูงานที่วหรัฐอเมริกาเขากลับมาก็บอกอีกว่าเพราะเป็นประเทศใหญ่ คือเขาเลี่ยงหมดทุกอย่าง"

ดร. รุ่งใช้เวลาไม่นานนัก ในการปรับปรุงระบบการทำงานที่ กศน. จากหน้ามือเป็นหลังมือ ทั้งที่ก่อนหน้ายี้มีเสียงท้วงติงอยู่บ้างว่า กศน. เป็นหน่วยงานปฏิบัติการคงทำไม่ได้ เช่นเดียวกับ สกศ. ที่เจอเสียงวิพากษ์วิจารณ์แต่ก็สามารถทำได้สำเร็จ "กระทั่งหน่วยนโยบายและแผนงานวิจัยเดิมที่เราเคยทำ 3 ปี ตอนนี้ลดเหลือ 6 เดือนได้ โปรเจ็กต์ต่าง ๆ ก็ทำขนาดนี้เหมือนกันหมด เทคโนโลยีเมื่อก่อนไม่ค่อยมีใครสนใจ ตอนนี้เราเอาเข้ามาใช้ในการทำงาน" ดร. รุ่ง กล่าวด้วยน้ำเสียงเปี่ยมด้วยความเชื่อมั่น

หากนับอายุราชการของ ดร. รุ่งแล้ว ย่อมต้องผ่านรัฐมนตรีเจ้าสังกัดมาหลายยุคหลายสมัย แต่ที่ประทับใจสุด ๆ เห็นจะเป็น ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต อดีตนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย เมื่อครั้งเป็น รมว. กระทรวงศึกษาฯ และอดีต รมว. สัมพันธ์ ทองสมัคร เพราะมีแนวทางในการพัฒนาการศึกษาที่เอื้อซึ่งกันและกัน

"ผมประทับใจมากที่สุดมี 3 ท่าน คนที่หนึ่ง ทำงานใกล้ชิดมาก คือ ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต ในฐานะที่ท่านเป็นนักวิชาการ ในตอนนั้นท่านมีความพยายามทำอะไรต่ออะไรค่อนข้างมาก คนที่สอง คือท่านนายกฯ ชวน จุดเด่นของท่านคือ ท่านสนใจเรื่องที่เกี่ยวกับชนบท เพราะฉะนั้นโครงการที่ออกมาในยุคนั้นเป็นโครงการที่แก้ปัญหาของชนบทและคนที่ด้อยโอกาส ท่านต่อสู้เพื่อคนส่วนใหญ่และปูพื้นฐานการศึกษาค่อนข้างมาก นโยบายใหญ่ ๆ ของท่านมักจะประสบความสำเร็จเกือบทั้งหมด อย่างเช่นเรื่องการขยายโอกาสทางการศึกษาก็เริ่มในสมัยของท่าน อีกท่านหนึ่งที่ผมทำงานแล้วประทับใจคือ ท่าน รมต. สัมพันธ์ ทองสมัคร เพราะท่านพยายามสนับสนุนการทำงานค่อนข้างมาก"

ท่ามกลางภารกิจที่ล้นมือ ดร. รุ่ง ยังสามารถปลีกเวลาให้แก่แวดวงการศึกษา ด้วยการรับสอนวิชาการบริหารการศึกษาในระดับปริญญาเอกของจุฬาลงกร์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตที่แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนคือ งานราชการ งานเขียนและสินหนังสือ และงานอดิเรก

โดยงานอดิเรกนั้น ท่านชอบเลี้ยงปลาคราฟต์ และเล่นกอล์ฟ แต่เนื่องจากงานราชการรัดตัวมากขึ้นจึงเหลือเพียงกีฬากอล์ฟอย่างเดียวจากเดิมที่เคยสนใจเรื่องปลาคราฟต์จนถึงขั้นผสมพีนธุ์ปลาได้

เสี้ยวเวลาที่เหลือจากงานหลักทั้งสาม จะหมดไปกับการดูแลบ้านเนื้อที่ 60 ตารางวาที่นนทบุรี ตลอดจนถึงการชมภาพยนตร์ทางโทรทัศน์

"สมัยอยู่ กศน. ต้องดูแลงานหลายเรื่อง เพราะนั้นที่บ้านนอกจากรับทีวีปกติแล้วก็ต้องรับเคเบิลทั้งไอบีซีและไทยสกายเพื่อรับข่าวสาร เวลาว่างจึงมานั่งไล่ดูหนังที่เราอยากจะดู"

การสนทนาที่ล่วงเลยเกือบ 3 ชั่วโมงก็ต้องปิดฉากลงเพราะถึงเวลาที่ท่านจะต้องเดินทางไปประชุมรัฐสภาเพื่อร่างกฎหมาย แม้วัยจะล่วงเลยเข้าสู่ปีที่ 53 วี่แววแห่งความอ่อนล้าในดวงตาและจิตใจยังไม่ปรากฏ จะมีก็เพียงแต่ความมุ่งมั่นที่จะทำงานการศึกษาของชาติอย่างไม่รู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us