|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ" ฟันธง เศรษฐกิจไทยปี 49 ขยายตัวอย่างน้อย 5% เหตุไม่มีปัจจัยลบ โดยมีตัวแปรสำคัญอยู่ที่สถานการณ์ทางการเมือง พร้อมยอมรับอัตราเงินเฟ้อและขาดดุลบัญชีเดินสะพัดยังเป็นจุดอ่อน เผยเตรียมขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สูงกว่าเงินเฟ้อ มั่นใจทำได้แน่ภายในปีหน้า ช่วยจูงใจคนหันมาออม
วานนี้(15 ธ.ค.48) ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2549ในการสัมมนาเรื่อง "ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2549 : จับกระแสตลาดเงิน ตลาดทุน และพลังงาน" ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยจัดขึ้นที่ห้องประชุมธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนักธุรกิจ และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมรับฟังกว่า 500 คน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กล่าวว่า ในช่วงตั้งแต่ต้นปี 2548 แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีการขยายตัวไม่ดีเท่าที่ควรเนื่องจากได้รับผลกระทบ หลายด้าน ทั้งจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ภัยแล้ง และการส่งออกที่ชะลอตัว รวมทั้งผลกระทบจากสึนามิ และความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ในช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐกิจเริ่มมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดีขึ้นตามลำดับ และเชื่อว่าในไตรมาสที่ 4 น่าจะมีการขยายตัวเกินกว่าร้อยละ 5 อย่างแน่นอน
ส่วนในปี 2549 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทย น่าจะมีการขยายตัวอย่างน้อยร้อยละ 5 เนื่องจาก ปัจจัยต่างๆ ที่เคยส่งผลลบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน ภัยแล้งหรือการส่งออก เริ่มกลับมาอยู่ในสถานการณ์ที่ดีแล้ว ดังนั้น หากปัจจัยทางด้านการเมืองซึ่งเป็น ปัจจัยที่ไม่สามารถคาดเดาได้อยู่ในสถานการณ์ที่ดี ก็น่าจะส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ไทยในปี 2549 อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยยังมีจุดอ่อนอยู่อีก 2 เรื่อง คือ อัตราเงินเฟ้อ และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด โดยในส่วนของเงินเฟ้อ นั้น ตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้ไปจนถึงช่วงครึ่งปี 2549 จะอยู่ในที่ประมาณร้อยละ 6 ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการตรึงราคาน้ำมันเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในช่วงประมาณกลางปี 49 อัตราเงินเฟ้อจะเริ่มลดระดับลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 ซึ่งขณะเดียวกันนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะทำการขึ้นอัตราดอกเบี้ยควบคู่กันไปด้วย จนกว่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ และทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก อันจะเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนมีการออมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้มั่นใจว่าจะสามารถทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวกได้อย่างแน่นอนภายใน ปีหน้า
"เวลานี้จำเป็นที่จะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย จนกว่าจะไล่ทันอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งในปีหน้ามั่นใจว่าจะสามารถไล่ทันแน่ แต่ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นเมื่อใดของปีหน้า ซึ่งจะทำให้ผู้ฝากเงินได้รับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่มากกว่าอัตราเงินเฟ้อเสียที เพื่อจูงใจให้มีการออมในประเทศมากขึ้น" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว
ขณะที่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด คาดว่า ประเทศไทยจะยังคงขาดดุลไปอีกประมาณ 2-3 ปี โดยปีนี้คาดว่าจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถึงประมาณ 3,500-4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น แต่ในที่สุดแล้วปัญหานี้จะหมดสิ้นไป เพราะปัจจุบันเริ่มมีการขุดเจาะน้ำมันเพิ่มขึ้นแล้ว และ มีการคิดค้นพลังงานทดแทนขึ้นมาใช้ แม้ว่าจะต้องประสบกับภาวะการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงนี้ แต่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจประเทศไทยจะยังเจริญเติบโตได้ เพราะมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงถึง 4.9 หมื่นล้านดอลลาร์ สหรัฐ รวมทั้งเริ่มมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามามากขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยที่ขยับสูงขึ้น โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2548 พบว่ามีเงินทุน ที่ไหลเข้ามาลงทุนในบริษัทต่างๆ ในประเทศไทยโดยตรงประมาณ 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากที่ปีก่อนหน้าทั้งปีมีเพียง 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งด้วยปัจจัยเหล่านี้จะไม่ทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบมากนัก
|
|
|
|
|