แปลน พับลิชชิ่ง ก้าวสู่ปีที่ 15 พร้อมด้วยแผนขยายตัวอย่างมาก โดยไม่ทิ้งแนวทางเดิมในเรื่องของเด็กและครอบครัว
นับเป็นโชคดีที่งานและชีวิตของคุณแม่ลูก 2 เฉกเช่น สุภาวดี หาญเมธีประสานกันได้ดี
ถึงวันนี้แม้ว่าแปลนจะประสบความสำเร็จอย่างสูงในหลาย ๆ สื่อ แต่หัวเรือใหญ่อย่างเธอยังคงมีไฟที่จะทำสิ่งต่าง
ๆ อีกมากมาย
บนทางเลือกอันหลากหลาย ชะตาชีวิตกับการตัดสินใจนับเป็นส่วนผสมที่สำคัญในการที่ทำให้ใครสักคนย่างก้าวไปบนเส้นทางที่แตกต่างจากคนอื่น
ๆ และไม่ว่าจะเป็นก้าวย่างที่ถูกต้องหรือผิดพลาด บทเรียนต่างหากที่เป็นตัวตัดสินความคุ้มค่าของช่วงชีวิตนั้น
สุภาวดี หาญเมธี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แปลน พับลิชชิ่ง จำกัด หนึ่งในหลาย
ๆ คนที่ตัดสินใจเข้าป่าหลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เนื่องจากเธอได้เข้าร่วมเดินขบวน
และทำกิจกรรมอยู่ในองค์กรนักศึกษา สมัยยังเป็นนิสิตอยู่ในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สามปีครึ่งแห่งความไม่สะดวกสบาย สุภาวดีไม่ได้คิดว่านั่นคือบาดแผล หรือความบอบช้ำที่ได้รับจากสังคมในช่วงนั้น
แต่นั่นคือโอกาสหนึ่งที่หล่อหลอมเธอให้มีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น รู้จักคิดมากขึ้น
"การเข้าป่าไปมันก็ดี หนึ่งเราได้ฝึกฝนชีวิตที่เรียบง่ายที่สุด สองได้เห็นแบบอย่างของการทำงานที่เสียสละตัวเองแต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดจะเป็นอย่างนั้น
คนไม่ดีก็มี และสามเราได้ฝึกการคิด ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเรื่องที่เราคิดเป็นเรื่องใหญ่
เป็นเรื่องของสังคม" เธอขยายความ
วิถีที่เปลี่ยนแปลงไปจากชีวิตนักศึกษา นักกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัย จนจบออกมาเป็นครูได้เพียง
3 เดือนเศษเท่านั้น การเข้าป่าทำให้เธอแข็งแกร่งขึ้น ทั้งยังเป็นจังหวะดี
ๆ ที่ทำให้เธอได้พบกับผู้คนมากมาย และได้รู้จักตัวเอง
จุดเริ่มต้นของแปลนพับลิชชิ่ง
สุภาวดีมีความสนใจในการทำหนังสือมาตั้งแต่สมัยเป็นนิสิต "พี่จบพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
แต่จริง ๆ อยากเรียนนิเทศ สมัยนั้นไม่มีนิเทศ แต่อยากเป็นนักข่าว เพราะเป็นคนชอบภาษา"
เธอเท้าความ
ความเป็นคนรักการอ่าน การเขียน และเคยทำหนังสือมาเมื่อครั้งยังเป็นนิสิต
นับเป็นแรงผลักดันอย่างหนึ่งที่ทำให้เธอก้าวเข้ามาในเส้นทางสายนี้
หลังออกจากป่าในช่วงต้นปี 2523 สุภาวดีเริ่มต้นชีวิตนักเขียนหนังสือด้วยการเข้าร่วมงานกับนิตยสารลูกรัก
ซึ่งเป็นของประยูร อัครบวร เพื่อนนักกิจกรรมคนหนึ่ง เธอทำงานนี้อยู่ประมาณครึ่งปี
ทำให้ได้เรียนรู้กระบวนการทำหนังสือจากที่นี่
แต่ด้วยการชักชวนของรุ่นพี่คนหนึ่ง ประกอบกับความสนใจในเรื่องวังคม เรื่องพัฒนาการของคน
ทำให้เธอย้ายมาทำงานในมูลนิธิเด็ก ที่นี่เองนับเป็นแหล่งความรู้สำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องของสุขภาพเด็กตั้งแต่แรกเกิด
พัฒนาการของเด็ก การสื่อสาร การให้การศึกษา แนวคิดของเด็ก รวมถึงทิศทางการอบรมเลี้ยงดูเด็ก
เนื่องจากช่วงปีแรกในมูลนิธิเด็กนั้น สุภาวดีคลุกคลีอยู่กับบ้านทานตะวัน
ซึ่งเป็นบ้านพักฟื้นของเด็กขาดอาหาร พอปีที่สองเธอเริ่มรับผิดชอบในส่วนอื่น
ๆ ด้วย เช่น เรื่องของมูลนิธิโดยรวม
เธอยกตัวอย่างให้ฟังว่า "ที่หมู่บ้านเด็ก เราได้เรียนรู้เรื่องการศึกษาของเด็ก
แนวคิดที่ควรจะเป็น และทิศทางการอบรมเลี้ยงดู ส่วนที่บ้านทานตะวันเราได้เรียนรู้เรื่องสุขภาพของเด็กนับแต่แรกเกิด"
มูลนิธิเด็กมีส่วนทำให้สุภาวดีเข้าใจเรื่องพื้นฐานของเด็กในภาคปฏิบัติ
ซึ่งกลายเป็นความสนใจที่ต่อเนื่อง ครั้นเมื่อรุ่นพี่ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มแปลนมาชวนให้ทำหนังสือ
"รักลูก" เธอจึงตอบตกลง
"ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่า เราก็มีฐาน มีหมอ มีนักการศึกษา มีอาจารย์ในครุศาสตร์ที่เราติดต่อได้
ตอนอยู่มูลนิธิเด็กเราต้องติดต่อกับหมอเยอะ ตรงนี้เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้น"
แปลนพับลิชชิ่ง ก่อตั้งขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2525 ตามความตั้งใจของผู้ถือหุ้นใหญ่ในกลุ่มแปลนคนหนึ่ง
สุภาวดีเล่าว่าสมัยยังเป็นนิสิต รุ่นพี่ 7 คนที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มแปลนก็เป็นนักกิจกรรมเช่นเดียวกัน
แต่ไม่ได้สนิทกันนัก ช่วงที่เธอเข้าป่า รุ่นพี่เหล่านี้ก็ทำธุรกิจด้านสถาปนิก
ซึ่งประสบความสำเร็จสูงมากภายในเวลาเพียง 3-4 ปี
"พอเขาประสบความสำเร็จตรงนั้น เขาก็อยากจะทำอะไรที่เป็นเรื่องทางใจของเขาบ้าง
ก็มีพี่คนหนึ่งไปทำแปลน ทอยส์ เพราะเขาชอบของเล่น อีกคนก็อยากทำงานกราฟิกดีไซน์
และอีกคนหนึ่งอยากทำหนังสือ เขาก็นึกถึงพี่ เพราะสมัยที่เรียนอยู่จุฬาฯ เราก็ทำหนังสือ"
บนเส้นทาง 15 ปี
แปลนพับลิชชิ่งเริ่มต้นที่นิตยสารรายเดือน "รักลูก" ซึ่งออกวางจำหน่ายครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์
2526 โดยกลุ่มผู้อ่านเป้าหมายคือคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังจะมีลูก จนถึงมีลูกอายุไม่เกิน
6 ขวบ หนังสือรักลูกเติบโตและติดตลาดในเวลาอันรวดเร็วทั้งยั่งเป็นผู้นำตลาดมาจนถึงปัจจุบัน
อีก 1 ปีถัดมา แปลนได้เห็นช่องทางขยายตลาดไปยังหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คประเภทคู่มือ
เช่น คู่มือเลี้ยงลูก คู่มือดูแลสุขภาพเด็ก คู่มือตั้งครรภ์เตรียมคลอด ฯลฯ
ซึ่งก็ประสบความสำเร็จด้วยดี
แปลนค่อย ๆ รุกไปในสื่อต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งโทรทัศน์และวิทยุโดยแนวเนื้อหาที่นำเสนอยังคงเน้นเรื่องเกี่ยวกับเด็กและสุขภาพเป็นหลัก
รายการโทรทัศน์ "ดวงใจพ่อแม่" ซึ่งออกอากาศทางช่อง 5 ครั้งแรกในเดือนเมษายน
2532 เพียงช่วงเวลา 2 ปี รายการนี้ก็ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำประเภทรายการส่งเสริมสถาบันครอบครัวดีเด่นปี
2534 และปี 2535 นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลเมขลา ประเภทรายการส่งเสริมสังคมไทยดีเด่นปี
2535 อีกด้วย
หลังจากนั้นแปลนก็เข้าสู่วงการวิทยุ โดยเน้นแนวคิดที่ถนัดอยู่แล้ว คือเรื่องของแม่
เด็ก และครอบครัว รายการวิทยุเริ่มออกอากาศครั้งแรกในปี 2533 ทางคลื่น FM
106.5 ออกอากาศวันละ 6.5 ชั่วโมง ทุกวันตั้งแต่เวลา 05.00 - 12.00 น. แต่ปัจจุบันรายการดังกล่าวได้งดออกอากาศไป
เนื่องจากแปลนได้เช่าช่วงเวลาต่อจากบริษัทวิไล เซ็นเตอร์ ผู้รับสัมปทาน เมื่อมีการเปลี่ยนสัมปทานมาให้บริษัทแกรมมี่
เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ก็ย่อมกระทบต่อแปลนไปด้วย
นอกจากรายการโทรทัศน์ดวงใจพ่อแม่ แปลนได้จัดทำรายการเพื่อการศึกษาสำหรับเด็กออกมาอีกรายการหนึ่ง
ใช้ชื่อว่า "บ้านน้อยซอยเก้า" โดยออกอากาศครั้งแรกในปี 2537 ทางไทยทีวีสีช่อง
5 รายการดังกล่าวสร้างชื่อเสียงให้กลุ่มแปลนอีกครั้งหนึ่งเมื่อได้รับรางวัลชนะเลิศ
ประเภทเยาวชนอายุ 6-12 ปี จากการประกวดรายการวิทยุโทรทัศน์สำหรับเด็กและเยาวชนครั้งที่
1 ของช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์
สุภาวดีให้ความเห็นเกี่ยวกับสื่อโทรทัศน์ และวิทยุว่า "รายการโทรทัศน์จะกระจายไปในกลุ่มเป้าหมายหลาย
ๆ กลุ่ม ซึ่งก็ตอบสนองได้ดีพอสมควร เราเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2532 ทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่
และก็ทำรายการวิทยุตั้งแต่ปี 2532 ทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่ และก็ทำรายการวิทยุตั้งแต่ปี
2533 แต่เพิ่งปิดไปเมื่อเดือนที่แล้ว ก็ทำมาเรื่อย ๆ เพราะเป็นสื่อที่คนไม่ต้องเสียเงินซื้อและสามารถแก้ปัญหาได้รวดเร็วที่สุด"
หลังจากไปลุยสื่ออื่น ๆ และพ็อกเก็ตบุ๊คอยู่หลายปี แปลน พับบลิชชิ่งก็ย้อนกลับมาบุกตลาดนิตยสารเพิ่มขึ้น
ด้วยการออกนิตยสาร "ดวงใจพ่อแม่" เมื่อปลายปี 2538 สุภาวดีให้เหตุผลว่า
"อย่างนิตยสารรักลูก พอทำไปก็จะพัฒนาไปในเรื่องของพ่อแม่ที่สนใจเสาะแสวงหาความรู้
ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชนชั้นกลาง เราอยากจะลองลงไปในระดับล่างด้วย ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราคิดว่ามันขาดไป
จึงได้มาคิดทำนิตยสารดวงใจพ่อแม่ คือพยายามจะให้มันลงไปอีกนิดหนึ่ง"
นิตยสารดวงใจพ่อแม่ได้รับการตอบรับด้วยดีเช่นเคย แม้เนื้อหาจะยังคงเน้นเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ
6 ขวบ เช่นเดียวกับนิตยสารรักลูก แต่ด้วยแนวคิดที่เปลี่ยนแปลงไปและประสบการณ์ที่มากขึ้น
ทีมงานแปลนเริ่มเล็งเห็นว่ามิใช่เพียงแต่เด็กเล็ก ๆ เท่านั้นที่มีปัญหา เด็กโตก็มีปัญหา
แปลนจึงได้ออกนิตยสารฉบับใหม่ "Life & Family" ขึ้นมา เพื่อตอบสนองกลุ่มพ่อแม่ที่มีลูกวัย
7-15 ปี
เนื้อหาของ Life & Family จะเน้นถึงความเข้าใจธรรมชาติและพฤติกรรมของเด็กโตจนถึงวัยรุ่น
รวมทั้งความรู้เรื่องสุขภาพของแม่ ความเข้าใจต่อความสัมพันธ์ของชีวิตคู่
และการปรับตัวเมื่อลูกโตขึ้น ทั้งนี้ฐานการตลาดส่วนหนึ่งจะมาจากกลุ่มเดิมที่เคยอ่านรักลูกและดวงใจพ่อแม่
ก็สามารถเปลี่ยนมาอ่าน Life & Family ได้เมื่อลูกโตขึ้น
ผ่านร้อนผ่านหนาวมาจนถึงวันนี้ แปลนได้ก้าวขึ้นปีที่ 15 สุภาวดีมองว่า
ปีนี้ธุรกิจสิ่งพิมพ์จะต้องปรับตัวกันอย่างมาก เพื่อรองรับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นตามภาวะการค้าเสรี
ในส่วนของแปลนพับลิชชิ่งเองก็มีแผนงานที่จะขยายธุรกิจหนังสือออกไปในหลายรูปแบบ
เพื่อให้ครบวงจรมากขึ้น เริ่มด้วยการเปิดตัวบริษัทใหม่ "แปลน บุ๊ค เน็ท"
เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตจำหน่ายหนังสือของบริษัท
บริษัทใหม่นี้จะทำธุรกิจ 3 อย่าง คือ 1. เปิดตัวสำนักพิมพ์ใหม่ โดยพิมพ์หนังสือพ็อคเก็ตบุ๊ค
วรรณกรรม เรื่องสั้น และหนังสือเกี่ยวกับเด็ก 2. การจัดจำหน่ายหนังสือที่บริษัทจัดพิมพ์ขึ้นทั้งหมด
ยกเว้นนิตยสาร 3 ฉบับในเครือยังคงให้บริษัทเพ็ญบุญ เป็นผู้จัดจำหน่ายต่อไป
3. การเปิดร้านค้าปลีกหนังสือด้วยทุนจดทะเบียนเบื้องต้น 10 ล้านบาท โดยใช้ชื่อว่าร้านหนังสือ
"ใยแก้ว"
จุดขายสำคัญของร้านหนังสือใยแก้ว คือเน้นให้บริการกับลูกค้าอย่างใกล้ชิด
โดยเจ้าหน้าที่ประจำร้านจะสามารถให้คำปรึกาาเรื่องหนังสือกับลูกค้าได้ด้วย
สุภาวดีต้องการให้ร้านหนังสือแห่งนี้เป็นเพื่อนกับทุกคนที่เดินเข้ามา เธอมองว่านี่จะเป็นข้อแตกต่างที่สำคัญไปจากร้านหนังสืออื่น
ๆ
เธอตั้งเป้าว่าร้านใยแก้วจะเริ่มเปิดบริการได้ในไตรมาส 2 ปีนี้โดยช่วงแรกจะเปิด
4 สาขาก่อน แต่ละสาขาใช้เงินลงทุนประมาณ 3 ล้านบาท
นอกจากนี้แปลนพับลิชชิ่งมีแผนจะนำสิ่งพิมพ์ในเครือให้บริการทางอินเตอร์เน็ตด้วย
เพื่อเป็นการบริการกลุ่มผู้อ่านนิตยสารทั้ง 3 ฉบับ คือ รักลูก ดวงใจพ่อแม่
และ Life & Family
ส่วนรายการวิทยุที่ได้ระงับไปนั้น แปลนยังคงมีไฟที่จะทำอยู่ ขณะนี้รอเพียงโอกาสที่จะได้รับสัมปทานคลื่นวิทยุเป็นของตนเอง
หรือสามารถเช่าช่วงต่อได้ในราคาที่เหมาะสม
ระหว่างนี้แปลกก็มีโครงการ "ออดิโอ เท็กซ์" ซึ่งให้บริการปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ
ผ่านสายโทรศัพท์ โดยจะเริ่มได้ในเร็ว ๆ นี้
สุภาวดีกล่าวสรุปถึงจุดกำเนิดของสื่อทั้งหมดที่ทำมาว่า "สังคมมันเปลี่ยนจากครอบครัวรวมขยายมาเป็นครอบครัวเดี่ยว
สมัยก่อนจะมีปู่ย่าตายายช่วยแนะนำ สั่งสอน ดูแล พอแยกครอบครัวออกมา คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องครอบครัวศึกษา
เพศศึกษา เด็กศึกษา ฉะนั้นอย่างน้อยก็ต้องมีอะไรบางอย่างที่เป็นเครื่องช่วย
ซึ่งบทบาทของแปลนที่เข้ามาช่วยครอบครัวเดี่ยวก็คือให้เขาสามารถที่จะอย่างน้อยที่สุดรู้วิธีดูแลตัวเอง
พึ่งตัวเองได้ ไม่ว่าจะในมุมมองของการเลี้ยงลูก การสร้างครอบครัวที่ดี หรือการแก้ปัญหาอื่น
ๆ ที่แวดล้อมอยู่"
ชีวิตกับงานประสานเป็นหนึ่งเดียว
การทำงานเกี่ยวกับเด็ก ๆ ในมูลนิธิเด็ก รวมทั้งการก้าวเข้าสู่แปลนพับลิชชิ่งจนถึงทุกวันนี้
ชีวิตของสุภาวดีเกี่ยวข้องกับเด็ก ๆ มาโดยตลอด เธอโชคดีที่ได้มีประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมในเรื่องเหล่านี้
เพื่อนำมาปรับใช้กับชีวิตครอบครัวเรียกได้ว่าครบทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ
สุภาวดีเริ่มชีวิตครอบครัวกับเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ อดีตเลขาธิการศูนย์การนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
เป็นผู้นำนักศึกษาและเคยเข้าป่าเช่นเดียวกัน ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 2 คน คนโตเรียนอยู่ชั้น
ป. 6 ส่วนคนเล็กเรียนอยู่ชั้น ป.2
สุภาวดีเล่าถึงการเลี้ยงดูบุตรชายทั้ง 2 คนว่า "พี่ได้เปรียบที่อยู่ที่นี่
อย่างลูกของเจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่แปลนก็เลี้ยงกันในนี้ เพราะตอนเปิดแปลนพับลิชชิ่ง
ลูกเขาก็ 4 เดือนแล้ว นับเป็นรุ่นแรก ลูกพี่เป็นรุ่นที่ 2 ซึ่งก็ดีทำให้เด็กได้อยู่กับพ่อแม่อย่างใกล้ชิด"
ลูก ๆ ของทีมงานแปลนพับลิชชิ่งรุ่นแรก ๆ จะเลี้ยงดูกันภายในสำนักงาน เมื่อโตขึ้นก็เข้าอนุบาลลูกรัก
โรงเรียนอนุบาลในเครือของแปลน จนได้มีการย้ายที่ตั้งสำนักงานใหม่ ลูก ๆ ของทีมงานรุ่นใหม่จึงพลาดโอกาสดี
ๆ อย่างนี้ไป อย่างไรก็ดีการทำนิตยสารที่เกี่ยวพันกับเด็กโดยตรงเช่นนี้นับเป็นข้อได้เปรียบกว่าคุณแม่โดยทั่ว
ๆ ไปอยู่แล้ว
"เรามีโอกาสเยอะในเรื่องนี้ เราก็ต้องพยายามเลี้ยงลูกให้ดี ดูแลครอบครัวให้ดี
ซึ่งทำให้ชีวิตกับงานของเรามีความเกี่ยวพันกันมาก แม้ว่าจะไม่ทั้งหมด แต่ก็เป็นโอกาสที่ดี"
เธอกล่าวย้ำ
สุภาวดีมีแนวคิดว่า เธอเองไม่คาดหวังเท่าใดนักว่าลูก ๆ จะต้องทำในสิ่งที่เธอทำอยู่
จะมีก็เพียงคาดหวังว่าเมื่อโตขึ้นพวกเขาควรจะพึ่งตัวเองได้และรู้จักแบ่งปันคนอื่น
ให้กับธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ
เธอแทรกแนวคิดนี้เข้าไปในชื่อของลูกชายทั้ง 2 คน "ลูกคนโตมีชื่อเล่นว่า
ปัน ชื่อจริงก็คือปราณัตต์ ก็คือลมปราณ-อัตตา อันนี้ตั้งเองไม่รู้ถูกอักขระหรือเปล่า
แต่ก็คืออยากให้พึ่งลมหายใจของตัวเอง และรู้จักแบ่งปัน ส่วนคนเล็กชื่อจริงว่า
ปัญญ์ปรีดี ก็คือมีความสุขกับการได้ใช้ความคิด ชื่อแล่นก็คือแปง มาจากคำโบราณว่าสร้างบ้านแปงเมือง
ก็ฝากหลักคิดของพ่อแม่ไว้ที่ชื่อเขา อยากให้เขาพึ่งตนเอง คิดแล้วก็ทำ และรู้จักรักคนอื่น
รู้จักแบ่งปัน" สุภาวดีขยายความ
ทุกวันนี้งานที่เธอรับผิดชอบคืองานด้านบริหารจัดการในฐานะของกรรมการผู้จัดการบริษัทแปลนพับลิชชิ่ง
แม้จะไม่ใช่สิ่งที่คาดหวังมาแต่แรก แต่เธอก็ทำได้ดี
"ถ้าถามว่าชอบงานบริหารจัดการไหมมันก็ทำได้ ก็ถนัด แต่หัวใจก็ไม่ค่อยอยากเท่าไหร่
มันเบื่อ ชอบเขียนหนังสือมากกว่ามันมีความสุข"
แม้แปลนพับลิชชิ่งจะก้าวเข้ามาเป็นปีที่ 15 ประสบความสำเร็จทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
แต่สุภาวดีก็ยังมองว่าเธอยังไม่ถึงจุดที่เรียกว่าสำเร็จ เพราะยังมีอะไรต้องทำอีกมากมาย
เธอยังอยากทำกิจกรรมกับเด็ก อยากทำรายการโทรทัศน์ อยากทำเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิง
"มันมีเรื่องให้ทำอีกเยอะ แต่เวทีมีจำกัด ต้องมีแรง มีทุน มีคน และอยู่รอด
คนที่มาทำงานกับเราก็ต้องอยู่ได้ ไม่ใช่งานอาสาสมัคร และเราต้องสร้างฐานได้"
นั่นคือบทสรุปของผู้หญิงเก่งที่ชื่อสุภาวดี หาญเมธี และมั่นหมายถึงว่าเธอจะยังอยู่เคียงข้างกับแปลนพับลิชชิ่งไปอีกยาวนานเพื่อทำในสิ่งที่อยากทำอีกมากมาย