-เปิดแล้ว ! สยามพารากอน ห้างระดับยักษ์ที่ถูกมองเป็นชนวนระเบิดการแข่งขันธุรกิจค้าปลีกย่านสุขุมวิทให้ร้อนแรง
-วัดอุณหภูมิ 5 วันหลังเปิดตัว ผลกระทบของ new comer ส่งแรงสั่นสะเทือนไปยังเพื่อนร่วมธุรกิจมาก-น้อยแค่ไหน
-จับตาต่อไปในภายภาคหน้ารูปแบบการรบจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร เพื่อช่วงชิงผู้บริโภคที่มีไม่มากนัก
จนถึงวันนี้ (13 ธันวาคม) สยามพารากอนเปิดตัวไปแล้ว 5 วัน เมื่อเจอหน้าค่าตาส่วนใหญ่จะถามเป็นเสียงเดียวกันว่า "ไปเดินสยามพารากอนมาแล้วยัง?" เพราะหากจะทำชีวิตให้ติดเทรนด์ ต้องไปเดิน “สยามพารากอน”!
เมื่อใครๆต่างคิดเช่นนี้แล้ว ห้างอื่นที่อยู่ในอาณาบริเวณนี้จะได้รับผลกระทบอย่างไร ไม่น่าจะเป็นสิ่งเกินจริงสักเท่าไรในช่วงเวลานี้ และไม่ใช่ว่าเดินที่อื่นแล้วจะไม่อินเทรนด์ แต่ ณ เวลานี้ สยามพารากอน กำลังจะกลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ และใหญ่ที่สุดในเรื่องแฟชั่น แหล่งชอปปิ้งของเมืองไทย คำตอบอยู่ที่ความใหญ่ของพื้นที่ศูนย์การค้าแห่งนี้ที่มีพื้นที่ 500,000 ตารางเมตรของย่านปทุมวัน และกองทัพสินค้าแบรนด์เนม เกือบทุกประเภท ไล่เลียงตั้งแต่เสื้อผ้า เครื่องเพชร ตลอดจนรถยนต์ระดับซูเปอร์คาร์ ถูกยกเข้าไปวางในศูนย์การค้าแห่งนี้
มีการประเมินช่วงก่อนการเปิดตัวอย่างเป็นทางการวันที่ 9 ธันวาคม 2548 ที่ผ่านมาว่า ในวันเปิดตัวสยามพารากอน จะมีผู้คนจำนวนมหาศาลเข้าร่วมชมการเปิดตัว ที่เดินทางมาทั้งจากรถยนต์ของผู้เข้าร่วมงาน การเดินทางโดยรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือโดยรถสาธารณะ ซึ่งจะทำให้การจราจรบนถนนย่านนั้น รวมถึงย่านใกล้เคียง และน่าจะส่งผลกระทบกับการจราจรของกรุงเทพกว่าครึ่งติดขัดอย่างมาก
ประกอบกับสยามพารากอน ใช้งบประมาณกว่า 200 ล้านบาท เพื่อการเปิดตัวครั้งนี้ โดย 100 ล้านบาทเป็นการทำกิจกรรมในวันเปิดตัว ขณะที่การทำโฆษณาทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และสื่อกลางแจ้ง มีการใช้เงินถึง 90 ล้านบาท และ อีก 10 ล้านบาทถูกเฉือนไว้เพื่อทำประชาสัมพันธ์โครงการ
ทำให้คาดการณ์ว่าผู้คนที่ชื่นชอบการชอปปิ้ง หรือเดินเล่นในย่านศูนย์การค้ามากกว่า 50% ต้องเบนเข็มทิศเพื่อมาชมความยิ่งใหม่ และสดใหม่แห่งนี้ นั่นหมายถึง 9/12 จะเป็นวันแห่งที่ย่านปทุมวันวุ่นวายด้วยผู้คนที่สุด รวมถึงศูนย์การค้าย่านใกล้เคียงจะเข้าขั้นเงียบเหงา
ขณะที่สยามพารากอนเองประเมินว่า ศูนย์การค้าแห่งนี้จะต้องมีนักท่องเที่ยวและชอปปิ้ง เข้ามาใช้บริการไม่ต่ำกว่าวันละ 100,000 คน
สยามพารากอนร้อน...แต่ไม่แรง
เมื่อเข้าสู่วันที่ 9 ธันวาคม 2548 วันเปิดตัวศูนย์การค้าระดับไฮเอนด์อย่างเป็นทางการ ตลอดทั้งวันมีผู้คนจากหลายๆ แหล่งเดินทางเพื่อชมศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ผิดกับที่หลายๆ คนคาดการณ์ไว้ก่อนหน้าคือเรื่องการจราจรกลับค่อนข้างลื่นไหล ถนนบริเวณใกล้เคียงก็ไม่ถึงกับติดขัดมากนักทั้งพระราม 1, พระราม4, สุขุมวิท, เพชรบุรี ไปจนถึงย่านอนุสาวรีย์ชัย
เป็นอันว่าสิ่งที่คาดการณ์อันดับแรกที่ว่า รถจะต้องติดทั่วเมือง เพื่อให้ผู้คนได้พูดถึงกันเป็น Talk of the Town พลาด ซึ่งน่าจะเป็นเพราะศูนย์การค้าฯ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร มีการประสานงานและวางแผนการจราจรไว้เป็นอย่างดี หรือไม่ก็ผู้คนที่เข้าชมส่วนใหญ่เลือกที่จะเดินทางโดยรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สะดวกกว่า เพราะผู้คนที่เดินทางเข้าและออกสถานีรถไฟฟ้าสยามหนาตา บางคนต้องรอรถเพื่อเดินทางถึง 2 ขบวน เนื่องจากผู้โดยสารเต็มคัน
เกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ ผู้บริหารสายการตลาด บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด กล่าวในวันเปิดตัวว่า หลังจากการเปิดตัวและการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ คาดว่าลูกค้าทั้งคนไทยและต่างประเทศจะมีการรับรู้มากขึ้น การเปิดตัวของสยามพารากอนนี้ถือเป็นไฮไลท์ของโลกก็ว่าได้ ซึ่งในระยะแรกโครงการจะเปิดบริการได้ 60% ขณะที่โซนพารากอน ดีพาร์ทเมนต์สโตร์เปิดบริการได้100%
ด้านคู่แข่งในธุรกิจค้าปลีกย่านสุขุมวิท ซึ่งอยู่บนถนนที่ต่อเนื่องจากย่านปทุมวัน ต่างออกมาให้ทัศนะว่าห้างแต่ละแห่งต่างมีเอกลักษณ์และมีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะตัวจึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีการแย่งชิงลูกค้าได้มากมายนัก ประกอบกับการเปิดตัวใหม่ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะเข้าไปเดินดูในระยะแรก อีกทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคก็มิได้เดินเพียงห้างเดียวแต่จะเดินสลับกันไปเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ
แต่ท้ายสุดแล้วก็จะมีไม่กี่ห้างที่ลูกค้ามีความถี่ในการซื้อมากกว่าห้างอื่น ส่วนใครจะเป็นห้างโปรดในใจของลูกค้าได้ก็ต้องหากลยุทธ์ที่จะดึงดูดให้ลูกค้ามีความจงรักภักดีต่อห้างนั้นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามกันต่อไปว่าหลังจากนี้ไปอีกสัก 1 เดือนจะเป็นอย่างไร ทั้งในส่วนของตัวสยามพารากอนเองและบรรดาคู่แข่งที่รายล้อมอยู่ไม่ไกลไม่ว่าจะเป็นเซ็นทรัลเวิลด์ที่คาดว่าจะมีความสมบูรณ์มากขึ้นในปีหน้า
อย่างไรก็ดี จากการสอบถามไปยังศูนย์การค้าใกล้เคียงส่วนใหญ่ ระบุว่า การเปิดตัวสยามพารากอนในวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา ไม่ได้มีผลต่อจำนวนผู้ใช้บริการมากนัก หากพิจารณาดัชนียอดขายร้านแมคโดนัลด์ที่มีสาขาทั้งเวิลด์เทรด, อัมรินทร์ พลาซ่า และอื่นๆ พนักงานขาย ณ สาขาเซ็นทรัลเวิลด์บอกว่า จำนวนผู้ใช้บริการลดเล็กเพียงเล็กน้อย ซึ่งน่าจะเป็นเพราะช่วงเวลาดังกล่าวพื้นที่ด้านหน้าของเซ็นทรัลเวิลด์ถูกจัดเป็นลานเบียร์ ทำให้ยังมีผู้คนที่ต้องการหลบเลี่ยงการเดินทางสู่ย่านปทุมวันหันมาเที่ยวย่านราชประสงค์ที่อยู่ติดกันมากกว่า
Shopping Street ไม่สะเทือน
นอกจากนี้เซ็นทรัล ชิดลมก็มีการปรับปรุงพื้นที่ภายในครั้งใหญ่ไปแล้ว โดยทุ่มงบกว่า 700 ล้านบาทในการปรับโฉมให้ให้มีความทันสมัย พร้อมกับการนำสินค้าแบรนด์ใหม่ๆเข้ามาจำหน่ายมากขึ้นโดยเฉพาะในส่วนของแฟชั่น เครื่องสำอาง นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาบริการเพื่อสร้างความพอใจให้กับลูกค้า เช่น Butler Service มีพนักงานช่วยถือของให้ลูกค้า Personal Shopper ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเครื่องแต่งกาย มีห้อง Platinum Lounge ให้สมาชิกบัตรเซ็นทรัลมาสเตอร์การ์ดได้พักผ่อน บริการรถลีมูซีนไปตามสถานที่ต่างๆ เมื่อลูกค้าต้องการ และส่งสินค้าถึงที่หากซื้อครบ 5,000 บาท ซึ่งเซ็นทรัลเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า ในขณะที่สยามพารากอนก็มีพนักงานที่จะพาลูกค้าไปซื้อสินค้าตามจุดต่างๆที่ลูกค้าสนใจ โดยพนักงานส่วนหนึ่งสามารถสื่อสารได้ 3 ภาษาเพื่อรองรับลูกค้าต่างชาติ
ในส่วนของท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ตที่อยู่ชั้น G สาขาชิดลมก็มีการทุ่มงบกว่า 145 ล้านบาทปรับโฉมไปสู่การเป็น ฟู้ด ฮอลล์ "ศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศด้านอาหารและไวน์ ; The Greatest Show In Food & Wine" เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า นอกจากนี้หลังการปรับโฉมเสร็จแล้วเซ็นทรัลชิดลมยังมีการหว่านงบกว่า 200 ล้านบาทเพื่ออัดกิจกรรมในช่วงท้ายปีหลายรายการเพื่อดึงลูกค้าไม่ให้ไหลไปสู่สยามพารากอน เช่นงาน Central 2006 (11 พย.2548-31 มค.2549) ที่มอบคูปองส่วนลด 10-50% ให้กับลูกค้าเมื่อซื้อครบ 800 บาท งาน Central Sweet Lingerie (11 พย.2548-14 กพ.2549) ลด 20-50% ที่แผนกชุดนอน ชุดชั้นใน และชุดว่ายน้ำ งาน Sanrio Gift Guide (25 พย.2548-31 มค.2549) สินค้าคอลเล็คชั่นใหม่จาก Sanrio งาน Central Pen Fair (25 พย.2548-13 ธค.2549) รวมคอลเล็คชั่นพิเศษปากกาแบรนด์เนมพร้อมส่วนลดพิเศษ รุ่น 10-50% งาน Central Jingle All the Way (2-25 ธค.2549) ลุ้นแพ็คเกจทัวร์ฟินแลนด์ เมื่อซื้อครบ 1,000 บาท นอกจากนี้ในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ที่สาขาชิดลมยังมีกิจกรรมสำหรับเด็กๆซึ่งจะดึงให้พ่อแม่อยู่ในห้างแทนที่จะไปชอปปิ้งที่อื่นต่อ และยังเป็นห้างที่มีสะพานเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสเช่นกัน ทำให้กลุ่มนักชอปของเซ็นทรัลชิดลมยังมีอยู่พอสมควร
หรือแม้แต่ศูนย์การค้าย่านราชประสงค์อย่างเกษร พล่าซ่า, เอราวัณ และอัมรินทร์พลาซ่าต่างก็ต้องปรับปรุงพื้นที่เพื่อรองรับการแข่งขันไปแล้ว
ส่วนสยามเซ็นเตอร์ และ ดิ เอ็มโพเรี่ยม ซึ่งเป็นเจ้าของเดียวกันกับสยามพารากอน ระบุว่าในช่วงแรกของการเปิดตัวสยามพารากอนอาจทำให้ ดิ เอ็มโพเรี่ยม สยามสแควร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่เงียบเหงาผิดหูผิดตาไปบ้าง แต่เม็ดเงินที่หลั่งไหลไปสู่สยามพารากอนก็ยังคงเข้ากระเป๋าบริษัทอยู่ดี
อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ ยุวดี พิจารณ์จิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล ได้ออกมากล่าวอย่างมั่นใจว่าการเปิดตัวของสยามพารากอนจะไม่ส่งผลกระทบต่อเซ็นทรัลชิดลมเนื่องจากลูกค้าของเซ็นทรัลมีความจงรักภักดีต่อห้างค่อนข้างสูง
ในขณะที่เซ็นทรัลเวิลด์ซึ่งยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงก็มีการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายโดยใช้ห้างสรรพสินค้าเซนเป็นตัวชูโรงภายใต้แคมเปญ ZEN Make A Wish มอบส่วนลดให้กับลูกค้าเมื่อซื้อครบ 800 บาท พร้อมรับคูปองส่วนลด 10-50% นอกจากนี้ก็ยังมีการลดราคา 10-50% ที่ศูนย์อาหารในเซ็นทรัลเวิลด์
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆที่เซ็นทรัลเวิลด์ทำร่วมกับพันธมิตรเพื่อดึงดูดผู้บริโภคเช่น Central World Beer Festival 2005 เทศกาลเบียร์รับลมหนาว (17 พ.ย.48-14 ม.ค.49) โดยร่วมกับพันธมิตรเบียร์ 4 แบรนด์คือ สิงห์ อาซาฮี ไฮเนเก้น และช้าง ซึ่งคาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินสะพัดในงานกว่า 200 ล้านบาท ส่วนในช่วงวันสิ้นปีก็จะมีการจัดกิจกรรม Bangkok Countdown 2006 โดยร่วมกับไทยทีวีสีช่อง 3 และ อาร์เอส โปรโมชั่น ซึ่งคาดว่าจะได้รับความสนใจจากผู้บริโภคกว่าแสนคน
ส่วนเซ็นเตอร์พอยท์ที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามสยามพารากอนกลับมองว่าเป็นการดีเพราะความยิ่งใหญ่ของสยามพารากอนดึงดูดให้คนจากที่ไกลๆมาเยือนส่งผลให้มีคนล้นมาถึงเซ็นเตอร์พอยท์ อีกทั้งราคาสินค้าในสยามพารากอนที่ค่อนข้างแพงก็ไม่สอดคล้องกับกำลังซื้อของผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่แวะมาใช้บริการ ส่งผลให้ส่วนหนึ่งหันกลับมาซื้อสินค้าที่เซ็นเตอร์พอยท์แทน
ชี้ธงพารากอนเหนือเซ็นทรัลเวิลด์
อย่างไรก็ตามการแข่งขันของศูนย์การค้าย่านปทุมวัน และราชประสงค์ในช่วงใกล้เทศกาลคริสมาส และปีใหม่จะยังคงรุ่นแรงไม่แพ้ช่วงการเปิดตัวสยามพารากอน และเมื่อวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของแต่ละแห่งก็ดูจะน่าสนใจ โดยสยามพารากอนนั้นเมื่อเข้าสู่สภาวะปกติ กลุ่มนักชอปที่เข้าเที่ยวและซื้อสินค้าภายในห้างจะเริ่มเป็นกลุ่มเป้าหมายจริงๆ นั่นคือตลาดระดับไฮเอนด์ เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่เป็นแบรนด์เนมราคาสูง ขณะที่กิจกรรมภายในโดยเฉพาะสยามโอเชียน มารีน่า ก็จะจับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงและนักท่องเที่ยวเป็นหลัก เนื่องจากมีราคาค่าเช้าชมค่อนข้างสูง
สิ่งที่สยามพารากอนมีความได้เปรียบคือ การคมนาคมที่สะดวกทั้งรถยนต์ส่วนตัว รถไฟฟ้าบีทีเอสที่มีทางเชื่อมเข้าศูนย์ได้โดยตรง และรถสาธารณะที่สะดวก นอกจากนี้สยามพารากอนยังมีพื้นที่ด้านหน้ามากพอที่จะใช้สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งของศูนย์ฯเอง รวมถึงการจัดกิจกรรมของสินค้าและบริการต่างๆ ในอนาคต ซึ่งผู้ที่อยู่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
ส่วนเซ็นทรัลเวิลด์นั้น แม้ว่าในอนาคตจะมีการพัฒนาพื้นที่เสร็จสมบูรณ์ และการสร้างสะพานเชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่การเดินทางก็ค่อนข้างไกลทั้งจากสถานีสยาม และสถานีชิดลม ขณะเดียวกันมีข้อดีในแง่สถานที่ตั้งถือว่าอยู่เส้นทางที่เป็นใจกลางการคมนาคมทางรถยนต์มากกว่า ส่วนเซ็นทรัลชิดลมนั้นกลุ่มนักชอปส่วนใหญ่เป็นกำลังซื้อที่เป็นคนไทยเป็นหลัก และมีกลุ่มลูกค้าของตัวเองที่นิยมการซื้อสินค้าในห้างที่คุ้นเคย ซึ่งเซ็นทรัลชิดลมแห่งนี้ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การเปิดตัวของห้างดิเอ็มโพเลียม ที่เป็นคู่แข่งระดับเดียวกัน แทบจะไม่ส่งผลต่อจำนวนลูกค้าของเซ็นทรัลชิดลมเลย
|