Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2540
"ทริสขยายฐานลูกค้า จัดอันดับหลักสูตรการศึกษา"             
โดย สนิทวงศ์ เจริญรัตตะวงศ์
 

 
Charts & Figures

แผนงานโครงการจัดอันดับการศึกษา


   
search resources

ไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส, บจก. - TRIS
วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์




ทริสเปิดตัวโครงการใหม่แกะกล่อง "จัดอันดับหลักสูตรการศึกษา" หวังเป็นคู่มือเลือกคณะตอนสอบเอ็นทรานซ ์และเป็นกระจกส่องสถาบัน งานนี้ยังไม่รู้ว่าจะออกหมู่หรือจ่า แต่ทริสเตรียมใจถูกด่าไว้แล้ว นอกจากนี้ยังมีลูกค้ากลุ่มประกัน, หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจให้จัดอันดับอีกมาก เตรียมพร้อมขยับขยายจากบริษัทอันดับท้องถิ่นสู้ระดับสากล

"สิ่งนี้เป็นเสมือนคู่มือให้กับผู้บริโภค และถ้าเราไม่คิดอะไรมาก การศึกษาก็คือสินค้าอย่างหนึ่งที่เราต้องลงทุนซื้อหามาด้วยค่าหน่วยกิต" ดร. วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทย เรทติ้ง แอนด์ อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส หรือ ทริส (TRIS) กล่าว

อาจจะแรงไปสักนิดกับความรู้สึกของใครบางคนที่มองว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่มีคุณค่า แต่ในความหมายแล้วเป็นเพียงความปรารถนาของทริสที่อยากจะเห็นเด็กนักเรียนมัธยมปลายได้มีคู่มือดี ๆ สักเล่มเพื่อใช้ในการพิจารณาตัดสินใจเลือกเรียนคณะหรือสาขาอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับตัวเอง

ทั้งนี้ เพราะที่ผ่านมาเมื่อถึงฤดูสอบเอ็นทรานซ์เพื่อศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการสอบคือ การเลือกคณะหรือสาขาวิชา ซึ่งส่วนใหญ่เหตุผลที่ใช้ในการเลือกคณะหรือสาขาในมหาวิทยาลัยนั้น ๆ จะมาจากคำบอกเล่าสืบต่อกันมาแต่ไม่ได้มีการพิสูจน์ออกมาอย่างชัดเจน

"เพราะฉะนั้นไม่ได้หมายความว่าสถาบันที่มีหน่วยกิตถูกที่สุดเราจะต้องเรียนที่นั่น เราอาจจะเลือกเรียนสถาบันที่แพงก็ได้ถ้าคุณภาพสูงกว่า" ดร. วุฒิพงษ์กล่าว นั่นจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิด "โครงการจัดอันดับการศึกษา" ขึ้นมา

ประเมินการศึกษา ประวัติศาสตร์ใหม่ของไทย

ถ้าจะกล่าวถึงที่มาของโครงการนี้คงต้องเริ่มต้นจากการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้มีหนังสือเชิญทริสเข้าร่วมเสนอโครงการวิเคราะห์คุณภาพบัณฑิตของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในสาขาวิชาชีพทั้งด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ในขั้นต้น 4 คณะวิชา คือวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์เทคโนโลยีสารสนเทศ นิเทศศาสตร์ และบริหารธุรกิจ-พาณิชยศาสตร์-การบัญชี

จากการประชุมกับคณะที่ปรึกษา ทริสจึงได้จัดทำข้อเสนอโครงการจัดอันดับการศึกษาสาขาบริหารธุรกิจ และวิทยาการคอมพิวเตอร์ เพื่อเสนอต่อ สกว. ในการอนุมัติโครงการและสนับสนุนทางด้านงบประมาณ

"งานนี้เหมือนกับการทำงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เราอยากจะให้เป็นเสมือนกระจกส่องให้การศึกษาดีขึ้น" ดร. กำจัด มงคลกุล ผู้อำนวยการโครงการจัดอันดับการศึกษาของ สกว. กล่าว

อย่างไรก็ตาม สกว. ยืนยันว่าการที่ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นมานั้นไม่ได้หมายความว่าการศึกษาแย่ถึงขนาดต้องมีหน่วยตรวจสอบ "แต่เพราะที่ผ่านมาเหมือนกับว่าไม่มีกระจกมาส่องให้เห็นว่าเราอยู่ตรงไหนกันรบ้าง มีจุดใดที่เราอยู่แล้วหรือจุดใดที่ควรพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น โครงการนี้นับเป็นการสนับสนุนให้สถาบันต่าง ๆ ตื่นตัวในเรื่องคุณภาพการศึกษาหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการประกันสุขภาพการศึกษาก็ได้"

และเมื่อได้พิจารณาแผนพัฒนาการศึกษาระยะยาวของทบวงมหาวิทยาลัยตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2540-2544 ปรากฏว่าได้มีการกำหนดกลยุทธ์และมาตรการเกี่ยวกับ "การประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อเป็นฐานหลักในการประกันคุณภาพอย่างเป็นระบบ ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาระบบติดจามและประเมินผลในสถาบันอุดมศึกษาเปรียบเทียบระหว่างมหาวิทยาลัย" โครงการจัดอันดับการศึกษาจึงสอดคล้องกับแผนงานของทบวงมหาวิทยาลัยอีกทางหนึ่งด้วย ดังนั้นจึงเชื่อแน่ว่าโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

ไม่ใช่เรื่องง่าย ทริสเตรียมใจไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม การที่ทริสเสนอตัวเข้ามาจัดอันดับสถาบันการศึกษาเช่นนี้ สายตาหลายคู่คงมองด้วยความสนใจ ในขณะที่สายตาอีกหลายคู่อาจมองด้วยความแปลกใจว่าทริสไม่น่าหาเรื่องใส่ตัวเลยเพราะการประเมินโปรแกรมการศึกษานี้พูดอีกนัยหนึ่งคล้ายกับ "การจับครูอาจารย์ทั้งหลายมานั่งสอบ" แน่นอนต้องมีปฏิกิริยาตอบสนองทั้งในแง่บวกและแง่ลบ

"ในระยะแรกจึงต้องทำความเข้าใจกันมากหน่อยเท่านั้นว่าที่เราทำเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม" ดร. กำจัด แห่ง สกว. ให้ความเห็น

แต่ทั้งนี้ แม้ว่าทริสยืนยันถึงความตั้งใจดีต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาแต่ก็เตรียมใจไว้แล้วว่าอาจจะ "ถูกด่า"

ในระยะนี้ ดร. วุฒิพงษ์และทีมงานของทริสจึงใช้เวลาส่วนหนึ่งหมดไปกับการเดินสายทำความเข้าใจและเชื้อเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรับฟังคำชี้แจงต่าง ๆ

สิ่งหนึ่งที่ทริสต้องทำความเข้าใจกับสถาบันการศึกษาอย่างมากก็คือ โครงการนี้ เป็นการประเมินคุณภาพของโปรแกรมการศึกษาในสาขาวิชาต่าง ๆ และไม่ใช่จัดอันดับมหาวิทยาลัย แต่เป็นการจัดอันดับโปรแกรมการศึกษาที่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ กำลังเปิดสอนอยู่ในขณะนี้

"ถ้าโครงการเป็นที่ยอมรับสิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ ความตื่นตัวของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสถาบันนั้น ๆ ในการที่แต่ละสถาบันจะได้มีเครื่องประกันคุณภาพของโปรแกรมการศึกษาของตน" ดร. กำจัด กล่าว

บัญญัติ 6 ประการ มาตรวัดคุณภาพ

เกณฑ์พิจารณาที่ทริสศึกษาและสรุปออกมาใช้ในปีนี้มี 6 ข้อ ได้แก่ คณาจารย์ หลักสูตร กิจกรรมเสริมหลักสูตร การบริการสนับสนุน การบริหารเชิงกลยุทธ์และสภาพแวดล้อม

ทั้งนี้เพื่อให้ข้อมูลที่ได้เป็นตัวบอกคุณภาพของโปรแกรมการศึกษาที่แท้จริง ทริสจึงใช้วิธีประเมินทั้งในแง่ข้อมูลตัวเลขและการสัมภาษณ์พูดคุยกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้บริหารหรือผู้ประกอบการบริษัทต่าง ๆ ที่รับนักศึกษาที่จบเข้าทำงาน ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันถึงทัศนะที่มีต่อสถาบันการศึกษานั้น ๆ

โดยกระบวนการจัดอันดับจะเริ่มขึ้นหลังจากที่ได้รับการยินยอมจากสาขาหรือคณะที่จะทำการประเมิน จากนั้นทีมงานของทริสจะเข้าไปศึกษาและรวบรวมข้อมูลด้วยการเยี่ยมชมสถาบันการศึกษา และสัมภาษณ์เจาะลึกผู้บริหาร คณาจารย์ และนักศึกษา จากนั้นจึงมาทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้

จากนั้นคณะกรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ตั้งขึ้นโดยทริสจะมีการประชุมและจัดอันดับให้กับสาขาหรือคณะวิชานั้น ๆ ถึงขั้นตอนนี้ถ้าสาขาหรือคณะไม่พอใจในผลการจัดอันดับก็สามารถยื่นข้อมูลเพิ่มเติมเพื่ออุทธรณ์ ซึ่งคณะกรรมการจะนำข้อมูลใหม่ที่ได้มาประกอบการพิจารณา และรายงานผลการจัดอันดับเสนอไปยัง สกว. ในฐานะผู้สนับสนุนการวิจัย

ถึงขั้นตอนนี้ถึงแม้สาขาหรือคณะจะไม่พอใจต่อผลการจัดอันดับก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีก แต่สาขาและคณะจะมีสิทธิเลือกให้ สกว. ประกาศหรือไม่ประกาศ ผลการจัดอันดับต่อสาธารณะก็ได้ ทำนองเดียวกับการจัดอันดับผลการดำเนินงานของกิจการต่าง ๆ ที่ผ่านมา

ส่วนการจัดอันดับที่ออกมาจะแสดงด้วยสัญลักษณ์ตัวอักษร A ถึง E ซึ่งในการรายงานผลนั้นจะใช้วิธีการรายงานแบบแยกเป็นรายการตาม 6 เกณฑ์ที่ใช้พิจารณาและสรุปเป็นผลการจัดอันดับโดยรวมด้วย เพื่อให้สามารถเห็นจุดแข็งของแต่ละปัจจัยได้อย่างถี่ถ้วน

"ในการจัดอันดับการศึกษาเรามองเกี่ยวกับเรื่องความสามารถของสถาบันนั้น ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) เข้าไปในตัวนักศึกษา เพราะฉะนั้นเราจะต้องสามารถแยกออกได้ว่าสิ่งใดที่ นศ. มีอยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องยากที่จะดูอีก แต่สิ่งที่เราพยายามที่จะดู คือ จากการที่ผู้เชี่ยวชาญและจากคนของทริสเข้าไปในสถาบันนั้นพร้อมกัน และดูว่าสถาบันนั้นได้ให้อะไรกับนักศึกษาบ้าง" หนึ่งในทีมเจ้าหน้าที่รับผิดชอบโครงการให้ความเห็น

หน่วยกล้าตาย 7 รายแรก

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ทริสและ สกว. จึงเริ่มเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าฟังคำชี้แจง และเกณฑ์ในการพิจารณา อาทิ ผู้บริหารสถาบันการศึกษาจากภาครัฐและเอกชน ระดับอธิการบดี คณบดี และตัวแทนคณะ รวมทั้งตัวแทนจากปลัดทบวง และจากสมาคมมหาวิทยาลัยเอกชนซึ่งมีอธิการบดีของ ม. อัสสัมชัญ (ABAC) เป็นประธานสมาคม

ในวันนั้นทุกฝ่ายเห็นด้วยในหลักการและขอกลับไปปรึกษายังหน่วยงานของตนก่อน แต่ที่ยืนยันว่าจะเข้าร่วมแน่นอนคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นัยว่าทั้งสองมหาวิทยาลัยชั้นนำนี้อยากเห็นเหมือนกันว่าตนเองอยู่ตรงจุดไหน

"ในการประชุมนัดแรกบางรายเป็นเพียงตัวแทนหน่วยงานมารับฟังการประชุมเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจโดยตรงจึงขอกลับมาหารือกันภายในหน่วยงานของตัวเองก่อน" ดร. กำจัดกล่าว

"แต่ที่แน่ ๆ มีมหาวิทยาลัยเอกชนอยากให้เราจัดอันดับเรียบร้อยแล้ว เพราะสถาบันเอกชนหลาย ๆ แห่งอยากให้คุณภาพการศึกษาเป็นที่ยอมรับ เขาจึงมีความสนใจอยากให้เราเข้าไปดู" ปนัดดา เผือกขาว ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ทริส กล่าวด้วยความปลื้มใจ

28 กุมภาพันธ์เป็นกำหนดส่งคำยืนยันของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อเข้าร่วมโครงการให้กับทริส โดยสาขาที่จะทดลองประเมินคือ บริหารธุรกิจ ในชั้นแรกมีสถาบันของรัฐยืนยันเข้าร่วม 4 ราย คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม. ธรรมศาสตร์ ม. สงขลานครินทร์ และ ม. ขอนแก่น สำหรับ ม. เชียงใหม่นั้นแจ้งมาว่าเนื่องจากเปลี่ยนคนบดีจึงยังไม่พร้อม ส่วนสถาบันเอกชนที่ยืนยันเข้ามามี 3 ราย คือ ม. ธุรกิจบัณฑิต ม. หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และ ม. กรุงเทพ

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้ชี้แจงไปเมื่อต้นเดือนเมษายนคงจะมีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมเพิ่มขึ้น เนื่องจากทริสได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งสถาบันอุดมศึกษารวมถึงสถาบันราชภัฏ และระดับมัธยมศึกษาทั้งครูอาจารย์และนักเรียนนักศึกษาเข้าฟังในครั้งนี้ด้วยกว่า 200 ราย

แต่ทั้งนี้ การสนับสนุนของ สกว. นั้น ในชั้นแรกตกลงกันไว้ว่า สกว. จะสามารถสนับสนุนค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 6 ราย ซึ่งทริสตั้งอัตราค่าบริการต่อหนึ่งโปรแกรมการศึกษาต่อหนึ่งสถาบันไว้ที่ 3-4 แสนบาท ส่วนที่เกินกว่านั้นจึงเป็นหน้าที่ของทริสเองที่จะไปจัดการกับค่าใช้จ่ายส่วนนี้เอง

ทริสจึงได้เสนอไปยังสถาบันต่าง ๆ ด้วยถ้ามีจำนวนเข้ามาเกินกว่าจำนวนที่ สกว. สนับสนุนค่าใช้จ่ายได้นั้น สถาบันต่าง ๆ จะมีความพร้อมในการเฉลี่ยค่าใช้จ่ายหรือไม่ ซึ่งมีเพียงรายเดียวที่ตอบรับการเฉลี่ยค่าใช้จ่ายคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตามในความเหมาะสมแล้ว ทริสและ สกว. เห็นว่าจำนวนสถาบันที่จะนำมาจัดอันดับควรอยู่ในช่วง 5-15 รายเพราะถ้าน้อยหรือมากกว่านี้ก็ไม่เหมาะสมทั้งในเรื่องของเวลา และงบประมาณ รวมทั้งความน่าเชื่อถือในการเสนอผลงานออกมาสู่สาธารณชน

ทั้งนี้ ทีมงานจะใช้เวลาเข้าไปประเมินแต่ละที่ประมาณ 4-5 เดือน และเหลือเดือนที่ 6 ไว้สำหรับกรณีการยื่นอุทธรณ์ ซึ่งถ้าสามารถเริ่มงานได้ภายในเดือนเมษายนและเป็นไปตามกำหนด ทริสจะเผยแพร่ผลการประเมินในราวเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน ทริสจะมีเวลาทำงานประมาณ 6-7 เดือน ซึ่งนับว่าเพียงพอกับแผนงานที่วางไว้


ประกัน+ซิเคียวริไทซ์ งานใหม่ที่อย่างไรก็ต้องทำ

นอกจากการจัดอันดับการศึกษาในปีนี้แล้ว สำหรับปีหน้าทริสได้เตรียมที่จะขยายไปในส่วนธุรกิจประกันอีกด้วย

การจัดอันดับเครดิตของบริษัทประกันนี้ ทริสมองประโยชน์ใน 2 ทาง คือประการแรกถ้าบริษัทประกันต้องการระดมทุนจะได้ใช้เรตติ้งเหมือนกับบริษัททั่ว ๆ ไป และนำไปใช้ใน Bonds Market หรือตลาดอื่นที่มีลักษณะอย่างเดียวกันได้

อีกประการคือ สิ่งนี้จะแสดงถึงความมั่นคงของบริษัทประกัน เป็นเหมือนกับคู่มือผู้บริโภคอีกอย่างหนึ่งบอกผู้ที่จะซื้อกรมธรรม์ว่าบริษัทประกันนั้น ๆ มีสถานภาพมั่นคงอย่างไรบ้าง "โอกาสที่จะได้สินไหมทดแทนเมื่อเกิดเหตุการณ์มีมากน้อยแค่ไหนเพราะเวลาเราลงทุนเรื่องประกันชีวิตเราพูดกันเป็น 30-40 ปี เราก็อยากเห็นว่าบริษัทที่เราเอาเงินไปวางไว้นั้นมีความมั่นคง" ดร. วุฒิพงษ์ กล่าว

นอกจากนี้ ธุรกิจแปลงหนี้เป็นตราสารทางการเงินหรือซิเคียวริไทเซชั่น ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ทริสเตรียมไว้เช่นกัน แม้มีหลายเสียงติงว่ายังไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ ในประเทศไทยระหว่าง 1-2 ปีนี้ เพราะติดในเรื่องตัวบทกฎหมาย

แต่ในกรณีที่เกิดในต่างประเทศ เช่น กรณีของบริษัทไทยคาร์ที่ไปออกยังเกาะเคย์แมน ทริสก็สามารถทำเรตติ้งให้ได้และพร้อมที่จะทำด้วย โดยอาจจะจับมือกับสถาบันจัดอันดับของต่างประเทศ ซึ่งทริสได้เตรียมไว้ทั้งในกรณีสินทรัพย์ในไทยจะไปเกิดในต่างประเทศหรือในระยะยาวก็อาจเกิดในไทยด้วย

ปี' 39 กำไร 15 ล้าน ได้มาแบบไม่ตั้งใจ

การที่ทริสแตกไลน์ออกมาจากการจัดอันดับเครดิตนี้ นับเป็นความชาญฉลาดของทริสอย่างหนึ่งเพราะตลาดในบ้านเรานั้นยังมีความจำกัดในหลาย ๆ ด้าน การหวังพึ่งรายได้จากการจัดเครดิตเรตติ้งอย่างเดียวคงไม่พอ

ขณะเดียวกันการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ 11 รายแรกกำลังจะออกมาและ 14 รายใหม่ที่กำลังตามไป "ขึ้นเขียง" รวมทั้งหน่วยงานราชการที่กำลังทยอยเข้ามาให้ประเมิน (ดูล้อมกรอบ)
สิ่งเหล่านี้ถ้าหากสะดุดหรือถูกปฏิเสธจากทางการไม่ว่ากรณีใดก็ตามรายได้มหาศาลที่คาดว่าจะได้ก็หายไปด้วย

การหาหนทางใหม่ ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทริสอยู่ไม่น้อย "สิ่งที่เราเลือกทำแต่อย่างนี้ ไม่ใช่เพื่อทำมาหากินหรือเพื่อทำกำไร แต่เราเห็นว่าแต่ละอย่างมันไปสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้กับระบบ เพราะว่าถ้าเรามองดูการจัดอันดับเครดิตเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน การจัดอันดับผลการดำเนินงานเป็นการให้โครงสร้างพื้นฐานทางการบริหาร การจัดอันดับการศึกษาเป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในเชิงการศึกษา" ดร. วุฒิพงษ์ กล่าว

"ในวันนี้ทริสสามารถบอกใครต่อใครได้อย่างภาคภูมิว่า สิ่งที่ทำลงไปนั้นไม่ขาดทุน" ดร. วุฒิพงษ์ กล่าว

ปีนี้จึงเป็นปีแรกที่ทริสปิดบัญชีแล้วกำไรเกือบ 15 ล้านบาทโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งสิ่งนี้ ดร. วุฒิพงษ์กล่าวไปด้วยความปลื้มใจ แต่ไม่วายย้ำว่าไม่ใช่การคุย เพียงแต่ต้องการชี้ว่า "การทำในสิ่งที่ถูกต้องและมีประโยชน์ต่อส่วนรวมนี้ในหลาย ๆ ครั้งก็นำมาซึ่งผลกำไรได้โดยไม่มีอะไรขัดแย้งกันเลย"

"เราสามารถทำกำไรได้แม้เราจะขาดทุนติดต่อมาเป็นเวลา 2 ปี เป็นจำนวน 45 ล้าน ปี'39 เราปิดไปประมาณ 15 ล้านบาทก็เหลืออีก 30 ล้าน ก็หวังว่าในปี' 40 หรืออย่างช้าปี' 41 จะล้างขาดทุนได้หมด ปีนี้ก็ยังไม่รู้เหมือนกัน บอร์ดเขาตั้งให้ล้างขาดทุนอีก 20 ล้าน แต่ไม่รู้จะทำได้หรือเปล่า" ดร. วุฒิพงษ์กล่าวอย่างกังวลใจด้วยใบหน้ายิ้ม

ทั้งนี้ รายได้หลักของปีนี้น่าจะมาจากงานจัดอันดับผลการดำเนินงานของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจซึ่งถือเป็นงานหลักในปีนี้ของทริส

อนาคตยืนได้สง่างามในเวทีโลกและแบบไทย ๆ

3 ปีเศษที่ผ่านมา ทริสได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็น "บริษัทจัดอันดับ" ของประเทศได้ แม้ว่าในระยะเริ่มต้นจะมีผลสะท้อนกลับค่อนข้างแรงจากวงการการเงินในลักษณะ "เธอเป็นใครจึงมาประเมินฉัน"

ถึงจุดนี้ไม่เพียงแต่งานจัดอันดับเครดิตซึ่งเป็นงานหลักเท่านั้น ทริสขยายพื้นที่การทำงานของตัวเองไปสู่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจและราชการ ซึ่งดีหน่อยตรงที่มีกรมบัญชีกลางให้การสนับสนุนการทำงาน

สำหรับงานจัดอันดับการศึกษาซึ่งเป็นงานใหม่ "แกะกล่อง" ทริสคงได้รับคำถามเจ็บ ๆ แบบเดิม เพราะครั้งนี้ก้าวขึ้นไปถึงระบบการสอนของอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งหลาย งานนี้ต้องยอมรับว่าไม่ใช่งานที่ง่ายเลยทั้งในตัวเนื้อหาที่ต้องประเมินและการทำความเข้าใจกับผู้ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย

ดร. วุฒิพงษ์เคยปรารภขึ้นเมื่อมีผู้ถามถึงการประเมินว่า "เรื่องถูกด่าก็โดนซะจนชินแล้ว ทำอาชีพนี้เหมือนกับเขาจ้างให้มาโดนด่าหรืออย่างไรไม่ทราบ"

แต่แม้จะมีอุปสรรคอย่างไรก็ตาม วันนี้เมื่อพูดถึงงานที่ทริสทำและกำลังจะทำนั้น เขายังพูดด้วยความกระตือรือร้นในการทำงานอย่างเต็มที่

เมื่อมีใครถามว่าทริสถึงขั้นอินเตอร์หรือยัง?

เขาจะตอบด้วยความภูมิใจว่า "เราเป็นทั้งสองอย่าง" งานของทริสจึงสามารถรับรู้ได้ทั้งในลักษณะไทย ๆ "เราก็ค่อนข้างจะพิถีพิถันในด้านมาตรฐานการเขียนเพราะฉะนั้นก็ต้องเขียนให้ระดับอธิบดีหรือปลัดกระทรวงยอมรับได้"

ในขณะเดียวกันงานของทริสก็สามารถเผยแพร่ให้นักลงทุนทั่วโลกรับรู้ได้ด้วย "คนที่กรุงเทพฯ, ขอนแก่น, โคราช, หาดใหญ่ได้อ่านอะไร คนที่นิวยอร์ก ที่ลอนดอน แฟรงเฟิรต์ หรือฮ่องกงก็ได้อ่านเช่นนั้น"

การทำงานในองค์กรอย่างทริสนั้น กร. วุฒิพงษ์พูดอยู่บ่อยครั้งว่า "ลูกน้องมีความคิดเห็นของตนเองได้ ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนหัวหน้า แต่เป็นในลักษณะที่มีสัมมาคารวะแบบคนไทย" ซึ่งเป็นการทำงานที่เหมือนกับนำระบบของต่างประเทศมาใช้กลาย ๆ โดยผสมผสานกับของไทยตามสไตล์วุฒิพงษ์

ไม่เพียงแต่การทำงานเท่านั้น มาตรฐานต่าง ๆ เขาก็พยายามเลียนแบบจากมาตรฐานสากลเช่นกัน "เราพยายามทำองค์กรให้เป็นมาตรฐานสากลแต่เราก็ใช้คนไทย วิธีการทำงานของเราก็ยังเป็นแบบไทย ๆ ออฟฟิศนี้ถ้าไม่ได้อยู่ที่สีลม เราอยู่ที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ออฟฟิศก็คงไม่ต่างกัน รูปลักษณะที่มีอยู่นี้ก็คือสิ่งที่เราอาจจะพบที่โตเกียว, นิวนอร์ก หรือลอนดอน"

เมื่อพูดถึงทิศทางต่อไปที่ทริสจะดำเนินต่อไปในขวบปีที่ 4 นี้ ดร. วุฒิพงษ์กล่าวว่า "ทิศทางโดยรวมของทริสสรุปง่าย ๆ ก็คือ วันนี้เรากลายจากสถาบันจัดอันดับเครดิตเป็นสถาบันจัดอันดับอเนกประสงค์แล้ว และในการทำสิ่งที่คิดว่าเป็นสาธารณประโยชน์นี้ เราจะทำโดยอยู่บนพื้นฐานของการดำเนินงานแบบธุรกิจ และอยากพิสูจน์ว่าสาธารณประโยชน์และกำไรไม่ได้ขัดแย้งกัน นอกจากนั้น เราอยากจะเป็นบริษัทไทยเล็ก ๆ ที่สามารถบริหารโดยคนไทย เจ้าของเป็นคนไทย แล้วก็สามารถยืนได้อย่างสง่างามในเวทีโลกและเวทีไทย"

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us