เป็นที่สงสัยกันอย่างมากว่าปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติมีความทันสมัยมากน้อยแค่ไหน
เพราะแบงก์ชาติเป็นองค์กรของรัฐ ดังนั้นความทันสมัยนั้นอาจด้อยกว่าองค์กรเอกชน
เรื่องนี้ เสาวณี สุวรรณชีพ ผู้อำนวยการฝ่ายสารสนเทศ ซึ่งเข้ามาดูแลด้านเทคโนโลยีให้กับแบงก์ชาติมาประมาณ
20 ปีแล้ว เปิดเผยถึงวิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีของแบงก์ชาติว่า เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี
2520 ด้วยเมนเฟรม ที่นำเข้ามาใช้ทำงานในลักษณะที่เป็น Centralize จากนั้นในช่วงปี
2527-2529 ก็เริ่มทยอยนำ PC ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจอย่างมากเข้ามาใช้เป็น Workstation
และเข้าสู่ระบบ Local Area Network ด้วยการลดเมนเฟรมลง ปัจจุบันแบงก์ชาติเข้าสู่ยุคลักษณะการใช้
PC ตัวใหญ่ที่เป็น Server เข้ามาทำงาน
"การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของเราเริ่มจากยุคเมนเฟรมมาเป็น PC ระบบ
Local Area Network และมาสู่ยุค Client server"
สำหรับงบประมาณในการลงทุนด้านเทคโนโลยีจะต้องจัดทำแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับแผนงานหลักของแบงก์ชาติ
โดยแผนงานด้านเทคโนโลยีจะแบ่งออกเป็นช่วง ๆ ละ 3 ปี ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงที่
3 แผนแรกได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2519 ช่วงที่ 2 อยู่ระหว่างปี 2536-2538
โดยในช่วงนั้นจะเน้นหนักด้านการพัฒนาระบบการเงิน และแผนที่ 3 ตั้งแต่ปี 2539-2541
แผนนี้มีเป้าหมายหลักที่จะพัฒนาเทคโนโลยีให้สนองนโยบายด้านการเงินให้เต็มรูปแบบ
"เราตั้งเป้าไว้ว่าจะสร้างฐานด้านเศรษฐกิจ การเงินให้มีความคล่องตัวมากขึ้น
เพราะเราต้องการเป็นศูนย์กลางด้านการเงิน"
ตัวอย่างความสำเร็จจากการพัฒนาเทคโนโลยีของแบงก์ชาติที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นการเปิดบริการการชำระเงินแบบ
Baht Net และการเปิดบริการการชำระเงินแบบ Media Clearing ระหว่างแบงก์เพื่อประหยัดต้นทุนในการดำเนินงาน
โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานในการทำข้อมูล กรณีที่มีบัญชีต่างแบงก์ทำให้การบริหารเงินของแบงก์พาณิชย์ง่ายขึ้น
ซึ่งบริการทั้งสองนี้ต่างมีจุดหมายเดียวกันคือเสริมให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการเงิน
นอกจากนี้ แบงก์ชาติยังมีแผนที่จะเปิดบริการระบบการเงินแบบ Delivering
Versus Payment ซึ่งเป็นการบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ในการซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ
พร้อมทั้งเพิ่มบริการรายย่อยที่เรียกว่า Electroinics Purse เพราะมองว่าเมื่อเปิดเสรีด้านการเงินแล้วการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จะมีบทบาทและสำคัญมากขึ้น
ในการพัฒนาระบบการทำงานภายในองค์กรเองเวลานี้แบงก์มีเทคโนโลยีที่สามารถ
On-line ถึงกันได้หมดทุกจุดทุกสาขาทั่วประเทศแล้ว โดยเป็นการสร้างเครือข่ายของตนเองขึ้นมาเรียกว่า
BOT NET ฉะนั้นข้อมูลที่จำเป็นนั้นสามารถ On-line ผ่านเครือข่ายนี้ได้โดยไม่ต้องส่งเอกสารเหมือนในอดีต
สำหรับเม็ดเงินลงทุนด้านเทคโนโลยีนั่น ในแต่ละปีจะอยู่ประมาณ 300 ล้านบาท
โดยส่วนใหญ่จะเป็นการใช้จ่ายในเรื่องของอุปกรณ์ซอฟต์แวร์ ที่เป็น System
software ในขณะที่ส่วน Application แบงก์ชาติจะพัฒนาขึ้นมาเอง เนื่องจากแบงก์ชาติต้องทำงานอยู่ภายใต้กฎระเบียบฉะนั้น
Application จะซับซ้อนมากกว่า Application ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป เช่นระบบเงินฝากกระแสรายวัน"
เสาวณี กล่าวถึงความแตกต่างเทคโนโลยีของแบงก์ชาติ
หลังจากนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ในปัจจุบันการทำงานด้วยเอกสารของแบงก์ชาติได้ลดลงไปมาก
ทว่าเสาวณีกลับยังให้ความสำคัญกับเอกสารเหมือนเดิมเพราะถือเป็นวัฒนธรรมสำหรับการทำงานไปแล้ว
"เพราะตราบใดการทำงานที่ไม่เห็นเอกสารหรือกระดาษ เราเองก็ไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือไม่
ตรงนี้คงจะสกัดออกไปยากมากในการที่เราจะเป็น Paperless โดยเฉพาะองค์กรที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานอย่างแบงก์ชาติ"
ถึงกระนั้นก็ตาม เธอก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ช่วยให้การทำงานมีความสะดวก
สบายมากขึ้น และยังช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างน้อย ๆ ก็สามารถลดขั้นตอนด้านเอกสาร
เช่นรวบรวมข้อมูลประมวลผลเข้าไว้อยู่ในระบบได้
ในปีหน้าเราคงจะได้เห็นพนักงานแบงก์ชาติมีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้งานกันอย่างทั่วถ้วน
หากแผนการขั้นที่ 3 เดินไปได้ตามเป้าที่ตั้งไว้