บุญ วนาสิน - แพทย์ นักธุรกิจ นักเทกโอเวอร์ และล่าสุดกำลังวาดฝันนำเทคโนโลยีไอทีมาใช้ในการบริหารกิจการโรงพยาบาล
และคลินิกต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเชื่อมโยงการให้บริการรักษาสุขภาพ และการประกัน
นอกจากนี้ เขายังพยายามฟื้นฟูกิจการวิทยาคมอย่างเร่งด่วน ในฐานะที่เป็น "คนไข้ไอซียู"
แล้ว โดยแนะนำธุรกิจไอทีเข้ามาเป็นเลือดก้อนใหม่ในการช่วยชีวิตครั้งนี้ "หมอบุญ"
เชื่อมั่นว่าคนที่จะอยู่รอดในโลกของธุรกิจต่อไปได้นั้นต้องพยายามสร้างพันธมิตรเข้าไว้
ล่าสุดเขาได้พันธมิตรยักษ์ใหญ่อย่าง GE ที่ยอมส่งบริษัทลูกเข้ามาสนับสนุนโครงการ
TELEMEDICINE เพื่อสานฝันเรื่องเทคโนโลยีของเขา
นักบริหารแต่ละคนล้วนมีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกัน ตามวิสัยทัศน์
ความชำนาญ ความกว้างขวาง และจังหวะชีวิต
บุญ วนาสิน หรือ "หมอบุญ" นายแพทย์ผู้เริ่มต้นชีวิตการเป็นเจ้าของกิจการเป็นครั้งแรกตามความถนัด
ด้วยการทุ่มทุนสร้างโรงพยาบาลธนบุรี อันเป็นแหล่งทำเงินมหาศาลต่อมาจนทุกวันนี้
ด้วยความที่เป็นนักคิด นักฝัน และนักลงทุน ทำให้หมอบุญขยายธุรกิจออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง
ทั้งในส่วนของธุรกิจโรงพยาบาล ประกันสุขภาพ พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม
สิ่งทอ และอื่น ๆ
ธุรกิจของหมอบุญขยายตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยแนวคิดที่ว่า หากสามารถซื้อกิจการอื่นมาทำต่อได้ก็ทำ
และลงทุนเองตั้งแต่แรกบ้างในบางโอกาส หมอบุญลุยซื้อกิจการทั้งนอกและในตลาดหลักทรัพย์ฯ
โดยแหล่งเงินทุนที่สำคัญมาจาก ร.พ. ธนบุรี และกลุ่มราชธานี ซึ่งทำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
ชื่อเสียงของหมอบุญลือกระฉ่อนในฐานะนักครอบงำกิจการในตลาดหลักทรัพย์ฯ จนเมื่อมีข่าวว่าหมอบุญแอบเก็บหุ้นของบริษัทใดอยู่
ราคาหุ้นจะพุ่งกระฉูดขึ้นทันที ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของตลาดหุ้นเมืองไทยที่เต็มไปด้วยนักลงทุนประเภทเก็งกำไร
ทันทีที่มีข่าวครอบงำกิจการการเพิ่มทุน ราคาหุ้นจะวิ่งไม่ยั้งเสมอ ข่าวเหล่านี้จึงถูกนำมาใช้เป็นขนมหวานล่อเหยื่ออย่างดีในอดีต
แม้ปัจจุบัน นักลงทุนมีความรู้ ความเข้าใจ และใช้เหตุผลในการลงทุนมากขึ้น
แต่ข่าวในเรื่องของการครอบงำกิจการก็ยังขายได้อยู่นั่นเอง
ภาพของหมอบุญอาจจะไม่สดใสนักในสายตาคนโดยส่วนมาก แต่เขายังคงย้ำถึงแนวทางการขยายธุรกิจด้วยการครอบงำกิจการต่าง
ๆ โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะเขาสามารถระดมทุนเพิ่ม
และหาพันธมิตรนำธุรกิจใหม่เข้ามาเสริมได้ทันที
ปัจจุบันบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลายบริษัทราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง
และหมอบุญเองก็ให้ความสนใจมากในหลาย ๆ หมวดอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในหมวดที่เขาถนัดเช่น
โรงพยาบาล อย่างไรก็ตามเขาไม่มีนโยบายที่จะเข้าครอบงำกิจการแบบไม่เป็นมิตร
(HOSTILE)
และด้วยเหตุผลที่สามารถระดมทุนผ่านบริษัทลูกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ได้ ณ วันนี้หมอบุญจึงไม่สนใจที่จะนำ ร.พ. ธนบุรีเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ อีก
เขามองว่า บริษัทในหมวดโรงพยาบาลไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเท่าที่ควร
ทำให้ขาดสภาพคล่อง และราคาหุ้นก็ตกต่ำกว่าที่นำเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ ใหม่
ๆ มาก
หมอบุญขยายความว่า "การที่เราจะเข้าตลาดก็คือต้องการแหล่งระดมทุน
เราต้องการให้ราคาหุ้นสูงขึ้นไป แต่ส่วนหลังนี้เป็นไปไม่ได้มีแต่จะลด หมวดนี้ไม่มีใครสนใจ
เราสนใจซื้อบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในหมวดนี้มากกว่า เหตุผลก็คือสินทรัพย์ดี
ผลตอบแทนดี และสามารถขยายธุรกิจออกไปได้"
แต่หากเบื้องลึกอีกข้อหนึ่งที่ทำให้หมอบุญเอา ร.พ. ธนบุรีเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ
ไม่ได้เพราะติดปัญหาเรื่องผู้ถือหุ้น ทั้ง ๆ ที่เตรียมการและวางแผนที่จะเข้าตลาดฯ
มาหลายปีแล้ว และ ร.พ. ธนบุรีปัจจุบันก็อยู่ในสถานภาพบริษัทมหาชนจำกัดแล้ว
หมอบุญมีแผนจะขยายเครือข่ายของ ร.พ. ธนบุรีออกไปอีกประมาณ 50 แห่ง มีคลินิก
(MEDICAL CLINIC) ทั่วประเทศอีก 50 แห่ง เพื่อรองรับธุรกิจประกันสุขภาพ ปัจจุบัน
ร.พ. ธนบุรีมีการลงทุนในโรงพยาบาลต่าง ๆ ประมาณ 30 แห่ง
แม้ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพจะสามารถขยายตัวต่อไปได้อีกมาก และเป็นธุรกิจที่ถนัด
อย่างไรก็ดีหมอบุญก็มองหาธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกี่ยวเนื่องเกื้อกูลกันเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง
มูลเหตุสำคัญที่ทำให้ต้องขยายการลงทุนออกไปเรื่อย ๆ ก็เพื่อประโยชน์ทางด้านภาษี
โดยการแปลงทุนให้เป็นหนี้ ประกอบกับความเป็นคนไม่หยุดนิ่ง ช่างคิด ช่างฝัน
ถึงวันนี้ธุรกิจที่หมอบุญให้ความสนใจอย่างมากคือ "ธุรกิจไอที"
ขยายอาณาจักรสู่ไอที
"ธุรกิจไอทีเป็นเรื่องที่จำเป็น และเราต้องแน่ใจว่าคอมพิวเตอร์ที่เราสั่งเข้ามาจะต้องเป็นการลดต้นทุน
ในเมืองไทยตอนนี้ข้อเสียก็คือ ลงทุนในคอมพิวเตอร์แทนที่จะช่วยประหยัดกลับเพิ่มต้นทุนมากขึ้น
และผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่ต้องการ นี่คือความผิดพลาดที่พบเกือบทุกบริษัท"
หมอบุญกล่าวถึงที่มาของแนวคิดการนำไอทีเข้ามาใช้ โดยเน้นใน 2 ประเด็นสำคัญคือ
เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนอย่างแท้จริง
เขาสานฝันของตนโดยการร่วมมือกับ จีอี ฮอสพิเทค เมดิคัล ซิสเต็มส์ อเมริกา
จัดตั้งบริษัทลอจิคัล อินฟอร์เมชั่น เน็ตเวิร์ค หรือลิงค์ ขึ้นมาเพื่อให้บริการด้านเครือข่ายสารสนเทศทางการแพทย์
หรือเทเลเมดิซิน โดยเน้นด้านภาพรังสีวิทยา และเป็นศูนย์กลางให้แพทย์ไทยติดต่อสั่งซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ทั่วอเมริกา
รวมถึงให้บริการเช่าซื้อ และซ่อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกชนิด
บริษัทลิงค์ จัดตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ขณะนี้หมอบุญคือผู้ถือหุ้นทั้ง
100% เขาได้เจรจาให้จีอีเข้ามาร่วมทุน เพื่อให้เกิดค่านิยมในบริษัท แต่จีอียังไม่รับข้อเสนอดังกล่าว
และมีโอกาสที่จะปฏิเสธการร่วมทุนดังกล่าวหากจีอีไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
"จีอีมีนิสัยอย่างหนึ่งคือไม่ชอบเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย เขาอยากจะควบคุม
100 %" หมอบุญให้เหตุผล
ไม่ว่าจีอีจะเข้ามาร่วมทุนหรือไม่ ณ วันนี้หมอบุญยังถือหุ้นอยู่ 100% และมีแผนว่า
เมื่อโครงการนี้เป็นไปได้ด้วยดีสักระยะหนึ่ง ก็จะให้กลุ่ม ร.พ. ธนบุรี หรือ
บมจ. วิทยาคม เข้ามาถือหุ้นในลิงค์แทนตน ซึ่งคาดว่าจะเป็น บมจ. วิทยาคมมากกว่า
แต่ขณะนี้วิทยาคมกำลังอยู่ระหว่างการส่งแผนฟื้นฟูให้กับตลาดหลักทรัพย์ฯ
เป็นที่ทราบกันดีว่าการถ่ายโอนหุ้นลักษณะดังกล่าว หมอบุญย่อมบวกพรีเมียม
(PREMIUM) เข้าไปในราคาหุ้นที่ขายต่อให้วิทยาคม หรือแม้กระทั่งกลุ่ม ร.พ.
ธนบุรีก็ตาม ซึ่งก็เป็นการยุติธรรมสำหรับตัวหมอบุญเองในฐานะที่สร้างธุรกิจขึ้นมา
มีการติดต่อเจรจากับจีอีจนสำเร็จ ก็ควรจะมีผลตอบแทนบ้าง แต่หากจะให้ยุติธรรมกับผู้ถือหุ้นของบริษัทที่จะเข้ามารับช่วงต่อนั้นด้วย
ราคาที่บวกพรีเมียมเข้าไปก็ควรจะมีความสมเหตุสมผลด้วย มิใช่การหาประโยชน์ส่วนตัวจนเกินไป
แม้จีอีจะไม่ยืนยันในเรื่องการร่วมทุน แต่สำหรับการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยี
การติดตั้งอุปกรณ์เครือข่ายฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ และฝึกอบรมด้านบุคลากรนั้น ลิงค์ได้มีการเซ็นสัญญาบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นกับจีอี
ฮอสพิเทคฯ แล้ว
แผนการดำเนินงานของลิงค์ในช่วงแรก คือ การจัดตั้งศูนย์วินิจฉัยโรค (DIAGNOSTIC
CENTER) 3 แห่งที่รังสิต บางนา-ตราด และธนบุรี โดยใช้เงินลงทุนแห่งละ 80-90
ล้านบาท หรือประมาณ 300 ล้านบาทโดยรวมค่าอุปกรณ์ ค่าเช่าที่ดิน และเงินทุนหมุนเวียน
ภายใน 1-2 เดือนนี้จะเริ่มก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ภายในปลายปีนี้
น.พ. จักรพันธ์ พงษ์เสฐียร ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ ร.พ. ธนบุรี คาดว่าการลงทุนครั้งนี้จะคุ้มทุนภายใน
2 ปีหลังจากเปิดดำเนินการ โดยปีที่ 2 บริษัทจะมีกำไรสุทธิอย่างน้อย 2 ล้านบาท
และมีอัตราผลตอบแทนต่อการลงทุน (RETURN ON INVESTMENT) ประมาณ 20% ในปีที่
3
ทั้งนี้หมอบุญอธิบายว่า การลงทุนในแต่ละศูนย์จะติดต่อโรงพยาบาลใกล้เคียงกันประมาณ
4-5 แห่ง ให้มาร่วมถือหุ้นประมาณ 50% และลิงค์ถืออีก 50% ศูนย์ฯ นี้จะมีอุปกรณ์การแพทย์ที่สำคัญคือ
MRI และเครื่องเอกซเรย์ ซึ่ง MRI นี่ราคาเครื่องละ 40-50 ล้านบาท หากโรงพยาบาลขนาดเล็กและกลางลงทุนเองจะไม่คุ้ม
"ไทยเราใน กทม. มีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 170 กว่าแห่ง แต่อังกฤษทั้งประเทศเขามีแค่
110 แห่ง มันเปลืองเงินตราของไทยมาก MRI เครื่องหนึ่ง 40-50 ล้านบาท ถ้าทุกคนต่างซื้อเองก็ยิ่งแย่
ต้นทุนจะสูงคืนทุนช้า เราจึงมีแนวคิดที่จะให้ 7-8 โรงพยาบาลมาใช้อุปกรณ์เหล่านี้ร่วมกัน
ซึ่งจะประหยัดต้นทุนลงไปได้มาก" หมอบุญกล่าว
ด้วยเหตุนี้เอง หากแต่ละศูนย์รวมหลายโรงพยาบาลเข้าด้วยกัน ได้ประมาณ 1,500
เตียง คาดว่าแต่ละวันจะมีผู้มาใช้ MRI ไม่น้อยกว่า 3-4 ราย โดยจุดคุ้มทุนของ
MRI จะอยู่ประมาณ 3 รายต่อวัน การคืนทุนเร็ว ทำให้ศูนย์วินิจฉัยโรคนี้สามารถปรับปรุงเทคโนโลยีใหม่
ๆ ได้อย่างรวดเร็วด้วย
ขณะนี้หมอบุญได้คุยกับโรงพยาบาลในกลุ่มต่าง ๆ บ้างแล้ว แต่ยังไม่สรุปผล
เช่น ฝั่งธนฯ จะมี ร.พ. บางปะกอกเป็นหัวหน้า
"การที่เราชวนใครร่วมธุรกิจเราต้องแสดงให้เขาเห็นถึงผลกำไรที่จะทำได้อย่างโครงการนี้
แต่ละโรงพยาบาลไม่ต้องลงทุนเลย แค่เช่าจอเรา สมมติต้องการ 10 จอ เราก็เก็บค่าเช่าเป็นรายเดือน
แทนที่เขาจะต้องเอาเงินไปลงทุนทั้งก้อน" หมอบุญกล่าว
บทบาทของลิงค์ในช่วงแรก คือการเชื่อมโรงพยาบาลในเครือธนบุรีทั้งกรุงเทพฯ
และต่างจังหวัดรวม 30 แห่งเข้าด้วยกัน โดยมี ร.พ. รามาธิบดีเป็นศูนย์วิชาการ
ภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ภาพชิ้นเนื้อต่าง ๆ จะถูกส่งจากศูนย์วินิจฉัยโรคมายัง
ร.พ. รามาธิบดี เพื่อขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่นี่โดยผ่านระบบเทเลเมดิซีน
ภาพสีแสดงรายละเอียดของอวัยวะต่าง ๆ เป็นภาพ 3 มิติ คุณภาพสูงช่วยให้การวินิจฉัยโรคของแทพย์ที่รามาธิบดีเป็นไปอย่างถูกต้อง
แม้ว่าแพทย์ และคนไข้จะอยู่ห่างไกลกันก็ตาม (พิจารณาภาพประกอบ)
ฟิลิปป์ สติป ผู้อำนวยการบริษัทลิงค์ อธิบายว่า โครงการแรกนี้สามารถให้บริการด้านภาพรังสีวิทยา
คือการส่งภาพของฟิล์มเอกซเรย์ที่ถ่ายจากฟิล์มธรรมดา โดยผ่านเครื่องแปลงเป็นสัญญาณดิจิตอล
และส่งผ่านไปยังปลายทางให้รังสีแพทย์ ซึ่งอยู่อีกสถานที่หนึ่งที่ห่างไกลออกไปสามารถอ่านพร้อมวินิจฉัยได้ทันที
หรือสามารถที่จะส่งตรงจากเครื่องถ่ายเอกซเรย์ CT SCAN และ MRI ซึ่งสัญญาณภาพที่ได้จะเป็นดิจิตอลอยู่แล้วก็ดำเนินการส่งได้ทันที
ทำให้แพทย์ช่วยผู้ป่วยได้ทันเวลาและลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยได้อีกมาก
ทั้งนี้แพทย์ที่ทำการรักษาอยู่อีกสถานที่หนึ่งก็สามารถประชุมผ่านจอภาพเพื่อขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค
ซึ่งอยู่ห่างไกลกันได้ด้วย (พิจารณาภาพประกอบ)
วิธีนี้จะช่วยประหยัดบุคลากรทางการแพทย์ลงได้มาก ปัจจุบันไทยประสบปัญหาขาดแคลนแพทย์จำนวนมาก
ทั้งแพทย์ทั่ว ๆ ไป และแพทย์เฉพาะทาง
"หมอที่เราขาดมากคือ พยาธิแพทย์ หมอเอกซเรย์ และหมอหัวใจ การใช้ระบบสารสนเทศทางไกลจะทำให้ความเชี่ยวชาญเหล่านี้กระจายไปสู่ประชาชนทั่วประเทศได้
หรือแม้กระทั่งในต่างประเทศ เช่น แถบอินโดจีนในอนาคต" หมอจักรพันธ์
กล่าวเสริม
นอกจากรามาธิบดีแล้ว หมอบุญได้ติดต่อไปยังมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ทุกแห่งเพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์วิชาการขึ้นมารองรับการขยายตัวของศูนย์วินิจฉัยโรคในอนาคต
แต่ยังไม่มีการตอบรับจากที่อื่น ไม่ว่าจะเป็น ร.พ. ศิริราช ร.พ. จุฬาลงกรณ์
และ ร.พ. เชียงใหม่
หลังจากศูนย์วินิจฉัยโรคอยู่ตัวแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี แผนขั้นต่อไปของลิงค์ก็คือการใช้ธุรกิจไอทีรุกเข้าไปยังระบบการจัดการของโรงพยาบาลอื่น
ๆ นอกเครือธนบุรี
โดยใช้ไอทีเข้าไปจัดการในระบบการเงิน บัญชี คลังยา และซัปพลายเครื่องมือแพทย์
ซึ่งระบบนี้จะเก็บสต็อกที่คลังยาเพียงแห่งเดียวและส่งไปที่เตียงคนไข้เลย
ซึ่งจะประหยัดสต็อกบนโรงพยาบาลลงไป ลดจำนวนเภสัชกร และลดเวลาการทำงานของพยาบาลบนตึกผู้ป่วย
ทำให้ประหยัดทั้งบุคลากรและต้นทุนดำเนินงาน
ทั้งนี้จีอี ฮอสพิทอล (GE HOSPITAL) ในอเมริกา เจ้าของโรงพยาบาลโคลัมเบีย
HCA ซึ่งมีเครือข่ายกว่า 400 แห่ง หลังจากบริษัทแม่เข้าไปจัดการตามระบบเหล่านี้
ทำให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมลดลงมาประมาณ 20%
"ปกติกำไรของธุรกิจนี้ประมาณ 10-12% ถ้าเราลดต้นทุนได้อีก 20% มันเป็นเงินมหาศาล
เพราะทุกอย่างจะตัดคนออกไปหมด การสต็อกยาจากเดิม 40 วัน ก็เหลือแค่ 1 อาทิตย์
เพราะเวลายาในคลังของเราหมด หมอที่ศูนย์ของเราจะบอกทันที และมีรถไปส่งทันที
โรงพยาบาลก็ไม่จำเป็นต้องสต็อกยาเองอีกแล้ว การบัญชีก็ไม่ต้องใช้คนมาก เภสัชกรบางแห่งแทบไม่มีเลย
นับเป็นการลดต้นทุนการบริหารด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่" หมอบุญอธิบาย
นอกจากนี้ ลิงค์จะเข้าสู่ระบบไอทีทางด้านสุขภาพ ในส่วนของเอเพ็กซ์เฮลท์แคร์
ซึ่งปัจจุบันมีร้านขายยาอยู่ 28 แห่ง และมีแผนจะเพิ่มร้านขายยาขึ้นอีกเดือนละ
5 แห่ง โดยใช้ระบบแฟรนไชส์ ซึ่งมีผู้มาเซ็นสัญญาแฟรนไชส์แล้ว 70 แห่ง
ขั้นต่อไปก็คือเอเพ็กซ์เฮลท์อินชัวรัน ระบบสารสนเทศของลิงค์จะเข้าไปเชื่อมลูกค้าทั้งหมดให้เข้ากับระบบโรงพยาบาลและคลินิกในเครือ
ร.พ.ธนบุรี ซึ่งปัจจุบันมีคลินิกอยู่ 20 แห่ง และมีแผนจะเปิดอีก 3 แห่งในปีนี้
เพื่อให้ผู้ที่ใช้ประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลหันไปใช้คลินิกในเครือซึ่งกระจายอยู่ตามที่ต่าง
ๆ ทั่วกรุงเทพฯ แทนเพื่อเป็นการลดต้นทุน และสะดวกสำหรับผู้เอาประกัน
เป้าหมายของหมอบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในส่วนของลิงค์คงไม่พ้น การเชื่อมระบบไอทีของกิจการด้านสุขภาพทั้งหมดให้ต่อเนื่องเป็นระบบเดียวกัน
ซึ่งยังไม่มีใครทำได้ในโลกนี้ แม้แต่ในอเมริกา แต่หมอบุญใฝ่ฝันที่จะทำ และเชื่อว่าจะทำได้
ทั้งนี้ ซอง ฟรองซัวส์ ลิทท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีอี ฮอสพิเทค เมดิเคิล
ซิสเต็มส์ กล่าวว่า โครงการนี้มีโอกาสเป็นไปได้มาก เพราะการรวมระบบทั้งหมด
ไม่ว่าจะเป็นคลินิกต่าง ๆ บริษัทประกันสุขภาพเข้ามา ระบบจะอยู่บนแพล็ตฟอร์มเดียวกัน
ฉะนั้นข้อมูลต่าง ๆ จะเข้ามาร่วมกันที่ศูนย์ ซึ่งในอเมริกาพยายามที่จะทำในลักษณะนี้เช่นกัน
แต่ที่ไม่สำเร็จเนื่องจากโรงพยาบาลในอเมริกาก่อตั้งมานานแล้ว แต่ละโรงพยาบาลล้วนมีระบบของตัวเอง
ทำให้การร่วมกันเป็นไปได้ยาก ขณะที่ประเทศไทยถือว่าเป็นการเริ่มต้นใหม่ย่อมจะง่ายกว่า
ในแง่ของสารสนเทศทางการแพทย์ โดยเฉพาะเอกซเรย์ จีอีจะใช้ระบบที่เรียกว่า
DICOM ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ติดต่อกันระหว่างเครื่องเอกซเรย์ทั้งหลาย เป็นมาตรฐานที่ใช้ทั่วโลก
ซึ่งปัจจุบันพัฒนาถึง VERSION 3 แล้ว
"สำหรับข้อมูลทางการแพทย์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาพเอกซเรย์ เราจะใช้มาตรฐานเดียวกันคือใช้ระบบอินทราเน็ต
ซึ่งเป็นระบบภายใน อยู่บนแพล็ตฟอร์มเดียวกัน ซึ่งอินทราเน็ตทางการแพทย์ก็กำลังจะออกมาภายในปีนี้"
ลิทท์กล่าว
ทั้งนี้จุดสำคัญ ๆ เกี่ยวกับระบบเทเลเมดิซีนของลิงค์นอกจากการใช้ภาษา DICOM
แล้ว ลิงค์จะใช้จอภาพพิเศษอัตราการเปล่งแสง 60 FOOT - LAMBERTS ซึ่งทาง AMERICAN
COLLEGE OF RADIOLOGY (ACR) ได้กำหนดมาตรฐานไว้ว่า อัตราการเปล่งแสงของจอภาพไม่ควรต่ำกว่า
50 FOOT-LAMBERTS มิฉะนั้นภาพจะมัว ไม่ชัดเจน ซึ่งอาจจะเป็นผลให้แพทย์ผู้รักษาวินิจฉัยผิดพลาดได้
อีกประเด็นหนึ่งที่อาจจะทำให้แพทย์วินิจฉัยผิดพลาดได้ก็คือ ภาพที่ได้รับจากการสแกนจาก
CT. MRI หรือเอกซเรย์ จะมีขนาดใหญ่มาก การส่งภาพจึงจำเป็นต้องใช้เวลานาน
วิธีที่จะทำให้รวดเร็วคือการบีบอัดไฟล์ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เกิดการสูญเสียข้อมูล
ยิ่งใช้อัตราส่วนในการบีบอัดสูงเท่าไหร่ ก็จะสูญเสียข้อมูลมากขึ้น ทั้งนี้
FOOD AND GRUGS ADMINISTRATION OF AMERICA (FDA) จึงมีข้อกำหนดห้ามบีบอัดไฟล์ในอัตราส่วนที่สูงกว่า
2:1 ซึ่งลิงค์ก็จะยึดมาตรฐานเหล่านี้เป็นหลักในการส่งภาพเช่นกัน
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เป็นรูปธรรมอยู่ในขณะนี้มีเพียงการจัดตั้งบริษัทลิงค์ขึ้นมาด้วยทุนจดทะเบียน
10 ล้านบาท วิสัยทัศน์อันยาวไกลของหมอบุญ ต้องรอบทพิสูจน์ของกาลเวลา ว่าจะเป็นจริงมากน้อยเพียงใด
ณ วันนี้การเซ็นสัญญากับ ร.พ. รามาธิบดี เพื่อให้เป็นศูนย์วิชาการอย่างเป็นทางการยังไม่เกิดขึ้น
การร่วมทุนระหว่างโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อจัดตั้งศูนย์วินิจฉัยโรคก็เช่นกัน
เชื่อว่าโครงการนี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดขึ้น แต่จะเมื่อไหร่นั้นยังคาดเดาไม่ได้แน่ชัด
เพราะที่เป็นอยู่ ณ ขณะนี้เชื่อว่าโครงการนี้ล่าช้าอย่างแน่นอน