เพียงชั่วระยะเวลาประมาณ 13 ปี ราศี บัวเลิศ เด็กสาวผิวคล้ำ ตาคม ตัวเล็ก
ๆ จากจังหวัดอุตรดิตถ์ สามารถถักทอสายใยสัมพันธ์กับกองทัพ ทหาร และนักธุรกิจได้อย่างเหนียวแน่น
และเหลือเชื่อ วันนี้เธอมีโครงการที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาทที่ต้องบริหาร
นี่ยังไม่รวมถึงอีกหลายโครงการที่รอจังหวะเข้าไปร่วมทุนในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้
เรื่องราวของเธอจึงน่าสนใจไม่น้อยไปกว่าเรื่องในอดีตที่ผ่านมา
ราศี บัวเลิศ ประธานกรรมการบริหารเชลเล้นจ์กรุ๊ปไม่พอใจสื่อมวลชนนักหนา
ในเรื่องที่มาขนานนามเธอว่าเป็นเจ้าแม่ค้าอาวุธ การเข้ามาทำธุรกิจที่ดินหรือธุรกิจอื่น
ๆ ก็เพื่อล้างคาวเงินเท่านั้น นี่คือสาเหตุสำคัญที่ติดค้างในอารมณ์ซึ่งทำให้เธอหลีกเลี่ยงที่จะให้สัมภาษณ์พิเศษกับสื่อมวลชนทุกฉบับ
"ก็ไม่รู้จะให้สัมภาษณ์พิเศษไปทำไมกัน เพื่ออะไร เพื่อโปรโมตโครงการหรือก็ไม่จำเป็นเลย"
ราศรีเคยกล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน"
เธอพยายามย้ำกับสื่อมวลชนที่ต้องการทราบประวัติส่วนตัว ประวัติการทำงานในอดีต
ก่อนที่จะก้าวเข้าไปสู่ธุรกิจที่เป็นที่มาของการขนานนามนั้น
"ทำไมต้องรู้ประวัติ ดูกันที่การทำงานในปัจจุบันไม่ดีกว่าหรือ"
เธอเคยย้อนถามผู้สื่อข่าวบางฉบับ
เมื่อเป็นเช่นนี้ชีวิตส่วนตัว และการทำงานของเธอบางช่วงบางตอนจึงไม่ถูกเปิดเผย
แม้แต่เพื่อนพ้องน้องพี่ที่ใกล้ชิดก็พร้อมใจกันปิดปากเงียบ
ราศรีต้องอย่าลืมความจริงข้อหนึ่งที่ว่าวันนี้เธอไม่ได้ทำธุรกิจส่วนตัวเหมือนเดิมแล้ว
แต่กลายเป็นนักพัฒนาที่ดินซึ่งเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่หลายโครงการ
มีความเกี่ยวข้องกับคนหมู่มากนับพันนับหมื่นคนคำถามที่ว่าเจ้าของโครงการเป็นใครเป็นเรื่องที่ต้องการคำอรรถาธิบาย
เป็นคำถามที่สำคัญที่ทีมงานต้องตอบลูกค้าได้แจ่มชัดในสถานการณ์ปัจจุบัน
"ผู้จัดการรายเดือน" ก็พยายามอธิบายในจุดนั้น และดูเหมือนราศรีเองก็เข้าใจ
แต่เธอก็ยังพอใจที่จะทำตัวเป็นปริศนาเช่นเคย
บทชีวิตของราศรีบางช่วงบางตอนจึงจำเป็นต้องกระโดดข้ามขาดการต่อเชื่อมไปอย่างน่าเสียดาย
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 13 ปีก่อนคือในช่วงปี 2527 ราศรีกับนายทหารเกษียณราชการกลุ่มหนึ่งได้ตั้งบริษัท
เจริญเลิศเอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัดขึ้นมา ระบุประเภทของธุรกิจไว้ว่ารับจัดสรรธุรกิจให้ผู้อื่น
รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทจะประกอบไปด้วยพลเรือเอกประเทือง วงศ์จันทร์,
พอเรือโทอนันต์ จันทรกุล, พันเอกสวัสดิ์ พัดชื่นใจ,ราศี และสุรชัย บัวเลิศ
ผู้เป็นน้องชาย
และในปี 2529 นี้เองที่ราศรีก็ได้ใช้บริษัทนี้ร่วมกับบริษัทคู่ค้าจากต่างประเทศอีก
2 บริษัททำการประมูลขายสินค้าให้กับรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง สังกัดกระทรวงกลาโหม
โดยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนระบุไว้ในบัญชีของบริษัทประมาณ 70 ล้านบาท
คำตัดสินที่ฟันธงลงไปว่าสินค้าตัวนี้คืออาวุธ ในขณะที่ราศรีเคยชี้แจงว่าเป็นการประมูลเกี่ยวกับการต่อเรือรบชื่อ
เรือรบหลวงสุรินทร์ แต่จะเป็นอะไรก็ตามเมื่องานชิ้นนี้สำเร็จ ภาพของสายสัมพันธ์ของเธอกับกองทัพเรือ
และกระทรวงกลาโหมได้เริ่มปรากฎให้เห็นมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว แล้วยังเหนียวแน่นอยู่ในปัจจุบัน
เธอเคยกล่าวว่า จากเงิน 70 ล้านบาทนี้เป็นเงินกองทุนในการทำธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2531 บริษัทเจริญเลิศฯ ได้เข้าไปลงทุนซื้อหุ้นในบริษัทเวิลด์เครื่องมือแพทย์
และบริษัทริโก้อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทริโก้ฯ เดิมเป็นบริษัทขายเครื่องปรับอากาศ
ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นธุรกิจ นายหน้าและตัวแทน
ธุรกิจของราศรีได้ขยายตัวไปอีกหลายบริษัท เช่น บริษัทแชลแลนจ์อินดัสทรีส์
ซึ่งเป็นบริษัทที่ขายเครื่องมือ และอุปกรณ์การแพทย์ทุกชนิด มีบริษัทเดอาร์ไทยแลนด์เป็นโรงงานผลิต
บริษัทอีเดน ออลซี่ ดีเวลลอปเม้นท์ ซึ่งต่อมาภายหลังเปลี่ยนเป็น แชลเลนจ์
เทคโนโลยี ทำธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมพลาสติก
รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทต่าง ๆ ที่ทยอยเกิดขึ้นมา ส่วนใหญ่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นกลุ่มเดิมในบริษัทเจริญเลิศฯ
นั่นเอง พร้อม ๆ กันนั้นในปี 2532 ซึ่งเป็นช่วงที่ธุรกิจที่ดินบ้านเรากำลังบูมสุด
ๆ ราศรีจึงได้ตั้งบริษัทยิ่งรวยเรียลเอสเตทขึ้น เพื่อทำธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดิน
นอกจากผู้ถือหุ้นกลุ่มเดิมแล้ว เธอยังดึงเอาอัมพร กีรติบุตร สาวสังคมชื่อดังคนหนึ่งมาร่วมถือหุ้นด้วย
ถ้าจะมองกันว่าราศรีเติบโตในวงการธุรกิจมาได้เพราะมีผู้ใหญ่ในกองทัพสนับสนุน
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าเธอเป็นคนเก่ง และมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลคนหนึ่ง
การซื้อที่ดินเก็บไว้เพื่อขายเก็งกำไรอาจจะเป็นเรื่องที่นิยมกันมากในช่วงเวลานั้นของบรรดาเศรษฐีหน้าเก่า
หน้าใหม่กระเป๋าหนักทั้งหลาย แต่สายตาของราศรีไม่ได้หยุดนิ่งเพียงนั้น เธอกลับมองทะลุว่าธุรกิจที่อยู่อาศัยจะเป็นธุรกิจที่มีความเป็นไปได้สูงในระยะเวลาต่อไป
ดังนั้นเมื่อปี 2535 มีผู้เอาโครงการบางมดแลนด์ซึ่งตั้งอยู่บนถนนเล็ก ๆ
ริมคลองประปา และยังมีพื้นที่ในโครงการเหลืออีกประมาณ 90 ไร่มาเสนอขาย เพราะมีปัญหาทางด้านการเงินและการบริหาร
เธอตัดสินใจซื้อ ทั้งที่บนถนนเส้นนี้ในช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมาเป็นทำเลที่ค่อนข้างไกล
และเปลี่ยว เป็นแหล่งที่มีพวกแขกมอญเลี้ยงวัวกันเป็นจำนวนมาก
แต่หลังจากนั้นถนนเส้นนี้ก็ได้มีการขยายเป็น 4 เลน และมีจุดขึ้นลงทางด่วนขั้นที่
2 ทั้งด้านถนนงามวงศ์วานและแจ้งวัฒนะที่ไม่ไกลจากโครงการนัก จนในวันนี้ได้กลายเป็นทำเลทองทางด้านที่อยู่อาศัยอีกแห่งหนึ่ง
โครงการบางมดแลนด์ เดิมเป็นโครงการของผู้มีรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำรูปแบบโครงการธรรมดามาก
ซึ่งแน่นอนราศรีไม่ชอบ สินค้าที่เธอจะขาย จะต้องสวยดี คุ้มค่ากับราคาเงิน
เธอจึงเปลี่ยนแปลงคอนเซ็ปต์โครงการนี้ใหม่หมด และเปลี่ยนชื่อโครงการเป็น
"ยิ่งรวยนิเวศน์"
เมื่อทำบ้านแพงที่สวยงามราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 4 ล้านบาท เพื่อน ๆ ในวงการที่ราศรีดึงมาช่วยงานทางด้านประชาสัมพันธ
์และการขายในช่วงแรก ๆ ก็คือ ยาจิตต์ ยุวบูรณ์ และทนง บุรานนท์ ซึ่งในขณะนั้นได้ตั้งบริษัทบุรกิจ
จำกัด รับงานทางด้านการขายและประชาสัมพันธ์อยู่แล้ว
ยาจิตต์ และทนง ทำงานร่วมกับราศรีอยู่ไม่นาน ต่อมาทั้ง 2 ก็แยกตัวเองออกมาเพื่อไปทำโครงการพัฒนาที่ดินเองหลายโครงการ
เช่น สมคิดการ์เด้นท์ และริเวอร์วิลล่า คอนโดมิเนียมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในขณะที่โครงการยิ่งรวยนิเวศน์ไม่ค่อยประสบความสำเร็จทางด้านการขายนัก
สาเหตุสำคัญที่ราศรีไม่ประสบความสำเร็จในโครงการที่อยู่อาศัยของเธอในช่วงแรกเท่าที่ควร
อาจจะเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวพร้อม ๆ กับโครงการที่อยู่อาศัยได้เกิดขึ้นมากมาย
ลูกค้ามีหลายโครงการให้เลือก สงครามการแข่งขันเกิดขึ้นสูงมากในปี 2536 เป็นต้นมา
และที่สำคัญทีมงานของราศรียังไม่มีมืออาชีพที่แท้จริง
ราศรีชะลอการขายโครงการไปพักหนึ่งแต่แล้วจู่ ๆ เธอทำให้วงการพัฒนาที่ดินช็อกอีกครั้งด้วยการเทกโอเวอร์โครงการตึกสูง
63 ชั้นมูลค่านับหมื่นล้านบนถนนสีลมของรังสรรค์ ต่อสุวรรณ
ราศรีซื้อโครงการนี้ท่ามกลางความสงสัยของผู้คนในวงการ เพราะเป็นโครงการที่ต้องลงทุนสูง
และในช่วงปี 2537 นั้นภาวะตลาดของอาคารสำนักงาน โดยทั่วไปก็กำลังซบเซาอย่างหนัก
นับเป็นเรื่องที่เสี่ยงเกินไปในการบริหารโครงการที่มีพื้นที่ประมาณ 333,000
ตารางเมตร เป็นโครงการที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาอาคารสำนักงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และมีความสูงรองจากตึกใบหยกที่สูงประมาณ 90 ชั้น
แต่ราศรีก็กล้าโดยให้เหตุผลง่าย ๆ ว่าเป็นตึกที่อยู่ในทำเลที่ดี เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะเป็นตึกที่สวยงามเป็นหน้าเป็นตาให้ประเทศ
กับอีกเหตุผลหนึ่งคือเป็นการช่วยเพื่อน
เพื่อนที่เธอว่าคือ พวงเพ็ญ วิบูลย์สวัสดิ์ น้องสาวของรังสรรค์เอง
"รังสรรค์สีลมพรีเชียส" ถูกเปลี่ยนชื่อว่าโครงการ "โรยัลเจริญกรุง"
ก็ได้เดินหน้าต่อด้านการก่อสร้าง ตึกที่ถูกสร้างค้างคาไว้เพียง 22 ชั้นได้ก่อสร้างถึงชั้นที่
63 แล้วในปัจจุบัน โดยอำนาจเงินของราศรี
นอกจากโครงการยักษ์นี้ ปีเดียวกันนั้นราศรียังสยายปีกไปลงทุนต่างประเทศโดยเข้าไปซื้อโครงการโรงแรมที่ประเทศนิวซีแลนด์
โรงแรมนี้แรกเริ่มที่ซื้อมายังไม่ได้พัฒนา มีพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ ริมทะเลสาบ
โรโตรัว เมื่อซื้อมาแล้วราศรีก็ได้ปรับปรุงเป็นโรงแรม "โรยัล เลคไซด์
โนโวเทล" โรโตรัว เป็นโรงแรมขนาด 4 ดาว และได้เปิดบริการไปแล้วเมื่อกลางปี
2538 ที่ผ่านมา
ส่วนทางเมืองไทยราศรีก็ทะยอยเปิดโครงการที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องอีก
3 โครงการ หวังกวาดลูกค้าทุกระดับ ตั้งแต่กลุ่มที่เริ่มก่อร่างสร้างตัว ไปจนถึงกลุ่มลูกค้าที่จะมีกำลังซื้อบ้านอาศัยในราคาหลังละ
10 ล้านบาทขึ้นไป
ในขณะเดียวกันข่าวคราวที่ว่าราศรีมีความสนใจที่จะเข้าไปซื้อโครงการต่าง
ๆ ก็ยังมีอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าในเรื่องสายการบินที่ 2 ธุรกิจโทรคมนาคม การเข้าไปซื้อโรงแรมในต่างประเทศ
รวมทั้งมีทีมงานที่กำลังศึกษาโครงการพัฒนาที่ดินที่เสนอตัวเข้ามาให้เทกโอเวอร์หลายโครงการ
โครงการของสมประสงค์กรุ๊ป และโครงการของรัตนการเคหะ ได้ถูกทีมงานของราศรีเอามาศึกษาความเป็นไปได้แล้วทั้งสิ้น
ปฏิบัติการเชิงรุกในธุรกิจอย่างต่อเนื่องของเธอในเวลานี้ สร้างความสงสัยให้กับวงการเป็นอย่างมากว่าเธอเอาเงินมาจากไหนในเมื่อบริษัทหลัก
ๆ ของเธอที่ทำธุรกิจเกือบทุกบริษัทไม่มีตัวเลขกำไร (อ่านล้อมกรอบค้นกระเป๋าเงินราศรี)
ถ้าไม่มีฐานที่มาทางการเงินที่แข็งแกร่งอยู่เบื้องหลัง ราศรีคงเป็นแม่มดทางการเงินที่เก่งกาจรายหนึ่งทีเดียว
ปัจจุบันแชลเล้นจ์กรุ๊ป มีบริษัทหลักอยู่ 4 กลุ่มคือ 1. บริษัททางด้านซื้อมาขายไป
คือเจริญเลิศเอ็นเตอร์ไพรส์ 2. บริษัททางด้านอุตสาหกรรม 3. บริษัททางด้านพัฒนาที่ดิน
และ 4. บริษัททางด้านโรงแรมและบริการ
ช่วงปลายปี 2538 ถึงต้นปี 2539 ที่ผ่านมาแชลเล้นจ์กรุ๊ปจึงมีการปรับปรุงโครงสร้างการทำงานอยู่ตลอดเวลา
เพื่อให้สอดคล้องกับเนื้องานที่เพิ่มมากขึ้น
ในช่วงระยะแรก ๆ ที่เริ่มมีการขยายตัวของบริษัทนั้น ราศรีก็ใช้วิธีการแยกกันทำแยกกันบริหาร
โดยมีคณะกรรมการจากบริษัทเจริญเลิศเอ็นเตอร์ไพรส ซึ่งเป็นบริษัทแม่คอยคุมนโยบาย
แต่หลังจากการซื้อโครงการโรยัลเจริญกรุงเข้ามาแล้ว ก็ได้รวมเป็นกลุ่มชัดเจนขึ้นเป็น
แชลเล้นจ์ กรุ๊ป เพื่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพขึ้นมีการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า
และช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องของการตลาด โดยบริษัทที่ยังเป็นแกนนำก็คือเจริญเลิศฯ
เหมือนเดิม มีราศรีเป็นกรรมการผู้จัดการ และคณะกรรมการก็จะมาจากผู้บริหารแต่ละบริษัท
ทางด้านบริหาร ในกิจการด้านการซื้อมาขายไปและด้านอุตสาหกรรมนั้น ราศรีจะเป็นผู้ดูแลโดยตรง
ส่วนธุรกิจด้านอสังหริมทรัพย์ที่กำลังก่อสร้างนั้น ราศรีจำเป็นต้องมีมืออาชีพเข้ามาช่วยอย่างเร่งด่วน
เพราะบริษัทที่เติบโตอย่างรวดเร็วไม่มีการสร้างขุมกำลังพลที่แข็งแกร่งประจำการอย่างต่อเนื่องนั้น
อาจจะทำให้โครงการล้มได้ง่าย ๆ เหมือนกัน ซึ่งอันนี้มีตัวอย่างให้เห็น ๆ
แล้วหลายราย
ราศรีมีความตั้งใจจริงที่จะทำโครงการทุกโครงการให้ดีมีคุณภาพ "เธอเองก็รู้ตัวว่ามีคนหลายคนจับตามองอยู่
ดังนั้นเธอต้องทำให้ได้ดีที่สุด" เพื่อนผู้ใกล้ชิดคนหนึ่งกล่าว
ความขยันเอาจริงเอาจังของเธอทำให้ทีมงานต้องเตรียมตัวตั้งรับอยู่ตลอดเวลาเพราะไม่รู้ว่าวันนี้เธอจะโผล่ไปตรวจงานที่ไซต์ไหน
บางวันราศรีอาจจะปีนบันไดเข้าไปตรวจงานบ้านที่กำลังก่อสร้าง เห็นตรงไหนผิดพลาด
ก็จะสั่งแก้สั่งรื้อทันที
มาฆะ โทณะวณิก เป็นนักพัฒนาที่ดินมืออาชีพที่ราศรีดึงเข้ามาช่วยทำโครงการเมื่อปี
2538 ซึ่งในช่วงนั้นกำลังทำโครงการที่สุวินทวงศ์ ซึ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรรที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่ม
ปัจจุบันมาฆะมีตำแหน่งเป็นกรรมการรองผู้จัดการ
มาฆะจบการศึกษาจากคณะสถาปัตย์ สถาบันเทคโนฯ พระจอมเกล้าลาดกระบังรับราชการอยู่ที่ศรีราชา
1 ปี แล้วลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัว โดยการรับงานออกแบบก่อสร้าง ต่อมาเริ่มทำโครงการของตนเองและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัย
เช่น บริษัทรับทำความสะอาด กิจการล่าสุดคือโรงแรมซิตี้โฮเต็ลที่ศรีราชา หลังจากนั้นก็ได้เข้ามาทำธุรกิจที่ดินในกรุงเทพฯ
โดยไปมีหุ้นส่วนในโครงการนอร์ทปาร์ค ในสมัยเริ่มแรกของกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์
แต่ปัจจุบัน ได้ขายหุ้นให้กลุ่มเอื้อชูเกียรติไปหมดแล้ว
มาฆะเล่าว่า สาเหตุที่ยอมเข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างให้กับราศรีเป็น เพราะเห็นว่าเป็นคนที่มีความตั้งใจจริงที่จะทำธุรกิจและงานที่เข้ามารับผิดชอบก็เป็นงานใหญ่ที่ท้าทาย
ที่สำคัญมาฆะย้ำว่าราศรีเป็นคนมีเงิน
ภายในระยะเวลา 2 ปีที่เข้ามาร่วมงานกับราศรีจะเห็นว่าเธอมีความไว้วางใจมาฆะเป็นอย่างมาก
เพราะมอบหมายงานด้านอสังหาริมทรัพย์ให้เป็นผู้ดูแลทั้งหมดแม้แต่โครงการมูลค่านับหมื่นล้านอย่าง
"โรยัลเจริญกรุง"
มาฆะเข้ามาสู่อาณาจักรของราศรีโดยเกี่ยวก้อยเอาลูกน้องมาด้วยคนหนึ่งคือ
บุณฑริก กุศลวิทย์ ซึ่งบุณฑริก นี้เข้ามาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด และฝ่ายขายของเชลเล้นจ์กรุ๊ป
ประวัติของเธอเป็นสถาปนิกรุ่นน้องของมาฆะที่สถาบันเทคโนพระจอมเกล้าลาดกระบัง
และเป็นผู้จัดการโรงแรมของมาฆะที่ชลบุรี
จากโครงการมูลค่าเพียงไม่กี่ร้อยล้านบาทที่ศรีราชามารับผิดชอบการบริหารโครงการ
และบริหารการขายมูลค่านับหมื่นล้านของแชลเล้นจ์กรุ๊ปนั้นเรียกได้ว่าเป็นงานที่ท้าทายสถาปนิกทั้ง
2 คนนี้มากทีเดียว กำลังหลักด้านที่อยู่อาศัยยังมีอยู่ประมาณ 5 คน 3 ใน 5
คนเป็นเครือญาติของเธอ
คนแรกคือกัญญ์วรา วัยคุณาน้องสาวแท้ ๆ ซึ่งราศรีดึงเข้ามาช่วยงานที่บริษัทเจริญเลิศ
เอ็นเตอร์ไพรส์ ตั้งแต่ปี 2530 ช่วงแรก ๆ จะทำงานด้านธุรการ จัดซื้อ แต่ตอนนี้เธอเข้าไปเป็นผู้จัดการโครงการที่ยิ่งรวยนิเวศน์
และกำลังเป็นลูกศิษย์อาจารย์มานพ พงศทัติในโครงการ RE.CU รุ่น 19
เจษฏ์สุดา บัวเลิศ เป็นหลานสาวของราศรีอีกคนที่จบการศึกษาระดับปริญญาโทที่อเมริกา
แล้วมาเริ่มงานที่นี่ในส่วนของเลขากรรมการบอร์ดบริษัทเจริญเลิศเอ็นเตอร์ไพรส์
ซึ่งจากตรงจุดนี้ทำให้ได้รับรู้งานด้านบ้านจัดสรรและพัฒนาที่ดินของบริษัท
เลยมีความสนใจ และคิดว่าน่าทำ เลยย้ายงานมาทำด้านการจัดซื้อในส่วนของงานด้านอสังหาริมทรัพย์เมื่อประมาณปี
2537 จนในที่สุดมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการโครงการโรยัลปาร์ค วิลล์ สุวินทวงศ์
ส่วนอีกคนคือกุลชัย บัวเลิศ เป็นน้องชายของราศรีที่ดึงเอามาช่วยงานด้านประสานงานกองทัพตั้งแต่อายุ
20 กว่า ๆ และตอนนั้นกำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง ปัจจุบันเป็นกรรมการคนหนึ่งของเชลเล้นจ์กรุ๊ป
จากการที่เป็นผู้ทำงานใกล้ชิดพี่สาวมาตลอด บทบาทของกุลชัยในกลุ่มนี้จึงน่าจับตายิ่ง
อัมรา ศิลา จากค่ายเครือซิเมนต์ไทยเข้ามาร่วมงานกับกลุ่มนี้เมื่อกลางปี
2536 ตอนแรกก็เข้ามาช่วยด้านโครงการที่ยิ่งรวยนิเวศน์ หลังจากนั้นก็ได้ไปช่วยดูงานด้านธุรการที่สำนักงานใหญ่
ปัจจุบันได้เข้ามารับผิดชอบเป็นผู้จัดการโครงการโรยัลสายไหม
ผู้หญิงคนสุดท้ายคืออรทัย ตันติเมธ ซึ่งรับผิดชอบตัวโรงแรมโรยัล เลคไซด์โนโวเทล
โรโตรัว อรทัยเข้ามาช่วยงานราศรีเมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2538 เป็นคนไทยคนเดียวในกลุ่มผู้บริหารโรงแรมเธอเกิดเมืองไทย
แต่ครอบครัวย้ายไปอยู่ต่างประเทศตั้งแต่เล็ก ๆ เลยโตเมืองนอกส่วนใหญ่อยู่ที่สิงคโปร์
เรียนหนังสือที่อเมริกามีประสบการณ์ทางด้านเรียลเอสเตทและด้านโรงแรมมาบ้าง
ทีมงานด้านบริหารเรียลเอสเตทนั้นนอกจากมาฆะแล้ว เรียกได้ว่าเป็นน้องใหม่ในวงการนี้ทั้งสิ้น
ส่วนคนเก่า ๆ ที่เรียกได้ว่าเป็นผู้ร่วมก่อตั้งคือนายทหารนอกราชการกลุ่มเดิมเช่น
พลเรือเอกอนันต์ วงศ์จันทร์, พลเรือโทอนันต์ จันทรกุล, พลเอกสมุทร นิลกุล
ปัจจุบันอายุประมาณ 70 ปี ซึ่งเจษฎ์สุดากล่าวว่ายังเป็นที่ปรึกษาและมีประสบการณ์ให้กับรุ่นลูก
รุ่นหลานที่บริษัท
แม้ภาพของราศรีในธุรกิจอื่น ๆ ไม่แจ่มชัดนัก แต่ในส่วนของพัฒนาที่ดินนั้น
ถ้าทีมงานของเธอแข็งแกร่ง มีการวางแผนที่ดีพอ ก็อาจจะประสบความสำเร็จไม่ยากนัก
จะช้าหรือเร็วแค่นั้น!