|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ธุรกิจการศึกษาถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องภาวะเศรษฐกิจน้อยกว่าธุรกิจประเภทอื่น เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรพ่อแม่ ผู้ปกครองพร้อมทุ่มเทให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษาของลูกมาก่อนเรื่องอื่นๆ ส่งผลให้ในแต่ละปีเกิดธุรกิจการศึกษาขึ้นมากมาย
แฟรนไชส์การศึกษา เป็นธุรกิจที่นักลงทุนไทยให้ความสำคัญไม่แพ้ธุรกิจอื่นๆ เพราะจากอันดับธุรกิจแฟรนไชส์ที่ได้รับความสนใจทั้งในแง่การลงทุน และการเติบโตของธุรกิจแล้วจัดอยู่ในอันดับ 3
จากการรวบรวมข้อมูลของ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" พบว่า การแข่งขันของธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษาจะเน้นเรื่องคุณภาพของการศึกษาเป็นหลักและโลเกชั่น ส่วนเรื่องราคาแทบจะไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจแต่อย่างใดโดยเฉพาะหลักสูตรการศึกษาวิชาสามัญ ทำให้เม็ดเงินที่สะพัดในธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษาเป็นตัวดึงดูดทั้งนักลงทุนรายใหม่และรายเก่าเพื่อขยายสาขายังทำเลที่มีช่องว่างจะเห็นว่าตลอดปี 2548 อัตราการเติบโตสาขาตามต่างจังหวัดของแต่ละแบรนด์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
'ภาษาอังกฤษ-จีน' รั้งตำแหน่งฮิต
"ผู้จัดการรายสัปดาห์" ได้สำรวจข้อมูลการลงทุนของธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษา พบว่า สถาบันหรือโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษยังเติบโตและเป็นธุรกิจที่นักลงทุนเลือกลงทุนมาที่สุดในกลุ่มแฟรนไชส์การศึกษา โดยในแต่ละแบรนด์ที่มีอยู่เดิมหรือแบรนด์ใหม่ได้จับตลาดลงลึกในแต่ละเซ็คเม้นท์ เช่น หลักสูตรภาษาอังกฤษสำหรับเด็กเล็กหรือสำหรับผู้ใหญ่เพื่อใช้ในการทำงาน ทั้งนี้พบว่าเกิดความต้องการทั้ง 2 ฝ่ายคือผู้เรียนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและนักลงทุนที่เข้าสู่ธุรกิจนี้
แต่การขยายสาขาในระยะหลังต้องให้เป็นเน้นตลาดต่างจังหวัดแทนเพราะตลาดในกรุงเทพฯ อยู่ในขั้นของการอิ่มตัว ในขณะที่ตลาดต่างจังหวัดก็มีศักยภาพเพียงพอ และพ่อแม่กลุ่มต่างจังหวัดก็พร้อมที่จะเสียเงินในด้านการศึกษาเพื่อให้ลูกได้เรียนภาษาเหมือนเด็กในกรุงเทพฯ อย่างไรก็ดี จำนวนการขยายสาขาของโรงเรียนภาษาอังกฤษต่อปีตั้งไว้ที่ 5-10 สาขาเป็นอย่างต่ำ
ขณะที่สถาบันสอนภาษาจีน พบว่ามีการเติบโตอย่างมากในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มผู้เรียนส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา คนทำงาน เพื่อหาโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ และการแข่งขันในตลาดแรงงาน เมื่อเปรียบเทียบกับผู้รู้ภาษาอังกฤษแล้วยังค่อนข้างน้อยกว่ามาก ทำให้บุคคลเหล่านี้เห็นโอกาสของการเรียนภาษาจีนแทนการเรียนเฉพาะภาษาอังกฤษเหมือนที่ผ่านมา รวมถึงกลุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนที่ต้องการให้ลูกหลานได้เรียนรู้ภาษาจีน จึงเกิดการขยายการลงทุนของสถาบันสอนภาษาจีนเป็นจำนวนมาก
แต่ปัจจุบันพบว่าการเข้ามาลงทุนของรายใหม่ค่อนข้างนิ่ง สวนทางกับจำนวนผู้เรียนที่โตแบบก้าวกระโดด เพราะการลงทุนของสถาบันสอนภาษาจีนนั้นแตกต่างจากธุรกิจทั่วไปผู้ลงทุนต้องที่มีประสบการณ์และมีความรู้ด้านภาษาจีนเป็นอย่างดี ทำให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการในตลาดไม่ถึง 10 ราย แต่มูลค่าตลาดรวมของธุรกิจไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี
หลักสูตรเสริมทักษะจ่อคิวโต
สมจิตร ลิขิตสถาพร เลขาธิการสมาคมแฟรนไชส์ ฉายภาพว่า การขยายการลงทุนของธุรกิจแฟรนไชส์ด้านการศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาในไทยยังมีอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดจากประเทศสิงคโปร์อีก 1-2 แบรนด์ ที่ผ่านมาจะเห็นว่าหลักสูตรการเรียนแบบคณิตคิดเร็วจะได้รับความนิยมอย่างมากและเริ่มมีหลักสูตรการเรียนเสริมทักษะ เช่น คอมพิวเตอร์ ศิลปะ ดนตรี เพื่อเสริมสร้างทักษะความสามารถนอกจากการเรียนด้านวิชาการหรือวิชาสามัญ
ขณะเดียวกัน จะเห็นว่าผู้ประกอบการได้จัดสรรพื้นที่ให้สามารถรองรับวิชาเรียนที่หลากหลายขึ้น โดยการซื้อแฟรนไชส์หลายๆ วิชามาลงในพื้นที่เดียวกันเพื่อเป็นสถาบันการศึกษาที่ครบวงจรมากขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2548 แฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษาที่ได้รับความนิยมยังเป็นเรื่องของภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษกับภาษาจีน แม้ว่าภาษาจีนพึ่งเริ่มต้นเข้าตลาดมาได้ไม่นาน ปัจจุบันตลาดมีธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษา 28 แบรนด์ มีสาขารวมกันทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ประมาณ 800 แห่ง อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าในอนาคตธุรกิจแฟรนไชส์การศึกษายังคงเติบโตได้อย่างเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีข้อดี เรื่องระยะเวลาการดำเนินงานได้ยาวนานและมั่งคงกว่าธุรกิจทั่วๆ ไป
ศิลปะ-วิทย์ฯ กลุ่มทางเลือก
แฟรนไชส์โรงเรียนสอนศิลปะหรือวิทยาศาสตร์เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ที่พึ่งเข้าสู่ตลาดมาได้ไม่นานแต่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีทั้งในแง่ของการลงทุนและการได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ เพราะปัจจุบันพ่อแม่มีความต้องการที่จะให้บุตรหลานเรียนสิ่งที่ไม่เครียดแต่ต้องคงความสร้างสรรค์ด้านความคิด
พัธนะชัย กมลเนตร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โกลเบิล อาร์ต แอนด์ ครีเอทีฟ (ไทยแลนด์) จำกัด ได้กล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ไว้ว่า ตลาดเอ็ดดูเทนเม้นท์ในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากครอบครัวคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านอารมณ์หรืออีคิวควบคู่กับสติปัญญาหรือไอคิว รวมทั้งการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็ก โดยในปีที่แล้วตลาดเอ็ดดูเทนเม้นท์ในไทยคาดว่ามีมูลค่ารวม 3,000 ล้านบาท
แต่หากมองในเรื่องของการลงทุนแล้วต้องยอมรับว่าโรงเรียนสอนศิลปะหรือวิทยาศาสตร์ต้องใช้เวลาในการวัดผลกำไรกันในระยะยาวจึงเหมาะกับคนที่ต้องการความมั่นคงระยะยาวมากกว่า เพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับการเรียนเสริมในวิชาสามัญมากกว่าการเรียนเสริมทักษะอื่นๆ
ศูนย์ฯ เด็กเล็กส่อแววรุ่ง
ปัจจุบันพ่อแม่ไทยมีความตื่นตัวและเป็นห่วงอีคิวของลูกมาก จนทำให้ศูนย์ดูแลเด็กเล็กซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ดังจากต่าประเทศทั้งอังกฤษ อเมริกา และเกาหลี ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดศูนย์เด็กเล็กภายใต้แบรนด์ของคนไทยเกิดขึ้นอีกหลายแบรนด์ โดยแต่ละแบรนด์จะเน้นเรื่องของคุณภาพ หลักสูตรการเรียน ราคา และอุปกรณ์ในการเรียนต่างๆ
อย่างทิว เบรน สคูล แฟรนไชส์ศูนย์เด็กเล็กจากเกาหลีชูจุดต่างคือ 1. มีกิจกรรมที่แตกต่างถึง 2,000 กว่ากิจกรรม 2. ครูผู้ฝึกสอนต้องเป็นครูที่มีจิตวิทยา มีความรักเด็กสูง และต้องเป็นครูที่มีความอดทนสูง 3. ทฤษฎีของทิว เบรน สคูลเป็นทฤษฎีที่ต้องการกระตุ้นให้เด็กคิดตลอดเวลา และ 4.ในหนึ่งชั้นเรียนจะมีนักเรียนไม่เกิน 5 คน เพื่อสร้างบรรยากาศของการเป็น child center อย่างแท้จริง ในขณะที่ Gymboree ในช่วงกันยายนที่ผ่านมาบริษัทมีการเปิดตัวโปรแกรมใหม่ๆ เข้ามา 30 โปรแกรม และยังมีการปรับโปรแกรมที่อยู่แล้วทั้ง 3 โปรแกรมคือ โปรแกรมเพลย์ อาร์ต และมิวสิค ใหม่
|
|
|
|
|