Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2540
"S-ONE ควบ FAS ดีลแรกของกลุ่มปิ่นที่ยึดแนวคิด "รวมกันเราอยู่"             
โดย ภัชราพร ช้างแก้ว มานิตา เข็มทอง
 

 
Charts & Figures

โครงสร้างผู้ถือหุ้นของ S-ONE ภายหลังการรวมกิจการกับ FAS ณ วันที่ 24 กันยายน 2539
ตัวเลขทางการเงินที่สำคัญของ S-ONE

   
related stories

"บงล. ทิสโก้ + บล. ไทยค้า = บงล. ทิสโก้ (ใหม่) จิ๊กซอว์ที่ลงตัว"

   
search resources

เอกธนกิจ
ปิ่น จักกะพาก




3 เม.ย. 39 กลุ่มเอกธนกิจได้ทำให้คนในแวดวงธุรกิจไฟแนนต์ตื่นตะลึงด้วยการประกาศรวมกิจการระหว่าง S-ONE กับ FAS ตามนโยบายการลดต้นทุนการดำเนินงานของ "ปิ่น จักกะพาส" ด้วยระยะเวลาห่างกันไม่ถึงปี กลุ่มปิ่นก็ช็อกวงการด้วยข่าวการรวมกิจการระหว่าง บง. เอกธนกิจกับธนาคารไทยทนุภายใต้คำสั่งฟ้าผ่าจากแบงก์ชาติและกระทรวงการคลัง เนื่องด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวได้ในเร็ววัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อ Fin1 ในความเชื่อมั่นของนักลงทุนถดถอยไปตามภาวะเศรษฐกิจด้วย

การรวมกิจการในครั้งนี้ของ Fin1 กับธนาคารไทยทนุถือเป็นการปรับโครงสร้างทางสถาบันการเงินครั้งใหญ่ในลักษณะ "รวมกันเราอยู่" เหมือนกับครั้งหนึ่งที่กลุ่มปิ่นเองก็ใช้แนวทางนี้มาแล้วกับ S-ONE และ FAS

หลังจากมีการประกาศรวมกิจการอย่างเป็นทางการระหว่าง S-ONE กับ FAS ทั้ง 2 บริษัทก็ได้กำหนดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นทันที เนื่องจากขั้นตอนในการรวมกิจการนั้นจะไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้ถ้าหากไม่ได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นทั้ง 2 บริษัท ดังนั้นดีลนี้จึงมี Fin1 และ บมจ. เอกโฮลดิ้ง หรือ ONE เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในฐานะของผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 บริษัท โดยในวันที่ 18 เม.ย. และวันที่ 10 พ.ค. 39 ที่ผ่านมาเป็นวันประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อขออนุมัติขายหุ้น FAS จาก ONE และ Fin1 ตามลำดับ และเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 39 S-ONE ก็ได้ขอมติรับรองจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทในการเข้าซื้อ FAS

ภายหลังจากที่เสร็จกระบวนการขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นแล้ว S-ONE ก็ได้ประกาศทำคำเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อย 100% (TENDER-OFFER) ขณะเดียวกัน S-ONE ก็เพิ่มทุนจำนวน 30 ล้านหุ้น เพื่อให้ผู้ถือหุ้นของ FAS สามารถแลกหุ้นของ S-ONE ได้ในคราวเดียวกัน ซึ่งเท่ากับว่า S-ONE ได้ชำระค่าหุ้น FAS ด้วยหุ้นของ S-ONE ในอัตรา 2 หุ้น FAS ต่อ 1 หุ้น S-ONE นี้ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ S-ONE สามารถเป็นเจ้าของ FAS ได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ รายละเอียดของการเพิ่มทุน 30 ล้านหุ้นนั้นได้แบ่งเป็นหุ้นสามัญ เพื่อรองรับการแลกหุ้นสามัญของ FAS จำนวน 25 ล้านหุ้น และอีก 5 ล้านหุ้นสำหรับรองรับการใช้สิทธิ FAS-W ซึ่งราคาวอร์แรนต์ได้กำหนดไว้ที่ 55 บาท และในวันที่ 16 เม.ย. และ 16 ต.ค. ของทุกปีเป็นวันใช้สิทธิ

กระบวนการกำหนดราคาหุ้นของ S-ONE ได้กระทำอย่างละเอียด โดยมีการอิงกับปัจจัยหลายประการ ประการแรกก็คือ มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (CURRENT NET ASSET VALUE) ของทั้ง 2 บริษัท ปัจจัยที่สองก็คือ ความสามารถในการทำกำไรที่ผ่านมาและศักยภาพในอนาคตอีก 1 ปีข้างหน้า และปัจจัยสุดท้ายคือ ราคาตลาดย้อนหลัง 90 วันของหุ้นทั้ง 2 ตัว

เบื้องแรกของการคำนวณส่วนที่ได้นั้นออกมาที่ 2.095 หุ้น FAS ต่อ 1 หุ้น S-ONE หรือ 100 หุ้น FAS จะสามารถเปลี่ยนเป็นหุ้น S-ONE ได้ทั้งหมด 47.7327 หุ้น ซึ่งจะมีเศษหุ้นทาง S-ONE จึงได้มีการปรับสัดส่วนเป็น 2:1 เพื่อง่ายต่อการคำนวณ จากนั้นก็มาคำนวณหาราคาหุ้นย้อนหลัง 90 วันของ S-ONE ซึ่งเท่ากับ 250 บาท และได้มีการ DISCOUNT ประมาณ 10-15% จึงมาลงตัวที่ 220 บาท และเมื่อนำมาคำนวณตามสัดส่วน 2:1 ก็เท่ากับ 220:110 ซึ่งราคาของ FAS ก็เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับราคาเฉลี่ย 90 วันย้อนหลังของ FAS ที่อยู่ที่ 105 บาท ซึ่งนับว่าเป็นราคาที่ได้ประโยชน์ด้วย 2 ฝ่าย

สำหรับวิธีการบันทึกบัญชีเมื่อทั้ง 2 บริษัทรวมกิจการกันแล้ว S-ONE ได้ใช้วิธี POOLING INTEREST ซึ้งเป็นมาตรฐานการลงบัญชีสากลสำหรับกรณีที่มีการซื้อกิจการด้วยหุ้นในสัดส่วนที่มากกว่า 90% ด้วยการนำส่วนของผู้ถือหุ้นของทั้ง 2 บริษัทมารวมกัน ซึ่งวิธีการนี้ทำให้ S-ONE ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตัดค่าความนิยมซึ่งเกิดจากการเข้าไปซื้อหุ้น FAS

ภายหลังที่มีการรวมกิจการแล้ว โครงสร้างผู้ถือหุ้นของ S-ONE ก็ยังคงมีเอกธนกิจ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน 21.5% บมจ. เอกโฮลดิ้งถือจำนวน 21% บมจ. ธนาคารกสิกรไทย 6.33% บ. เอกภาคจำนวน 5.74% และ บงล. เอกธนาจำนวน 3.15% ส่วนอีก 9.39% เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติและที่เหลืออีก 32.89% เป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยและโครงสร้างสายงานบังคับบัญชาก็มีการปรับใหม่เพื่อสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 5 สายงานหลัก ประกอบด้วย สายงานประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจหลักทรัพย์และวิจัย สายงานปฏิบัติการ สายงานพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุน และสายงานวาณิชธนกิจ ซึ่งมีภควัติ โกวิทวัฒนพงศ์ เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กิตติรัตน์ ณ ระนอง ดูแลสายงานธุรกิจหลักทรัพย์และวิจัย กัมปนาท โลหเจริญวนิช ดูแลสายงานปฏิบัติการ ส่วนสายงานพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนมีขนิษฐา สรรพอาษา เป็นผู้ดูแล และชาญ ศรีวิกรม์ รับผิดชอบดูแลสายงานวาณิชธนกิจ

ปัจจุบัน กรณีการรวมกิจการของ S-ONE และ FAS ใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ขาดแต่เพียงการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ครั้งสุดท้าย เพื่อให้ได้หุ้นจำนวนมากที่สุดตามที่ ก.ล.ต. ระบุไว้ ซึ่งการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ในครั้งนี้จะมีขึ้นภายในเดือน เม.ย. นี้เป็นเวลา 45 วัน หลังจากนั้นกระบวนการรับซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นรายย่อยก็จะเสร็จสิ้นลง ส่วนการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ครั้งแรกเมื่อปี' 39 ที่ผ่านมาก็มีผู้มาสวอปหุ้นทั้งสิ้นประมาณ 99% ซึ่งเหลือเพียงอีกนิดหน่อยเท่านั้น

และล่าสุดเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา S-ONE ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) ระหว่างบริษัท FAS และ BANQUE PARIBAS (พาริบาส์) ในการขายหุ้นสามัญของบริษัท ASIA EQUITY HOLDING ซึ่งถือโดย S-ONE และ FAS ในสัดส่วน 70% และ 30% ตามลำดับให้แก่พาริบาส์ทั้งหมด

ซึ่งแต่เดิม S-ONE ตั้งใจที่จะให้ ASIA EQUITY เป็นแขนขาในการขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคนี้ โดยในครั้งนั้นภควัติ โกวิทวัฒนพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ S-ONE ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า "เราตั้งใจจะบุกธุรกิจในภูมิภาค ธุรกิจที่มะนิลาเป็นธุรกิจแบบ IN-IN คือ เป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นภายในฟิลิปปินส์เอง หากเราได้เอเชีย อิควิตี้ฯ มาก็จะเป็นลักษณะ OUT-IN คือจะนำนักลงทุนต่างประเทศเข้าไปซื้อขายหุ้นในท้องถิ่นนั้น ๆ ซึ่งเรายังขาดตรงนี้ ฉะนั้นการรวม FAS ซึ่งพ่วงเอเชีย อิควิตี้ฯ มาด้วย จะทำให้เราสร้างฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นได้ไม่ยาก และสามารถรุกสู่ตลาดในภูมิภาคได้อย่างรวดเร็ว"

แต่จากภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวงดเร็ว ความคิด ความตั้งใจของภควัติเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมากับความคิด ณ วันนี้ของเขาก็เปลี่ยนแปลงไปตามภาวะเศรษฐกิจ เขาเริ่มมองว่าการที่ S-ONE จะเป็นผู้ดำเนินธุรกิจของเอเชีย อิควิตี้ฯ ก็จะเป็นภาระมากเกินไป สู้มองหาพันธมิตรทางธุรกิจที่สามารถจะมานำพาเอเชีย อิควิตี้ฯ ให้อยู่รอดได้โดย S-ONE ไม่สูญเสียอะไร ยิ่งไปกว่านั้น S-ONE ยังจะได้พันธมิตรทางธุรกิจชั้นนำจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งเอเชีย อิควิตี้ฯ และพาริบาส์ก็จะเป็นผู้ส่งคำสั่งเสนอซื้อขายหุ้นผ่านมายัง S-ONE ด้วย สำหรับความคืบหน้าในการซื้อขายหุ้นเอเชีย อิควิตี้ฯ นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำ DUE DILIGENCE ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายใน 3 เดือนนี้

สำหรับสถานะของ FAS ในปัจจุบันก็เป็นเพียงบริษัทหลักทรัพย์บริษัทหนึ่งที่ไม่ได้เป็นสมาชิกในตลาดหลักทรัพย์ หากยังเป็นสมาชิกในชมรมโบรกเกอร์อยู่ และยังดำเนินธุรกิจต่อไปจนกว่าจะมีการขายบริษัทให้กับพันธมิตรที่สนใจต่อไปในอนาคต ซึ่งเท่ากับว่า S-ONE เลือกที่จะขายหุ้นทั้งหมดที่ S-ONE ถืออยู่ใน FAS ให้กับผู้อื่นแทนการยุบกิจการของ FAS เพื่อให้หมดสภาพการเป็นนิติบุคคลและขายใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ออกไป

ทั้งนี้การตัดขาย FAS ทั้งบริษัทนั้นรวมถึงสาขาทั้ง 2 ของ FAS ด้วยคือที่ ถ. ศรีนครินทร์ และ ถ. วิภาวดีรังสิต เนื่องจาก ก.ล.ต. ไม่อนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์เปิดทำการสาขาใหม่ได้ เนื่องด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ดังนั้น S-ONE จึงยังมีจำนวนสาขาเท่าเดิมคือ 13 สาขา รวมสำนักงานใหญ่แบ่งเป็นต่างจังหวัด 9 สาขา กรุงเทพฯ และปริมณฑลอีก 4 สาขา

อย่างไรก็ดีสำหรับสาขาที่มีความซ้ำซ้อนกัน S-ONE ก็จะเลือกเอาทำเลที่ดีที่สุดเป็นที่ทำการไป เช่น สาขาที่เชียงใหม่จะใช้สาขาของ FAS เป็นที่ทำการแห่งใหม่ของ S-ONE เนื่องจากมีทำเลที่เหมาะสมและมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง ส่วนที่โคราชก็ใช้ของ S-ONE นอกจากนี้ สาขาเยาวราชของ S-ONE ก็ได้ย้ายมาที่ HEAD OFFICE ของ FAS ที่ตั้งอยู่ที่สาธรเพื่อใช้เป็นสำนักงานส่วนขยาย

การรวมกิจการของทั้ง 2 บริษัทนั้นแม้ว่าจะมีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ปีที่แล้ว แต่ก่อนหน้านั้นผู้บริหารและทีมงานที่เกี่ยวข้องทุกคนก็ได้มีการวางแผนกันมาแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2538 และต้องชมเชยผู้ที่เกี่ยวข้องในดีลนี้ทุกคนว่าสามารถเก็บงำควาบลับได้อย่างดีเพราะตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่มีการเคลื่อนไหวกันภายในนั้นไม่มีข่าวหลุดออกมาสร้างความปั่นป่วนต่อราคาหุ้นและความเชื่อมั่นของนักลงทุนเลย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us