Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2540
"TDB+FIN1 ต้องอย่างนี้จึงจะรอด?"             
โดย ภัชราพร ช้างแก้ว มานิตา เข็มทอง
 

 
Charts & Figures

กราฟราคาหุ้น FIN 1 เทียบกับดัชนีตลาดฯ
บริษัทเงินทุน เอกธนกิจ จำกัด (มหาชน)
จุดเด่นในรอบปีของธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน)
สินทรัพย์รวมและสินเชื่อของธนาคารไทยทนุ
ธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน)


   
search resources

ธนาคารดีบีเอสไทยทนุ
เอกธนกิจ
ปิ่น จักกะพาก




การรวมกิจการระหว่างธนาคารไทยทนุ (TDB) และบริษัทเงินทุน เอกธนกิจ (Fin1) เพื่อเกิดเป็นธนาคารไทยทนุ ในสูตรการ MERGE แบบ A+B=C ที่มีฐานสินทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากเดิม 119,598 ล้านบาท เพิ่มเป็นขนาด 190,000 ล้านบาทนั้น ถือเป็นก้าวการเติบโตที่สำคัญที่สุดของธนาคารที่มีอายุครบ 48 ปีเต็มในเดือนเมษายนนี้ ดีลนี้ต้องถือว่า TDB รับประโยชน์ไปเนื้อ ๆ เพราะดีลเกิดในจังหวะที่ดี เงื่อนไขอย่างด ี และมีข้อต่อรองที่ดี อย่างไรก็ดีหากมองในส่วนของเอกธนกิจ ซึ่งต้องจบอายุลงในเวลาเพียง 10 ปีนั้น ก็ต้องถือเป็นประวัติศาสตร์สำคัญของวงการการเงินไทย เป็นภาพสะท้อนของการทำธุรกิจที่เติบโตเร็ว และถึงบทอวสานในเวลาอันรวดเร็ว!!

จันทร์ที่ 3 มีนาคม 2540 ตลาดการเงินไทยตกอยู่ในภาวะที่เรียกได้ว่า "วิกฤต" เพราะข่าวร้ายต่าง ๆ รุมเร้าเข้ามาเป็นระลอก ๆ โดยมีไฮไลต์อยู่ที่เรื่องการปิดฉากอาณาจักรของกลุ่ม "เอก" ด้วยการประกาศรวมกิจการ (MERGE) ระหว่าง บง. เอกธนกิจ (Fin1) กับธนาคารไทยทนุ (TDB) ในสูตรการรวมกิจการแบบ A+B=C

ข่าวเรื่องการรวมกิจการหลุดออกมาตีพิมพ์ตามหน้าหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ก่อนหน้าวันจันทร์ แต่เมื่อเปิดตลาดตอนเช้า นอกจากการขึ้นเครื่องหมาย SP เพื่อห้ามการซื้อขายหุ้นไทยทนุและเอกธนกิจแล้ว หุ้นในหมวดธนาคารพาณิชย์ และเงินทุนหลักทรัพย์ทั้งหมดก็ถูกห้ามซื้อการขายไปด้วย เจ้าหน้าที่การตลาดต่างบอกลูกค้าของตนว่าการห้ามซื้อขายหุ้นใน 2 หมวดนี้คงจะเกิดขึ้นเฉพาะในช่วงเช้าเท่านั้น และช่วงบ่ายก็คงสามารถซื้อขายได้ ส่วนที่มีการซื้อขายไปแล้วก่อนที่จะสั่งห้ามทันนั้น ให้ยกเลิกรายการด้วย

เป็นภาวะวิกฤติโดยแท้เมื่อย่างเข้าช่วงบ่ายของการซื้อขายหุ้นใน 2 หมวดนี้ยังคงถูกพักการซื้อขายต่อ จนวนวันทำการวันถัดไปจึงสามารถซื้อขายได้

ความฉงนสนเท่ห ์และความหวาดวิตกเกิดขึ้นทั่วไป ในวันจันทร์นั้นมีผู้ฝากเงินแห่กันถอนตั๋วเงินฝากของตนออกจากเอกธนกิจจำนวนมาก ซึ่งในปี 2539 ทั้งปีก็เกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้นประปราย แต่ยังไม่ตื่นตระหนกนัก มีลูกค้าบริษัทหลายรายที่ถอนเงินฝากจากเอกธนกิจ ทำให้สถานการณ์ของบริษัทแย่ลงกว่าที่ควรจะเป็น ขณะที่ข้อมูลเรื่องการรวมกิจการก็มีกระท่อนกระแท่นทำให้เกิดการคาดหมายไปในทางร้ายมากกว่าทางที่ดี

เรื่องราวของปิ่น จักกะพาส กรรมการผู้จัดการ บง. เอกธนกิจ จก. (มหาชน) ผู้สร้างอาณาจักรกลุ่ม "เอก" ถูกนำมาเปิดเผยในทางที่ส่วนมากไม่ได้ช่วยระงับความตื่นตกใจของผู้คนสักเท่าใด และแน่นอนว่าในบรรดาแนวคิดต่าง ๆ ที่มองการปิดตัวลงของอาณาจักรกลุ่ม "เอก" ครั้งนี้ย่อมมีสายตาไม่เชื่อมั่นกิจการไฟแนนซ์ไทยอยู่มาก เพราะธุรกิจประเภทนี้สร้างประวัติความเสียหายแก่คนจำนวนมากมาแล้ว และเหตุการณ์เช่นนั้นกำลังคลายตัวเผยโฉมให้เห็นใช่หรือไม่ จากการล่มสลายของกลุ่ม "เอก" ครั้งนี้!

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2540 ปิ่นและทีมงานผู้บริหารเอกธนกิจได้จัดงานแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานะของบริษัท ปฏิเสธข่าวลือต่าง ๆ เช่น บริษัทขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน มีภาระเพิ่มจากการใช้สิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้แปลงสภาพ (ECD) ผู้ฝากเงินแห่มาถอนเงิน กรรมการ และพนักงานบางฝ่ายลาออก และมีการขาดทุนจากพอร์ตการลงทุนในหลักทรัพย์ ฯลฯ ซึ่งข่าวลือต่าง ๆ ที่เกิดกับเอกธนกิจในช่วงต้นปีที่ผ่านมานั้น โบรกเกอร์ส่วนมากให้ความเห็นตรงกันว่าเป็นครั้งที่รุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นกับกลุ่ม "เอก" ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคาหุ้นเอกธนกิจและดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (ดูกราฟราคาหุ้น Fin1 เทียบกับดัชนี SET)

อย่างไรก็ดี ปิ่นแถลงข่าวยืนยันความมั่นคงมีเสถียรภาพของบริษัท โดยเอกธนกิจมีเงินกองทุนสูงถึง 14,000 ล้านบาท (ดูข้อมูลสำคัญทางการเงินของเอกธนกิจ) มีอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง 19.9% ณ สิ้นปี 2539 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่แบงก์ชาติกำหนดไว้คือ 7.5%

ส่วนผลกระทบเรื่องพอร์ตเงินลงทุนในหลักทรัพย์มีราคาลดลงนั้น บริษัทฯ อธิบายว่าได้มีการลงบัญชีตามหลักการบัญชีที่ถูกต้องในเรื่องนี้ โดยมีการบันทึกส่วนต่างที่ราคาตลาดของเงินลงทุนระยะยาวที่มีราคาต่ำกว่าราคาทุนจำนวน 1,161 ล้านบาท (ซึ่งแสดงไว้ในงบดุล ในรายการ "ขาดทุนสุทธิที่ยังไม่เกิดขึ้นจากหลักทรัพย์ลงทุน") โดยหักจากส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งสุทธิแล้วยังคงมียอดสูงถึง 14,000 ล้านบาท

เรื่องสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์บริษัทอธิบายว่ามีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้ออยู่ประมาณ 21% ของสินเชื่อทั้งหมด (ซึ่ง ณ 31 ธันวาคม 2539 บริษัทมีการปล่อยสินเชื่อทั้งหมดในรายการ เงินให้กู้ยืม ลูกหนี้ และดอกเบี้ยค้างรับรวม 66,122 ล้านบาท) นั่นเท่ากับบริษัทมีสินเชื่อเช่าซื้ออยู่ประมาณ 14,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทยอมรับว่ามีปัญหาอยู่บ้าง เพราะ "ในภาวะที่เศรษฐกิจตึงตัวต่อเนื่องเป็นเวลานาน มีผลทำให้ความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ของลูกค้าลดลง" และบริษัทดำเนินการแก้ไขโดยปรับปรุงกระบวนการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บหนี้ให้ดีขึ้น นอกจากนี้ก็มีการตั้งสำรองหนี้สูงที่ค่อนข้างเข้มงวดและสูงกว่าเกณฑ์ที่แบงก์ชาติกำหนด

เรื่องสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ มีสัดส่วนประมาณ 26% ของสินเชื่อทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่า 17,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการให้กู้ยืมแก่โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ และเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกันคุ้มหนี้ อย่างไรก็ดี จากภาวะที่อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำ จึงต้องใช้เวลาในการแก้ไขให้สู่ภาวะปกติ

เรื่องเงินกู้ต่างประเทศ บริษัทมีเงินกู้ต่างประเทศจำนวน 622 ล้านเหรียญเป็นส่วนที่กู้เพื่อปล่อยต่อจำนวน 26% หรือ 162 ล้านเหรียญ ซึ่งส่วนนี้ลูกค้าเงินกู้รับความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเอง ที่เหลืออีก 74% หรือ 460 ล้านเหรียญ เป็นส่วนที่บริษัทกู้มาใช้เอง ซึ่งมีการซื้อ Cover เพื่อป้องกันความเสี่ยงไว้ 97% จึงไม่มีปัญหาในกรณีที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์ผันผวน

ในเรื่องหุ้นกู้แปลงสภาพของบริษัทครั้งที่ 1 มียอดคงเหลือเพียง 1 แสนเหรียญ ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนปี 2546 ซึ่งมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนชำระคืนไว้ที่ 25.14 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ ส่วนครั้งที่ 2 มูลค่า 120 ล้านเหรียญ เป็นหุ้นกู้ชนิดที่ไม่สามารถไถ่ถอนได้ก่อนครบกำหนด และจะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2544 มีอัตราดอกเบี้ย 2% บริษัทมีการทำประกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินกู้จำนวนนี้ไว้เต็มจำนวน ทำให้ต้นทุนสูงสุดหลังจากรวมคูปองแล้วไม่เกิน 1.25%

บริษัทกล่าวด้วยว่าไม่มีปัญหาเรื่องการชำระเงินกู้ต่างประเทศ เนื่องจากเป็นเงินกู้อายุปานกลางที่มีการวางแผนล่วงหน้าไว้แล้ว

อันที่จริงสถานะของเอกธนกิจนับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อีกเป็นจำนวนมาก แต่กระแสข่าวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทำให้มีความไม่เชื่อมั่นในสถานะของบริษัท ซึ่งเมื่อถึงจุดที่ไม่ว่าบริษัทจะอธิบายอย่างไรก็ไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นกลับมาได้อีกแล้ว อวสานของบริษัทฯ จึงเกิดขึ้น

นอกจากนี้ประวัติสถาบันไฟแนนซ์ไทยก็มีความไม่มั่นคงเท่าธนาคารพาณิชย์ ซึ่งกรณีล่าสุดของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การหรือ BBC ที่แบงก์ชาติเข้าช่วยเหลือเต็มที่ก็ทำให้คนทั่วไปเห็นความเหลื่อมล้ำแตกต่างของความไม่มั่นคงชัดเจนขึ้น นอกไปจากอดีตที่แบงก์ชาติได้ช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์มากกว่าไฟแนนซ์ โดยไม่ยอมปล่อยให้ธนาคารพาณิชย์ล้มละลาย

พิเศษ เสตเสถียร ที่ปรึกษากฎหมาย คณะกรรมการสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ให้ความเห็นในเรื่องนี้กับ "ผู้จัดการรายเดือน" ต่อข้อที่ว่าเอกธนกิจเป็นภาพสะท้อนของธุรกิจไฟแนนซ์ที่เติบโตเร็วและตกต่ำเร็วว่า "มันเป็นเรื่องที่พูดยากอยู่ไม่น้อย ผมคิดว่าสถาบันการเงินมันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ Fin1 อาจจะไม่เป็นอย่างนี้ก็ได้ ถ้าเศรษฐกิจของประเทศไม่เป็นอย่างนี้และต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา Fin1 ได้รับผลกระทบอย่างมหาศาลจากข่าวลือ ซึ่งสถานการณ์อย่างนี้ก็ลำบาก ผมไม่แน่ใจว่าหากเป็นแบงก์ แบงก์จะรับได้หรือไม่และจุดอ่อนของธุรกิจเงินทุนก็คือเคยมีภาพของการล้มละลายมาก่อน ฉะนั้นความเชื่อถือของสาธารณชนต่อธุรกิจเงินทุนจึงผันผวนได้ง่าย Fin1 เป็นไฟแนนซ์ขนาดใหญ่จึงโดนเยอะ"

อย่างไรก็ตาม พิเศษมองว่าการรวมกิจการระหว่างเอกธนกิจและไทยทนุเป็นทิศทางที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอนในอนาคต "เพียงแต่ตอนนี้มันมาเร็ว กรณีที่เกิดขึ้นเป็นภาพสะท้อนถึงการที่มีการบีบคั้นให้การรวมกิจการมันเกิดเร็วขึ้น ซึ่งไม่เฉพาะ Fin1 ไทยทนุเท่านั้น คนอื่นก็จะตามมาอีก"

ตรรกะเบื้องหลังดีล

พรสนอง ตู้จินดา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการรายเดือน" ในรายละเอียดของดีลรวมกิจการครั้งนี้

เขากล่าวถึงตรรกะของการทำดีลนี้ว่า TDB และ Fin1 ต่างเป็นพันธมิตรในการทำธุรกิจร่วมกันมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะต่างฝ่ายต่างมองว่าในโลกแห่งการเปิดเสรีทางการเงินในตอนนี้ การผนึกกำลังกันในการแข่งขันย่อมเป็นเรื่องที่ดีกว่า

แนวคิดของพรสนองก็คือ "ธนาคารไทยทนุเดิมที่ผ่านมาคุณภาพดี บุคลากรใช้ได้ แต่ผมดูว่าการแข่งขันที่เสรีมากขึ้น และความต้องการของลูกค้าที่สูงขึ้น เราจึงต้องมีขนาดและคุณภาพควบคู่กันไป เราต้องมีศักยภาพของการทำธุรกิจ ต้องมี focus ว่าจะทำอะไร โดยสิ่งที่เราทำต้องค่อนข้างครบวงจร เราก็เลยเลือกเอาพันธมิตรเข้ามา เพื่อเอาส่วนดีของเอกธนกิจก็คือ investment banking มาร่วมกับส่วนดีของธนาคารไทยทนุคือ traditional banking"

สิ่งที่พรสนองอยากจะเห็นก็คือธนาคารพาณิชย์ที่สามารถทำธุรกิจ Universal Banking หรือทำธุรกิจธนาคารได้ครบวงจรซึ่งในความหมายของพรสนองคือทำธุรกิจ Investment Bank, Commercial Bank และ Retail Bank ซึ่งเอกธนกิจมีจุดแข็งอยู่ในธุรกิจประเภทหนึ่ง และสองบ้าง ขณะที่ไทยทนุมีจุดแข็งในธุรกิจที่ สอง ส่วนธุรกิจที่สามเพิ่งเริ่มทำเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้

การที่สถาบันทั้งสองทีฐานลูกค้าและความชำนาญที่แตกต่างกัน เมื่อมารวมกันก็จะทำให้องค์กรใหม่มีความสมบูรณ์ตามที่ผู้บริหารต้องการได้

ภาพร่างธนาคารไทยทนุใหม่

เมื่อ A+B=C ธนาคารไทยทนุใหม่จึงเป็นเสมือนองค์ที่รวมเอาของที่มีคุณภาพเข้ามาไว้ที่เดียวกัน ซึ่งนั่นก็คือการทำธุรกรรมครบวงจรของธนาคารพาณิชย์ที่เรียกว่าเป็น Universal Banking นั่นเอง

ด้าน Investment Bank เป็นส่วนงานที่บุคลากรของเอกธนกิจจะมีบทบาทค่อนข้างมาก เพราะมีความชำนาญในส่วนนี้ ขณะที่ธนาคารเองก็มีเครือข่ายสาขาจำนวนเกือบ 100 แห่งทั่วประเทศเพื่อเป็นตัวกระจายสินค้าที่หน่วยงานวาณิชฯ จะผลิตออกมาสู่ตลาด ธนาคารไทยทนุใหม่จะมีฐานลูกค้าทั้งของเอกธนกิจ และไทยทนุที่ร่วมกันมา ทั้งนี้ไทยทนุดำเนินกิจการมา 48 ปี มีฐานลูกค้าขนาดกลางจำนวนมาก ส่วนเอกธนกิจมีฐานลูกค้าขนาดใหญ่มาก ตรงจุดนี้สามารถทำธุรกรรมด้านวาณิชฯ ให้ลูกค้าได้

พรสนองเปิดเผยว่าไทยทนุจะคงฐานะและสัดส่วนการถือหุ้นใน บงล. เอกธนาไว้ในจำนวน 92% "เอกธนาจะเป็น arm ในการทำธุรกิจด้านวาณิชฯ ไม่ได้เป็นส่วนงานหนึ่งในแบงก์ ในการถือหุ้นเอกธนา 92% ทำให้เราสามารถ consolidate รายได้ของเอกธนาเข้ามาได้ และแบงก์ก็จะช่วยเอกธนาในเรื่องการจัดหาเงินทุนหรือ funding ก็เป็นการช่วยซึ่งกันและกัน"

ทั้งนี้ ไทยทนุจะได้ถือหุ้นเอกธนาจำนวน 92% ไปตลอดอายุที่เอกธนกิจได้ถือ เพราะเอกธนาก็คือ บงล. ธนานันต์ ซึ่งเป็นทรัสต์ที่เอกธนกิจได้รับเงื่อนไขพิเศษจากแบงก์ชาติในการถือหุ้นและดูแลเรื่องการบริหารงาน

ส่วนแนวนโยบายในการทำธุรกรรมด้านวาณิชธนกิจนั้น พรสนองกล่าวว่า "การทำธุรกิจวาณิชฯ ของเราจะทำแบบมี focus เลือกทำ จะไม่เปะปะ จะทำรายใหญ่ไปเลย หรือแปรรูปรัฐวิสาหกิจไปเลยแล้วแต่ความเชี่ยวชาญที่เรามี"

ด้าน Commercial Bank ก็คือบทบาทที่ไทยทนุทำอยู่ ซึ่งการรวมกิจการครั้งนี้จะช่วยให้ธนาคารใหม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น เพราะมีเงินกองทุนเพิ่มมากขึ้น พอร์ตสินเชื่อส่วนใหญ่ของไทยทนุเป็นพอร์ตสินเชื่อขนาดกลาง ขณะที่ corporate banking ของเอกธนกิจมีลูกค้ารายใหญ่ พรสนองจะดำเนินการจัดขนาดสินเชื่อต่าง ๆ กลาง-ใหญ่ แบ่งตามประเภทอุตสาหกรรมให้ได้สัดส่วนที่พอเหมาะและกระจายไปในหลายประเภท ไม่เจาะจงหรือกระจุกตัว ส่วนบุคลากรที่จะมาบริหารสินเชื่อก็จะเป็นคนของทั้งไทยทนุและเอกธนกิจ เขามองว่าพอร์ตตรงนี้จะใหญ่มาก โดยการรวมสินเชื่อในเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้น ไม่รวมในต่างจังหวัด

ในวงเงินสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดที่เอกธนกิจมีประมาณ 21,500 ล้านบาท ไทยทนุจะรับมาในวงเงินเพียง 6,000 ล้านบาทเท่านั้น โดยพิจารณาเอาสินเชื่อที่มีคุณภาพดี คือมีหลักทรัพย์คุ้มหนี้ หรือเกินคุ้ม และมีกระแสเงินสดหมุนเวียนดี

ด้านพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มูลค่าประมาณ 14,000-16,000 ล้านบาทนั้น เอกธนกิจจะขายออกไปก่อนที่จะมีการประเมินราคาเพื่อรวมกิจการ

ส่วนธุรกิจสุดท้ายที่แบงก์จะให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นคือ Retail Bank ซึ่งว่าไปแล้วไทยทนุก็เพิ่งจะมาทำธุรกิจด้านนี้เมื่อไม่นานมานี้ พรสนองกล่าวว่า "ในส่วนของ Fin1 นั้นเราจะดึงเฉพาะสินเชื่อเพื่อการเคหะหรือ housing ของเขามา ส่วนเช่าซื้อฯ จะขายออกไป"

ดังนั้นในภาพของธนาคารไทยทนุใหม่นั้น จะเป็นธนาคารที่มีขนาดสินทรัพย์ประมาณ 190,000 ล้านบาท (ธนาคารไทยทนุ = 119,598 ล้านบาท เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 25389 มีสินทรัพย์รวม 102,410 ล้านบาท แต่เมื่อขายสินทรัพย์หลายอย่างออกไปแล้ว ตัวเลขที่จะมารวมกับสินทรัพย์ของไทยทนุจะลดน้อยลง)

เงินกองทุนมีประมาณ 20,000 ล้านบาท (ไทยทนุมี 12,000 ล้านบาท ส่วนเอกธนกิจมี 14,000 ล้านบาท แต่ในส่วนของเอกธนกิจที่จะมารวมนั้นต้องมีส่วนที่ลดลงไป) (ดูตารางข้อมูลสำคัญทางการเงินของธนาคารไทยทนุ)

ด้านสินเชื่อก็จะมีการกระจายการปล่อยสินเชื่อไปในเซกเตอร์ต่าง ๆ และกลุ่มลูกค้าระดับกลาง ใหญ่ รวมถึงรายย่อยโดยทั่ว ซึ่งจุดนี้เป็นข้อดีให้ฐานลูกค้าของแบงก์และที่มาของรายได้ดอกเบี้ยไม่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งหรือฐานลูกค้าขนาดเดียว

พรสนองกล่าวว่า "การที่มี 3 ธุรกิจที่แข็ง ๆ ฐานรายได้จะกระจายน้อย สถาบันจะมีโครงสร้างอย่างนี้"

ที่ผ่านมา ไฟแนนซ์บางแห่งพึ่งฐานรายได้จากตลาดหุ้นมากเกินไป พอตลาดซบเซาก็ไดรับผลกระทบหนัก หรือบางแห่งพึ่งลูกค้ารายใหญ่มากเกินไป เมื่อมีภาวะการแข่งขันสูง ลูกค้า corporate ก็ถูกทุกคนวิ่งเข้าหา margin ก็ลดลง หรือบางคนพึ่งลูกค้ารายย่อยคือ retail มากเกินไปในช่วงซบเซา retail ก็ขยายไม่ได้เช่นกัน ดังนั้นการมีการกระจายฐานลูกค้าจึงเป็นสิ่งที่ดียิ่ง เพราะจะมีฐานรายได้เข้ามาอย่างมั่นคงสม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตามพรสนองยอมรับว่า "รายได้หลักยังอยู่ที่กิจการ commercial bank และ middle market ยังเป็นฐานใหญ่อยู่แต่ wholesale จะเพิ่มเข้ามาจากเอกธนกิจ"

เขายังมองภาวะเศรษฐกิจจากมุมของผู้ที่มองโลกในแง่ดีว่าลูกค้าขนาดย่อยหรือการทำ retail bank จะเป็นฐานลูกค้าที่สำคัญต่อไปในอนาคต เพราะ "ประเทศไทยเมื่อโตขึ้น ทั้งลูกค้าขนาดกลาง ขนาดที่ไม่ใหญ่เกินไปจะขยายมาก เมื่อรายได้ของประชากรพัฒนามากขึ้น ชนชั้นกลางจะเพิ่มมากขึ้น retail products ต้องมีมากขึ้น เมืองไทยตอนนี้ต้องซบเซาแน่ ๆ เพราะเราฟุ้งเฟ้อกันมา แต่ฐานของเรายังดี ศักยภาพของเรายังดี เพียงแต่ตอนนี้เรากำลังจ่ายราคาที่เราฟุ้งเฟ้อหรือสุขสบายมากเกินไปเมื่อ 3 ปีก่อน ในเมื่อทุกอย่างมันลงตัวได้อย่างที่ ดร. อำนวย รมต. คลังพูดว่าเมื่อใดที่เราเริ่มแก้ปัญหาของเราจริง ๆ แล้วเรามีการขยายตัวที่ยั่งยืนหรือ sustainable เมื่อนั้นตลาดระดับกลางและรายย่อยของเราจะขยายตัวค่อนข้างดี"

แม้ว่าการรวมกิจการที่เกิดขึ้นครั้งนี้จะเป็นไปอย่างฉุกละหุก ขาดการเตรียมตัวที่ดีมา แต่ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก ๆ สำหรับแบงก์ไทยทนุ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ช่วยให้ไทยทนุวิ่งถึงเป้าหมายได้เร็วขึ้น

ธนาคารไทยทนุถ้าไม่ขยายตัวเลยคือทำกำไรตามปกติก็ยังสามารถทำกำไรได้ปีละ 1,000 กว่าล้านบาท ในปี 2539 ที่ผ่านมา ธนาคารมีกำไร 1,087 ล้านบาท หรือมีอัตราการเติบโตประมาณ 36.5% และปี 2540 นี้ธนาคารตั้งเป้าว่าจะสร้างกำไรให้ได้ 1,500-1,600 ล้านบาท ซึ่งเมื่อมีการรวมกิจการที่คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6-9 เดือนนั้น ก็เท่ากับว่าธนาคารสามารถดำเนินการได้ทะลุเป้าหมายแน่นอน ไม่นับรวมการดำเนินธุรกิจตามปกติ

พรสนองกล่าวว่า "ที่เราคาดหมายต่าง ๆ นั้น มันทะลุเป้าไปหมดแล้ว อย่างมีคุณภาพด้วย เพราะเราเลือกเอาเขาเข้ามา"

พอร์ตเงินลงทุนของเอกธนกิจ

เอกธนกิจมีพอร์ตเงินลงทุนอยู่ในบริษัทจำนวนมาก ในการรวมกิจการกับธนาคารไทยทนุครั้งนี้ ในเบื้องต้น ไทยทนุจะถือหุ้นในกิจการบางอย่างต่อไปแน่นอนไม่เปลี่ยนแปลง เพราะถือเป็นการลงทุนที่ดี เช่น เอกธนา บล. เอกธำรง ส่วนกิจการอื่น ๆ ก็อาจจะยังถือต่อไประยะหนึ่ง จนเมื่อถึงจุดที่สามารถผ่องถ่ายออกไปได้ อาจจะเป็นการขายในภาวะที่ตลาดมีราคาดี หรือขายให้ผู้สนใจต้องการทำธุรกิจนั้น ๆ ต่อธนาคารฯ ก็มีนโยบายที่จะทำเช่นนั้น

ในส่วนของ บล. เอกธำรงนั้น พรสนองมองว่าเป็นกิจการที่ดีมาก เป็นบริษัทชั้นนำด้านหลักทรัพย์ เป็น top broker มีการบริหารงานที่ดี มีเครือข่ายกับต่างประเทศ "ตัวนี้ผมว่าเราโชคดีที่เราได้ถือหุ้นเกือบ 21.5% เราก็จะถือตัวนี้ไนนามไทยทนุต่อไป"

สำหรับหุ้นตัวอื่น ๆ นั้น เขากล่าวว่า "ตัวอื่น ๆ ที่เอกธนกิจถืออยู่ เราก็อาจจะเป็น passive investor ถือต่อไป และในยามที่ตลาดดี ๆ เราก็อาจจะขายหุ้นนั้นออกไปก็ได้ เราจะเก็บเฉพาะของที่เกี่ยวข้องกับเราเท่านั้น อะไรที่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า อย่างเช่น เอกธำรง เราจะเก็บไว้"

เมื่อสิ้นเดือนธันวาคม 2538 เอกธนกิจรายงานว่ามีบริษัทในเครือที่ถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ 10 ขึ้นไปจำนวน 21 แห่งกระจายอยู่ในหมวดต่าง ๆ ดังนี้

-เงินทุนหลักทรัพย์ ได้แก่ บงล. เอกธนา จก. (มหาชน

-โฮลดิ้งคัมปะนี ได้แก่ บ. เอเชีย เอควิตี้ โฮลดิ้ง จก.

-หลักทรัพย์ ได้แก่ บล. เอกธำรง จก. (มหาชน), บล. เอกเอเชีย จก. (มหาชน) (ซึ่งตัวนี้ได้มีการขายให้ บล. เอกธำรงไปแล้ว), บลจ. วรรณอินเวสเมน์ จก., บล. เจ. เอฟ. ธนาคม จก. (มหาชน)

-หน่วยลงทุน ได้แก่ กองทุนเปิดเอกธนบดี, กองทุนรวมเอกสินทวี

-วัสดุก่อสร้างและตกแต่ง ได้แก่ บ. เจ้าพระยาหินอ่อน-แกรนิต จก. (มหาชน), บ. ไดนาสตี้เซรามิค จก. (มหาชน), บ. สยามเทคโนซิตี้ จก., บ. สระบุรีซีเมนต์ จก., บ. ไทยแกมมอน จก.

-พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ บ. รังสิตพลาซ่า จก., บ. เลครัชดา จก., บ. สิริธนสมบัติ จก., บ. แลนด์วัน จก.

-ลิสซิ่ง ได้แก่ บ. แอสวันแคปปิตอล จก.

-สื่อสาร ได้แก่ บ. สามารถเคเบิล ซิสเต็ม จก.

-อุตสาหกรรมการผลิต ได้แก่ บ. เอเซียเทป จก.

-พาณิชย์ ได้แก่ บ. เอสมิโด แฟชั่นส์ จก.

อย่างไรก็ดี บริษัทฯ มีการรายงานว่าได้เข้าถือหุ้นและร่วมบริหารบริษัทในกลุ่ม 8 แห่งคือ เอกธนา, เอกธำรง, เอกเอเชีย, เจ.เอฟ.ธนาคม, เอเชียเอควิตี้ โฮลดิ้ง, เอกโฮลดิ้ง, เอกประกันภัย และวรรณ อินเวสเมนท์ ซึ่งเอกประกันภัยนั้น บริษัทฯ ถือหุ้นอยู่ 10% ในปี 2537 ครั้นปี 2538 ก็ไม่ปรากฏรายงานการถือหุ้นกิจการนี้

ในกรณีเช่นนี้ เมื่อสิ้นปี 2539 หรือ ณ วันที่มีการรวมกิจการกับไทยทนุ พอร์ตการลงทุนของเอกธนกิจหรือกิจการในเครือจะมีการเปลี่ยนแปลงจากนี้อีกมาก และกิจการที่ไทยทนุยินดีถือต่อไปก็มีเพียงเอกธนา และเอกธำรง ซึ่งเป็นเสมือน strategic partners ส่วนวรรณอินเวสเมนท์นั้น พรสนองกล่าวว่าคงต้องพิจารณาอีกที เพราะธนาคารฯ แม้จะมี บลจ. ในเครือคือ บลจ. ไทยเอเชีย แต่ก็มีผู้ถือหุ้นที่เป็นแบงก์อื่นร่วมอยู่ด้วยคือธนาคารเอเชีย

เรื่องนี้ พรสนองคิดว่า "รอดูก่อนได้ ต่อไปอาจมีการจัดการโครงสร้างกันใหม่ในระบบตัว fund management company"

หลักการของพรสนองในการคัดเลือกสินทรัพย์ต่าง ๆ ของเอกธนกิจเพื่อรวมกิจการกับไทยทนุนั้น เขามีแนวคิดอยู่ว่าจะเลือกเฉพาะธุรกิจที่มีคุณภาพ ซึ่งจะทำให้การขยายตัวของแบงก์ด้วยการรวมกิจการครั้งนี้มีความเสี่ยงเกิดขึ้นน้อยที่สุด

เขากล่าวว่า "การรวมกิจการนั้นก็คือ การเพิ่มสินเชื่อและการลงทุน ซึ่ง 2 อย่างนี้เป็นสินทรัพย์ที่สำคัญของแบงก์ในส่วนของการลงทุนนั้น การที่ผมเอาเอกธำรงมา 21% ก็ไม่ต้องไปซื้อในตลาด ผมก็ไปดูและเลือกเอาเอกธำรง ส่วนตัวไหนจะเอาอีกก็ดึงเข้ามา มันก็เหมือนกับออกไปชอปปิ้ง แต่มันมีประวัติข้อมูลให้เราเห็น ผมว่าการโตอย่างนี้ในภาวะตอนนี้เป็นเรื่องที่ง่ายกว่า ผมว่าการรวมกิจการโดยเลือกสินทรัพย์ที่ดีเข้ามา จะทำให้การขยายตัวอย่างก้าวกระโดด โดยที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด"

ด้านสินทรัพย์ที่ไทยทนุไม่ได้เอาเข้ามาในการรวมกิจการครั้งนี้ สินทรัพย์บางตัวเอกธนกิจต้องจัดการขายออกเอง บางตัวไทยทนุอาจจะช่วยขายได้ ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้องค์กรไทยทนุใหม่ประกอบไปด้วยสินทรัพย์ที่ดี และในประเด็นนี้พรสนองกล่าวว่า "เป็นเรื่องที่ตกลงกันเรียบร้อยแล้ว"

ส่วนรายได้รายจ่ายที่เกิดขึ้นในระหว่างการขายสินทรัพย์ของเอกธนกิจนั้น ถือเป็นรายได้รายจ่ายของแต่ละองค์กรก่อนการรวมกิจการ หลังจากนั้นจะมีการประเมินราคาโดยต่างฝ่ายต่างมีที่ปรึกษาในการดำเนินการ ซึ่งแบงก์ไทยทนุแต่งตั้ง บงล. ภัทรธนกิจเป็นที่ปรึกษาในการทำดีลและมี บ. เบเคอร์ แอนด์ แมคเคนซี เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย

วิธีการ merge ในสูตร A+B=C

ก่อนหน้ากรณีไทยทนุกับเอกธนกิจก็มีการรวมกิจการในธุรกิจตลาดเงินตลาดทุนไปแล้ว 2 กรณีคือ บงล. ทิสโก้ รวมกิจการกับ บล. ไทยค้า เมื่อปลายปี 2538 และ บล. เอกธำรงรวมกิจการกับ บงล. เอกเอเชีย เมื่อเดือนเมษายน 2539

ในกรณีของทิสโก้และไทยค้านั้นอยู่ในประเภทเดียวกับที่ไทยทนุจะรวมกับเอกธนกิจ คือ A+B=C ซึ่งแม้จะยังใช้ชื่อ บงล. ทิสโก้อยู่ แต่ในทางบัญชีนั้นได้มีการชำระบัญชีและปิดบริษัทเดิม แล้วตั้งบัญชีใหม่ บริษัทเพียงแต่ใช้ชื่อกิจการเดิมเท่านั้น (ดูล้อมกรอบ 1 เรื่องการรวมกิจการของ บงล. ทิสโก้+ บล. ไทยค้า)

ส่วนกรณีของเอกธำรง (S-ONE) กับเอกเอเชีย (FAS) เป็นในลักษณะ A+B=A กล่าวคือยังไม่มีการชำระบัญชีและปิดบริษัท FAS ทั้งหมด ซึ่งทำให้บริษัท FAS ก็ไม่มีสินทรัพย์เหลือและเป็นบริษัทเปล่าที่มีแต่ใบอนุญาต รอวันขายออกเท่านั้น (ดูตารางล้อมกรอบ 2 เรื่องการรวมกิจการของ S-ONE และ FAS)

สำหรับกรณีไทยทนุและเอกธนกิจจะมีการชำระบัญชีและปิดบริษัททั้งสองแห่งนี้เพื่อเข้าสู่บริษัทใหม่ที่ยังคงใช้ชื่อเดิมคือธนาคารไทยทนุ ซึ่งธนาคารไทยทนุใหม่นั้นมีการขออนุญาตจากแบงก์ชาติเรียบร้อยแล้ว

พรสนองเล่าว่า "ในการรวมกิจการครั้งนี้ ทางการจะออกใบอนุญาตใหม่ให้ซึ่งจริง ๆ แล้วมันเป็นพิธีการ มันก็เหมือนกับตอนที่เราเปลี่ยนจาก บริษัทจำกัด เป็นบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งตอนช่วงนั้นเราก็มีการคืนใบอนุญาตเก่า เอาใบอนุญาตใหม่มา มันก็มีการแปรสภาพมาหนหนึ่งแล้ว ครั้งนี้ก็เหมือนกัน"

แต่ในครั้งนี้เป็นการรวมกิจการที่ต้องรวมเอาทั้งคน สินทรัพย์ หนี้สินและภาระต่าง ๆ ตามที่มีการตลกลงกันเข้ามาด้วย

วิธีการซื้อขาย ธนาคารไทยทนุใหม่จะออกหุ้นใหม่มาจำนวนหนึ่ง เท่ากับที่ต้องแลกให้กับไทยทนุเดิม และเอกธนกิจจึงเท่ากับการรวมกิจการครั้งนี้ ซื้อกันด้วยหุ้น ไม่มีเงินสด แต่สัดส่วน convertion ratio เป็นเท่าไหร่นั้นต้องรอการประเมินราคาของที่ปรึกษาฯ

ที่ปรึกษาฯ แต่ละฝ่ายจะเข้าไปดูบัญชีงบดุลและรายละเอียดต่าง ๆ ใช้เวลา 30-45 วัน หลังจากนั้นต้องมีราคาออกมาเพื่อคำนวณสัดส่วนการแลกหุ้น

เมื่อได้สัดส่วนที่ชัดเจน ต่างฝ่ายต่างเอาเข้าคณะกรรมการบริษัทเพื่อขออนุมัติยินยอม ถ้าที่ประชุมอนุมัติ ก็สามารถดำเนินการต่อได้ หากไม่ ก็ต้องมีการต่อรองราคาจนกว่าจะเป็นที่พอใจ หลังจากคณะกรรมการบริษัทฯ ต่างฝ่ายตกลงแล้วก็ต้องนำผลการประชุมนี้เข้าที่ประชุมผู้ถือหุ้นของแต่ละฝ่ายเพื่อขอการยินยอมอีกด้วย

เมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นตกลง ก็สามารถดำเนินการรวมกิจการ โดยเอาฐานลูกค้าของเอกธนกิจมาที่ไทยทนุ เอาพนักงานเอกธนกิจมาอยู่ที่เลขที่ 393 ถนนสีลมหมด นี่คือขั้นของการ consolidate

พรสนองให้ความเห็นในประเด็นที่ว่าจะมีผู้ถือหุ้นไม่ยินยอมหรือไม่ว่า "ผมไม่แน่ใจในเรื่องนี้ แต่การที่ระดับบริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของเอกธนกิจมาเซ็น MOU กับเราก็คงมีความมั่นใจพอสมควรว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่อื่น ๆ ก็เห็นด้วย"

ในการรวมกิจการนั้น หลักการคือใช้เสียงของผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ใน 4 และส่วนที่เหลือต้องยอมรับ อย่างไรก็ดี ในการควบกิจการของบริษัทมหาชนมีกฎหมายพิเศษอยู่ข้อหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้ พิเศษ อธิบายว่า

ผู้ถือหุ้นที่ไม่เห็นด้วยมีสิทธิที่จะขอให้บริษัทซื้อหุ้นตัวเองกลับไปได้ (Appraisal right)โดยแนวคิดในเรื่องนี้คือผู้ถือหุ้นฝ่ายข้างน้อย ถ้าแพ้มติก็ควรจะได้รับสิทธิอะไรบางอย่าง ซึ่งในบางครั้งมติที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสถานะเช่นการไปควบกิจการกับบริษัทอื่น ผู้ถือหุ้นบางคนไม่เห็นด้วยกฎหมายก็จะบอกว่าให้บริษัทซื้อหุ้นเขากลับไปได้ ซึ่งโดยหลักการนี้บริษัทจะเป็นผู้ซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นที่ไม่เห็นด้วยในราคาที่ยุติธรรม ซึ่งแล้วแต่กฎหมายจะกำหนดว่าราคายุติธรรมคืออะไร อย่างไรก็ตามหากผู้ถือหุ้นที่ไม่เห็นด้วย ไม่มาขายหุ้นก็ถือว่าหมดสิทธิ

สำหรับกฎหมายไทยที่รับหลักการนี้มากำหนดให้มีการซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นที่ไม่เห็นด้วยกับมติของบริษัท แต่ไม่ให้บริษัทเป็นผู้ซื้อ บริษัทต้องไปหาผู้อื่นมาซื้อ ซึ่งในทางปฏิบัติจริง ๆ ก็คือผู้หุ้นใหญ่นั่นแหละที่ต้องมาซื้อหุ้นนั้นไป

ซึ่งกฎหมายข้อนี้อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นในอนาคตในกรณีการรวมกิจการไทยทนุ-เอกธนกิจได้ สำหรับผู้ถือหุ้นเอกธนกิจที่ไม่เห็นด้วยในการรวมกิจการครั้งนี้

อย่างไรก็ดี มองในแง่ประโยชน์สำหรับการได้ถือหุ้นในธนาคารไทยทนุใหม่นั้น ก็น่าจะเป็นแรงจูงใจสำหรับผู้ถือหุ้นรายย่อยของเอกธนกิจที่ได้ถือหุ้นธนาคารพาณิชย์ที่มีอัตราการเติบโตของรายได้และผลกำไรที่ดี แต่อาจจะไม่เป็นหุ้นที่มีข่าวและราคาที่หวือหวาสักเท่าใด

วัฒนธรรมขององค์กร จุดชี้ขาดความสำเร็จ

ประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในการรวมกิจการของธุรกิจทั่วโลกคือวัฒนธรรมขององค์กร ซึ่งในเมืองไทยเองประเด็นนี้ก็มีความสำคัญเช่นกัน การรวมกิจการในแง่ของสินทรัพย์ บัญชีต่าง ๆ อาจทำได้เสร็จโดยง่าย แต่เรื่องบุคลากรเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน และต้องจัดการด้วยความรอบคอบเป็นพิเศษ

โดยทั่วไป การดำเนินธุรกิจธนาคารต้องทำด้วยความรอบคอบระมัดระวังยิ่งทั้งจากการที่มีกฎหมายดูแลกำกับอย่างเข้มงวด และการที่ธุรกิจประเภทนี้ต้องอาศัยความเชื่อมั่นไว้วางใจของสังคมและผู้คนจำนวนมาก ทำให้ธนาคารทั่วไปต้องมีลักษณะ conservative ขณะที่ธุรกิจไฟแนนซ์ ซึ่งก็มีกฎหมายกำกับดูแล และมีลักษณะอาศัยความเชื่อมั่นของสาธารณะสูงเช่นกัน แต่ในส่วนของกิจการวาณิชธนกิจที่เป็นประเภทหนึ่งของธุรกิจไฟแนนซ์นั้นมีวัฒนธรรมการทำงานในลักษณะ aggessive มากซึ่งเอกธนกิจเป็นไฟแนนซ์ที่มีจุดเด่นที่งานวาณิชธนกิจมาก

ตรงจุดนี้ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่าวัฒนธรรมองค์กรของเอกธนกิจกับไทยทนุเป็นคนละแบบกัน และจะรวมกิจการได้สำเร็จหรือ

พรสนองให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า "ในสายตาของผม aggressive กับ conservative ต้องไปด้วยกัน"

เขาขยายความว่าลักษณะ conservative ของแบงก์ก็คือ "ต้องรอบคอบระมัด ระวังในเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเอง เกี่ยวกับบัญชีของเรา ฐานรายได้ งบดุล เรื่องเงินสำรอง เงินกองทุน สิ่งเหล่านี้เคร่งครัดเมื่อเกี่ยวกับตัวแบงก์"

ส่วนวัฒนธรรมที่มีลักษณะกล้ารุกหรือ aggressive นั้นก็คือในการทำธุรกิจ "ไทยทนุต้องไม่กลัวในการที่จะทำธุรกิจในเชิงรุก จะต้องเลือกว่าจะทำธุรกิจอะไรและจะต้องสู้ต้องบุก ต้องเป็น top three หรือ 1 ใน 3 ในธุรกิจนั้น ๆ ให้ได้ ส่วนด้านวาณิชฯ นั้น หลังจากวิเคราะห์ดูความเสี่ยงดีแล้ว เราต้องสามารถทำให้มันเด่นทำให้เป็น player ที่ได้รับการยอมรับจากสังคมขึ้นมาให้ได้"

พรสนองดูมีความเชื่อมั่นว่าเมื่อถึงสิ้นปีนี้ซึ่งดีลสำเร็จลง ไทยทนุโฉมใหม่จะแจ้งเกิดได้อย่างผ่าเผย ด้วยทีมงานผู้บริหารที่มีการผสมผสานระหว่างไทยทนุและเอกธนกิจ!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us