ฟิตช์ เรตติ้งฯ ผวาปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจในปีหน้า "หายนะหนี้รายย่อย" หลังธนาคารพาณิชย์ และนอน-แบงก์ โหมปล่อยกู้ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมากระหน่ำ เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ฉุดความสามารถการคืนหนี้ลดลง หวั่นเริ่มผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น ขณะที่ธนาคารไทยธนาคารยอมรับตลาดสินเชื่อรายย่อยแข่งเดือด ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบ้าน
นายวินเซนต์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิทช์ เรตติ้งส์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2549 พื้นฐานเศรษฐกิจยังคงมีความมั่นคง โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวในอัตรา 5% เมื่อเทียบกับปีนี้ที่คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวประมาณ 4.5% โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการส่งออก และการลงทุนของภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงขึ้น
สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวสูงขึ้น เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากการที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ส่งผลให้ภาคเอกชนเร่งขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่มีมากขึ้น
ส่วนแนวโน้มการขยับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ฟิทช์ฯ ประเมินว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมากนัก เนื่องจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจยังถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาก
นายมิลตัน กล่าวว่า ประเด็นที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจในปีหน้าคือ ปัญหาเรื่องความสามารถการคืนหนี้ของลูกหนี้รายย่อย ซึ่งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะในส่วนของบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอน-แบงก์) ที่เข้ามารุกในตลาดสินเชื่อบุคคล แข่งขันกับธนาคารพาณิชย์มากขึ้น และที่สำคัญการที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เริ่มขยับจะทำให้ความสามารถในการคืนหนี้ลดลง และเชื่อว่าในปีหน้าโอกาสการผิดนักชำระหนี้ของกลุ่มลูกค้ารายย่อยจะมีมากขึ้น ซึ่งจะสร้างปัญหาให้กับนอน-แบงก์ และธนาคารพาณิชย์เกิดใหม่ ที่รุกในตลาดสินเชื่อรายย่อย ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย
สำหรับภาพรวมการก่อหนี้ในส่วนของภาคครัวเรือนในช่วง 4-5 ปีก่อนหน้าขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยจากการสำรวจข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ภาระหนี้ภาคครัวในปี พ.ศ. 2539 หนี้สินภาคครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 52,001 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มเป็น 82,485 บาทต่อครัวเรือน ในปี 2545 หรือเพิ่มขึ้น 8% ต่อปี ก่อนที่จะทะยานขึ้นเป็น 103,940 บาทต่อครัวเรือน ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2547 หรือเพิ่มขึ้น 11.7% เมื่อเทียบกับปี 2545 ขณะที่รายได้ในครึ่งปีแรกของปี 2547 อยู่ที่ 14,617 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้นเพียง 4.4% เมื่อเทียบกับปี 2545
การเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือนในปี 2547 ที่ในช่วงครึ่งปีแรกหนี้ต่อครัวเรือนสูงถึง 103,940 บาทต่อครัวเรือน สอดคล้องกับตัวเลขการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค และสินเชื่อบุคคลของระบบธนาคารพาณิชย์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2547 อยู่ที่ 8.26 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 8.6 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15.8% ซึ่งในจำนวนนี้เป็นสินเชื่อที่เกิดขึ้นจากสินเชื่อส่วนบุคคลจำนวน 32.3%
ขณะที่รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิต ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2548 มีมูลค่ารวม 135,964 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,294 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน ขณะที่ยอดการเบิกเงินสดล่วงหน้า ผู้ถือบัตรเครดิตมีการเบิกเงินสดผ่านบัตรเครดิตกว่า 55,007 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 514 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนกันยายนที่มีมูลค่า 51,841 ล้านบาท
แหล่งข่าวนักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า แนวโน้มธุรกิจนอน-แบงก์ และธนาคารพาณิชย์ที่เข้ามาบุกตลาดสินเชื่อรายย่อย แนวโน้มในปีหน้าอาจเกิดปัญหาในเรื่องของการผิดนัดชำระหนี้ เนื่องจากแนวโน้มดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูง และค่าครองชีพที่สูงขึ้น จากปัญหาราคาน้ำมัน ซึ่งผลักดันให้ราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มตาม ส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าครองชีพของผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นตาม นั่นหมายความว่าความสามารถในการคืนหนี้จะลดน้อยถอยลง
ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการกองทุนรวม กล่าวว่า แนวโน้มผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในปีหน้าคาดว่าจะปรับตัวลดลง เนื่องจากในปีหน้ากลุ่มธนาคารพาณิชย์เริ่มต้องจ่ายภาษีคืนให้กับกรมสรรพากร หลังจากที่ก่อนหน้าประสบปัญหาขาดทุนจึงไม่ต้องจ่ายภาษีให้กับกรมสรรพากร
นายธาดา จารุกิจไพศาล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงยอดการปล่อยสินเชื่อรายย่อยในรอบปีที่ผ่านมา หลังจากธนาคารไทยธนาคารเริ่มที่จะรุกตลาดสินเชื่อรายย่อย เนื่องจากที่ผ่านมาผลจากการควบรวมกิจการกับ 12 ไฟแนนซ์ทำให้มีสัดส่วนสินเชื่อรายใหญ่เป็นจำนวนมาก
นายธาดา กล่าวว่า ต้นปี 2548 ได้จัดผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย ประกอบด้วยสินเชื่อบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเพื่อการศึกษา สินเชื่อเพื่อเจ้าของกิจการ สินเชื่ออเนกประสงค์สำหรับต่อเติมอาคารบ้านเรือน และมีเป้าหมายปล่อยกู้รวมประมาณ 4,000 ล้านบาท ถึงขณะนี้ได้ปล่อยกู้ไปแล้วกว่า 5,000 ล้านบาท จึงทำให้เชื่อว่าสิ้นปีซึ่งมีเวลาเหลืออีกประมาณ 2 สัปดาห์จะสามารถปล่อยกู้ได้ถึง 6,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ประมาณ 90% เป็นสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อที่อยู่อาศัย
สำหรับในปี 2549 สถาบันการเงินจะมีการแข่งขันกันมากในส่วนของสินเชื่อบุคคล และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย รวมถึงสินเชื่อบัตรเครดิต โดยเฉพาะกรณีที่สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ถูกบังคับให้คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 28% นั้น จะส่งผลให้สถาบันการเงินเหล่านั้นหันมาให้ความสนใจกลุ่มลูกค้าระดับบนที่มีรายได้เกิน 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารพาณิชย์มุ่งให้บริการอยู่แล้ว สถาบันการเงินจะแข่งขันด้วยเรื่องของการอำนวยความสะดวก ความรวดเร็วในการอนุมัติสินเชื่อมากกว่าที่จะใช้นโยบายด้านราคา เพราะว่าธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์นั้น คงจะมีข้อจำกัดมากในการที่จะลดดอกเบี้ยลงมาอีกเพราะในอดีตเคยคิดในอัตราสูง จึงเชื่อว่ายังจะมีการคิดดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมสูงเต็มเพดาน 28%
ขณะที่ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ไทย เช่น ไทยธนาคาร คิดดอกเบี้ยรวมค่าธรรมเนียมประมาณ 15-20% เท่านั้น แต่ยอมรับว่ากระบวนการอนุมัติของธนาคารอาจล่าช้ากว่า เพราะต้องคำนึงถึงมาตรฐานความเสี่ยงตามเกณฑ์ที่เข้มงวดของธปท. แต่คาดว่าสินเชื่อบุคคล และสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะยังคงมีการขยายตัวคึกคักกว่าปีนี้ตามภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเติบโตมากกว่าปีนี้
ส่วนการให้บริการด้านสินเชื่อบัตรเครดิตนั้น ธนาคารไทยธนาคารมีแผนที่จะให้บริการเช่นกัน แต่ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ ดังนั้น ในปีหน้าก็อาจจะยังไม่ได้ดำเนินการออกบัตรเครดิตให้ลูกค้า
|