|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
นโยบายค้าเสรีไทย-จีน/อาเซียนทำป่วน อุตสาหกรรมชา/แผนปลุกปั้น TEA CITY เชียงรายกระเทือนทั้งระบบ เกษตรผู้ปลูกกว่า 2 หมื่นครัวเรือนได้รับผลกระทบถ้วนหน้า ขณะที่ผู้ปลูกพืช-ผักรายย่อยเริ่มหมดทางหากิน หลังถูกพืช-ผักราคาถูกจากจีนตีตลาดกระจุย แถมทิ้งกล่องโฟมไว้ดูต่างหน้า สงว.จวกนโยบายค้าเสรีไทย-จีนลักลั่น สินค้าไทยต้องแบก VAT จีนถึง 13% ขณะที่สินค้าเกษตรจีนเข้าไทยได้รับการยกเว้นภาษี 0%ถ้วนหน้า ทั้งเรือไทยหมดสิทธิ์เกิดในแม่น้ำโขง
นโยบายค้าเสรีไทย-จีน รวมทั้งอาเซียน ที่เดินหน้าเต็มตัวมากขึ้นทุกขณะ จากเดิมที่ไทย-จีน มีข้อตกลงเปิดเสรีสินค้าเกษตรระหว่างกันนำร่องไปตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2546 เป็นต้นมา ล่าสุดเริ่มเกิดผลกระทบมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยปรากฏให้เห็นทั้งในลักษณะของข้อมูลตัวเลขทางการ / ความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ที่เกษตรกรทั้งรายย่อย - กลาง ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่เชียงราย เริ่มรวมตัว กันนำข้อมูลความเดือดร้อน - ผลกระทบที่ได้รับออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเข้ามาดำเนินการแก้ไขกันมากขึ้น
ในแง่มุมของตัวเลขอย่างเป็นทางการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ได้สรุปภาวะการค้าไทย-จีนหลังจากมีการทำข้อตกลงเปิดเสรีการค้าผักผลไม้ว่า ในช่วง 9 เดือนของปี 48 การค้าผักผลไม้ระหว่างไทย-จีน ส่งออกผ่านด่านศุลกากรในพื้นที่ภาคเหนือมูลค่ารวมทั้งสิ้น 229.6 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 47 ที่มีมูลค่าการส่งออก 343.1 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 33.1 และลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2546 ที่ยังไม่มีการเปิดเสรีการค้าระหว่างกันที่มีมูลค่า 1,504.1 ล้านบาทหลายเท่าตัว
ส่วนการนำเข้าผ่านทางภาคเหนือในช่วง 9 เดือนของปี 48 นั้น มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 305.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 47 ร้อยละ 24.9 ทำให้การค้าผักผลไม้ไทย-จีนผ่านทางภาคเหนือ ขาดดุลการค้า 75.6 ล้านบาท ทั้งที่ในช่วงเดียวกันของปีก่อนเกินดุล 98.7 ล้านบาท และช่วงเดียวกันของปี 2546 เคยเกินดุลสูงถึงกว่า 1,272 ล้านบาท
สำหรับสาเหตุที่ทำให้การค้าผักผลไม้ไทย-จีนผ่านทางภาคเหนือ มีมูลค่าการส่งออกลดลงและขาดดุลอย่างต่อเนื่องหลังจากทำข้อตกลงเปิดเสรีการค้าระหว่างกันนั้น เป็นผลเนื่องมาจากการที่ผู้ส่งออกหันไปใช้ท่าเรือกรุงเทพฯ ในการส่งออกสินค้าผักผลไม้ไปยังประเทศจีนแทนการส่งออกผ่านทางภาคเหนือ เพราะมีความสะดวกมากกว่าโดยที่เป็นการ
ค้าในอัตราภาษี 0% เหมือนกันพืชผักเชียงรายราคาร่วงหนัก
ส่วนผลกระทบจากเอฟทีเอไทย-จีน ที่เกิดขึ้นกับเกษตรรายย่อย - กลาง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ที่เริ่มปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นทุกขณะก็คือ ราคาพืชผักที่จำหน่ายที่สวนของเกษตรกรที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ที่ขณะนี้กำลังประสบปัญหาราคาตกต่ำอย่างหนักในรอบหลายปี ไม่ว่าจะเป็น ผักกาดขาว กระหล่ำ ฯลฯ ที่เกษตรกรจะปลูกตามแนวฝั่งแม่น้ำโขงเป็นเนื้อที่หลายพันไร่ โดยที่เกษตรกรเอง ก็จำเป็นต้องจำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลาง เนื่องจากไม่มีทุนพอในการส่งสินค้าไปยังตลาดใหญ่ ในตัวเมืองต่าง ๆ หรือตลาดไทยที่กรุงเทพฯ
นายสุวิทย์ บุญรัตน์ ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านหมู่บ้านป่าสักหางเวียง ต.เวียง อ.เชียงแสน กล่าวว่า เดิมราคาพืชผักของเกษตรจะมีราคาจำหน่ายผ่านพ่อค้าคนกลางเฉลี่ยกิโลกรัมละ 4-5 บาท แต่ล่าสุดเอกชนที่รับซื้อได้กดราคาพืชผักให้เหลือเพียงกิโลกรัมละ 1.50 บาท ทำให้เกษตรกรเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะไม่มีช่องทางที่จะลดต้นทุนสู้กับพืชผักนำเข้าจากจีนได้ ทำให้มีหนี้สินล้นพ้นตัว รวมทั้งไม่สามารถเปลี่ยนอาชีพได้เนื่องจากพื้นที่ไม่มีที่ดินทำนาข้าวและทำการปลูกพืชมายาวนานหลายชั่วอายุคนแล้วจึงอยากให้หน่วยงานต่างๆ เข้าไปช่วย
ด้านนายมิติ ยาประสิทธิ์ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงแสน กล่าวว่า ราคาพืชผลตกต่ำดังกล่าวเกิดจากการเปิดการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ไทย-จีน ซึ่งลดภาษีพืชผักเหลือ 0% ทำให้พืชผักของจีนซึ่งมีราคาถูกทะลักเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยจะส่งจากเชียงแสนไปยังตลาดที่ อ.เมือง จ.เชียงราย หรือที่ภาคกลางก่อนและส่งย้อนกลับมาตีตลาดในภาคเหนือ แม้กระนั้นก็ยังมีราคาถูกกว่าพืช ผักในประเทศ เพราะต้นทุนถูกกว่าเกษตรกรไทย
แหล่งข่าวจากศุลกากรเชียงแสน จ.เชียงราย ระบุว่า ปีนี้ (2548) มีผักจากจีนนำเข้ามาท่าเรือเชียงแสน เช่น บรอกเคอร์รี่,ผักกาดขาว นำเข้า 8,663 ตัน มูลค่า 105 ล้านบาท หรือราคาขายเฉลี่ยขาย ก.ก.ละ ไม่ถึง 25 สตางค์ เพราะน้ำหนักอาจรวมภาชนะไปด้วย และราว 50% ส่งขายไต้หวัน และประเทศอื่น เนื่องจากการนำเข้าผักจากจีนโดยตรงบางประเทศเช่นไต้หวันทำไม่ได้ ซึ่งไม่แน่ชัดว่าจะมีผลต่อผักท้องถิ่นมากน้อยแค่ไหน
นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่า ยังไม่แน่ชัดว่า ผักจากจีนจะมีผลกระทบต่อผักในท้องถิ่นอย่างไร เพราะเท่าที่ทราบผักสดจากจีนหลายชนิด เช่น บรอกเคอร์รี่,ผักกาด มีการแพคในกล่องโฟมอย่างดี และมักส่งตามภัตตาคาร และไม่ได้มีวางขายทั่วไปแต่อาจจะกระทบในทางอ้อม หรือไม่ต้องมาติดตามศึกษาดูให้ชัดเจน
ผู้ปลูกชาค้านสุดตัว นโยบายเปิดเสรีค้าชาไทย-จีน/อาเซียน
ขณะที่กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายค้าเสรีไทย-จีน/อาเซียน ที่ออกมาเคลื่อนไหวอีกกลุ่มคือ กลุ่มผู้ปลูกชาเชียงราย ที่ได้รวมตัวกันกว่า 200 คน เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 48 นำโดยนายกำจร มานิตวิรุฬห์ ประธานสหกรณ์ชาเชียงราย เพื่อขอพบ ดร.ทะนง พิทยะ รมว.คลัง ที่เดินทางมาประชุมคลังสัญจร ที่โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์รีสอร์ท จ.เชียงราย โดยมีนายปิยะพันธ์ นิมมานเหมินท์ รองปลัดกระทรวงการคลัง รับเรื่องแทน
ประธานสหกรณ์ชาเชียงราย ได้เรียกร้องว่า กรณีที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายที่จะเกิดเสรีการค้าใบชากับจีน / อาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งจะทำให้มีใบชาจากต่างประเทศ เข้ามาจำหน่ายในไทยมากขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวเริ่มสะท้อนออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว คือ กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตชาเขียวในประเทศ เริ่มชะลอสั่งซื้อใบชาเขียวจากเกษตรกรไทยแล้ว เพื่อรอดูใบชาต่างประเทศทะลักเข้ามา อันจะทำให้ราคาชาในประเทศตกต่ำลงแน่นอน
จะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกชาเขียว / ชาพันธุ์ดี อาทิ ชาอู่หลง ของเชียงราย ที่มีกว่า 20,000 ครัวเรือนได้รับความเดือดร้อนถ้วนหน้า จึงขอให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายเปิดเสรีการค้าใบชากับต่างประเทศ เพื่อช่วยปกป้องเกษตรกรผู้ปลูกชาในประเทศ เพราะเชื่อว่า มาตรการที่รัฐบาล จะเปิดให้นำเข้าใบชาปลอดภาษี เพื่อเก็บภาษีกับผู้ผลิตชาพร้อมดื่ม จะทำให้ผู้ผลิตชาพร้อมดื่มหันมากดราคารับซื้อชาเขียวจากเกษตรกรอีกทอดหนึ่ง
นอกจากนี้นโยบายดังกล่าว ยังจะมีผลกระทบต่อนโยบายผลักดัน ให้เชียงรายเป็นเมืองแห่งชา หรือ TEA CITY ที่นายวรเกียรติ สมสร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดกำลังผลักดันอย่างเต็มที่ โดยใช้งบประมาณ ผู้ว่าฯซีอีโอซื้อต้นกล้ามาจำหน่ายให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการอยู่ ล่าสุดมีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 1 แสนไร่ และมีมูลค่าการค้าชานับพันล้านบาท/ปีด้วย
สำหรับราคาใบชาในขณะนี้ มีตั้งแต่ กก.ละ 80 - 400 บาท ส่วนชาอู่หลง ราคาหน้าสวนอยู่ที่ 1,000 บาท/กก.ขึ้นไป
ผักจีนทั้งโฟมให้ดูต่างหน้า
นายบุญส่ง เชื้อเจ็ดตน นายกเทศมนตรี ต.เวียงเชียงแสน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีเรือสินค้าสัญชาติจีนขนสินค้าในแม่น้ำโขงขึ้นฝั่ง ที่ท่าเรือเชียงแสนเป็นจำนวนมาก พบว่า มีผู้ประกอบการค้าจากจีนได้นำขยะเข้ามาทิ้งในฝั่งไทยมากขึ้นทุกทีด้วย เมื่อเทศบาลเข้มงวดมากขึ้น ก็ได้มีการขนขยะไปยังสถานที่ฝังกลบขยะของเทศบาลตั้งอยู่พื้นที่หมู่บ้านห้วยเกี๋ยง หมู่ 8 ต.เวียง อ.เชียงแสน ห่างจากตัวเมืองเชียงแสนเล็กน้อย
โดยขยะที่สร้างปัญหามากที่สุด คือ ขยะประเภท "โฟม" ซึ่งใช้บรรจุพืชผักและผลไม้มาจากจีน เพราะขยะประเภทนี้ไม่สามารถกำจัดได้เลย เพราะเผาก็สร้างมลภาวะ และกลิ่นอย่างรุนแรง ฝังกลบก็ไม่ย่อยสลาย และไม่สามารถหาที่มาฝังกลบได้เพราะมีปริมาณมหาศาลหรือจะใช้ทำปุ๋ยก็ไม่ได้อีก
นายบุญส่ง กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันปัญหานี้ ได้เริ่มลดน้อยลงเนื่องจากสังเกตเห็นว่ามีเอกชนไทยบางราย ได้ขอนำโฟมซึ่งมีลักษณะเป็นถังไปใช้ประโยชน์ และบางส่วนชาวบ้านก็นำไปใช้ประโยชน์รวมทั้งขยะประเภทนี้ก็เริ่มกระจายเข้าสู่ด้านในของประเทศมากขึ้นทำให้ปัญหาที่เชียงแสนลดน้อยลงแล้ว
กระนั้นก็ไม่แน่ใจว่าในอนาคตโฟมจำนวนมหาศาลจะกลับมาระบาดหรือไม่ ล่าสุดเทศบาล ต.เวียงเชียงแสน ได้รับการอนุมัติโดยหลักการจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้โรงงานคัดแยกขยะแบบครบวงจรบนพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ พื้นที่หมู่บ้านห้วยเกี๋ยง หมู่ 8 ต.เวียง งบประมาณ 204 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างรอให้อำเภออนุมัติการใช้ที่ดินซึ่งหากว่าได้รับการอนุมัติ ก็จะสามารถก่อสร้างได้ในเร็วๆนี้ คาดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองนี้ได้
ส.ว.จวกนโยบายค้าเสรีไทย-จีนลักลั่น
ขณะที่คณะกรรมาธิการยุติธรรมวุฒิสภา นำโดยนายประสิทธิ์ ปทุมรักษ์ ประธานกรรมาธิการฯที่ได้เดินทางลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์การค้าชายแดนไทย-จีน ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เมื่อเร็ว ๆ นี้ ระบุว่า การค้าชายแดนผ่านแม่น้ำโขงขณะนี้มีปัญหาหลายด้าน ทั้งเรื่องการเปิดเอฟทีเอสินค้าเกษตรไทย-จีน ที่ฝ่ายไทยได้ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากจีนทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ แต่จีนกลับไม่ได้ยกเลิกเก็บภาษีสินค้าเกษตรไทยทั้งหมด โดยยังคงจัดเก็บ VAT จากพืช ผัก ผลไม้ ที่นำเข้าจากไทยอยู่ เช่น ลำไยอบแห้ง ต้องเสียภาษีภายในประเทศให้จีนอีก 13% ซึ่งถือเป็นนโยบายที่ลักลั่นไม่เท่าเทียมกัน
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการเดินเรือในแม่น้ำโขงที่ปัจจุบันไม่มีเรือที่เป็นของคนไทยแม้แต่ลำเดียว เป็นของชาวจีนทั้งหมด เนื่องจากไม่เป็นที่ยอมรับของประเทศพม่าและประเทศลาว อีกทั้งชาวจีนไม่ยอมรับคนไทยเป็นกัปตันหรือไต้ก๋งเรือ เพราะคิดว่าไม่ชำนาญเส้นทางการเดินเรือ อาจทำให้ชนหินโสโครกได้
"เรือสินค้าที่แล่นเข้าออกท่าเรือเชียงแสน มีราวปีละ 2,500 ลำ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงควรก่อสร้างท่าเรือเชียงแสน แห่งที่สอง ที่ท่าสบกก ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน ตอนใต้ของท่าเรือเชียงแสน ราว 6 ก.ม. เพื่อเป็นที่รองรับจำนวนของเรือ อย่างไรก็ตามพบว่าส่วนใหญ่เป็นของชาวจีนทั้งหมด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาก่อนที่เรือสินค้าของจีนจะยึดแม่น้ำโขงทั้งหมด"
เขาบอกว่า ในภาพรวมสินค้าเกษตรของไทยจะเสียเปรียบประเทศจีน อีกทั้งเริ่มมีการนำเข้า ผัก ผลไม้ ผ่านท่าเรือกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น เพราะสะดวกและมีคอนเทนเนอร์แช่เย็นขนาดใหญ่ทำให้ผักผลไม้ ไม่บอบช้ำ ซึ่งจะส่งผลต่อการนำเข้าทางท่าเรือเชียงแสนอย่างแน่นอน
ด้านนางเกศสุดา สังขกร เจ้าของบริษัทชิปปิ้งแห่งหนึ่ง กล่าวว่า เป็นที่ทราบดีว่ากลุ่มทุนของจีนเข้ามาลงทุนใน อ.เชียงแสน มาหลายปีแล้ว มีการตั้งบริษัทชิปปิ้งของจีน และให้ชาวจีนแต่งงานกับคนไทยเพื่อลงทุนซื้อที่ดิน ทำให้พ่อค้าไทยทุกคนต้องปรับตัว เนื่องจากการแข่งขันสูงเพราะจีนมีบทบาทในแม่น้ำโขงเป็นอย่างมาก ทั้งนี้รัฐบาลควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการแข่งขันกับต่างชาติได้ และพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพควบคู่ไปด้วย ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายรายต้องปิดตัวลง หรือทำธุรกิจรูปแบบอื่น และในอนาคตหากไม่มีคนไทยทำแล้ว เชื่อว่าธุรกิจที่เชียงแสนจะเป็นของชาวจีนทั้งหมด
|
|
|
|
|