|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แบงก์กรุงเทพ-กสิกรไทย สุดอั้นประกาศขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก 0.25-1.0% และเงินกู้ 0.25% พร้อมออกบริการเงินฝากประจำฟิกซ์ -พลัส 3 เดือน จ่ายดอกเบี้ย 3.0% มีผลวันนี้ กรุงศรีอยุธยาระบุรอแบงก์ดูผลกระทบระยะหนึ่ง คาดสัปดาห์หน้าปรับตาม เชื่อเฟด-กนง.เดินหน้า ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% และ 0.5% ตามลำดับในการประชุมเดือนนี้
นายจงรัก บุญชยานุรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารเงิน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยได้ประกาศปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำอีก 0.25-1.0% และอัตราดอกเบี้ย MLR MOR และ MRR อีก 0.25% ซึ่งจะให้อัตราดอกเบี้ยใหม่ของธนาคารเป็นดังนี้
อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน ปรับเพิ่มอีก 0.25-0.75% เป็น 1.75-2.75% ตามวงเงินที่ฝาก เงินฝากประจำ 6 เดือน ปรับเพิ่ม 0.25-0.75% เป็น 2.0-3.0% เงินฝากประจำ 12 เดือน สำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดาปรับเพิ่ม 0.25-0.75% เป็น 2.50-3.25% ส่วนนิติบุคคลปรับเพิ่ม 0.50-1.0% เป็น 2.50-3.25%
เงินฝากประจำ 24 เดือน ลูกค้า บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรปรับเพิ่ม 0.50% เป็น 3.25% ส่วนลูกค้านิติบุคคลทั่วไป ปรับเพิ่ม 1.0% เป็น 3.50% เงินฝากประจำ 36 เดือน ลูกค้าบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรปรับเพิ่ม 0.50% เป็น 3.75% เงินฝากทวีทรัพย์ 24 เดือน ปรับเพิ่ม 0.25% เป็น 3.25%
นอกจากนั้นแล้วธนาคารได้ออกบริการใหม่ เงินฝากประจำ ฟิกซ์-พลัส สำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร ฝากประจำ 3 เดือน โดยมีวงเงินฝากไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท และมีวงเงินคงเหลือในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ณ สิ้นวันทำการไม่น้อยกว่า 50,000 บาท จะได้รับดอกเบี้ย 3.0%
ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์แบบฝากต่อเนื่อง สำหรับลูกค้านิติบุคคลพิเศษ ระยะเวลาการฝากตั้งแต่ 14 วันขึ้นไป มีวงเงินฝาก 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จะได้รับดอกเบี้ย 2.75%
นายจงรัก ได้กล่าวอีกว่า ด้านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ธนาคารได้ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 0.25% โดย MLR เป็น 6.50% MOR เป็น 6.75% MRR เป็น 7.0% ทั้งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคมเป็นต้นไป
การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารในครั้งนี้ก็เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของทางการที่ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยในระบบสูงขึ้นเพื่อส่งเสริมการออม และเป็นการบริหารจัดการสินทรัพย์และหนี้สินของธนาคารให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินธุรกิจของธนาคารในภาพรวม สำหรับการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมก็เพื่อให้อยู่ในระดับเดียวกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งอื่นที่ได้ประกาศปรับขึ้นไปก่อนหน้าแล้ว
รายงานข่าวจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แจ้งว่าคณะกรรมการธนาคารอนุมัติให้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากมีผลวันนี้
นางชาลอต โทณวณิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ณ วันนี้ ธนาคารคงยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ธนาคารอยู่ระหว่างการติดตามสถานการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อย่างใกล้ชิด ซึ่งธนาคารเพิ่งประชุมคณะกรรมการไปเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ จึงยังไม่มีการประชุมในเรื่องดังกล่าวในสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ เท่าที่ตรวจสอบดูขณะนี้ยังไม่เห็นถึงความเคลื่อนไหวของเงินฝากของธนาคารจะไหลออกไปสู่ธนาคารอื่น เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงที่ธนาคารเร่งระดมเงินฝาก และมีแคมเปญในเรื่องนี้ออกมาสนับสนุนอยู่แล้ว
วิจัยกรุงศรีฯ เชื่อเฟด-กนง.เดินหน้าขยับดอกเบี้ยอีก 0.25-0.5%
ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในวันที่ 13 ธันวาคม 2548 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาทิศทางนโยบายอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นการประชุมรอบสุดท้ายในปีนี้ ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีฯคาดว่า FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้น (FED funds rate) อีก 0.25% ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 13 มาอยู่ที่ 4.25% ปัจจัยหลักเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อเนื่องจากราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูง
ในส่วนของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (MPC) ของไทย นอกเหนือจากแนวโน้มดอกเบี้ย FED ที่จะมีผลผลักดันการปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ยังมีปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ ที่ MPC ควรจะตัดสินใจปรับเพิ่มดอกเบี้ยในอัตรา 0.50% ซึ่งสูงกว่าการปรับเพิ่มดอกเบี้ยของ FED ปัจจัยหนุนดังกล่าวมีดังนี้ 1) เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังขยายตัวเกินคาดเศรษฐกิจไตรมาส 4 มีแนวโน้มเติบโตในอัตราไม่น้อยกว่า 4.8% ต่อเนื่องจาก 5.3% ในไตรมาส 3 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 2548 เติบโตประมาณ 4.5% สะท้อนเศรษฐกิจไทยมีความยืดหยุ่นในการรองรับการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยได้ในระดับหนึ่ง
ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะขาดดุลประมาณ 1.8% ของ GDP ทำให้มีความจำเป็นที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศต้องปรับขึ้นเพื่อจูงใจให้มีเงินทุนไหลเข้าชดเชยการขาดดุลดังกล่าว 2) เงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยที่น่ากังวลแม้จะชะลอลงบ้างในเดือนพฤศจิกายน แต่คาดว่าจะอยู่ในระดับ สูงถึงครึ่งแรกของปี 2549 เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูงโดยล่าสุดแตะระดับ 60.33 ดอลลาร์ /บาร์เรลเมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศและต้นทุนสินค้าและบริการโดยรวมปรับตัวสูงขึ้นตาม
นอกจากนี้ การใช้จ่ายอุปโภคบริโภคที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่จะเป็นปัจจัยกระตุ้นเงินเฟ้อในอีกทางหนึ่ง ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งล่าสุดเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้น 2.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มีโอกาสปรับสูงขึ้นเกินระดับเป้าหมายที่กำหนดไว้ (0-3.5%) ในช่วงต่อไป และ 3) ดอกเบี้ยที่แท้จริงปัจจุบันอยู่ในอัตราติดลบ 1.75% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี (2.25%) หักด้วยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ปี 2549 (4.0%) อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ติดลบมานานตั้งแต่ปี 2546 ทำให้ ธปท.ควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอัตราเร่งเพื่อให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวกหรืออยู่ในระดับใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งคาดว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงควรเป็นบวกในช่วงกลางปี 2549 จึงจะจูงใจให้เกิดการออมภาคเอกชนและเพิ่มอัตราการออมรวมของประเทศให้สอดคล้องกับการลงทุนภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นจากการลงทุน Mega Projects และรองรับการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต
ในส่วนทิศทางดอกเบี้ยตลาด นอกจากจะได้รับแรงผลักดันจากดอกเบี้ยนโยบายที่จะเพิ่มในอัตราสูงครั้งนี้แล้ว ยังมีปัจจัยสนับสนุนจาก สภาพคล่องส่วนเกินที่จะทยอยปรับลดลงจากการระดมทุนโดยภาครัฐและเอกชนผ่านการออกพันธบัตร ตราสารหนี้และตราสารทุน อาทิ การออกพันธบัตร SPV ในโครงการสร้างศูนย์ราชการแห่งใหม่ การออกตั๋วเงินคลังเพื่อกู้เงินระยะสั้น ซึ่งจะเร่งให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ปรับสูงขึ้นโดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ โดยธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและเล็กจะเร่งระดมเงินฝากเพื่อรักษา ส่วนแบ่งตลาด ทำให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ยังคงมีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่พอควรจำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นตามเพื่อรักษาฐานลูกค้าและรองรับแผนการลงทุนของธนาคารในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของฝ่ายวิจัยแม้เหตุผลดังกล่าวข้างต้นน่าเป็นปัจจัยหนุนให้ MPC ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% อีกครั้ง แต่หาก MPC เห็นว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยในอัตราสูงต่อเนื่องถึง 3 ครั้งติดต่อกันจะสร้างความหวั่นไหวต่อตลาดการเงินมากเกินควรทั้งยังอาจมีความต้องการที่จะรักษาระดับค่าเงินบาทให้เกื้อหนุนการส่งออก ก็อาจทำให้ ธปท. ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุมครั้งนี้ก็เป็นได้
|
|
|
|
|