Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2540
"บลจ. ใหม่ค่ายแบงก์นครหลวง มั่นใจเต็มร้อยเปิดกองทุนหุ้น"             
 


   
www resources

โฮมเพจ ธนาคารนครหลวงไทย

   
search resources

ธนาคารนครหลวงไทย, บมจ.
สยามซิตี้ แอสเซท แมแนจเม้นท์
สม จาตุศรีพิทักษ์




ระยะ 1-2 ปีให้หลังมานี้ บรรดาบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ทั้งหลายต่างหันมาให้ความสนใจออกกองทุนตราสารหนี้กันอย่างคึกคัก เนื่องจากภาวะตลาดหลักทรัพย์ไม่เอื้ออำนวย แต่ตลาดตราสารหนี้ยังมีอนาคต ยังพอทำตลาดได้อยู่ โดยเฉพาะในหมู่นักลงทุนสถาบัน

ห่างเหินจากกองทุนตราสารทุน หรือกองทุนหุ้นมานาน ทุกวันนี้ บลจ. ต่าง ๆ ก็ยังไม่กล้าลงสนามนี้กันสักเท่าไหร่ มูลเหตุสำคัญก็มิใช่อะไร เกรงว่าจะขายไม่ออก เพราะนักลงทุนอาจจะยังกล้า ๆ กลัว ๆ กับภาวะตลาดเช่นนี้ และสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยข่าวเศรษฐกิจแบบแปลก ๆ ในรัฐบาลชุดนี้

อย่างไรก็ดี บลจ. สยามซิตี้ แอสเซท แมเนจเม้นท์ จำกัด ของค่ายแบงก์นครหลวงกลับประกาศชัดเจนว่าจะเปิดกองทุนรวมซึ่งลงทุนในตราสารทุน 100% เป็นกองทุนแรกประเดิมใบอนุญาต บลจ. ที่เพิ่งได้รับมาเมื่อปลายปีก่อน

ดร. สม จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย เปิดเผยว่า บลจ. สยามซิตี้ฯ ขณะนี้เตรียมการที่จะออกกองทุนรวมทั้งประเภทตราสารทุนและตราสารหนี้

เหตุที่สนใจตราสารทุนเนื่องจากมองว่าตลาดหลักทรัพย์ ณ วันนี้ซบเซาลงมามากแล้ว ดัชนีเหลือไม่ถึง 700 จุด ดังนั้นโอกาสที่จะตกลงไปอีกคงมีไม่มากนัก แต่โอกาสที่จะขึ้นไปยังมีอีกมาก หากแต่ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรในการปรับตัว

ทั้งนี้ บลจ. ดังกล่าว ธนาคารนครหลวงไทย ถือหุ้นในสัดส่วน 25% ของทุนจดทะเบียนเท่ากับไอเอ็นจี แบงก์ (ING BANK) ที่เหลืออีก 50% ถือโดย บงล. เอสซีเอฟ (SCF) บงล. นครหลวงเครดิต (SCCF) บงล. สยามซิตี้ซินดิเคท (SCIS) บล. แอ๊ดคินซัน (ASL) และบริษัท ไทยศรีนครประกันภัย จำกัด ในสัดส่วนรายละ 10% ของทุนจดทะเบียน

การที่ผู้ถือหุ้นเป็นสถาบันการเงินหลายแห่ง และธนาคารขนาดใหญ่อย่างไอเอ็นจี แบงก์ ทำให้มนูญ เลิศโกมลสุข อดีตมือดีของ บงล. มหาธนกิจ ซึ่งย้ายค่ายมานั่งในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บลจ. สยามซิตี้ฯ มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าจะสามารถสนับสนุนและร่วมมือในการออกกองทุนรวม และจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนประเภทต่าง ๆ ได้

มนูญ ตั้งเป้าว่า จะออกกองทุนตราสารทุนกองแรกได้ในราวเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นก็จะออกกองทุนตราสารหนี้เป็นกองที่ 2 ภายในปีนี้

"เราอยากดูก่อนว่า กองแรกจะเป็นอย่างไร ถ้าประสบความสำเร็จมาก กองที่ 2 ก็คงจะออกตามมาไม่นานนัก คิดว่าปีนี้คงออกแค่ 2 กองก่อน" มนูญอธิบาย พร้อมกับตั้งความหวังว่าจะสามารถขายหน่วยลงทุนได้ถึง 1,000 ล้านบาทสำหรับกองแรก ซึ่งเขาเองก็ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนักในภาวะที่นักลงทุนขาดความมั่นใจในตลาดหลักทรัพย์เช่นนี้

อย่างไรก็ตาม มนูญเตรียมทีมการตลาดไว้ 4 คน จากทีมงานทั้งหมดประมาณ14 คนในขณะนี้ เขาคาดว่าภายในปีนี้จะมีพนักงานทั้งหมดไม่เกิน 18 คน

"ในช่วงแรกจะเน้นการจัดจำหน่ายลงทุนผ่านสาขาของธนาคาร และบริษัทในเครือ โดยอาศัยฐานลูกค้าของธนาคารและบริษัทในเครือเป็นหลัก จากนั้นก็จะเป็นลูกค้าทั่วไป สถาบัน และต่างประเทศ" มนูญกล่าวย้ำว่าสิ่งสำคัญที่ต้องทำอีกอย่างคือการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่นักลงทุนว่าการลงทุนในหลักทรัพย์มีความเสี่ยง และควรจะมีระยะเวลาลงทุนพอสมควรอาจจะประมาณ 2-3ปี ไม่ใช่ซื้อเช้าขายบ่าย หรือเก็งกำไรระยะสั้น

เขาเชื่อว่าหากลงทุนในตราสารทุนวันนี้ โดยไม่ขายหน่วยลงทุนเลยใน 3 ปีโอกาสที่จะมีกำไรสูงกว่าโอกาสที่จะขาดทุนอยู่มาก

"ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทุกวันนี้ และสภาวะตลาดฯ อย่างนี้ ถ้าซื้อหน่วยลงทุนในหุ้นน่าจะดี เพราะโอกาสที่จะตกลงไปอีกไม่เกิน 10% คือที่ดัชนี 650 จุด แต่โอกาสที่จะขึ้นไปมีอยู่มาก ถ้าลงทุน 3 ปีไม่ถอนคืนเลย โอกาสที่จะมีกำไรมีอยู่สูงมาก" มนูญ กล่าว

การที่เป็น บลจ. เปิดใหม่ และกำลังจะประเดิมออกกองทุนแรกทำให้ต้องมีการเตรียมการอย่างมาก ทั้งในเรื่องระบบบริหาร ทีมงานและการตลาด อย่างไรก็ดีสิ่งที่ บลจ. สยามซิตี้ฯ ต้องเหนื่อยมากหน่อยคงไม่พ้นเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นเพื่อให้นักลงทุนกลับเข้ามาซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนหุ้นอีกครั้ง เพราะที่ผ่าน ๆ มาบรรดานักบริหารกองทุนมืออาชีพทั้งหลาย เมื่อเจอกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ตลาดหลักทรัพย์ซบเซา มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ของแต่ละกองก็ไม่ค่อยน่าดูสักเท่าไหร่ บางกอง NAV เหลือเพียง 5 บาทเท่านั้น จากราคาพาร์ 10 บาท

นักลงทุนที่เจ็บตัวกับกองทุนรวมไม่ว่ากองทุนปิดหรือกองทุนเปิดมีอยู่จำนวนมาก ทำให้ความมั่นใจในมืออาชีพถดถอยลงไปบ้าง

ซึ่งมนูญเตรียมพร้อมสำหรับคำถามนี้พอสมควร โดยให้เครดิตที่ไอเอ็นจี แบงก์ หนึ่งในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในยุโรปว่า พันธมิตรรายนี้จะเป็นทั้งผู้ถือหุ้นของ บลจ. สยามซิตี้ฯ และสามารถสานประโยชน์ทางธุรกิจซึ่งกันและกันได้ โดยเฉพาะเรื่องการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี

"อาจจะมีการส่งผู้จัดการกองทุนมาช่วยเราด้วย แต่คงไม่ใช่เวลานี้ อาจจะต้องรอให้มีธุรกิจมากกว่านี้ก่อน นอกจากนี้ไอเอ็นจี แบงก์ก็มีบริษัทประกัน มีกองทุนรวมในเครือที่ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งพวกนี้ก็อาจจะมาลงทุนใน บลจ. สยามซิตี้ฯ ได้" มนูญ กล่าวเสริม

ขณะนี้กองทุนตราสารกองทุนแรกของ บลจ. สยามซิตี้ฯ กำลังอยู่ในระหว่างทำเรื่องเสนอสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) คาดว่าจะเปิดตัวได้พร้อม ๆ กับการเปิดสำนักงานของบริษัทประมาณกลางเดือนพฤษภาคมนี้ ถึงวันนั้นคงจะพอพิสูจน์ได้ว่า กองทุนหุ้นมีโอกาสจะเกิดหรือไม่ในยามนี้ หากประสบความสำเร็จด้วยดี ก็เชื่อได้ว่าศักราชใหม่ของกองทุนหุ้นจะกลับคืนมาอีกครั้ง เพราะ บลจ. ใหม่ ๆ อีกหลายแห่งที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง ต่างก็รอดูทิศทางลมอยู่เหมือนกัน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us