รัฐบาลหมกเม็ดแผนเปิดสิงคโปร์ค้าหุ้น งุบงิบข้อตกลง คนวงการเผย"นายใหญ่"ต้องการเปิดซื้อขายตรง แต่ต่อรองเหลือแค่เทรดหุ้นอนุพันธ์ ปูทางใช้ดอลลาร์ซื้อขาย งานนี้เข้าทางนักการเมืองสวมโควต้าต่างชาติเล่นหุ้น ไร้ช่องตรวจสอบ โบรกเกอร์ไทยทำใจเตรียมตัวเจ๊ง!!!
ถือว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้วสำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ต้องเดินทางไปตรวจเยี่ยมพร้อมทั้งให้นโยบายการทำงานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนตัวเจ้ากระทรวง เป็นการสะท้อนถึงการให้ความสำคัญของรัฐบาลกับตลาดหุ้นเป็นอย่างยิ่ง พร้อมทั้งมีเป้าหมายจะสร้างมูลค่ารวมของตลาด(Market Cap)ให้ได้ถึง 5 ล้านล้านบาท กลายเป็นที่มาของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแล้วนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
อาการไม่พอใจของทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ออกมาตำหนิหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีส่วนทำให้อัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรสุทธิ (P/E Ratio) ของตลาดหุ้นไทยต่ำกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศที่ควรจะเป็น
ถือเป็นการสะท้อนถึงความสำคัญของตลาดหุ้นต่อรัฐบาลชุดนี้ได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยเมื่อ 6 ธันวาคมปรับตัวเพิ่มเกือบ 3% พร้อมกับการกลับมาซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศกว่า 935 ล้านบาท โดยได้รับผลบวกจากความคลี่คลายทางการเมืองและตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3 ปี 2548 ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 5.3
สิงคโปร์ประตูสวรรค์
ทั้งนี้พื้นฐานของนักการเมืองโดยเฉพาะพรรคไทยรักไทย แกนนำหลายคนมีฐานธุรกิจที่ต้องพึ่งพิงกับตลาดหลักทรัพย์แทบทั้งสิ้น ทั้งในรูปของการเป็นเจ้าของกิจการที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนซื้อขายหุ้นรายใหญ่
หากสังเกตุให้ดีจะพบว่าในช่วงที่รัฐบาลไทยรักไทยเข้ามาบริหารประเทศ มีบริษัทจดทะเบียนที่มีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองหลายบริษัทเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น กลุ่มจึงรุ่งเรืองกิจ กลุ่มวงศ์สวัสดิ์ กลุ่มมหากิจศิริ และกลุ่มที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับนักการเมืองที่นิยมซื้อบริษัทจดทะเบียนที่ฟื้นฟูกิจการแล้วนำมาปรับปรุงเพื่อเปิดซื้อขายกันใหม่
ดังนั้นตลาดหุ้นจึงถูกหยิบยกให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการชี้วัดเศรษฐกิจของประเทศไทย การสร้างตลาดหุ้นของไทยให้ใหญ่ด้วยการเพิ่มมาร์เก็ตแคป หาสินค้าที่น่าสนใจเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้น เพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุนต่างประเทศ ที่ผ่านมารัฐบาลนี้มีการนำเอารัฐวิสาหกิจของไทยเข้ามาเป็นบริษัทจดทะเบียนอย่างเช่น ปตท. การท่าอากาศยานไทย และ อสมท เป็นต้น ส่วนหุ้น กฟผ.หรือ EGAT ต้องชะลอออกไปตามคำสั่งศาลปกครอง
ที่โด่งดังที่สุดคงหนีไม่พ้นหุ้นของ ปตท. ที่มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับภาคการเมืองได้รับการจัดสรรหุ้นให้นับล้านหุ้น จากราคาจองที่ 35 บาท ขยับขึ้นไปแถว 250 บาทก่อนที่จะมายืนเกินกว่า 220 บาท
ว่ากันว่ามีนักการเมืองของไทยบางคนถือหุ้น ปตท.หลายล้านหุ้น โดยถือผ่านตัวแทนในสิงคโปร์ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากสื่อมวลชนไทยและนักการเมืองฝ่ายค้าน ดังนั้นการซื้อขายหุ้นไทยโดยใช้บริการของโบรกเกอร์จากสิงคโปร์จึงเป็นที่นิยมกัน แน่นอนว่าโบรกเกอร์เหล่านี้จะไม่มีการเปิดเผยรายชื่อลูกค้าให้ทราบ ชื่อที่ปรากฏในอันดับของผู้ถือหุ้นก็จะเป็นชื่อของตัวแทนที่ถือหุ้นเท่านั้น จึงยากแก่การตรวจสอบ
ขณะเดียวกันในช่วงที่ผ่านมาคนในวงการธนาคารพาณิชย์ และวงการค้าหลักทรัพย์แสดงความเป็นห่วงต่อการเปิดเสรีทางการเงินของรัฐบาลไทยอยู่ไม่น้อย ถึงเรื่องความพร้อมก่อนการเปิดเสรี โดยส่วนที่เห็นชัดที่สุดนั่นคือการลงนามร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกับตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ที่ลงนามในบันทึกความเข้าใจครั้งนี้ เป็นการทำงานร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการเชื่อมโยงระบบการซื้อขายอนุพันธ์ เพื่อให้ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งสองสามารถซื้อขายอนุพันธ์ระหว่างกันได้ โดยในระยะแรกจะเริ่มจาก SET50 Index Futures ที่จะเปิดซื้อขาย 28 เมษายน 2549
พร้อม ๆ กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้ศึกษาเรื่องการเคลื่อนย้ายทุนระหว่างประเทศ ที่เปลี่ยนจากการลงทุนโดยตรง มาเป็นลงทุนในตลาดทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง และอยู่ในรูปของกองทุนเพื่อการเก็งกำไร โดยตลาดทุนจะมีบทบาทมากขึ้นทดแทนบทบาทของสถาบันการเงิน ซึ่งได้นำเสนอให้คณะรัฐมนตรีทราบ พร้อมทั้งวางแนวทางดึงประโยชน์จากทุนระยาว จากเอเชีย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การจัดตั้ง Foreign Board ให้นักลงทุนต่างชาติซื้อขายเป็นเหรียญสหรัฐได้ในตลาดหลักทรัพย์
โบรกเกอร์เจ๊งแน่
ผู้คร่ำหวอดในวงการหลักทรัพย์กล่าวว่า สิ่งที่คนในวงการห่วงใย คือความไม่พร้อมของผู้ประกอบการ หากให้สิงคโปร์เข้ามาซื้อขายหุ้นได้โดยตรง ปัญหาหลาย ๆ เรื่องจะตามมา อันดับแรกคือลูกค้าต่างประเทศที่เคยใช้บริการของโบรกเกอร์ในประเทศไทยก็จะเลิกใช้ หันมาใช้โบรกเกอร์จากสิงคโปร์แทน รายได้ของโบรกเกอร์ไทยก็จะลดลง โดยเฉพาะรายที่รับลูกค้าต่างประเทศเป็นหลัก หรือโบรกเกอร์ต่างชาติในไทยก็ไม่จำเป็นต้องมีสาขาในประเทศไทยอีกต่อไป เพราะใช้สาขาที่สิงคโปร์ทำคำสั่งซื้อขายได้โดยตรง
ธุรกิจดัสโตเดียนที่ธนาคารพาณิชย์รับทำหน้าที่แทนอยู่ก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป หากคำสั่งซื้อขายทั้งหมดทำในรูปของสกุลดอลลาร์ ที่สำคัญโบรกเกอร์ไทยจะลำบาก เพราะที่ผ่านมาไม่มีประสบการณ์ลงทุนในต่างประเทศ เพราะเราติดขัดทั้งในเรื่องของใบอนุญาตทำธุรกรรมด้านอัตราแลกเปลี่ยน ทางการไม่เคยส่งสัญญาณว่าจะเปิดทางให้อุตสาหกรรมหลักทรัพย์ของไทยทำธุรกรรมในต่างประเทศได้ อีกทั้งการนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศก็ติดขัดในกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
คุยกันแค่ไหนไม่มีใครรู้
ขณะนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าในปีหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์ไทยทำข้อตกลงกับสิงคโปร์ในการซื้อขายสินค้าอนุพันธ์นั้นจะเป็นการคีย์คำสั่งซื้อขายตรงระหว่างกันหรือไม่ ที่ผ่านมาสิงคโปร์ทำคำสั่งซื้อขายโดยตรงกับตลาดหุ้นออสเตรเลียและมาเลเซียมาแล้ว ทั้งนี้เป็นเพราะบริษัทของสิงคโปร์เองค่อนข้างมีจำกัด ดังนั้นสิงคโปร์จึงต้องการหาบริษัทจากประเทศอื่นเข้ามาจดทะเบียน อีกทั้งยังเป็นการแสวงหารายได้จากการให้บริการกับลูกค้า หากสามารถทำได้สิงคโปร์ก็จะเป็นแหล่งดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้เป็นอย่างดี
อีกทั้งที่ผ่านมากองทุนของรัฐบาลสิงคโปร์เองก็เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากอยู่แล้ว ดังนั้นหากสามารถทำคำสั่งซื้อขายได้โดยตรงกับประเทศไทย จะทำให้การเคลื่อนย้ายเงินลงทุนของสิงคโปร์ทำได้สะดวกมากขึ้น ยิ่งสิงคโปร์ทำ Duo Trade กับประเทศไทยได้อีกหน่อยก็ไม่ต้องหวังว่าเราจะเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาคนี้อีกต่อไป
"เราไม่รู้ว่าสิ่งที่รัฐบาลไปเจรจากับสิงคโปร์นั้นมีกรอบการตกลงกันแค่ไหน คำว่า Exchange link gate นั้นจะช่วยปกป้องธุรกิจของไทยได้อย่างไร ไม่ใช่ว่าที่ผ่านมาอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ของไทยไม่ปรับตัว แต่เป็นเพราะมันปรับยากเนื่องจากไทยกับสิงคโปร์มีความแตกต่างกันในเรื่อง Exchange Control"
เท่าที่ทราบมานั้นทางการของไทยต้องการให้เกิดการซื้อขายที่เรียกว่า Duo Trade ทันที แต่มีการท้วงติงกันในเรื่องนี้ จึงกลายเป็นที่มาของการเปิดให้ซื้อขายเฉพาะสินค้าอนุพันธ์เท่านั้น ทั้ง ๆ เรายังไม่มีความพร้อม หลายคนสงสัยว่าทำไมเราถึงรีบร้อนนัก คงมีเพียงกลุ่มทุนรายใหญ่จากสิงคโปร์เท่านั้นที่มีความพร้อม
การเร่งเปิดทำ Duo Trade กับสิงคโปร์นั้นประเทศไทยมีแต่เสีย หากจะได้ประโยชน์อยู่บ้างคงเป็นเรื่องมูลค่าซื้อขายแต่ก็คงแค่ระยะแรก เพราะทุกอย่างต้องอิงจากปัจจัยพื้นฐาน แต่จะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งอย่างแน่นอน โดยเฉพาะกลุ่มทุนการเมือง เพราะสามารถลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้ด้วยความสบายใจ
ทางสะดวกสวมสิทธิต่างชาติ
นักการเมืองยุคปัจจุบันเติบโตมาจากการนำเอาบริษัทระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ มีพื้นฐานทางการลงทุนที่ดี กลุ่มนี้จะเน้นลงทุนในหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี มีเงินปันผล ราคาหุ้นค่อย ๆ ปรับขึ้น บางกลุ่มเชี่ยวชาญเรื่องการเล่นหุ้นลักษณะเก็งกำไร แน่นอนว่าหากผู้ควบคุมอย่าง ก.ล.ต.หรือตลาดหลักทรัพย์ออกกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด ย่อมส่งผลกระทบต่อราคาเป้าหมายของพวกเขา
หุ้นพื้นฐานดี ๆ เป็นกิจการผูกขาดที่แปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ เป็นที่สนใจของกลุ่มทุนการเมืองไม่น้อย การจองซื้อในประเทศอาจจะทำได้ไม่สะดวกนัก เนื่องจากถูกจับตาจากสื่อมวลชนและพรรคฝ่ายค้านเป็นพิเศษ แม้ใช้บุคคลใกล้ชิดก็ถูกเชื่อมโยงว่าเป็นการถือหุ้นแทนกัน ดังนั้นการจองซื้อโดยใช้โควต้าของนักลงทุนต่างประเทศ จึงเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นตามลำดับ เพราะคนกลุ่มนี้ทราบดีว่าหุ้นที่จอง หรือเข้าซื้อไว้จะมีผลประกอบการออกมาดีแค่ไหน ราคาจะขยับไปในทางใด เนื่องจากเป็นผู้กุมนโยบายเอง การตัดสินใจซื้อหรือขายจึงทำได้สะดวกเนื่องจากโควต้าในส่วนนี้มักจะปรากฏชื่อของสถาบันการเงิน กองทุนและนอมินีเป็นหลัก ดังนั้นการเข้าลงทุนผ่านกองทุนส่วนบุคคลในสิงคโปร์ หรือใช้บริการของนอมินีต่าง ๆ ถือเป็นช่องทางที่หลีกเลี่ยงการตรวจสอบได้เป็นอย่างดี
กลุ่มการเมืองที่ซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อาจดูไม่ใช่เรื่องใหม่นัก เพราะที่ผ่านมาก็มีการทำกันอยู่แล้ว เปิดเผยบ้างไม่เปิดเผยบ้าง แต่ถ้าทางการเปิดให้สิงคโปร์ทำ Duo Trade ได้ ซื้อขายเป็นสกุลดอลลาร์ ทุกอย่างก็จะสะดวกมากขึ้น เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน แถมยังเป็นการอำนาจความสะดวกให้กับกลุ่มทุนจากสิงคโปร์ต่อการเข้าออกในตลาดหุ้นไทยได้อีกทาง โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่
กฎเกณฑ์ที่ระบุว่าเป็นการอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้นนั้นถือเป็นสิ่งดี ที่ต้องแลกกับอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ของไทยที่อาจถึงคราวต้องล่มสลาย และภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกันก็มีช่องทางที่เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับเซียนหุ้นกระเป๋าหนักจากกลุ่มนักการเมืองเช่นกัน
ไม่เพียงแค่ภาคตลาดหุ้นเท่านั้นที่สิงคโปร์เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการกุมชะตากรรมของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงอุตสาหกรรมด้านหลักทรัพย์ของไทย แต่ยังมีข้อตกลงอื่น ๆ ที่รัฐบาลไทยได้ให้สิทธิกับสิงคโปร์ผ่านผ่านช่องทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ที่มีบุญคลี ปลั่งศิริ ประธานคณะกรรมการบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ในฐานะกรรมการ BOI โดยให้สิทธิทางภาษีกว่า 3 พันล้านบาทจากการเจรจาขยายความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจสิงคโปร์-ไทย ครั้งที่ 2 ที่ผ่านมา งานด้านโลจิสติกส์ อสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยว การขนส่งทางน้ำ กำลังจะตามมาอีกในไม่ช้า
****************
BOI ชี้ ปี49 สิงค์โปร์ทุ่มทุน 2 ธุรกิจ“การเงิน-อสังหาฯ”ในไทย
สิงคโปร์ลงทุนในไทยกว่า15,000 ล้าน ธุรกิจเอสเอ็มอีมากที่สุด เน้นขายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ BOI มั่นใจปี 49 สิงคโปร์เข้าลงทุนการเงิน-อสังหาฯไทยเพิ่มขึ้นแน่
การจับมือเป็นพันธมิตรของสองรัฐบาลระหว่างไทยและสิงคโปร์ ร่วมทั้งการผลักดันให้ สิงคโปร์เข้ามามีบทบาทในการลงทุนในไทยมากยิ่งขึ้น โดยคาดว่าในอีก 5 ปี จะมีทุนจากสิงคโปร์เข้ามาที่ไทยซึ่งเดิมประมาณ 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ 2.8 ล้านเหรียญสหรัฐ การประมาณการตัวเลขนี้ส่วนหนึ่งมาจากการที่ไทยและสิงค์โปร์เข้าร่วมการสัมมนาจับคู่เจรจาธุรกิจการค้าการลงทุนระหว่างกัน ประมาณ 280 รายใน 7 สาขา คือ ไอที ซอฟแวร์ อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ยายนยนต์ ขนส่งและโลจิสติกส์ อสังหาริมทรัพย์ และการเงินได้
อย่างไรก็ดีช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2543-2548) มีโครงการของสิงคโปร์ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอจำนวน 339 โครงการมูลค่าลงทุนรวม 78,360 ล้านบาท ปัจจุบันสิงคโปร์มีการลงทุนในไทยสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน และเป็นอันดับ 4 รองจากญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ เพราะด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดด ข้อมูลล่าสุดจาก BOI ระบุว่ามีนักลงทุนสิงคโปร์เตรียมที่จะเข้ามาจดทะเบียนในเมืองไทยเพิ่มขึ้น
ปี48 ลงทุนด้านบริการมากสุด
ข้อมูลล่าสุด จากเดือนมกราคม ถึง เดือน ตุลาคม 2548 มีบริษัทของสิงคโปร์เข้ามาขออนุญาตลงทุนกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 69 บริษัท คิดเป็นมูลค่า 15,589 ล้านบาท เมื่อแบ่งออกเป็นรายกลุ่มแล้วส่วนใหญ่จะอยู่ในสาขาบริการ มากเป็นอันดับหนึ่ง เป็นจำนวน 15 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 38.5 รองลงมาเป็นการ ลงทุนในสาขาผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจักรเป็นจำนวน 9 โครงการคิดเป็นร้อยละ 23.1 และสาขาอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีโครงการขอรับการส่งเสริมจำนวน 7 โครงการคิดเป็นร้อยละ 17.9 ในแง่มูลค่าการลงทุนสาขาผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจักรมีมูลค่าการลงทุนสูงเป็นอันดับหนึ่งมูลค่าทั้งสิ้น 2,513.5 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35.2 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมดของโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริม รองลงมา ได้แก่ สาขาบริการ (ร้อยละ 29.6) และสาขาอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า (ร้อยละ 21.3) ตามลำดับ
นิยมลงทุนขนาดเล็ก
นอกจากนี้ยังพบว่าการลงทุนในไทยจากสิงคโปร์ในปี 2548 (มกราคม – มิถุนายน) โครงการขนาดเล็กที่มีมูลค่าการลงทุนน้อยกว่า 50 ล้านบาทเป็นที่สนใจของนักลงทุนจากสิงคโปร์มากที่สุด โดยมีจำนวนโครงการลงทุน 17 โครงการ (คิดเป็นร้อยละ 43.6) รองลงมาเป็นโครงการขนาดกลางที่มีมูลค่าการลงทุน 100-499 ล้านบาท (ร้อยละ 33.3) ส่วนโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท มี 1โครงการ (ร้อยละ 2.6) โดยมีมูลค่าการลงทุน 1,179.9 ล้านบาท โครงการลงทุนขนาดใหญ่มูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริม การลงทุน ได้แก่โครงการลงทุนผลิต Container Ship ของบริษัท Regional Container Lines Public Co., Ltdซึ่งต้องเพิ่มการจ้างแรงงานไทย 23 คน
การเงินและอสังหาฯ ธุรกิจดาวรุ่ง
ขณะเดียวกันข้อมูลของ BOI พบว่าการลงทุนโดยตรงจากสิงคโปร์ในปี 2548 มีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น สำหรับการลงทุนในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังเป็นโครงการลงทุนขนาดกลางและเล็ก การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในสาขาบริการ สาขาผลิตภัณฑ์โลหะและ เครื่องจักรและสาขาอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยสามารถชักจูงการลงทุนจากสิงคโปร์ให้มาลงทุนในทั้ง 3 สาขาอย่าง ต่อเนื่องได้จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยอย่างมากเนื่องจากอุปสงค์สำหรับอุตสาหกรรมนี้ในประเทศคู่ค้าของสิงคโปร์ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และฮ่องกง ยังคงมีการขยายตัวอยู่ตลอด
นอกจากตลาดอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์แล้ว การลงทุนในอุตสาหกรรมด้านบริการต่าง ๆ เช่น โรงแรม ภัตตาคาร การขนส่ง ผู้ให้บริการทาง การเงินและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นับเป็นอุตสาหกรรมที่เริ่มมีนักลงทุนให้ความสนใจอย่างมาก รวมไปถึงอุตสาหกรรมกลั่นน้ำมัน ยาชีวภาพ เคมีภัณฑ์ ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วและมูลค่าการค้าสูงมาก จึงเป็นกลไกสำคัญที่ส่งเสริมให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจปรับตัวได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตามคาดว่าเนื่องจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลกมีแนวโน้มฟื้นตัว ความต้องการผลิตภัณฑ์ Semiconductor chips มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2548 ดังนั้นไทยอาจมีโอกาสเพิ่มมูลค่าการลงทุนในสาขาอิเล็กทรอนิกส์จากสิงคโปร์มากขึ้นในช่วงปลายปี 2548
**************
สาวลึกสิงคโปร์อุ้ม “ชินคอร์ป”
เผยหุ้นนายกฯ เชื่อมสายสัมพันธ์รัฐบาลไทย-สิงคโปร์ GIC-TEMASEK เน้นเบอร์หนึ่งสื่อสารต้องกลุ่มชิน คอร์ป อสังหาฯ ต้องแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ที่ผ่านมาแก้วิกฤติให้รัฐบาลไทยได้ไม่น้อย ดีบีเอสอุ้มทั้งไทยทนุและทหารไทย แถมต่อยอดด้วยแคปปิตอลโอเคอีก
เงินลงทุนในหลักทรัพย์สุทธิของนักลงทุนต่างประเทศในย่านอาเซียนนับได้ว่า สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากที่สุด เห็นได้จากไตรมาส 3 ของปี 2548 มียอดลงทุนเฉียด 4 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็นฮ่องกงที่เข้ามาลงทุนราว 1.75 หมื่นล้านบาท
คำสั่งซื้อขายหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทยนั้น ส่วนใหญ่มักมาจากเพื่อนบ้าน 2 แห่งนี้เป็นหลัก ส่วนหนึ่งเป็นคำสั่งของนักลงทุนสัญชาติยุโรป สหรัฐ เข้ามาบ้างในลักษณะของการดำเนินการผ่านสำนักงานตัวแทนที่สิงคโปร์และฮ่องกงเป็นหลัก ซึ่งทำการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยได้สะดวกกว่า เนื่องจากระยะเวลาในการเปิดซื้อขายใกล้เคียงกัน
นักลงทุนจากสิงคโปร์ได้เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยมาเป็นเวลานาน และนับวันจะยิ่งมากขึ้น โดยมีกองทุนหลักอย่าง Government of Singapore Investment Corporation หรือ GIC ที่เข้ามาถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียนชั้นนำของไทยหลายแห่ง และ TEMASEK Holding อีกหนึ่งในยักษ์ใหญ่ของทุนของสิงคโปร์ ที่ลงทุนในกิจการต่าง ๆ ทั่วโลกให้กับรัฐบาลสิงคโปร์
ที่สำคัญคือผู้บริหารกองทุน GIC และ TEMASEK ล้วนแล้วแต่มากจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลสิงคโปร์ และที่ผ่านมาทั้ง 2 กองทุนนี้ได้เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น SINGTEL STRATEGIC INVESTMENTS PTE LTD ที่เทมาเซกถือหุ้น 63% เข้าถือหุ้นใน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) 19.26% และ 1.08% ในชินคอร์ป และซีเอส ล็อกซอินโฟอีก 13.45% และ GIC ยังถือหุ้นใน ADVANC อีก 0.76%
ขณะเดียวกัน GIC ถือหุ้น 18.78% ในยักษ์ใหญ่ของวงการอสังหาริมทรัพย์อย่าง แลนด์แอนด์เฮ้าส์ และบริษัทในตระกูลของแลนด์อย่าง 14.27% ในควอลิตี้เฮ้าส์ และยังลงทุนใน ปตท. ไทยออยล์ธนาคารทิสโก้ กสิกรไทย ไทยพาณิชย์และธนาคารกรุงเทพเป็นต้น
นอกจากนี้เมื่อครั้งเกิดวิกฤติสถาบันการเงินธนาคารดีบีเอส จากสิงคโปร์เข้ามาถือหุ้นในธนาคารไทยทนุ ทั้งนี้ธนาคารดีบีเอส มีเทมาเซกถือหุ้นใหญ่อยู่ 28% และเมื่อครั้งที่ธนาคารทหารไทยประสบปัญหาจากวิกฤติการเงิน ต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนหนึ่งในผู้ที่เข้ามาถือหุ้นใหญ่พบชื่อของพานทองแท้ ชินวัตร ถือหุ้นอยู่ระยะหนึ่ง สุดท้ายกระทรวงการคลังในยุคทักษิณ 1 ก็ได้ข้อสรุปให้ธนาคารดีบีเอสไทยทนุและบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยควบรวมเข้ากับธนาคารทหารไทย ปัจจุบันธนาคารดีบีเอสได้กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารทหารไทย 18.48% พร้อม ๆ กับชื่อของพานทองแท้ ชินวัตรได้หายออกไปจากผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารทหารไทย ไม่พบแม้กระทั่งในรายงานที่ต้องแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)
ความผูกพันธ์ระหว่างธนาคารดีบีเอสจากสิงคโปร์กับกลุ่มชิน คอร์ป ยังผูกพันธ์มาถึงการเข้าร่วมทุนในบริษัท แคปปิตอล โอเค จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ( มหาชน ) ถือหุ้นร้อยละ 60 ธนาคารดีบีเอส สิงคโปร์ถือหุ้นร้อยละ 40 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท
ส่วนการเข้ามาร่วมธุรกิจกับกลุ่มทุนอื่น ก็มักเป็นกลุ่มทุนใหญ่เช่น บริษัท แคปปิตอลแลนด์ของสิงคโปร์ ที่เทมาเซก โฮลดิ้งของรัฐบาลสิงคโปร์ถือหุ้นอยู่ 43% ยังได้ร่วมมือกับบริษัท ที.ซี.ซี. แลนด์ ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท เพื่อเข้าลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย
ขณะเดียวกันตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ยังเปิดกว้างต้อนรับบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด หรือเบียร์ช้าง ที่ถูกกระแสต่อต้านในประเทศไทย โดยพยายามชักชวนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์
จะเห็นได้ว่าทัพทุนสิงคโปร์โดยเฉพาะบริษัทย่อยที่มาจากภาคการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ได้แผ่ปกคลุมบริษัทของคนไทยชั้นนำแทบทั้งสิ้น และยังมีกลุ่มทุนของสิงคโปร์อื่น ๆ อย่างเช่น ยูไนเต็ดโอเวอร์ซีแบงก์ หรือ UOB ที่เข้ามาซื้อธนาคารรัตนสิน และควบรวมเข้ากับธนาคารเอเชียและเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ (ไทย) จำกัด ถือหุ้น 97.45% และในบริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบีเคย์เฮียน ยูโอบี เคย์เฮียนโฮลดิ้งถือหุ้นมากกว่า 76% อีกทั้งโบรกเกอร์อันดับหนึ่งของไทยอย่างบริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง(ประเทศไทย) มีกิมเอ็ง โฮลดิ้ง ถือหุ้น 60%
ล่าสุดทางกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้เจรจากับกองทุนเทมาเซก เพื่อร่วมลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกท์ เบื้องต้นแสดงความสนใจโรงไฟฟ้าและระบบขนส่งมวลชนและสาธารณูปโภค
นักลงทุนจากสิงคโปร์จึงกลายเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่แนบแน่นกับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และเริ่มเข้ามาลงทุนในอย่างมากหลังจากพรรคไทยรักไทยได้รับการเลือกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อปี 2548 เห็นได้จากไตรมาสแรกของปีนี้ สิงคโปร์ลงทุนในหลักทรัพย์สุทธิ 5.23 หมื่นล้านบาท และ 1.37 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 2 และ 3.93 หมื่นล้านบาทเมื่อสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา
***************
ททท.ดึงสิงคโปร์ร่วมทุนเมกะโปรเจค ปั้นอันดามัน-ดันรายได้ทะลุ7แสนล้าน
ททท.ตั้งเป้าดึงสิงคโปร์เข้าลงทุนในโครงการเมกะโปรเจค พัฒนา 4 จังหวัดชายฝั่งอันดามันเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ใช้เงินลงทุนหลายพันล้านบาท หวังเพิ่มยอดนักท่องเที่ยว 20 ล้านคน นำรายได้เข้าประเทศกว่า 7 แสนล้านบาท ขณะที่ข้อมูลจากสถานทูตสิงคโปร์ระบุธุรกิจโลจิสติกส์เป็นธุรกิจดาวรุ่งที่คนสิงคโปร์สนใจเข้าลงทุนมากสุด
ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีกำลังทุนทรัพย์สูง และเป็นประเทศที่มีความเด่นในเรื่องของ Hi-Technology แต่ขาดเรื่องแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และไม่มีจุดเด่นเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้เหมือนเมืองไทย ความแตกต่างของสิงคโปร์และไทยในเรื่องการท่องเที่ยวนี้ ได้ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้วางแผนที่จะดึงนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในเรื่องโครงการเมกะโปรเจค ด้านการท่องเที่ยว...
ตั้งเป้าเป็นฮับท่องเที่ยวเอเชียปี 51
พรทิพย์ อ่อนนุ่ม ผู้อำนวยการฝ่ายลงทุนธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่าแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวของไทยมีหลักใหญ่คือต้องเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สามารถผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตขึ้น ฉะนั้นในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 ตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2551 ประเทศไทยจะต้องเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวแห่งเอเชีย เพิ่มยอดนักท่องเที่ยวต่างประเทศให้อยู่ที่ 17-20 ล้านคน ทำรายได้เข้าประเทศไม่ต่ำกว่า 7 แสนล้านบาท
เพื่อที่จะก้าวไปให้ถึงจุดนั้น ยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่งคือต้องมีการดึงนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยโดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจคใหญ่ ๆ ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งสิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ไทยอยากให้เข้ามาร่วมลงทุน เพราะสิงคโปร์มีเงินลงทุนมาก และมีเทคโนโลยีสูง ขณะที่ไทยมีความพร้อมด้านแหล่งท่องเที่ยว มีทำเลที่เป็นศูนย์กลางสู่เอเชีย และมีเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคง
ปัจจุบันโครงการที่นักลงทุนสิงคโปร์เข้ามาลงทุนส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนขนาดเล็ก คือมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท รองลงมาเป็นโครงการขนาดกลางมูลค่าการลงทุน 100-499 ล้านบาท แต่โครงการขนาดใหญ่มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท มีเพียงแค่ 1 โครงการเท่านั้น มูลค่าการลงทุนแค่ 1,179.9 ล้านบาท
การประชุมเตรียมการด้านการค้าบริการท่องเที่ยวภายใต้ Singapore – Thailand Enhanced Economic Relationship (STEER) ที่จัดมาแล้ว 2 ครั้ง ไทยได้เชิญหน่วยงาน
ภาครัฐและเอกชนสิงคโปร์เข้ามาลงทุนในด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะ 3 ด้าน คือ Maritime Services โดยเฉพาะท่าเรือยอร์ช ที่ไทยจะได้ประโยชน์จากค่าจอดเรือ ค่าซ่อมบำรุง และที่พักอาศัย Logistics เพื่อให้ไทยเป็นประตูสู่อาเซียน และ Tourism ด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม
เชิญสิงคโปร์ลงทุนเมกะโปรเจคท่องเที่ยว
นอกจากนี้ที่สำคัญ ไทยยังต้องการให้สิงคโปร์เข้ามาร่วมลงทุนในเมกะโปรเจคสำคัญ ๆ โดยเฉพาะโครงการ Royal Coast หรือโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
“ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก เราดังอยู่แล้ว แต่การจะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเอเซีย จำเป็นต้องพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวขึ้นมาใหม่ ๆ โครงการนี้จะเป็นการพัฒนาชายฝั่งอันดามันใน 4 จังหวัดขึ้นมา เพื่อยกระดับการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวไทยให้แข่งขันในโลกได้”
โดย 4 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามันที่ตั้งเป้าจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ประกอบด้วย เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง ซึ่งเพชรบุรี จะพัฒนาให้เป็นเมืองชายทะเลที่สนุกสนาน ประจวบคีรีขันธ์จะพัฒนาให้เป็น The Royal Paradise เพื่อเชื่อมการคมนาคมทางถนนของหาดทั้งหมดเข้าด้วยกัน พัฒนาสร้างแหล่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รองรับนักท่องเที่ยวในระดับ High End ชุมพรจะพัฒนาให้เป็น เมืองแห่งสวรรค์ใต้น้ำและชายหาดที่บริสุทธิ์ และระนองพัฒนาให้เป็นเมืองแห่งสุขภาพ และน้ำพุร้อน
“โครงการนี้ต้องใช้เงินลงทุนหลายพันล้าน เพื่อดึงนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาเที่ยว ตามเป้าหมายที่เราต้องการเพิ่มนักท่องเที่ยวแบบก้าวกระโดด และสิงคโปร์ก็เป็นประเทศหนึ่งที่ไทยจะดึงเข้ามาร่วมลงทุนได้”
นอกจากนี้ ททท.ยังต้องการนักลงทุนจากสิงคโปร์เข้ามาลงทุนในด้านการท่องเที่ยวอื่น ๆ ด้วย ทั้งด้านโรงแรม สนามกอล์ฟ และตั้งโรงเรียนสอนขับเครื่องบินในไทย
“การเรียนขับเครื่องบินในไทย ค่าใช้จ่ายจะถูกกว่าเรียนที่ประเทศอื่น ความปลอดภัยก็มีสูง ดูแล้วสิงคโปร์มีความรู้และมีฝีมือด้านการขับเครื่องบินด้วย จึงคาดว่าจะเชิญชวนนักลงทุนสิงคโปร์เข้ามาเปิดธุรกิจสาขานี้ด้วย”
คนสิงคโปร์อยากลงทุนโลจิสติกส์
ด้านข้อมูลจากสถานทูตสิงคโปร์ประจำประเทศไทย โดย มร. อัลฟอนซัส เชีย Deputy Chief Executive Officer, International Enterprise Singapore ระบุว่าสิงคโปร์สนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทยด้านโลจิสติกส์อย่างมาก เนื่องจากโลจิสติกส์เป็นธุรกิจที่เป็นสากล และผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของสิงคโปร์ก็มีความรู้มาก มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ ในการจัดหาการขนส่งที่เชื่อถือได้ และสามารถจัดระบบการจัดการขนส่งสินค้าภายในเอเชียได้ดี ซึ่งในการร่วมทุนกับคนไทย คาดว่าจะเป็นการร่วมลงทุนในด้านการบริหารวัตถุดิบด้วยกัน
“ภาพรวมในอนาคตที่สิงคโปร์สนใจมากเป็นพิเศษคือธุรกิจโลจิสติกส์ ที่เมืองไทยเพิ่งจะเริ่มหัดเดิน และคาดว่ารัฐบาลจะสนับสนุนอย่างเต็มที่เพื่อลดต้นทุนการผลิตในประเทศให้ได้ นี่จึงถือได้ว่าเป็นโอกาสดีของทางสิงคโปร์ที่จะเข้ามาลงทุนในไทย”
|