ฟิทช์ เรทติ้งส์ฯฟันธงแนวโน้มธุรกิจกองทุนรวมปีหน้ายังคงเฟื่องฟู ตอบรับแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลให้ลูกค้าเงินฝากโยกเงินลงทุนผ่าน บลจ.มากขึ้น โดยเฉพาะกองทุนตราสารหนี้ภาครัฐที่ถือเป็นตัวหลัก ที่ผลักดันให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของบลจ.ทั้งระบบทะยาน
นายวินเซนต์ มิลตัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าภาพรวมธุรกิจกองทุนรวมในปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะกองทุนตราสารหนี้ที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าอัตรา ดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งจะช่วยผลักดันให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บลจ.มีการเสนอขายหน่วยลงทุนที่เป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้เอกชน และลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท
นายมิลตันกล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจกองทุน หลังจากที่มีการจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝาก คาดว่าธุรกิจนี้มีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก เนื่องจากการฝากเงินในอนาคตจะได้รับการค้ำประกันบางส่วนเท่านั้น ซึ่งทำให้เห็นว่าการฝากเงินมีความเสี่ยงเช่นกัน ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มมองหาลู่ทางการลงทุนที่มีความเสี่ยงในระดับใกล้เคียงกัน แต่ให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนสูงกว่า ซึ่งในระยะแรกคาดว่ากองทุนที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรือตั๋วเงินคลังจะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความเสี่ยงในระดับที่ใกล้เคียงกับการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์
นายเลิศชัย กอเจริญรัตนกุล Associate Director Corporates บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มในระยะสั้นการออกกองทุนของบลจ.ในช่วงปลายปีจนถึงกลางปีหน้าคาดว่ากองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรของรัฐบาลยังคงได้รับการตอบรับจากนักลงทุน เนื่องจากมีนักลงทุนบางกลุ่มที่ประเมินว่าแนวโน้มดอกเบี้ยในปีหน้ายังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น และคาดว่าหลังจากที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตร (อาร์/พี) 14 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับตัวสูงสุดในช่วงกลางปีหน้า เชื่อว่ากองทุนแต่ละแห่งจะเริ่มปรับกลยุทธ์การออกกองทุนโดยหันมาออกกองทุนตราสารหนี้ที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะปานกลางและระยะยาวมากขึ้น เพื่อสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในระดับสูง
"ในช่วงปลายปีนี้จนถึงกลางปีหน้า เชื่อว่ากองทุนที่มีนโยบายลงทุนในตลาดเงิน และกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นยังคงเป็นที่ต้องการของนักลงทุน เพราะมีลูกค้าบางส่วนที่ต้องการโยกเงินฝากมาพักไว้ที่กองทุนเป็นการชั่วคราว ก่อนที่จะโยกเงินเข้าไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลในระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนในอัตราที่สูงหลังการปรับอัตราดอกเบี้ยอาร์/พี ของ ธปท. ซึ่งคาดว่าในช่วงกลางปีอัตราดอกเบี้ยอาร์/พีจะปรับตัวสูงสุด"นายเลิศชัยกล่าว
สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า นายเลิศชัยกล่าวว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีนี้ โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับตัวสูงสุดในช่วงกลางปีหน้า ส่งผลให้นักลงทุนหันมาสนใจลงทุนผ่านกองทุนตราสารหนี้มากขึ้น
ด้านสมาคมบริษัทจัดการลงทุน รายงานมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (เอ็นเอวี) ทั้งอุตสาหกรรมกองทุนรวมและส่วนแบ่งตลาด (มาร์เกตแชร์) กองทุนรวมล่าสุด ณ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2548 ที่ผ่านมามีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 692,178,673,454.95 บาท โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) 10 อันดับแรกที่มีมาร์เกตแชร์สูงสุดประกอบด้วย
อันดับ 1 บลจ.กสิกรไทย มีมูลค่า ทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 121,326,136,949.13 บาท และมีมาร์เกตแชร์ 17.53%
อันดับ 2 บลจ.ไทยพาณิชย์ ซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 98,271,581,741.53 บาท มาร์เกตแชร์ 14.2%
อันดับ 3 บลจ.เอ็มเอฟซี มีมูลค่าทรัพย์สิน สุทธิ 90,484,683,133.34 บาท มาร์เกตแชร์ 13.07%
อันดับ 4 บลจ.กรุงไทย มีมูลค่าทรัพย์สิน สุทธิ 82,335,921,907.11 บาท มาร์เกตแชร์ 11.9%
อันดับที่ 5 บลจ.ทหารไทย มีมูลค่าทรัพย์สิน สุทธิ 59,716,649,367.71 บาท มาร์เกตแชร์ 8.63%
อันดับ 6 บลจ.ยูโอบี (ไทย) มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 39,995,749,831.64 บาท มาร์เกตแชร์ 5.78%
อันดับ 7 บลจ. เอเจเอฟ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 35,259,816,832.67 บาท มาร์เกตแชร์ 5.09%
อันดับ 8 บลจ.บัวหลวง มีมูลค่าทรัพย์สิน สุทธิ 34,138,799,606.74 บาท มาร์เกตแชร์ 4.93%
อันดับ 9 บลจ.ธนชาต มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 31,228,234,799.95 บาท มาร์เกตแชร์ 4.51%
และอันดับ 10 บลจ.ไอเอ็นจี จำกัด มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 28,049,498,406.20 บาท มาร์เกตแชร์ 4.05%
|