ธนาคารทหารไทยสร้างแผนงาน 9 ปีเพื่อกรุยทางสู่แบงก์คุณภาพ เริ่มจากการสะสางองค์กร
สร้างประสิทธิภาพของคนแล้วค่อยก้าวสู่การแข่งขันเพื่อชิงมาร์เก็ตแชร์ แผนงานผ่านไปแล้วครึ่งทาง
แบงก์ทหารไทยมีคุณภาพตามที่วาดหวังไว้หรือไม่ หรือมีอะไรผิดเพี้ยนไป ?!?
ความมั่นอกมั่นใจของ ดร.ทนง เกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามแผนงาน 9 ปี (2536-2544)
ซึ่งเป็นหนทางสู่การเป็นแบงก์คุณภาพ นับถึงปัจจุบัน TMB เดินมาถึงครึ่งทางแล้ว
คำถามที่เกิดขึ้น คือ ผลงานจากครึ่งทางที่เดินมาเป็นไปอย่างที่คาดหวังแค่ไหน
และอีกครึ่งทางที่เหลือจะเป็นอย่างไรต่อไป ดร.ทนง เป็นผู้ไขปัญหานี้ได้ดีที่สุด
เขาตอบอย่างปิดบังความภาคภูมิใจไม่มิดว่า "ผลงานที่ออกมาสูงกว่าที่คาดเสียอีก"
โดยมีตัวเลขทางการเงินยืนยันได้
ส่วนหนทางอีกเกือบห้าปีต่อไป TMB ยังมีแผนปฏิบัติการอีกไม่น้อยที่จะช่วยปูรากฐานสู่คุณภาพ
โดยสรุปว่า ในระยะที่สองนี้ ซึ่งได้แก่ ปี 2539-2541 หรือในปัจจุบัน จะเน้นการเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพด้านต่าง
ๆ ของ TMB ตั้งเป้าหมายว่าต้องมีส่วนแบ่งตลาดในระดับ 7% เมื่อสิ้นปี 2541
และในระยะสุดท้าย ซึ่งได้แก่ ช่วงระหว่างปี 2542-2544 เป็นการรุกตลาดอย่างจริงจังโดยมีเป้าหมายเพื่อการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดโดยเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดของแผนงานระยะสุดท้ายยังไม่อาจเปิดเผยได้
4 ปี ตัวเลขทุกด้านสดใสยกเว้นราคาหุ้น
ความสำเร็จของแผนงานในช่วง 4 ปี จากปี 2536 เป็นต้นมาเห็นชัดเจนจากการเติบโตในหลาย
ๆ ด้าน TMB มีอัตราเติบโตของสินทรัพย์สูงถึง 22% ต่อปี สินเชื่อขยายตัวเฉลี่ยปีละ
22% เงินฝากขยายตัวเฉลี่ยปีละ 19% รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลขยายตัวเฉลี่ยปีละ
22% และกำไรสุทธิขยายตัวเฉลี่ยปีละ 30% ความสามารถในการทำกำไรที่วัดจาก ROA
และ ROE สูงเฉลี่ย 1.62% และ 23% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าระดับค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อีก
4 แห่ง อันได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กสิกรไทย (TFB) ไทยพาณิชย์ (SCB) และกรุงศรีอยุธยา
(BAY) ทำได้ในช่วงเดียวกัน
เมื่อสิ้นปี 2539 TMB มีสินทรัพย์สูงถึง 333,994 ล้านบาท ยอดเงินฝาก 258,466
ล้านบาท และยอดสินเชื่อ 263,148 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดทางด้านสินเชื่อและเงินฝากกว่า
6% แล้วโดยรั้งตำแหน่งอันดับที่ 6 ของธนาคารพาณิชย์ไทย
เหนือสิ่งอื่นใด ภาพร้าย ๆ ในอดีตที่เคยมีมา ไม่ว่าจะเป็นการมีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่สูงถึง
20% ของยอดสินทรัพย์รวมดอกเบี้ยค้างรับที่สูงถึง 2% ของยอดสินเชื่อ หรือแม้กระทั่งเงินสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่เคยมีแค่
25% ได้เลือนหายไปแล้ว
ภาพใหม่ที่ TMB ได้สร้างขึ้นตามคำบอกเล่าของ ดร.ทนง ก็คือ ยอดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพลดลงมาเหลือแค่
6% กว่า ๆ ของยอดสินทรัพย์รวม ดอกเบี้ยค้างรับอยู่ในระดับ 1.4% และมีเงินสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญครบ
100% แล้ว ซึ่งทุกอย่างอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของระบบธนาคารพาณิชย์
นั่นหมายถึงว่า TMB ไม่เป็นรองธนาคารชั้นแนวหน้าแห่งอื่น ๆ อีกต่อไป !
อย่างไรก็ดี แม้ผลประกอบการทุกด้านจะดูดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่ไม่ดีตามไปด้วยก็คือ
ราคาหุ้น เมื่อสิ้นปี 2535 ราคาหุ้น TMB อยู่ที่หุ้นละ 420 บาทในราคาพาร์ละ
100 บาทหรือคิดเป็น 42 บาทต่อหุ้นเมื่อเทียบเป็นพาร์ละ 10 บาทเช่นในปัจจุบัน
เมื่อสิ้นปี 2539 หุ้น TMB ยืนอยู่ที่ราคา 50.50 บาท คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น
20% ในเวลา 4 ปี หรือตกปีละ 5% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นที่น้อยกว่าการเติบโตทุกด้าน
และหากเปรียบเทียบกับปี 2538 แล้ว ราคาหุ้นของ TMB ในปี 2539 ยังลดลงถึง
42%
เกิดอะไรขึ้นกับราคาหุ้นของ TMB ? เป็นคำถามที่หาคำตอบไม่ยาก สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากภาวะตลาดที่ตกต่ำมาตลอดในกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา
แต่อีกส่วนที่ดูจะมีน้ำหนักมากกว่าก็คือ ข่าวลือที่เกี่ยวกับหนี้เสียของสถาบันการเงินในห้วงภาวะเงินตึง
และ TMB เจอแจ็กพอตอย่างจัง เมื่ออดีตผู้บริหาร TMB จำนวน 2 คน เปิดเผยว่า
ธนาคารมีหนี้เสียสูงถึง 40,000 ล้านบาทจากยอดสินเชื่อกว่า 200,000 ล้านบาท
ข่าวนี้แพร่สะพัดในช่วงกลางปี 2539 แต่ผลสะท้อนของมันกว้างไกลกว่านั้น แม้มันไม่อาจสั่นสะเทือนฐานสินเชื่อและเงินฝากก็จริง
เพราะตัวเลขผลประกอบการในสิ้น 2539 ยืนยันได้ดี ทว่าข่าวดังกล่าวกระทบต่อความรู้สึกของผู้ถือหุ้นและนักลงทุน
จนทำให้ราคา TMB ร่วงติดฟลอร์หลายวัน ราคาที่เคยวิ่งไปมาที่เกือบ 90 บาท
ก็ร่วงมาที่ประมาณ 60 บาท ทั้ง ๆ ที่หลังจากนั้นไม่นาน TMB ได้ประกาศผลการดำเนินงานงวด
9 เดือนออกมา ซึ่งมีผลกำไรสุทธิสูงถึง 3,505 ล้านบาท โดยมีอัตราเติบโตกว่าช่วงเดียวกันของปี
2538 ร่วม 20% และเป็นอัตราเติบโตที่สูงที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่
แต่ก็ไม่ทำให้ราคาหุ้นสูงขึ้นได้ ผนวกกับภาวะตลาดที่ไม่ฟื้นจึงทำให้หุ้น
TMB มีราคาต่ำลงเรื่อย ๆ จนปัจจุบันยืนที่ราคาประมาณ 45-50 บาท
คน - เทคโนโลยีต้องพัฒนาต่อเนื่อง
ถัดจากตัวเลขการเงิน สิ่งที่ TMB ประสบความสำเร็จอีกประการก็คือ การเพิ่มประสิทธิภาพของคนด้วยการทำกิจกรรม
5 ส. กิจกรรมคิวซี มินิคิวซี และอื่น ๆ ตัวอย่างเห็นได้จากการที่ TMB สามารถดำเนินงานสาขาเพิ่มขึ้น
40 แห่งในปีที่ผ่านมา ด้วยจำนวนคนที่น้อยลง กล่าวคือ ในสิ้นปี 2538 แบงก์ทหารไทยมีพนักงานทั้งสิ้นกว่า
8,700 คน และมีสาขาประมาณ 300 แห่ง แต่ในสิ้นปี 2539 แบงก์ทหารไทยมีพนักงานลดเหลือ
8,400 คน หรือลดไปกว่า 300 คน แต่มีจำนวนสาขาเพิ่มเป็น 344 แห่ง
ดร.ทนง ยืนยันว่า ไม่มีการจ้างพนักงานออก พร้อมทั้งอธิบายว่า "ปรกติ
ธนาคารจะมีพนักงานลาออกประมาณ 20-30 คนต่อเดือน ซึ่งเมื่อมีคนออกไป เราก็ไม่ได้รับคนใหม่เพิ่ม
แต่โปรโมตคนเก่าขึ้นมา จำนวนคนเลยน้อยลง"
ในด้านบริการที่ให้กับลูกค้าก็มีการพัฒนาไปมากเช่นกัน TMB ใช้เทคโนโลยีทันสมัย
ซึ่งเรียกว่า Q-BRANCH โดยมีระบบคอมพิวเตอร์ CLIENT SERVER SYSTEM เข้ามาใช้เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ
ระบบนี้แตกต่างจากระบบเดิมตรงที่แต่เดิมพนักงานจะให้บริการได้เฉพาะบริการที่ลูกค้าขอมา
แต่ไม่สามารถรู้ข้อมูลของลูกค้าทั้งหมด จึงไม่อาจเสนอบริการใหม่ ๆ ให้กับลูกค้าได้
แต่เมื่อใช้ระบบนี้พนักงานจะทราบข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับลูกค้าแต่ละรายจึงสามารถเสนอบริการใหม่
ๆ ให้กับลูกค้าได้ทันที
แหล่งข่าวรายหนึ่งอธิบายว่า "ระบบนี้เมื่อพนักงานคีย์ชื่อลูกค้า ก็จะมีรายละเอียดเกี่ยวกับลูกค้าทั้งหมดปรากฏออกมา
เราก็จะรู้ว่านอกจากลูกค้าจะถอนเงินแล้ว เขายังค้างค่าผ่อนบ้างกับธนาคารอีกหรือเปล่า
หรือเขามีบัตรเครดิตหรือยัง มีสินเชื่ออะไรบ้างที่ใช้กับเรา บริการใดบ้างที่เราจะขายให้เขาได้อีก
มันจะทำให้เราให้บริการได้รวดเร็วและมีคุณภาพดีขึ้น"
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการเรียนรู้และพัฒนาคาดว่า จะใช้งานได้อย่างราบรื่นในอีก
2-3 ปีข้างหน้า
สำหรับแผนงานในปี 2540 นี้ TMB ก็ยังมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานให้มากขึ้น
เพราะแม้ว่าเมื่อคิดประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน (PRODUCTIVITY) ต่อสินทรัพย์กำไรสุทธิต่อเงินฝาก
หรือตัวเลขอื่น ๆ ในสิ้นปี 2539 เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยถึง 21% เมื่อเปรียบเทียบกับปี
2538 และนับเป็นอัตราเติบโตที่สูงที่สุดในระบบแล้ว แต่ตัวเลขประสิทธิภาพที่ว่าก็ยังด้อยกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารใหญ่
ๆ 4 แห่งรวมกัน เป้าหมายของ TMB ในด้านนี้ก็คือ ต้องมี PRODUCTIVITY เท่าระดับค่าเฉลี่ยดังกล่าวให้ได้ในสิ้นปี
2541
กลยุทธ์สำคัญนอกเหนือจากการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ แล้วก็คือ การเพิ่มพูนความรู้ต่างๆ
ให้กับพนักงาน ทั้งคอมพิวเตอร์ ภาษา และความรู้เฉพาะด้าน งบประมาณเพื่อการนี้มีจำนวนมากกว่า
100 ล้านบาท ซึ่งดร.ทนงยืนยันว่า เป็นงบประมาณด้านบุคลากรที่ไม่น้อยกว่าธนาคารขนาดใหญ่แห่งใด
โดยมีเป้าหมายการฝึกอบรมตามที่ วรพรรณ ลียาทิพย์กุล ผู้จัดการสำนักงานพัฒนาบุคคล
เคยกล่าวผ่านสื่อมวลชนว่า พนักงานต้องได้รับการฝึกอบรมไม่ต่ำกว่า 100 ชั่วโมงต่อคนต่อปี
ความจริงจังของงานด้านนี้พิสูจน์ได้จากการปรับเปลี่ยนการทำงานของฝ่ายการพัฒนาบุคคลจากเดิมแบ่งการทำงานออกเป็น
3 กลุ่ม กลุ่มแรกจะฝึกอบรมสาขา กลุ่มที่สองฝึกอบรมผู้บริหารและความรู้เสริมต่าง
ๆ และกลุ่มที่สามเป็นแผนกวิชาการ ก็เปลี่ยนไปโดยปรับให้แต่ละกลุ่มสามารถฝึกอบรมบุคลากรได้ครบวงจรทุกด้าน
เพื่อให้การทำงานและประเมินผลทำได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
จากการพัฒนาคนและเทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้ TMB มุ่งหวังสู่การเป็นองค์กรที่มีบริการได้มาตรฐานระดับสากล
ISO 9002 โดยได้อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อขอมาตรฐานดังกล่าว
กรรมการผู้จัดการใหญ่ให้รายละเอียดว่า "เราทดลองทำตั้งแต่ปี 2538 ใน
3 สาขา คือ สีลม สะพานเหลือง และกรุงเกษม โดยจ้างบริษัทจากสิงคโปร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเป็นที่ปรึกษาโดยเฉพาะคิดว่าในเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนปีนี้ก็จะขอ
ISO 9002 ได้ ซึ่งถ้าสำเร็จก็จะทำในสาขาอื่น ๆ ต่อไป"
ตั้งเป้าสินเชื่อโต 16%
เน้นรายย่อยและใหญ่เท่า ๆ กัน
ทางด้านการสร้างรายได้และกำไรยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การให้สินเชื่อยังคงเป็นที่มาของรายได้หลัก
และต้องมีการควบคุมคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ในปี 2540 นี้ TMB ตั้งเป้าหมายขยายสินเชื่อและเงินฝากไว้ที่ระดับประมาณ
16% และ 15% ตามลำดับ หรือเติบโตสูงกว่าอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยของตลาด
"ความจริงเรื่องการเติบโตไม่ใช่เรื่องแรกที่เราคิดถึงเสถียรภาพต้องมาก่อน
แต่ผมก็หวังว่าส่วนแบ่งตลาดของเราต้องไม่น้อยกว่าเดิม ดังนั้น เราจึงต้องโตสูงกว่าระบบเล็กน้อย
แต่ว่าจะไม่โตอย่างก้าวกระโดด เราก็หวังเพียงว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าส่วนแบ่งตลาดของเราจะไปได้ถึง
7%" ดร.ทนง กล่าว
นโยบายการให้สินเชื่อ คือ มีการกระจายการให้สินเชื่อไปยังธุรกิจต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงการให้สินเชื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ดี สินเชื่อที่เน้นมากขึ้นก็คือ สินเชื่ออุตสาหกรรมและโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่าง
ๆ เช่น การสร้างถนน ทางด่วน และพยายามลดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสามารถลดสัดส่วนสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์จาก
12% เมื่อสองปีก่อน มาเหลือเพียง 6% ในสิ้นปี 2539 ที่ผ่านมา
ตัวเลขสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อเมื่อสิ้นไตรมาส 3 ปี 2539 ประกอบด้วย สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์
10% สินเชื่อเพื่อการบริโภค 19% สินเชื่อพาณิชยกรรม 20% สินเชื่ออุตสาหกรรม
20% สินเชื่อก่อสร้าง 10% และอื่น ๆ 21%
นอกจากนี้ ยังมีการกระจายอำนาจการให้สินเชื่อจากเดิมที่ปล่อยสินเชื่อจากสำนักงานใหญ่เป็นส่วนใหญ่ถึง
60% ก็เปลี่ยนแปลงไปโดยให้ส่วนภูมิภาคมีอำนาจในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันส่วนภูมิภาคสามารถปล่อยสินเชื่อคิดเป็น
60% ของยอดสินเชื่อทั้งหมด บทบาทของสำนักงานใหญ่จึงกลายเป็นฝ่ายสนับสนุนและเร่งให้การพิจารณาสินเชื่อที่ส่งมาจากสาขาเสร็จเร็วขึ้น
ดร.ทนง กล่าวว่า จากการดำเนินงานตามนโยบายนี้มาตั้งแต่ต้นปี 2539 ก็คิดว่าประสบผลที่ดี
เพราะควบคุมคุณภาพของสินเชื่อและลูกค้าได้อย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในด้านฐานลูกค้า TMB ยังคงสัดส่วนเดิมตั้งแต่ช่วงที่เริ่มแผนงานมา กล่าวคือ
ลูกค้ารายใหญ่ 50% และรายย่อย 50% ในอดีตก่อนที่จะมีแผนงาน 9 ปีขึ้นมา TMB
มีลูกค้ารายย่อยมากกว่า แต่เมื่อมีการปรับปรุงคุณภาพการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ลูกค้าเหล่านี้น้อยลงไป
เพราะว่าเสี่ยงต่อการมีหนี้สูญมาก ประกอบกับในระยะหลังมีโครงการและโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นผลพวงของการลงทุนในภาครัฐมากขึ้น
ทำให้แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อเน้นไปที่รายใหญ่
กระนั้นก็ตาม ในระยะยาวแล้ว ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงลูกค้ารายย่อยได้ เพราะเป็นไปตามทิศทางตลาด
ดร.ทนง กล่าวว่า TMB ก็ต้องเน้นไปยังลูกค้ารายย่อยเช่นกัน แต่การปรับสัดส่วนลูกค้าขึ้นอยู่กับสถานการณ์
การกำหนดนโยบายทางด้านสินเชื่อและลูกค้าบ่งบอกว่า TMB พยายามลดความเสี่ยงจากหนี้สูญ
เพราะโครงการอุตสาหกรรม และสาธารณูปโภคย่อมเกี่ยวเนื่องกับการลงทุนในภาครัฐบาล
ซึ่งหากไม่อับโชคจริง ๆ ย่อมจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ดังนั้น โอกาสที่จะเกิดการผัดผ่อนหนี้หรือเรียกเก็บหนี้ไม่ได้มีน้อยลง
และการที่จะหันหัวสู่ลูกค้ารายย่อยมากขึ้นอีกครั้งก็เพื่อเพิ่มอัตราการทำกำไร
เพราะกำไรจากส่วนต่างดอกเบี้ยของลูกค้ารายย่อยสูงกว่าลูกค้ารายใหญ่ โดยในปัจจุบัน
TMB มีส่วนต่างดอกเบี้ยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับประมาณ 3.5%
นอกเหนือจากงานทางด้านสินเชื่อที่เป็นที่มาของรายได้หลักแล้ว งานด้านวาณิชยธนกิจก็เริ่มมีภาพที่ชัดเจนขึ้น
เพราะมีการแบ่งแยกสายงานวาณิชธนกิจแยกออกจากสายการลงทุนเมื่อปลายปี 2538
ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม รายได้ทางด้านนี้ก็ยังไม่มากมายนัก โดย TMB มีรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการคิดเป็นประมาณ
15% ของยอดรายได้รวม
ดร.ทนง กล่าวว่า "เราคิดว่าจะต้องเพิ่มรายได้ในส่วนนี้ เพราะในระยะยาวมันเป็นรายได้ที่ดีมาก
ๆ แต่การขยายของเราก็ต้องมั่นใจว่ามันไม่มีข้อผูกพัน เช่นว่าต้องปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าวาณิชธนกิจด้วย
เพราะหากทำได้ไม่ดีพอก็มีสะสมปัญหาเช่นกัน ผมเชื่อว่า การไม่สะสมปัญหาจะดีกว่า
แม้จะโตช้าแต่ก็มั่นคง"
ปี 40 ชะลอการขยายสาขา
สำหรับการขยายสาขานั้น ดร.ทนง ย้ำว่าคงต้องชะลอตัวลง เพราะในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาได้ขยายสาขาไปเกือบเท่าตัวแล้ว
จากสาขาเพียง 215 แห่งในปี 2535 เพิ่มขึ้นเป็น 344 สาขาในสิ้นปี 2539 ซึ่งในปีนี้เพียงปีเดียวได้ขยายสาขามากถึง
40 สาขา ตามแผนงานที่วางไว้ ปี 2541 TMB จะมีสาขาประมาณ 400 แห่ง โดยในปี
2540 คาดว่าจะมีสาขา 370 แห่ง หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 26 แห่ง และจะเพิ่มอีก
30 แห่งในปี 2541 ซึ่งจะครบจำนวนตามเป้าหมาย
"เราชะลอเรื่องการขยายสาขาลงก็เพราะคิดว่า เราควรกลับมาทำอย่างอื่น
ถึงเวลาที่เราจะต้องกลับมาดูคุณภาพของสินทรัพย์อีกครั้งหนึ่ง ก่อนหน้านี้เราขยายสาขาไปเยอะมากแล้ว
เราก็หาผู้จัดการสาขาไม่ทัน ตอนนี้เราจึงต้องกลับมาดูแลและฝึกอบรมพวกเขาให้มากขึ้น"
เขาให้เหตุผล
ส่วนการขยายสาขาในต่างประเทศก็ยังดำเนินการต่อเนื่อง โดยเน้นแถบอินโดจีนและกลุ่มอาเซียน
โดยปัจจุบันมีสาขา 4 แห่ง ในฮ่องกง เวียงจันทร์ โฮจิมินห์ซิตี้ และหมู่เกาะเคย์แมน
สำนักงานผู้แทนอีก 4 แห่ง คือ พม่า ฮานอย ปักกิ่ง และเหอเฟยในประเทศจีน นอกจากนี้
ยังอยู่ในระหว่างการจัดตั้งในประเทศฟิลิปปินส์หนึ่งแห่ง ซึ่งได้รับใบอนุญาตมาแล้ว
และอยู่ระหว่างการยื่นขอใบอนุญาตที่ประเทศอินโดนีเซียหนึ่งแห่ง
"สาขาที่เราทำมาก็มีกำไรทั้งหมด เพียงแต่ว่าคิดเป็นรายได้และกำไรให้กับบริษัทไม่มากมากนัก
เพราะเราตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อแต่ละแห่งไม่เกิน 1,000 ล้านบาทเท่านั้น"
อย่างไรก็ตาม การขายสาขานอกทวีปเอเชีย ดังเช่น ยุโรป หรืออเมริกา ก็ยังไม่อยู่ในความสนใจ
เพราะไม่คุ้มกับการลงทุนโดยเขาอธิบายว่า "คนไทยไปลงทุนในแถบนั้นน้อย
เราก็ไม่รู้ว่าจะเข้าไปทำไม อีกอย่างหนึ่งถ้าเราทำในอาเซียนมันเป็นโซนที่กำลังโต
แต่ยุโรปเป็นโซนที่กำลังจะตายและมีการแข่งขันสูง เราคงสู้เขาไม่ได้ มันก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไป"
แผนไม่สะดุด แม้ ดร.ทนง อำลาเวที
แม้โดยภาพรวมแล้ว ก้าวเดินของ TMB ดูจะราบรื่นตามแผนงานไปเสียทั้งหมด แต่ความแน่นอนก็คือ
ความไม่แน่นอน ก้าวที่จะสะดุดหกล้มก็มีทางเป็นไปได้ เพราะในเดือนตุลาคม ปี
2540 นี้ ดร.ทนงจะต้องถอดหมวกอำลาจากตำแหน่งแม่ทัพของแบงก์แห่งนี้ตามวาระการบริหารงานที่หมดลง
รอยต่อของผู้บริหารคนเก่าและคนใหม่อาจทำให้แผนดำเนินงานของ TMB ไม่ราบรื่นดังที่เคยเป็นมา
ประเด็นนี้ เจ้าของเรื่องตอบทันทีว่า "เป็นเรื่องที่ผู้บริหารคนใหม่จะเข้ามารับภารกิจต่อจากผมที่จะตัดสินใจว่า
ควรจะทำตามแผนการที่วางไว้ต่อไปหรือไม่ ถ้าเขาคิดว่า สิ่งที่ดำเนินงานมาเป็นเรื่องดี
เขาก็คงเดินต่อไป แต่ถ้ายังไม่ดีก็คงต้องมีการปรับแผนใหม่ ซึ่งย่อมจะดีกว่าแผนงานในปัจจุบัน
แต่ใน 4-5 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขต่าง ๆ ก็พิสูจน์ว่า สิ่งที่เราทำมาให้ผลที่ดี"
เช่นเดียวกับโบรกเกอร์หลายแห่งที่มองว่า TMB ก้าวสู่ทิศทางที่ถูกต้องแล้ว
ดังนั้น จึงไม่น่าจะมีเหตุผลอื่นใดที่จะทำให้ผู้บริหารคนใหม่ละทิ้งแนวทางนี้
ดังนั้น ดร.ทนง จึงมั่นใจว่า เมื่อถึงคราเปิดเสรีทางการเงิน TMB มีศักยภาพเพียงพอที่จะยืนหยัดได้แม้ว่าจะมีธนาคารใหม่
ๆ เกิดขึ้นอีกมากมายก็ตาม เพราะว่าตลาดมีการขยายตัวออกไป และธนาคารใหม่นั้นยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการสร้างฐานลูกค้า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งศักยภาพในการขยายสาขาธนาคารใหม่เหล่านั้นจะเสียเปรียบ เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนสูงและใช้เวลานานกว่าที่จะคืนทุน
"ลองคิดดูว่า กว่าที่ธนาคารทหารไทยจะขยายสาขาได้ถึง 344 สาขา เราต้องใช้เวลาถึง
40 ปี เขาจะต้องใช้เวลาเท่าไรในการพัฒนาสาขาขึ้นมา และทำแล้วมันก็ต้องหาลูกค้ารายใหญ่
ถ้าเป็นลูกค้ารายย่อยมันก็ไม่คุ้ม ค่าใช้จ่ายมันเยอะ"
ส่วนแบงก์ต่างประเทศที่จะเข้ามาตั้งสาขาในประเทศไทยก็มีกลุ่มลูกค้าเป็นคนละกลุ่มกัน
เนื่องจากธนาคารเหล่านี้ใช้เทคโนโลยีสูง จึงต้องจับกลุ่มลูกค้าที่รายใหญ่ที่ต้องการบริการจากเทคโนโลยีเหล่านั้น
ดังนั้น คู่แข่งของธนาคารเหล่านั้นก็น่าจะเป็นธนาคารที่มาจากต่างประเทศเช่นกัน
"ผมมองธนาคารทหารไทยว่า เป็นธนาคารขนาดกลางที่ค่อนข้างใหญ่ นั่นคือ
เรามีกิจกรรมเหมือนธนาคารขนาดใหญ่ อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อและเงินฝากของเราเทียบเท่ากับธนาคารขนาดใหญ่ในแง่ของการบริการก็ไม่ด้อยกว่า
ความสามารถในการทำกำไรเราก็มีเพียงพอ เราคิดว่า เราสู้แบงก์ใหญ่ได้ เพราะการสู้ได้ต้องมีสินเชื่อที่มีคุณภาพ
และไม่มีปัญหาสะสมตามมา"
นั่นเป็นการตอกย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ความสำเร็จของ TMB ในอนาคตย่อมขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องในการรักษาคุณภาพโดยไม่หยุดนิ่ง
เพราะหากละเลยเมื่อใด คำว่า "ธนาคารคุณภาพ" ก็จะเป็นแค่ถ้อยคำสวยหรูบนหน้ากระดาษเท่านั้น