"สิงห์เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะการเป็นผู้บริหารบริษัทในเครือปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียง
และยังเข้าใจระบบตลาดทุนของไทยเป็นอย่างดี เชื่อว่า หากได้รับการคัดเลือกจะนำพาตลาดหุ้นไทยไปสู่จุดหมายปลายทางที่ดีได้"
นั่นคือ คำกล่าวอย่างมั่นใจของโกวิทย์ โปษยานนท์ ประธานคณะกรรมการการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยผู้ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดสรรหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งกรรมการ
และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แทนเสรี จินตนเสรี ที่หมดวาระลงเมื่อวันที่ 30
มิ.ย. 2539
ที่ผ่านมา การทาบทามผู้ที่มีความสามารถเข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของเขาเป็นไปอย่างยากลำบาก
เนื่องจากผู้ที่ถูกทำการทาบทามหวั่นเกรงต่อภาวะการเมืองที่จะเข้ามาครอบงำตลาดหลักทรัพย์ฯ
ในขณะนั้น ทำให้การสรรหาผู้จัดการตลาดฯ ยากลำบากกว่าที่แล้ว ๆ มา
โกวิทย์ เล่าว่า "คณะกรรมการสรรหาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่ง ได้มีความพยายามที่จะทาบทามบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าว
แต่เนื่องจากตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เป็นตำแหน่งที่ผู้เข้ามารับผิดชอบจะต้องเสียสละและเป้นงานที่หนัก
เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์เป็นแหล่งผลประโยชน์ของบุคคลที่เกี่ยวขอ้งประกอบกับเกรงว่าจะมีอิทธิพลทางการเมืองเข้ามาครอบงำ
ดังนั้นการสรรหาบุคคลจึงค่อนข้างลำบาก ซึ่งที่ผ่านมา ก็ได้รับการปฏิเสธ จากผู้ที่ได้รับการทาบทามมาแล้วหลายราย"
แต่แล้วโกวิทย์ก็ได้สิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทสยามเซลลูโลส
และรองกรรมการผู้จัดการบรษัทเยื่อกระดาษสยามจำกัด (มหาชน) โดยทั้งสองบริษัทเป็นบริษัทในเครือซิเมนต์ไทย
มาดำรงตำแหน่งดังกล่าว หลังจากที่ใช้เวลาในการทาบทามมาเกือบเดือน ด้านสิงห์เองนั้นก็ใช้เวลาตัดสินใจในการรับตำแหน่งนี้นานกว่า
20 วันเช่นกันในการตอบรับ
สิงห์ บอกเล่าถึงการตัดสินใจของตัวเองในวันเปิดตัววันแรกกับสื่อมวลชนที่บริษัทเยื่อกระดาษสยามว่า
"โกวิทย์ โปษยานนท์ ประธานคณะกรรมการสรรหาได้ทาบทามผลโดยบอกว่าได้รับการเสนอชื่อ
หลังจากนั้นประมาณ 20 วันจึงตอบรับ เพราะเห็นว่าเป็นตำแหน่งที่ท้าทายความสามารถบวกกับความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่
รวมทั้งสายสัมพันธ์ที่เคยร่วมงานและรู้จักส่วนตัวกับคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ
หรือแม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังเห็นว่า น่าจะทำงานกันได้อย่างราบรื่น"
สิงห์ มีแนวความคิดและมุมมองที่เชื่อว่า ตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์
ไม่ใช่ผู้ประสานประโยชน์ของทุกฝ่ายอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะทุกอย่างมีกติกาที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้ว
ในการซื้อขายที่เกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้ลงทุนได้ประโยชน์จากกำไรที่ไม่ต้องเสียภาษี
ส่วนโบรกเกอร์ได้รับค่าธรรมเนียมจากการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ สำหรับตลาดหลักทรัพย์ก็ได้รับค่าธรรมเนียมจากสมาชิก
แต่ว่าตลาดก็ต้องมีหน้าที่ดูแลผู้เกี่ยวข้องให้มีวินัยและจริยธรรมในการทำธุรกิจให้มากที่สุด
ส่วนตัวเขาเองก็มีหลักปรัชญาในการบริหารที่เปิดเผยและจริงใจ
สำหรับหลักการในการบริหารงานในตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์นั้น
สิงห์ระบุชัดแจ้งว่า จะเน้นการปรับปรุงคุณภาพของข้อมูล และเน้นการเปิดเผยข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน
รวมถึงความพยายามที่จะให้ผู้ลงทุนสนใจใช้ข้อมูลพื้นฐานในการตัดสินใจลงทุนให้มากขึ้น
อีกทั้งเขายังให้ความเห็นถึงบทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อบริษัทจดทะเบียนว่า
ตลาดไม่มีอำนาจมากมายถึงขั้นจะปลดผู้บริหารได้ "ในบ้านเราบริษัทจดทะเบียนในตลาดมักจะถูกครอบงำโดยระบบครอบครัว
หลายองค์กรยังไม่เปิดให้มืออาชีพเข้าไปบริหารงาน ขณะที่ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว
สมัยนี้ต้องการมืออาชีพบริษัทที่พัฒนาแล้วกำไรที่ได้ต้องจ่ายปันผล 50% ที่เหลือจึงนำมาขยายงาน"
นอกจากนั้น มุมมองของสิงห์ ยังแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับเสรี จินตนเสรี กรรมการ
และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์คนก่อนหน้านี้ ที่เน้นการทำโรดโชว์เพื่อไปประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศ
"ไม่ใช่หน้าที่ของตลาดที่จะต้องชี้แจงข้อมูล ตลาดมีหน้าที่หาข้อมูลมาเปิดเผยให้นักลงทุนรับทราบอย่างเท่าเทียมกัน
ผมมั่นใจว่า ถ้าหากเศรษฐกิจดีก็ไม่จำเป็นต้องไปทำโรดโชว์ที่ต่างประเทศ"
ทางด้านประวัติการศึกษานั้น สิงห์ถือว่าอยู่ในระดับแนวหน้าเลยทีเดียว เนื่องจากเขาจบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หลังจากนั้นบินไปศึกษาต่อปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกาทางด้านการบริหารธุรกิจ
สาขาการเงินการธนาคารที่ WHARTON SCHOOL OF FINANCE AND COMMERCE, UNIVERSITY
OF PENNSYLVANIA
ส่วนประวัติการทำงานนั้น สิงห์ก็ผ่านการทำงานมาไม่น้อยและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง
แถมมีสายสัมพันธ์อันดีกับผู้บริหารทางด้านการเงินอย่างมากมาย ด้วยวัย 54
ปี เขาเริ่มชีวิตการทำงานครั้งแรกเมื่อปี 2511 โดยรับราชการในตำแหน่งเศรษฐกรโท
ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เป็นเวลากว่า 12 ปี จนมีตำแหน่งสุดท้ายเป็นถึงผู้อำนวยการกองวางแผนการคลัง
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง
ในระหว่างที่ใช้ชีวิตราชการที่กระทรวงการคลังนั้นเคยร่วมงานกับบดี จุณณานนท์
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขณะนั้นอยู่ที่สำนักงานงบประมาณเช่นกัน
อีกทั้งยังเคยร่วมงานกับปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต.
โดยในตอนนั้นเป็นผู้บริหารของธนาคารแห่งประเทศไทย
เมื่อออกจากราชการในปี 2523 ก็ถูกชักชวนไปอยู่ที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทยในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและวางแผน
จนกระทั่งปี 2529 ก็ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการบริษัทเยื่อกระดาษสยาม
และเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท สยามเซลลูโลสควบอีกตำแหน่ง ซึ่งสิงห์ใช้ชีวิตการทำงานอยู่ในเครือซิเมนต์ไทยเป็นเวลาเกือบ
16 ปี
คนที่เคยทำงานกับสิงห์ที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทยเล่าให้ฟังว่า สิงห์เป็นคนที่ใจเย็นในการทำงานและไม่ใช้อารมณ์จึงเป็นที่รักของลูกน้องอย่างมาก
คุณสมบัติเด่นอีกข้อหนึ่งที่คนในปูนซิเมนต์ไทยรู้ดีก็คือ เขาเป็นคนที่ประสานง่าย
มีคอนเนกชั่นที่ดีกับทุก ๆ ฝ่ายไม่มีปัญหาในเรื่องของการติดต่อกับผู้คน ไม่ว่าจะเป็นระดับผู้บริหารหรือพนักงาน
แถมยังเป็นคนที่ละเอียดรอบคอบ บางครั้งอาจจะแลดูว่าช้าเกินไป
แต่นั่นอาจจะเป็นคุณสมบัติของนักการเงินทั่วไปก็ได้ และเป็นข้อดีโดดเด่นจนเข้าตากรรมการจึงได้รับเลือกเข้ามา
ซึ่งถือว่าเป็นผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์คนแรกที่มาจากบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้น
ส่วนจะผ่านพ้นไปได้อย่างดีหรือไม่นั้น คงต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ซึ่งสิงห์ยังมีเวลาเหลืออีก
3 ปีกว่าในการพิสูจน์ฝีมือ หากไม่ถูกมรสุมร้ายพัดใส่จนเกิดท้อแท้ไปเสียก่อน
โดยชีวิตส่วนตัวแล้วว่ากันว่า สิงห์เป็นคนที่ติดดินมาก ไม่มีพิธีรีตองใด
ๆ ทั้งสิ้น ส่วนครอบครัวนั้นมีพื้นเพดั้งเดิมอยู่แถวเยาวราช จัดว่ามีฐานะดีทีเดียวเพราะเป็นลูกชายร้านทองชื่อดังเก่าแก่ของเยาวราช
คือ ตั้งโต๊ะกัง แถมยังมีกิจการโรงแรมขนาด 3 ดาวอยู่บริเวณเดียวกันด้วย ซินแสสูงอายุท่านหนึ่งที่เคยรู้จักตระกูลของสิงห์ดีเล่าให้ฟังว่า
"ตระกูลตั้งโต๊ะกังนั้น ถือว่ารวยที่สุดในเยาวราช และที่ฮือฮามากในขณะนั้นก็คือ
เป็นตระกูลแรกที่สร้างตึกสูงที่สุดในตอนนั้น คือ สูงถึง 7 ชั้น ส่วนตระกูลที่รวยรองลงมาในเยาวราช
คือ เตชะไพบูลย์ ซึ่งเป็นเจ้าของภัตตาคารห้อยเทียนเหลา สาขาแรกเกิดที่เยาวราช
แต่นั่นมัน 50 กว่าปีมาแล้วนะ แต่ตอนนี้ตังทัตสวัสดิ์ก็ยังรวยอยู่ดี"