ตลาดหุ้นไทยไร้เสถียรภาพ นักลงทุนห่อเหี่ยวใจ ดัชนีหนึ่งวันดีสี่วันไข้
แปรปรวนหาความแน่นอนไม่ได้ โอกาสเสียมากกว่าได้ สารพัดมรสุมรุมกระหน่ำทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน
สิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ - ผู้กุมบังเหียนคนปัจจุบัน ในเวลา 8 เดือนที่นั่งเก้าอี้บริหารตลาดฯ
หุ้นตกไปแล้วกว่า 500 จุด!! เขาถูกตั้งคำถามมากมาย แม้ความสามารถจะมี แต่โชคและโอกาสไม่อำนวย
เขาจะทำอย่างไรกับเผือกร้อนจานใหญ่ในมือ ?!?
ตลาดหุ้นยุคสิงห์…เผือกร้อน
ของฝากจากรัฐบาลบรรหาร
ภายหลังการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.ค. 2538 พรรคชาติไทยเป็นฝ่ายกุมเสียงข้างมาก
ในสภาและได้อำนาจโดยชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล มีบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ
สถานการณ์ตลาดหุ้นที่ตกต่ำประสานกับเสียงร้องยี้ เมื่อมีการประกาศรายชื่อรัฐมนตรีออกมา
ซึ่งสถาบันที่สะท้อนภาพยี้ให้เห็นเด่นชัดในเวลานั้น คือ ตลาดหุ้นไทยที่ดัชนีไหลรูดลงเกือบ
60 จุดในวันแรกที่บรรหาร เข้ารับตำแหน่ง
บรรหารได้ออกแถลงการณ์อย่างหงุดหงิดใจว่า ตลาดหุ้นจะทำให้ขึ้นก็ได้ ลงก็ได้
ก็รู้ ๆ อยู่ว่าใครทำ พร้อมกับให้ความมั่นใจว่าไม่ต้องกลัว "ผมจะต้องทำให้ตลาดหุ้นดีขึ้นได้แน่นอน"
แต่แล้วนายกรัฐมนตรีบรรหาร ศิลปอาชา ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า คำพูดของตนนั้นเป็นความจริงหรือไม่
แถมยังได้ภาพติดลบไปอีกว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ย่ำยีภาวะเศรษฐกิจไทยให้ตกต่ำย่ำแย่ที่สุดในรอบ
10 ปีที่ผ่านมานี้ ตามความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ของประเทศโดยเฉพาะในวงการธุรกิจทั่วไป
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปริมาณการซื้อขายหุ้นในวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน
2539 ปริมาณการซื้อขายหุ้นมีจำนวนเพียง 1,512 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณการซื้อขายที่ต่ำที่สุดในรอบ
3 ปีที่ผ่านมา
เพราะตัวเลขปริมาณการซื้อขายระดับพันกว่าล้านบาทต่อวันนั้น ครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นก็คือ
วันที่ 5 เมษายน 2536 ซึ่งในวันนั้น มีปริมาณการซื้อขายแค่เพียง 1,475.72
ล้านบาทเท่านั้นเอง แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว บริษัทโบรกเกอร์ยังมีเพียง 35
บริษัทเท่านั้น ความซบเซาที่เกิดขึ้นยังถือว่าไม่หนักหนาเท่าในปัจจุบัน
แต่เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2538 ซึ่งเป็นวันที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพิ่มจำนวนโบรกเกอร์จากเดิม
35 รายเป็น 44 รายนั้น ปริมาณการซื้อขายที่สร้างความเชื่อมั่นให้บริษัทซับ
โบรกเกอร์กระโดดเข้ามาเป็นโบรกเกอร์มากขึ้นนั้น ก็เพราะมั่นใจว่าเฉลี่ยการซื้อขายแต่ละวันควรจะไม่ต่ำกว่า
6,000 ล้านบาท เนื่องจากจะทำให้ธุรกิจโบรกเกอร์ทั้งหลายอยู่กันได้อย่างสบาย
รวมทั้งเมื่อมีการเพิ่มโบรกเกอร์จาก 44 รายเป็น 50 รายเมื่อต้นปี 2539 นั้นเอง
ความฝันของบรรดาเหล่านายหน้าตัวแทนค้าหุ้นหรือโบรกเกอร์ก็ยังเรืองรองว่า
ปริมาณการซื้อขายหุ้นของตลาดหุ้นไทยแบบสบาย ๆ ก็น่าจะอยู่ที่ระดับ 7,000-8,000
ล้านบาทต่อวัน แต่ในที่สุดห้วงเวลา 11 เดือนภายใต้ร่มเงารัฐบาลบรรหาร 1/2/3
ก็พิสูจน์แก่ใจโบรกเกอร์และบรรดานักเล่นหุ้นไปแล้วว่า รัฐบาลบรรหารเป็นตัวการหลักให้ตลาดหุ้นไทยถึงกับสวรรค์ล่มแบบไปไม่กลับ
- หลับไม่ตื่น - ฟื้นไม่มี - หนีไม่พ้น
เพราะฝันของนักลงทุนและโบรกเกอร์ไม่เป็นจริงเสียแล้ว ที่คาดกันว่าโบรกเกอร์
50 รายจะแบ่งเค้กกันได้อย่างไม่เดือดร้อน การณ์กลับกลายเป็นว่าแทนที่จะแบ่งเค้กกันกินแบบอิ่มหนำสำราญ
ก็ต้องกระเสือกกระสนกินข้าวคลุกน้ำตากันไปก่อนแทนเค้กเสียแล้ว
"สิงห์" วันนี้โชคไม่ช่วย
แถมโอกาสยังไม่อำนวย
เนื่องจากมีตัวเลขชี้ชัดเมื่อสิ้นปี 2539 เป็นต้นมาว่า วอลุ่มการซื้อขายที่หดหายได้ทำให้อัตรารายได้
และผลกำไรของบริษัทโบรกเกอร์ต่าง ๆ พร้อมใจกันลดต่ำทั้งระบบ เฉลี่ยประมาณ
20% และที่สาหัสสากรรจ์ที่สุด คือ บรรดาโบรกเกอร์หน้าใหม่ที่ยังต้องจ่ายค่าเก้าอี้ล้วนต้องแบกรับภาระที่ซบเซาของตลาดหุ้นไทยที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาของบรรหาร
ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะในยุคของเขานั้น หุ้นตกไปกว่า 175 จุดทีเดียว
ทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศ รวมทั้งโบรกเกอร์ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า
ความสาหัสของตลาดหุ้นไทยในขณะนั้นเกิดขึ้นจากปัญหาหลัก 3 ประการ คือ ประการแรก
ปัญหาเศรษฐกิจของไทยในเรื่องของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ที่ถูกแก้ปัญหาด้วยการเอาใจการเมือง
หลบเร้นความจริงได้เป็นข้อกังวลลึก ๆ ของนักลงทุนตลอดเวลาว่า เศรษฐกิจไทยอาจก้าวเข้าภาวะวิกฤติได้
หากรัฐบาลยังคงใช้การเมืองแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และหน่วยงานที่มีหน้าที่แก้ปัญหาการเงินการคลังยังคงเอาใจการเมืองจนเกินเหตุเช่นนี้
ประการต่อมา สภาพย่ำแย่ทางการเมืองที่วุ่นวายไม่สิ้นสุดนับตั้งแต่รัฐบาลบรรหาร
1 ขึ้นมาจนถึงบรรหาร 3 หรือแม้กระทั่งรัฐบาลพลเอกชวลิต ขณะนี้ก็ยังไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างการยอมรับได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์
ภาพที่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีฉุดให้ดัชนีตลาดหุ้นของไทยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
นับตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วส่งผลกระทบต่อดัชนีหุ้นมาถึงวันนี้
ด้วยความบอบช้ำของนักลงทุนในตลาดหุ้น ในแง่ของการเมืองยังมีผลมาจากการเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ของนักการเมืองซีกรัฐบาลเอง
โดยการเข้าเทกโอเวอร์บริษัทจดทะเบียนที่เข้าข่ายหุ้นเน่า ด้วยการสนับสนุนสินเชื่อเทคโอเวอร์จากธนาคารกรุงเทพฯ
พาณิชย์การ หรือบีบีซีฯ ทั้งที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่คุ้มเงินหนี้ จนเป็นเหตุให้บีบีซีมีหนี้ที่สงสัยจะสูญระดับ
19,730 ล้านบาท จนกระทบกระเทือนถึงสถานะการเงินของธนาคาร และกลายเป็นคดีงามหน้าอยู่ในตอนนี้
ความย่ำแย่ ความวุ่นวาย และภาพความไม่แน่นอนของการเมืองทำให้นักลงทุนพากันหมดแรงและหมดกำลังใจที่จะซื้อขาย
และประการสุดท้าย คือ เรื่องกลไกของตลาดหลักทรัพย์เอง โดยเฉพาะในเรื่องของมาตรการเมนเทนแนนซ์มาร์จิน
ที่เป็นตัวกดดันหรือพร้อมจะซ้ำเติมได้ตลอดเวลา หากว่าหุ้นอยู่ในสภาพขาลงต่อเนื่องเมื่อใด
ก็จะมีการบังคับขายเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้สถานการณ์หุ้นที่ย่ำแย่สาหัสหนักขึ้นไปอีก
ซึ่งภาวะตลาดหุ้นไทย ตอนนี้ก็ได้ฉายภาพให้เห็นชัดเจนแล้วว่า ตกต่ำที่สุดในรอบ
4 ปี และอยู่ในภาวะที่เรียกว่าซบเซาต่อเนื่องมาแล้วเกือบ 3 ปีติดต่อกัน ช่วงที่เกิดเหตุการณ์แบล็คมันเดย์นั้น
สภาพตลาดหุ้นไทยย่ำแย่อยู่เพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้นก็สามารถฟื้นตัวได้แล้ว
นักลงทุนรายใหญ่เจ้าหนึ่งให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการรายเดือน"
ว่า "ตอนนี้นักลงทุนไม่มีใครอยากจะลงทุนกันแล้ว ตราบเท่าที่ปัญหาทางด้านการเมืองยังไม่ลงตัว
เพราะหากการเมืองยังวุ่นวายหาความแน่นอนไม่ได้ การที่จะผลักดันแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างจริงจังก็เป็นเรื่องลำบาก
ตรงนี้ทำให้นักลงทุนถอดใจและขอดูทิศทางลมก่อนว่า การเมืองจะลงตัวเมื่อไหร่
ภาวะตลาดหุ้นจึงจะพ้นสภาพตายซากแบบนี้"
ดังนั้น สภาพของ สิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ
นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 2 ก.ค. 39 จนถึงขณะนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการได้รับทุกขลาภจากสภาพตลาดหุ้นไทยตกต่ำครั้งนี้มาจากเสรี
จินตนเสรี ที่ไม่ยอมต่ออายุเพราะเบื่อหน่ายเต็มที่กับภาวะการเมืองและตลาดหุ้นในขณะนั้นส่อเค้าความรุนแรงขึ้นเรื่อย
ๆ จนถึงขั้นมีนักลงทุนรายย่อยประท้วงตลาดด้วยการยิงตัวตาย
อีกทั้งในช่วงที่สิงห์เข้ามารับตำแหน่งได้ไม่นานก็มีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหารทางด้านการเงินหลายครั้งติดต่อกัน
เช่น เปลี่ยนตัวผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจากวิจิตร สุพินิจ มาเป็นเริงชัย
มะระกานนท์ หรือเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจากสุรเกียรติ เสถียรไทย
มาเป็นบดี จุณณานนท์ ต่อด้วยชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ เรื่อยมาจนถึง ดร.อำนวย
วีรวรรณ ซึ่งถือได้ว่าในยุคที่สิงห์ นั่งเป็นกรรมการผู้จัดการตลาดหุ้นเพียง
8 เดือนมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถึง 4 คน ซึ่งถือว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์การเงินไทย
สิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ หรือจะเป็นแค่
สิ่งแปลกปลอมในตลาดหุ้นไทย
แม้ว่าสิงห์ จะถูกยอมรับจากบรรดาผู้ที่รู้จักว่า เป็นผู้ที่มีความสามารถ
แต่โดยสถานการณ์ในขณะที่เข้ารับตำแหน่ง ซึ่งก็ห่างเวทีในเรื่องของตลาดหุ้นมานาน
การที่จะเข้าแก้เกมปัญหาตลาดหุ้นที่ตกต่ำจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยิ่งในการเปิดตัวครั้งแรกกับสื่อมวลชน
สิงห์ได้แสดงให้เห็นจุดยืนที่ว่าไม่ได้มองความสำคัญในเรื่องของเม็ดเงินของกองทุนต่างประเทศสักเท่าไหร่
ก็ยิ่งน่าคิด เนื่องจากสภาพตลาดหุ้นตอนนั้น ซีกของพอร์ตการลงทุนที่เป็นส่วนของไทยเองอยู่ในสภาพกะปลกกะเปลี้ยเต็มทนอยู่แล้ว
เพียงหนึ่งสัปดาห์ที่เข้ารับตำแหน่ง สิงห์ก็พยายามเสนอมาตรการใหม่ ๆ ออกมา
แต่ไม่เป็นที่ยอมรับของนักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายย่อย รวมทั้งโบรกเกอร์ เช่น
การเก็บภาษีจากกำไรในการซื้อขายหุ้นจากนักลงทุนที่ถือหุ้นต่ำกว่า 6 เดือน
ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นเริ่มซบเซาอย่างหนักแล้ว ทำให้เกิดกระแสต่อต้านถึงขนาดที่นักลงทุนรวมตัวกันโดยใช้ชื่อว่า
"กลุ่มนักลงทุนเพื่อชาวหุ้น" นำโดยนายแพทย์สุรัตน์ จันทร์สกุล
และโพธิชัย ใบสาเลิศ ส่งจดหมายถึงสิงห์ และส่งแฟกซ์ไปยังสื่อมวลชนทุกแขนง
กล่าวหาว่าคิดไม่สร้างสรรค์ ซ้ำเติมขวัญและกำลังใจนักลงทุน ซึ่งบอกช้ำกันพออยู่แล้ว
ในทางตรงข้าม ถ้าขายขาดทุนแล้ว จะขอคืนภาษีได้หรือไม่ ในที่สุด สิงห์ต้องเก็บความคิดดังกล่าวไว้ในใจ
และเมื่อเวลาผ่านไป 8 เดือนก็ได้พิสูจน์ให้เห็นได้ชัดเจนระดับหนึ่งแล้วว่า
โดยบุคลิกภาพการบริหารงานของสิงห์นั้น ค่อนข้างจะเชื่องช้าและไม่เด็ดขาด
บ่อยครั้งที่สิงห์เสนอมาตรการใหม่ๆ แต่ไม่จูงใจนักลงทุนและสถาบัน ศุกรีย์
แก้วเจริญ กรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์คนแรกให้ความเห็นถึงภาวะตลาดหุ้นไทยและสิ่งที่สิงห์กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ว่า
เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจอย่างยิ่ง
"ความจริงแล้ว สิ่งที่สิงห์เสนอเป็นเรื่องที่ดีในระยะยาว เพราะจะทำให้ตลาดหุ้นแข็งแรงขึ้น
แต่ควรจะนำมาใช้ตอนที่ตลาดหุ้นคึกคักมากกว่า ไม่ใช่ตอนที่ตลาดซบเซาเช่นนี้
สิงห์คงเจตนาดีนะ แต่จังหวะไม่ดีเท่านั้นเอง ก็น่าเห็นใจ ใครเข้ามาบริหารตลาดตอนนี้ก็คงลำบากกันทุกคนไม่ต่างกับสิงห์
เห็นใจกันเถอะ ตอนนี้ตลาดหุ้นบ้านเราเจอมรสุมหลายด้านเหลือเกินแค่แก้ปัญหาอย่างเดียวก็แย่แล้ว"
ศุกรีย์ กล่าวต่อไปว่า ตลาดหุ้นยุคเขาเมื่อ 20 ปีที่แล้วแตกต่างกับตอนนี้อย่างสิ้นเชิง
เพราะตอนก่อตั้งตลาดฯ ครั้งแรกแทบจะไม่มีใครสนใจเข้ามาจดทะเบียน ต้องพยายามอธิบายว่าตลาดหุ้นคืออะไร
เข้ามาแล้วจะได้อะไร หน้าที่ของกรรมการผู้จัดการตอนนั้นไม่ต่างจากเซลล์แมน
ต้องคอยขอร้องเชิญชวนให้บริษัทต่าง ๆ มาจดทะเบียน ปีแรกมีบริษัทสมาชิกไม่ถึง
20 บริษัท จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อตลาดใหญ่ขึ้นคนสนใจมากขึ้นก็มีผลกระทบกับผู้คนในวงกว้างมากขึ้น
ตลาดหุ้นใหญ่ ๆ ทุกแห่งในโลกก็เป็นอย่างนี้เกือบทั้งนั้น
"มันเป็นวัฎจักรของตลาดที่เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องตั้งหลักอีกครั้ง
เมื่อผ่านไปได้ก็จะเป็นตลาดที่แข็งแรงที่สุดตลาดหนึ่งในย่านเอเชีย ผมเชื่ออย่างนั้น"
ศุกรีย์กล่าวอย่างเอาใจช่วยและให้ความเห็นว่าช่วงที่ ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์
เป็นกรรมการผู้จัดการนั้น เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นดูจะคึกคักที่สุดแม้จะเจอมรสุมบ้างแต่ก็ไม่นานนักที่จะแก้ไขได้
เคราะห์ซ้ำกรรมซัดของสิงห์ ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เนื่องจากในช่วงปลายเดือน
พ.ย. 2539 ได้มีข่าวลือหนาหูแพร่สะพัดที่ห้องค้าหลักทรัพย์หลายแห่งว่า มีนักลงทุนจำนวนหนึ่ง
ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ล่ารายชื่อเพื่อทำจดหมายประท้วงไปยังคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์เพื่อขอให้ปลดสิงห์
ออกจากตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการตลาดฯ
งานนี้เก้าอี้กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำท่าจะกลายเป็น
ทุกขลาภไปเสียแล้ว ก็ได้แต่หวังและเอาใจช่วยว่าสิงห์ จะยังคงคำรามและโชว์พลังปลุกตลาดหุ้นได้ในยุคที่การเมืองและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศต่ำเตี้ยเรี่ยดินเช่นนี้
เพราะวันแรกที่สิงห์เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 2 ก.ค. 39 ดัชนีตลาดหุ้นอยู่ที่ระดับประมาณ
1240 จุด
แต่ ณ วันนี้ ดัชนีอยู่ที่ระดับ 698.06 จุด (เมื่อ 13/02/40) นั่นหมายความว่า
ตลาดหุ้นลดลงไปแล้ว 518 จุด หรือเกือบ 40% หลังจากที่สิงห์ นั่งเป็นหัวเรือใหญ่
ของตลาดหุ้นไทย และถือว่าเป็นช่วงที่เข้ามาแก้ปัญหาเสียมากกว่าที่จะได้มีเวลาคิดริเริ่มอะไรใหม่
ๆ เนื่องจาก 8 เดือนที่ผ่านมาไม่อำนวยโอกาสให้สิงห์ได้คิดอะไร นอกจากหาทางแก้และสางปัญหาที่มีอยู่เดิม
งานนี้เรียกว่า จังหวะเวลาไม่เข้าข้างสิงห์เอาเสียเลย ซึ่งขณะนี้มีบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดฯ
กว่า 50 บริษัทที่ราคาหุ้นต่ำกว่าราคาพาร์ที่ 10 บาท จากจำนวนบริษัทที่จดทะเบียนทั้งหมดประมาณ
400 ราย
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีก 10 กว่ารายที่เลื่อนการซื้อขายและเลื่อนการกระจายหุ้นออกไปตั้งแต่กลางปี
2539 จนถึงขณะนี้ เช่น หุ้นในกลุ่มเหล็ก ตลาดหลักทรัพย์เองก็เคยเปิดเผยถึงตัวเลขการเลื่อนจองหุ้นเมื่อปีที่ผ่านมาว่า
มีมูลค่าเกือบ 30,000 ล้านบาท
สร้างขวัญและกำลังใจ
ด้วยการรีเอ็นจิเนียริ่ง
แม้บุคลิกภายนอกจะดูเชื่องช้าแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเฉื่อยชา เมื่อต้นเดือน ก.พ.
ที่ผ่านมา สิงห์ได้ทำการรีเอ็นจิเนียริ่งด้วยการรื้อโครงสร้างตลาดหุ้นใหม่
มีการแบ่งความรับผิดชอบอย่างเป็นระบบและชัดเจนมากขึ้น โดยจะเริ่มที่ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดฯ
ทั้ง 6 คน เนื่องจากต้องการให้ผู้บริหารระดับสูงมีการปรับเปลี่ยนสายงาน เพื่อให้มีความรอบรู้ในหลาย
ๆ ด้าน และในอนาคตอันใกล้จะมีการตั้งองค์กรภายในขึ้น เรียกว่า องค์กรกำกับดูแลตัวเองหรือ
SELF REGULATION ORGANIZATION (SRO) องค์กรนี้จะทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่จำเป็นต้องเข้าไปดูแลพนักงานมากนัก
และจะทำให้ช่วยลดข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น
การปรับโครงสร้างครั้งนี้ มีจุดประสงค์หลักเพื่อให้การบริหารงานมีความคล่องตัวเป็นระเบียบ
และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยแบ่งออกเป็น 4 สายหลัก คือ 1. สายงานบริษัทจดทะเบียน
2. สายงานกำกับการซื้อขาย 3. สายงานส่งเสริมการลงทุน 4. สายงานสนับสนุน ประกอบด้วย
ฝ่ายพัฒนาระบบ, ฝ่ายกฎหมายและสำนักงานเลขานุการ, ฝ่ายบัญชีและบริหาร และฝ่ายการพนักงาน
รวมทั้งจัดสายงานผู้รับผิดชอบใหม่ดังนี้ คือ ภัทรียา เบญจพลชัย รับผิดชอบสายงานบริษัทจดทะเบียน
/ สุทธิชัย จิตรวาณิช ดูแลงานกฎหมายและสำนักเลขา / นิตย์ จงดี ดูแลฝ่ายบริหารและบัญชี
/ พวงศรี ประจวบดี ดูแลฝ่ายการพนักงาน
ส่วนสุรัตน์ พลาลิขิต ดูแลงานกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์, ส่งเสริมการลงทุน
/ โสภาวดี เลิศมนัสชัย รักษาการแทนผู้ช่วยผู้จัดการที่รับผิดชอบสายงานกำกับการซื้อขายหลักทรัพย์
และสุวิชา มิ่งขวัญ ผู้อำนวยการฝ่ายสารนิเทศ เป็นโฆษกตลาดหลักทรัพย์ฯ