"ผมไม่เก่งในเรื่องบริหาร เขาเห็นผมมีชื่อเสียงก็จ้างผมไป ไม่รู้หรอกว่า
ผมเป็นอย่างไร กลุ่มวัฎจักรคงไม่รู้จักผมเต็มที่ คิดว่าผมจะเก่ง แต่จริง
ๆ แล้วผมไม่เก่ง ผมไม่ได้เป็นนักบริหาร แต่เป็นสื่อสารมวลชน ชอบทำงานโน่นทำนี่ตามใจตัวเอง
ผมไม่ชอบทำกำไรให้นายทุนเป็นเป้าใหญ่" ประโยคทองของ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล
ที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นตัวตน หรืออีกนัยหนึ่งสะท้อนปัญหาที่ผ่านมาของเอเชียวิชั่นส์ได้เป็นอย่างดี
ดร.สมเกียรติ ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกข่าวให้กับช่อง 9 และช่อง 5 ทำรายการวิทยุ
จ.ส.100 จนเป็นที่นิยมอยู่ในเวลานี้ ซึ่งช่วงเวลาทั้งหมดนี้ ดร.สมเกียรติ
ทำงานร่วมกับปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา มาตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา และดูเหมือนว่า
ปีย์และดร.สมเกียรติ จะเป็นคู่หูในการทำธุรกิจที่ลงตัวมากที่สุด
หากเปรียบแล้ว ดร.สมเกียรติเป็นนักคิด ส่วนปีย์นั้นเป็นนักการตลาด ที่สามารถนำไอเดียที่
ดร.สมเกียรติ ไปวางตลาดได้ บริษัท แปซิฟิก อินเตอร์คอมมูนิเคชั่น จำกัด จึงเติบใหญ่ได้ในวงการสื่อสารมวลชน
แต่แปซิฟิกไม่ใช่ทางเลือกเดียว เมื่อ ดร.สมเกียรติ ได้รับทาบทามจากปิยะณัฐให้มาฟื้นฟูช่อง
11 แต่ปีย์ไม่เอาด้วย เพราะหวั่นเกรงความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่ง ดร.สมเกียรติ
นั้นพกพาความฝันไว้อย่างเต็มเปี่ยม ที่อยากให้โทรทัศน์เพื่อสาธารณะเกิดขึ้นในไทย
แม้จะไม่มีแปซิฟิกแต่ก็ยังมีนายทุนคนอื่นที่ยังต้องการเข้าสู่ธุรกิจโทรทัศน์
กระนั้นก็ดี ระยะเวลาไม่ถึงปี ดร.สมเกียรติ ก็ต้องเปิดหมวกอำลาจากเอเชียวิชั่นส์
และไปเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ซึ่งเขาให้เหตุผลว่า เบื่อระบบราชการ
และที่สำคัญกลุ่มวัฎจักรขาดเงินทุนหมุนเวียนมาใช้ในการลงทุน
ก็น่าแปลกใจว่า ทำไมก่อนหน้านี้ ดร.สมเกียรติจะไม่รู้หรือว่า การทำช่อง
11 นั้นยังต้องผูกติดกับระบบราชการ
แม้จะผละออกจากเอเชียวิชั่นส์ แต่ไม่ได้หมายความว่า ดร.สมเกียรติ จะละทิ้งแนวคิดการแปรรูปช่อง
11 ให้เป็นโทรทัศน์สาธารณะ แต่ครั้งนี้เขามองไกลไปกว่านั้น
"ผมจึงคิดว่าการร่างรัฐธรรมนูญสบายใจกว่า เพราะมันจะกำหนดกว้าง ๆ ดีกว่าที่เราจะมานั่งต่อสู้ประเด็นปลีกย่อยและไม่มีอำนาจอะไรเลย
อย่างคุณปิยะณัฐหากเห็นด้วยกับผมก็สบายใจ แต่ถ้าคุณปิยะณัฐไม่อยู่ และคนที่มาเขาไม่เอาแบบนี้
เรื่องมันก็จบ" ดร.สมเกียรติ สะท้อนแนวคิด
ด้วยบทบาทของการเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ดร.สมเกียรติ เสนอแนวคิดโทรทัศน์สาธารณะให้บรรจุอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ
วิธีการก็คือ การดึงคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ที่มีอยู่ในมือของหน่วยงานรัฐ
ทั้งวิทยุทหาร กรมประชาสัมพันธ์ อ.ส.ม.ท.กลับคืนมาให้หมด และนำมากองไว้ตรงกลาง
และให้มีกรรมการกลาง เหมือนกับองค์กรกลางที่ประชาชนและรัฐบาลทำร่วมกันนำมาจัดสรรใหม่
และแบ่งให้กับหน่วยงานรัฐตามความจำเป็นในการใช้งาน
ส่วนที่เหลือก็ต้องนำไปใช้ประโยชน์เพื่อประชาชน โดยให้ทุกจังหวัดต้องมีทีวี
1 ช่องและวิทยุ 1 คลื่น แะลในการทำทีวีหรือวิทยุ จะต้องมีคนในจังหวัดนั้น
ถือหุ้นเกินครึ่ง ที่เหลืออีก 40% จะให้คนนอก เช่น โทรทัศน์จากส่วนกลาง หรือกลุ่มเอกชน
มาถือหุ้น เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนรายการ และสนับสนุนในเรื่องเงินลงทุน และโครงสร้างบริหาร
ทำในลักษณะของโทรทัศน์สาธารณะแบบบีบีซี หรือเอ็นเอชเค ของญี่ปุ่น ที่เป็นหน่วยงานอิสระ
ไม่ขึ้นอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานรัฐ
ดร.สมเกียรติ ยอมรับว่า แนวคิดของเขาย่อมต้องได้รับการคัดค้านจากหน่วยงานรัฐบาล
ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานทหาร กรมประชาสัมพันธ์ หรือ อ.ส.ม.ท. ที่ครอบครองคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ในมือ
และต้องสูญเสียผลประโยชน์เป็นจำนวนมาก
หลังจากผละจากเอเชียวิชั่นส์ แต่เขายังไม่ทิ้งแนวคิดโทรทัศน์สาธารณะ แต่คราวนี้
เขามาไกลกว่านั้น เสนอไว้ในร่างรัฐธรรมนูญให้ยึดคลื่นคืนมาใส่ตระกร้าล้างน้ำ
ดังนั้น การประมูลยูเอชเอฟ ช่องที่ 2 ดร.สมเกียรติ จึงมองว่า การรีบผลักดันให้มีการประมูลก็เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างหนึ่ง
ซึ่งหากประกาศใช้ได้จริง ก็จะมีผลให้คลื่นทั้งหมดถูกส่งคืนกลับมา รวมทั้งคลื่นยูเอชเอฟด้วย
อย่างไรก็ดี ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่มีผลย้อนหลัง แต่จะรอจนกระทั่งหมดอายุสัญญาที่ทำไว้กับเอกชน
และหลังจากนั้น จึงจะนำมาจัดสรรกันใหม่
ในอีกไม่ช้า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องคลื่นโทรทัศน์และวิทยุเสร็จสิ้น
ก็คงได้เห็นกันว่า ฝันของการทำโทรทัศน์เพื่อสาธารณะของ ดร.สมเกียรติ จะเป็นจริงได้หรือไม่