ปิยะณัฐ วัชราภรณ์ ยังเดินหน้าแปรรูปช่อง 11 ไม่ยอมถอย แม้เอเชียวิชั่นส์จะพบกับปัญหา
ไพ่ในมือใบต่อไปของปิยะณัฐ ถูกหงายขึ้นอีกครั้ง ครั้งนี้ปิยะณัฐเลือกวิธีตั้งบริษัทร่วมทุนตามรอยช่อง
5 แทนการแปรรูปแยกช่อง 11 ออกจากอกกรมประชาสัมพันธ์ หวังลดกระแสต่อต้าน แบไต๋เตรียมให้มีโฆษณาเต็มรูปแบบ
เอกชนกรีธาทัพขอร่วมวง ขณะที่ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล แบะท่า ช่อง 11 อาจหนีไม่พ้นโทรทัศน์เพื่อการค้า
เตรียมนำยูเอชเอฟที่เหลืออีกมาทดแทน
เอเชียวิชั่นส์
หมากแรกบนกระดาน
ที่จริงแล้วการเปิดทางให้เอเชียวิชั่นส์ ของกลุ่มวัฎจักร ภายใต้การนำของนิกร
พรสาธิต เข้าไปเช่าเวลาปรับปรุงรายการให้กับสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 นั้น ก็เป็นเพียงแค่
"หมากแรกบนกระดาน" ของปิยะณัฐ วัชราภรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ผู้พกพาบุคลิกของความเป็นคนกล้าคิด กล้าทำไว้อย่างเต็มเปี่ยม
แม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ช่อง 11
ที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นโทรทัศน์การศึกษาลงอย่างสิ้นเชิง !
ภายใต้นโยบายการปรับปรุงช่อง 11 ให้มีศักยภาพทัดเทียมกับช่องอื่น ๆ ปิยะณัฐเริ่มต้นด้วย
ดึงเอา ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ซึ่งมีดีกรีจากการบุกเบิกทีวีช่อง 9 และช่อง
5 และรายการจราจร จ.ส.100 มาเป็นใบเบิกทาง พร้อมกับเปิดทางให้กลุ่มวัฎจักร
ภายใต้การนำของ นิกร พรสาธิต เข้ามาเป็นนายทุน
โดยมีสัญญาเช่าเวลาที่เอเชียวิชั่นส์ ได้จากช่อง 11 จำนวน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
พร้อมกับสัญญาการทำตลาดให้กับรายการข่าวช่อง 11 แลกกับการจ่ายเงินจำนวน 70
ล้านบาท มาใช้เป็นค่าก่อสร้างสตูดิโอแห่งใหม่และปรับปรุงอุปกรณ์ให้กับช่อง
11
ปิยะณัฐ รู้ดีว่า ที่แล้วมา ปัญหาสำคัญของช่อง 11 ก็คือ การขาดแคลนรายการที่มีคุณภาพ
เพราะมีเพียงงบประมาณที่ได้จากการสนับสนุนของรัฐ และเงินค่าเช่าเวลาจากเอกชนรายย่อย
ซึ่งก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง จึงได้มีการยื่นขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เพื่อยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเดิมที่ห้ามไม่ให้มีโฆษณา
ให้สามารถมีผู้สนับสนุนรายการได้ เพื่อหารายได้ชดเชยให้กับเอกชนที่เข้ามาร่วมดำเนินงาน
แต่การเข้าไปปรับปรุงรายการให้กับช่อง 11 นั้นไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่าย
ๆ แม้จะได้ไฟเขียวให้มีการหาผู้สนับสนุนรายการได้ และยังมี ดร.สมเกียรติ
และมีสื่อในมือแบบครบวงจรของกลุ่มวัฎจักรที่จะช่วยในเรื่องการตลาดได้ก็ตาม
แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการทำธุรกิจทีวียังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมาก
ในเวลาเพียงไม่ถึงปี เอเชียวิชั่นส์ก็ต้องประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักตามมาด้วยการลาออกของ
ดร.สมเกียรติ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทในการดำเนินงานทุกอย่างของเอเชียวิชั่นส์
ไม่ว่าจะเป็นการวางผังรายการและการจัดโครงสร้างการบริหาร
แม้ว่ามองในแง่ของรายการของช่อง 11 จะถูกพัฒนาขึ้นมาจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นการนำรายการประเภททอล์กโชว์
เช่น ประเทศไทยรายวัน ภาพยนตร์จากต่างประเทศ และสารคดี มาแทนที่รายการประเภท
โขน ลิเก ที่หาคนดูแทบไม่ได้ เมื่อรายการที่ไม่มีคนดูถูกแทนที่ด้วยรายการที่มีเนื้อหาสาระเพิ่มขึ้น
เรทติ้งคนดูช่อง 11 จึงขยับขึ้นมาจากเดิมได้พอสมควร
แต่ในแง่ของการหารายได้ค่าโฆษณาจากผู้สนับสนุนรายการแล้ว กลับไม่เข้าเป้าหมายที่วางไว้
ซึ่งประมุท สูตะบุตร ประธานกรรมการบริหาร เอเชียวิชั่นส์ กล่าวว่า ขาดทุนเกินคาดหมายไปถึง
10-15% หรือคิดเป็นเงินประมาณเกือบ 50 ล้านบาท
สาเหตุนั้น ไม่เพียงเงินลงทุนที่ต้องทุ่มไปไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงสถานี
และอุปกรณ์ตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ แต่เป็นเพราะเอเชียวิชั่นส์ได้ใช้เงินทุ่มไปกับการซื้อรายการมีคุณภาพ
เช่น ภาพยนตร์ได้รางวัลจากยุโรป หรือมรดกภาพยนตร์ไทยเข้ามา ตามนโยบายของ
ดร.สมเกียรติ ที่ยึดคติ รายการมีคุณภาพไม่จำเป็นต้องถูกใจคนดูจำนวนมาก แต่ถูกใจคนดูที่ต้องการคุณภาพเป็นพอ
ด้วยเหตุนี้ รายการที่แพร่ภาพจึงขายโฆษณาไม่ได้ เพราะไม่ตรงกับความนิยมส่วนใหญ่
"โฆษณาในปีที่แล้ว ยังไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเราก็คิดอยู่แล้วว่า
จะต้องเป็นเช่นนั้น แต่บังเอิญมันแย่กว่าที่คิด เพราะผมใจใหญ่ไปเอารายการถ่ายทอดฟุตบอลมาใช้เงินไป
10 ล้านบาท เพราะอยากดัง เอาหนังจากยุโรปที่มีคุณภาพมาอยากให้ภาพพจน์ของช่อง
11 ดีขึ้น แต่โฆษณาไม่เข้า ก็เลยต้องขาดทุน เรื่องนี้ต้องโทษผม" ดร.สมเกียรติ
กล่าวยอมรับ
อีกทั้ง ข้อจำกัดในเรื่องของการโฆษณาที่ทำได้แค่การหาผู้สนับสนุนรายการ
ในลักษณะโลโก หรือตัววิ่ง ไม่สามารถโฆษณาอวดอ้างสรรพสินค้า ทำให้เอเชียวิชั่นส์ประสบความยากลำบากในการหารายได้
ปัญหาที่ตามมา คือ การจ่ายเงินให้กับช่อง 11 ตามข้อตกลงในสัญญา แม้จะจ่ายครบจำนวน
แต่ก็เริ่มล่าช้าออกไป ทำให้กรมประชาสัมพันธ์เริ่มไม่พอใจ
ขณะเดียวกัน ดร.สมเกียรติ ยังต้องเจอกับปัญหาในการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาข่าวและทำตลาดในช่วงเวลาของข่าว
ไม่สามารถเข้าไปปรับปรุงได้เต็มที่ เพราะการผลิตข่าวทั้งหมดช่อง 11 ยังคงทำเองอยู่
ซึ่งก็ทำให้เกิดปัญหาระบบความล่าช้าของราชการ การหาโฆษณาในช่วงข่าวก็ได้ไม่ตามเป้า
หลังจากปล่อยให้ ดร.สมเกียรติ นั่งบริหารในเอเชียวิชั่นส์ตามลำพัง ไม่ว่าจะเป็นการวางผังรายการ
การกำหนดรูปแบบการบริหาร ในช่วงหลัง ๆ ผู้บริหารกลุ่มวัฎจักร ก็เริ่มเข้ามาจัดการบริหารภายใน
มีการเปลี่ยนแปลงผังรายการให้สอดคล้องกับความนิยมของคนดู ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับ
ดร.สมเกียรติ ที่ยังคงต้องการเน้นรายการที่มีคุณภาพ
การลาออกของ ดร.สมเกียรติ นับเป็นปัญหาที่สร้างความยากลำบากให้กับเอเชียวิชั่นส์ไม่น้อย
เพราะนั่นหมายถึง ภาพพจน์และความมั่นคงของเอเชียวิชั่นส์ในช่อง 11
ประมุท สูตะบุตร ประธานบริหารกรรมการบริหาร เอเชียวิชั่นส์ ยอมรับว่า การลาออกของ
ดร.สมเกียรติ มีผลกระทบกับเอเชียวิชั่นส์โดยตรง เพราะชื่อเสียงของ ดร.สมเกียรติ
เป็นที่ยอมรับของผู้ชมมานานแล้ว และที่ผ่านมา สปอนเซอร์สนับสนุนรายการก็มาจากสายสัมพันธ์ของ
ดร.สมเกียรติ
อย่างไรก็ตาม เอเชียวิชั่นส์ ยังคงยืนยันเจตนารมณ์เดิม คือ ต้องการยืนหยัดอยู่ในช่อง
11 ตามสัญญาเช่าเวลาที่ยังเหลืออยู่ 2 ปี พร้อมกับแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการดึงเอาสถาพร
โฆษจันทร อดีตผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. เข้ามานั่งแทน ดร.สมเกียรติ พร้อมกับเร่งปรับผังรายการให้มีความหลากหลาย
และเน้นสีสันของความบันเทิง เพื่อหารายได้เข้ามาเสริมให้มากขึ้น เช่น การเอาคอนเสิร์ต
การ์ตูน รายการทอล์กโชว์ รวมถึงการหันมาเน้นการทำโปรดักชั่นส์เฮาส์ผลิตรายการเอง
จากเดิมที่จ้างให้คนอื่นผลิต เพื่อหารายได้เพิ่ม
แต่ใช่ว่า ปัญหาของเอเชียวิชั่นส์จะหมดไปง่าย ๆ เพราะสถานการณ์ของเอเชียวิชั่นส์ในเวลานี้
กลับยิ่งล่อแหลมลงทุกขณะ !
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเอเชียวิชั่นส์สร้างความไม่พอใจให้ปิยะณัฐไม่น้อย ถึงกับให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า
"ปกติเอเชียวิชั่นส์จะเป็นบริษัทที่มีโอกาสร่วมทุนกับช่อง 11 ก่อนใคร
แต่ที่ผ่านมา เอเชียวิชั่นส์ทำให้ผมเสียความรู้สึกมาก ก็คงมีหนทางหาผู้ร่วมทุนอื่นต่อไป"
คำกล่าวนี้ แสดงให้เห็นถึงสถานภาพของเอเชียวิชั่นส์ ที่อาจไม่ได้รับการต่อสัญญา
หรือ ถูกลดเวลาในการเช่า
ปิยะณัฐ ยอมรับว่า จะต้องมีการเจรจากับเอเชียวิชั่นส์ถึงปัญหาดังกล่าวอีกครั้ง
ซึ่งสัญญาที่เอเชียวิชั่นส์ทำไว้กับช่อง 11 นั้น สามารถบอกยกเลิกสัญญาได้ตลอดเวลา
ดึงเอกชนตั้ง บ.ร่วมทุน
ไพ่อีกใบในมือ 'ปิยะณัฐ'
แม้จะพลาดหวังจากเอเชียวิชั่นส์ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า หนทางการแปรรูปของปิยะณัฐจะหยุดชะงัก
ในทางกลับกันกลายเป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนรายใหม่เข้ามาในช่อง 11 ได้มากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ปิยะณัฐ มีนโยบายให้ช่อง 11 ตั้งบริษัทลูก โดยให้ร่วมทุนกับเอกชน
แม้ว่า ดร.สมเกียรติ จะลาออกจากเอเชียวิชั่นส์ แต่คงถูกมอบหมายจากปิยะณัฐ
ให้เป็นที่ปรึกษาในการปรับปรุงโครงสร้างช่อง 11 ซึ่ง ดร.สมเกียรติ นั้นมีความคิดที่สอดคล้องกับปิยะณัฐ
คือ ต้องการแปรรูปช่อง 11 ให้เป็นองค์กรอิสระ ไม่ขึ้นกับกรมประชาสัมพันธ์
ดังเช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่มีแนวทางการบริหาร และหารายได้เป็นของตัวเองไม่ต้องขึ้นกับหน่วยงานใด
แต่ ปิยะณัฐ รู้ดีว่า การ "หักด้ามพร้าด้วยเข่า" ไม่ใช่เรื่องที่ดี
หรือจะทำได้ง่าย ๆ เพราะกรมประชาสัมพันธ์เองไม่ต้องการแปรรูปให้ช่อง 11 หลุดออกมาเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนดังที่กรมประชาสัมพันธ์เคยสูญเสียองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย
(อ.ส.ม.ท.) มาแล้วในอดีต ย่อมได้รับการต่อต้านจากกรมประชาสัมพันธ์อย่างแน่นอน
"ท่านอธิบดีไม่ต้องการให้แปรรูปช่อง 11 ให้หลุดจากกรมประชาสัมพันธ์
ผมบอกตรง ๆ รู้สึกผิดหวังที่กรมประชาสัมพันธ์ยังคงดึงเรื่องนี้อยู่ แต่อธิบดีก็บอกว่า
ไม่ได้แปลว่าจะไม่พัฒนาช่อง 11 เพียงแต่เสียดายเหมือน อ.ส.ม.ท. ก็เลยมาคิดกันว่าทำอย่างไรจะให้ช่อง
11 เป็นเอกชนมากขึ้น โดยไม่ต้องกระทบกับทางกรมฯ" ดร.สมเกียรติ ชี้แจง
ปิยะณัฐ เลือกใช้วิธีประนีประนอมให้ช่อง 11 จัดตั้งบริษัทลูกขึ้น พร้อมเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนหลายบริษัท
และบริษัทลูกดังกล่าวจะต้องมาเช่าเวลาสถานีช่อง 11 เช่นเดียวกับผู้เช่าเวลารายอื่นตามปกติ
"เราทำคล้ายกับช่อง 5 คือ มีการตั้งบริษัทลูกและให้เอกชนมาเข้าร่วม
ซึ่งช่อง 11 ก็ยังอยู่กับกรมประชาสัมพันธ์ แต่จะคล่องตัวมากขึ้น" ดร.สมเกียรติ
ชี้แจง
วิธีนี้เท่ากับว่า ช่อง 11 จะยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกรมประชาสัมพันธ์ดังเดิม
แต่จะมีความคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้น เช่นเดียวกับบริษัทเอกชน และบริษัทร่วมทุนนี้จะมีรายได้จากค่าผู้สนับสนุนรายการ
เช่นเดียวกับบริษัทเอเชียวิชั่นส์
บริษัทร่วมทุนแห่งแรกของช่อง 11 จะเริ่มที่ "บริษัทผลิตรายการข่าว"
ก่อนเป็นอันดับแรก ก่อนจะทยอยเปิดให้เอกชนรายอื่นเข้ามาร่วมทุนอีก เช่น การผลิตรายการ
บริษัทผลิตสารคดี หรือบริษัทบำรุงรักษาอุปกรณ์
สำหรับการผลิตข่าวนั้น เป็นส่วนที่ช่อง 11 สงวนไว้ทำเอง ยังไม่เคยเปิดให้เอกชนเข้ามาทำ
แม้กระทั่งสัญญาที่เอเชียวิชั่นส์ได้ รับก็ให้ทำได้เฉพาะการทำตลาดให้กับช่องข่าวเท่านั้นไม่ได้เข้ามาร่วมผลิต
รวมทั้งตัวของ ดร.สมเกียรติ เองก็เข้าไปเป็นแค่ที่ปรึกษาในการปรับปรุงข่าวไม่ได้เข้ามาร่วมบริหารอะไร
"การเข้ามาเป็นที่ปรึกษาในเรื่องการผลิตข่าวของ ดร.สมเกียรติ การร่วมมือยังไม่เข้มข้นเท่าที่ควร
ไม่ได้เข้ามาร่วมทำงานดังเช่นการเป็นพาร์ตเนอร์" สุชาติ สุชาติเวชภูมิ
ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 กล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน"
ที่แล้วมา ช่วงเวลาข่าวของช่อง 11 จึงไม่ได้มีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก
การเปิดทางให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนจัดตั้งบริษัทผลิตข่าว จึงเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับช่อง
11 อย่างเห็นได้ชัด
"ทางกรมฯ ไม่มีปัญหาอะไร เรายินดี เพราะการมีคนนอกเข้ามา ข้าราชการจะได้เห็นการทำงานของเอกชนที่มีความคล่องตัวกว่า
แต่ก็ต้องดูด้วยว่าเอกชนที่เข้ามาเป็นใคร และตั้งใจขนาดไหน" สุชาติ
กล่าว
วิธีการตั้งบริษัทร่วมทุนของช่อง 11 หากไม่ยื่นขออนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี
ซึ่งต้องใช้เวลาก็อาจทำได้โดยการใช้เงินจากหน่วยงานสวัสดิการพนักงานของกรมประชาสัมพันธ์
ซึ่งวิธีนี้ จะทำให้ช่อง 11 สามารถร่วมลงทุนกับเอกชนได้ทันที โดยไม่ติดกฎหมายการร่วมทุน
หลังจากนี้ ช่อง 11 จะต้องประกาศเชิญชวนให้ผู้ร่วมทุนเสนอรายละเอียดในเรื่องผลประกอบการที่จะมอบให้ช่อง
11 และรูปแบบในการนำเสนอข่าว
การประกาศหาผู้ร่วมทุนจัดตั้งบริษัทผลิตข่าวนั้น อาจเป็นเรื่องที่ปิยะณัฐต้องการทำให้ถูกต้องตามขั้นตอนเท่านั้น
เพราะจริง ๆ แล้ว ปิยะณัฐมี "ไพ่ในมือ" ที่เตรียมไว้แล้ว
เพราะก่อนหน้านี้ หลังจาก ดร.สมเกียรติ ลาออกจากเอเชียวิชั่นส์ ปิยะณัฐก็ได้แต่งตั้งให้
ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ มือขวาคนสนิท ซึ่งเป็นเจ้าของนิตยสาร "อาทิตย์วิเคราะห์"
ให้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาของช่อง 11 อย่างเป็นทางการ หลังจากที่อยู่เบื้องหลังมานาน
และการมาของชัชรินทร์ ก็เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งของความมุ่งมั่นในการแปรรูปช่อง
11 ของปิยะณัฐ โดยเฉพาะในเรื่องของการผลิตข่าว
หลังจากเข้ามาเป็นที่ปรึกษา ชัชรินทร์ ก็เริ่มด้วยการเฟ้นหาทีมงานที่จะเข้ามาผลิตข่าวร่วมกับช่อง
11 และหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับการทาบทาม ก็คือ ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์
"ผู้จัดการ" ทั้งระดับอดีตบรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว ซึ่งลาออกจากโครงการลดขนาดองค์กร
ชัชรินทร์ จึงติดต่อบรรดาอดีตผู้สื่อข่าวของ "ผู้จัดการ" เพื่อหวังจะให้มาร่วมในการผลิตข่าวให้กับช่อง
11 เพราะโดยส่วนตัว ชัชรินทร์เองก็มีความสนิทสนมกับระดับบรรณาธิการข่าวของกลุ่มผู้จัดการอยู่แล้ว
ข้อเสนอของชัชรินทร์ที่ให้กับทีมงานเก่า คือ ให้สามารถเลือกนายทุนที่จะเข้ามาร่วมทุนในการผลิตข่าวได้
และกลุ่มนายทุนที่ชัชรินทร์เสนอมานั้น ไม่ได้มีแค่เอเชียวิชั่นส์เท่านั้น
แต่ยังมีกลุ่มผู้จัดการ และเอกชนอื่น ๆ อีกด้วย
เรียกว่า มีการกำหนดตัวทีมงานไว้แล้ว เหลือแต่เพียงการหา "นายทุน"
ที่จะเข้ามาร่วมทุนกับช่อง 11 เท่านั้น
เอกชนกรีธาทัพ
แต่ต้องมีโฆษณา
ไม่เพียงแค่บริษัทผลิตข่าวเท่านั้น แต่ปิยะณัฐยังต้องการให้มีการจัดตั้งบริษัทลูกอื่น
ๆ ขึ้น เพื่อผลิตรายการสารคดี ผลิตรายการต่าง ๆ และนั่นก็หมายถึงโอกาสของเอกชนรายใหม่ที่จะเดินเข้าสู่ช่อง
11
แม้ปัญหาการปรับปรุงช่อง 11 จะเป็น "โจทย์หิน" ที่ยากพอดู เนื่องจากยังมีข้อจำกัดในเรื่องของการเป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกาา
ที่ห้ามไม่ให้มีโฆษณา ให้เพียงแค่มีผู้สนับสนุนรายการ ซึ่งทำให้เป็นอุปสรรคต่อการหารายได้
แต่ข้อดีของช่อง 11 ก็มีอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการมีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ
ทำให้สามารถถ่ายทอดรายการไปยังผู้ชมได้ทั่วประเทศ นับเป็นจุดขายสำคัญที่ทำให้เอกชนหลายรายสนใจที่จะเข้ามาลงทุนร่วมกับช่อง
11 เพราะหากเปรียบเทียบกับการไปประมูลลงทุนทำสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ จะต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก
และเวลาในการขยายเครือข่ายอีกมาก
"ข้อดีของช่อง 11 คือ การมีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ มีสถานีทวนสัญญาณเพื่อถ่ายทอดรายการออกไปทุกจังหวัด
และยังมีความชัดที่ดี เพียงแต่ว่าจะต้องปรับปรุงรายการให้น่าสนใจขึ้นเท่านั้น"
โฆสิต สุวินิจจิต ประธานกรรมการบริษัท มีเดีย ออฟมีเดียส์ สะท้อนแนวคิด
ส่วนการที่ช่อง 11 เปิดโอกาสให้เอกชนมีส่วนร่วมในการผลิตรายการนั้น โฆสิต
กล่าวว่า ในฐานะที่มีเดียออฟมีเดียส์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ที่มีความพร้อมในเรื่องของกำลังการผลิต
การตลาด และการลงทุนอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ จะต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของทางช่อง
11 จะให้เข้าไปในลักษณะใด
โฆสิต มองว่า ช่อง 11 ยังมีโอกาสในการพัฒนารูปแบบรายการได้อีกเยอะ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในเรื่องของการผลิตรายการที่มีสาระประโยชน์เท่านั้น
แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะสามารถทำรายการทางด้านเอ็ดดูเทนเม้นท์
(EDUTAINMENT) ซึ่งเป็นสาระกึ่งบันเทิง ที่จะดึงดูดผู้ชมรายการได้
อย่างไรก็ตาม การห้ามไม่ให้มีโฆษณาก็ยังเป็นอุปสรรคสำคัญในแง่ของการทำธุรกิจ
ดังนั้น หากไม่เปิดให้มีการโฆษณาช่อง 11 ต้องมีงบประมาณในการสนับสนุน หรือให้มีค่าเช่าเวลาที่ถูกลงมากกว่านี้
สำหรับกลุ่มเนชั่นก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ให้ความสนใจช่อง 11 เช่นกัน แต่เป็นในรูปแบบของการผลิตรายการ
สุทธิชัย หยุ่น กรรมการบริหาร เนชั่นกรุ๊ป กล่าวว่า หากช่อง 11 สนใจ เนชั่นก็พร้อมที่จะเจรจาด้วย
เพราะภารกิจของเนชั่น คือ การทำรายการอยู่แล้ว ป้อนให้กับสถานีโทรทัศน์ทุกช่องอยู่แล้ว
ซึ่งช่อง 11 ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนี้ ที่เนชั่นผลิตรายการป้อนมาแล้วหลายโปรแกรม
อาทิ รายการสอนภาษาอังกฤษ ที่ออกอากาศในช่วง 3-4 ปีที่แล้ว รวมทั้งเนชั่นจูเนียร์ที่ออกอากาศอาทิตย์ละครั้งอยู่ในเวลานี้
"เนชั่นทีวี ถ้าทำรายการอะไรก็ได้ และช่องไหนรับได้ ตกลงกันได้ เนชั่นพร้อมที่จะป้อนให้ทุกช่อง
ตามแนวของเนชั่น แต่เราไม่ได้มุ่งแต่แนวข่าวอย่างเดียว หรือนิวส์ทอล์กอย่างเดียว
เรื่องการศึกษา เราก็ทำ" สุทธิชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม สุทธิชัย กล่าวว่า การจะร่วมมือกันอย่างไรจะต้องขึ้นอยู่เงื่อนไขของช่อง
11 ด้วย ซึ่งในเวลานี้ ยังไม่มีการเจรจากัน เพราะจุดหนึ่ง คือ เอเชียวิชั่นส์ยังอยู่
ข่าวที่ออกมาเป็นการคาดเดามากกว่า เพราะยังไม่มีการติดต่อกันมาเลย
ทางด้านบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการบริหารบริษัท ยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น
อินดัสตรีส์ จำกัด (ยูคอม) หนึ่งในบิ๊กโฟร์ของธุรกิจโทรคมนาคม ที่มีนโยบายพักรบธุรกิจโทรคมนาคม
และหันมามุ่งขยายธุรกิจ "มีเดีย" ก็ประกาศชัดเจนว่า สนใจจะเข้ามาทำธุรกิจกับช่อง
11 แต่มีเงื่อนไขว่า จะต้องเปิดให้มีการโฆษณาเช่นเดียวกับช่องอื่น ๆ
มีการคาดการณ์กันว่า โอกาสที่ยูคอมจะเข้าไปร่วมบริหารในช่อง 11 มีอยู่สูงมาก
เนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมา ยูคอมรุกเข้าสู่ธุรกิจ "มีเดีย" อย่างรวดเร็ว
ทั้งในด้านของฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์
ก่อนหน้านี้ ยูคอมก็ได้สัมปทานวิทยุเอเอ็มสเตอริโอ จำนวน 40 สถานีทั่วประเทศมีอายุสัมปทาน
20 ปี จากกรมประชาสัมพันธ์มาแล้ว
รวมทั้งการทำเคเบิลทีวีที่ได้รับอนุมัติจาก อ.ส.ม.ท. และโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม
ผ่านดาวเทียมลาวสตาร์ที่ยูคอมมีหุ้นอยู่ รวมทั้งโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ และช่อง
11 ซึ่งเป็นสื่อทีวี 2 ช่อง ที่ยูคอมกำลังเตรียมตัวจะเข้าไปประมูล
ในด้านซอฟต์แวร์รายการ ยูคอมก็ได้เข้าไปซื้อหุ้นในไอเอ็นเอ็น เรดิโอนิวส์
เพื่อจะให้ไอเอ็นเอ็น เป็นฐานในการผลิตรายการทางด้านข่าวสารป้อนให้กับสถานีวิทยุดังกล่าว
รวมถึงการป้อนรายการผ่านเครือข่าย "สื่อ" ต่าง ๆ ที่ยูคอมมีอยู่ในมือ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไอเอ็นเอ็นเองก็มีความสนใจต้องการผลิตข่าวป้อนสื่อทีวีอยู่แล้ว
ถึงขั้นที่เตรียมจะผลิตข่าวป้อนให้ไทยสกายทีวีและไอทีวี แต่ก็ต้องล้มเลิกไปเพราะการเปลี่ยนแปลงของสื่อทั้งสอง
ก่อนหน้านี้ สนธิญาน หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น ก็เคยติดต่อไปยังช่อง
11 ผ่านทางชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ เพื่อขอผลิตข่าวให้ แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป
อย่างไรก็ตาม สนธิญานก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่เห็นว่า หากช่อง 11 ไม่มีโฆษณาโอกาสที่จะพัฒนารายการได้ก็คงลำบาก
"คุณทำรายการ คุณต้องมีค่าใช้จ่าย หาโฆษณามาช่วย จะเอาเงินที่ไหนไปพัฒนารายการที่มีคุณภาพ
การมีโฆษณาก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร หากสามารถทำรายการให้มีสาระประโยชน์อย่างแท้จริง"
สนธิญาน สะท้อนแนวคิด
แบไต๋โฆษณาเต็มรูปแบบ
แม้ว่าปิยะณัฐจะแก้ปัญหาความล่าช้าของระบบราชการให้กับช่อง 11 ด้วยการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนจัดตั้งบริษัทผลิตข่าว
แต่การขาด "เงินทุน" ที่จะใช้ในการผลิตข่าวก็เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาข่าวไม่น้อย
"ที่ผ่านมา ช่อง 11 มีเงินทุนมาจากงบประมาณของรัฐบาล และจากค่าเช่าเวลาจากเอกชนที่มาเช่าเวลา
ดังเช่นไปเช่าช่องอื่นเพียงแต่ว่า เขาไม่มีรายได้จากโฆษณาเท่านั้น แต่เงินรายได้ส่วนนี้จึงได้บ้างไม่ได้บ้าง"
ดร.สมเกียรติ กล่าว
แม้ว่าในปัจจุบัน ช่อง 11 จะได้รับการผ่อนปรนให้สามารถมีผู้สนับสนุนรายการได้
เพื่อหารายได้ชดเชยให้กับเอกชนที่เข้ามาร่วมดำเนินงาน แต่การหาผู้สนับสนุนรายการก็ไม่สามารถหาได้ง่ายนัก
ดังเช่นที่เอเชียวิชั่นส์ต้องประสบกับปัญหานี้มาแล้ว
"ข้อจำกัดในการโฆษณาแบบสปอตเพื่อสังคมหรือโลโกนั้น ส่วนใหญ่หลายบริษัทไม่มีสปอตในลักษณะนี้
และที่สำคัญการใช้เพียงโลโกไม่มีความคุ้มค่าในเชิงธุรกิจ" ยงยุทธ์ ฟูพงศ์ศิริพันธ์
กรรมการผู้จัดการ มีเดียพลัส ซึ่งทำหน้าที่ด้านการตลาดและขายโฆษณาให้กับเอเชียวิชั่นส์
กล่าว
เช่นเดียวกับ แหล่งข่าวจากเอเยนซี่รายหนึ่ง ก็ให้ความเห็นว่า แม้ว่าปัจจุบัน
จะมีหลายหน่วยงานที่หันมาเน้นการโฆษณาทางด้านภาพพจน์มากขึ้น แต่ยังจำกัดอยู่ไม่กี่องค์กร
มูลค่าของการโฆษราในส่วนนี้ยังมีไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะยังคงเน้นไปที่การโฆษณาสินค้า
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปัจจุบันช่อง 11 จะต้องเผชิญหน้ากับไอทีวี ที่มีความเข้มแข็งในเรื่องของการผลิตข่าว
การมีความแข็งแกร่งทางด้านทีมงานของช่อง 11 แต่เพียงอย่างเดียว หากไม่มีเงินทุนมาใช้ก็ยังเป็นปัญหาหนักที่ทำให้ช่อง
11 ไม่อยู่ในสถานะที่สามารถแข่งขันกับทีวีช่องอื่น ๆ ได้ และอาจต้องประสบปัญหาเช่นเดียวกับเอเชียวิชั่นส์
ที่สำคัญ กระแสเรียกร้องจากเอกชนรายใหม่ ๆ ที่ให้ความสนใจที่จะเข้ามาร่วมกับช่อง
11 ล้วนแต่ต้องการให้ช่อง 11 มีโฆษณาทั้งสิ้น ซึ่งก็จะเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งที่ทำให้ปิยะณัฐต้องหันมาพิจารณาในเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ปิยะณัฐเองก็ตระหนักในเรื่องนี้ เริ่มจากหาเงินทุนที่จะมาใช้หล่อเลี้ยงช่อง
11 เพิ่มขึ้นอีกทาง และหนึ่งในนั้นก็คือ การอาศัยข้อสัญญาที่ไอทีวีทำไว้กับสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่ระบุไว้ว่า เงินผลประโยชน์ตอบแทนจำนวน 2 หมื่นล้านบาทที่ไอทีวีจ่ายตอบแทนให้กับรัฐ
จะต้องนำส่วนหนึ่งมาใช้ในการสนับสนุนทีวีก็ไม่มีโฆษณา
นั่นก็หมายความว่า ช่อง 11 จะได้ส่วนหนึ่งของเงินก้อนนี้มาใช้ในการปรับปรุงรายการ
นอกเหนือจากเงินที่มีอยู่
แต่ต้องไม่ลืมว่า เงินในส่วนนี้ก็ใช่ว่าจะได้มาได้ง่าย ยังต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาของกระทรวงการคลัง
และสำนักนายกรัฐมนตรี
แหล่งข่าวในวงการทีวี กล่าวว่า ปิยะณัฐ เองก็วิตกในเรื่องดังกล่าว จึงมีแนวคิดที่จะยื่นเสนอ
ครม.เพื่อขอให้มีการผ่อนปรนให้มีโฆษณาอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้มีเงินรายได้มาใช้ในการลงทุนร่วมกับเอกชน
ในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพราะนอกเหนือในการจัดตั้งบริษัทผลิตข่าวแล้ว
จะมีการทยอยจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อผลิตสารคดี และรายการต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีก
แม้แต่ ดร.สมเกียรติ ซึ่งเคยคัดค้านในเรื่องการโฆษณามาตลอด ก็มีทีท่าว่าจะเห็นด้วย
แต่มีข้อแม้ว่าประชาชนจะต้องเอาด้วย
"อุดมการณ์ตรงนี้เปลี่ยนได้ หากประชาชนไม่ว่า เพราะจะได้มีเงินทุนไปใช้พัฒนารายการ
เพราะทุกวันนี้ เราไม่สามารถปิดกั้นในเรื่องนี้ได้แล้ว เขาก็ลักไก่โฆษณากันเยอะแยะ
ในเคเบิลทีวีเองก็ยังมี ดูจากโฆษณาจากดาวเทียมสิ ใครไปปิดกั้นได้ เมื่อโฆษณาได้แล้ว
ก็จะต้องมาเน้นคุณภาพรายการ อะไรไม่เป็นประโยชน์ไม่ต้องทำ อย่างทำข่าวจะมาทำเละเทะไม่ได้"
"ตามมติ ครม.ล่าสุด ในสมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชานั้น อนุมัติให้ช่อง
11 มีโฆษณาได้ทันที เพียงผมบอกคุณปิยะณัฐว่า ผมยังไม่เห็นด้วยว่า จะทำตอนนี้
เพราะอยากพิสูจน์ว่า ผมทำได้ ดังนั้นหากช่อง 11 จะมีโฆษณาก็ทำได้ เพียงแต่ว่า
ประชาชนจะเอาด้วยหรือไม่เท่านั้นเอง" ดร.สมเกียรติ กล่าว
ทีวียูเอชเอฟทางเลือกใหม่
ทีวีเพื่อการศึกษา
จะเห็นได้ว่า ภายใต้นโยบายให้ช่อง 11 จัดตั้งบริษัทลูกโดยร่วมทุนกับเอกชน
ซึ่งเป็นผลพวงที่ทำให้ช่อง 11 อาจต้องมีโฆษณาเต็มรูปแบบ และนั่นก็อาจะเป็นสาเหตุทำให้ช่อง
11 ต้องแปรสภาพเป็นโทรทัศน์เพื่อการค้า
ดูได้จากผังรายการของช่อง 11 ในเวลานี้ ที่เริ่มเปลี่ยนแปลง จากรายการเพื่อสาระประโยชน์
เพื่อการศึกษา ไปสู่รายการกึ่งบันเทิงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำเอามิวสิกวิดีโอ
หรือเกมโชว์ ภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศ ซึ่งล้วนแต่เป็นผลพวงมาจากการปรับผังรายการของเอเชียวิชั่นส์
เพื่อสร้างความอยู่รอดในธุรกิจทีวี
ดร.สมเกียรติ กล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า หากช่อง 11 ไม่สามารถหลีกเลี่ยงแรงเสียดทานในการเปลี่ยนเป็นโทรทัศน์เพื่อการค้าได้
ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็สามารถนำโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟมาทำเป็นโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟมาทำเป็นโทรทัศน์เพื่อการศึกาาแทนช่อง
11 ได้
"หากช่อง 11 จะต้องกลายเป็นทีวีเพื่อการค้า หรือเอาไม่อยู่ก็ปล่อยมันไป
ผมไม่รู้จะว่ายังไง ผมสู้ไม่ไหว ดังนั้น ยูเอชเอฟเอามาแทนช่อง 11 ได้ ทำให้เป็นสาธารณประโยชน์
จังหวัดใครจังหวัดมันลงทุนกันเอง มีโฆษณาลงทุนเพื่อท้องถิ่น" ดร.สมเกียรติ
สะท้อนแนวคิด
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับช่อง 11 ภายใต้นโยบายการแปรรูปเพื่อให้สามารถแข่งขันกับทีวีช่องอื่น
ๆ และมูลค่ามหาศาลของธุรกิจทีวี กำลังเป็นปัจจัยเร่งเร้าที่ทำให้โทรทัศน์ช่อง
11 ต้องแปรสภาพจากโทรทัศน์เพื่อการศึกษา เป็นโทรทัศน์เพื่อการค้าในไม่ช้า
ไม่รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
ไม่เชื่อลองดู !