|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เจตนาดีของภาครัฐที่พยายามกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือน จนดูคล้ายคลึงกับ นโยบาย"ซานตาคลอส" คือหว่านเงินลงไปในทุกพื้นที่ ชุมชน ในที่สุดก็เปิดโอกาสให้ "ลัทธิบริโภคนิยม" เข้าไปสิงสู่ในตัวนักชอป "ยุคดิจิตัล" อย่างช่วยไม่ได้ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่ถูกปลุกปั้นให้ดูสวยหรู ก็มีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ ธุรกิจให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล โดยเฉพาะสินเชื่อเงินด่วน แบบ "กู้ง่าย ผ่อนสบาย" กระจัดกระจายอยู่เกลื่อนเมือง
...แล้วจะเกิดอะไรขึ้น...ถ้าผู้ให้กู้ถูกตราหน้าเป็นนักขู่กรรโชก รีดไถ มีพฤติกรรมไม่ต่างจากยากูซ่า ส่วนฝั่งผู้กู้ตกอยู่ในฐานะ "ลูกหนี้ทาส" ติดคุกผ่อนชำระจนหัวโต....
แคมเปญ "กู้ง่าย ผ่อนสบาย" ทำให้ทั้งเจ้าหนี้คือ "อีซี่ บาย" ผู้ให้บริการสินเชื่อเงินสด จากเกาะญี่ปุ่น ตกเป็นจำเลยสังคม ปรากฏเป็นหัวข้อข่าวหน้าหนึ่งทุกเช้า ไม่ต่างจากลูกหนี้หลายสิบรายที่ทยอยเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับอีซี่ บายเป็นแถวยาวเหยียด
สิ่งที่ทำให้ทั้งผู้กู้และผู้ให้กู้โคจรมาพบเจอกัน คงอธิบายได้จากความต้องการบริโภคสินค้าเพิ่มขึ้น ไม่ว่า บ้าน รถ มือถือ คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นวงจรชีวิตของคนในยุคดิจิตัล ...
โชคดีหน่อยก็ตรงที่นักชอปสมัยนี้ เข้าถึงแหล่งเงินสดได้ง่าย และเพราะความง่ายเช่นเดียวกันที่ทำให้ "ราชาเงินผ่อน" ยุคสมัยนี้กลายมาเป็น "ลูกหนี้(ทาส)ดิจิตัล"
"อีซี่ บาย" ตกเป็นเป้าโจมตีมากที่สุด ส่วนหนึ่งมาจากพอร์ตกว่า 90% ให้บริการสินเชื่อเงินสด คนกู้มาขอกู้ไปซื้อหรือลงทุนอะไรไม่มีใครรู้ แถมมีตัวเลือกให้ผ่อนหลายรูปแบบ โดยมีแบบที่คิดค้นขึ้นเอง "ผ่อนขั้นต่ำ" เพื่อลดภาระคนผ่อนให้เบาลง ซึ่งมีคนใช้บริการสูงกว่า 60% ของพอร์ต
ความหมายแท้จริงของผ่อนขั้นต่ำนั้น ความจริงครอบคลุมเฉพาะหักดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเท่านั้น ส่วนเงินต้นยังคงเดิมหรืออาจสูงขึ้น ถ้าคนกู้หรือผู้ผ่อนชำระผิดนัดจนต้องจ่ายค่าปรับ เพราะที่นี่เขาคิดดอกเบี้ยเป็นรายวัน
ที่ไม่ควรลืมก็คือ กฎเกณฑ์ง่ายๆของผู้ให้กู้และผู้ขอกู้ก็คือ ถ้าเสี่ยงมาก ก็ต้องคิดดอกเบี้ยแพงๆ หรือเสี่ยงน้อยดอกเบี้ยจะคิดถูกลงกว่าเล็กน้อย แต่กรณีเลือกผ่อนชำระขั้นต่ำ คนกู้ก็ต้องยอมรับสิ่งเลวร้ายที่จะตามมาภายหลัง
โอกาสที่ไม่เคยเท่าเทียมกันในสังคม ประกอบกับการล่มสลายของสังคมชนบท วิถีชีวิตแบบเกษตรกรรมถูกลืมเลือน การใช้ชีวิตแบบดิ้นรนของคนในสังคมเมืองจึงต้องแบกภาระจากการผ่อนชำระข้าวของเครื่องใช้ที่มีแคมเปญล่อใจ ซึ่งกลายมาเป็น"หลุมพราง"ชั้นดี
ถึงวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า แคมเปญ "กู้ง่าย ผ่อนสบาย" ได้กลายมาเป็นจุดบอดของ อีซี่ บาย ขณะเดียวกันก็เป็นโชคร้ายของนักชอป ที่ไม่สำรวจสัญญาอย่างถี่ถ้วน การสื่อสารที่ไม่ชัดเจนเพียงพอของเจ้าหน้าที่ และการได้เงินไปง่ายๆเลยพลอยทำให้ ลูกหนี้สินเชื่อเงินสดและเงินผ่อนกว่า 1 ล้านราย ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน
ส่วนลูกหนี้รายใหม่ ที่ทำสัญญาหลังกฎเกณฑ์แบงก์ชาติกำหนดให้คิดเพดานดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมไม่เกิน 28% นับจากวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 รวมแล้วกว่า 2 แสนรายจึงรอดตัวหวุดหวิด
" ปัจจุบันลูกค้ากว่า 5 แสนราย คิดดอกเบี้ยเพียง 17% หรือต่ำกว่า 20%" พีระพงศ์ กี้ประสพสุข ผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อเงินสด บมจ.อีซี่ บาย พยายามอธิบายให้สังคมคลายความเดือดดาล พร้อมบอกว่า ช่วงกรกฎาคม 2548 ได้เตรียมทำจดหมายเชิญให้ลูกค้าเก่ามาเปลี่ยนสัญญา "ไม่งั้นคู่แข่งจะใช้โอกาสนี้ออกสินค้ามารีไฟแนนซ์"
ในจำนวนนี้มีลูกค้ากว่า 200 รายมีโอกาสได้ปรับสัญญาโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตามคงต้องทำใจตรงนี้ เพราะคนกู้เงินจากอีซี่ บายคงไม่สามารถปรับได้ทุกราย ยกเว้นที่มีประวัติการผ่อนชำระดีเยี่ยมเท่านั้น
การพิจารณาปล่อยกู้ลูกค้าแต่ละรายสำหรับอีซี่ บาย โดยเฉพาะกลุ่มประวัติดี จะดูจากประวัติการทำงาน ช่วงอายุ อาชีพ รายได้ และสถานภาพทางสังคม หากอยู่ในเงื่อนไข ก็จะได้อัตราดอกเบี้ยในเรทที่ต่ำคือระดับ 17%
จากข้อมูลของอีซี่ บายพบว่า มีลูกค้าเก่าประวัติดีมีโอกาสปรับดอกเบี้ยเหลือ 17% หลายแสนราย กลุ่มต่ำกว่า 20% ก็มี แต่น้อยกว่า กลุ่มแรก ส่วนกลุ่มที่คิดดอกเบี้ยต่ำกว่า 28% มีอยู่ 30-40%ในพอร์ต ขณะที่กลุ่มคิดดอกเบี้ยระหว่าง 25-28% ยังมีจำนวนมาก
พีระพงษ์ยอมรับว่า ลูกค้าที่ถูกคิดดอกเบี้ยที่หลายต่อหลายคนบอกว่า "อำมหิต"หรือ "มหาโหด" อยู่ที่ 54% นั้นมีจริง แต่มีเพียง 5-8% และคนกลุ่มนี้ก็จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง โดยวัดจากฐานรายได้อ่อน และเป็นกลุ่มที่มีอาชีพรับจ้างรายวัน ไม่มีรายได้ประจำหักผ่านธนาคาร
หลายคนอาจสงสัยว่า ธุรกิจให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลชื่อฝรั่งหลายเจ้าก็มีอยู่รายรอบแต่ทำไม?...อีซี่ บายจึงขึ้นชื่อว่า "ทารุณกรรม" ต่อลูกหนี้มากที่สุด
คำตอบอยู่ที่ ผู้บริหารญี่ปุ่น ทาเคชิ อิชิคาวา กรรมการผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาธุรกิจ ที่อธิบายว่า ธุรกิจ "นอนแบงก์" หลายรายเลือกที่จะจับตลาดคนละแบบ โดยเฉพาะหลังจากแนวโน้มการให้สินเชื่อเงินผ่อน แผ่วกำลังลง คนเริ่มบริโภคน้อย แทบทุกรายต่างก็หันไปหาตลาดที่ตนเองถนัด
อิออน คู่แข่งเชื้อชาติเดียวกับอีซี่ บายเลือกจะขยายตลาดบัตรเครดิต ส่วนจีอี ยักษ์ใหญ่จากอเมริกา ก็โฟกัสไปที่สินเชื่อรถยนต์ ที่สินค้ามีราคาสูงกว่ามาก ต่างกับ อีซี่ บาย เจาะจงตลาดสินเชื่อเงินสดเป็นหลัก เพราะเป็นแนวทางถนัด บริษัทแม่ญี่ปุ่น "เอคอม" ก็มีลูกค้าสินเชื่อเงินสดในญี่ปุ่นมากกว่า 90% ของพอร์ต ดังนั้นกระบวนการทำตลาดจึงเป็นไปอย่างเร็วและแรง จนคู่อริในตลาดต้องถอยห่าง
แต่ในญี่ปุ่นก็ไม่มีการฟ้องร้องดำเนินคดี ยกเว้นกรณีข้อมูลลูกค้ารั่วไหลเท่านั้น ที่ทำให้ "เอคอม"บริษัทแม่อีซี่ บาย ในญี่ปุ่น เกือบถูกประนามจากสังคมซามูไร
" มาถึงขั้นนี้ เราต้องอุดรูรั่ว ด้านการสื่อสาร โดยพยายามอบรมพนักงานให้ทำความเข้าใจกับลูกค้าก่อน"
ในอีกมุมของลูกค้า พีระพงษ์ ได้แนะนำว่า ก่อนกู้เงินให้ตรวจดูสัญญาให้ดี ถ้ารายละเอียดมีมาก ก่อนกู้เงินก็ควรไถ่ถามเจ้าหน้าที่ หากไม่เข้าใจผู้จัดการสาขาก็ต้องลงมาอธิบายเพิ่มเติม โดยยอมรับว่าที่ผ่านมาส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่จะใช้วิธีการที่ตัวเองเป็นใหญ่ จึงขาดการสื่อสารที่ทำให้ไม่เข้าใจ
เมื่อกู้ไปแล้ว ก็ตกมาเป็นลูกหนี้ หากผิดนัดชำระ ก็จะมีการทวงหนี้ ซึ่งมีหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่บริษัทจะให้พนักงานที่มีอยู่กว่า 900 คน และว่าจ้างบริษัทอีก 10 แห่ง แต่หลักๆหากถูกตัดเป็นหนี้สูญเท่านั้นที่จะว่าจ้างบริษัทนอก โดยกำหนดส่วนแบ่งให้ 20-40% จากหนี้ที่ติดตามกลับมาได้
เหตุนี้เองที่ทำให้ลูกหนี้หลายราย ถูกคุกคาม และถูกตามรังควานจากการทวงหนี้ ที่ว่ากันว่า ไม่ต่างอะไรจากการขู่กรรโชก หรือทำร้ายจิตใจลูกหนี้ บางรายเข้าขั้นคุกคามไปถึงผู้คนในครอบครัวที่ไม่รู้เหนือรู้ใต้...
ผู้บริหารญี่ปุ่น ถึงกับพูดติดตลก ว่าคงเร่งแก้ปัญหาที่เป็นจุดบอดของ "อีซี่ บาย"ให้ได้ ถ้าแก้ไม่ได้ อาจจะต้องทำ "ฮาราคีรี" กันเลย...
นักชอปเองก็เช่นกัน ก่อนกู้หรือเอาเงินเขามาใช้จ่าย ก็ควรตระหนักถึงผลที่จะติดตามมา เพราะงานนี้แม้แต่ท่านผู้ว่าแบงก์ชาติยังไม่ติดอกติดใจ ทางออกจึงมีอยู่ทางเดียว คือฟ้องร้องเอาความกันเอง....
เห็นรึยังว่า "ลัทธิบริโภคนิยม" ไม่ได้ทำให้ชีวิตสุขสบายเสมอไป ตรงกันข้ามได้ ทำให้คนธรรมดา กลายมาเป็น ลูกหนี้(ทาส) ในยุคดิจิตัล ได้ง่ายๆ....
|
|
|
|
|