|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"ตัน" เจ้าพ่อชาเขียวชูนโยบายขยายธุรกิจเครื่องดื่มแทนกลุ่มอาหารอิ่มตัว ทุ่ม 1,000 ล้านบาท ผุดโรงงานแห่งที่ 3 พื้นที่ 100 ไร่ ปั้นเครื่องดื่มแนวเพื่อสุขภาพเพิ่มล่าสุดทุ่ม 70 ล้านบาท ดันเครื่องดื่มน้ำผลไม้ผสมวิตามิน "อะมิโน โอเค" แจ้งเกิดทดแทนตลาดชาเขียวซบ ตั้งเป้ายอดขายปีแรก 1,200 ล้านบาท เร่งแจงก.พาณิชย์ เตรียมยื่นเอกสารดีเดย์ภายหลังวันที่ 2 ธ.ค.นี้
นางสุนิสา สุขพันธุ์ถาวร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายชาเขียวพร้อมดื่มโออิชิ เปิดเผยว่า นโยบายการตลาดในช่วง 2-3 ปีจากนี้ บริษัทฯ ได้วางทิศทางขยายธุรกิจกลุ่มเครื่องดื่มในเชิงรุกมากขึ้น โดยวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้กลุ่มเครื่องดื่มจากปัจจุบัน 75% เป็น 90% ส่วนรายได้จากธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นและเบเกอรี่จาก 25% จะเหลือ 10%
ทั้งนี้เป็นเพราะตลาดเครื่องดื่มมีอัตราการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับธุรกิจร้านอาหารเริ่มมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ในการขยายสาขาภายในกรุงเทพฯ ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีร้านอาหารในเครือ 80 สาขา และตั้งเป้าจะขยายเพิ่มในช่วง 2-3 ปีนี้ครบ 120 แห่งเท่านั้น โดยปีหน้าเปิด 10 แห่ง ใช้งบลงทุน 100 ล้านบาท
ขณะนี้บริษัทฯ กำลังศึกษาเพื่อสร้างโรงงานแห่งที่ 3 ขนาดพื้นที่ 100 ไร่ โดยคาดว่าจะใช้งบลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายไลน์โปรดักต์ใหม่ในแนวเพื่อสุขภาพ รวมทั้งการเติบโตกลุ่มเครื่องดื่มชาเขียวและเครื่องดื่มน้ำผลไม้ผสมวิตามิน อะมิโน โอเค ซึ่งเพิ่งเปิดตัวในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมานี้ และการขยายตลาดต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันส่งออกชาเขียว 12 ประเทศ และอะมิโน โอเค 2 ประเทศ ในลาวและเขมร โดยหากกำลังการผลิตใช้ถึง 75% ก็จำเป็นต้องหาโรงงานแห่งใหม่ จากปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิตเครื่องดื่ม 2 แห่ง มีกำลังการผลิตรวม 45 ล้านขวดต่อเดือน แบ่งเป็นโรงงานอมตะนครมีกำลังการผลิต 15 ล้านขวดต่อเดือน และโรงงานนวนคร 30 ล้านขวดต่อเดือน
นายตัน ภาสกรนที ประธานกรรมการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภายหลังจากวันที่ 1-2 ธันวาคมนี้ ทางโออิชิได้เตรียมเอกสารยื่นต่อกระทรวงพาณิชย์ จากที่ผ่านมาทางกระทรวงฯ ได้วางแนวทางเร่งจัดทำรายละเอียดของสินค้าเครื่องดื่มชาเขียวสำเร็จรูปพร้อมดื่ม เพื่อส่งเรื่องไปยังกรมสรรพสามิตให้พิจารณาสินค้าชาเขียวเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่ต้องเสียภาษี เพราะที่ผ่านมาเครื่องดื่มชาเขียวได้รับการยกเว้นภาษี เพราะถือว่าเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในการรับซื้อใบชา
ทั้งนี้โออิชิออกมายืนยันว่าที่ผ่านมาชาเขียวโออิชิ ใช้วัตถุดิบในการผลิตโดยเฉพาะใบชา เป็นวัตถุดิบจากประเทศไทย 100% มาตั้งแต่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว
"กรณีราคาชาเขียวพร้อมดื่มเราอยากชี้แจงว่า ปัจจุบันโออิชิจำหน่ายในราคาขวดละ 16-17 บาท ผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด โดยราคาดังกล่าวยังรวมค่าแวต 7% ส่วนในร้านค้าสะดวกซื้อที่ต้องขายแพงคือ 18-20 บาท เพราะต้องเสียค่าแรกเข้า ค่าไฟ ตู้แช่ โดยปัจจุบันราคาหน้าโรงงานราคา 12 บาทเท่านั้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีกระแสข่าวลบมาโดยตลอด แต่ผลประกอบการโออิชิยังคงมีอัตราการเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมานี้"
ล่าสุดทุ่มงบ 70 ล้านบาท เปิดตัวเครื่องดื่มน้ำผลไม้ผสมวิตามิน "อะมิโน โอเค" โดยจะเป็นสินค้าหลักที่บริษัทฯ เน้นทำตลาดในปีหน้า เพื่อแจ้งเกิดในตลาดภายหลังจากที่ตลาดชาเขียวเริ่มมีอัตราการเติบโตที่ลดลง ในขณะที่แนวโน้มตลาด "วอเตอร์พลัส" จะเป็นกระแสที่มาแรงในประเทศไทย ซึ่งเป็นกระแสที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับญี่ปุ่นและไต้หวันโดยวอเตอร์พลัส ถือว่าเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับสองหรือสามรองจากชาเขียวพร้อมดื่มซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของตลาด โดยในช่วงแรกของการทำตลาดบริษัทฯ จะเน้นใช้อะโบฟเดอะไลน์ 60 ล้านบาท และบีโลว์เดอะไลน์ 10 ล้านบาท เพราะต้องการสร้างการรับรู้และให้ข้อมูลกับกลุ่มเป้าหมายอายุ 18-35 ปี
"โพซิชันนิง" ของ "อะมิโน โอเค" เราวางไว้เป็น เครื่องดื่มที่ดื่มแทนน้ำ ทำให้ไปชนกับคู่แข่งทางอ้อม หลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น น้ำอัดลม น้ำเปล่า ไอเฟิร์ม รวมทั้งตลาดน้ำผลไม้ที่เหมือนจะเป็นคู่หลักมากกว่า ซึ่งแนวโน้มตลาดน้ำผลไม้มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 1-2% จากมูลค่า 1,300 ล้านบาท เท่านั้น เพราะตลาดน้ำผลไม้ 25-40% ไม่โตมาก ส่วนตลาดน้ำผลไม้พรีเมียมเติบโตสูง สำหรับในช่วงแรกบริษัทฯ ได้แจกสินค้าตัวอย่างตามโรงเรียน สถาบันกวดวิชา จตุจักร ฯลฯ เพื่อกระตุ้นการทดลองดื่ม ทั้งนี้บริษัทฯ ตั้งเป้ายอดขายในปีแรก 1,000-1,200 ล้านบาท"
แนวโน้มตลาดเครื่องดื่มจะแยกเป็นเซกเมนต์ชัดเจนจากนี้ไปจะเห็นเครื่องดื่มแนววอเตอร์ พลัสมากขึ้น เพราะพฤติกรรมของคนไทยต้องการเครื่องดื่มที่ตอบสนองความต้องการได้เพิ่มขึ้น โดยมองว่าการดื่มน้ำผลไม้จะไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย และคนไทยจะไม่ได้ดื่มน้ำเพื่อต้องการความอร่อยแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป โดยคาดว่าภายใน 2-3 ปีนี้พฤติกรรมของคนไทยจะเริ่มเปลี่ยนแปลงและเห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม เครื่องดื่มกลุ่มวอเตอร์พลัส ในญี่ปุ่นมีอีกหลายประเภทที่น่าสนใจ อาทิ ไฟเบอร์ โอลิโกะ แลคติก เป็นต้น
|
|
|
|
|