เปิดโผชื่อผู้บริหาร กฟผ. ที่ได้รับการจัดสรรหุ้น "ไกรสีห์ กรรณสูต" ได้รับมากสุดคือ 266,666 หุ้น ขณะที่มีชื่อภรรยาผู้บริหารก็ได้รับการจัดสรรเช่นเดียวกัน พบหุ้นเหลือจากที่จัดสรรให้พนักงานจำนวน 1.683 ล้านหุ้น หรือ 2.24% ด้านวิปฝ่ายค้าน แฉ เอ็มโอยู กฟผ. กรมธนารักษ์ ไม่มีสภาบังคับ เตรียมออกสมุดปกดำ เงื่อนงำขาย กฟผ.พร้อมเปิดศูนย์คุ้มครองสิทธิประชาชน เอาที่คืน พร้อมดำเนินคดีทางกฎหมาย
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งถึงผลการเสนอขายหุ้น บริษัท กฟผ. จำกัด (มหาชน) ที่เสนอขายให้แก่พนักงานจำนวน 522 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 10 บาท โดยเสนอขาย ในราคาหุ้นละ 10 บาท ปรากฏว่าผู้ที่ได้รับการจัดสรรใน 20 อันดับแรกนั้นคิดเป็นจำนวนหุ้นรวมทั้งหมด 2,114,312 หุ้น หรือ 0.40% โดยมีนายไกรสีห์ กรรณสูต ที่ได้รับจัดสรรในจำนวนมากที่สุด จำนวนทั้งสิ้น 266,666 หุ้น หรือ 0.05% คิดเป็นมูลค่า 2.6 ล้านบาท หากคิดตามราคาจองสูงสุดที่ 28 บาทต่อหุ้น จะคิดเป็นเงิน 7.4 ล้านบาท ในกรณีที่ขายหุ้นออกไปทันทีที่เปิดให้มีการซื้อขาย นายไกรสีห์จะได้รับส่วนต่าง 4.8 ล้านบาท
สำหรับอันดับรองลงมา 10 อันดับแรกประกอบด้วย นายณรงค์ศักดิ์ วิเชษฐ์พันธ์,นายบุญชู ดิเรกสถาพรและนายเฉลิมชัย รัตนรักษ์ ได้รับการจัดสรรคนละ 96,969 หุ้นหรือคนละ 0.01% เป็นอันดับ 2 นายสันทัด จิรายุวัฒน์ ได้รับการจัดสรรจำนวน 92,804 หุ้นหรือ 0.01%, นายอุดร ขุนวิไชย และนายกิตติ สิริกวิน ได้รับการจัดสรรคนละ 92,096 หุ้นหรือคนละ 0.01%,นายสหาย รักเหย้าได้รับการจัดสรรจำนวน 91,772 หุ้นหรือ 0.01%
นายคำผุย จิราระรื่นศักดิ์ ได้รับการจัดสรรจำนวน 84,756 หุ้นหรือ 0.01%, นางสาวสุธารัตน์ อังจันทร์เพ็ญ ได้รับการจัดสรรจำนวน 84,019 หุ้นหรือ 0.01%, นายจำนง วงศ์สว่าง ได้รับการจัดสรรจำนวน 83,752 หุ้นหรือ 0.01%, นายสมบัติ ศานติจารี ได้รับการจัดสรรหุ้นได้จำนวน 81,580 หุ้น หรือ 0.01% และนายวุฒิชัย เอกแสงศรี ได้รับการจัดสรรจำนวน 81,522 หุ้นหรือ 0.01%
นอกจากนี้ ในส่วนของการจัดสรรหลักทรัพย์ให้แก่ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นใหญ่ ผู้มีอำนาจควบคุมบริษัทในเครือ และผู้ที่เกี่ยวข้องของบุคคลดังกล่าว พบว่ามีภรรยาของผู้บริหารบางคนก็ได้รับการจัดสรรเช่นกัน เช่น นางยงลักษณ์ ดิเรกสถาพร ภรรยานายบุญชูได้รับการจัดสรรจำนวน 36,572 หุ้น, นางเยาวลักษณ์ โหรตรภวานนท์ ภรรยานายขจรศักดิ์ โหตรภวานนท์ ได้รับการจัดสรรจำนวน 33,643 หุ้นหรือ 0.01% ขณะที่นายขจรศักดิ์ได้รับการจัดสรรจำนวน 81,197 หุ้น หรือ 0.01%
นางอรุณี จิรายุวัฒน์ ภรรยานายสันทัด ได้รับการจัดสรรจำนวน 28,484 หุ้น และนางชูทิพย์ วิจักขณ์สังสิทธิ์ ภรรยานายธวิช วิจักขณ์สังสิทธิ์ นั้นได้รับการจัดสรรจำนวน 44,557 หุ้น ขณะที่นายธวิชได้รับการจัดสรรจำนวน 49,745 หุ้น
สำหรับหุ้นที่เหลือจากการเสนอขายแก่ผู้มีสิทธิจองซื้อหุ้นมีจำนวน 1,683,832 หุ้น หรือ 2.24% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด จะดำเนินการจัดสรรและเสนอขายแก่ประชาชนทั่วไป
วานนี้ที่รัฐสภา นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงาน พรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แถลงว่า จากการที่คณะทำงานศึกษา และติดตามการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของวิปฝ่ายค้านได้ศึกษาสัญญาหรือบันทึกความเข้าใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเช่าเขื่อน ซึ่ง บมจ.กฟผ. ทำกับกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง พบว่าขณะนี้ยังไม่ได้มีการทำสัญญา แต่สิ่งที่กรมธนารักษ์ได้ ดำเนินการกับ กฟผ.ไปแล้วนั้นเป็นการดำเนินการในรูปบันทึกการทำความเข้าใจ (เอ็มโอยู)
คณะทำงานได้หยิบยกเอ็มโอยูมาศึกษาหารือกัน ซึ่งเบื้องต้นพบว่า เอ็มโอยูฉบับดังกล่าวไม่ได้มีสภาพบังคับ ทั้งที่เอ็มโอยูเป็นการทำระหว่าง กฟผ.กับกรมธนารักษ์ อยู่แล้วว่า กฟผ.จะต้องถูกแปรรูป และต้องมีการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตลท.) กลายเป็นบริษัทเอกชนอย่างแน่นอน ในเมื่อเอ็มโอยูไม่มีสภาพบังคับและมีการเขียนว่าจะมีการจัดทำสัญญาภายใน 3 ปี จึงมีประเด็นว่า หากกระจายหุ้นไปแล้ว ถ้ามีการกระทำที่ผิดไปจากเอ็มโอยูจะมีกระบวนแก้ไขปัญหาอย่างไร เพราะเอ็มโอยูไม่สามารถใช้บังคับอะไรได้ ไม่เหมือนกับสัญญาที่สามารถใช้บังคับทางกฎหมายได้ ประเด็นนี้สำคัญที่สุดซึ่งจะนำไปสู่การพิจารณาในประเด็นอื่นๆ ว่าจะสามารถดำเนินการตามกฎหมายได้อย่างไร
ทั้งนี้ พรรคจะได้มีการศึกษาและสรุปให้เสร็จภายในสัปดาห์หน้า และจะทำเป็นสมุดปกดำ กฝผ.
นอกจากนี้ยังได้ศึกษาถึงเรื่องจำนวนเงินที่ บมจ. กฟผ.ระบุไว้ในการจ่ายค่าเช่าทรัพย์สินจากกรมธนารักษ์ ซึ่งจะทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ เพราะมีปัญหาในเรื่องการประเมินทรัพย์สินและกำหนดราคาเช่า ซึ่งกำไรของ บมจ.กฟผ.ที่ต้องจ่ายค่าเช่า เมื่อเทียบกับการจ่ายให้แก่รัฐไม่สามารถเทียบกันได้ ดังนั้น ที่ประชุมคณะทำงาน จึงได้มีมติให้ทำหนังสือถึง กฟผ. เพื่อขอข้อมูลย้อนหลังกลับไป 5 ปี ว่า แต่ละเขื่อนมีกำลังการผลิตไฟฟ้าคิดเป็นหน่วยต่อปีจำนวนกี่หน่วย เพื่อเทียบกับปริมาณน้ำที่อยู่ในเขื่อนแต่ละปี ซึ่งวิธีนี้จะทำให้คำนวณกลับมาในรูปของรายได้ที่ บมจ.กฟผ.ได้รับคืนมาจากการขายไฟฟ้าที่มีการผลิตขึ้นได้
ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่าการเวนคืนที่ดิน เพื่อสร้างเขื่อนโดยการลงทุนของรัฐส่วนหนึ่งใช้ผลิตไฟฟ้า เรื่องนี้เข้าข่ายเตรียมการฉ้อฉล ซึ่งจะต้องมีการศึกษาต่อ โดยได้มอบหมายให้นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลาไปศึกษาต่อ
ในส่วนของการทำสมุดปกดำ จะแบ่งเป็นข้อมูลในการสนับสนุนผู้ที่ไปฟ้องร้องต่อศาล และจะนำเผยแพร่สู่สาธารณชนทั่วไป เพื่อให้ทราบถึงการแปรรูป กฟผ. รวมถึงการดำเนินการของรัฐบาลมีส่วนใดบ้างที่ไม่ถูกต้องหรือผิดพลาดทั้งหมดเพื่อให้รัฐบาลได้ทบทวนทั้งหมด ส่วนเรื่องที่จะทำกันอย่างต่อเนื่องคือกรณีที่ได้รับการร้องเรียนมายังพรรคเป็นจำนวนมากคือการปักเสา พาดสาย ผ่านที่ดินของประชาชนด้วยความยินยอมเพื่อการขายไฟฟ้าให้เป็นรายได้ของรัฐ แต่เมื่อ กฟผ. ถูกแปรรรูปและขายเข้าสู่ ตลท.กลายเป็นของเอกชนในอนาคต เขาต้องการ ที่ดินคืน ให้ กฟผ. ไปปักเสาในที่ดินอื่น เพราะการไฟฟ้าฯไม่ใช่ของรัฐ เรื่องนี้ได้มีการสอบถาม มายังพรรคว่าจะมีการดำเนินการอย่างไร วิปจึงได้สรุปเตรียมจัดตั้งศูนย์คุ้มครองสิทธิของประชาชนจากกรณีการแปรรูป กฟผ. รับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชนที่ถูกรอนสิทธิ และต้องการ ดำเนินการตามกฎหมาย โดยมอบให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคไปศึกษาตั้งศูนย์ให้เสร็จ พร้อมการจัดทำสมุดปกดำ
ประเด็นที่วิปได้ศึกษาอีกเรื่องคือไฟเบอร์ออปติกที่พาดไปกับสายส่งที่ กฟผ.ได้ดำเนินการไปในช่วงที่ยังไม่มีการแปรรูป แต่ กฟผ.ได้หาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และมีรายได้บางส่วนแล้ว เบื้องต้นคณะทำงานเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญว่าด้วยการรอนสิทธิประชาชนเพื่อใช้ประโยชน์ต่อสาธารณะ ดังนั้นจะมีการประชุมคณะทำงานในวัน 6 ธ.ค.นี้ เพื่อสรุปประเด็นดังกล่าว และดำเนินการทางกฎหมายต่อ กฟผ. ต่อไป เพื่อยับยั้งรัฐบาลขาย กฟผ.เพราะความจริงยังมีอีกหลายรูปแบบที่ทำได้โดยไม่ต้องขาย
|