Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2540
"ออราเคิลทุกหนทุกแห่ง" คงไม่หมดแรงเสียก่อน             
 


   
search resources

ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย), บจก.
มาร์ค ซี.อิสราเอลเซ่น
Software




น่าสนุกอยู่ไม่น้อย เมื่อนิตยสาร SAN FRANCISCO FOCUS นำเสนอภาพปกเป็นรูปลาร์ลี่ เอลิสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทออราเคิล โดยให้อยู่ในชุดซามูไร ในขณะที่บริษัท ออราเคิล ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) ก็เริ่มรุกตลาดในลีลาเร้าใจกว่าทุกปี เร้าใจแค่ไหน ? ก็คงเหมือนรูปของเอลิสันนั่นแหละ !

ลีลาของเอลิสันนั้น ก็ย่อมจะเป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า มีเป้าหมายแห่งการสัประยุทธ์อยู่ที่บิล เกตส์ และไมโครซอฟท์ ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมานาน

ออราเคิลเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ที่มีรายได้เป็นอันดับ 2 ของโลก โดยเป็นเจ้าแห่งซอฟต์แวร์บริหารฐานข้อมูล สำหรับไมโครซอฟท์เป็นบริษัทซอฟต์แวร์อันดับ 1 โดยเป็นเจ้าตลาดระบบปฏิบัติการที่รู้จักกันในนามดอส และวินโดวส์เวอร์ชั่นต่าง ๆ

เมื่อยุคการทำงานเป็นเน็ตเวิร์กหรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์เกิดขึ้นในตลาดวิสาหกิจต่าง ๆ ออราเคิลก็ตีปีกพึบพั่บขึ้นมาทันทีว่า วันเวลาแห่งการเป็นน้ำใต้ศอกของตนเองนั้นหมดสิ้นไปแล้ว

ยิ่งข้อมูลสื่อสารผ่านเครือข่ายมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งต้องใช้ซอฟต์แวร์บริหารฐานข้อมูลมากขึ้น จึงออกจะเป็นเรื่องแปลกที่จะให้ความสำคัญกันแต่เรื่องระบบปฏิบัติการ เพราะหากไม่มีซอฟต์แวร์บริหารฐานข้อมูล ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีการทำงานในระบบเครือข่าย ดังนั้น ตลาดของออราเคิลก็จะต้องใหญ่ขึ้น และออราเคิลก็จะมีความสำคัญมากขึ้น

ที่ออราเคิลคิดก็ไม่ผิด แต่คิดเพียงเท่านี้ ก็ยังให้คำรับรองไม่ได้ว่า ออราเคิลจะขึ้นแท่นมหาอำนาจแทนไมโครซอฟท์ เช่นเดียวกับการที่เอลิสันเคยทักบิล เกตส์ ด้วยอาการยิ้มเยาะว่า "นี่มันไม่ใช่ยุคพีซีนะโว้ยบิล มันเป็นยุคสื่อสารต่างหาก" ก็ยังไม่ได้หมายความว่า เครื่องพีซีจะถูก "เอ็นซี" หรือเน็ตเวิร์ก คอมพิวเตอร์ ที่มีราคาถูกกว่าโค่นล้มลงไปอย่างง่าย ๆ

ก็ไม่รู้ว่า ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) และออราเคิล (ประเทศไทย) จะทักทายกันแบบนี้หรือไม่ ?

โดยธรรมชาติธุรกิจ ตลาดหลักของออราเคิลย่อมจะอยู่ที่ซอฟต์แวร์บริหารฐานข้อมูล โดยมีซอฟต์แวร์ประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอนาคตสดใส ส่วนในเรื่องฮาร์ดแวร์ ก็เป็นปีที่ออราเคิลจะได้ลองลิ้มชิมรสว่า วิสาหกิจต่าง ๆ จะยอมรับเอ็นซีหรือไม่ เพราะการทำตลาดเอ็นซีอย่างจริงจังได้เริ่มขึ้นแล้วทั่วโลก และในไทย

ปัจจุบัน ออราเคิลมีส่วนแบ่งตลาดซอฟต์แวร์ด้านฐานข้อมูลประมาณ 53% ซอฟต์แวร์ประยุกต์ประมาณ 34% และซอฟต์แวร์ทูล หรืออุปกรณ์เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ประมาณ 13%

ออราเคิลเข้ามาตั้งในไทยในปี 2533 อาศัยซอฟต์แวร์ฐานข้อมูลเป็นตัวทำเงินมาโดยตลอด เริ่มทำตลาดซอฟต์แวร์ประยุกต์เมื่อราวสองปีที่ผ่านมา แต่ก็ปรากฏว่า มีอัตราการเติบโตของรายได้ที่น่าสนใจ คือ ในปีที่แล้ว มียอดจำหน่ายในสัดส่วนที่เท่ากับซอฟต์แวร์ฐานข้อมูล หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 300% ในขณะที่ซอฟต์แวร์ฐานข้อมูลนั้นมีอัตราการเติบโตเพียง 100% เท่านั้น ซอฟต์แวร์ประยุกต์ต่าง ๆ จึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ออราเคิลพยายามผลักดันอย่างเต็มที่ทั้งในตลาดโลกและในไทย แต่ในไทยนั้นยังขยายตัวได้อีกมาก เพราะตลาดยังไม่หนาแน่นเช่นในโลกตะวันตก

สาเหตุหนึ่งก็คือ องค์กรต่าง ๆ หันมาใช้ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาแล้วมากขึ้น ไม่นิยมเขียนโปรแกรมใช้เองเหมือนเมื่อ 4-5 ปีก่อน

พิจารณาอัตราการเติบโตของซอฟต์แวร์ประยุกต์กับซอฟต์แวร์ฐานข้อมูล ก็จะเห็นได้ว่า เป็นไปตามกลยุทธ์ของออราเคิล คือ การพยายามทำให้ทั้งสองเรื่องสัมพันธ์กัน และการร่วมงานกับคู่ค้าในการจำหน่าย

นับได้ว่า ออราเคิลเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับคู่ค้าและพันธมิตรอย่างมาก โดยจัดให้มีการประชุมกลุ่มพันธมิตรทุกปี และประเทศไทยก็ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมมาแล้วถึง 3 ครั้ง

ครั้งแรกในปี 2535 ที่จังหวัดภูเก็ต เว้นไปปีหนึ่ง เนื่องจากจัดขึ้นที่ปีนัง มาเลเซีย ต่อมาจัดที่จังหวัดเชียงใหม่ และในปี 2538 ก็จัดที่จังหวัดภูเก็ตอีกครั้งหนึ่ง จึงเท่ากับเป็นการให้ความสำคัญอย่างมากกับแนวโน้มการเติบโตทางด้านอินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยีในไทย

การประชุมในระยะหลัง จะเน้นแลกเปลี่ยนถึงตลาดที่กำลังเติบโต คือ ตลาดการเงิน การผลิต และโทรคมนาคม

ออราเคิล มีนโยบายรุกตลาดการเงิน เนื่องจากการเปิดเสรีทางการเงิน จะทำใหธุรกิจการเงินข้ามชาติเข้ามาเปิดให้บริการเป็นจำนวนมาก จึงเป็นโอกาสในการนำเสนอโซลูชั่นทางด้านแบ็งกิ้งต่าง ๆ โดยเน้นที่กลุ่มธนาคารเป็นอันดับแรก

ธนาคารในไทยล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยอิเล็กทรอนิกส์แบงกิ้งมาสร้างความสะดวกในด้านบริการ และลดต้นทุนในการประกอบการให้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะหน้าจะยังคงมีการประมวลผลด้วยเครื่องเมนเฟรม แต่ระบบงาน เช่น แบ็กออฟฟิศ และการสื่อสารภายในองค์กร จะใช้ระบบไคล์เอนต์/เซิร์ฟเวอร์มากขึ้น นอกจากนี้ ความตอ้งการลดงานที่สาขา โดยให้มีการประมวลผลที่สำนักงานใหญ่ และการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้าช่วย ก็จะทำให้มีการใช้ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย

แนวโน้มของธนาคารจากยุค ATM ซึ่งนำโดยธนาคารไทยพาณิชย์ เข้าสู่ยุครีเอ็นจิเนียริ่งองค์กร ซึ่งนำโดยธนาคารกสิกรไทย กำลังไปสู่ยุคออนไลน์โดยตรงกับลูกค้า หรือ PC BANKING ทำให้บริษัทคอมพิวเตอร์ต่างต้องรีบลงหลักปักฐานในตลาดนี้

ตอนนี้มีอีกคำหนึ่งชักฮิตขึ้นมาเทียบชั้น E-MAIL คือ E-BANKING หรือ ELECTRONIC BANK นั่นเอง

แม้แต่ ไมโครซอฟท์ก็ยังสามารถเข้ายึดกุมตลาดในธนาคารแห่งประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ ส่วนซอฟต์แวร์บริหารฐานข้อมูล แบงก์ชาติยังคงให้ความวางใจแก่ออราเคิล

ทุกวันนี้ แม้จะมีการใช้เครื่องเอทีเอ็มแล้ว แต่ก็ยังมีลูกค้าอยู่เต็มฟรอนท์ออฟฟิศ เป็นเพราะลูกค้าบางส่วนยังไม่ยอมรับระบบอิเล็กทรอนิกส์เท่าที่ควร แต่โดยแนวโน้มแล้ว ธนาคารต้องไปสู่แอพพลิเคชั่นทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

มาร์ค ซี. อิสราเอลเซ่น กรรมการผู้จัดการบริษัท ออราเคิล ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) กล่าวถึงแผนการตลาดซอฟต์แวร์ในปี 2540 ว่า ตั้งเป้าเติบโตยอดขายไว้ถึง 145% "หากบริษัทสามารถดำเนินการตามเป้าที่ตั้งไว้ คาดว่า ยอดรายได้รวมของออราเคิลในไทยจะก้าวขึ้นสู่อันดับ 3 ในกลุ่มเอเชียแปซิฟิก รองจากออสเตรเลีย และเกาหลีเท่านั้น"

ด้วยลีลารุกรบฉับไว วัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมให้แข่งขันอย่างเข้มข้น และขนาดตลาดที่ใหญ่ขึ้น ก็เชื่อว่า ออราเคิลน่าจะทำได้

ในระดับโลก บุคลิกและถ้อยคำที่ออกจะแข็งกร้าวของผู้นำ เช่น ลาร์ลี่ เอลิสัน ทำให้ออราเคิลดูเหมือนจะล้าหลังไม่เป็น "ทุกคนคิดว่า การครองตลาดของไมโครซอฟท์และไอบีเอ็ม เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่พ้น แต่ออราเคิลจะทำให้คำว่า มีวินโดวส์อยู่ทุกหนทุกแห่ง กลายเป็นไปที่ไหนก็ไม่มีวินโดวส์"

เชื่อว่า ไมโครซอฟท์คงต้อนรับด้วยเสียงหัวเราะ แต่ก็ไม่ควรประมาทนัก

ล่าสุด งานออราเคิลเวิลด์ ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีมนุษย์ดิจิตอลเข้าร่วมงานกว่า 5,000 คน ทำเอาไมโครซอฟท์ต้องวางท่าสงบเสงี่ยมเหมือนกัน

งานนี้มีการสัมมนากว่า 100 รายการ ทั้งยังมีการสาธิตเทคโนโลยีล่าสุด จากคู่ค้าและพันธมิตรของออราเคิลด้วย ขณะเดียวกัน ออราเคิลก็แสดงอาการ "เล่นเป็น" ด้วยการประกาศบุกตลาดอิเล็กทรอนิกส์ คอมเมิร์ซ ซึ่งกำลังขึ้นสู่กระแสสูง

ที่สำคัญ คือ ในงานมีการเปิดตัว "เอ็นซี" หัวรบใหม่ของออราเคิล จุดขาย คือ นอกจากจะราคาถูกกว่าเครื่องพีซีแล้ว ยังมีการโปรโมตว่า ในระยะยาวจะเสียค่าบำรุงรักษาและอัพเกรดเครื่องน้อยกว่าพีซี อย่างไรก็ตาม เอ็นซีที่นำมาแสดงในงานทั้งของออราเคิลและจากค่ายญี่ปุ่น เช่น AKAI และ FUNAI ก็ยังไม่ได้แสดงคุณสมบัติที่น่าสนใจสำหรับการใช้งานตามออฟฟิศ แต่กลับเป็นเครื่องที่เหมาะกับตลาดโฮมยูสมากกว่า

เอ็นซีสำหรับวิสาหกิจ คงจะต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงกันอีกมาก เพราะเท่าที่เห็นอยู่ จะแปลกกว่าเครื่องพีซีก็ตรงที่ไม่มีฮาร์ดดิสก์ และสามารถดึงโปรแกรมจากเซิร์ฟเวอร์

ต้องใช้เวลาอีกพอควร สำหรับคำว่า "ออราเคิลทุกหนทุกแห่ง" หรือ "เอ็นซีทุกหนทุกแห่ง"

แค่การตกเป็นข่าวลือบนหน้าหนังสือพิมพ์บางฉบับว่า ออราเคิลมีส่วนในการให้เงิน รมต. ศึกษาธิการ สุขวิช รังสิตพล แต่ะเอีย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจะได้ขายเอ็นซีให้แก่โครงการเครือข่ายสารสนเทศของกระทรวง ก็ก่าวหน้าผากได้แล้ว

ข้อหาเช่นนี้ คงไม่ทำให้หมดแรงง่าย ๆ ก็แล้วกัน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us