ปัจจุบันฟู้ดเซ็นเตอร์ในห้างสรรพสินค้าไม่ใช่แค่เพียงตอบสนองเพื่อขายอาหารเท่านั้น ยุทธวิธีการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อให้เข้าใช้บริการฟู้ดเซ็นเตอร์เริ่มร้อนแรง แลกกับสิ่งที่จะได้มาคือการยอมใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกับความพอใจในประสบการณ์ที่ดีของการใช้บริการ ส่งผลให้ฟู้ดเซ็นเตอร์ต้องปรับตัวรับกระแสให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนเมืองยุคใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาพของการปรับตัวห้างสรรพสินค้าหลายแห่งเพื่อรองรับกระแสเทรนฟู้ดเซ็นเตอร์เริ่มชัดเจนมากขึ้น
"ดิ เอ็มโพเรียม" ยอมทุ่ม 100 ล้านเปิดตัว "Park Food Hall" กูร์เม่ต์มาร์เก็ต และฟู้ดฮอล์สุดอลังการ รวมร้านอาหาร เบเกอรี่นานาชาติกว่า 13 ร้านอาหารชั้นนำที่มีชื่อเสียง หวังจับกลุ่มลูกค้าทั้งไทยและเทศ
ลักขณา นะวิโรจน์ กรรมการบริหาร ดิ เอ็มโพเรียม ดี พาร์ทเมนท์ สโตร์ กล่าวถึงความสำเร็จของเอ็มโพเรียมจากการเปิดให้บริการ กูร์เม่ต์มาร์เก็ต และฟู้ดฮอลล์ ล่าสุดทางศูนย์ได้รีโนเวทพร้อมขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น 30% เป็น 7,000 ตรม. จากเดิมที่มีพื้นที่อยู่ 5,300 ตรม. พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "Park Food Hall" โดยกูร์เม่ต์มาร์เก็ต มีพื้นที่ 2,000 ตรม. ตกแต่งในสไตล์ปารีเซียน Bon Marche
การผนวกกลยุทธ์การตลาดที่สร้างความแตกต่างด้วย Sensory Branding เน้นโปร่งด้วยเพดานสูงแบบ skeleton พร้อมตกแต่งด้วย white fabric roof รวมทั้งเพิ่มจำนวนสินค้าอุปโภคและบริโภคกว่า 25,000 รายการ ทั้งสินค้าประเภทอาหารสด และสินค้าโกเซอรี่ เป็นสินค้าในประเทศและนำเข้าญี่ปุ่นและยุโรปถึง 50% ทำให้พาร์ค ฟู้ด ฮอล์ กลายเป็นกูร์เมต์มาร์เก็ตที่มีสินค้าครบครัน
สำหรับด้านของ ฟู้ดฮอลล์ ที่ประกอบด้วย สินค้าเทคโฮม ฟู้ดคอร์ท ร้านอาหารนั้นถูกตกแต่งเป็น dining paradise จากร้านอร่อยและฟู้ดบูติคส์ต่างๆ อาทิ สินค้าเทคโฮม ประเภทอาหาร ขนม และเบเกอรี่ ชื่อดัง เช่น Le Norte, Iberry, Boat’s Bakery, Bakerzin ฟู้ดคอร์ท เช่น ก๋วยเตี๋ยวเป็ดเก้าชั้น บะหมี่ปูสว่าง ก๋วยเตี๋ยวต้มยำพิษณุโลก ฉลามฮ่องกง พาสต้าช้อป
"การเปิดให้บริการ พาร์ค ฟู้ด ฮอล์ ภายใต้คอนเซ็ปท์ food & art & music appreciation นี้เป้าหมายหลักคือเพื่อตอบรับกลุ่มลูกค้าทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ที่มีทั้งชาวอเมริกัน ยุโรป โดยเฉพาะ ญี่ปุ่นเป็นกลุ่มลูกค้าหลักที่เข้ามาใช้บริการศูนย์อาหารของดิ เอ็มโพเรียม ดีพาร์เมนท์ ทำให้ศูนย์มั่นใจว่าการปรับโฉม Food Category ครั้งนี้จะเป็นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ตรงใจที่สุด สำหรับการปรับพื้นที่พาร์ค ฟู้ด ฮอล์ครั้งนี้บริษัทใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท อีกทั้งในอนาคตจะมีการจัดกิจกรรมภายในฮอล์ โดยในปีนี้บริษัทคาดว่าจะมียอดขายจาก Food Category 1,200 ล้านบาทมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15% " ลักขณากล่าว
อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สยาม เซ็นเตอร์ ก็เปิดตัว "เอฟ (F) " ศูนย์อาหารแนวใหม่สไตล์แฟชั่น ฟูด ภายใต้คอนเซ็ปท์ "Food For Fun" บนเนื้อที่กว่า 2,000 ตรม. บริเวณชั้น 4 โดยใช้งบประมาณในการตกแต่งกว่า 40 ล้านบาท เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าประจำของสยาม เซ็นเตอร์ ซึ่งศูนย์อาหารดังกล่าวนอกจากจะเป็นการรวมร้านอาหารชื่อดัง ยังเน้นเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ เพื่อสร้างบรรยากาศและสีสันให้แตกต่างจากศูนย์การค้าอื่นๆ นอกจากนี้สยาม เซ็นเตอร์ยังมุ่งหวังที่จะให้ศูนย์อาหารเอฟ เป็นลานจัดกิจกรรมและอีเว้นท์ในอนาคตอีกด้วย
กรณีการเปิด"ฟู้ดลอฟท์" สาขาชิดลมของกลุ่มเซ็นทรัล เมื่อสองปีที่ผ่านมา เป็นการฉีกรูปแบบการให้บริการที่ต่างจากศูนย์อาหารตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป โดยชูคอนเซ็ปต์เป็นศูนย์อาหารนานาชาติเอาใจคนรุ่นใหม่บนพื้นที่ 1,600 ตารางเมตร ว่ากันว่ามีลูกค้าเข้าไปใช้บริการประมาณกว่า 2,000 คนต่อวัน ทั้งนี้สัดส่วนลูกค้าประมาณ 65% เป็นคนไทยและอีก 35% เป็นชาวต่างชาติ
จากความสำเร็จดังกล่าวทำให้กลุ่มเซ็นทรัลขยายเพิ่มอีก1 สาขาที่ลาดพร้าวชั้นใต้ดิน ภายใต้ชื่อ "ฟู้ดเซลล่าร์" ให้บริการร้านอาหาร 6 ชาติ ประกอบด้วยอิตาเลียน จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น ไทยและเอเชี่ยนซึ่งใช้งบลงทุนประมาณกว่า 12 ล้านบาท
ความพยายามของกลุ่มเซ็นทรัลไม่หยุดเพียงแค่นั้นยังได้เนรมิตศูนย์อาหารขึ้นอีกที่เซ็นทรัลภูเก็ต ซึ่งใช้งบลงทุนรวมประมาณ 1,700 ล้านบาท บนเนื้อที่ประมาณ 4,000 ตารางเมตร จำหน่ายอาหารนานาชาติ อาทิ อาหารไทย จีน ญี่ปุ่น อินโด-มาเลเชีย อินโดไชน่า และอินโดนีเซีย พร้อมการให้บริการแบบฟูล เซอร์วิส
เซ็นทรัลเองต้องการให้ศูนย์อาหารดังกล่าวเป็น "new trandy resturant" ตอบสนองกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั้งชาวไทยและต่างชาติที่มีสไตล์การดำเนินชีวิตแบบไม่หลุดเทรนด์ โดยมีนั่งให้เลือกทั้งในและนอกสถานที่
ขณะเดียวกันห้างสรรพสินค้าโรบินสันก็เป็นอีกห้างสรรพสินค้าหนึ่งที่หันมาปรับและจัดการกับศูนย์อาหารแบบเก่าๆให้ทันสมัยขึ้นบริเวณชั้น 4 โรบินสัน สีลม พื้นที่ 1,500 ตารางเมตร สร้างความแตกต่างด้วยเก้าอี้ 450 ที่นั่งให้เลือกตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้า โดยใช้ชื่อ "ฟู้ด ฟิวชั่น" ซึ่งในศูนย์อาหารดังกล่าวมีร้านอาหารให้เลือกรับประทานถึง 7 ร้าน เพื่อรองรับความเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์กลุ่มคนทำงานในย่านสีลมที่มีความรีบเร่ง
เช่นเดียวกันกลุ่มเดอะมอลล์ที่เริ่มปรับภาพลักษณ์ "ฟู้ด ซิตี้" ในสาขาบางกะปิ ให้มีภาพลักษณ์ที่ทันสมัย โดยบริหารจัดการพื้นที่ให้สามารถใช้สอยได้ทุกกระเบียดนิ้ว เพื่อลบภาพศูนย์อาหารแบบเดิมๆออกไป
ความสำเร็จครั้งนั้นส่งผลทำให้เดอะมอลล์ยอมทุ่มงบมากถึง 500 ล้านบาท เพื่อปรับฟู้ดซิตี้และโฮมเฟรชมาร์ท ใน 5 สาขา อาทิ สาขาบางกะปิ สาขาบางแค สาขางามวงศ์วาน สาขาท่าพระ และดิเอ็มโพเรียม ให้เป็น "เทรนของฟู้ด เซ็นเตอร์" ที่เข้าถึงไลฟ์สไตล์ผู้บริโภครุ่นใหม่ การปรับพื้นที่ฟู้ดซิตี้ครั้งนี้ของเดอะมอลล์คาดว่าจะสามารถผลักดันให้ยอดขายในส่วนนี้เติบโตขึ้นอีก
ล่าสุดว่ากันว่าฟู้ดลอฟท์เตรียมเปิดขยายสาขาสองขึ้นอีกแห่งที่ สยามพารากอน เพื่อช่วงชิงตลาดกลุ่มเป้าหมายแถวหัวถนนสุขุมวิท กระแสของเทรนฟู้ดเซ็นเตอร์ช่วงนี้จึงร้อนแรงเป็นธุรกิจสร้างเม็ดเงินไม่น้อยให้กับกลุ่มห้างสรรพสินค้าและวันนี้สงครามการแข่งขันได้เริ่มขึ้นแล้ว....
|