Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์1 ธันวาคม 2548
อีกแล้วครับทั่น! กรมกร๊วกเทสมบัติชาติ             
 


   
www resources

โฮมเพจ กรมประชาสัมพันธ์

   
search resources

กรมประชาสัมพันธ์
อาร์.เอ็น.ที. เทเลวิชั่น, บมจ.
TV




สมบัติชาติเกือบหมดแล้ว !
NBT อีกหนึ่งอภิโครงการประเคนคลื่นความถี่ให้กลุ่มทุนการเมืองครั้งมโหฬาร
กรมประชาฯ ไม่สนเสียงด่า ยอมแหกกฏ ทั้งที่รู้ว่าผิดเต็มประตู
จับตา”กทช.”ยุครวบอำนาจ แบ่งเค้กกรมประชาฯประเคนเอกชน

เกิดขึ้นอีกแล้วครับท่าน !!!
จะอะไร ถ้าไม่ใช่การประเคยสมบัติชาติให้กลุ่มทุนการเมืองอีก !!!

บางคนอาจว่าไม่ใช่เรื่องแปลก บางคนอาจว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะคนที่ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของกรมประชาสัมพันธ์มาตลอด ก็ล้วนเห็นพ้องต้องกันว่าหน่วยงานนี้ ไม่ว่าจะขยับอะไรก็ล้วนแต่เอื้อนักการเมือง หรือกลุ่มทุนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมาตลอด ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าฉงนสงสัยอันใดนัก เพราะการเป็นองค์กรของรัฐย่อมต้องเอื้อต่อการทำงานของรัฐบาล และคนของรัฐบาลอยู่แล้ว แม้บทบาทและหน้าที่ของกรมประชาสัมพันธ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย คือ สร้างความรู้ ความเข้าใจในกิจกรรมแห่งรัฐ มีหน้าที่สร้างภาพลักษณ์ที่ดี หาใช่มีหน้าที่นำทรัพย์ของชาติไปเอื้อต่อคนของรัฐบาล และเครือญาติของพวกทุนการเมืองแต่อย่างไร

“เป็นที่น่าสังเกตว่าตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศจะเกิดกรณีปัญหาการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มพวกพ้องตลอดเวลา ซึ่งทุกคนต่างรู้ดีว่าหากใครเข้าครอบครองคลื่นความถี่ต่างๆได้ จะมีผลประโยชน์ที่สามารถสร้างความร่ำรวยได้มหาศาล” สัก กอแสงเรือง สมาชิกวุฒิสภา ให้ความเห็น

กระนั้นก็ตาม ในช่วงเวลาที่ผ่านมาไม่นานก็ยังมีความเคลื่อนไหวนำคลื่นความถี่ซึ่งเป็นสมบัติของชาติออกมาประเคนกลุ่มทุนการเมืองเป็นระยะ ที่น่าจับตาเป็นพิเศษก็คือ กรณีกรมประชาสัมพันธ์เปิดช่องใหม่ขึ้นมา 9 ช่อง ภายใต้ชื่อ “NBT” (National Broadcast Television) ออกอากาศในระบบดิจิตอลผ่านช่องสัญญาณของช่อง 11 ที่กรมประชาสัมพันธ์มีอยู่แล้ว โดยให้สัมปทานกับบริษัทอินไซด์ อินโฟร์ ผลิตรายการ 2 ช่อง คือ กีฬา และข่าว, อาร์เอ็นที เทเลวิชั่น ได้ไป 3 ช่อง เพื่อผลิตรายการข่าวและวาไรตี้ ช่องส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และช่องท่องเที่ยว, บริษัทอะลาคาร์ดของอวัสดา ปกมนตรี, บริษัทเน็กซ์สเต็ป ผลิตรายการสารคดี และบริษัทอินไซด์ อินโฟร์ ขณะนี้ได้ทดลองออกอากาศไปแล้วเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนผ่านเครือข่ายเคเบิลทีวีท้องถิ่น

แหล่งข่าวในวงการเคเบิลทีวีตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มที่คว้าสิทธิ์ผลิตรายการป้องให้กับช่องเอ็นบีทีของกรมประชาสัมพันธ์ในช่วงแรกมีประมาณ 5-6 ราย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ประกอบการที่มีสายสัมพันธ์และมีธุรกิจกรรมต่างๆ เช่น เคยผลิตรายการโทรทัศน์ หรือเคยทำสื่อให้กับกรามประชาสัมพันธ์ ตลอดไปจนถึงบริษัทที่เครือข่ายเชื่อมโยงไปยังกลุ่มนักการเมือง

ไม่เพียงแค่เอื้อเท่านั้น บางคนถึงกับบอกว่าโครงการทีวีดิจิตอล หรือเอ็นบีที เป็นโครงการอภิมหาฮั้วที่อัปลักษณ์ที่สุดอีกโครงการหนึ่ง !
ทั้งนี้ หากพิจารณาลงไปในจะพบว่าบริษัทอินไซด์ อินโฟร์ ได้ให้บริษัท ทราฟฟิก คอร์นเนอร์ โฮลดิ้งส์ ที่เป็นคู่ค้าซึ่งกันและกันไปติดต่อขอลิขสิทธิ์รายการฟุตบอลที่ไม่ใช่พรีเมียร์ลีก เช่น ดิวิชั่นของอังกฤษ กัลโชซีรีส์ ของอิตาลี ไปออกอากาศที่ช่องฟุตบอล

หากไปมองโครงสร้างผู้ถือหุ้น หรือผู้บริหารในบางบริษัทจะพบว่ามีความสัมพันธ์กับกลุ่มทุนการเมือง และวงศ์วานว่านเครือของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ดังเช่น บริษัททราฟฟิกคอร์นเนอร์ ที่เป็นคู่ค้ากับอินไซด์ อินโฟร์นั้น มีข่าวเยาวเรศ ชินวัตร น้องสาวนายกทักษิณเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ก่อนเทขายออกไปก่อนหน้านี้ โดยข้อมูลภาพรวมผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 8 เมษายน 2548 พบว่า ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ยังถือหุ้นอยู่ 20,000,000 หุ้น คิดเป็น 7.91% ของทุนจดทะเบียน และเชื่อว่าจนถึงเวลานี้หุ้นทั้งหมดของตระกูลนี้คงถูกเทขายออกมาจนเกลี้ยงแล้ว กระนั้น ก็ยังเหลือหุ้นของ ทวีฉัตร จุฬางกูร และณัฐพล จุฬางกูร ซึ่งเป็นเครือญาติกับ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อยู่ในสัดส่วน 4.75% และ 4.29% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม จะว่าทราฟฟิกฯไม่ส่วนเกี่ยวข้องกับตระกูลชินวัตรเลยก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะทราฟฟิคฯ เพิ่งไปร่วมกับบริษัท บีเอ็นที เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) จัดตั้งบริษัท บีเอ็นที เรดิโอ จำกัด เพื่อทำธุรกิจวิทยุจำนวน 4 คลื่น คือ 90.5 98.0 99.5 และ 107.5 MHz ซึ่งหากสืบสาวบริษัทบีเอ็นที เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ แห่งนี้ จะพบว่ามี พายัพ ชินวัตร น้องชายนายกฯ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 ถึง 81,460,500 หุ้น หรือ 4.38%

ส่วนบริษัทอาร์เอ็นที เทเลวิชั่น ของ รวมพล ทับทิมธงไชย นั้น ที่ผ่านมาเคยมีชื่อของ สมภพ ชินวัตร ซึ่งเป็นลูกของสุรพันธ์ ชินวัตร ญาติของนายกฯ เข้าไปเป็นหุ้นส่วนบริษัท 108 เ900ออดิโอเท็กซ์ ซึ่งเป็นเครือของบริษัทแห่งนี้

หากย้อนประวัติของ รวมพล ซึ่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาร์เอ็นทีนี้ก็ได้ทำเรื่องต่างๆที่ไม่ค่อยถูกต้องตามครรลองไว้มากมาย เช่น การยื่นขออนุญาตพาดสายต่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพียงแห่งเดียว แต่ดันยื่นประกอบการทั่วประเทศ โดยไม่ได้มีการเขียนแบบว่าจะพาดสายอย่างไร รวมถึงสถานีที่ส่งก็ไม่ได้ระบุ มิหนำซ้ำเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือกรมประชาสัมพันธ์ก็รู้เห็นเป็นใจ แถมยังสั่งการไปยังประชาสัมพันธ์แต่ละเขตให้รับเรื่องของบริษัทอาร์เอ็นที

ยังไม่รวมถึงการไปมีปัญหากับสมาคมเคเบิลทีวี ภายหลังจากที่ยูบีซีมอบหมายให้อาร์เอ็นที เป็นผู้ทำตลาดซิลเวอร์แพกเกจ และจำหน่ายช่องรายการที่ผลิตขึ้น เนื่องจากเห็นว่ามีสายสัมพันธ์กับผู้ประกอบการเคเบิลท้องถิ่นค่อนข้างดี แต่เอาเข้าจริงยอดขายซิลเวอร์ แพกเกจของยูบีซีก็ไม่ได้เข้าเป้าตามที่ต้องการ แถมอาร์เอ็นทีกลับทำตัวแข่งกับเจ้าของพื้นที่เดิม แทนที่จะเป็นเพียงผู้จัดหารายการให้เคเบิลท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว จนเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการหลายรายยกเลิกรายการที่ทำไว้กับอาร์เอ็นที

แน่นอนว่ากรมประชาสัมพันธ์ย่อมล่วงรู้ถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างอาร์เอ็นทีกับบรรดาผู้ประกอบการเคเบิลทีวี จึงหาทางออกไว้เรียบร้อยแล้ว เมื่อทางกรมประชาได้เรียกกรรมการบริหารสมาคมเคเบิลแห่งประเทศไทยเข้าไปหารือในการให้เคเบิลท้องถิ่นทุกรายที่ได้รับอนุญาตจากกรมประชาสัมพันธ์นำรายการเอ็นบีทีทั้ง 9 ช่องบรรจุลงในผังทุกราย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ทั้งๆที่การผลิตและการออกอากาศมีต้นทุนค่าใช้จ่าย เพราะเอกชนจะต้องเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด ทั้งการผลิตรายการ ซื้อลิขสิทธิ์รายการ รวมถึงต้องจ่ายค่าเช่าสัญญาณดาวเทียม

“ในช่วงนี้ใบอนุญาตเคเบิลของผู้ประกอบการทั้งในส่วนที่ได้ใบอนุญาต และใบอนุญาตแบบโครงข่ายหมดอายุ ซึ่งสัญญาจะทำกันปีต่อปี แต่ทางกรมยังไม่ต่อสัญญาให้ใหม่ อ้างว่าทำไม่ทัน โดยในช่วงหนึ่งเดือนที่ยังไม่ต่อสัญญานี้ให้ออกอากาศฟรีโดยไม่คิดค่าธรรมเนียม แถมยังใจดีอนุญาตให้ออกอากาศได้ถึง 80 ช่องด้วย เราก็ไม่แน่ใจว่ากรมประชาสัมพันธ์คิดอะไรอยู่ หรือจะเอาเงื่อนไขเก็บค่าลิขสิทธิ์รายการช่องเอ็นบีทีมาเป็นเงื่อนไขในการต่อสัญญาใบอนุญาต”

กรมประชาฯยอมทำผิด กลุ่มทุน+กลุ่มชินรับเละ

ทั้งๆที่กรมประชาสัมพันธ์ก็รู้อยู่เต็มหัวอกว่าการแตกคลื่นใหม่ 9 ช่องออกอากาศผ่านเคเบิลท้องถิ่นในเครือข่ายถือเป็นการกระทำที่ไม่ควร เพราะจริงแล้วต้องรอให้กสช.เป็นผู้ดำเนินการ และเมื่อองค์กรกสช. เกิดขึ้น เมื่อนั้นสัญญาเช่าคลื่นความถี่ที่ทำกันก็ต้องเปลี่ยนคู่สัญญาจากภาครัฐมาเป็นกสช. แต่ไฉนยังดื้อทำ แถมผิดตั้งหลายต่อหลายตลบ

สิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันคือ ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมเป็นแค่ตัวเชื่อมสัญญาณ ซึ่ง แหล่งข่าวระดับสูงในกรมประชาสัมพันธ์ บอกว่า การใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมของกรมประชาสัมพันธ์เพื่อบรอดแคสสัญญาณโทรทัศน์ไม่ผิด เพราะตามพรบ.วิทยุโทรทัศน์สามารถใช้ได้ทั้งอัพลิงก์ และดาวน์ลิงก์ แต่ความเป็นจริงคือ ปัจจุบันมีการอัพลิงก์สัญญาณขึ้นไป แต่เวลาดาวน์ลิงก์สัญญาณลงมา ถ้าส่งตรงมายังบ้านที่มีจานรับสัญญาณเลย ตรงนี้ไม่ถือว่าผิดกติกาแต่อย่างใด

“แต่เอาเข้าจริงมันไม่ใช่อย่างนั้น ผมถามจริงๆว่าบ้านที่มีเงินซื้อจานรับสัญญาณมีจำนวนเท่าไร มีเพียงนิดเดียว อย่าลืมว่าวันนี้ราคาค่าจานยังสูงอยู่ ทางออกของเขาก็คือการผ่านผู้ประกอบการเคเบิลทีวี ซึ่งปกติพวกนี้จะมีจานรับดาวเทียมเพื่อดูดสัญญาณจากดาวเทียมช่องต่างๆอยู่แล้ว จากนั้นพวกนี้จึงค่อยนำสัญญาณมาแพร่กระจายผ่านเครือข่ายเคเบิลทีวีเพื่อเข้าบ้านผู้รับชมอีกทีหนึ่ง นี่มันผิดตรงนี้”

อย่างไรก็ตาม เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิกวุฒิสภา กลับมีความคิดเห็นในกรณีนี้ที่แปลกแยกออกไปว่า การส่งสัญญาณขึ้นไปก็ผิด เพราะไม่มีใบอนุญาต ตามมาตรา 80 บอกว่าไม่ให้ออกใบอนุญาตใหม่ การทำเช่นนี้ผมถือว่าเป็นการออกใบอนุญาตใหม่จะไปอ้างว่าเป็นใบอนุญาตเดิมแล้วไปแตกใบอนุญาตออกได้เป็นหลายสิบใบนั้น อย่างนี้ถือว่าน่าเกลียด และทำไม่ได้

“ตัวเองไม่มีใบอนุญาตยิงของตัวเองก็ยังพอว่า นี่ไปให้คนอื่นมาใช้ชื่อแล้วบอกว่าไม่มีใบอนุญาตด้วย”

สมาชิกวุฒิสภา เจ้าของผลงาน “รู้ทันทักษิณ” หนังสือวิชาการแต่มียอดขายกว่าแสนเล่ม กล่าวอีกว่า ตนคิดว่ากรมประชาสัมพันธ์ทำเรื่องที่ไม่น่าจะทำได้ตามกฎหมาย แต่ใช้วิธีหลบเลี่ยง และใช้วิธีการตีความแบบศรีธนญชัย คืออาศัยคลื่นสัญญาณซียู แบนด์ กับเค แบนด์ ที่ปกติดาวเทียมจะต้องมีสัญญาณรับส่งจากพื้นโลกขึ้นไปยังดาวเทียมอยู่แล้ว ก็ไปเอาคลื่นที่ชินแซทเข้าได้รับการจัดสรรคลื่นไว้ไปใช้งาน ไม่ได้แตกคลื่นอะไรเลย เพราะถ้าแตกคลื่นต้องใช้วีเอชเอฟของช่อง 11 และการแตกคลื่นก็ต้องเป็นระบบดิจิตอลที่คนเขารับไม่ได้ เพราะทุกวันนี้คลื่นมันยังเป็นอะนาล็อก มันเป็นเรื่องของการโกหกทั้งสิ้น

“ผมว่ามันเป็นวิธีคิดที่แปลกที่สุด ผมว่ามันเป็นกระบวนการเลี่ยงกฎหมายที่ชัดเจนที่สุด ถ้าคนที่รู้เรื่องคลื่นนิดเดียวก็จะรู้ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของการไม่ตรงไปตรงมา”

ถามว่าทำไมกรมประชาสัมพันธ์ต้องยอมเปลืองเนื้อเปลืองตัวเช่นนี้ คำตอบที่ได้คือ การที่กรมประชาสัมพันธ์เป็นหน่วยงานของรัฐ เป็นข้าราชการ และเป็นกรมที่ค่อนข้างตามใจนักการเมือง จึงจำเป็นต้องทำงานสนองรัฐบาล แม้บางครั้งอาจไม่ค่อยเต็มใจเท่าไร แต่เมื่อผู้มีอำนาจต้องการเช่นนี้ ผู้อยู่ใต้อำนาจอย่างกรมประชาสัมพันธ์จึงยากที่จะปฏิเสธ

หากย้อนมาดูอีกฝั่งหนึ่ง เมื่อกรมประชาสัมพันธ์ยอมทำตามคำบัญชาแล้ว ใครบ้างที่จะได้รับประโยชน์จากงานนี้บ้าง ผู้ที่ได้ประโยชน์จากเอ็นบีทีก็คือ บริษัทผู้ได้รับสัมปทานทั้ง 5 ราย แต่เชื่อว่าคงจะได้มาก-น้อยแตกต่างกันออกไป แต่ถ้าจะมองเฉพาะทราฟฟิก คอร์นเนอร์ เมื่อไม่นานมานี้ สุรพงษ์ เตรียมชาญชัย ประธานกรรมการบริหารบริษัท ได้ออกมากล่าวว่า หลังจากบริษัทร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทอินไซด์อินโฟ จะป้อนคอนเทนต์ด้านการแข่งขันฟุตบอลให้กับบริษัทดังกล่าวไปเผยแพร่ทางช่องเอ็นบีที ซึ่งเป็นช่องรายการของกรมประชาสัมพันธ์ที่จะออกอากาศผ่านเคเบิลทีวีท้องถิ่น บริษัทจะได้รับรายได้จากจำนวนผู้ชมเคเบิลทีวีท้องถิ่นรายหัวจากบริษัทอินไซด์ อินโฟ ที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับกรมประชาสัมพันธ์ โดยประมาณการรายได้ในส่วนนี้ปีละ 120 ล้านบาท

ขณะที่ผู้ผลิตรายการรายอื่นๆคงจะได้รายได้จากการนี้น้อยกว่านี้ เพราะได้ผลิตรายการที่ไม่ได้เป็นที่นิยมมากนัก ต่างจากทราฟฟิกฯ ที่ได้ช่องกีฬา ซึ่งถือเป็นรายการที่ได้รับความนิยมจากผู้ชมค่อนข้างสูง

นอกจากผู้ผลิตรายการจะได้รายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำแล้ว ทางเจ้าของดาวเทียมไทยคม ซึ่งไม่ใช่ใครอื่น คือ บริษัท ชินแซทเทิลไลท์ ของตระกูลชินวัตร จะมีผลกำไรและรายได้เพิ่มขึ้นอย่างเป็นกอบเป็นกำ ซึ่งการใช้ช่องสัญญาณนี้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายราว 30-40 ล้านบาทต่อช่องต่อปี...ไม่น้อยเลยทีเดียว และนี่เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นเท่านั้น เพราะกรมประชาสัมพันธ์ยังมีแผนจะเพิ่มช่องรายการขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม การมอบช่องช่องทีวีให้กับเอกชนครั้งนี้เป็นความอัปลักษณ์ครั้งล่าสุด เพราะหากย้อนอดีตกลับไปจะพบว่ามีความอัปลักษณ์เกิดขึ้นหลายครั้ง อาทิ ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาบริษัท ดรีมมีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือทราฟฟิก คอร์นเนอร์ ได้ขอร่วมผลิตข่าววิทยุกับกรมประชาสัมพันธ์จำนวน 5 คลื่นความถี่ คือ 88, 93.5, 95.5, 97 และ 105 MHz ในช่วงเวลา 10 นาทีของต้นชั่วโมง หลังจากนั้นในวันที่ 1 ธ.ค. 2547 สุรินทร์ แปลงประสพ ผู้อำนวยการสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ ได้เสนอเรื่องไปยังอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เพื่อพิจารณาอนุมัติ ในเรื่องที่เสนอไปนั้นระบุว่า หาก สวท. 5 คลื่นความถี่จะให้เช่าเวลาต่อไป ควรปรับปรุงการนำเสนอข่าวต้นชั่วโมงใหม่ทั้งหมด และใช้หลักการร่วมผลิตรายการ ข้อเสนอของ ดรีมมีเดีย เป็นประโยชน์ต่อราชการมาก สมคสรได้รับการพิจารณาได้โปรดอนุมัติในหลักการ

มิพักต้องสงสัยเลยว่าบริษัทดรีมมีเดีย ซึ่งอยู่ในเครือของทราฟฟิก คอร์เนอร์นั้น มีใครอยู่เบื้องหลัง เพราะในช่วงเวลานั้น ชยาภา วงศ์สวัสดิ์ บุตรสาว เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ยังถือหุ้นอยู่ 8.29% ยังไม่รวมถึงบรรดาญาตินักการเมืองอีก

จับตา”กทช.”ยุครวบอำนาจ แบ่งเค้กกรมประชาฯประเคนเอกชน

นักวิชาการตั้งข้อสังเกตรัฐบาลจงใจถ่วง กสช. ไม่ให้เกิด ยิ่งช้าหน่วยงานสื่อของรัฐยิ่งให้ธุรกรรมเอกชนมากยิ่งขึ้น ยิ่งรวบอำนาจให้ กทช.ยิ่งน่าห่วงหากคณะทำงานไม่โปร่งใสประเทศชาติเสียหาย “สุพงษ์”ข้องใจศาลตัดสินไม่ทันข้ามวันรัฐเตรียมทางออกไว้หมด แฉที่ผ่านมากรมประชาให้เอกสิทธิเอกชนเพียบ

คำพิพากษาศาลปกครองคดี กสช.เมื่อ 23 พฤศจิกายน 2548 กรณีกระบวนการสรรหา กสช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ(กสช.) ทั้ง 14 คนเสมือนไม่เคยได้รับการคัดเลือกและเสนอต่อวุฒิสภา ส่งผลให้ กสช.ที่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาทั้ง 7 คนเมื่อ 28 มกราคม 2548 อยู่ในสภาพที่ไม่แตกต่างกับกรณีของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

สิ่งที่เกิดขึ้นในวันเดียวกันมือกฎหมายของรัฐบาลอย่างวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้เสนอแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการเริ่มต้นกระบวนการสรรหากันใหม่ เพราะจะไม่มีการนำรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็น กสช.ขึ้นทูลเกล้า พร้อมทั้งเสนอแก้บทเฉพาะกาลมาตรา 80 ให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ทำหน้าที่แทน กสช. ไปก่อน

กสช.ยังไม่ตาย

สุพงษ์ ลิ้มธนากุล หนึ่งในผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็น กสช. กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนว่าเราไม่ได้เป็นร่างทรงของใคร ไม่มีใครสั่งเราได้ เร็วเกินไปหรือไม่ที่เพียงแค่ 2 ชั่วโมงหลังคำสั่งศาลปกครอง ก็เตรียมจะแก้มาตรา 80 ทันที

เมื่อต้นปี 2548 หลังจากได้รับการคัดเลือกและผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา เราก็ทำงานทันที การที่จะเรียกเคลื่อนกว่า 5 พันคลื่นมาพิจารณาต้องใช้เวลา ต้องดึงบุคลากรจากภายนอกเข้ามาช่วยงาน สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้การทำงานของ กสช. ต้องสะดุดลง ยิ่งทำให้สื่อของเราไม่พัฒนา เนื่องจากที่ผ่านมาการทำสัญญาระหว่างผู้ผลิตรายการกับเจ้าของสถานีเป็นแบบปีต่อปี ดังนั้นผู้ผลิตรายการจึงไม่กล้าลงทุนทางด้านเนื้อหารายการมากนัก เกรงว่าปีต่อไปจะไม่ได้รับการต่อสัญญา

“ขอยืนยันว่า กสช.ยังไม่ตาย แค่เพลี่ยงพล้ำแต่ยังไม่พ่ายแพ้ เนื่องจากกระบวนการทางกฎหมายยังไม่สิ้นสุด เราขอสัญญาว่าจะทำทุกอย่างเพื่อประชาชน” สุพงษ์กล่าว

กรมประชาฯ อนุมัติเพียบ

นักวิชาการทางด้านสื่อสารมวลชนมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นความจงใจของรัฐบาล ที่พยายามจะยืดเรื่อง กสช.ออกไปให้นานที่สุด ทั้ง ๆ ที่ กสช. ควรเกิดก่อน กทช. ด้วยซ้ำ แต่สุดท้าย กสช.ก็มีปัญหาเริ่มการสรรหาใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 2 ปี

ถามว่าเมื่อ กสช.ยังไม่เกิด ประโยชน์จะเกิดขึ้นกับเจ้าของสื่อเดิม ซึ่งในมาตรา 80 ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขและเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการบริหารคลื่นความถี่ จัดสรรคลื่นความถี่ อนุญาตและกำกับดูแล ควบคุมการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

เห็นได้จากความเคลื่อนไหวของกรมประชาสัมพันธ์ในระยะที่ผ่านมาพบว่า ทางกรมประชาสัมพันธ์ได้มีการแก้ไขเพื่อเพิ่มช่องในเคเบิ้ลทีวีจาก 40 ช่องเป็นเพิ่มได้ไม่จำกัดช่อง รวมถึงการขอให้วิทยุในเครือข่ายของกรมประชาสัมพันธ์กว่า 140 คลื่นมาทำสัญญากันใหม่ ทั้ง ๆ ที่มี กสช.เกิดขึ้นมาแล้ว เราก็ท้วงติงว่าไม่ได้ แถมกรมประชาสัมพันธ์ยังอนุมัติให้เอกชนดำเนินรายการในโทรทัศน์ช่องใหม่ผ่านดาวเทียมไทยคมที่เปิดอีก 9 ช่องในนาม National Broadcasting of Thailand (NBT)

กทช.คุมวิทยุ-TV?

“ข้อเสนอแก้มาตรา 80 เพื่อให้ กทช.ทำหน้าที่แทนกสช.นั้น ดูเหมือนภาครัฐได้เตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ตลอดเวลา ยิ่ง กสช.เกิดช้า หน่วยงานบางหน่วยงานกลับขยายงานของตนเองออกไป ส่วนประโยชน์จะไปตกอยู่กับใครนั้นก็เห็นกันอยู่”

เมื่อพิจารณาให้ละเอียดจะพบว่าหน้าที่ของ กสช.กับ กทช.มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากหน้าที่หลักของ กสช. กำหนดนโยบายและจัดทำแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์และแผนความถี่วิทยุให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กำหนดลักษณะและประเภทของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กำหนดโครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมและอัตราค่าบริการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ รวมทั้งอัตราการเชื่อมต่อโครงข่ายในการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

ขณะที่ กทช. มีหน้าที่ กำหนดนโยบายและจัดทำแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมและแผนความถี่วิทยุให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กำหนดลักษณะและประเภทของกิจการโทรคมนาคม พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาต เงื่อนไข ค่าตอบแทนหรือค่าธรรมเนียมการอนุญาตรวมทั้งการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม กำหนดมาตรฐานและลักษณะพึงประสงค์ทางด้านเทคนิคในกิจการโทรคมนาคม กำหนดมาตรฐานและลักษณะพึงประสงค์ทางด้านเทคนิคในกิจการโทรคมนาคม กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเชื่อมต่อระหว่างโครงข่ายโทรคมนาคม

“จะเห็นได้ว่า กทช.และกสช.มีหน้าที่ที่แตกต่างกัน ดังนั้นคุณสมบัติของบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ต่างกำหนดไว้เพื่อให้เหมาะกับงานที่จะเข้ามาควบคุมดูแล กทช.ดูแลทางคลื่นโทรคมนาคม กสช.ดูแลด้านสื่อด้านเนื้อหาสาระ ดังนั้นการเอากทช.มาทำหน้าที่แทนกสช.นั้นจึงไม่สามารถทดแทนกันได้” นักวิชาการกล่าว

ประชาชนเสียประโยชน์

หากรัฐต้องการให้ กทช. ทำหน้าที่แทน กสช.ไปด้วยนั้น ต้องมองไปถึงเรื่องของการบริหารคลื่นความถี่ด้วยว่าอำนาจของ กทช.ชุดพิเศษนี้จะทำหน้าที่นี้ด้วยหรือไม่ เพราะส่วนงานนี้จะมีอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์และโทรคมนาคม

เมื่อพิจารณาจากคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่ง กทช. ส่วนใหญ่จะผ่านงานอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขมาก่อน ที่เหลือเป็นอาจารย์และนายทหาร ดังนั้นการทำหน้าที่แทนในกสช. ที่ต้องดูแลงานด้านวิทยุและโทรทัศน์นั้นถือเป็นงานคนละประเภท และกรรมการในกทช.บางท่านก็รับตำแหน่งอธิบดีในรัฐบาลชุดนี้มาก่อน

“เราไม่อาจบอกได้ว่าใครจะเป็นคนของใคร แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคนเหล่านี้ต้องทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของใครบางคน ยิ่งถ้า กทช.ไม่โปร่งใสด้วยแล้วประชาชนจะเป็นผู้ที่เสียประโยชน์มากที่สุดและไม่เป็นธรรมกับประเทศไทย”

รัฐ-เอกชนพร้อมทุกสถานการณ์

หลังจากคำพิพากษาของศาลปกครองต่อคณะกรรมการสรรหา กสช.ออกมาแล้ว ด้านกรมประชาสัมพันธ์ภายใต้การดูแลของสุรนันท์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาแถลงความคืบหน้าของการปฏิรูประบบราชการของกรมประชาสัมพันธ์ ที่ปรับงานของโทรทัศน์ช่อง 11 สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและสถาบันพัฒนาการประชาสัมพันธ์เป็นหน่วยงานพิเศษที่เรียกว่า Service Delivery Unit (SDU) โดยมี 2 ทางเลือกให้กับช่อง 11 คือไม่มีโฆษณาและมีโฆษณาได้โดยจะมีการกำหนดสัดส่วนอีกครั้ง

ซึ่งสวนทางกับคำกล่าวของสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย ประธานกรรมการบริหารบริษัท ทราฟฟิกคอร์เนอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน) ที่เคยมีตระกูลวงศ์สวัสดิ์ถือหุ้นใหญ่ ย้ำว่าถ้าช่อง 11 ไม่ให้มีโฆษณาก็จะเลิกทำรายการ ขณะเดียวกันในส่วนก็ได้เผยแผนธุรกิจในสถานีโทรทัศน์เคเบิ้ล(NBT) ที่ได้รับอนุญาตจากกรมประชาสัมพันธ์ถึง 2 ช่องว่า ได้เตรียมเป็นผู้นำด้านสปอร์ต คอนเทนต์ โพรวายเดอร์ ซึ่งบริษัทมีลิขสิทธิ์ด้านกีฬาหลายประเภท โดยตั้งเป้าสร้างรายได้ในปี 2549 ถึง 1,000 ล้านบาท

นี่คือความสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจาก กสช.ทั้ง 7 ท่านต้องเคว้งหลังคำตัดสินของศาลปกครอง ภายใต้การเตรียมความพร้อมของภาครัฐและเอกชนที่ได้รับสัมปทานจากกรมประชาสัมพันธ์

ก่นกรมกร๊วก ฉวยโอกาสซะเอง

ดร.อนุภาพ ถิรลาภ ผู้อำนวยการ สถาบันบริหารการสื่อสารไทย มองว่า กรมประชาสัมพันธ์ทำไม่ถูกที่ตั้งช่องรายการ NBT แม้จะมีเหตุผลในการผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ แต่ปัจจุบันช่องรายการทางเคเบิลทีวีที่ออกอากาศกันอยู่ อาทิ ASTV, Nation TV , T Channel ฯลฯ ล้วนแต่เป็นเขตสีเทา ที่ยังไม่มีใครตัดสินได้ว่าเป็นการให้บริการที่ถูกต้องหรือไม่ น่าจะมีการรอให้กฎหมาย กสช.ออกมาจัดสรรให้ถูกต้อง ไม่ใช่กรมประชาสัมพันธ์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจะกระโดดเข้าไปร่วมวงเสียเอง

ในขณะนี้มีความพยายามของผู้ประกอบการในการเสาะหาช่องทางใหม่ ๆ ฟรีทีวี 3, 5, 7, 9, ITV รวมถึงผู้ผลิตรายการ ต่างก็มีความคิดนี้ เทคโนโลยี และศักยภาพในการเปิดสถานีเพิ่ม ทุกคนก็มีไม่ต่างกัน แต่ไม่มีใครกล้า เพราะไม่แน่ใจว่าจะผิดกฎหมายหรือเปล่า บทบาทของกรมประชาสัมพันธ์ที่น่าจะเป็นแกนนำที่จะให้ผู้ประกอบการทุกฝ่ายรอความชัดเจนจากกฎ ระเบียบ ของ กสช. กลับลงมือตั้งช่อง NBT แล้วเรียกเอกชนมาผลิตรายการป้อนถึง 9 ช่อง กรมประชาสัมพันธ์ทำเช่นนี้ได้ คนอื่นๆ ก็ทำได้เช่นกัน และอีกไม่นานช่องอื่น ๆ ก็จะทำตามมาแน่นอน

“ถ้ากรมประชาสัมพันธ์ อ้างว่าต้องการสร้างความหลากหลาย หารายการที่เป็นประโยชน์ สร้างความรู้ ต่อไปถ้าช่องอื่นก็คงอ้างเหตุผลนี้ เปิดช่องใหม่ ๆ กัน เชื่อว่าในปีหน้าคงมีการเปิดช่องใหม่กันจนมั่ว”

ดร.อนุภาพ กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากสุญญากาศของการที่ไม่มีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ กสช. ทำให้มีการหาโอกาสในช่วงที่ไม่มีการแต่งตั้งใครเข้ามาดูแล ขยับขยายจับจองสื่อใหม่ ๆ ที่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมชัดเจน และยิ่งไม่ถูกต้องที่คนต้นคิดกลับเป็นหน่วยงานของรัฐ

ทางออกคือการเร่งออกกฎหมาย กสช. ให้มากำกับดูแล จัดระเบียบสื่อใหม่ ๆ แต่ตอนนี้ทุกฝ่ายกลับไปให้ความสนใจกับการแต่งตั้ง กสช.

“เราวุ่นวายอยู่กับการสรรหา กสช. ไปสนใจที่ตัวคนจนหลงทางไปหมด ไม่เคยพูดถึงกฎหมาย กติกา ขอบเขต ที่จะใช้ควบคุมกิจการ ซึ่งถ้ากฎหมาย กสช.เสร็จ นายกรัฐมนตรีก็สามารถส่งให้ใคร หรือหน่วยงานไหนไปกำกับดูแลก่อนที่จะตั้งคณะกรรมการ กสช. ก็ได้ เพราะจะมีมาตรฐานเดียวกัน” ดร.อนุภาพกล่าว   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us