"บาฟส์" คาดปริมาณใช้น้ำมันปีนี้ปีหน้าโตประมาณ 3% หลังสนามบินสุวรรณภูมิเลื่อนเปิด ใช้ ชี้ต้องรับภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลงทุน เจรจาแบงก์กรุงเทพยืดเวลาใช้เงินต้น 1 ปีแต่ต้องจ่ายดอกเบี้ย 12 ล้านบาทต่อ ไตรมาส ขณะที่บริษัทย่อยของวงเงินกู้ เพิ่ม 420 ล้านหลังบางโครงมีส่วนขยาย
ดร.ภักดี มะนะเวศ รองกรรมการผู้จัดการด้านบริหารบริการเชื้อเพลิง บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS กล่าวว่า บริษัทคาดการณ์ปริมาณการใช้น้ำมันในปีนี้จะเติบโตในระดับ 3% โดยในช่วงไตรมาส 4/48 รายได้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากจำนวนเที่ยวปีของสายการบินต่างๆ มีจำนวนเพิ่มขึ้นตาม ฤดูกาล หลังจาก บมจ.การบินไทยมีแผนที่จะซื้อเครื่องบินเพิ่มเติมรองรับสนามบินสุวรรณภูมิ โดยในปี 2548 ซื้อเครื่องบินเพิ่ม 4 ลำ ขณะที่ในปีหน้าเตรียมซื้อเครื่องบินเพิ่มอีก 7 ลำ
ปัจจุบันจำนวนเที่ยวบินต่อวันอยู่ที่ประมาณ 380 เที่ยวต่อวัน ซึ่งในช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ BAFS มีปริมาณ เติมน้ำมันรวม 3,349.26 ล้านลิตร เพิ่ม ขึ้น 2.29% จาก 3,274.25 ล้านลิตรจากงวดเดียวกันในปีที่ผ่านมา
โดยในปีหน้าบริษัทคาดปริมาณ การใช้น้ำมันของสายการบินจะเพิ่มขึ้น ประมาณ 3% โดยเป็นการคาดการณ์บนพื้นฐานที่ยังต้องดำเนินธุรกิจในสนามบินดอนเมือง เนื่องจากจะสามารถ ให้บริการในสนามบินสุวรรณภูมิได้เพียงประมาณ 6 เดือน หลังจากที่มีการ เปิดการใช้สนามบินสุวรรณภูมิจากประมาณเดือน ก.ย. 48 เป็นกลางปี 49
นายฉัตรธัย พันธัย ผู้จัดการฝ่ายการเงินและบัญชี บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS กล่าวว่า ผลกระทบต่อบริษัท หลังจากที่ไม่สามารถ ให้บริการในสนามบินสุวรรณภูมิตามกำหนดการเดิม คือภาระเรื่องการจ่าย ดอกเบี้ยเงินกู้ ผลกำไรของบริษัท และยังรวมไปถึงผลกระทบจากการคาดการณ์รายได้ในอนาคต โดยในส่วนของภาระดอกเบี้ยเงินกู้บริษัทได้ยื่นเรื่องต่อเจ้าหนี้ธนาคารกรุงเทพเพื่อ ยืดชำระหนี้เงินกู้ที่นำมาลงทุนในโครง การสุวรรณภูมิประมาณ 2,000 ล้านบาทเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งได้รับอนุมัติแล้ว โดยจะต้องรับภาระในการจ่ายดอกเบี้ย ประมาณ 12 ล้านบาทต่อไตรมาส
ในส่วนของมูลค่าการลงทุนในโครงการที่สนามบินสุวรรณภูมิรวมประมาณ 4,500 ล้านบาท จากการลงทุน 4 โครงการ ได้แก่ โครงการระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานผ่านท่อแบบ Hydrant, โครงการคลังน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน, โครงการบริการเติมน้ำมันอากาศยาน, โครงการท่อขนส่งนำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน เส้นทางมักกะสัน-สุวรรณภูมิ ซึ่งในบางโครงการมีการขยายของเขตการลงทุนเพิ่มเติม ทำให้ TRACO จะต้องขยายวงเงินในการกู้เพิ่มเติมอีก 300 ล้านบาท และ JP-One จะต้องขยายวงเงินในการกู้เพิ่มเติมอีก 120 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมที่จะเซ็นสัญญากับธนาคารกรุงเทพ คาดว่าจะสามารถ เซ็นสัญญาได้ในเดือนธ.ค.นี้
"เรายังไม่สามารถประเมินการเติบโตของบริษัทในปี 2550 ได้ เพราะยังต้องรอแผนในการเปิดใช้การ กำหนดในเรื่องต่างๆของทางการว่าจะออกมาในลักษณะใด ซึ่งหากตัวเลข ต่างๆออกมาชัดเจนก็จะสามารถประเมินรายได้และแนวโน้มในอนาคตได้" นายฉัตรธัยกล่าว
นายฉัตรธัย กล่าวอีกว่า บริษัทมีแผนที่จะทดสอบระบบในโครงการต่างๆในช่วงประมาณต้นปี 49 โดยจะใช้เวลาทดสอบประมาณ 5 เดือนและคาดว่าจะพร้อมใช้ให้บริการภายในกลางปี 49 ทันการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิอย่างแน่นอน
สำหรับการเตรียมตัวการย้าย การให้บริการไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ คงต้องรอให้มีการกำหนดที่ชัดเจนก่อนว่าสนามบินดอนเมืองจะใช้เพื่ออะไรบ้าง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเรื่องเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีในส่วนเรื่องการสัมปทานในการดำเนิน ธุรกิจ ได้มีการกำหนดค่าธรรมเนียมในการเติมน้ำมันเครื่องบินที่ระดับ 0.07 บาทต่อลิตรในสนามบินดอนเมือง ขณะที่สัมปทานในสนามบินสุวรรณภูมิอยู๋ในระดับ 0.06 บาทต่อลิตร ซึ่งมีระยะเวลา 20 ปีโดยในช่วงเวลาดังกล่าวอาจจะมีการเจรจาเพื่อปรับขึ้น-ลงของค่าธรรมเนียมดังกล่าวได้
นายฉัตรธัย กล่าวอีกว่า สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงไตรมาส 3/48 บริษัทมีกำไรสุทธิ 138.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.52% จากงวดเดียวกันในปีที่ผ่านมาที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 105.47 ล้านบาท
ทั้งนี้ เป็นเพราะอัตราการเติบโต ของปริมาณน้ำมันที่ให้บริการเพิ่มขึ้น 3.42% รวมทั้งบริษัทได้ผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นจากไตรมาส 2/48 ที่ผ่านมา ประกอบกับบริษัทสามารถควบคุมต้นทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้
|