|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
"ประชัย" เจอทางตัน หลังศาลฎีกามีคำสั่งไม่ให้สิทธิผู้บริหารลูกหนี้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนทีพีไอก่อนรายอื่น "ประชัย" ดิ้นหาทางออก โดยชูคำร้องขอระงับการขายหุ้นชั่วคราวและราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนทีพีไอที่ 3.30 บาท เป็นธรรมหรือไม่ โดยศาลนัดฟังคำสั่งวันที่ 9 ธ.ค. และ 15 ธ.ค.นี้ คลังตีปีกเดินหน้าจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนทีพีไอให้พันธมิตรและรายย่อยทันที ยันได้รับเงินชำระค่าหุ้น 13 ธ.ค.นี้ และออกจากแผนฟื้นฟูฯ ม.ค. 49 ขณะที่ตลาดหุ้นคึก พลิกสถานการณ์จากลบเป็นบวกทันทีหลังทราบข่าว
วานนี้ (29 พ.ย.) ศาลล้มละลายกลางนัดอ่านคำสั่งศาลฎีกาตามที่นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ผู้บริหาร ลูกหนี้และผู้ค้ำประกันหนี้ได้ยื่นอุทธรณ์ขอซื้อหุ้นเพิ่มทุนบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน)(ทีพีไอ)ก่อนผู้ร่วมทุนรายอื่น โดยศาลฎีกา เห็นว่า ไม่ควรจะนำพ.ร.บ.บริษัท มหาชน เข้ามาบังคับใช้ในประเด็นนี้ โดยสิทธิของผู้ถือหุ้นจะได้รับส่วนแบ่งทรัพย์สินภายหลังจากเจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้แล้ว และตามกฎหมายผู้ค้ำประกันหนี้ก็ไม่ได้ให้สิทธิที่จะซื้อหุ้นเพิ่มทุนก่อน ดังนั้น การจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนตามความเห็นของผู้บริหารแผนฯ จึงชอบด้วยกฎหมาย โดยยืนคำพิพากษาของศาลล้มละลายกลาง
ส่วนการกำหนดคุณสมบัติของผู้ร่วมลงทุนตาม ข้อเสนอขอแก้ไขแผนฯทีพีไอ ที่ระบุให้เป็นนิติบุคคล ไทย กองทุนสัญญาชาติไทย หรือผู้ที่เชี่ยวชาญธุรกิจ ปิโตรเคมีและปิโตรเลียม หรือจอยทเวนเจอร์ โดยมีสมาชิกเป็นนิติบุคคลไทยที่มีคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ทีพีไอสามารถบริหารกิจการต่อไปได้ ซึ่งกระทรวงการคลังได้สรรหาพันธมิตรร่วมทุนดังกล่าวแล้วนั้น ศาลฎีกาได้พิจารณาเห็นว่ามีคุณสมบัติของผู้ร่วมทุนสอดคล้องกับแผนฟื้นฟูฯทีพีไอ
การที่ผู้บริหารลูกหนี้ได้ยื่นอุทธรณ์ข้อเสนอแผนฟื้นฟูฯ ทีพีไอที่กำหนดเงื่อนไขการขายหุ้นบมจ. ทีพีไอโพลีน (TPIPL) ที่กำหนดให้เจ้าหนี้ทางการเงิน มีสิทธิซื้อหุ้นบมจ.ทีพีไอโพลีนก่อนนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฯ เห็นว่า ข้อกำหนดให้เจ้าหนี้มีสิทธิ์ซื้อหุ้นก่อนในกรณีที่ผู้เสนอซื้อหุ้นได้เสนอราคาต่ำกว่า 250 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของเจ้าหนี้ที่จะได้รับชำระหนี้ตามสมควร
ส่วนที่ผู้บริหารลูกหนี้อ้างประเด็นการไกล่เกลี่ย การแลกหุ้นทีพีไอโพลีนกับโรงงานแอลดีพีอีนั้น เห็น ว่าลูกหนี้และเจ้าหนี้ทีพีไอไม่ได้เป็นคู่ความการ ไกล่เกลี่ยดังกล่าว และไม่ได้มีการตกลงยอมความ ซึ่งศาลฯได้ยกเลิกการไกล่เกลี่ยดังกล่าวไปแล้ว และในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อขอแก้ไขแผนฯนั้นเจ้าหนี้ก็ให้ความเห็นชอบการแก้ไขแผนฯ ด้วยคะแนน 99.57% แสดงว่าเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบแนวทางการ จัดการทรัพย์สินดังกล่าว ดังนั้นการอุทธรณ์ของผู้บริหารลูกหนี้ฟังไม่ขึ้น
รวมทั้งการปลดภาระผู้ค้ำประกันของผู้บริหาร ลูกหนี้นั้น ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า การปลดภาระค้ำประกันขึ้นกับการเจรจาระหว่างผู้บริหารลูกหนี้กับเจ้าหนี้เอง ศาลฎีกาจึงไม่รับไว้วินิจฉัย นอกจากนี้ ศาลล้มละลายกลาง ได้นัดฟังคำสั่งตามคำร้องของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ในฐานะผู้บริหารลูกหนี้ที่ได้ยื่นคำร้องต่างๆมาก่อนหน้านี้ รวมถึงคำร้องของผู้บริหารแผนฯทีพีไอด้วย ดังนี้ คือ
1. คำร้องของผู้บริหารลูกหนี้ที่ขอให้ศาลฯคุ้มครองชั่วคราว (ระงับการขายหุ้นเพิ่มทุนทีพีไอ) โดยศาลได้นัดฟังคำสั่งในวันที่ 9 ธ.ค.เวลา 09.30 น.
2.คำร้องของผู้บริหารลูกหนี้ที่ขอให้ผู้บริหารแผนฯกำหนดราคาหุ้นเพิ่มทุนทีพีไอให้ได้ราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย จากเดิมที่กำหนดเสนอขายหุ้นละ 3.30 บาท โดยศาลฯนัดฟังคำสั่ง ในวันที่ 15 ธ.ค. นี้
3. ศาลฯได้นัดฟังคำสั่งกรณีที่ผู้บริหารแผนยื่นคำร้องให้บริษัทลูกของทีพีไอ 2 แห่ง คือ บริษัท ทีพีไอออยล์ และ บริษัท ไทยเอบีเอส ซื้อหุ้นเพิ่มทุนทีพีไอในวันที่ 30 พ.ย.นี้
และ 4. คำร้องของนายประชัยที่ยื่นขอให้ผู้บริหารแผนฯจดทะเบียนตั้งกรรมการบริษัทให้ครบ 20 คนจากปัจจุบันที่มีอยู่ 12 คน โดยศาลนัดฟังคำสั่งในวันที่ 27 ธ.ค.นี้
ด้านทนายฝ่ายของนายประชัย กล่าวว่า แม้ว่าศาลฎีกาจะไม่เห็นชอบให้ฝ่ายผู้บริหารลูกหนี้มีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนทีพีไอก่อนผู้ลงทุนรายอื่น แต่ศาลฎีกาไม่ได้ให้ความเห็นถึงเรื่องราคาซื้อหุ้นเพิ่มทุน ว่าเป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งจะเป็นทางออกของนายประชัย ผู้บริหารลูกหนี้ คงต้องรอฟังคำสั่งศาลต่อไป คลังเดินหน้าขายหุ้น TPI
นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังศาลมีคำสั่งยกคำร้องของนายประชัย ว่า ถือเป็นข่าวดี หากศาลมีคำตัดสินตรงกันข้ามจะทำให้เรื่องทุกอย่างต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด และไม่รู้จะจบลงเมื่อใด โดยขั้นต่อไปจะต้องดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ ซึ่งพันธมิตรได้ทำหนังสือยืนยันการใส่เงินเข้าร่วมทุนตามสัดส่วนอย่างเป็นทางการแล้ว
"ต่อไปผู้บริหารแผนจะเดินหน้านำพันธมิตรใส่เงินเพิ่มทุนตามสัดส่วน เพื่อให้กระบวนการฟื้นฟูเป็นไปตามแผน ซึ่งหลังจากทีพีไอออกจากแผนฟื้นฟูแล้ว จะมีการจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อคัดเลือกกรรมการ เมื่อคัดเลือกได้แล้ว ทางคณะผู้บริหารแผนก็ถือว่าสิ้นสุดการทำงานตามแผน"
นายทนง กล่าวเพิ่มเติมว่า ทีพีไอเป็นบริษัทใหญ่ที่ดำเนินการผลิตสินค้าครบวงจรและมีศักยภาพ แต่จะต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพของบริษัทให้มากขึ้น โดยเมื่อบริษัท ปตท.กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่แล้วเห็นว่าไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องนำมาควบรวมกิจการกัน แม้ว่าจะมีการผลิตบางอุตสาหกรรมที่เหมือนกัน เพราะทีพีไอเป็นบริษัทขนาดใหญ่มากและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่แล้ว ดังนั้น จึงให้ต่างคนต่างบริการกิจการของตัวเองให้ดีที่สุด
ด้านนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ คณะทำงานผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯทีพีไอ กล่าวว่า หลังจากนี้การขาย หุ้นเพิ่มทุนจะดำเนินการต่อไปตามที่กำหนดไว้ในแผน ฟื้นฟูฯ โดยจะให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยสามารถจองหุ้นได้ ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.-7 ธ.ค.นี้ โดยผู้ถือหุ้นรายย่อย และกลุ่มผู้ร่วมทุนใหม่ ที่มี ปตท.เป็นแกนนำจะชำระ ค่าหุ้นเพิ่มทุนพร้อมกันในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ และคาดว่า ทีพีไอจะออกจากแผนฟื้นฟูได้ประมาณปลายเดือนมกราคม - ต้นกุมภาพันธ์ ซึ่งเร็วกว่าระยะเวลาที่ทีพีไอ ขอขยายแผนฟื้นฟูจนถึง 30 มิถุนายน 2549 ปตท.ยันใส่เงินฮุบทีพีไอ 13 ธ.ค.นี้
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. และพันธมิตรก็จะดำเนินการตามเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ คือ จะจ่ายเงินเพิ่มทุนในวันที่ 13 ธันวาคม โดยในส่วนของ ปตท. จะใส่เงินซื้อหุ้นเพิ่มทุนทีพีไอประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เข้าไปถือหุ้น 31.5% หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องของผู้บริหารแผนฯที่จะมีการเสนอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการแล้วเรียกประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการทีพีไอชุดใหม่ ซึ่ง ปตท. ก็จะส่งผู้แทนเข้าไปร่วมเป็นกรรมการ ในสัดส่วนที่ถือหุ้น
"นับจากนี้ คงจะพิจารณาว่า ธุรกิจของทีพีไอ และ ปตท.จะมีอะไรที่จะทำร่วมกันได้ แต่ที่แน่ชัดจะต้องไปดูแลทีพีไอก่อนคือ การปรับโครงสร้างหนี้ การปรับปรุงการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ที่จะต้องมีการร่วมกับ ปตท. เช่น การขนส่งน้ำมันดิบ การแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ การขายสินค้าร่วมกัน รวมไปถึงการซ่อมแซมบำรุงรักษา เพราะที่ผ่านมาทีพีไอมีความไม่แน่นอนในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ แต่เมื่อทุกอย่างมีความชัดเจนแล้วแผนการซ่อมบำรุงรักษา หรือปฏิบัติการต่างๆ ก็คงจะทำได้ดีขึ้น"
ทั้งนี้ ตามแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ กำหนดจะขายหุ้นเพิ่มทุน 1.2 หมื่นล้านหุ้น โดยจัดสรรให้กลุ่มผู้ร่วมทุนใหม่ ซึ่งประกอบด้วย บมจ.ปตท. ในสัดส่วน 31.5% กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) กองทุนวายุภักษ์ ธนาคารออมสิน ในสัดส่วนฝ่ายละ 10% ในราคา 3.30 บาท/หุ้น พร้อมทั้งจัดสรรหุ้นส่วนหนึ่งให้ผู้ถือหุ้นเดิมและเจ้าหนี้ด้วย
ตลาดหุ้นคึกรับข่าวศาลยกคำร้อง
ด้านภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวานนี้ (29 พ.ย.) ดัชนีซึมในช่วงเช้าก่อนจะปิดที่ 669.90 จุด เพิ่มขึ้น 3.21 จุด หรือ 0.48% โดยจุดสูงสุดอยู่ที่ 670.87 จุด และจุดต่ำสุดอยู่ที่ 664.44 จุด มูลค่าการซื้อขาย 12,506.82 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 70.66 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 172.18 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 242.84 ล้านบาท
ทั้งนี้ หุ้น TPI แกว่งตัวผันผวนเพื่อรอผลการตัดสินจากศาลฎีกา ก่อนจะฟื้นตัวในช่วงบ่ายหลังทราบผลยกคำร้องไม่ให้ลูกหนี้ใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน TPI ก่อนพันธมิตร โดยราคาปิดที่ 6.70 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท มูลค่าการซื้อขาย 3,627.15 ล้านบาท
นายอภิสิทธิ์ ลิมธำรงกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคิน จำกัด กล่าวว่า หลังจากหลังศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้องที่นายประชัย ขอใช้สิทธิการซื้อหุ้นเพิ่มทุนทีพีไอก่อนพันธมิตร ส่งผลให้ตลาดโดยรวมปรับตัวขึ้น ทำให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรหลังจากศาลชี้ขาดนายประชัยดังกล่าว ขณะที่แนวโน้มวันนี้ (30 พ.ย.) คาดว่าดัชนีฯ จะปรับตัวขึ้นมาได้แต่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในระยะสั้นๆเท่านั้น ประเมินแนวรับที่ 668 จุด ส่วนแนวต้าน 675 จุด
|
|
 |
|
|