|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"เนสท์เล่" กร้าว ขึ้นเบียด คู่แข่ง "วอลล์" ในตลาดไอศกรีม คว้าส่วนแบ่ง 42% เท่ากันเป็นผู้นำคู่ พร้อมเติบโตเฉลี่ย 30% ทุกปี ผลพวงจากกลยุทธ์ "ปฏิบัติการสีฟ้า" ลั่นปีหน้าตั้งเป้าขึ้นเป็นผู้นำเบ็ดเสร็จด้วยแชร์ 44% ทุ่มงบลุย 650 ล้านบาท หลังจาก 3 ปีที่ผ่านมานี้ เข้ายึดครองในแต่ละช่องทางไว้เบ็ดเสร็จแล้วชี้เมืองไทยยังมีโอกาสโตได้อีกมาก
นายฟิลลิป เอเบอเล่ ผู้อำนวยการบริหารธุรกิจไอศกรีมและผลิตภัณฑ์แช่เย็น บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากแผนกลยุทธ์ "ปฏิบัติการสีฟ้า" หรือ Blue Mission ที่เนสท์เล่ ประเทศไทยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2546 ส่งผลให้ไอศกรีมเนสท์เล่มีอัตราการเติบโตขึ้นเฉลี่ย 30% ทุกปี และนับเป็นบริษัทไอศกรีมที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในไทย หลังจากที่ทำตลาดไอศกรีมในไทย มาเป็นเวลาประมาณ 9 ปี
ขณะเดียวกัน ปีนี้บริษัทฯได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดคู่กับคู่แข่งอย่างวอลล์ด้วยส่วนแบ่งตลาดเท่ากันคือรายละ 42% และตั้งเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำตลาดเพียงรายเดียวในปีหน้าด้วยส่วนแบ่งประมาณ 44% ขณะที่ตลาดรวมปีนี้เติบโตเพียง 7-8% เท่านั้นจากมูลค่าตลาดรวมกว่า 6 พันล้านบาท และคาดว่าตลาดรวมจะเพิ่มเป็น 6.5 พันล้านบาทในปีหน้า
ทั้งนี้ ในปีหน้าจะใช้งบประมาณรวม 650 ล้านบาท ทั้งการลงทุนด้านการผลิตและการตลาด โดยยึด 3 กลยุทธ์หลัก คือ
1. การขยายช่องทางจำหน่ายเพิ่มขึ้น ทั้งในช่องทางที่มีอยู่เดิมเช่น รถสามล้อ โมเดิร์นเทรด กับช่องทางใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมี เช่น ในร้านวิดีโอ และอาจจะเป็นไปได้ที่จะมีร้านไอศกรีมของเนสท์เล่เองด้วย
2. จัดกิจกรรมการตลาดต่อเนื่องด้วยแคมเปญ ตู้แช่ไอศกรีมเนสท์เล่ที่ไม่เคยหลับ ซึ่งในระยะยาวคาดหวังที่จะมีตู้แช่ไอศกรีมเนสท์เล่วางจำหนายทุก 100 เมตร
3. การพัฒนาและนำเสนอ นวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการออกรสชาติใหม่ๆ เฉลี่ยทุก 1 เดือน
โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาบริษัทฯใช้งบตลาดใกล้เคียงกัน กล่าวคือ ปี 2546 แคมเปญ "ทาเมืองไทยให้เป็นสีฟ้า" ด้วยงบประมาณ 800 ล้านบาท, ปี 2547 แคมเปญ ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ด้วยงบประมาณ 800 ล้านบาท และปีนี้ แคมเปญ "ปฏิบัติการกล้าขับเคลื่อนจักรวาลสีฟ้า" ด้วยงบประมาณ 700 ล้านบาท
นายฟิลลิปกล่าวว่า งบประมาณที่ใช้ในปีนี้ แบ่งออกเป็น งบการสร้างแบรนด์และตราสินค้าและการมองเห็น เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถพบเห็นตราสินค้าเนสท์เล่ได้ตลอดทั้งปี 100 ล้านบาท, งบของการขยายช่องทางจำหน่าย 250 ล้านบาท เช่นปีนี้ได้เป็นเอ็กซ์คลูซีฟในร้านแฟมิลี่มาร์ท ที่มีทั่วประเทศกว่า 500 สาขา, งบกิจกรรม ทางการตลาดและการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ 350 ล้านบาท เช่น ไอศกรีมสตาร์วอร์ส ไอศกรีม สไปเดอร์แมน เป็นต้น ซึ่งไอศกรีมนวัตกรรมใหม่ๆ เหล่านี้ยังได้ส่งออกจากโรงงานผลิตในไทยไป ยังต่างประเทศด้วย เช่น ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน มาเลเซีย เป็นต้น
ปัจจุบัน เนสท์เล่ไอศกรีมเป็นผู้นำในช่องทาง การจัดจำหน่ายที่หลากหลาย กล่าวคือ ช่องทางการจำหน่ายประเภทรถสามล้อมีส่วนแบ่งมาก ถึง 40% ช่องทางจำหน่ายประเภทสถานีบริการ น้ำมัน เช่น สตาร์มาร์ท เลมอนกรีน เทสโก้ โลตัสเอ็กซ์เพรส เอฟรี่เดย์ มีส่วนแบ่ง 80% ช่อง ทางการจัดจำหน่ายประเภทสวนสนุก เช่น ดรีมเวิลด์ สวนสามพราน ซาฟารีเวิลด์ พัทยาปาร์ค ล่าสุดคือ สยามโอเชียนเวิลด์และรถไฟฟ้าใต้ดิน มากกว่า 95% ช่องทางการจัดจำหน่ายประเภทโรงเรียน 50% ส่วนช่องทางประเภทโมเดิร์นเทรดและไฮเปอร์มาร์เกต ซึ่งคิดเป็น 25% ของส่วนแบ่งช่องทางการจำหน่ายในตลาดรวม เพิ่มขึ้น 9% จากปี 2547 ซึ่งยังแพ้วอลล์ที่มีประมาณ 30%
อย่างไรก็ตาม ช่องทางประเภทเทรดิชันนัลเทรดนั้น ในแง่ของตู้แช่ไอศกรีมเนสท์เล่มีส่วนแบ่งเท่ากับค่ายวอลล์คือ รายละประมาณ 30% ขณะที่แบรนด์ครีโมกับยูไนเต็ดมีรายละประมาณ 15%
"ผมมองว่าตลาดไอศกรีมในไทยยังมีโอกาส อีกมากในอนาคต เพราะเวลานี้คนไทยยังบริโภคไอศกรีมน้อยมากเฉลี่ย 1.5 ลิตรต่อคนต่อปีเมื่อ 3 ปีที่แล้ว และปีนี้เพิ่มเป็น 2 ลิตรต่อคนต่อปีจึงยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก และเมืองไทยเป็นเมืองร้อนด้วยสามารถขายได้ทั้งปี ไม่เหมือนในยุโรปที่มีฤดูขายเพียง 4 เดือนกว่าเท่านั้น อีกทั้งการรุกตลาดอย่างหนักหน่วงของเนสท์เล่ทำให้ตลาดโตด้วย มั่นใจว่าปีหน้าเนสท์เล่จะเป็นผู้นำตลาดด้วยการครองแชร์ 44% ได้แน่นอน" นายฟิลลิปกล่าว
|
|
|
|
|