Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2540
เอกธนกิจกับข่าวลือทั้งขาขึ้นขาลง             
 


   
search resources

เอกธนกิจ
ปิ่น จักกะพาก
Stock Exchange




ตลาดหลักทรัพย์ของไทย หากปราศจากซึ่งข่าวลือแล้วนักลงทุนไทย ๆ คงหายกันไปอีกเยอะ ด้วยสาเหตุง่าย ๆ คือ นักเล่นหุ้นบ้านเรานิยมเล่นกับราคาหุ้นในแต่ละวัน โดยซื้อหุ้นไปตามข่าวลือ มุ่งหวังจะทำกำไรมาก ๆ เพียงชั่วข้ามวัน และลืมประสบการณ์การขาดทุนที่ผ่านมาครั้งแล้วครั้งเล่า

ด้วยเหตุนี้เอง กลุ่มผู้ไม่หวังดีต่อนักลงทุนรายย่อย จึงสร้างกระแสข่าวลือต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย เพื่อฉกฉวยกำไรจากเหยื่อที่พร้อมลงทุนซื้อหุ้นตามข่าวลือ ด้วยเงินที่เก็บหอมรอมริบมาเป็นเวลานาน โดยไม่ยอมศึกษาหาข้อมูลที่แท้จริง เพื่อประกอบการลงทุนในแต่ละครั้ง

"เอกธนกิจ" นับเป็นบริษัทเงินทุนขนาดใหญ่ที่มีข่าวลืออย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะในยามที่ตลาดหุ้นเฟื่องฟูหรือตกต่ำ

ในยามเฟื่องฟู ข่าวกำไรจากพอร์ตลงทุนอย่างมหาศาลทางบัญชี ครั้งแล้วครั้งเล่าถูกปล่อยออมาฉุดราคาหุ้นของเอกธนกิจพุ่งกระฉุดได้ไม่ยากเย็น ประมาณ 2 ปีก่อน หุ้นของเอกธนกิจเคยสูงเกือบ 500 บาทต่อหุ้น เมื่อมีกระแสข่าวการเพิ่มทุนหลุดรอดออกมา

ภายหลังการเพิ่มทุน 1 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ราคาหุ้นละ 15 บาท เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2538 และราคาหุ้นได้ถูกปรับลงมาเหลือประมาณ 150 บาทตามสัดส่วน ข่าวลือต่าง ๆ ก็เงียบหายไปกับสายลม นับจากนั้นทุกอย่างก็เป็นไปตามภาวะของตลาดหลักทรัพย ์และเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลง ราคาหุ้นของเอกธนกิจตกต่ำลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในปี 2539 ราคารูดลงอย่างต่อเนื่อง

และแล้วกระแสข่าวเรื่องความไม่มั่นคงทางการเงินของบริษัทก็เริ่มถูกกระพือขึ้นมา นับแต่เดือนตุลาคม 2539 และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องสลับกับการออกแถลงข่าวของผู้บริหารกลุ่มเอกธนกิจนาม ปิ่น จักกะพาก ซึ่งทุกครั้งจะยืนยันถึงสภาพคล่องของบริษัท ความมั่นคงทางการเงิน คุณภาพสินเชื่อ และอื่น ๆ ซึ่งดูเหมือนจะไร้ผล

29 มกราคม 2540 หุ้นเอกธนกิจถูกเทขาย จากโบรกเกอร์หลายแห่งด้วยเหตุผล คือ การขาดทุนมหาศาลจากอัตราแลกเปลี่ยน พอร์ตลงทุน และบริษัทมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง

ภายในเวลา 1 ปี ราคาหุ้นของเอกธนกิจตกลงกว่า 80% จาก 157 บาทต่อหุ้น เหลือเพียง 30 บาทเศษ ต่ำกว่ามูลค่าหุ้นตามบัญชีเช่นเดียวกับบริษัทอื่น ๆ ในกลุ่มเงินทุนหลักทรัพย์ ราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) เหลือเพียง 6 เท่ากว่า ๆ ต่ำกว่า P/E เฉลี่ยของกลุ่มที่ประมาณ 8 เท่ากว่า ๆ

แหล่งข่าวหลายกระแสยืนยันตรงกันว่า "เป็นการทุบหุ้นเพื่อช้อนซื้อของกลุ่มผู้ไม่หวังดีมากกว่า และข่าวลือเกี่ยวกับเอกธนกิจก็มีให้เห็นบ่อย ๆ จนนักลงทุนน่าจะเคยชินแล้ว แต่ก็ไม่วายยังหาประโยชน์ได้" อย่างไรก็ดี มีกระแสข่าวว่า ทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ความสนใจกับกรณีดังกล่าวเช่นกัน เพราะหากเป็นการสร้างข่าวเพื่อทำราคาไม่ว่าจะในขาขึ้นหรือขาลงล้วนเข้าข่ายความผิดทั้งสิ้น สิ่งที่เป็นไปได้สำหรับนักลงทุนในขณะนี้ คือ การพิจารณาซื้อหรือขายหลักทรัพย์ให้รอบคอบมากขึ้น เชื่อข้อเท็จจริงแทนที่จะตื่นตระหนกกับข่าวลือ

จากงบการเงินรวมปี 2539 ของเอกธนกิจ (ยังไม่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชี) พอจะยืนยันฐานะความมั่นคงของบริษัทได้ดี บริษัทมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 89.55 ล้านบาท ซึ่งขาดทุนลดลง 29.55 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปี 2538 ซึ่งขาดทุน 119.10 ล้านบาท

ในส่วนของพอร์ตลงทุนนั้น เอกธนกิจมีผลขาดทุนจากการลดลงของมูลค่าเงินลงทุนในบริษัทย่อยประมาณ 1,000 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิที่ยังไม่เกิดขึ้นจากหลักทรัพย์เพื่อลงทุนอีกประมาณ 1,450 ล้านบาท ซึ่งผลขาดทุนเหล่านี้ไม่ได้ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในกระแสเงินสดจริง จนกว่าบริษัทจะมีการขายเงินลงทุนเหล่านั้นออกไป

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวแล้ว ผลขาดทุนทางบัญชีเหล่านี้ก็มีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ เหมือนที่ครั้งหนึ่งเอกธนกิจเคยกำไรจากพอร์ตลงทุนทางบัญชีอย่างมหาศาลจนเป็นจุดเด่นในการสร้างข่าวลือล่อเหยื่อมาซื้อหุ้น

การขาดทุนทางบัญชีครั้งนี้จะนำมาปรับลดเงินกองทุนหรือส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทจาก 16,533 ล้านบาท ให้เหลือเพียง 14,074 ล้านบาทเท่านั้น ไม่กระทบกับสภาพคล่องของบริษัท จนเป็นเหตุให้ฐานะการเงินสั่นคลอนแต่อย่างใด นอกจากนี้ เอกธนกิจยังมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงถึง 19.9% ขณะที่แบงก์ชาติกำหนดไว้เพียง 7.5% เท่านั้น

เมื่อไม่นานมานี้ เริงชัย มะระกานนท์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ถึงขั้นออกโรงสยบข่าวลือในเรื่องดังกล่าวด้วยตนเอง โดยยืนยันว่า ฐานะการเงินของเอกธนกิจไม่มีปัญหา กระแสข่าวเรื่องไม่สามารถชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้แปลงสภาพที่เสนอขายให้กับนักลงทุนต่างประเทศ (อีซีดี) ไม่มีมูลความจริง เพราะเป็นเงินจำนวนเล็กน้อยเพียง 2.5 ล้านบาทเท่านั้น และเอกธนกิจก็ชำระเรียบร้อยแล้ว เรื่องการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนก็เช่นกัน นอกจากนี้ การจัดชั้นหนี้สงสัยจะสูญ เอกธนกิจก็มีการตั้งสำรองอย่างครบถ้วน ไม่มีปัญหา

อย่างไรก็ตาม เริงชัย ตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะมีปัญหาในส่วนของบริษัทในเครือเอกธนกิจ ที่ปล่อยกู้ให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ควรจะแยกแยะในการพิจารณา และบริษัทในเครือที่ปล่อยกู้อสังหาริมทรัพย์ก็ไม่ใช่สถาบันการเงิน จึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อบริษัทแม่

ทั้งนี้ บริษัทในเครือเอกธนกิจส่วนใหญ่จะอยู่ในหมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ วัสดุก่อสร้าง และตกแต่ง และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นธุรกิจที่ซบเซาอย่างมากในปัจจุบัน

แม้เอกธนกิจจะไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องต่าง ๆ ตามข่าวลือ แต่ผลประกอบการที่ตกต่ำลงโดยปี 2538 เอกธนกิจมีกำไรประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่สำหรับปี 2539 บริษัทมีกำไร 1,500 ล้านบาท รวมถึงภาวะทางธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง ปริมาณธุรกิจที่ลดน้อยลง ย่อมส่งผลถึงราคาหุ้นในตลาดฯ

เอกธนกิจมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (non performing loan) ในเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้นจากปี 38 มีเพียง 2.5% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด แต่ในปี 39 ได้เพิ่มขึ้นเป็น 4.8% ของพอร์ต หากแยกออกมาเฉพาะพอร์ตเช่าซื้อ จะมีสัดส่วน 5.9% ในปี 38 และ 7.6% ในปี 39 โดยมีสำรองหนี้สูญด้านเช่าซื้อ 4.4% ในปี 38 และ 6.6% ในปี 39

ทั้งนี้ ปิ่น จักกะพาก แถลงถึงนโยบายของบริษัทในภาวะชะลอตัวเช่นนี้ว่า "เราจะไม่เน้นการโตเร็ว ต้องมาเน้นที่คุณภาพและลดต้นทุน"

อย่างไรก็ดี การที่สินเชื่อไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นนั้น เป็นไปตามภาวะทางเศรษฐกิจที่การเงินค่อนข้างตึงตัวต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้ความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ของลูกค้าลดลง

จากปัจจัยพื้นฐาน และแนวโน้มอนาคตของกลุ่มสถาบันการเงิน เอกธนกิจอาจจะไม่มีปัญหาในเรื่องฐานะการเงินและสภาพคล่อง แต่การทำกำไรย่อมลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อย่างไรก็ดี ราคาหุ้นที่ตกต่ำลงอย่างมากในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีความสมเหตุสมผลในการซื้อหรือขายอย่างไร นักลงทุนควรพิจารณาอย่างรอบคอบ

ข่าวลือในตลาดหุ้นบ้านเรามีให้เห็นอยู่แทบทุกวัน ผู้ที่เสียประโยชน์ก็คือ คนที่หลงเชื่อไปซะทุกเรื่อง โดยไม่พิจารณาถึงข้อเท็จจริง ทั้งยังทำให้กลุ่มผู้ไม่หวังดีทั้งหลายกระหยิ่มยิ้มย่องทุกครั้งที่สร้างข่าวออกมาป่วนตลาด เพราะสามารถทำกำไรได้มากมาย เอกธนกิจเป็นบริษัทที่มีข่าวลืออย่างสม่ำเสมอไม่ว่าในยามรุ่งเรืองหรือตกต่ำ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่นักลงทุนควรจะระมัดระวังไว้บ้างเมื่อได้ยินข่าวลือเกี่ยวกับ "กลุ่มเอก"

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us