Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์28 พฤศจิกายน 2548
โซนี่วางกลยุทธ์ Value Chain ชูสินค้าครบไลน์และการใช้งานเชื่อมต่อ             
 


   
www resources

โฮมเพจ โซนี่ ประเทศไทย

   
search resources

โซนี่ ไทย, บจก.
Marketing




โซนี่ เดินกลยุทธ์ Value Chain Strategy ต่อยอด กลยุทธ์ Solution Strategy ทุ่มงบโฆษณาและกิจกรรมการตลาดกว่า 250 ล้านบาทเพื่อกระตุ้นยอดขายสินค้าทุกกลุ่มในช่วงปลายปี โดยไฮไลท์หลักไปที่การบุกตลาดแอลซีดีทีวีภายใต้แบรนด์ บราเวีย ซึ่งใช้งบในการสร้างแบรนด์กว่า 80 ล้านบาท

หลังจากประสบความสำเร็จจากการดำเนินกลยุทธ์ Solution Strategy ในช่วงครึ่งแรกของรอบบัญชี 2548 ซึ่งมีการแนะนำให้ผู้บริโภคมีการใช้สินค้าของโซนี่เชื่อมต่อกันแบบโซลูชั่น โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเอวีและไอที ซึ่งส่งผลให้โซนี่รักษาความเป็นผู้นำท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงทั้งในเรื่องของราคาและเทคโนโลยีของคู่แข่งที่สูงขึ้น โดยตลาดที่โซนี่ให้ความสำคัญในช่วงครึ่งปีแรกได้แก่ กล้องวิดีโอดิจิตอลแฮนดีแคมที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 71% ในขณะที่กล้องดิจิตอลไซเบอร์ช็อตมีส่วนแบ่งการตลาด 33% ซึ่งเป็นผลมาจากการทำโซลูชั่นให้สามารถต่อพ่วงกับคอมพิวเตอร์ และปริ้นท์เตอร์ สำหรับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คก็มีการแนะนำ 4 โซลูชั่นในการใช้งานให้กับผู้บริโภคซึ่งต่อเชื่อมกับสินค้าอื่นๆของโซนี่ไม่ว่าจะเป็น ดีวีดี เวิลด์, มิวสิค เวิลด์, โฟโต้ เวิลด์ และ พิกเจอร์ เวิลด์ นอกจากนี้ก็ยังมี เวก้า เธียเตอร์ หรือแนวคิดในการทำโรงภาพยนตร์ในบ้านโดยมีการโปรโมทเทคโนโลยีในการแปลงสัญญาณภาพเวก้าเอ็นจิ้น และจอภาพแบบ 16:9 ซึ่งผลักดันยอดขายทีวีจอบางของโซนี่มีการเติบโต

สำหรับในครึ่งปีหลังของโซนี่ซึ่งจะปิดรอบบัญชีในเดือนมีนาคม 2549 โซนี่ได้มีการทุ่มงบโฆษณาและกิจกรรมการตลาดกว่า 250 ล้านบาทเพื่อกระตุ้นยอดขายปลายปี โดยใช้กลยุทธ์ Value Chain Strategy ที่ประกอบด้วยกลยุทธ์ย่อย 4 อย่างคือ Total Display Strategy, AV/IT Solution Strategy, Customer Communication Strategy และ SONY United Strategy ซึ่งจะผลักดันให้ยอดขายสินค้าในทุกหมวดของโซนี่มีการเติบโตมากขึ้น

Total Display Strategy เป็นกลยุทธ์สำหรับสินค้าในหมวดภาพซึ่งเป็นสินค้าหลักที่ใช้ในการทำตลาดโดยจะมีการออกสินค้าให้ครบไลน์อัพเพี่อสนองความต้องการของตลาด ได้แก่ โซนี่ เวก้าสำหรับตลาดซีอาร์ทีจอแบนทั่วไปซึ่งมีขนาดจอไม่ใหญ่ ส่วนแกรนด์เวก้า เป็นทีวีจอแบนขนาดใหญ่ที่ผสมผสานเทคโนโลยีโปรเจ็กชั่นทีวีกับหน้าจอแบบแอลซีดีทำให้ได้ความคมชัดของภาพมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเซ็กเมนต์ใหม่ที่โซนี่สร้างขึ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำให้ได้ทีวีจอใหญ่ที่มีความบางกว่าโปรเจ็กชั่นทีวี มีราคาถูกกว่าแอลซีดีทีวี โดยแกรนด์เวก้าจะใช้สำหรับตลาดทีวีขนาด 40 นิ้วขึ้นไป ซึ่งโซนี่มี 3 ขนาดคือ 42 นิ้ว 50 นิ้ว และ 60 นิ้ว

อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มในตลาดโลกที่ชี้ให้เห็นว่าแอลซีดีทีวีกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น โดยในหลายประเทศมียอดขายแอลซีดีมากกว่าพลาสม่าทีวี สำหรับตลาดเมืองไทยโซนี่คาดว่าตลาดแอลซีดีปีนี้มี 7,000 เครื่อง พลาสม่าทีวีมี 15,000 เครื่อง แต่ปีหน้าคาดว่าแอลซีดีจะแซงหน้าพลาสม่าโดยแอลซีดีจะมี 28,000 เครื่อง พลาสม่าทีวีจะมี 20,000 เครื่อง ดังนั้นโซนี่จึงเกาะกระแสดังกล่าวด้วยการรุกตลาดแอลซีดีอย่างจริงจังและเพื่อให้ผู้บริโภครับรู้ถึงการบุกตลาดดังกล่าว โซนี่จึงมีการใช้แบรนด์ใหม่ที่ชื่อว่า บราเวีย ในการทำตลาดแอลซีดี ซึ่งจะมาอุดช่องว่างระหว่าง โซนี่ เวก้า กับ แกรนด์เวก้า ทั้งนี้ แอลซีดีบราเวียจะมีขนาดจอตั้งแต่ 15 นิ้วไปถึง 40 นิ้ว โดยในอนาคตก็จะมีการพัฒนาให้แอลซีดีบราเวียมีจอที่ใหญ่กว่า 40 นิ้ว แต่ปัจจุบันยังปล่อยให้เป็นบทบาทของแกรนด์เวก้าต่อไป เนื่องจากการทำจอแอลซีดีที่มีขนาดใหญ่มากจะใช้ต้นทุนการผลิตที่สูงมาก นอกจากนี้โซนี่ยังมีการทำตลาดพลาสม่าทีวีที่มีขนาดใหญ่กว่า 40 นิ้ว แต่จะให้น้ำหนักกับตลาดดังกล่าวน้อยลงเนื่องจากเห็นทิศทางของตลาดแอลซีดีที่ชัดเจนกว่า

แอลซีดี บราเวีย ของโซนี่มี 3 ซีรี่ส์ เพื่อตอบสนองผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม โดย V ซีรี่ส์ (26,32,40นิ้ว) จะเป็นรุ่นที่ทำสำหรับตลาดไฮเอนด์ S ซีรี่ส์ (23,26,32,40 นิ้ว) เป็นรุ่นระดับกลาง และ B ซีรี่ส์ (15,17,19,20 น้ว) สำหรับตลาดจอเล็ก

ก่อนหน้านี้โซนี่มีการร่วมทุนกับซัมซุงในการทำโรงงานผลิตจอแอลซีดีเพื่อลดต้นทุนการผลิตโดยใช้ชื่อโรงงานว่า S-LCD ตั้งอยู่ที่ประเทศเกาหลี แต่ทั้งคู่จะใช้เทคโนโลยีในการประมวลผลสัญญาณภาพของตัวเอง ซัมซุงมี DNIe ส่วนโซนี่ใช้เวก้าเอ็นจิ้น ทำให้โซนี่สามารถกำหนกราคาแอลซีดีบราเวียได้ถูกลงโดยมีราคาแพงกว่าพลาสม่าทีวี 20% ซึ่งน้อยกว่าอดีตที่ราคาแอลซีดีจะแพงกว่าพลาสม่าทีวี 2-3 เท่าตัว และเมื่อเทียบกับแอลซีดีบางรุ่นบางแบรนด์โซนี่จะมีราคาถูกกว่าโดย บราเวีย จะมีราคาตั้งแต่ 29,990-149,990 บาท

ทั้งนี้โซนี่ตั้งเป้าว่าจะสามารถสร้างแบรนด์บราเวียให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคเหมือนเช่น แบรนด์ ไตรนิตรอน และเวก้า ที่ประสบความสำเร็จมาก่อนหน้านี้ โดยทุ่มงบในการสร้างแบรนด์บราเวียกว่า 80 ล้านบาท เพื่อสร้างส่วนแบ่งในตลาดทีวีจอบางให้ได้ 50% ในปีหน้า ซึ่งปัจจุบันโซนี่มีส่วนแบ่งการตลาดแอลซีดี 7% และพลาสม่าทีวี 10-15% ในขณะที่ผู้นำตลาดแอลซีดีคือชาร์ปซี่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยีแอลซีดีมีส่วนแบ่ง 24% แอลจี 23% ฟิลิปส์ 17%

นอกจากนี้โซนี่ยังมีการตั้งโรงงานผลิตแกรนด์เวก้าในเมืองไทย ซึ่งจะทำให้สามารถแข่งขันราคากับคู่แข่งในตลาดได้ ส่วนซีอาร์ทีทีวีที่มีการแข่งขันด้านราคารุนแรงก็จะมีการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยฟังก์ชั่นการใช้งานที่ดีขึ้นเช่นดับเบิ้ลสแกน การทำซีอาร์ทีรุ่นจอกว้าง และอีกหลายรุ่นที่จะตอบสนองความต้องการของตลาดอย่างครอบคลุมรวมถึงรุ่นราคาถูกด้วย

AV/IT Solution Strategy เป็นกลยุทธ์ที่โซนี่ใช้ต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก ในการแนะนำให้ผู้บริโภคใช้สินค้าของโซนี่แบบโซลูชั่นหรือมีการเชื่อมต่อความบันเทิงภายใต้สินค้าของโซนี่เพื่อเพิ่มยอดขายให้กับสินค้าในกลุ่ม แฮนดีแคม ไซเบอร์ช็อต ที่เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ได้ เครื่องเสียงAZ ที่สามารถต่อเข้ากับเครื่องเล่น MP3 ได้โดยตรงเหมือนคอมพิวเตอร์ เครื่องเสียงติดรถยนต์ที่สามารถรับสัญญาณจากมีเดียต่างๆ เช่น เมมโมรี่สติ๊ก นอกจากนี้ยังมีเครื่องเล่นเกมเพล์สเตชั่น และ โน้ตบุ๊คไวโอ้

Customer Communication Strategy หรือ My SONY เป็นการให้ความสำคัญกับผู้บริโภคทั้งก่อนและหลังการขาย เนื่องจากลูกค้าของโซนี่จะคาดหวังมูลค่าเพิ่มที่ได้จากแบรนด์โซนี่ไว้ค่อนข้างสูงเนื่องจากมีราคาแพงกว่าท้องตลาด ดังนั้นบริษัทจึงต้องสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคโดยจะเน้นใน 3 ส่วนคือ
1) การปรับระบบคอลเซ็นเตอร์เพื่อให้ผู้บริโภคติดต่อได้สะดวก
2) การดำเนินกลยุทธ์ในเรื่องฐานข้อมูลของลูกค้า หรือ My SONY ซึ่งจะมีการสื่อสารกับผู้บริโภคในทุกช่องทางไม่ว่าจะเป็นหน้าร้าน เว็บไซต์ ไดเร็กเมล์ และกิจกรรมที่ให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วม เช่น การจัดสัมมนาเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและการใช้งาน การแนะนำให้ผู้บริโภคได้รู้จักเทคโนโลยีใหม่ๆของโซนี่ ซึ่งกลยุทธ์นี้จะช่วยสร้างความภักดีต่อแบรนด์และผลักดันให้ผู้บริโภคเพิ่มการใช้สินค้าของโซนี่จากตัวหนึ่งไปสู่อีกตัวหนึ่ง
3) เพิ่มประสิทธิภาพให้กับศูนย์บริการ

SONY United Strategy เป็นการประสานงานร่วมกับบริษัทต่างๆในเครือโซนี่ เช่น โซนี่ อีริคสัน, โซนี่ พิคเจอร์ เอนเตอร์เทนเมนท์, โซนี่ บีเอ็มจี มิวสิค, โซนี่ คอมพิวเตอร์ เอนเตอร์เทนเมนท์, โซนี่ อิเลคทรอนิคส์ ซึ่งเดิมทีต่างคนต่างใช้งบในการทำกิจกรรมของตนเอง แต่จากนี้ไปจะมีการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้งบการตลาดร่วมกันในกิจกรรมที่พึ่งพาซึ่งกันและกันได้ ช่วยให้บริษัทลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจได้

อย่างไรก็ดีนอกจากการเดินกลยุทธ์ Value Chain ซึ่งมีทั้งในเรื่องของการพัฒนาสินค้าและบริการ รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพในองค์กรแล้ว ก็ยังมีการทำโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขายภายใต้แคมเปญ โซนี่เดย์ ซึ่งปีนี้จะใช้คอนเซ็ปต์ like no other ในการจัดงานเพื่อสร้างประสบการณ์บันเทิงที่แปลกใหม่ให้กับผู้บริโภค โดยโซนี่ตั้งเป้าว่าจะสามารถปิดยอดขายในปีนี้ได้ 14,000 ล้านบาท เติบโตจากรอบบัญชีที่ผ่านมา 7%   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us