ค่ายโตโยต้า กำลังวางเดิมพันก้อนมหึมาในการพิสูจน์ว่า ปีหน้าตัวเองสามารถที่จะอาศัยกลยุทธ์ออกรถยนต์รุ่นใหม่ๆ เพื่อเร่งยอดขายยอดผลิต จนแซงหน้าค่ายจีเอ็มซึ่งกำลังอยู่ในอาการย่ำแย่ และชิงตำแหน่งผู้ผลิตรถอันดับหนึ่งของโลกไปครอบครอง
ในปลายเดือนหน้า เมื่อผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นรายนี้เปิดเผยเป้าหมายปี 2006 ของตัวเอง คาดหมายกันว่าบริษัทจะตั้งเป้าอันสูงลิ่วว่าจะผลิตรถให้ได้ถึง 9.2 ล้านคัน ตัวเลขขนาดนี้ก็เท่ากับพุ่งพรวด 11% ทีเดียวจากยอด 8.28 ล้านคันซึ่งโตโยต้า มอเตอร์ คอร์ป คิดว่าจะผลิตได้ในปีการเงินปัจจุบัน (เมย.05-มีค.06)
เจเนอรัล มอเตอร์ส คอร์ป (จีเอ็ม) ซึ่งครองแชมป์ผู้ผลิตรถใหญ่ที่สุดบนพื้นพิภพมากว่า 70 ปีแล้ว มิได้มีการแถลงแผนการผลิตสำหรับปีหน้า และได้วางเป้าไว้ว่าจะทำรถ 9.1 ล้านคันในปีนี้ สำหรับยอดขายนั้น จีเอ็มขายรถได้ 8.99 ล้านคันในปี 2004 เท่ากับ 14% ของตลาดรถยนต์ทั่วโลก ขณะที่ ฟอร์ด มอเตอร์ คอมพานี ซึ่งอยู่อันดับสามของโลกนั้น ขายรถได้ 6.98 ล้านคันในทั่วโลก
ยังเหลือเวลาอีกราว 1 เดือนกว่าจะถึงกำหนดที่จะเปิดเผยคำทำนาย ในช่วงนี้พวกเจ้าหน้าที่โตโยต้าต่างบอกว่า บริษัทยังไม่ได้ตัดสินเรื่องเป้าหมายการผลิตขั้นสุดท้าย แต่ก็แย้มๆ ว่าแผนการของบริษัทมีทั้งการเปิดตัวเวอร์ชั่นที่ดีไซน์ใหม่อีกรอบของรถคัมรี อันเป็นรถรุ่นขายดีที่สุดในอเมริกามาหลายปี, เวอร์ชั่นที่ลงตัวยิ่งขึ้นของรถ แรฟ 4 เอสยูวี, รถเอสยูวีขนาดกลางรุ่นใหม่ที่ใช้ชื่อว่า เอฟเจ ครูเซอร์, และรถรุ่นเล็ก "ยาริส" ซึ่งมุ่งจับผุ้ขับขี่ที่เน้นการประหยัดพลังงาน นอกจากนั้น โตโยต้ายังจะเปิดตัวโมเดลเพิ่มเติมของรถยนต์เลกซัส ซึ่งแยกออกไปเป็นแบรนด์ต่างหาก
อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแข่งขันชิงอันดับหนึ่งผู้ผลิตรถยนต์ ชนิดซึ่งอาจต้องอาศัยภาพถ่ายเป็นตัวตัดสินผู้ชนะเช่นนี้ ย่อมตอกย้ำถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งมีการแข่งขันกันในระดับโลกดุเดือดขึ้นทุกที
จีเอ็มได้อาศัยความเป็นอันดับหนึ่งอย่างยาวนานของตน เป็นจุดศูนย์รวมแห่งวัฒนธรรมบริษัท ตลอดจนยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ โดยมุ่งอาศัยความใหญ่โตมโหฬารของตัวเอง มาเป็นตัวช่วยให้บริษัทสามารถทุ่มเทงบประมาณเป็นพันๆ ล้านดอลลาร์ไปในด้านการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งทำให้บริษัทมีผลิตภัณฑ์หลายหลาก ซึ่งช่วยให้เจาะตลาดใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น
เดือนมกราคมที่ผ่านมา ริก แวกอเนอร์ ประธานและซีอีโอของจีเอ็ม บอกปัดข่าวลือที่ว่าจีเอ็มอาจถูกโตโยต้าแซง โดยเขาชี้ว่า "เรานำหน้ามาถึง 73 ปีต่อเนื่องกัน และผมคิดว่าแต้มต่อพนันยังคงออกมาว่า เราจะยังคงนำหน้าต่อไปอีกใน 73 ปีข้างหน้า"
ทว่านับแต่นั้นมา แผนการต่างๆ ของเขาเพื่อการฟื้นฟูจีเอ็มกลับพังครืนลงไป เนื่องจากยอดขายรถเอสยูวีซึ่งทำกำไรสูงลิ่วในตลาดสหรัฐฯ มีอันลดฮวบต่อเนื่อง เพราะราคาน้ำมันพุ่งพรวด แถมบริษัทยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายการดูแลสุขภาพพนักงานในอเมริกาสูงลิ่วๆ ถึงแม้จีเอ้มกำลังขยายตัวได้ดีในบางตลาด โดยเฉพาะที่จีนและละตินอเมริกา อีกทั้งยอดขายในยุโรปก็ยังหนักแน่นคงตัว แต่ผลบวกเหล่านี้กลับไม่อาจชดเชยการตกต่ำในตลาดอเมริกาเหนือปีนี้ได้เลย
ตราสารหนี้ของจีเอ็มถูกจัดอันดับเป็นจังก์บอนด์ (ตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงจนไม่น่าลงทุน) และราคาหุ้นของบริษัทก็ซื้อขายกันในระดับเกือบต่ำสุดในรอบสิบกว่าปี แวกอเนอร์กำลังเตรียมการที่จะประกาศตัดลดศักยภาพการผลิตและกำลังแรงงานในอเมริกาเหนือลงอย่างมหึมาอีกรอบหนึ่ง เพื่อพยายามลดต้นทุนและฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนวอลล์สตรีท โดยที่จีเอ็มแย้มออกมาแล้วว่าวางแผนจะลดคนงานในสหรัฐฯลง 25,000 คน จากที่มีอยู่ทั้งสิ้น 181,000 คนภายในปี 2008 อีกทั้งส่งสัญญาณว่าจะประกาศแผนการปรับโครงสร้างอย่างใหญ่โตยิ่งในเร็วๆ นี้
แน่นอนว่าจีเอ็มมิได้ยอมถอยโดยไม่ต่อสู้เอาเสียเลย ขณะที่ลดกำลังในอเมริกาเหนือ บริษัทก็วางแผนขยายการผลิตในจีน (ซึ่งจนถึงเวลานี้จีเอ็มยังคงขายรถได้ดีกว่าโตโยต้า) และในเกาหลีใต้ โดยผ่านกิจการร่วมทุน ตลอดจนบุกมากขึ้นในละตินอเมริกา และแอฟริกาด้วย
ทว่าโตโยต้าก็กำลังเร่งรัดเพิ่มการผลิตตลอดทั่วพิภพด้วยเหมือนกัน ทั้งจากโรงงานในยุโรปตะวันออกไปจนถึงแอฟริกา จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจรดอเมริกาใต้ ยอดการผลิตทั่วโลกซึ่งโตโยต้าคาดหมายไว้ว่าอยู่ประมาณ 8.28 ล้านคันในปีนี้ จะเท่ากับเพิ่มขึ้นเกือบ 10% ทีเดียวจากปีที่แล้ว
ยอดขายของโตโยต้าก็กำลังพุ่งแรง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถทำกำไรสุทธิของทั้งเครือได้ในราว 2,600 ล้านดอลลาร์สำหรับไตรมาสกค.-กย.ปีนี้ เปรียบเทียบกับจีเอ็มซึ่งรายงานว่าในไตรมาสเดียวกันนี้ขาดทุน 1,630 ล้านดอลลาร์
ถึงแม้อัตราผลกำไรของโตโยต้าตกลงมาเหลือ 8.1% ในครึ่งแรกปีนี้จากระดับ 9.6% ซึ่งทำได้เมื่อ 1 ปีก่อนหน้า แต่ก็ยังถือว่าสวยสด และเป็นการสะท้อนสภาพความเป็นจริงที่ว่า ในปีนี้บริษัทได้ทุ่มงบมากขึ้นไปในด้านการตลาดและการผลิต
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวอย่างรวดเร็วแบบนี้ของโตโยต้า ก็หลีกไม่พ้นที่จะบังเกิดความเสี่ยงด้วยหลายๆ ประการ พวกผู้บริหารบริษัทแสดงความเป็นห่วงว่า การเติบโตเช่นนี้อาจสร้างภาระหนักเกินไปแก่ส่วนงานซึ่งเป็นแกนกลาง อย่างเช่นด้านวิศวกรรม และด้านการควบคุมคุณภาพ
ยิ่งกว่านั้น บริษัทได้เคยตั้งเป้าหมายสูงลิ่วมาแล้วในอดีตแล้วก็ไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกาเหนือ ตัวอย่างเช่น ในปีหน้าโตโยต้าเตรียมจะเปิดการรณรงค์ครั้งที่สาม เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดรถกระบะขนาดใหญ่ในสหรัฐฯให้ได้เป็นกอบเป็นกำเสียที เนื่องจากความพยายามคราวก่อนๆ โตโยต้ายังคงไม่อาจทะลวงผ่านแบรนด์ดังดั้งเดิมของอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ เชฟโรเลต ของค่ายจีเอ็ม หรือแบรนด์ ไครสเลอร์ และ ดอดจ์ ของค่ายเดมเลอร์-ไครสเลอร์
นอกจากนั้น โตโยต้ายังอาจถูกถ่วงรั้งถ้าหากราคาน้ำมันและค่าใช้จ่ายอื่นๆซึ่งแพงขึ้นๆ ทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อรถไปก่อนในปีหน้า ทั้งนี้มีผู้ผลิตรถบางรายออกมาเตือนแล้วว่า ปี 2006 น่าจะเป็นปีที่ไม่สู้ดีนักสำหรับการขายรถในตลาดซึ่งทำยอดขายสูง ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ยุโรป หรือ สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม โตโยต้ามองภาพแตกต่างออกไป อย่างน้อยที่สุดก็ในส่วนที่เกี่ยวกับสหรัฐฯ ระหว่างการเปิดตัวรถใหม่เมื่อไม่นานมานี้ที่กรุงโตเกียว คาซึโอะ โองาโมโตะ กรรมการผู้จัดการอาวุโสของโตโยต้ากล่าวว่า การที่สหรัฐฯมีอัตราการเพิ่มประชากรสูง จึงยังคงสร้างโอกาสแห่งการเติบโตอีกมากมายให้แก่ผลิตภัณฑ์ซึ่งมีการกำหนดเป้าหมายเอาไว้อย่างถูกต้องชัดเจน
อันที่จริง โตโยต้ากำลังนับเอาสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดที่ตนขายรถได้ถึง 2 ล้านคันในปีที่แล้ว ว่าจะเป็นแหล่งซึ่งช่วยให้บริษัทบรรลุเป้าหมายอันสูงลิ่วที่วางไว้ โตโยต้าวางแผนจะใช้จ่ายเงินสูงขึ้นกว่าในอดีตมาก เพื่อโปรโมตรถโมเดลใหม่ๆ ในปี 2006 ถึงแม้เจ้าหน้าที่บริษัทยังไม่ยอมเปิดเผยตัวเลขชัดเจน
จิม เลนซ์ รองประธานกรรมการบริหารผู้รับผิดชอบการขายรถแบรนด์โตโยต้าในตลาดสหรัฐฯ เผยว่าบริษัทมุ่งหมายที่จะครองส่วนแบ่งตลาดในอเมริกาให้ได้ 15% เพิ่มขึ้นจากประมาณ 13% ในเวลานี้ เขาอธิบายว่าหลังจากที่โตโยต้าสามารถครองใจผู้ขับขี่ทั้งในฝั่งอีสต์โคสต์ และเวสต์โคสต์แล้ว ตอนนี้จะโฟกัสไปที่การเพิ่มยอดขายในพื้นที่ใจกลางสหรัฐฯ ซึ่งเป็นฐานสำคัญของค่ายจีเอ็ม ฟอร์ด และเดมเลอร์-ไครสเลอร์
ตัวอย่างเช่น เพื่อดันยอดขายรถกระบะขนาดใหญ่ โตโยต้าได้สร้างโรงงานใหญ่แห่งใหม่ที่มลรัฐเทกซัส ซึ่งเป็นพื้นที่หัวใจของพวกนิยมรถบิ๊กแบบนี้ คาดหมายกันว่าเวอร์ชั่นใหม่ของรถทุนดรา อันเป็นแบรนด์รถกระบะใหญ่ของโตโยต้า จะมีขนาดเบ้อเริ่มกว่าและทรงพลังยิ่งกว่าโมเดลปัจจุบัน ซึ่งถูกวิจารณ์กันมากในอเมริกาว่า เล็กเกินไปและไม่แรงพอที่จะเทียบชั้นแข่งขันกับรถระดับนำของของรุ่นนี้ อย่างเช่น ฟอร์ด เอฟ-150 หรือ เชฟวี ซิลเวอราโด
เจ้าหน้าที่อาวุโสของโตโยต้าหลายคนบอกด้วยว่า พวกเขายังตระหนักดีถึงความเสี่ยงด้านการประชาสัมพันธ์ จากการคิดที่จะแซงหน้าบริษัทเก่าแก่ระดับสัญลักษณ์หนึ่งของอเมริกันอย่างจีเอ็ม ในช่วงเวลาซึ่งอุตสาหกรรมของสหรัฐฯต่างย่ำแย่กันทั้งนั้น
เพื่อแก้ลำกรณีที่เรื่องนี้อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง โตโยต้าจึงป่าวร้องอยู่เรื่อยว่า ตัวเองกำลังขยายการผลิตในสหรัฐฯและเพิ่มการจ้างแรงงานอเมริกัน เวลานี้บริษัทมีสถานที่ทำการผลิต 11 แห่งในอเมริกาเหนือ และวางแผนสร้างเพิ่มอีก 3 แห่ง รวมทั้งกำลังหาสถานที่ตั้งโรงงานผลิตเครื่องยนต์และชุดส่งกำลังแห่งใหม่อีกด้วย ทั้งนี้ในแต่ละปี บริษัทสามารถคุยได้ว่าสั่งซื้อชิ้นส่วน, วัตถุดิบ, และบริการต่างๆ จากบรรดาผู้ผลิตในสหรัฐฯเป็นมูลค่าถึง 22,000 ล้านดอลลาร์
ส่วนเรื่องที่แวดวงวอลล์สตรีทแสดงความกังวลว่า โตโยต้ากำลังพยายามขยายตัวมากเกินไปและรวดเร็วเกินไป แล้วเลยจะกระทบไปถึงเรื่องคุณภาพ
รีล ตองกุย ประธานกรรมการบริหารฝ่ายขยายโรงงานการผลิตของโตโยต้า ณ รัฐออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา ตอบว่า บริษัทยังคงรักษากระบวนการจ้างงานที่เข้มงวด ซึ่งมุ่งทดสอบคุณสมบัติอย่างเช่น จิตใจทำงานเป็นทีม, ความอดทน, และความสามารถที่จะยอมรับการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์
กระบวนการนี้เองได้คัดกรองผู้สมัครที่ไม่เหมาะสมออกไปเป็นจำนวนมาก "ผมคิดว่าลูกชายผมเอง ก็คงสอบไม่ผ่านหรอก" ตองกุยบอก
|