สถาบันเพิ่มผลผลิตฯร่วม 3 องค์กรเอกชน มอบรางวัลธุรกิจยานยนต์ยอดนิยมแห่งปี TAQA ครั้งที่ 3 หวังยกระดับมาตรฐานการผลิต และบริการหลังการขายสร้างความพึงพอใจแก่ผู้บริโภค ด้วยการตัดสินจากการสำรวจความคิดเห็นคนใช้รถโดยตรง งานนี้เจ้าตลาด "โตโยต้า" กวาดรางวัลไปมากสุด 5 รายการ ขณะที่อีซูซุคว้า 2 รางวัล เซอร์ไพรส์ "ฟอร์ด" มาแรงด้านการขาย-บริการ ยอดเยี่ยม
นายพานิช เหล่าศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลการผลิตแห่งชาติ เปิดเผยว่า ทางสถาบันฯได้ร่วมกับ 3 องค์กรเอกชนคือ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ , บริษัท สื่อสากล จำกัด และ บริษัท คัสต้อม เอเชีย จำกัด จัดมอบรางวัลธุรกิจยานยนต์ยอดนิยมแห่งปี หรือ Thailand Automotive Quality Award (TAQA) มอบให้กับบริษัทดำเนินธุรกิจยานยนต์ที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนโดยการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ใช้รถ ซึ่งในปีนี้ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3
สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดทำรางวัลดังกล่าว เพื่อเป็นการกระตุ้นการพัฒนาด้านคุณภาพการผลิตสินค้า และการบริการของธุรกิจยานยนต์ในประเทศไทย แก่ผู้ประกอบการธุรกิจยานยนต์ที่มีศักยภาพ และมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานเป็นที่ยอมรับจากประชาชนผู้ใช้รถยนต์ในประเทศไทย โดยการพิจารณารางวัลในครั้งนี้ได้จากผลการสำรวจความคิดเห็นผู้ใช้รถยนต์ทั่วประเทศที่ผ่านการวิจัย และวิเคราะห์ผลที่เที่ยงตรงยุติธรรมและได้มาตรฐานสากล
"การสำรวจจากประชาชนผู้ใช้รถยนต์ในปีนี้ ทางบริษัท คัสต้อม เอเชีย เป็นผู้ดำเนินการสำรวจ โดยกำหนดการสุ่มตัวอย่างจากผู้ใช้รถในพื้นที่ 73 จังหวัดทั่วประเทศ ยกเว้นในเขต 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งการพิจารณานั้นมีเหตุผลหลัก 3 หัวข้อคือ การซื้อขายรถยนต์ใหม่ การบริการหลังการขาย และความพึงพอใจในคุณภาพรถยนต์ใหม่ จำนวน 7,510 ราย ครอบคลุมรถยนต์ 49 รุ่น รวม 11 ยี่ห้อคือ บีเอ็มดับเบิลยู,เชฟโรเลต,ฟอร์ด,ฮอนด้า,อีซูซุ,เกีย,มาสด้า,เมอร์เซเดส-เบนซ์,มิตซูบิชิ,นิสสัน และโตโยต้า"
นายพานิช กล่าวต่อไปว่า กลุ่มตัวอย่างที่ได้สำรวจในครั้งนี้จะเป็นผู้บริโภคที่ใช้รถใหม่ เพื่อประเมินคุณภาพของพนักงานขายและโชว์รูม , ผู้ที่นำรถเข้าไปใช้บริการเพื่อตรวจเช็คและบำรุงรักษา เป็นการประเมินคุณภาพของพนักงานบริการขายและการซ่อม ส่วนในความพึงพอใจเรื่องของคุณภาพผลิตภัณฑ์นั้น จะสำรวจจากผู้ซื้อรถใหม่ในปี 2548 และใช้รถเป็นระยะเวลา 3 เดือนเพื่อให้รับรู้ถึงคุณภาพของรถยนต์
สำหรับในปีนี้ได้จัดแบ่งรางวัลออกเป็น 11 รางวัลด้วยกันรวมทั้งด้านการขายและการบริการ โดยรางวัลธุรกิจยานยนต์ยอดนิยมด้านการขายประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ได้แก่บริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส(ประเทศไทย) จำกัด ประเภทรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาด 1 ตัน คือ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด
ธุรกิจยานยนต์ยอดนิยมด้านบริการหลังการขายในปีนี้คะแนนสูงสุดได้แก่ บริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส(ประเทศไทย)จำกัด ซึ่งคว้าไปทั้ง 2 รางวัลจากประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและ ประเภทรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาด 1 ตัน
รางวัลธุรกิจยานยนต์ยอดเยี่ยม ด้านผลิตภัณฑ์ประเภทรถยนต์นั่ง ซึ่งเป็นรางวัลที่สำรวจจากคะแนนความนิยมและความมั่นใจคุณภาพของรถยนต์ ในประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขนาดเล็กได้แก่ โตโยต้า โซลูน่า วีออส ประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขนาดกลางเล็ก ได้แก่ บีเอ็มดับเบิลยู ซีรี่ส์ 3 ประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขนาดกลางใหญ่ ได้แก่โตโยต้า คัมรี่ และประเภทรถยนต์อเนกประสงค์ ได้แก่ โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์
สำหรับประเภทรถเพื่อการพาณิชย์ขนาด 1 ตันแบบ 2 ประตู ขับเคลื่อน 2 ล้อ ได้แก่ อีซูซุ ดีแม็กซ์ ส่วนประเภทรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาด 1 ตัน แบบ 2 ประตู ขับเคลื่อน 4 ล้อ ได้แก่ โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ และประเภทรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาด 1 ตันแบบ 4 ประตู ได้แก่ โตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ อีกเช่นกัน
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศไทย มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ของประเทศไทยเป็นลำดับต้นๆ จึงได้มีการวางเป้าหมายเมื่อหลายปีทีผ่านมาว่า ประเทศไทยจะต้องไม่เป็นเพียงผู้ผลิตรถยนต์รายหนึ่งของโลกเท่านั้น แต่จะต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพในระดับแนวหน้าของโลก และถึงวันนี้ประเทศไทยก็สามารถผลิตรถยนต์ได้ครบ 1 ล้านคันแล้ว ผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 14 ของผู้ผลิตรถยนต์รวมทั้งยังเป็นอันดับที่ 7 ของผู้ส่งออกรถยนต์รายสำคัญของโลก
"การจัดให้มีรางวัล TAQA นี้ นอกจากจะเป็นการเชิดชูผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ดีเด่นของประเทศ แต่ยังเป็นการชี้วัดถึงความสำเร็จในการผลิตรถยนต์และการบริการให้สอดคล้องกับความต้องการ ความคาดหวังของลูกค้า รวมถึงการประสานความต้องการของผู้ใช้รถยนต์ กับความสามารถในการบริหารการจัดการของผู้ประกอบการรถยนต์ในประเทศไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน"
|