ปี 2539 ที่ผ่านมาถือว่าเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโดยรวมของทั่วโลกย่ำแย่ที่สุดในรอบหลายปี
กล่าวเฉพาะที่ประเทศไทยนั้นถือว่าได้รับผลกระทบมาไม่น้อยทีเดียว แถมมีปัจจัยภายในประเทศช่วยทับถมอีกแรงก็ดูจะไปกันใหญ่
นอกจากวงการอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว วงการเงิน-ธนาคารก็ดูจะไม่น้อยหน้าเช่นกันทั้งเรื่องผลประกอบการที่ลดลง,
หนี้เสีย รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งและเรื่องภาพพจน์ของผู้บริหารระดับสูงหลายท่านทั้งจากภาครัฐและเอกชน
รายล่าสุดที่ฟ้องร้องเป็นคดีกันอยู่ที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีทางเศรษฐกิจ
หรือ สศก. จนเป็นข่าวใหญ่บนหน้าข่าวเศรษฐกิจกันเป็นระยะ ๆ คือ คู่ของ ดร.ทนง
พิทยะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารทหารไทยกับ ดร.วีรศักดิ์ อาภารักษ์ อดีตกรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสธนาคารเดียวกัน
การเปิดศึกของคู่นี้สร้างความฮือฮาให้เกิดขึ้นกับวงการไม่น้อย แต่ไม่ถึงกับช็อกเนื่องจากเป็นคลื่นใต้น้ำรอวันระเบิดศึกกันมานานแล้ว
ทั้งที่ในอดีตความสัมพันธ์ของคนคู่นี้ถือว่าเป็นเพื่อนรักกันเลยก็ว่าได้
เหตุการณ์มาปะทุขึ้นที่สำนักงานของ สศก. เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
โดย ดร.ทนง ได้เปิดฉากจุดชนวนขึ้นก่อน เมื่อเขาเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ดร.วีรศักดิ์
ในข้อหาเปิดเผยความลับของธนาคาร หมิ่นประมาท และบิดเบือนข้อมูลอันเป็นเท็จ
ทำให้ธนาคารเสียหาย ซึ่งในกรณีนี้ ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า
ความจริงแล้ว ดร.วีรศักดิ์ แทบจะไม่มีอะไรเสียหายอีกแล้ว
เนื่องจากก่อนหน้านี้ เขาก็ถูก ดร.ทนง และพวก สั่งปลดออกจากตำแหน่งแบบฟ้าผ่ามาแล้ว
เมื่อถูกรุกไล่แบบจนตรอกขนาดนี้ จึงตอกกลับ ดร.ทนง แบบสาสมจมเขี้ยวไปเหมือนกัน
เพราะเขาเปิดประเด็นฟ้องกลับ ดร.ทนง ด้วยข้อหาที่ใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบและมีพฤติกรรมฉ้อโกงธนาคาร
ในกรณีการปล่อยสินเชื่อโครงการกาดสวนแก้ว จ.เชียงใหม่
รายการสาวไส้กันระหว่าง ดร.ทนง และ ดร.วีรศักดิ์ ครั้งนี้ ผู้คนในแวดวงการเงินต่างวิเคราะห์วิจารณ์กันอย่างออกรสชาติว่า
ทั้งคู่กระทำการอุกอาจราวกับนักชก เพราะทั้งคู่มิได้คำนึงถึงความเสียหายทางด้านภาพพจน์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปกับธนาคารทหารไทยแม้แต่น้อย
เหตุการณ์ครั้งนี้น่าจะเป็นบทเรียนราคาแพงที่แสนเจ็บปวดที่สุดของธนาคารทหารไทย
เพราะภาพพจน์ชื่อเสียงของธนาคารได้ถูกทำลายย่อยยับไม่มีชิ้นดีอีกแล้ว ทั้ง
ๆ ที่เป็นธนาคารใหญ่อันดับ 5 ของประเทศ ระยะต่อไปคงยากที่จะหาคนดีมีสติปัญญาหาญกล้าเข้ามาเป็นหัวเรือใหญ่รับใช้ธนาคารแห่งนี้
จะมีก็แต่พวกเขี้ยวลากดินที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น
มีคำถามเกิดขึ้นจากเพื่อนนายแบงก์หลายท่านที่ว่า ดร.ทนง และ ดร.วีรศักดิ์
เขามีเรื่องคับแค้นอะไรกันนักหนาถึงได้เปิดศึกห้ำหั่นทะลวงแค้นกันบ้าเลือดแบบนี้
ปฐมเหตุของความขัดแย้งครั้งนี้ เริ่มขึ้นเมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2539 ในครั้งนั้น
ดร.ทนง เปิดฉากให้ข่าวผ่านสื่อมวลชนว่า กำลังสอบพฤติกรรมการปล่อยสินเชื่อแบบช่วยเหลือพรรคพวกเพื่อนฝูงของ
ดร.วีรศักดิ์ จนทำให้ธนาคารได้รับความเสียหาย
และตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นหลังจากให้ข่าวมาแล้วประมาณ 1 เดือน แต่คณะกรรมการชุดดังกล่าวก็ไม่สามารถเอาผิดกับ
ดร.วีรศักดิ์ ได้จนถึงกับต้องให้ ประยูร จินดาประดิษฐ์ ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งของแบงก์
เข้าไปเจรจาต่อรองแถมขอร้องให้ ดร.วีรศักดิ์ ลาออก แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ โดย
ดร.วีรศักดิ์ ต่อรองกลับมาว่า ตนขออยู่ในตำแหน่งต่อจนครบวาระ ซึ่งก็เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น
แหล่งข่าววงในรายหนึ่งเล่าให้ฟังว่า สาเหตุที่ ดร.วีรศักดิ์ ยังไม่ยอมออกตอนนี้ก็เพราะเกรงว่า
ดร.ทะนง จะให้ข่าวตลบหลังเขาอีกว่า มีความผิดจริงต้องรีบชิงลาออกเสียก่อนแทนที่จะถูกไล่ออก
แต่แล้วสิ่งที่ ดร.วีรศักดิ์ คาดไม่ถึงก็เกิดขึ้น เนื่องด้วยเมื่อปลายเดือน
พ.ค. 2539 คณะกรรมการของธนาคารทหารไทยได้เปิดทำการประชุมอย่างเร่งด่วน พร้อมกับมีมติให้เลิกจ้าง
ดร.วีรศักดิ์ ในทันที โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค. 2539 หรือในวันรุ่งขึ้นหลังจากประชุมคณะกรรมการแล้ว
โดยให้เหตุผลในการเลิกจ้างว่า เพราะมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่
ไม่เพียงเท่านั้น มติการเลิกจ้างดังกล่าว คณะกรรมการของธนาคารทำได้เพียงปลด
ดร.วีรศักดิ์ ออกจากการเป็นพนักงานในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสเท่านั้น
ส่วนตำแหน่งกรรมการของธนาคารที่ ดร.วีรศักดิ์ ดำรงอยู่นั้นต้องใช้มติที่ประชุมผู้ถือหุ้นเป็นผู้มีอำนาจสั่งปลด
ดังนั้น ยุทธการขับไล่จึงเกิดขึ้นอีกครั้งอย่างเร่งด่วน โดยการประชุมในครั้งนั้น
คณะกรรมการของธนาคารนำโดย พล.อ.วิมล วงศ์วานิช เป็นประธานให้ประกาศเรียกประชุมผู้ถือหุ้นโดยด่วน
จากนั้น 2-3 วันต่อมา ธนาคารทหารไทยก็ได้แจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทราบว่า
ดร.วีรศักดิ์ ได้พ้นสภาพการเป็นผู้บริหารของธนาคารทหารไทยแล้ว เพราะมีความผิดต่อจรรยาบรรณนายธนาคาร
และร่วมกับพรรคพวกในการปลอมแปลงแก้ไขเอกสารเพื่อการอนุมัติสินเชื่อ
ระหว่างนั้น ดร.วีรศักดิ์ ไม่เคยออกมาตอบโต้ข่าว "เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างผมกับ
ดร.ทนง ถ้าผมออกมาตอบโต้คนจะมองแบงก์นี้ว่าเป็นอย่างไร ถ้าผมมาโต้ไม่เพียงภาพพจน์ของแบงก์เท่านั้น
แต่ลูกค้าของแบงก์ก็จะเสียหายด้วย เพราะถูกดึงมาเกี่ยวข้องกับผม" เขาพูดด้วยท่าทีอัดอั้น
ดร.วีรศักดิ์ เชื่อว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นมาจากกรณีโครงการกาดสวนแก้ว
ซึ่งเป็นหนี้ที่มีปัญหาอยู่กับแบงก์ทหารไทยประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่ตนคัดค้านมาตลอด
แถมมีหนี้เสียอื่น ๆ อีกรวมแล้วเกือบ 40,000 ล้านบาท จึงเป็นเหตุผลให้ผู้ใหญ่หลายคนไม่พอใจและนำมาเป็นประเด็นในการไล่ออก
ไม่ว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร แต่ภาพพจน์ของธนาคารทหารไทยดูเหมือนจะตกต่ำลงไปทุกที
อีกทั้งประเด็นความขัดแย้งนี้อาจมีผลกระทบต่อราคาหุ้นของธนาคารทหารไทยด้วย
ซึ่งช่วงที่ข่าวออกมานั้นราคาหุ้นได้ไหลลงไปถึง 46 บาท
ศึกครั้งนี้ ธนาคารทหารไทยมีแต่เสียกับเสีย !!