Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มีนาคม 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2540
จับตาฮ่องกงแบงก์…แบงก์ไทยระวังเจ็บตัว!             
 


   
search resources

ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น - HSBC
ประวิณ มาลากุล ณ อยุธยา




ท่ามกลางความทันสมัยของเทคโนโลยีที่ธนาคารพาณิชย์ต่างพยายามสรรค์สร้างและสรรหาสิ่งที่เยี่ยมที่สุดมาให้แก่ลูกค้า เพื่อความสะดวกแก่ลูกค้า และลดต้นทุนในเรื่องบุคลากรของธนาคาร ด้วยเหตุนี้การบริการในยุคของการแข่งขันที่ดุเดือดเช่นนี้ จึงเป็นเสมอืนกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่ความสำเร็จของบรรดาธนาคารพาณิชย์ทั้งหลาย

ปีนี้ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ สาขาประเทศไทย ได้ประกาศตัวอย่างองอาจลงลุยในสนามลูกค้ารายย่อยอย่างเต็มตัว พร้อมงัดกลเม็ดเด็ดพรายต่าง ๆ ออกมาบริการลูกค้าสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งรายอื่นทั้งไทยและเทศ

ตั้งแต่กลางปี 1995 ฮ่องกงแบงก์ได้หันมาให้ความสนใจกับธุรกิจบุคคลธนกิจ (Personal Banking) อย่างจริงจัง พร้อมทั้งได้ออกผลิตภัณฑ์บัตรเครดิตเข้าเจาะตลาดลูกค้ารายย่อยเป็นครั้งแรกทั้ง ๆ ที่เข้ามาสร้างฐานธุรกิจในไทยเป็นเวลานานกว่าศตวรรษปล่อยให้ยักษ์ใหญ่อย่างซิตี้ แบงก์ ที่เข้ามาทีหลังแต่แซงหน้าครองความเป็นเจ้าตลาดไปก่อนหน้า

จนถึงสิ้นปี 1996 ฮ่องกงแบงก์ ออกบัตรพลาสติกเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวน 20,000 ใบเศษ แต่ยังไม่ถึงขั้น Critical Mass ซึ่งตามเจตจำนงของแบงก์ในปีนี้จะต้องก้าวไปถึงจุดนั้นได้อย่างแน่นอน เพราะเป้าที่รออยู่อีกไม่ถึง 30,000 ใบก็จะถึงความเป็น Critical Mass คือ จะต้องมีจำนวนมากกว่า 50,000 ใบ

"เราคาดว่าสัดส่วนรายได้ของเราในปี 1997 นี้จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ผ่านมา 90% มาจากธุรกิจ Trade Service, Corporate Banking, Treasury, Capital Market และ Custodian ขณะที่อีก 10% เป็นสัดส่วนของธุรกิจ Personal Banking โดยจะเปลี่ยนมาเป็น 50 : 50 คือ มาจากธุรกิจ Personal Banking มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 50% และอีก 50% ก็จะมาจากธุรกิจที่แบงก์มีความเชี่ยวชาญและแข็งแกร่งอย่าง Trade Service, Corporate Banking และ Custodian" ริชาร์ด ครอมเวลล์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ประจำประเทศไทย กล่าวถึงแนวทางรายได้ของแบงก์ในปีนี้

การได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมเครือข่ายเอทีเอ็มไทยตั้งแต่ธันวาคมปีที่แล้ว ถือเป็นความสำเร็จขั้นที่สองของฮ่องกงแบงก์ในการสร้างฐานลูกค้ารายย่อย ซึ่งช่วยให้การขยายธุรกิจของแบงก์เป็นไปได้อย่างสะดวกและง่ายขึ้น ขณะเดียวกันทางธนาคารก็มีผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า Assetvantage Account ซึ่งเป็นบัญชีลูกผสมระหว่างออมทรัพย์กับกระแสรายวันในรูปเงินบาทที่สามารถเบิกเงินเกินบัญชี และระบบตัดบัญชีอัตโนมัติที่จะโอนเงินจากบัญชีอื่นเพื่อชำระเช็คโดยที่ลูกค้าไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาที่ธนาคาร นอกจากนี้ ในบัญชีดังกล่าวยังมีบริการบัญชีออมทรัพย์สกุลเงินต่างประเทศ บัญชีเงินฝากประจำสกุลเงินบาทหรือต่างประเทศ บัญชีเงินฝากประจำสกุลเงินบาทหรือต่างประเทศในอัตราดอกเบี้ยพิเศษระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน และ 12 เดือน ลูกค้าที่ต้องการใช้บริการนี้จะต้องเปิดบัญชีเริ่มต้นที่ 105,000 บาท

นอกเหนือจากนี้ ทางแบงก์ยังได้เริ่มหันมาจับตลาดสินเชื่อบุคคลธรรมดาที่ต้องการซื้อบ้านเป็นของตนเอง (Home Owner Loan) จากก่อนหน้านี้ที่เคยเน้นการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการผลิต ซึ่งบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้ส่งออก

"ผมคิดว่าตัวเลขการส่งออกปี 96 ไม่ได้เลวร้ายมากนัก และผมก็พูดได้เต็มปากว่าธุรกิจ Trade Service ของเราเติบโตกว่าตัวเลขการส่งออกของไทย แม้ว่าเราจะมีธุรกิจเกี่ยวข้องกับการส่งออกค่อนข้างสูง แต่ฐานลูกค้าของเรายังเล็ก ฉะนั้นความสามารถในการขยายตัวจึงยังมีมากแม้ว่าการส่งออกของประเทศจะตกต่ำ ดังนั้น จึงไม่ถูกต้องนักที่จะนำการเติบโตของเราเทียบกับการขยายตัวของประเทศทั้งหมด ส่วนลูกค้าของเรายังไม่มีปัญหามากนักเท่าที่ทราบก็มีออร์เดอร์ลดลง ซึ่งเราก็ต้องเข้าไปช่วยลูกค้าพยายามผ่อนผันให้เขาผ่านช่วงที่ยากลำบากของธุรกิจไปให้ได้ แต่ทั้งนี้เราก็เชื่อมั่นว่า ตัวเลขส่งออกจะก้าวกระโดดขึ้นมาในปีนี้"

ตามพันธะที่ให้ไว้กับ WTO ไทยจะต้องเริ่มทยอยเปิดเสรีภาคการเงิน โดยปีนี้จะเป็นปีแรก ซึ่งตามแผนแม่บททางการเงิน กระทรวงการคลังจะอนุญาตให้แบงก์ต่างชาติมีประกอบกิจการสาขาเต็มรูปแบบขยายสาขาเพิ่มเติมได้อีก 2 สาขา ซึ่งฮ่องกงแบงก์ได้ยื่นคำขอไปยังกระทรวงการคลังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นั่นเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ฮ่องกงแบงก์มั่นใจว่า ปีนี้จะสามารถขยายฐานธุรกิจลูกค้ารายย่อยได้มากขึ้นและสะดวกขึ้น ซึ่งนอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้ แบงก็ก็ได้เตรียมความพร้อมด้วยการนำเทคโนโลยีทางการเงินเข้ามาอำนวยความสะดวกและเสริมสร้างความแข็งแกร่งเชิงธุรกิจ โดยมีเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำการบริการธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขณะนี้แบงก์กำบังทดสอบระบบบริการธนาคารทางโทรศัพท์ (Telephone Banking) ที่จะให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในเดือนมีนาคมนี้

พร้อมกันนั้น แบงก์ก็ยังได้พัฒนาระบบการบริการทางธนาคารอิเล็กทรอนิกส์จนถึงประตูบ้านผ่านซอฟต์แวร์ Microsoft Money Software ซึ่งมีชื่อเรียกว่า "Hexagon" ระบบนี้เป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่แบงก์นำเข้ามาเพื่อใช้เจาะลูกค้า Corporate ในไทย และยังเป็นระบบที่ยอมรับว่าปลอดภัยที่สุด โดยมีบริษัทเฟิร์สท ไดเร็คท์ อันเป็นบริษัทลูกของ HSBC ในอังกฤษเข้ามาเป็นผู้วางระบบ โดยระบบนี้ลูกค้าสามารถใช้บริการและทำธุรกรรมผ่านเครื่องพีซีที่บ้าน ซึ่งถือว่าเป็นระบบที่เหมาะสำหรับประเทศที่มีปัญหาการจราจรติดขัดอย่างไทย

เวลานี้ทางฮ่องกงแบงก์ก็กำลังดำเนินการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันนี้เจาะตลาดรายย่อยตามบ้าน หรือที่เรียกว่า PC home banking ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของตลาด ก่อนที่จะนำผลที่ได้ไปให้หน่วยงานด้าน IT ในฮ่องกงหรือแคนาดาเป็นผู้พัฒนาก่อนที่จะนำมาให้บริการแก่ลูกค้า ซึ่งทางครอมเวลล์คาดว่าจะสำเร็จได้ภายในปีนี้อย่างแน่นอน

จนถึงขวบปีที่ 108 ธนาคารฮ่องกงฯ ได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 2.5 พันล้านบาทจากเดิม 2 พันล้านบาท แต่หากรวมกิจกรรม PIBF ที่มีอยู่ 2 แห่งที่เชียงใหม่ และชลบุรี ธนาคารจะมีทุนจดทะเบียนถึง 2.7 พันล้านบาท แต่เนื่องจากข้อบังคับของทางการธนาคารต่างชาติ จึงไม่สามารถใช้ฐานเงินทุนของบริษัทแม่ที่อยู่ในต่างประเทศได้ ดังนั้น จึงต้องระดมทุนเงินบาทมาใช้ในกิจการ

ในกลางปี 1995 ฮ่องกงแบงก์เป็นธนาคารต่างชาติแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังให้ออกพันธบัตรระยะเวลา 5 ปี มูลค่า 3 พันล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 11% ซึ่งก็ช่วยให้การดำเนินธุรกิจของแบงก์คล่องตัวมากขึ้น และยังมีแหล่งระดมทุนเงินบาทมากกว่าธนาคารต่างชาติคู่แข่งรายขึ้น

"การที่เราออกบาทบอนด์ เพราะเรามีสาขาเพียงแห่งเดียว จึงเป็นเรื่องยากที่จะ run business และการที่เราเข้าร่วมกับ ATM Pool ก็ทำให้เราสามารถขยายธุรกิจได้สะดวกขึ้น การที่เราเข้ามาที่นี่ก็เพื่อสนับสนุนประเทศไทย บริษัทไทย และบรรษัทข้ามชาติทุกชาติ มีบริษัทเป็นจำนวนมากที่ต้องการกู้ยืมเงินบาท ซึ่งเราจำเป็นจะต้องหาเงินบาทด้วยการกู้ยืมจากธนาคารไทย หรือในตลาดอินเตอร์แบงก์ ซึ่งค่อนข้างจำกัดสามารถกู้ได้เฉพาะข้ามคืน และอัตราดอกเบี้ยมีความผันผวนสูงมากสามารถวิ่งขึ้นลงในระยะเวลาอันสั้น มันจึงเป็นเรื่องยากสำหรับผมที่จะทำธุรกิจ เพราะเราไม่สามารถผลักภาระตรงนี้ไปให้ลูกค้าได้" ซึ่งครอมเวลล์ ได้ยืนยันว่า ธนาคารฯ มีความชำนาญและพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะออกบาทบอนด์รอบสอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง

นอกจากนี้ ในปี 1997 ฮ่องกงแบงก์ยังมีนโยบายที่จะเพิ่มบทบาทธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ ซึ่งมีประวิณ มาลากุล ณ อยุธยา เป็นผู้รับผิดชอบดูแล บงล. HSBC (ประเทศไทย) ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อจาก บงล.วาร์ดเลย์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ในฐานะกรรมการผู้จัดการ

"ภารกิจหลักของ บงล. ปีนี้ เราตั้งใจจะแยกธุรกิจเงินทุนออกจากหลักทรัพย์ในด้านเงินทุน เวลานี้เราได้ขยายงานอยู่ตลอดเวลา แต่ว่ายังไม่ใช่เงินทุนเต็มตัว เพราะยังมีหลักทรัพย์พ่วงเข้ามาด้วย การทำงานจึงไม่มี focus มากเท่าที่ควร ส่วนหลักทรัพย์ทำเงินให้กับบริษัทน้อยมากยิ่งในภาวะตลาดอย่างนี้" ประวิณ กล่าวถึงภาระที่จะต้องเร่งทำให้เสร็จภายในปีนี้ ซึ่งเมื่อแยกออกจากกันแล้วจะต้องทำการเพิ่มทุนและขอใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์ให้ครบ 4 ปีจากที่มีเพียงใบเดียว ความคืบหน้าในการแยก บล. ออกจาก บง. อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงาน ก.ล.ต.

"เราได้ยื่นคำขอไปเรียบร้อยแล้ว แต่ทีนี้จะต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมมากกว่านี้ ทั้งในเรื่องของการเพิ่มทุน การขยายธุรกิจในอนาคต ตอนนี้อยู่ในช่วงของการพูดคุยเจรจา และเราก็มีทุนจดทะเบียน 150 ล้านบาท ซึ่งด้านหลักทรัพย์จำเป็นจะต้องมีการเพิ่มทุนเข้ามา ซึ่งกำลังคุยกันอยู่"

เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา ธุรกิจเงินทุนมีพอร์ตสินเชื่อมูลค่าทั้งสิ้น 3 พันล้านบาท โดยมีอุตสาหกรรมการผลิตเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนมากที่สุดประมาณ 30-40% ที่เหลือก็จะเป็นธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทธุรกิจอื่น ๆ ตลอดจนถึงตั๋วแลกเงิน (B/E) ขณะที่ส่วนของหลักทรัพย์ บริษัทได้ยุติกิจกรรมไปเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว เนื่องจากตลาดไม่เอื้ออำนวย

ตามนโยบายของกลุ่ม ปีนี้ในส่วนของเงินทุนและหลักทรัพย์จะไม่เร่งขยายการเติบโตมากเหมือนที่ผ่านมา เนื่องจากเล็งเห็นว่าธุรกิจนี้เริ่มจะถึงจุดอิ่มตัว ดังนั้น สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรก คือ การหันมาทบทวนสิ่งที่ทำไปในอดีตที่ผ่านมาทั้งหมด

"ในระหว่างที่ทุกคนไม่แน่ใจว่า บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร และมาตรการหลายอย่างที่นำออกมาบังคับใช้จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน เราจะต้องคอยระมัดระวัง มิฉะนั้น อาจจะเข้าไปติดในธุรกิจที่ไม่ดี ดังนั้นในปีนี้ เราต้องชะลอตัวลงและจะต้องเป็นปีที่เราให้ความสำคัญกับคุณภาพของธุรกิจที่เรามีอยู่ และสินเชื่อให้ง่ายแต่เอาคืนยาก" ประวิณ สรุปสั้น ๆ แต่ได้ใจความชัดเจน

นับเป็นครั้งแรกที่แบงก์แห่งนี้ออกมาประกาศกลยุทธ์ในเชิงรุกอย่างเด็ดเดี่ยวหลังจากเก็บตัวเงียบเชียบมาเป็นเวลานาน นี่อาจจะเป็นสัญญาณเตือนให้แบงก์ไทยทั้งหลายต้องหันมาทบ ทวนศักยภาพในการแข่งขันของตนเองบ้างแล้ว ก่อนที่ความเหนือชั้นจะทิ้งห่างจนไล่ไม่ทัน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us