การแข่งขันในตลาดน้ำมันยังจะคงอยู่ต่อไปและทวีความรุนแรงขึ้นแน่นอนดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น
บริษัทใหญ่ที่เป็นกลุ่มเมเจอร์ออยล์อยู่ในขณะนี้ อย่างไรเสียคงต้องทำต่อไปอย่างแน่นอน
เพราะเป็นธุรกิจหลักและเป็นเส้นเลือดใหญ่ของตนเอง แต่บริษัทที่เกิดใหม่ 24-25
ราย ซึ่งบางรายเป็นการเพิ่มขยายไลน์ของบริษัทแม่เพื่อให้ธุรกิจครบวงจรเท่านั้น
หรือบางรายที่หวังจะเข้ามาโตในธุรกิจนี้โดยตรงก็คงเป็นเรื่องที่ยากในการดำเนินธุรกิจอย่างในปัจจุบัน
อย่างปิโตรเอเชีย (PA) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ปตท. ซีพี และไซโนเปค
ยังมีปัญหาในแง่ผลตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามเป้าทั้งที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายก็มีประสบการณ์ธุรกิจในด้านต่าง
ๆ มาก็มาก
ดังนั้น ในระยะ 5-10 ปี จากจำนวนผู้ประกอบการ 29 ราย อาจจะเห็นบางรายที่มีผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าและต้องปิดตัวลงไปบ้าง
2-3 รายก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเป็นไปตามกลไกตลาดปกติ
แต่ถ้ามองในแง่ปริมาณการใช้กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากสรุปสถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทย
ประจำไตรมาส 3 ปี 2539 พบว่า ความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซแอลพีจีประจำไตรมาส
3 รวมทั้งสิ้น 10,282 ล้านลิตร เฉลี่ยวันละ 111.8 ล้านลิตร หรือ 702,969
บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,202 ล้านลิตร หรือ 82,179
บาร์เรลต่อวัน คิดเป็น 13.2% ทั้งนี้ย้อนหลังไปในปีที่ผ่านมา ความต้องการใช้เพิ่มขึ้นเพียง
10-12% เท่านั้น
ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วและน้ำมันเตายังคงมีปริมาณการใช้สูงสุดที่
43.3% และ 23.7% ตามลำดับ น้ำมันเบนเซิน 16.8% น้ำมันอากาศยานเจพี อยู่ที่
7.7% และก๊าซแอลพีจี 7.6%
เฉพาะปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในเขตกรุงเทพฯ คิดเป็น 33.5% โดยมีปริมาณเฉลี่ยวันละ
37.5 ล้านลิตร ที่เหลือเป็นการจำหน่ายในเขตภูมิภาค
ดังนั้น จากปริมาณการใช้ที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การแข่งขันจึงขึ้นกับกลยุทธ์ของแต่ละรายว่าจะมีกลเม็ดเด็ดพรายออกมาอย่างไรบ้าง
คุณภาพน้ำมันและบริการหลักยังเป็นตัวนำ แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้และเป็นตัวชูรสสำคัญของการแข่งขัน
คือ บริการเสริมต่าง ๆ ที่แต่ละรายต้องงัดขึ้นมาใช้เพื่อดึงลูกค้าให้มาใช้บริการกับตนมากที่สุด