ทราฟฟิกคอร์นเนอร์ประเมินสถานการณ์ หลัง กสช. ล้ม ชี้ธุรกิจสื่อวิทยุปั่นป่วนหนักกว่าทีวี คาดรายใหม่เกิดยาก พร้อมปรับทิศทางใหม่ มุ่งเน้นรายได้จากคอนเทนต์มากขึ้น ลดสัดส่วนรายได้จากโฆษณาลง หวังลดความเสี่ยงธุรกิจ
จากกรณีศาลปกครองกลางได้มีการเพิกถอนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ กสช. ทั้งหมด 7 คน เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 48 ที่ผ่านมา เนื่องจากพบว่าการสรรหาคณะกรรมการฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นธรรมต่อผู้สมัครรายอื่น
นายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ทราฟฟิก คอร์นเนอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าว ธุรกิจที่น่าจะได้รับผลกระทบและวุ่นวายที่สุด คือ ธุรกิจวิทยุ ในเรื่องการต่อสัมปทานคลื่นที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้เหมือนเดิมและคาดว่าจะมีการแข่งขันแย่งคลื่นมากขึ้น โดยแต่เดิมหากกสช.ยังไม่ล้ม กสช.มีแผนที่จะต่อสัญญาให้รายเดิมต่อไปและจะให้สัญญาระยะยาว 5 ปี แก่เจ้าของคลื่น ซึ่งตรงนี้ทำให้เจ้าของคลื่นนิ่งนอนใจ แต่เมื่อกสช.ล้มเลิกไปบรรดาผู้ประกอบการหลายรายจะต้องมีการวิ่งเต้นเพื่อแย่งชิงประมูลคลื่นวิทยุ ซึ่งตรงนี้จะส่งผลให้ราคาค่าสัมปทานคลื่นวิทยุมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น 10%
ส่วนอัตราค่าสัมปทานที่สูงคงมีเพียงไม่กี่คลื่นเท่านั้น เพราะหากราคาสูงมากอาจ ไม่คุ้มกับการลงทุน และเม็ดเงินโฆษณาในปีหน้าค่อนข้างทรงตัว ซึ่งผู้ประกอบการที่เป็นผู้เล่นหลักในตลาดมีเพียง 7-8 ราย ที่มีคลื่นเกิน 1 คลื่น ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหม่คาดว่าคงไม่มีหากเรื่อง กสช.ยังไม่จบ ในส่วนผู้ประกอบการรายเดิมมีการรองรับไว้แล้วหาก กสช.เกิด แต่หากไม่เกิดก็ดำเนินธุรกิจต่อไป อาจมีการปรับกลยุทธ์บ้างบางเรื่อง ส่วนธุรกิจอื่นอย่างทีวีและเคเบิลทีวีคงไม่ได้รับผลกระทบและยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก ส่วนการจัดตั้งกสช.ครั้งใหม่คาดว่าคงต้องใช้ระยะกว่า 2 ปี ในการคัดสรรตัว การแต่งตั้ง และเสนอเรื่องเข้าวุฒิสภา ซึ่งวุฒิสภาเองก็จะหมดวาระในช่วงต้นปีหน้าด้วย ในส่วนของบริษัทฯ ไม่ค่อยได้รับผลกระทบ เนื่องจากคลื่นวิทยุที่มีอยู่ 5 คลื่น คือ คลื่นลูกทุ่ง 103 ที่ทำกับเวอร์จิ้น และ 4 คลื่นของบีเอ็นที ได้แก่ เลิฟเอฟเอ็ม 94.5, ลูกทุ่งรักไทย 98.0, บางกอกทูเดย์ 99.5 และแชนเนลวี 107.5 เพิ่งหมดสัญญาไปเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา และได้มีการเซ็นสัญญาใหม่ไปแล้ว ขณะที่อีกค่ายที่คาดว่าจะไม่กระทบคือ สกายไฮของอาร์.เอส.ฯ ที่มีการต่อสัญญาระยะยาวกับทางสทร.
' ทราฟฟิกฯ ปรับทิศเน้นคอนเทนต์
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ในฐานะผู้ประกอบการ บริษัทฯ เตรียมบริหารสื่อและคอนเทนต์ที่มีอยู่ให้ดีที่สุดและพยายามหาสิ่งใหม่เข้ามาเสริมในธุรกิจ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีการปรับรูปแบบใหม่ไปสู่คอนเทนต์กีฬามากขึ้น ซึ่งแต่เดิมรายได้ส่วนใหญ่กว่า 90% จะมาจากการโฆษณา ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น 60% เป็นรายได้จากโฆษณา และที่เหลือ 40% มาจากคอนเทนต์ผ่านเคเบิล คอนเทนต์ผ่านมัลติมีเดีย และการจัดกิจกรรมอีเวนต์กีฬา
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในปี 2549 บริษัทฯ จะเน้นทางด้านสปอร์ตคอนเทนต์ โพรไวเดอร์ ซึ่งบริษัทฯ ได้ลิขสิทธิ์การแข่งขันกีฬาหลายประเภท โดยเฉพาะกีฬาฟุตบอลของต่างประเทศ อาทิ พรีเมียร์ ชิป ของอังกฤษ, บุนเดสลีกาของเยอรมนี, กัลโชเซเรีย อา ของอิตาลี และ 2 รายการที่เกี่ยวกับฟุตบอลโลกในปีหน้า เป็นต้น โดยมีให้ชมกว่า 200 คู่ เริ่มตั้งแต่ ธ.ค.48 จนถึงฟุตบอลปิดฤดูกาล นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมองกีฬาอื่น เช่น เทนนิส, กอล์ฟ, อินดอร์ซอกเกอร์ และมวยไทย ซึ่งต้องเป็นกีฬาที่คนไทยให้ความสนใจ
ขณะที่ช่องทางการนำเสนอคอนเทนต์กีฬามีหลายช่องทาง อาทิ ถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีอย่างช่อง 3 และช่อง 7 หรือออกอากาศเป็นเทป รวมถึงยังมีสื่อผ่านทางเคเบิลทีวี รายงานผลผ่านเอสเอ็มเอส และเว็บไซต์ ฯลฯ ซึ่งหากคิดเป็นยอดรายได้ทั้งฟรีทีวีและเคเบิลทีวีจะมีสัดส่วนรายได้พอๆ กัน
ประกอบกับปีหน้าบริษัทฯ ยังตั้งเป้ายอดขายพื้นที่โฆษณาในทุกสื่อเพิ่มขึ้น 20-30% หรือมีรายได้ 1,000 ล้านบาท โดยจะเน้นทางด้านคอนเทนต์กีฬาเป็นหลัก ซึ่งจากเดิมบริษัทฯ จะมีรายได้จากการขายโฆษณาผ่านฟรีทีวีเพียงอย่างเดียวและจากกิจกรรมบ้างเล็กน้อย แต่จากการที่กระแสกีฬาของคนมีมากขึ้น
สำหรับยอดรายได้ของบริษัทฯ ปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ 700 ล้านบาท หรือโต 20% แบ่งเป็นรายได้คอนเทนต์กีฬา 200 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราการโตขึ้น 161% จากปีที่แล้ว โดยหากคิดเป็นสัดส่วนรายได้กีฬาจะมี 30% ข่าว 30% และอื่นๆ เช่น สิ่งพิมพ์ 40% ส่วนปี 2549 คาดว่ายอดรายได้จะเป็น 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดจากกีฬา 400 ล้านบาท หรือคิดสัดส่วนเป็น 40% และที่เหลือเป็นคอนเทนต์อื่นๆ เช่น ข่าวและนิตยสาร
|