Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2540








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2540
คาลเท็กซ์ยุคใหม่ปรับตัวก่อนตกดาว             
โดย สนิทวงศ์ เจริญรัตตะวงศ์
 

 
Charts & Figures

ส่วนแบ่งตลาดน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซแอลพีจี
ส่วนแบ่งตลาดน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซแอลพีจี ไตรมาส 3/2537 ถึงไตรมาส 3/2539


   
www resources

โฮมเพจ น้ำมันคาลเท็กซ์ (ประเทศไทย)

   
search resources

น้ำมันคาลเท็กซ์ (ประเทศไทย), บจก.
แบรี่ ดับบลิว.อี.แอชแมน
Oil and gas




คาลเท็กซ์ถึงคราวปรับตัวขนานใหญ่เหตุจากยอดขายที่ลดลงเรื่อย ๆ อย่างน่าเป็นห่วง เพราะถูกมองว่าเข้า "วัยกลางคน" ไม่เหมาะกับ "วัยรุ่น" ที่ใช้รถใช้น้ำมันกันอยู่เป็นส่วนใหญ่ จำต้องแต่งตัวใหม่ให้สดใสและทันสมัยกว่าเดิม เริ่มจากเปลี่ยนโลโกและรูปลักษณ์สถานีบริการ หมายจะเป็นดาวจรัสแสงอีกครั้ง

โดยปกติธุรกิจค้าปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงมีการแข่งขันกันมาตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ จะสังเกตเห็นว่าการแข่งขันเริ่มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งนี้เป็นผลพวงมาจากการที่รัฐบาลประกาศราคาน้ำมันลอยตัวและการอนุญาตให้ตั้งโรงกลั่นอย่างเสรี ส่งผลให้มีผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าตัว จากอดีตที่มีอยู่เพียง 5 ราย

แม้ว่าความต้องการใช้น้ำมันมีเพิ่มขึ้นปีละ 10-12% แต่การเพิ่มขึ้นมากของผู้ประกอบการย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายเดิม ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าด้วยจำนวนผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ 4 เจ้าเดิม ได้แก่ ปตท. เชลล์ เอสโซ่ และคาลเท็กซ์ โดยมีบางจากวิ่งตามมาห่าง ๆ ต้องมาเจอกับกองทัพบริษัทน้ำมันรายใหญ่ที่เพิ่มขึ้นมากมายขนาดนี้ และที่สำคัญยังเป็นตัวดึงส่วนแบ่งตลาดจากรายเก่าไปกว่า 15% เลยทีเดียว ส่งผลให้กลุ่มเมเจอร์ออยล์มีตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดลดลงไปตาม ๆ กัน โดยเฉพาะคาลเท็กซ์ถูกกระทบหนักที่สุด ส่วนแบ่งการตลาดที่เคยอยู่ในสัดส่วน 15% ตกมาอยู่ที่ 8-9% เท่านั้น

ในเรื่องนี้ มร.ริชาร์ด เคเนธ เอแบรมส์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของคาลเท็กซ์ได้ยืนยันอยู่ตลอดเวลาว่า "รายอื่น ๆ ก็มีส่วนแบ่งการตลาดที่ลดลงเหมือนกัน และสำหรับเราแล้วส่วนแบ่งการตลาดไม่ใช่เป็นสิ่งสำคัญที่สุดเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การให้บริการที่ดีแก่ลูกค้าและผลตอบแทนจากการลงทุน"

ดังนั้น ในขณะที่กลุ่มเมเจอร์ออยล์รายอื่น ๆ พากันปรับตัวเพื่อคงไว้ซึ่งยอดขายและส่วนแบ่งการตลาดของตนเอง คาลเท็กซ์กลับไม่ใคร่จะมีการเปลี่ยนแปลงนัก นอกจากการปรับขนาดและประสิทธิภาพขององค์กรโดยลดคนไปกว่า 200 คน ส่วนแบ่งการตลาดจึงถูกแย่งไปเรื่อย ๆ เนื่องจากลูกค้าได้หลั่งไหลไปตามความสะดวกสบายที่สถานีบริการอื่นมอบให้ รวมทั้งกลยุทธ์ลดแลกแจกแถมต่าง ๆ และก็มีคำถามว่า คาลเท็กซ์หายไปไหน?

"คาลเท็กซ์ถูกลืม?" นั่นเป็นคำถามหนึ่งที่ตามมา และเป็นที่น่าสนใจทีเดียวว่าเป็นจริงอย่างที่ว่าหรือไม่

คาลเท็กซ์นั้นย่อมเห็นถึงการปรับตัวของคู่แข่งเช่นกัน เพียงแต่ขณะที่ทุกค่ายขยับตัว "ปั๊มตราดาว" ไม่ได้ทำอะไรมากนัก นอกจากรายการลด แลก แจก แถม เป็นครั้งเป็นคราว และการริการรูปแบบเดิม ๆ กับการบริหารงานที่ค่อนข้างอนุรักษนิยม (CONSERVATIVE) ซึ่งสวนทางกับลูกค้าที่ใช้บริการปั๊มน้ำมันโดยเฉพาะลูกค้าที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการความแปลกใหม่ ทันสมัย และที่สำคัญเป็นกลุ่มที่มีการบริโภคน้ำมันมากและมีกำลังซื้อสูง


ถึงคราวที่คาลเท็กซ์จำต้องปรับตัวขนานใหญ่

เมื่อหันมาพิจารณาคาลเท็กซ์อย่างจริงจังพบว่า นโยบายเปิดเสรีน้ำมันเป็นสาเหตุหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของคาลเท็กซ์ลดลง แต่สาเหตุใหญ่ที่เสมือนหนึ่งเป็นรากแก้วของปัญหานั้นมาจากตัวองค์กรของคาลเท็กซ์เอง เพราะสถานการณ์เช่นนี้ไม่เพียงแต่คาลเท็กซ์ในประเทศไทยเท่านั้นที่เผชิญอยู่ บริษัทในเครือของคาลเท็กซ์ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่างก็เจอปัญหานี้เช่นกัน

การพบปะของผู้บริหารบริษัทน้ำมันในเครือคาลเท็กซ์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีอยู่เป็นประจำเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เริ่มมีข้อสนทนาที่เกี่ยวกับปัญหาความตกต่ำของส่วนแบ่งตลาดบ่อยครั้งยิ่งขึ้น

ดังนั้น เพื่อให้รู้สถานการณ์ของตัวเอง คาลเท็กซ์ปิโตรเลียมฯ ในฐานะบริษัทแม่จึงได้ตั้งทีมวิจัยขึ้นเพื่อศึกษาปัญหาและหาแนวทางแก้ไข ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามไปมากกว่านี้

เริ่มต้นด้วยการออกแบบสำรวจความคิดเห็นด้วยการสัมภาษณ์เป็นรายบุคคลกว่า 40,000 ราย จากบุคคล 3 กลุ่ม คือ ผู้ใช้รถใช้ถนนธรรมดา (END USER) ผู้บริหารสถานีบริการหรือหุ้นส่วนธุรกิจและลูกค้าที่ใช้บริการในส่วนของน้ำมันเครื่อง และทำวิจัยกลุ่มย่อยอีก 105 กลุ่ม ทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ อีก 9 ประเทศ

"ผลการทำวิจัยพบว่า ลูกค้าต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวของคาลเท็กซ์ที่มีความสดใหม่ทันสมัยขึ้นและไฮเทคโนโลยี" มร.แบรี่ ดับบลิว อี. แอชแมน กรรมการบริหารฝ่ายการตลาดกล่าว

เริ่มต้นจากการเปลี่ยน "โลกใหม่"

"สิ่งแรกที่ต้องพิจารณา คือ ตราสินค้าหรือแบรนด์เนม"

เมื่อได้ข้อสรุปบริษัทแม่ของคาลเท็กซ์จึงได้ว่าจ้างบริษัทแลนดอร์ แอสโซซิเอทส์ (LANDOR ASSOCIATES, IDENTITY CONSULTANTS AND DESIGNERS WORLDWIDE) ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบสัญลักษณ์ (CORPORATE IDENTITY) ชั้นนำของโลกเป็นผู้ออกแบบให้โดยเริ่มงานเมื่อปี '36 ซึ่งบริษัทดังกล่าวตั้งอยู่ในซานฟรานซิสโกที่ผ่านมา เคยออกแบบโลโกให้กับสายการบินคาเธย์แปซิฟิคและบริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ต่าง ๆ ในอเมริกา

เนื่องจากโลโกเก่าที่ประกอบด้วยสีแดงของดาวและสีดำของตัวอักษร 'CALTEX' ซึ่งอยู่ภายในเส้นวงกลมสีดำพื้นขาว ได้ใช้มานานกว่า 50 ปีแล้ว และที่ผ่านมามีปัญหาว่าเมื่อมองในระยะไกล ๆ จะเห็นไม่ใคร่ชัดนัก เนื่องจากตัวอักษรกับดาวพาดทับซ้อนกันอยู่ และสีแดง-ดำ ซึ่งเป็นสีพื้นฐานของโลโก ปัจจุบันค่อนข้างธรรมดาไปแล้วในสายตาของคนทั่วไป เพราะสินค้าต่าง ๆ ก็มักใช้สีพื้นฐานนี้ด้วยกันทั้งนั้น เช่น โค้ก เป็นต้น

แลนดอร์จึงออกแบบด้วยแนวคิดที่ว่า 'ต้องเป็นสิ่งที่จำได้ง่ายและเป็นตัวแทนของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แสดงถึงความเคลื่อนไหว สดใหม่ และทรงพลัง'

ในที่สุด จึงได้โลโกใหม่ที่มีสีพื้นฐานเป็นสีแดง-ขาว และเพิ่มสีเขียวน้ำทะเลลึก (DEEP OCEAN GREEN) ซึ่งเป็นการคิดขึ้นมาโดยเฉพาะสำหรับคาลเท็กซ์ทั่วโลก

นอกจากนี้ โลโกใหม่ได้เพิ่มเครื่องหมายสามเหลี่ยมพาดบนปีกดาวด้านขวาบน ซึ่งคาลเท็กซ์เรียกว่า 'สามเหลี่ยมเดลต้า' มีลักษณะเป็นสามมิติซึ่งจะแสดงถึงความเคลื่อนไหวและทรงพลัง สำหรับเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ นัยว่าเป็นการปรับเปลี่ยนตามกระแสโลกเสมือนหนึ่งจะบอกว่า 'จะวิ่งตามเด็กให้ทัน' เพราะกลุ่มลูกค้าที่คาลเท็กซ์จะเน้นมากขึ้น คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นวัยรุ่นนั่นเอง


เปลี่ยนโฉมสถานีบริการ

โลโกใหม่จะช่วยดึงความสนใจของลูกค้าในช่วงแรกเท่านั้น ถ้าภายในสถานีบริการโดยรวมไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริงย่อมจะเป็นสิ่งที่เหนื่อยเปล่าสำหรับคาลเท็กซ์

"เราจึงต้องพิจารณาตั้งแต่ตัวโลโก การให้บริการของเรา และคุณค่าของตราสินค้าที่มอบให้กับลูกค้า ซึ่งหัวใจที่สำคัญที่สุด คือ ถ้าลูกค้าคิดว่าตรานี้ก็อย่างงั้น ๆ เขาก็คงจะไม่มีความสัมพันธ์กับเรา แต่ถ้าพูดว่า คาลเท็กซ์ คือผู้ให้บริการที่ดีกว่าคาลเท็กซ์คือสินค้าคุณภาพมาตรฐานโลก นี่จะเป็นสิ่งที่เขาและเราจะผูกพันกัน" แอชแมน กล่าว

สำหรับมาตรฐานที่คาลเท็กซ์ต้องการไปให้ถึงนี้ เรียกว่า PACTISTER STANDARD ซึ่งเป็นมาตรฐานการดำเนินงานในสถานีบริการน้ำมันของคาลเท็กซ์ทั่วโลก โดยทำการศึกษาและพัฒนาในช่วงปี '35-36 จากธุรกิจค้าปลีกทั่วโลกซึ่งไม่จำกัดเฉพาะธุรกิจน้ำมัน แต่ได้รวมถึงธุรกิจบริการด้านบัตรเครดิต ร้านสะดวกซื้อ ร้านฟาสต์ฟู้ดต่าง ๆ และได้สรุปออกมาเป็น 4 ปัจจัยหลักที่ต้องปรับปรุง ได้แก่ ที่ตั้งสถานีบริการ (LOCATON) การดำเนินงาน (OPERATION) บริการต่าง ๆ ที่มีอยู่ในสถานีบริการ (FACILITY) และตราสินค้า (BRAND NAME)

จากมาตรฐานดังกล่าวจึงมาสู่การปรับโฉมของสถานีบริการด้วยคอนเซ็ปต์ของโลโกใหม่เป็นตัวนำ และนำส่วนที่เป็นสามเหลี่ยมเดลต้าเข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญเริ่มตั้งแต่จุดหัวจ่ายไปจนถึงปลายยอดของหลังคาเลยทีเดียว

ตรงจุดหัวจ่ายได้ปรับจาก 3 หัวจ่ายเป็น 4 หัวจ่ายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่สามารถเข้าเติมน้ำมันที่ต้องการได้ทุกจุด ทั้งนี้ แอชแมนกล่าวว่าต้นทุนในส่วนนี้เพิ่มจากที่เคยใช้ 3 หัวจ่ายประมาณ 10%

และที่ผ่านมา คาลเท็กซ์ได้สร้าง 2 สถานีต้นแบบ (PROTOTYPE) บนถนนเพชรเกษมเพื่อเป็นตัวอย่างในการปรับปรุงเปลี่ยนโฉมสถานีบริการอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งจะมีทั้งที่ตกแต่งเพิ่มเติมและสร้างขึ้นใหม่ งบประมาณที่ตั้งไว้อยู่ระหว่าง 2-25 ล้านบาทต่อหนึ่งสถานี ซึ่งขึ้นกับสภาพของแต่ละแห่ง สำหรับปี '39 ที่ผ่านมา คาลเท็กซ์ตั้งเป้าปรับโฉมสถานีใหม่ไว้ที่ 12 แห่ง และจะเสร็จสิ้นกระบวนการปรับโฉมสถานีบริการให้ครบทั้ง 547 แห่งในปี '41

อีก 18 เดือนต่อจากนี้ สถานีบริการบางแห่งอาจจะต้องปิดตัวเองลง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถานีบริการที่มีขนาดเล็กไม่สามารถขยายตัวเพื่อรองรับรูปแบบใหม่ได้ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของเส้นทางความเจริญของแต่ละพื้นที่ "อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีการปิดตัวลงของสถานีบริการขนาดเล็ก ก็คือ น้ำมันเถื่อน เพราะเขาไม่ต้องเสียภาษี ทำให้มีต้นทุนที่ต่ำกว่าเรา และที่เราเป็นห่วงคือ เรื่องคุณภาพน้ำมันที่ไม่ได้มาตรฐาน" แอชแมนกล่าว

เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก สตาร์มาร์ท-คาร์วอช-ลูป

นอกจากนี้ เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าแบบครบวงจรคาลเท็กซ์จึงนำคอนเซ็ปต์ของ ONE-STOP-SHOPPING มาใช้ในสถานีบริการด้วย

เริ่มจากการนำร้านสะดวกซื้อหรือมินิมาร์ทที่คาลเท็กซ์ตั้งชื่อว่า ร้านสตาร์มาร์ท (STARMART) อันที่จริงนับว่าคาลเท็กซ์เป็นรายแรก ๆ ทีเดียวที่นำคอนเซ็ปต์ของร้านสะดวกซื้อเข้ามาใช้ในสถานีบริการ แต่เนื่องจากลักษณะการดำเนินงานแบบอนุรักษ์ทำให้กว่าที่จะทดลองจนเป็นที่แน่ใจ รายอื่น ๆ ที่นำคอนเซ็ปต์นี้มาใช้ทีหลังกลับเปิดตัวไปก่อนจนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางไม่ว่าจะเป็น ไทเกอร์มาร์ทของเอสโซ่ กรีนเลมอนของบางจาก เอเอ็มพีเอ็มของ ปตท. หรือจะเป็นร้านซีเล็คในปั๊มของเชลล์ ฯลฯ

ด้วยความคิดที่ต้องการเพิ่มความสดใหม่ ทันสมัย ในร้านสตาร์มาร์ทจึงค่อนข้างจะละลานตาไปด้วยสีสันต่าง ๆ มากมาย

นอกจากนี้ คาลเท็กซ์เพิ่มบริการศูนย์ล้างรถ 'คาร์วอช' และศูนย์เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง 'ลูป' เพื่อดึงลูกค้าเข้าสถานีบริการ โดยเฉพาะในส่วนคาร์วอชนั้น คาลเท็กซ์ยืนยันว่าเลือกใช้ระบบที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้ คือ ระบบไร้แปลง หรือ BRUSHLESS ซึ่งทำความสะอาดรถด้วยแรงดันของน้ำที่ช่วยรักษาสภาพของรถได้ดีขึ้นกว่าระบบเก่าโดยเริ่มทดลองบริการแห่งแรกที่สาขาเกษตร

สิ่งหนึ่งที่สถานีบริการต่างใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่ในการช่วงชิงลูกค้า คือ ความสะดวกในการชำระเงิน คาลเท็กซ์นับว่าเป็นรายแรก ๆ อีกเช่นกันที่ใช้กลยุทธ์นี้และได้ผลดีทีเดียวทั้งในรูปของบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือสมาร์ทการ์ดต่าง ๆ และประมาณเดือนตุลาคมปีที่แล้ว คาลเท็กซ์ก็ได้ร่วมมือกับธ.กสิกรไทย และธ.ทหารไทย รวมทั้งพอสเน็ทในเครือ บมจ.สามารถฯ ได้ติดตั้งระบบชำระค่าบริการแบบไร้สาย ซึ่งเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าและเจ้าของสถานีบริการมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ สำหรับการลงทุนที่เกี่ยวกับโปรแกรมนี้ ทั้งในเรื่องของการปรับปรุงสถานีบริการ ทำร้านสตาร์มาร์ท คาร์วอช และลูป คาลเท็กซ์จะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งสิ้น โดยบริษัทแม่ได้ตั้งงบเฉพาะค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนโลโกใหม่ทั่วโลกกว่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 37,500 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้อยู่ในเงินก้อน 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 125,000 ล้านบาทที่บริษัทแม่จะใช้ลงทุนตลอดไปจนถึงปี 2000

หวังเพิ่มส่วนแบ่งตลาด

ในการปรับปรุงมาทั้งหมดนี้แม้แอชแมนจะให้เหตุผลว่า เพื่อความพอใจของลูกค้าและประสิทธิภาพในการบริการเป็นหลัก โดยคาลเท็กซ์จะให้ความสำคัญต่อส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับที่รองๆ ลงมา

แต่ในไตรมาส 3 ปี '39 ที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ พบว่า ปตท.ยังครองอันดับ 1 อยู่ที่ 36.9% ตามมาด้วยเอสโซ่ 16.9% และเชลล์ 15.9% ในขณะที่คาลเท็กซ์ตกไปอยู่ที่ 7.7% และบริษัทอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมาเป็น 22.6%

จากการเปลี่ยนแปลงนี้คาดว่าน่าจะเป็นผลดีต่อคาลเท็กซ์ แต่ถ้าพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีจำนวนสถานีบริการมากอยู่แล้ว แอชแมน จึงคาดว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการนี้ส่วนแบ่งการตลาดของเขาคงจะไม่เพิ่มสูงขึ้นมากนักจะอยุ่ในช่วง 11.5-12% เท่านั้น

ซึ่งตัวเลขส่วนแบ่งตลาดของสินค้าที่ขายในประเทศทั้งหมด ซึ่งได้แก่ น้ำมันใสขายผ่านสถานีบริการ น้ำมันที่ขายตรงให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม น้ำมันเครื่อง และน้ำมันที่ขายให้กับอากาศยานต่าง ๆ นั้น สิ้นปี '39 คาลเท็กซ์คาดว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 8.7% ในส่วนยอดขายรวมจะอยู่ที่ 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท และหลังจากสิ้นโปรแกรมใน 3 ปีแรกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 20%

จะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่คนในคาลเท็กซ์เอง

โปรแกรมนี้จะเสร็จสิ้นภายในปี 2000 ใช้เงินลงทุนสำหรับคาลเท็กซ์ทั่วโลกประมาณ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 125,000 ล้านบาท และสำหรับประเทศไทยจะใช้เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 5,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งริชาร์ดคาดว่าจะมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ที่ 12%

การที่โปรแกรมต่าง ๆ ที่วางไว้จะสำเร็จได้นั้น องค์ประกอบที่สำคัญ คือ คนโดยก่อนที่จะประกาศเปลี่ยนโลโกคาลเท็กซ์ต้องเตรียมความพร้อมภายในโดยคนเป็นหลัก ใน 18 เดือนแรกเริ่มด้วยการกำหนดมาตรฐานทั่วไปและฝึกอบรมพนักงานภายในองค์กร เพื่อให้พนักงานมีทัศนคติที่ดีต่อการดำเนินโปรแกรมที่ตั้งขึ้น รวมถึงความเข้าใจที่จะให้บริการที่ดีแก่ลูกค้า

สิ่งหนึ่งที่แอชแมนย้ำเสมอ คือ ต้องเปลี่ยนทัศนคติของพนักงานเสียก่อนที่จะเปลี่ยนสิ่งต่างๆ

"เมื่อเราเริ่มเทรนนิ่ง ก็คือ เริ่มจุดประกายในตัวเขาต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่จะส่งผลต่อไปยังลูกค้า และเมื่อเราเตรียมความพร้อมภายในแล้ว เราจึงจะทำการเปิดตัวโลโก ซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้" แอชแมนกล่าว

ในอดีต คาลเท็กซ์ประเทศไทยได้มีการปรับองค์กร (REORGANIZATION) มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อประมาณเดือนมิถุนายนปี '38 ครั้งนั้นคาลเท็กซ์ได้ให้พนักงานเห็นทิศทางของบริษัทที่จะเปลี่ยนไปจาก 'วัยกลางคน' มาเป็น 'วัยรุ่น' ซึ่งไม่เฉพาะแต่กับลูกค้าเท่านั้น แต่หมายรวมถึงวัฒนธรรมการทำงานในองค์กรด้วย ในขณะเดียวกันคาลเท็กซ์ได้เปิดโอกาสให้พนักงานที่ไม่พร้อมสมัครใจที่จะลาออก ส่งผลให้มีพนักงานลาออกจำนวน 200-300 คน ซึ่งนับว่าเป็นความกล้าหาญของคาลเท็กซ์อย่างมาก เนื่องจากในขณะนั้นมีพนักงานประมาณ 800 คนเศษเท่านั้น

นอกจากการปรับตัวองค์กรครั้งนั้นแล้ว คาลเท็กซ์ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วยการยอมรับผู้บริหารคนไทยอย่าง ดร.พรชัย ศรีประไพ เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร โดยดูแลในฝ่ายภาพลักษณ์และการตลาดค้าปลีก ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นคนไทยคนแรกที่เข้ามาอยู่ในทีมบริหารระดับสูงของคาลเท็กซ์ เพราะที่ผ่านมาจะใช้คีย์แมนจากต่างประเทศแทบทั้งสิ้น

มาถึงการปรับเปลี่ยนของคาลเท็กซ์ครั้งนี้ ไม่มีใครบอกได้ว่าจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด แต่สิ่งหนึ่งที่กล่าวได้ในขณะนี้ก็คือ ด้วยบุคลิกขององค์กรที่ดำเนินธุรกิจในเชิงอนุรักษนิยมมาโดยตลอด คาลเท็กซ์กลับกล้าที่จะประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าต้องปรับเปลี่ยนโฉมใหม่ การปรับโฉมครั้งนี้ จึงเป็นสิ่งที่น่าจับตาดูเป็นอย่างยิ่งว่าคาลเท็กซ์จะทำได้สมดังที่ตั้งใจไว้หรือไม่

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us