ในปีที่ผ่านมาหมาด ๆ ผู้บริหารที่มาแรงเกินคาดในอุตสาหกรรมรถยนต์อเมริกัน
คงจะไม่มีใครเกินโรเบิร์ต อีตัน ประธานกรรมการไครสเลอร์ อีกแล้ว
ความสำเร็จนี้อาจทำให้อีตันรู้สึกปล่อยวางอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เมื่อย้อนนึกถึงช่วงทศวรรษที่แล้วที่ไครสเลอร์ถูกคุกคามอย่างหนักจากรอบทิศทาง
และต้องดิ้นสุดตัวเพื่อให้รอดพ้นสภาพล้มละลาย "ตอนนั้น เราเกือบจะหมดตัว
เกือบต้องขายหน่วยงานนอกประเทศไปแล้ว แต่เราก็พลิกสถานการณ์ได้ แถมกลายเป็นจุดเปลี่ยนนำเราสู่ตำแหน่งที่ดีในวันนี้"
ผู้บริหารของไครสเลอร์ไม่เคยเบื่อหน่ายเลยที่จะเกทับฟอร์ด มอเตอร์ คู่แข่งหมายเลข
2 ในบ้านเกิด ว่าแทนที่จะวุ่นวายกับการปรับโครงสร้างหน่วยปฏิบัติการทั่วโลกด้วยวิธีการสุดซับซ้อนเหมือนฟอร์ด
ไครสเลอร์ เลือกที่จะผนึกรวมธุรกิจระหว่างประเทศเข้าด้วยกันจากแผนการบนกระดาษแผ่นเดียวมากกว่า
แต่จากมุมมองภายนอก แม้ไครสเลอร์จะได้ชื่อว่าเป็นบริษัทรถระดับอินเตอร์
แต่ในความเป็นจริง รายได้ส่วนใหญ่ของไครสเลอร์มาจากในบ้านเกิดแทบทั้งสิ้น
ซึ่งถือว่าเสี่ยงเอาการที่จะพึ่งพาเศรษฐกิจระบบเดียวแบบนี้
แต่อีตันก็กำลังผลักดันโครงการที่ถือเป็นโปรเจ็กต์ส่งออกที่ใหญ่ที่สุดโปรเจ็กต์หนึ่งของสหรัฐฯ
เขาบอกว่าเป้าหมายของเขาอยู่ที่การเข็นยดขายในต่างบ้านต่างเมืองให้เพิ่มขึ้นปีละ
2 เท่า คือ 500,000 คัน ก่อนสิ้นทศวรรษนี้ และเพิ่มอีกเท่าตัวในทศวรรษต่อไป
และนี่เองคือที่มาของการตั้งโรงงานผลิตรถพวงมาลัยขวาถึง 5 แห่งนอกอเมริกา
ซึ่งแปลความหมายได้ว่าไครสเลอร์จะไม่ปล่อยให้คู่แข่งซามูไรเป็นฝ่ายบุกข้างเดียวอีกต่อไปแล้ว
แผนการผลักดันการส่งออกของไครสเลอร์ได้รับเสียงเชียร์จากวอลสตรีทจนน่าปลื้ม
นิค โลโบคาร์โร นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมยานยนต์ของแบร์สเติร์น บอกว่า "พวกเขากำลังดันตัวเองขึ้นเป็นผู้เล่นระดับโลก
โดยไม่ยอมเปลืองตัวกับความเสี่ยงทั้งหลายทั้งปวง"
เดวิด ฮีลลียแห่งเบิร์นแฮม อินเวสเมนต์ รีเสิร์ช ขยายความต่อโดยยกตัวอย่างการตัดสินใจถอนตัวจากโครงการลงทุนในจีนเมื่อ
2 ปีที่แล้วของไครสเลอร์ หลังจากผู้เจรจาของจีนเรียกร้องต้องการมากขึ้น ๆ
ทุกทีไม่มีจบสิ้น "การตั้งโรงงานประกอบรถในยุโรปหรือจีนน่าจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่ไครสเลอร์จะทำ"
เขาสรุป
กองหนุนแผนการบุกตลาดต่างประเทศของไครสเลอร์ คือ ฐานผลิตในอเมริกาเหนือ
ซึ่งถือว่าเป็นฐานการผลิตรถยนต์และรถบรรทุกที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในโลกแห่งหนึ่ง
การใช้ฐานผลิตแห่งนี้ช่วยลดค่าโสหุ้ย และเปิดช่องให้บริษัทสามารถเพิ่มต้นทุนการพัฒนาให้กว้างยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี กลยุทธ์ดังกล่าวก็อิงอยู่กับทิศทางในอนาคตของค่าเงินดอลลาร์เป็นหลัก
ค่าเงินดอลลาร์แข็งตัวขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินเยนมานานกว่าปีครึ่ง
บั่นทอนความได้เปรียบในอัตราปริวรรตเงินที่เป็นเฟืองจักรสำคัญต่อการเติบโตของดีทรอยต์ในช่วงทศวรรษนี้
ขณะเดียวกัน ก็เป็นการสะกัดก้นการบุกสู่ตลาดญี่ปุ่นของไครสเลอร์
แม้ดอลลาร์จะเพิ่มค่าขึ้นในขณะนี้ แต่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ในดีทรอยต์ก็ยังเชื่อมั่นว่าอีกไม่นานดอลลาร์จะอ่อนตัวลงเมื่อเทียบเยน
อันเป็นผลจากการขาดดุลการค้าที่สหรัฐฯ มีต่อญี่ปุ่นซึ่งนับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อย
ๆ ทางด้านค่ายรถแดนปลาดิบเองก็มองการณ์เช่นเดียวกันนี้ ถึงได้เพิ่มการลงทุนในอเมริกาอย่างต่อเนื่อง
เพราะไม่อยากกลายเป็นหมูขึ้นเขียงเมื่อค่าเงินเยนแข็งตัวสุดขีดเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อช่วงต้นปี
1995
ย้อนกลับมาถึงแผนการขยายตัวในต่างแดนของไครสเลอร์อีกครั้ง ปัจจุบัน บริษัทมีโรงงานในอาร์เจนตินาที่มีแผนขึ้นสายการผลิตจิ๊ป
แกรนด์ เชโรกีต้นปีนี้ ไครสเลอร์ยังร่วมทุนกับบีเอ็มดับบลิวของเยอรมนี เพื่อผลิตเครื่องยนต์ในละตินอเมริกา
และขณะนี้บริษัทกำลังดำเนินการเพื่อเพิ่มเพดานการผลิตมินิแวนโวยาเจอร์ของโรงงานร่วมทุนในออสเตรีย
การขยายตัวในต่างแดนเหล่านี้ช่วยให้ไครสเลอร์มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งยังเปิดช่องทางบุกตลาดที่มีข้อจำกัดในการนำเข้าเคร่งครัด
แต่ในขณะเดียวกัน ไครสเลอร์ก็ไม่ได้วางมือสำหรับแผนการกระตุ้นการส่งออกจากสหรัฐฯ
แต่อย่างใด
แม้จะวางฐานการพัฒนาและผลิตไว้ในสหรัฐฯ แต่ไครสเลอร์ก็เดินเกมเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับหน่วยจัดจำหน่ายทั่วโลก
ซึ่งรวมถึงการเข้าควบคุมเครือข่ายดีลเลอร์ในอิตาลี ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น แม้จะทุ่มเทอย่างหนัก
แต่ปี 1994 ไครสเลอร์ยังทำยอดขายในต่างประเทศได้เพียง 241,000 คัน น้อยกว่าปีก่อนหน้าถึง
5% ทั้งนี้ เพราะการล่มสลายของตลาดรถเม็กซิโกหลังจากเงินเปโซอ่อนค่าลง
แต่นั่นไม่ได้ทำให้แผนการต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนไป "เรายังคงเดินหน้าเพื่อต่อสู้กับวงจรความผันแปรเหมือนเดิม"
ทอม เกล ประธานแผนปฏิบัติการทั่วโลกของไครสเลอร์เปิดใจ เขากล่าวต่อไปว่า
ตลาดยุโรปยังคงซึมเซา ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับอเมริกา ขณะที่ดีมานด์ในเอเชียก็เพิ่มเอา
ๆ และมีทีท่าว่าจะยังคงเติบโตต่อไป
อย่างไรก็ตาม สมดุลเชิงภูมิศาสตร์ที่ผู้บริหารของไครสเลอร์ฝันถึงอาจจะไม่เป็นไปตามคาดเสมอไป
และการเพิ่มยอดขายนอกบ้านก็หมายความถึงว่า ไครสเลอร์จะต้องดันส่วนแบ่งตลาดให้เพิ่มจาก
8% ในปัจจุบัน เป็น 25% ให้จงได้ ขณะที่ผู้เล่นรายอื่นทำได้มากสุด คือ 33%
สำหรับยอดขายนอกประเทศเท่านั้น
บางที ความภูมิใจจากชัยชนะเหนือการล้มละลายอาจทำให้ไครสเลอร์ฮึดสู้จนได้อย่างที่หวัง